วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม ตอน 8



ดูใจ

“แม่ครับ...  วันนี้อากาศเย็นดีนะครับ เมื่อวานนี้ร้อนมาก  แต่วันนี้กลับมาเย็นไม่มีอะไรแน่นอนเลยนะแม่  มีร้อนก็มีหนาว มีสาวก็มีแก่  มีแย่ก็มีดี แต่ที่สำคัญคือ เห็นว่าไม่มีอะไรแน่ จริงมั้ยครับ”  แม่พยักหน้า ยอมรับ

“วันนี้ เราจะมาเรียนรู้ใจกันหน่อย ดีมั้ยครับ แม่ครับ...ใจเรานี้ เราสามารถรู้อะไรมันได้บ้างครับ”

แม่ถามว่า  “รู้อะไร”
“ก็รู้ว่ามีอะไรสามารถกิดขึ้นที่ใจเราได้บ้าง”

แม่นั่งคิด
“ความสุข ความทุกข์”
“แล้วอะไรอีกครับ  เฉยๆ  มีมั้ยครับ”

“มี แต่บางทีมันก็มี ความโกรธ  ความโลภอยากได้ ความฟุ้ง ความรำคาญ”

“มีอีกมั้ยครับ  ถ้าแม่ยังนึกไม่ออก  ผมช่วยนะครับ  หงุดหงิด เบื่อ เหงา เศร้า เซ็ง อิจฉา พยาบาท เกลียด กลัว หึง หวง ห่วง สงบ สบายใจ สงสาร เมตตา และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งจิตใจที่เป็นกุศลและอกุศล

แม่พยักหน้าว่า “จริง... จริง... จริง อย่างที่พูดมาทั้งหมด”
“นี่แหละครับแม่ การเรียนรู้ใจก็คือ การเรียนรู้อาการที่ปรากฏที่ใจ เช่นมีคนมาว่าแม่แล้ว  แม่โกรธ ถามว่าในใจแม่มีตัวหนังสือ “โกรธ” หรือไม่ มันจะมีเพียงแค่อาการโกรธปรากฏที่ใจ  จะเรียกว่าอะไรก็ช่าง  มันแต่มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นที่ใจเท่านั้นเอง เพียงแค่เป็นผู้รู้ผู้ดู  อย่าไปทำมัน  อย่าไปแก้ไขมัน  เห็นแล้วรู้แล้ว  อย่าไปหลงรัก  อย่าไปหลงชอบมัน และก็ไม่ต้องไปเกลียดชังมันด้วย

“สมมุติว่ามีคนเอาขนมเค้กมาให้แม่ แม่ดีใจมั้ยครับ”
“ดีใจซิ”

“ดีใจมันเกิดขึ้นที่ไหน”
“มันเกิดขึ้นที่ใจ”

“ดีใจให้รู้ว่าดีใจ  คือรู้สึกว่ามีสิ่งหนึ่งมันเกิดขึ้นที่ใจ นั่นคืออาการดีใจนั่นเอง พอได้ขนมเค้กมา แม่อยากกินมั้ย”
“อยากกิน”

“อยากกินให้รู้ว่าใจอยากกิน  อยากกินมันเกิดที่ไหน”
“มันเกิดที่ใจ  เพราะใจมันชอบ”  แม่ตอบ  เก่งมาก  แม่เริ่มเรียนรู้อาการของใจได้มากขึ้นแล้ว

“แม่ครับ... เมื่ออยากกิน กินมั้ยครับ กินได้มั้ย กินได้ครับ ท่านไม่ได้ห้ามกิน  แต่การกินก็ควรพิจารณาด้วยเหมือนกันนะแม่  ว่าสิ่งที่กินนั้นเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ เราสมควรกินหรือไม่สมควรกิน เช่น ถ้าแม่เป็นเบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดมาก ก็ไม่ควรกินใช่มั้ยครับ แต่ถ้าจะกินก็กินแต่พอประมาณนานๆ ครั้ง

แม่พูดแทรก  “จริงๆ ขนมเค้กมันก็ไม่ค่อยได้กินสักเท่าไหร่นะ ส่วนมากปีใหม่ ถึงจะมีโอกาสได้กินเสียที”
“แม่ครับ... ถ้าสมมุตว่า แม่เอามีดมาตัดเค้ก พอตัดออกมาปรากฏว่า ขนมเค้กขึ้นรา เขียวอื๋อเลย แม่จะรู้สึกยังไง”
“รู้สึกไม่ค่อยพอใจ ที่เอาของบูดเน่าเก่าเก็บมาให้เรา”

“เห็นมั้ยครับ...ตอนแรกเขาเอาเค้กมาให้ก็ดีใจ  ให้รู้ว่าดีใจ  พอเปิดกล่องเค้ก อยากกินรู้ว่าใจมันอยาก พอตัดเค้กเห็นเค้กขึ้นรา ไม่พอใจก็ให้รู้ว่ามันไม่พอใจ ไม่พอใจนี้เป็นเราไม่พอใจหรืออะไรไม่พอใจครับ”
แม่นั่งคิด  “ก็เราไม่พอใจ”

“ไม่ใช่ครับ  แม่ต้องรู้สึกว่ามีอาการหนึ่งมันเกิดขึ้นที่ใจ  อาการนั้นมันไม่ใช่เรา  แต่มันเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น  อาการนั้นเขาสมมุติเรียกว่า  ไม่พอใจ แม่ไม่จำเป็นต้องรู้ชื่อมันก็ได้ครับ  รู้เพียงแต่ว่ามันมีสิ่งแปลกปลอมอะไรบางอย่างเกิดขึ้นที่ใจแล้ว

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เพิ่งมีอาการดีใจเกิดขึ้นหยกๆ  แต่พอเห็นเค้กขึ้นรา อาการของใจก็เปลี่ยนไปเป็นไม่พอใจ เห็นมั้ยครับ จิตใจมนุษย์เปลี่ยนแปลงง่าน เปลี่ยนแปรเร็วเป็นคนหลายใจ เดี๋ยวพอใจ เดี๋ยวไม่พอใจ แม่จะสังเกตเห็นว่าอาการเหล่านั้น เราไม่ได้ทำให้มันเกิด เราไม่ได้ทำให้มันดับหรือหายไป มันเกิดเองดับเอง เราบังคับมันไม่ได้ แต่เรารู้เท่าทันมันได้ ถ้าเรารู้ทัน เราก็จะไม่ไปคิดว่าเขาเอาของเน่าเสียมาให้เรา เขาไปซื้อเค้กที่ร้าน เขาอาจจะไม่รู้ว่ามันเก่าเน่าบูดก็ได้ แต่เขามีเจตนาดีคิดถึงเรา จึงซื้อมาฝาก

ถ้าเรารู้ว่า  ความไม่พอใจเกิดขึ้น  ก็ให้รู้ว่าจิตไม่พอใจไม่ใช่เราไม่พอใจ  อาการไม่พอใจก็จะเริ่มคลายตัวลง แต่ถ้าเราไปคิดถึงคนที่เขาเอาเค้กเน่ามาให้เรา มันก็จะหลงปรุงแต่งคิดว่าเขาไม่ดี เขาแกล้งเรา เขาดูถูกเรา มันก็มีแต่จิตที่คิดไปเพ่งโทษผู้อื่น พระท่านเรียกว่า  “ส่งจิตออกนอก” ไปรู้เรื่องข้างนอก แทนที่จะรู้ว่าใจตัวเองขณะนั้นเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นในขณะปัจจุบันนั้น ก็พอแล้ว”

แม่ฟัง พร้อมพยักหน้า และพูดว่า  “ลึกซึ้ง ท่านสอนละเอียดดีนะ”  
 “แม่ฟังแล้วเบื่อมั้ย”
 “ไม่เบื่อๆ แม่ชอบ”
 “ถ้าชอบรู้ว่าอย่างไรครับ”
“รู้ว่าใจมันชอบ”

“เก่งมากครับ พรุ่งนี้เรามาเรียนกันต่อนะครับ ตอนนี้แม่ก็ฝึกรู้กาย รู้ใจไปก่อน รู้ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นนะครับ  อย่าไปบังคับให้มันรู้ตลอดเพราะมันบังคับไม่ได้หรอก

เรียนรู้แล้ว  ไม่ฝึกรู้  ฝึกดู  ก็ไม่รู้ไม่เป็น  ธรรมะก็ไร้ค่าถ้าไม่ทำ


(จากหนังสือ สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม โดย ธีรยุทธ  เวชเจริญยิ่ง)

ไม่มีความคิดเห็น: