ชีวประวัติและปฏิปทาคือ จริยรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ที่ท่านกำลังอ่านอยู่ขณะนี้ ผู้เขียน (ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ได้พยายามเสาะแสวงหามารวบรวมตามกำลังความสามารถจากพระอาจารย์หลายท่านที่เคยเป็นศิษย์อยู่ศึกษาอบรมกับท่านมาเป็นยุคๆ จนถึงวาระสุดท้าย แต่คไม่ถูกต้องแม่นยำตามประสงค์เท่าไรนัก เพราะท่านที่จดจำมาและผู้รวบรวมคงไม่อาจรู้และจำได้ทุกประโยคและทุกกาลสถานที่ที่ท่านเที่ยวจาริกบำเพ็ญและแสดงให้ฟังในที่ต่างๆ กัน ถ้าจะรอให้จำได้หมดทุกแง่ทุกกระทงถึงจะนำมาลงก็นับวันจะลบเลือนและหลงลืมไปหมด คงไม่มีหวังได้นำมาลงให้ท่านผู้สนใจได้อ่าน พอเป็นคติแก่อนุชนรุ่นหลังอย่างแน่นอน
ดังนั้น แม้จะเป็นประวัติที่ไม่สมบูรณ์ทำนองล้มลุกคลุกคลาน ก็ยังหวังว่าจะเกิดประโยชน์อยู่บ้าง
การเขียนประวัติและจริยธรรมของท่านทั้งภายนอนที่แสดงออกทางกาย วาจา และภายในที่ท่านรู้เห็นเฉพาะใจแล้วแสดงให้ฟังนั้น จะเขียนเป็นทำนอง เกจิอาจารย์ที่เขียนประวัติของพระสาวกทั้งหลาย ดังที่ได้เห็นในตำรา ซึ่งแสดงไว้ต่างๆ กันเพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้เห็นร่องรอยที่ธรรมแสดงผลแก่ท่านผู้สนใจปฏิบัติตามมาเป็นยุคๆ จนถึงสมัยปัจจุบัน หากไม่สมควรประการใด แม้จะเป็นความจริงดังที่ได้ยินได้ฟังมาจากท่าน แต่ก็หวังว่าคงได้รับอภัยจากท่านผู้อ่านทั้งหลาย เนื่องจากเจตนาที่มีต่อท่านผู้สนใจในธรรม อาจได้คติข้อคิดบ้าง จึงได้ตัดสินใจเขึยนทั้งที่ไม่สะดวงใจนัก
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ เป็นอาจารย์ทางวิปัสสนา ซึ่งควรได้รับยกย่องสรรเสริญอย่างยิ่งจากบรรดาศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดท่าน ว่าเป็นอาจารย์วิปัสสนาชั้นเยี่ยมในสมัยปัจจุบัน จากเนื้อธรรมที่ท่านแสดงออกซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้มีโอกาสฟังอย่างถึงใจตลอดมา ทำให้ปราศจากความสงสัยในองค์ท่านว่า สมควรตั้งอยู่ในภูมิธรรมขั้นใด ท่านมีคนเคารพนับถือมาก ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ในภาคต่างๆ เกือบทั่วประเทศไทย นอกจากนั้น ท่านยังมีสานุศิษย์ทั้งนักบวชและฆราวาสในประเทศลาวอีกมากมายที่เคารพเลื่อมใสในท่านอย่างถึงใจตลอดมา ท่านมีประวัติงดงามมากทั้งเวลาเป็นคฤหัสถ์และเวลาทรงเพศเป็นนักบวช ตลอดอวสานสุดท้าย ไม่มีความด่างพร้อยเลย ซึ่งเป็นประวัติที่หาได้ยากในสมัยปัจจุบัน ความเป็นผู้มีประวัติอันงดงาม ตลอดสายนี้รู้สึกจะหายากยิ่งกว่าหาเพชรหาพลอยเป็นไหนๆ
ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว โดยนายคำด้วงเป็นบิดา นางจันทร์เป็นมารดา นับถึอพระพุทธศาสนาประจำสกุลตลอดมา เกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม วันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ที่บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องกัน ๙ คน แต่เวลาท่านมรณภาพปรากฎว่า ยังเหลือเพียง ๒ คน ท่านเป็นคนหัวปี มีรูปร่างเล็ก ผิวขาวแดง มีความเข้มแข็งว่องไวประจำนิสัย มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาแต่เล็ก พออายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักวัดบ้านคำบง มีความสนใจและรักชอบในการศึกษาธรรมะ เรียนสูตรต่างๆ ในสำนักอาจารย์ได้อย่างรวดเร็ว มีความประพฤติและอัธยาศัยเรียบร้อย ไม่เป็นที่หนักใจหมู่คณะและครูอาจารย์ที่ให้ความอนุเคราะห์
เมื่อบวชได้ ๒ ปี ท่านจำต้องสึกออกไปตามคำขอร้องของบิดาที่มีความจำเป็นต่อท่าน แม้สึกออกไปแล้ว ท่านก็ยังมีความมั่นใจที่จะบวชอีก เพราะมีความรักในเพศนักบวชมาประจำนิสัย เวลาสึกออกไปเป็นฆราวาสแล้ว ใจท่านยังประหวัดถึงเพศ นักบวช มิได้หลงลืมและจืดจาง ทั้งยังปักใจว่าจะกลับมาบวชอีกในไม่ช้า ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะอำนาจศรัทธาที่มีกำลังแรงกล้าประจำนิสัยมาดั้งเดิมก็เป็นได้
พออายุได้ ๒๒ ปี ท่านมีศรัทธาอยากบวชเป็นกำลังจึงได้ลาบิดามารดา ท่านทั้งสองก็อนุญาตตามใจไม่ขัดศรัทธา เพราะมีความประสงค์จะให้ลูกของตนบวชอยู่แล้ว พร้อมทั้งมีศรัทธาจัดแจงบริขารในการบวชให้ลูกอย่างสมบูรณ์ ท่านได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดศรีทองในตัวเมืองอุบล มีท่านพระอริยกวีเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูสีทาเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพระครูประจักษ์อุบลคุณเป็นพระ อนุศาสนาจารย์เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะให้นามฉายาว่า ภูมิทัตโต เมื่ออุปสมบทแล้วได้มาอยู่ในสำนักวิปัสสนากับท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ เมืองอุบล
(จากหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น