วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

เล่าเรื่องจริงอิงนิยาย : วิญญาณแสนรู้

โดย : ต้นไม้ ใบใหม่

คำนำ

          ความเชื่อเรื่องวิญญาณมีหลากหลาย  "คนตายแล้ว วิญญาณออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่  ถ้ายังไม่ได้เกิดก็ต้องเร่รอ่นไปในที่ต่างๆ เพื่อหาที่เกิดใหม่"

          "บางคนเกิดอุบัติเหตุตาย  วิญญาณออกจากร่าง  มองเห็นร่างกายคนเละเทะ  นอนจมกองเลือดอยู่  เข้าร่างเดิมไม่ได้  จึงต้องเร่ร่อนอยู่บริเวณนั้น  จนกว่าจะครบกำหนดไปผุดไปเกิด"

          "เคยเห็นวิญญาณของคนตายมาปรากฎกายมีเลือดคนตายให้ไปผุดไปเกิด  จะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่แถวนี้"

          ... ... ฯลฯ ... ...

          แต่ละคนที่เชื่ออย่างนั้นก็มีเหตุผลหลากหลาย  ตามที่สันนิษฐานด้วยตนหรือด้วยคำบอกเล่าของคนอื่น  ทำให้เกิดความเห็นเป็นอันเดียวกันว่า  "วิญญาณ"  ก็คือ  "ภาพที่ปรากฎของคนที่ตายไปแล้ว"  นั้นเอง  ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวของผู้ที่เป็นญาติและผู้ที่เจอะเจอ

          ความคิดเช่นนี้จะยังคงฝังแน่นในจิตแห่งมวลมนุษย์ รุ่นแล้วรุ่นเล่าจนไม่อาจถอดถอนได้  ตราบที่เรื่องราวของวิญญาณยังไม่ได้รับการเปิดเผยให้พวกเขาได้เห็นประจักษ์ด้วยตนว่า  "วิญญาณ"  ที่แท้จริงคืออะไร?

          มาเถิด...ตามมาสิ...จะพาท่านทั้งหลายไปเปิดเผยเรื่องราวของ  "วิญญาณแสนรู้"  ให้เห็นประจักตามแนวทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้

         หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะไม่กลัววิญญาณอีกต่อไป


.....................................................................

เริ่มเรื่อง

          ผมก็เหมือนกับคนอีกหลายๆ คนที่ดำเนินชีวิตไปตามปกติ คือประกอบสัมมาชีพเลี้ยงครอบครัว  หลังจากเลิกงานในแต่ละวัน  ก็มักจะต้องทำตัวเป็นแขกไปร่วมงานต่างๆ ของเพื่อนบ้าง ของญาติบ้าง ของเพื่อนบ้านบ้าง เป็นงานอย่างหนึ่งที่ไม่มีบัตรเชิญแต่ทุกคนยินดีเต็มใจไปร่วมงานหรือไปปรากฎตัว นั่นก็คือ งานศพ

         ในขณะที่ไปถึงสถานที่จัดงาน จะเป็นที่บ้านก็ดี ที่วัดก็ดี ทางเจ้าภาพก็จัดโต๊ะเก้าอี้ไว้ต้อนรับ  แขกที่มาในงานก็จะนั่งสนทนากันเป็นกลุ่มๆ  เหมือนงานเลี้ยง  คัยกันไปพราง  ปากก็ขบเคี้ยวของกินเล่นไปพลาง  บางครั้งก็ได้ยินเสียงพระสวดแต่ยังคุยกันเหมือนเดิม  เพียงแต่ลดเสียงให้เบาลงเท่านั้น  ผมเองเข้าใจว่า พระท่านมาสวดส่งวิญญาณของผู้ตายให้ไปเกิดในที่ดีๆ  ตามหน้าที่ของท่าน  ไม่ได้สวดให้คนมีชีวิตฟัง  คนที่มีชีวิตอยู่ไม่จำเป็นต้องฟัง  คนส่วนมากก็เข้าใจทำนองเดียวกันกับผม
       
          ผมไปร่วมงานศพมากกว่างานอื่นๆ  แต่ไม่ได้กำหนดนับไว้ทั้งในเวลากลางคืนที่มีพระสวด  และงานฌาปนกิจในเวลาเย็น ว่าเป็นครั้งที่เท่าไหร่   ทุกครั้งที่ไป ความรู้สึกก็เหมือนเดิมบรรยากาศเดิมๆ  เปลี่ยนแต่สถานที่เท่านั้น  ผมรู้สึกชอบที่ได้ไปร่วมงาน เพราะได้พูดคุยได้ความคิดใหม่ๆ ได้โอกาสในการติดต่อขายสินค้า ได้เพื่อนใหม่   แต่ไม่ค่อยได้พูดกันถึงผู้ตายหรือเรื่องความตายเท่าไหร่  นอกเสียจากงานนั้นเป็นการตายอย่างผิดปกติ คือถูกฆ่าหรืออุบัติเหตุ  ก็จะคุยกันถึงผู้ฆ่า  เหตุที่ถูกฆ่า  หรือสภาพอุบัติเหตุ  ครั้งนั้นๆ เท่านั้น   ไม่เคยได้ทราบถึงสภาพจิตใจของผู้เป็นญาติว่าเป็นอย่างไร  และก็ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งเราจะต้องเป็นเจ้าภาพงาน  หรือเป็นต้นเหตุให้ผู้อื่นต้องเป็นเจ้าภาพงาน  และถ้าเราต้องเป็นเจ้าภาพ  เราจะต้องจัดเตรียมและทำอะไรบ้าง  ลำดับก่อนหลังอย่างไร  ไม่เคยได้คิดเลย

          ผมมารู้อีกทีว่าต้องเป็นเจ้าภาพงานศพในขณะที่ทำงานอยู่ตามปกติของบ่ายวันหนึ่ง  ได้รับข่าวทางโทรศัพท์ว่าคุณพ่อ(พ่อของภรรยาเสียชีวิตแล้ว)

          หลังจากเลิกงานก็รีบกลับบ้านพร้อมกับภรรยา  ซึ่งทำงานอยู่ที่เดียวกัน  ไปถึงบ้านก็เห็นแม่ของภรรยานั่งร้องไห้อยู่กับญาติคนอื่นๆ อีก ๒-๓ คน

          ผมเองไม่รู้จะเริ่มต้นกับงานนี้อย่างไร  เพราะทุกคนที่อยู่ในขณะนี้ทำกิริยาเหมือนกันคือร้องไห้  ผมจึงเริ่มปรึกษากับทุกคนว่า เราจะทำอย่างไรดี  ได้รับคำตอบว่าต้องไปติดต่อที่วัดใกล้บ้าน  เพื่อเอาศพไปตั้งทำพิธีที่วัด  เพราะบ้านเรามันแคบ  ทุกคนในบ้านไม่มีใครคุ้นเคยกับพระและวัดเลย  จึงลังเลกันอยู่เพราะไม่รู้ว่าไปวัดแล้วจะติดต่อกับใคร  และถ้าต้องพูดกับพระจะต้องใช้คำพูดอย่างไร

          ในขณะที่เหตุการณ์ยังสับสนทำอะไรไม่ถูก  ก็พอดีมีเสียงของใครคนหนึ่งพูดขึ้นว่า  "ไปบ้านทายกซิ  แกเข้าใจคุ้นเคยกับพระบ้านแกอยู่เลยเข้าไปข้างในหมู่บ้าน"

          ทุกคนจึงมอบหน้าที่ให้ผมซึ่งเป็นผู้ชายคนเดียวในบ้านขณะนี้ไปหาทายกซึ่งผมเองก็ไม่รู้จัก  แต่ก็ยังดีกว่าให้ไปวัด  เพราะทายกเป็นคนธรรมดาเหมือนกับเรา  ยังพอที่จะสอบถามและวานให้ช่วยได้  และก็เป็นไปตามที่ผมคิด   ลุงทายกเมื่อทราบเรื่องก็แสดงความเต็มใจที่จะช่วย  สั่งผมให้ไปจัดการศพที่บ้านเพื่อเตรียมเคลื่อนศพไปที่วัด  ส่วนทางวัดลุงจะจัดการเองให้เบาใจได้  สิ้นเสียงที่ลุงทายกสั่ง  ผมก็เบาใจโล่งใจยนลืมขอบคุณ  รีบมานำศพไปที่วัด  พอไปถึงวัดลุงทายกจัดการเรื่องทั้งหมดอย่างคล่องแคล่ว

          ในคืนนั้นแวลาประมาณ ๒ ทุ่ม  มีพระลงมาสวด  พวกเรานั่งฟังพระพร้อมกับเพื่อนบ้านอีกประมาณ ๓๐ คน เห็นจะได้  หลังจากพระสวดจบก็ได้พูดคุยกับพวกญาติๆ ถึงการจัดงานตกลงกันว่าจะตั้งศพสวดพระอภิธรรมอีก ๒ คืน รวมเป็น ๓ คืน  แล้วจึงจะทำฌาปนกิจในเวลาบ่ายของวันที่ ๔  นับแต่วันที่เสียชีวิต  ตามคำแนะนำของลุงทายกว่าถ้าเลยไปอีกวันเขาไม่เผาศพกัน  พวกเราก็รับฟังด้วยดี  ไม่มีใครถามถึงเหตุผลว่าทำไมจึงเผาไม่ได้  หลายคนอยากจะตั้งศพไว้อีกหลายวัน  เพราะคุณพ่อเคยรับราชการมีเพื่อนฝูงมากและญาติที่อยู่ต่างจังหวัด  ก็จะได้มาร่วมงานทัน  แต่ทุกคนก็ลงความเห็นตามที่ลุงทายกแนนำถึงฤกษ์ยามเวลาที่จะเผา  นอกจากนั้นลุงทายกก็แนะนำว่าในคืนต่อไป  ต้องนิมนต์พระวัดอื่นมาสวดก่อนพระวัดเรา  เพราะเวลา ๑ ทุ่ม  แขกก็มามากพอสมควรแล้ว  จึงควรนิมนต์พระมาหลายๆ วัด  มาสวดให้สมเกียรติของผู้ตาย  ซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียงเป็นที่นับถือของคนจำนวนมาก

.......................................................................



          ผมเริ่มอึดอัดใจอีกครั้ง  เมื่อทุกคนหันมาทางผมเพื่อให้รับหน้าที่นี้ไปจัดการให้เรียบร้อย  ...วันต่อมาผมจึงชวนภรรยาไปเป็นเพื่อน  เพื่อไปวัดที่ผมขับรถผ่านทุกวัน แต่ไม่เคยแวะเข้าไปในวัดแห่นั้นเลยสักครั้ง  ไม่รู้ว่ามีพระหรือไม่

          ผมรู้สึกอึดอัดใจมากจึงพูดกับภรรยาว่า  "เราจะบอกพระว่าอย่างไร  เพื่อเชิญท่านไปในงานศพ  และจะขอให้ท่านทำอะไรก็ลืมถามลุงทายกมาก่อน"

          ภรรยาผมท้วงว่า  "เขาเรียกว่านิมนต์ไปสวดศพ"

          เมื่อรถวิ่งเข้าไปในวัด  ผมก็รู้สึกชอบใจเพราะต้นไม้ร่มรื่น  มีกุฎิที่อยู่ของพระหลังเล็กๆ อยู่ภายใต้ต้นไม้  เห็นพระรูปหนึ่งนั่งอยู่ที่ม้าหินอ่อนจึงจอดรถแล้วเดินเข้าไปหาท่าน

          ความหนักอกหนักใจว่าจะพูดอย่างไรหายไปครึ่งหนึ่ง  เมื่อท่านส่งเสียงปฏิสันถารว่า  "เชิญนั่งก่อนโยม"  เมื่อเรานั่งแล้ว  ท่านก็กล่าวว่า  "โยมมีธุระอะไรหรือเปล่า"

          เพียงเท่านี้ผมก็รู้สึกว่าความเข้าใจเก่าๆ  ของผมที่ว่าพระเป็นคนจำพวกหนึ่งต่างจากเราที่พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง  หรือไม่จำเป็นที่เราจะพูดด้วย  น่าจะไม่ถูกนัก

          ผมก็ตอบท่านว่า  "จะมาขอเชิญนิมนต์พระไปสวดศพที่วัดใกล้บ้าน"

          ท่านพูดเป็นกันเองว่า  "ใช้คำว่านิมนต์ก็พอ ไม่ต้องใช้คำว่าเชิญหรอก"

          ผมรู้สึกว่าอาการเกร็งๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้หายไปหมดสิ้น  พร้อมกับกล่าวว่า  "ขอโทษครับที่ใช้คำไม่ถูก ไม่ค่อยได้เข้าวัด"

          ท่านพูดทันทีว่า  "ไม่ใช่ไม่ค่อยได้เข้าวัด อาตมาว่าเข้าวัดอยู่บ้าง แต่ไม่เคยสนใจที่จะรู้เรื่องวัด หรือผู้อยู่ในวัดกระมัง"

          ผมรู้สึกว่าท่านพูดตรงกับความเป็นจริงทีเดียว  เหมือนกับท่านเป็นตัวเรา  เราเสียอีกพูดไม่ตรงกับที่เราเป็นอยู่

          ท่านถามต่อว่า  "นิมนต์พระกี่รูป"

          เราสองคนตอบพร้อมกันว่า  "๔ รูป"

          ท่านถามว่า  "ทำไมต้อง ๔ รูปด้วย ๓ รูป ๒ รูป ไม่ได้เหรอ"

          เราตอบว่า  "เห็นเขาใช้เพียง ๔ รูป"

          ท่านพูดว่า  "ทำตามเขานี่ พระที่วัดนี้สวดน้อยนะโยม  ส่วนมากจะพูดเหตุผลให้โยมฟังมากกว่าสวด  ถ้าเป็นงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานศพมักจะพูดให้เข้าใจก่อนว่า   คำที่สวดคือคำสอนของพระพุทธเจ้าเรียกว่า  "ปริตร" แปลว่า เครื่องป้องกันอันตรายต่างๆ ไม่ใช่มนต์วิเศษที่จะดลบันดาล  หรือขจัดสิ่งที่เราไม่ต้องการให้หมดไปได้  และปริตรนี้จะเป็นเครื่องป้องกันอันตรายได้จริง ก็ต่อเมื่อปฏิบัติถูกต้องทั้งสองฝ่าย  คือ
          
          ฝ่ายพระต้องปฎิบัติให้ครบทั้ง ๓ ข้อ คือ
          ๑. สวดออกเสียงอักขระให้ถูกต้องชัดเจน
          ๒. สวดไม่ผิดพลาด ไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ข้ามลำดับ และรู้ความหมายของคำที่สวดออกไป
          ๓. มีจิตเมตตา ปรารถนาให้ผู้ฟังมีความสุข ไม่สวดเพราะเห็นแก่ลาภ

          ฝ่ายโยมก็มี ๓ ข้อ คือ
          ๑. ต้องไม่เคยทำกรรมหนัก คือ ฆ่าแม่ ฆ่าพ่อมาก่อน เป็นต้น 
          ๒. เชื่อกรรมและผลของกรรม คือเชื่อว่าการกระทำทุกอย่างมีผล เราจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
          ๓. นับถือพระรัตนตรัย เชื่อในอานุภาพของปริตร และตั้งใจฟังโดยเคารพไม่ลุกๆ นั่งๆ คอยรับแขกหรือนั่งคุยกัน

          ถ้าทำไปเพื่อให้เป็นไปตามประเพณีอย่างที่ทำๆ กันอยู่  ก็ไม่มีผลอะไรในการนิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์  ส่วนงานศพนี้มักสวดเพียงจบเดียวนะ เพื่อมีเวลาให้พระพูดคุยกับโยมบ้าง  อาจจะเป็นก่อนสวดหรือสวดจบก็แล้วแต่เหตุการณ์ไม่ตายตัว  โยมพอจะรับได้ไหม  ถ้าจะให้สวดตุ่ยๆ ไปโดยโยมไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย  อาตมาคงไม่รับนะ  เพราะพระต้องเรียนธรรมะในเวลากลางคืนด้วย"
  
          ผมรีบรับปากว่า "ได้ครับ"  ทั้งที่ยังไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร ไม่คิดว่าจะฟังพระสวดหรือพูดด้วย  เลยเรียนท่านว่า "จะมารับก่อน ๑ ทุ่ม  และจะต้องสวดเสร็จก่อน ๒ ทุ่ม  เพราะว่าเวลา ๒ ทุ่ม  พระที่วัดนั้นจะลงมาสวด"

          หลังจากที่คุยกับท่านอยู่อีกครู่หนึ่งผมก็ลากลับ  ขณะกลับผมพูดกับภรรยาว่า  "พระวัดนี้แปลกๆ ไม่เหมือนกับที่เราคิดเลย  เมื่อก่อนคิดว่าพระเป็นคนพวกหนึ่งที่ต่างจากเรา  พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง  ไม่คิดว่าจะต้องมาพูดกับพระ  พอมาพูดกับพระเข้าจริงๆ  แล้วท่านพูดรู้เรื่อง  ตรงไปตรงมา  เธอรู้สึกอย่างนั้นมั้ย"

          "ใช่  ฉันเองก็รู้สึกอย่างนั้น"  ภรรยาตอบ

                                           ..........................................................................



          คืนนี้เวลาหนึ่งทุ่ม  แขกมากันยังไม่มากนัก  พระมาถึงก็เรียทายกเข้ามาหา  สักประเดี๋ยวลุงทายกก็ประกาศให้ทุกคนไหว้พระ รับศีล  หลังจากนั้นพระก็สวดเพียงจบเดียวแล้วท่านก็เริ่มพูดทักทายเจ้าภาพและแขกที่มานั่งกันเต็มสถานที่ที่เตรียมไว้

          ผมจำได้ว่าประโยคแรกที่พระเทศน์ ท่านถามว่า "โยมนิมนต์พระมาสวดพระอภิธรรม โยมต้องการอะไร?"  พร้อมกับชี้มือไปทางเจ้าภาพ เสียงคุยกันเริ่มเบาลง

          ท่านพูดอีกว่า "ตอบตามที่โยมต้องการนั่นแหละ คนไหนจะตอบก็ได้"

          หลายคนหันมาทำหน้างงๆ มีเสียงตอบว่า "ต้องการบุญ"

          ท่านย้ำว่า "ต้องการบุญเหรอ"

          มีเสียงตอบว่า "ต้องการให้สวดส่งวิญญาณของผู้ตายไปผุดไปเกิด จะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานวนเวียนอยู่แถวนี้"

          พระท่านยิ้มๆ แล้วชี้มือไปทางด้านแขกที่นั่งคุยกันอยู่  ถามว่า "พวกโยมมางานศพเพื่อประโยชน์อะไร?"  เสียงที่คุยกันจ้อกแจ้กจอแจเริ่มขาดหายไปเหลือเป็นกลุ่มๆ และค่อยๆ หมดไปในที่สุด

          เมื่อท่านถามอีกก็มีเสียงตอบว่า "มาเป็นกำลังใจแก่เจ้าภาพ"  บ้างก็ว่า "มาเป็นเกียรติแก่ผู้ตาย"

          พระท่านหันมาทางกลุ่มเจ้าภาพ ถามว่า "โยม...แขกพากันมามากๆ โยมดีใจมั้ย? หรือมีกำลังใจดีขึ้นมากมั้ย?"

          เสียงคุณแม่ตอบว่า "ดีใจค่ะ"

          ท่านถามว่า "ดีใจทำไมนั่งเศร้าน้ำตาไหลในขณะที่พระสวด"

          ...  ...  ...  ...  ...

          ทุกคนเงียบ  !!!

          ท่านถามอีกว่า  "โยม...คนตายรู้ไหมว่าพวกโยมมาเป็นเกียรติให้เขา?"  เงียบไม่มีเสียงตอบ

          ท่านก็ทิ้งประเด็นนี้ไว้  แล้วกลับไปพูดเรื่องบุญที่มีผู้ตอบไว้แต่แรกว่า  "โยม...ที่บอกว่านิมนต์พระมาเพราะต้องการบุญ  โยมจะเอาบุญไปทำไม?"

          "เอาไปให้คนตายค่ะ"  เป็นเสียงตอบของคณแม่

          "โยม...บุญคืออะไร?  มันอยู่ที่ไหน?  อยู่ที่พระเหรอ?  แล้วทำไมให้เฉพาะคนที่ตายไปแล้วเท่านั้น?  รู้ได้อย่างไรว่าคนตายแล้วต้องการบุญ?  คนที่ยังเป็นๆ อยู่ไม่ต้องการบุญเหรอ?  แล้วเวลานี้โยมได้บุญหรือยัง?  ถ้าได้แล้วจะให้อย่างไร?  เอาไปให้กันที่ไหน?  นัดกันไว้แล้วหรือยัง?  ฮึๆ ๆ"

          ...  ...  ...  ...

          หลังจากที่เงียบเพราะเจอกับความแปลกมาครู่หนึ่ง  ขณะนี้หลายคนมีรอยยิ้มปรากฎขึ้น  ผสมกับแววตาที่แสดงความงุนงงกับปัญหาแปลกๆ ง่ายๆ น่าตอบ  แต่กลับไม่มีเสียงตอบ

          ท่านย้ำอีกว่า  "โยม... ใครรู้จักบุญบ้าง?  ช่วยตอบหน่อย  ตอบตามที่เข้าใจ  นี่พระไม่ได้มาสอบความรู้โยมนะ  โยมนิมนต์พระมาร่วมงาน  พระก็อยากคุยด้วย  ตามปกติอยู่ที่วัดไม่ค่อยได้คุยกับโยม  พระเหงาจึงขอคุยด้วยนะโยม"

          มีเสียงหัวเราะดังขึ้นทางด้านแขก...

          "ตกลงโยมจะตอบหรือไม่ตอบ...  ถ้าไม่ตอบพระจะตอบเองนะ"

          มีเสียงตอบว่า  "บุญอยู่ที่ใจค่ะ"

          "ถูกต้องเลยโยม เอ่อ...โยม...  ทีนี้ทำอย่างไรบุญมันถึงมาอยู่ที่ใจล่ะ?  โยมรู้สึกว่าพระรูปนี้ถามกวนๆ หรือเปล่า?  นี่ไม่ได้แกล้งถามนะ  เพราะถ้าไม่ถามอย่างนี้  โยมก็คุยกันเอง  พระไม่ได้ร่วมคุยด้วยเลยโยม...  ในที่นี้ใครไม่เคยทำบุญบ้าง  อาตมาเชื่อว่าทุกคนเคยทำบุญมานับครั้งไม่ถ้าน  นี่โยม...  ถ้าเราสังเกตก็จะรู้ว่าบุญมันเกิดขึ้นที่ใจในขณะไหน  และใจที่มีบุญกับใจที่ไม่มีบุญมันต่างกันอย่างไร"

          ท่านพูดต่อ  "อ้าว...  มีโยมยกมือ  ว่าอย่างไร  โยม..."

          "บุญคือความสบายใจค่ะ"

          "ก็ถูกนะโยม... แต่ลองคิดต่ออีกหน่อย  ถ้าบุญหมายถึง ความสบายใจเท่านั้น  หรือความสบายใจเป็นบุญละก็  ทีนี้โยมอย่าห้ามพ่อบ้านที่ไปเที่ยวเธค  เที่ยวบาร์  กินเหล้าฟังเพลงนะ  อย่าห้ามลูกๆ ที่ใส่สายเดี่ยว เกาะอก เที่ยวห้าง ดูหนัง เที่ยวสถานเริงรมย์ กลับบ้านดึกๆ ดื่นๆ นะ  เพราะที่เขาทำอย่างนั้น  มันทำให้เกิดความสบายใจ  ได้บุญมากเลยใช่ไหมโยม?  หรือเราควรแนะนำต่อๆ ไปว่า  ถ้าใครต้องการบุญก็พากันเล่นการพนัน กินเหล้า หาดนตรีมาแสดง  พอสบายใจเต็มที่แล้วก็อุทิศบุญให้ผู้ตายอย่างนี้ก็ได้ใช่ไหมโยม?"

          "ไม่ใช่ค่ะ"

          "อ้าว... แล้วยังไงล่ะ  โยมลองมาฟังแนวทางของพระพุทธศาสนาดูบ้างว่า บุญคืออะไร?...

          บุญ คือสภาพที่     ทำให้ใจหมดจด เข้มแข็ง ไม่มีโทษขณะทำและให้ผลเป็นความสุขเป็นลำดับไปหลังจากที่ทำแล้ว  หรือเป็นชื่อของนามธรรม  คือเจตนาในการทำความดี  ทำให้ใจไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของความโลภอยากได้  ความโกรธเคือง  ความหลงงมงายไม่มีเหตุผล  ความตระหนี่ อิจฉาริษยา เป็นต้น  ที่เรียกว่ากิเลสนั่นเอง

          การทำใจให้เป็นบุญหรือทำบุญให้เกิดขึ้นในใจได้นั้นมีวิธีทำอยู่ ๑๐ วิธีด้วยกัน คือ
          ๑.  ทาน  เจตนาที่จะให้สิ่งของของตนสงเคราะห์ผู้อื่น หรือบูชาผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน  ใจเช่นนี้มีบุญอยู่ด้วย
          ๒.  ศีล  เจตนางดเว้นจากความประพฤติที่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น นี้ก็เป็นบุญ
          ๓.  ภาวนา  การฝึกจิตให้สงบอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านหรือการฝึกจิตให้เกิดสติปัญญา  ให้รู้เหตุผลตามความเป็นจริง  ไม่อยู่ใต้อำนาจของกิเลส  ใจอย่างนี้ก็เต็มไปด้วยบุญ
          ๔.  อปจายนะ  ความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ กราบไหว้ผู้ที่ควรกราบไหว้ บูชาผู้ที่ควรบูชา จิตใจไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่งจองหอง  เช่นนี้บุญก็เกิดขึ้นได้
          ๕.  เวยยาวัจจะ  การเอากาย วาจา ใจ  ขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่นในการทำความดี  โดยเอาแรงกายเข้าไปช่วยงาน  หรือแนะนำจัดการงานด้วยวาจา  มีใจมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลืออย่างจริงจัง  ไม่หวังผลตอบแทน  การกระทำเช่นนี้ก็เป็นบุญ
          ๖.  ปัตติทานะ  การมอบผลความดี คือ บุญที่ตนทำแล้ว  ให้แก่ผู้ที่ตนระลึกถึง ที่เรียกว่าการอุทิศบุญ หรือกรวดน้ำ  ใจอย่างนี้ก็เปี่ยมไปด้วยบุญ  เพราะมุ่งจะช่วยให้เขาพ้นจากควาทุกข์ทรมาน
          ๗.  ปัตตานุโมทนา  การทำใจให้ชื่นชมกับคนที่ทำความดีและเขากำลังได้รับความสขสมหวัง  เพราะผลของความดีนั้น จิตใจเช่นนี้ก็เป็นบุญ  เพราะไม่มีความอิจฉาริษยา
          ๘.  ธรรมสวนะ  การฟังธรรม คือการศึกษาหาความรู้ที่ประกอบด้วยเหตุผลเพิ่มเติม  เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้พ้นจากความทุกข์  จิตใจที่ยอมตนรับฟังผู้อื่นเช่นนี้ก็เป็นบุญได้
          ๙.  ธรรมเทศนา  กานนำความรู้ความเข้าใจในเหตุและผลต่างๆ ที่ตนได้ศึกษาแล้วไปแนะนำคนอื่นโดยไม่คิดมูลค่า  ใจเช่นนี้มีบุญมากและพระพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญ
          ๑๐. ทิฏฐุชุกรรม  การทำความเห็นให้ถูกตรงต่อเหตุผลที่เป็นจริง  ไม่เป็นคนงมงายไร้เหตุผล  เช่นเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมันเกิดมาเป็นอาหารของเรา  ดังนั้นเราฆ่ามันมาเป็นอาหารได้  ไม่เป็นบาป เป็นต้น  เช่นนี้เป็นความเห็นผิด  เป็นเหตุให้ทำร้ายทำลายผู้อื่น เป็นต้น

          ส่วนความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายรักสุข เกลียดทุกข์ กลัวตายด้วยกันทั้งนั้นเหมือนกับเรา  สัตว์โลกทั้งหมดเป็นไปตามกรรมที่ตนทำไว้  สัตว์เดรัจฉานมันเคยทำชั่วมาก่อน  จึงต้องเกิดมารับความทุกข์เช่นนี้  เราไม่ควรทำความชั่วซึ่งเป็นเหตุให้เกิดเป็นความทุกข์เหมือนกัน

          ใจที่มีความเห็นเช่นนี้เป็นต้น  ก็เป็นบุญเพราะเป็นเหตุให้ไม่ทำความชั่ว  ตรงกันข้ามกลับก่อให้เกิดความเมตตา  รักและสงสารสัตว์ทั้งหมด  นับว่าเป็นบุญเบื้องต้นของบุญทุกชนิด  เป็นเบื้องต้นของการทำบุญทุกประการ

          โยม...ข้อนี้สำคัญมาก  เราจะดำเนินชีวิตไปให้ได้รับความสุขก็เพราะมีความเห็นที่ถูกต้องนี่แหละ  จะทำตนให้ประสบกับความทุกข์ก็เพราะความเห็นผิดจากเหตุผลตามที่เป็นจริง

          ทีนี้  เราจะทำอย่างไรจึงจะมีความเห็นถูกต้องได้  ก็คงจะต้องขยันศึกษาหาความรู้ในพระพุทธศาสนา  โดยการฟัง  การถาม  การอ่านเรื่องราวคำสอนของพระพุทธเจ้าบ่อยๆ ก็จะได้เหตุผล  ทำให้เกิดความเห็นถูกต้อง  โยม... อาตมาพูดมาคนเดียวมานานเลยไม่ทราบว่ายิ่งทำให้โยมมึนมากขึ้น  หรือว่าค่อยเห็นช่องทางหายมึนไปบ้างแล้ว  โยม...ทีนี้รู้หรือยังว่าบุญคืออะไร  เกิดที่ไหน  ในเวลาใด?"

          "พอรู้ค่ะ"  ตอบเป็นเสียงเดียวกัน

          "เห็นมั๊ยโยม... เราสามารถทำบุญได้ในหลายโอกาส หลายสถานที่  และบุญก็ไม่ได้หมายถึงความสบายใจอย่างเดียวใช่มั๊ยโยม...

          ในขณะที่เราเห็นคนกำลังได้รับความทุกข์ เช่น คนจะจมน้ำ คนที่กำลังจะถูกไฟครอก  ใจเกิดความสงสาร  รีบช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์รอดตาย  ใจในขณะนั้นเข้มแข็ง  เป็นบุญ  ทั้งที่เห็นคนจมน้ำเราก็ไม่สบายใจเหมือนเที่ยวห้างเลยใช่มั๊ย โยม...

          หรือในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนา  เกิดปัญญาเห็นว่าสังขารร่างกายของเราเต็มไปด้วยทุกข์มากมาย  ตั้งแต่ตื่นขึ้นจนถึงหลับไป  มีแต่ทุกข์ที่เราต้องคอยบำบัดแก้ไขให้พอดำเนินชีวิตไปได้จนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยินดีในร่างกายสังขารนี้ไม่ลุ่มหลงตกแต่งบำรุงบำเรอมันจนเกินความพอดี  จิตใจเบื่อหน่ายอย่างนี้ก็เป็นบุญและจัดว่าเป็นบุญชั้นสูงที่จะทำให้พ้นจากทุกข์ได้เลยทีเดียว

          โยมเห็นหรือยัง...  ใจที่เบื่อหน่ายที่คอยบำบัดแก้ไขทุกข์ของสังขารร่างกายอยู่ทั้งวันก็เป็นบุญ  และเป็นบุญมากด้วยทำให้พ้นจากทุกข์ได้  พอเข้าใจนะโยมเรื่องบุญที่ว่ามานี้?"

          "พอเข้าใจค่ะ"
   
          "ถ้าเข้าใจแล้วขอหยุดส่วนนี้ไว้ก่อน  ขอวกกลับมาเรื่องที่โยมนิมนต์พระมาสวดอภิธรรมในงานศพครั้งนี้  โยมได้บุญตอนไหน?"

          "ช่วยแนะนำด้วยค่ะ"

          "โยมไม่ช่วยเลย  ยกให้อาตมาอีกแล้ว  อาตมาพูดอยู่คนเดียวเดี๋ยวโยมก็เบื่อไม่กล้าไปนิมนต์พระวัดนี้มางานอีกเลย"

          "ยังไม่เบื่อ...อยากฟังต่อค่ะ"

          "โยม... ในขณะที่พระสวด โยมก็คุยกันไป  กินของว่างกันไปได้บุญไหมโยม?"

          "ไม่ได้ค่ะ"

          "ใจตอนนั้นเป็นบุญไหม?"

          "ไม่เป็ฯค่ะ"

          "ทีนี้โยมไม่ได้คุยกัน  นั่งฟังกันอย่างสงบ  ทั้งที่ฟังก็ไม่รู้เรื่องจับใจความอะไรก็ไม่ได้  จะได้บุญหรือไม่?"

          "ไม่ได้ค่ะ"

           "ได้สิโยม...  ถ้าเรานับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์  โดยกำหนดไว้ใจว่า  พระกำลังสวดพระธรรมอันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า  จิตใจที่ฟังโดยความเคารพเช่นนี้ก็เป็นบุญ  คือบุญเกิดเพราะการประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรเคารพ  และในขณะที่โยมฟังพระพูด ได้บุญมั๊ย?"

          "ได้ค่ะ"

          "ใช่... การตั้งใจฟังเรื่องราวต่างๆ อันก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเหตุผล  สามารถนำมาปฏิบัติได้  เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต  ทำให้พ้นทกข์ได้  จัดว่าเป็นบุญในข้อฟังธรรม

          พอสรุปได้ว่า บุญ คือการกระทำที่ไม่ทำตนเองและผู้อื่นให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน  และก่อให้เกิดความสุขเป็นลำดับไป  หลังจากที่ทำแล้วเป็นเหตุให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

          แหม!  คิดว่าจะพูดเรื่องวิญญาณที่โยมตอบไว้ครั้งแรก  คงไม่ทันแล้ว  ใกล้เวลาที่พระท่านจะลงมาสวดแล้ว  คงต้องขอติดค้างไว้ก่อนนะโยม  ขอจบการพูดคุยสนทนากับญาติโยมไว้เพียงเท่านี้...

          ขอให้ญาติโยมทุกท่านขวนขวายทำบุญโดยเฉพาะเรื่องสุดท้าย  คือทำความเห็นให้ถูกต้อง  ดำเนินชีวิตไปด้วยบุญ  นำตนให้พ้นทุกข์ด้วยกันทุกท่านเทอญ... เจริญพร"

          เมื่อท่านแสดงธรรมจบแล้วก็ลากลับ  ผมทำหน้าที่ขับรถส่งพระกลับวัด  ได้คุยกับท่านนิดหน่อย  เพราะระยะทางไม่ไกลนัก  ก่อนจะถึงวัดผมตัดสินใจนิมนต์ท่านต่ออีกคืนหนึ่ง  อยากให้พูดเรื่องวิญญาณที่พูดติดค้างไว้

          ท่านบอกว่า  "อาจจะเป็นพระรูปอื่นนะโยม"

          ผมให้เหตุผลว่า  "ถ้าเป็นรูปอื่นอาจจะไม่ได้พูดเรื่องวิญญาณ"

          ท่านบอกว่า  "เดี๋ยวต้องไปบอกท่านอาจารย์ก่อน  แต่รับไว้ว่าพรุ่งนี้จะมีพระไปสวดและพูด"

          ผมมาถึงงาน  แขกกำลังทานข้าวต้มที่ทางเจ้าภาพจัดเลี้ยง  หลายคนกำลังพูดคุยกันถึงเรื่องพระเทศน์  ถามถึงวัดที่ท่านอยู่ ส่วนมากเป็นการแสดงความชื่นชมพอใจ

          หลายคนเห็นผมแล้วบอกว่า  "พรุ่งนี้นิมนต์ท่านมาพูดเรื่องวิญญาณต่อนะ"

          ผมบอกว่า  "นิมนต์แล้ว  แต่ไม่รู้ว่ายังเป็นรูปเดิมอยู่หรือเปล่า"

..........................................................................


          วันต่อมา ผมขับรถไปรับพระตามเวลา ไปถึงวัดเห็นพระกำลังประชุมสวดมนต์อยู่  ครู่หนึ่งมีพระออกมาถาม  ผมตอบว่ามารับพระไปงานศพ  ขณะกำลังคุยอยู่กับพระที่ออกมาถาม  ก็มีพระมาจากทางด้านกุฎิที่อยู่ ๔ รูป

          ผมดีใจมากเมื่อเห็นพระรูปหัวหน้าที่พูดเมื่อคืนก่อน  ส่วนอีก ๓ รูป  ไม่ใช่รูปเดิมเป็นรูปใหม่

          วันนี้แขกมามากกว่าวันก่อน  เพราะเป็นคืนสุดท้าย  พอพระท่านนั่งสักครู่  ลุงทายกก็ทำหน้าที่นำประกอบพิธีเป็นลำดับ  พอจบพระท่านเรียกลุงทายกเข้าไปหา  พูดคุยอะไรไม่ทราบ และลุงทายกก็ประกาศว่า  "วันนี้พระท่านจะพูดธรรมะก่อนแล้วค่อยสวดในภายหลัง"

          พอผมได้ยินดังนั้น  ก็รีบไปที่รถหยิบเอาเครื่องบันทึกเทปที่เตรียมไว้มาตั้งใกล้ๆ พระทันทีไม่เหมือนกับคืนก่อนกว่าจะได้บันทึก พระท่านก็พูดคุยไปได้หลายประโยคแล้ว  เพราะไม่คิดว่าจะบันทึกเสียงไว้  แต่เห็นว่าพระท่านพูดมีเหตุผล  มีคำถามแปลกๆ ดี  จึงรีบหาเครื่องเทปมาบันทึกไว้

          "เจริญพรคณะเจ้าภาพและญาติโยมทุกๆ ท่าน  อาตมาไม่คิดว่าจะได้มาพูดคุยกับโยมอีก  เมื่อวานกลับไปก็ไปเล่าให้ท่านอาจารย์ฟัง  และบอกว่าพูดยังไม่จบหมดเวลาเสียก่อน  จึงติดค้างเรื่องวิญญาณไว้  และโยมก็นิมนต์ให้ไปพูดในคืนต่อไปคือคืนนี้  ท่านอาจารย์บอกว่าถ้าอย่างนั้นท่านไปพูดต่อให้จบก็แล้วกัน  อาตมาจึงได้มาพูดกับโยมอีกครั้ง  วันนี้ขอพูดก่อนแล้วค่อยสวดพระอภิธรรมในภายหลังนะโยม...

          โยมอาจจะรู้สึกแปลกๆ  ว่าพระวัดนี้ไม่ค่อยมีระเบียบแบบแผนอะไรเลย  เมื่อคืนก่อนก็สวดก่อนพูดทีหลัง  มาคืนนี้กลับจะพูดก่อนสวดทีหลัง มันยังไงกัน?   

          โยม...  ที่อาตมาทำเช่นนี้ก็ต้องการให้โยมสงสัยแล้วถามขึ้นมา  อาตมาก็จะได้บอกถึงความประสงค์  คืออาตมาอยากบอกกับโยมว่า การทำตามประเพณีเป็นสิ่งดี แต่ควรมองไปที่จุดมุ่งหมายหรือประโยชน์ที่จะได้รับ

          เมื่อมีจุดมุ่งหมายอย่างนี้เราก็ไม่ติดอยู่ที่เวลาหรือลำดับขั้นตอนของการกระทำ  หมายความว่า เวลาก็ดี  ลำดับขั้นตอนของการกระทำก็ดี  สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมหรือตามที่จะได้รับประโยชน์มาก

          เมื่อวานสวดก่อนเพราะคิดว่าโยมยังมากันไม่พร้อม  ถ้าพูดก่อนโยมที่มาทีหลังก็จะไม่ได้ฟัง  แต่วันนี้โยมมากันพร้อมแล้ว  จึงอยากจะพูดให้โยมเข้าใจเสียก่อนจึงจะสวด โยมคงไม่ว่านะ?"

          "ไม่ว่าหรอกค่ะ อยากฟัง"

          "โยม...  เมื่อวานโยมบอกว่านิมนต์พระมาสวดเพื่อส่งวิญญาณของคนตายให้ไปผุดไปเกิด  จะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่แถวนี้  ใช่มั๊ยโยม?"

          "ใช่คะ"

          "โยมวิญญาณคืออะไร  มาจากไหน  อยู่ที่ไหน  และถ้าพระไม่สวดจะไม่ได้ไปผุดไปเกิดเลยหรือ?"

          "ได้ยินเขาว่า  คนตายแล้ววิญญาณออกจากร่างไปหาที่เกิดใหม่  ถ้ายังไม่ได้เกิดก็ต้องเร่ร่อนไปๆ มาๆ ไม่ทราบว่าจริงมั๊ย"

          "เอ่อ...โยมคนโน้นยกมือ  ว่าอย่างไรโยม?"

          "อ้อ...เคยได้ยินมาค่ะ  เขาว่าคนตายแล้ววิญญาณออกจากร่างแล้วเที่ยวไปในที่ต่างๆ บางคน ๓ วัน  บางคน ๗ วัน  จึงรู้ว่าตนเองตาย  พอรู้ว่าตนเองตายกลับมาก็เข้าร่างไม่ได้แล้ว  ก็จะปรากฎให้ญาติเห็น"

          "โยมคิดว่าจริงมั๊ย  ที่เขาว่าอย่างนั้น?"

          "มันน่าจะจริง เพราะเขาพูดกันมาก และได้ยินว่าเขาเคยเห็นกัน"

          "โยม ใครเคยเห็นบ้าง?  โยมคนโน้นแล้วกัน... เคยเห็นหรือเปล่า?"

          "ไม่เคยเห็นครับ"

          "โยมทายกเคยเห็นบ้างไหม?"

          "ไม่เคยเห็นสักที ได้ยินแต่คนแก่คนเฒ่าเล่าให้ัฟัง"

          "โยม... ใครอยากเห็นบ้าง  โยมเจ้าภาพอยากเห็นมั๊ย?"

          "อยากเห็นค่ะ แต่กลัว"

          "กลัวอะไรโยม  วิญญาณมันน่ากลัวเหรอ?"

          "เขาบอกว่าเหมือนกับตอนเป็นอยู่  แต่งตัวชุดขาว  บางคนก็ว่ามีเลือดเต็มตัวเหมือนเวลาตายด้วยอุบัติเหตุ"

          "อ้าว!  โยมที่นั่งข้างเสายกมือจะสนับสนุนหรือคัดค้านอย่างไร?"

          "คนข้างบ้านเขาเห็น  เขาบอกว่ามันนั่งเห็นลางๆ  บางครั้งก็ยืนเห็นไม่ค่อยชัดเป็นเงาๆ ขาวๆ แวบเดียวแล้วก็หายไป"

          "เอาละโยม  ขอถามความเห็นหน่อย  โยมคนไหนเห็นว่าคนตายแล้ววิญญาณออกจากร่างเที่ยวล่องลอยไป  ช่วยยกมือด้วย...  อ้อ...  เยอะเลย  อ้าว! โยมที่ไม่ได้ยกมือเห็นว่าไรบ้าง?  เอ้า... โยมผู้ชายที่ยกมือ"

          "ผมว่าน่าจะไม่มี  คือน่าจะดับสูญไปเลย  เพราะตายแล้ว"

          "อืม... มีเหตุผล  อ้าว... โยมข้างหลังบ้าง?"

          "ยังไม่รู้ค่ะ"

          "ไม่รู้อะไรโยม"

          "ไม่รู้ว่าตายแล้วจะเป็นอย่างไรค่ะ"

          "อ้าว! โยมไม่เชื่อตามที่เขาพูดกันเหรอ?"

          "ยังลังเลอยู่ค่ะ  แต่ก็ไม่ค่อยกล้าพูดอะไร"

          "แล้วทำไมถึงกลัวล่ะโยม?"

          "กลัวตนเองเจอเข้า... เดี๋ยวช็อกตาย"

          "เอาลาโยม...  นานาทัศนะหลากหลายความเห็น  พวกที่เชื่อว่าตายแล้ววิญญาณออกจากร่างเที่ยวไปก็มีเหตุผล  เพราะมีคนเคยเห็นเป็นเครื่องยืนยัน  พวกที่ไม่เชื่อก็มีเหตุผลว่าตายแล้วมันน่าจะสูญหมดไม่เหลืออะไร  บางพวกก็แทงกั๊ก  คือเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งเพราะกลัว  ยึดมติที่ว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่  เดี๋ยวเจอด้วยตนเอง  แล้วจะช็อก

          เอาละโยม...  ทีนี้มาฟังเรื่องวิญญาณทางพระพุทธศาสนากันดูบ้าง  วิญญาณ คือ สภาพที่รู้อารมณ์  หรือตัวรู้อารมณ์  มีอยู่ในคนและสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ มีที่อยู่ ๖ แห่งด้วยกัน คือที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ...

          ...  โยมเห็นอาตมาไหม?"

          "เห็นค่ะ"

          "อะไรมันเห็น  หรือโยมเอาอะไรเห็น?"

          "ตามันเห็น  เอาตาเห็น เอาตาดูค่ะ"

          "โยม... คนตายมีตามั้ย?"

          "มีค่ะ"

          "เขายังเห็นโยมมั๊ย?"

          "ไม่เห็นค่ะ"

          "ก็เขายังมีตาแล้วทำไมไม่เห็น"

          "เขาตายแล้วจึงไม่เห็น"

          "อ้าว!  ก็โยมบอกว่าตาเป็นตัวเห็น  เมื่่อตายยังมีอยู่ ถึงตายก็น่าจะเห็นได้ใช่มั๊ย?  นี่แสดงว่าตามันไม่ใช่ตัวเห็น  มันเป็นเพียงอุปกรณ์ทำให้เกิดการเห็นเท่านั้น  เมื่อครู่นี้อาตมาบอกว่า วิญญาณ์คือตัวรู้อารมณ์  โยม... ทางตาเรารู้อารมณ์คือเห็นอะไรได้บ้าง?"

          "เห็นได้หลายอย่าง เห็นทุกอย่างถ้าตายังดี และมีสว่างพอ"

          "ใช่โยม เราเห็นรูปร่างสีสันต่างๆ ได้  ตัวรู้ทางตาอย่างนี้แหละเขาเรียกว่าวิญญาณทางตาที่อาศํยตาหรือวิญญาณทางตา  ได้ยินเสียงทางหู เรียกว่าวิญญาณทางหู  รู้กลิ่นทางจมูก เรียกว่าวิญญาณทางจมูก  รู้รสทางลิ้น เรียกว่าวิญญาณทางลิ้น  รู้สึกสัมผัสเย็นร้อนเป็นต้นทางกาย เรียกว่าวิญญาณทางกาย  รู้สึกนึกได้ทางใจ เรียกว่าวิญญาณทางใจ...  โยม... วิญญาณในทางพระพุทธศาสนาน่ากลัวมั๊ย?"

          "ไม่น่ากลัวค่ะ"

          "โยมเจ้าภาพบอกว่าไม่น่ากลัว โยม...  เดี๋ยวคนกลับบ้านหมด คืนนี้โยมนอนที่นี่แหละ เอามั๊ยโยม?"

          "ไม่ค่ะ"

          "ไหนว่าไม่กลัว ทำไมจึงกลัวอีก... เอาละฟังต่อก็แล้วกัน อาจจะหายกลัวได้บ้าง  ถูกแล้วโยม  วิญญาณไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว  อ้าว! ขอถามหน่อย  โยมคนไหนไม่กลัววิญญาณ  ไม่มีใครยกมือเลย แสดงว่ายังกลัวอยู่นะนี่...

          ถามใหม่ โยม...  ถามว่าโยมคนไหน กลัวจะไม่มีวิญญาณบ้าง  โยมยังงงกับคำถาม  โยม...  คนตายที่นอนอยู่ในหีบนั่นมีวิญญาณมั๊ย... ไม่มีใครตอบเลย...

          ถามคนหนุ่มดีกว่า  อ้าว...  คนหนุ่มนั่น เออ...  เรานั่นแหละช่วยตอบหน่อย  คนตายมีวิญญาณมั๊ย... ตอบเลยตามที่เราเข้าใจแน่ะ! มองหาพวกอีก"

          "ไม่มีครับ"

          "อาตมาถามว่า  ใครกลัววิญญาณบ้าง  คือถามว่าใครกลัวตายบ้าง... เออ... ทีนี้เยอะเลย คงกลัวไม่มีวิญญาณ

          โยม...  อาตมาเริ่มงงแล้วยังไงกันนี่  วิญญาณก็กลัว  ไม่มีวิญญาณก็กลัว  แล้วผู้คนในสังคมส่วนมากก็เป็นเช่นนี้ด้วยนะ  และยังถ่ายทอดความเข้าใจ ความรู้สึกเช่นนี้ให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า  และก็รับกันต่อกันมาโดยไม่คำนึงถึงเหตุผล  หรือไม่พยายามหาเหตุผล โยม... เวลานี้โยมมีวิญญาณมั๊ย?"

          "มีค่ะ"

          "มีอยู่ที่ไหน"

          "อยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ครับ"

          "โอ้! ชื่นใจจัง  คนหนุ่มตอบแสดงว่าฟังอยู่ โยม...  บางคนเกิดมามองไม่เห็นทั้งที่มีตาอยู๋  เพราะเขาไม่มีอะไร?"

          "ไม่มีวิญญาณทางตา"

          "สาธุ... ถูกต้องแล้วโยม  ใครอยากจะไม่มีวิญญาณทางตาบ้าง ไม่มีเลยใช่ไหม  บางคนมีหูอยู่แต่ไม่ได้ยินเสียงเลย"

          "เขาไม่มีวิญญาณทางหู"

          "ยังไม่ทันถามเลย  โยมตอบแลัวและถูกด้วย  สาธุ... คงไม่มีใครต้องการให้วิญญาณขาดหายไปแม้แต่ทางเดียวใน ๖ ทางนี้ใช่มั๊ย  กลัวว่ามันจะขาดหายไปเสียด้วย...

          โยม...  วิญญาณทางตา ทางหู เป็นต้น  จะไม่มีหรือหมดไป ดับไป  ด้วยสาเหตุใหญ่ๆ ๒ อย่างด้วยกัน คือ

          อย่างที่หนึ่ง  เพราะกรรมที่ทำชั่วไว้ในอดีตส่งผลทำให้ตาบอด  หูหนวกแต่กำเนิด

          อย่างที่สอง  เพราะประสาทตา  ประสาทหู เป็นต้น  ที่วิญญาณอาศัยเกิดหายไป  ชำรุดไปเพราะโรคต่างๆ

          โยม...  วิญญาณบกพร่องไปทางหนึ่ง  เขาก็เรียกว่าคนพิการ  ถ้าไม่มีวิญญาณเลย เขาเรียกว่า คนตาย

          โยม...  คนตาบอดเป็นต้น  วิญญาณทางตาของเขาไปไหน หรือมันล่องลอยเที่ยวไปไหน  อยู่ที่ไหน  หรือมันเที่ยวไปแย่งเกิดที่ตาของคนอื่นที่มีตาดีอยู่  โยม...  คนที่เป็นอัมพาต  เขาเคยเห็นวิญญาณทางกายของเขามาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ บ้างมั๊ย?  อ้าว... คนหนุ่มคนโน้นช่วยตอบหน่อย"

          "มันคงไม่ได้เที่ยวไปไหน หรือไม่มาวนเวียนอยู่ แต่ไม่รู้มันไปอยู่ที่ไหน  มันคงหมดไปเลยกระมังครับ"

          "เริ่มรู้จักวิญญาณมากขึ้นแล้ว  โยม... วิญญาณมันเป็นนามธรรม  ไม่มีรูปร่าง  ไม่มีสีสัน ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส  แต่ไปไหนๆ ได้รวดเร็วไม่ต้องนำทาง รู้ได้ยาก  แต่พระพุทธเจ้าสามารถแนะนำให้พวกเรารู้ได้  อาตมาจะพยายามพาโยมไปรู้จักกับวิญญาณให้มากขึ้นกว่านี้จะได้เลิกกลัววิญญาณกันเสียที

          โยม... คนที่ตาบอดไปข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างก็ดี  หูหนวกไปก็ดี  ป่วยไข้ไม่รู้กลิ่น ไม่รู้รส หรือคนเป็นอัมพาตไม่รู้สึกสัมผัส  เขากลัววิญญาณของเขาที่มันตายไป เสียไปมั๊ย?  หรือพวกเราเคยกลัววิญญาณของเราที่มันตายไป  หรือเสียไปมั๊ย?"

          "ไม่กลัวค่ะ"

          "ทำไมละโยม?  ทำไมจึงไม่กลัว?  ทั้งที่มันก็เป็นวิญญาณที่ตายไป  เสียไป  ดับไปเหมือนกันมิใช่หรือ?...ฮึๆๆ"

          "ไม่กลัว... เพราะเขาอยากให้มันกลับมาเหมือนเดิม  จะได้ไม่ลำบาก  มันไม่มีแล้วลำบากเป็นทุกข์"

          "โยมเห็นมั๊ย?  คนส่วนมากกลัววิญญาณจะเสียไป  ตายไป  ดับไป  อยากให้วิญญาณกลับมาเหมือนเดิม  แม้แต่หมดไปเสียไปก็เป็นทุกข์  เดือดร้อนหาทางแก้ไขต่างๆ นานา

          อ้าว!  โยม... แล้วคนที่อยู่ในหีบที่ประดับด้วยดอกไม้สวยงามนั่น  วิญญาณของเขาตายไปกี่ทาง?"

          "ทั้ง ๖ ทาง  ไม่เหลือเลย"

          "อย่างนี้กลัวมั๊ยโยม?"

          "ไม่กลัวค่ะ ถ้าอยู่หลายๆ คนอย่างนี้ หรือถ้าเป็นเวลากลางวันยังไม่มืด"

          "ถ้าเป็นเวลากลางคืนมือๆ อยู่คนเดียว  ฟังอย่างนี้แล้วพอกล้าขึ้นมาบ้างมั๊ย?  หรือหายกลัวหรือยัง?  อ้าว! โยมผู้หญิงคนแรกแถวที่ ๒ ใช่ๆ คนนั้นแหละ ยังกลัวมั๊ยโยม?"

          "รู้สึกเข้าใจขึ้นค่ะ  แต่ก็กลัวอยู่"

          "ก็ยังดี เพราะเรากลัวกันมานาน กลัวจนชำนาญ แต่ถ้าช่วยกันศึกษาหาเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องวิญญาณให้มากขึ้น  มันจะค่อยๆ ดีขึ้น  กล้าขึ้น  โยมพอเข้าใจหรือยัง?  เข้าใจพอแล้วหรือยังเรื่องวิญญาณนี้?"

          "พอเข้าใจค่ะ"

          "เบื่อหรือยัง?  ถามน้องผู้หญิงที่นั่งอยู่ใกล้ๆ คุณยายนั่นดีกว่า  หนูฟังเข้าใจไหมค่ะเรื่องวิญญาณ?"

          "เข้าใจค่ะ"

          "เบื่อหรือยัง"

          "ยังไม่เบื่อค่ะ"

          "ถ้ายังไม่เบื่อก็จะถามต่อนะโยม  วิญญาณกับใจเหมือนก้ันมั๊ย?  หรือมั้นเป็นคนละอย่างกัน?  หนูคนเดิมช่วยตอบหน่อย"

          "ไม่เหมือนกันค่ะ"

          "ไม่เหมือนกันตรงไหนช่วยบอกหน่อย"

          "ใจมันอยู่ที่ใจที่เดียว ส่วนวิญญาณมันอยู่ทั่วเลย ตั้ง ๖ แห่ง"

          "สาธุ... เก่งมากเลย แสดงว่าฟังมาตลอด ขอเพิ่มเติมความรู้ให้กับหนูอีกนิดหน่อยนะ...

          ความจริง วิญญาณกับใจเป็นอย่างเดียวกัน คำเหล่านี้ คือ จิต ใจ วิญญาณ มนะ หทัย  มีความหมายเดียวกัน  คือรับรู้อารมณ์ต่างๆ ได้  เป็นอย่างนี้โยม... จิต ใจ หรือวิญญาณนี้มันมีสภาพเดียวกัน คือรู้อารมณ์  มันมีสำนักงานรับรู้อารมณ์อยู่ ๖ ที่คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (หมายถึงหัวใจ)  มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่หัวใจ  หัวใจไม่ใช่เป็นตัวคิดนึก จิต ใจ หรือวิญญาณที่มาอาศัยเป็นตัวคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาทางสำนักทั้ง ๖ โยม... เรื่องใจกับวิญญาณเป็นอย่างเดียวกัน  มีใครจะถามเพิ่มเติมบ้างมั๊ย?... ถ้าไม่มีใครถามก็จะขอหยุดไว้เพียงเท่านี้ก่อน...

          จะขอกลับไปที่คำตอบของโยมที่ว่า  นิมนต์พระมาสวดเพื่อส่งวิญญาณของผู้ตายให้ไปผุดไปเกิด  จะได้พ้นทุกข์  ไม่ต้องวนเวียนอยู่บริเวณบ้าน...

          โยม... ยังมีใครสนับสนุนคำตอบนี้ว่าน่าจะเป็นจริงตามนั้นบ้าง  โอ้! มีหลายคนเลย โยม... เมื่อวานนี้มาหรือเปล่า?"

          "มาค่ะ"

          "แล้ววันนี้มาฟังตั้งแต่เริ่มหรือเปล่าโยม?"

          "ฟังตั้งแต่เริ่มค่ะ แต่คิดว่าคนเก่าคนแก่เขาพูดกันมาตั้งนานแล้วน่าจะเป็นจริง"

          "ทำไมโยมจึงคิดอย่างนั้นละโยม?"

          "ก็คนที่ถูกรถชนตายตามทาง ไม่มีใครนิมนต์พระมาสวดให้เลยต้องวนเวียนอยู่แถวนั้น  ทำให้รถชนกันบ่อย ตายเกือบทุกครั้ง"

          "อืม... มีเหตุผลน่าฟังดี  โยม... ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง  คนประเทศอื่นนอกจากประเทศไทยตายไปแล้วก็ไม่มีโอกาสเกิดเลยใช่มั๊ยโยม?  เพราะไม่มีพระสวดส่งวิญญาณ  บ้านของพวกเขาคงมีแต่วิญญาณวนเวียนเต็มไปหมด...

          โยม... ถ้าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระนำมาสวดแล้ว  ส่งวิญญาณให้ไปเกิดได้จริง  วิญญาณของพวกโยมก็ไปเกิดหมดแล้วซิ  แต่นี่โยมก็ยังมีวิญญาณอยู่ครบบริบูรณ์กันทุกคน อ้อ... โยมยกมือ... ว่าอย่างไร"

          "สวดส่งได้เฉพาะวิญญาณที่ออกจากร่างไปแล้วเท่านั้นค่ะ"

          "โยม... ที่เขาเห็นวิญญาณมาปรากฎเป็นร่างขาวๆ ดำๆ นั่น  เขาก็เห็นหลังจากพระสวดแล้วมิใช่หรือ?  คนตาบอดวิญญาณทางตาของเขาดับไป  ตายไปออกไปจากตาแล้ว  ไม่ได้ให้พระสวดส่งมันคงวนเวียนอยู่ใกล้ตัวเขาหรือ?...

          เอาอย่างนี้โยม... เราลองมาดูความหมายของพระอภิธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่พระท่านสวดมีความหมายโดยย่อๆ ว่าอย่างไร?

          พระท่านเริ่มสวดเป็นภาษาบาลีว่า  กุสะลา ธัมมา, อกุสะลา ธัมมา, อัพยากะตา ธัมมา  เป็นต้น แปลว่า  ธรรมที่เป็นอกุศล คือ ความดีก็มี ธรรมที่เป็นอกุศล คือ ความชั่วก็มี  ธรรมที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลก็มี เป็นต้น  อธิบายว่า มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายมีสภาวธรรม คือความสำนึกที่เกิดกับใจเป็นกุศลก็มี ความสำนึกที่เป็นฝ่ายชั่วเป็นอกุศลเกิดขึ้นในใจก็มี ความสำนึกที่ไม่ดีไม่ชั่วเกิดขึ้นก็มี อย่างนี้เป็นต้น  และคำที่พระสวดทั้งหมดก็ไม่มีเนื้อความที่มีความหมายว่าเป็นการส่งวิญญาณเลย

          ความจริงเนื้อความของคำที่สวดกล่าวถึงจิตใจ  หรือวิญญาณที่เป็นฝ่ายดีก็มี  ที่เป็นฝ่ายชั่วก็มี  ที่ไม่ดีไม่ชั่วก็มี  และก็ขยายต่อไปว่า  ที่เป็นฝ่ายดีเป็นเช่นไร  มีอะไรบ้าง  ที่เป็นฝ่ายชั่วเป็นเช่นไร  อะไรบ้าง  ที่ไม่ดีไม่ชั่วเป็ฯอย่างไร อะไรบ้าง

          ขอให้โยมรวบรวมเหตุผลต่างๆ ที่อาตมากล่าวมาประมวลกับเหตุผลในความเชื่อที่โยมมีอยู่ก่อน  ค่อยๆ พิจารณาถึงความน่าจะเป็นได้  หรือควรจะเป็นไปในด้านใด  ขอให้พวกเราทุกคนจงช่วยกันหาความรู้ที่มีเหตุผลเพิ่มเติม  เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามที่เป็นจริง  ให้เกิดความกระจ่างชัดขึ้นมาในใจเสียที  อย่าปล่อยให้มันคลุมเครืออยู่อย่างนี้

          ขอทบทวนความเข้าใจอีกนิดหน่อย  เพื่อจะได้พูดต่อในประเด็นสุดท้าย

          โยม... อะไรมันดับไป  ตายไป  เขาถึงเรียกว่าคนตาย  ใครจะช่วยตอบ  โยมที่นั่งอยู่ด้านหลังแถวสุดท้ายก็แล้วกัน  ช่วยตอบหน่อย"

          "วิญญาณดับไป  ตายไปครับ"

          "สาธุ สาธุ... อาตมาขอรับรองคำตอบนี้ว่าถูกต้อง  คนตายก็คือคนที่วิญญาณของเขาดับไป ตายไป หมดไป สิ้นไป ที่เราเรียกกันว่าสิ้นใจแล้ว  ขาดใจแล้ว  ก็คือวิญญาณหมดสิ้นไปนั่นเองไม่ใช่วิญญาณออกจากร่างไปนะโยม  นี่คือประเด็นที่อาตมาอยากคุยกับโยมเป็นประเด็นสุดท้ายของกาสนทนาในคืนนี้...  โยม คนและสัตว์ที่มีชีวิต เขาเริ่นับว่ามีชีวิตตั้งแต่ไหนมา?"

          "ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นครั้งแรงขณะอยู่ในท้องแม่ครับ"

          "ใช่... ถูกแล้ว  ถามต่อว่าปฏิสนธิจิตหรือปฏิสนธิวิญญาณ นี่มันมีอายุยืนยามไปถึงไหน?"

          "จนกว่าเราจะตายจากโลกนี้ไป"

          "โยมตอบเหมือนกับความคิดของอาตมาเมื่อก่อนเลย  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  จิตวิญญาณนี้มีอายุสั้นมาก คือเกิดดับเร็วมาก มันเกิดแล้วก็ดับไป หมดไป เหมือนกระแสไฟฟ้าที่เราเห็นว่ามันติดสว่างอยู่ตลอดเวลา ความจริง มันเกิดดับๆ ต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว จนเราเห็นว่ามันติดอยู่ตลอดเวลา

          จิตเราก็เช่นเดียวกัน  เกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา  เร็วกว่ากระแสไฟฟ้า  เร็วกว่าเสียง แสง หรืออะไรๆ ที่นับว่ามีความไวในโลกทุกอย่าง  จนเหมือนกับว่ามันเป็นอันเดียวกันตั้งแต่ปฏิสนธิเกิดมาจนถึงตาย  แต่ความเป็นจริงตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นครั้งแรกจนกว่าจะถึงจุติจิตคือขณะสุดท้ายที่จะตาย  จิตหรือวิญญาณเกิดดับๆ มากมายจนนับไม่ได้

          โยมทดลองดูเวลานี้ก็ได้  อาตมาให้โยมคิดไปที่บ้าน เห็นมั๊ย  อาตมายังพูดไม่จบเลย  โยมกลับมาแล้ว  ใช้เวลาไม่ถึง ๑ ใน ๑๐๐  ส่วนของวินาทีเลย  อย่าว่าแต่นึกถึงบ้านเลย  แม้คิดไปในที่แสนไกลคนละทวีป  ก็ใช้เวลาเท่าเดิม  ใช้เวลาไม่ถึง ๑ ใน ๑๐๐  ส่วนของวินาทีเท่านี้จิตก็เกิดดับๆ มากจนนับจำนวนไม่ได้แล้ว

          นี่คือสภาพที่เป็นจริงของจิตคือเกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา ถึงในขณะที่คนตาย สัตว์ตาย ร่างกายเท่านั้นที่หยุดอยู่  ไม่มีการเคลื่อนไหวอีกต่อไป ส่วนวิญญาณก็ยังเกิดดับๆ เป็นปกติอยู่เช่นเดิม เพียงแต่เปลี่ยนทีอาศัยเท่านั้น

          นี่อาตมาจะชี้ให้โยมเห็นว่า  คนและสัตว์ตายแล้วเกิดทันทีตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้  ไม่มีการหยุดรอให้พระสวดส่งวิญญาณก่อน  จึงจะเกิดได้

          โยมอาจจะสงสัยว่า เมื่อวิญญาณตายไปแล้ว  ดับไปแล้ว  สิ้นไปแล้ว  จะเอาอะไรไปเกิดอีก...

          อย่างนี้โยม... ในขณะที่วิญญาณครั้งสุดท้ายดับไป  เป็นเหตุให้วิญญาณใหม่คือปฏิสนธิวิญญาณเกิดขึ้นในภพใหม่ทันทีเหมือนกับเสียงที่เราร้องอยู่ที่หุบเขา  พอเสียงของเราหมดไป ก็เกิดเสียงใหม่สะท้อนขึ้นมาอีก  เสียงสะท้อนนั้นไม่ใช่เสียงเดิมของเรา  แต่เสียงของเราเป็นเหตุให้เกิดเสียงใหม่ขึ้น ฉันใด  วิญญาณที่เกิดขึ้นแล้ว ดับลงครั้งุดท้ายในภพนี้ ก็เป็นเหตุให้ปฏิสนธิวิญญาณเกิดขึ้นในภพใหม่ทันที  อ้อ... โยมคนโน้นยกมือ  ว่าอย่างไรโยม?"

          "ตายลงในภพนี้แล้วมันน่าจะจบกันไปเลย  อะไรทำให้เกิดภพใหม่อีกครับ?"

          "โอ... ปัญหานี้ดีมาก  ขอบใจที่โยมถาม  ขอตอบว่ากรรมคือการกระทำของบุคคลนี่แหละเป็นตัวทำให้ต้องเกิดอีก  เอ้า... โยม คนเดิม..."

          "กรรมที่เราทำมันก็จบไปแล้ว  มันไปอยู่ตรงไหน  จึงส่งผลให้ต้องเกิดอีกครับ?"

          "โอ... ปัญหานี้ยิ่งหนัก  อาตมาตอบไม่ได้เลย  โยมว่ามันไปอยู่ตรงไหนและคิดว่าคงไม่มีใครตอบได้  ขอตอบด้วยการยกเป็นอุปมาเปรียบเทียบก็แล้วกันนะโยม...

          ... ถ้าโยมเอาเมล็ดจองไม่ผลชนิดใดชนิดหนึ่งปลูกลงไปในินชุ่มชื่นดี  ต่อมาเกิดเป็นต้นไม้ใหญ่โตขึ้นมา  แต่ยังไม่ออกผล  หากมีคนมาถามว่านี้ต้นอะไร  โยมตอบว่าต้นไม้ผล  เขาถามว่าผลมันอยู่ตรงไหน  โยมจะตอบเขาว่าอย่างไร?"

          "คงตอบไม่ได้ครับ"

          "ถ้าตอบว่า  ผลมันอยู่ในต้นไม้ ในกิ่ง หรือในยอด  ถ้าเขาบอกว่าเอามาดูหน่อย  โยมผ่าลำต้น ผ่ากิ่ง ฉีกยอดของต้นไม้นั้นแล้วหยิบเอาผลออกมาให้เขาดูได้มั๊ย?"

          "ไม่ได้ครับ"

          "ถ้าเขาพูดว่า  นี่มันไม่ใช่ต้นไม้ผล  โยมจะตอบว่าอย่างไร?"

          "ผมก็จะบอกว่ามันเป็นต้นไม้ผล  แต่มันยังไม่ถึงเวลาให้ผล จะบอกว่ามันไม่มีผลไม่ได้ เวลานี้ไม่รู้ว่าผลมันอยู่ตรงไหน  แต่พอถึงเวลามันก็ออกมาให้เห็น"

          "ใช่... ต้นไม้นี้ฉันใด กรรมที่เราทำไว้ก็ฉันนั้น  ไม่มีใครรู้ว่ามันอยู่ที่ไหน  แต่มันส่งผลให้ปรากฏชัดได้  พระพุทธองค์ตรัสว่า กรรมที่เราทำแล้วติดตามเราไปเหมือนกับเงา  ในขณะที่เราอยู่ในที่ร่มเงาก็ไม่ปรากฏให้เห็น  ขณะที่เราอยู่ในที่มีแสงแดด  เงาก็ปรากฏขึ้นทันที  โยมที่ถามปัญหานี้พอเข้าใจมั๊ย?"

          "เข้าใจครับ"

          "อ้าว! ว่าอย่างไร?  โยมผู้หญิงทางด้านขวาเหมือนอยากจะถามอะไร  เชิญถามได้นะโยม  ยังพอมีเวลา"

          "ดิฉันขอถามว่า  เราทำกรรมดีกรรมชั่วไว้แล้วก็ตายไป  ท่านบอกว่าต้องเกิดอีก  จึงขอถามว่า  เมื่อเราตายแล้วก็ไม่ต้องรับผลกรรมดีและกรรมชั่ว  คนที่รับกรรมก็คือคนที่เกิดใหม่  ไม่ใช่เราอย่างนี้มั๊ยค่ะ?"

          "ไม่ใช่อย่างนั้นโยม... ผู้ทำนั่นแหละต้องได้รับผล... อย่างนี้ โยม...  เราใช้อัตภาพร่างกายนี้ทำกรรมดีกรรมชั่วไว้  เป็นเหตุให้เกิดอัตภาพใหม่หลังจากตายแล้ว  จึงพูดไม่ได้ว่าเราไม่ต้องรับผลกรรม...

          ... ขอยกอุปมามาให้ฟังอีกว่า  โยมจุดธูปไหว้พระตมปกติ  วันหนึ่งลืมดับ  ออกไปทำกิจธุระนอกบ้าน  ต่อมาไฟธูปนั้นหักตกลงบนพื้นเกิดเป็นไฟลุกลามติดไหม้บ้านเรือนของโยม  และบ้านใกล้เคียง  ชาวบ้านต่างพากันกล่าวหาว่า  โยมเป็นคนจุดไฟเผาบ้านเกิดการทะเลาะกัน  เจ้าหนี้ที่มาจับโยมไปสอบสวน  โยมปฎิเสธว่าฉันไม่ได้จุดไฟเผาบ้าน  ไฟที่จุดเป็นไฟธูปไม่มีเปลว  ส่วนไฟเผาบ้านเป็นไฟกองใหญ่มีเปลวน่ากลัว  เจ้าหนี้ที่เขาจะยอมรับฟังเหตุผลขอโยมมั๊ย?"

          "ไม่รับฟังค่ะ"

          "เพราะเหตุไร"

          "เพราะไฟกองใหญ่มันเป็นผลมาจากไฟธูปของดิฉัน"

          "โยมจะได้รับความผิดเพราะไฟกอบไหน?"

          "ไฟกองที่เกิดทีหลัที่ไหม้บ้านเรือนค่ะ"

          "ข้อนี้ฉันใด  การที่เราใช้อัตภาพร่างกายนี้ทำกรรมดีกรรมชั่วแล้ว  เป็นเหตุให้เกิดอัตภาพร่างกายใหม่ขึ้น  หลังจากที่ตายแล้ว  เราก็ยังต้องรับผลของกรรมในอัตภาพใหม่นั่นแหละ

          ... ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้เราระลึกไว้เสมอว่า  เรามีกรรมเป็นกำเนิด  คือมีกรรมเป็นผู้ให้เกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นที่พึ่งพาอาศัย  ทำกรรมดีไว้ก็จะได้รับผลดีคือความสุขความสบาย  ทำกรรมชั่วไว้ก็จะได้ผลชั่วคือควาทุกข์ทรมาน... อ้าว! โยมที่ยกมือ ว่าอย่างไรโยม?"

          "ขอถามว่า  แล้วที่เขาเห็นกันว่าคนที่ตายไปแล้วมายืนมานั่งเป็นเงาๆ อยู่นั่นล่ะ มันคืออะไรค่ะ"

          "อ้อ... ขอบใจโยมมาก  อาตมาลืมประเด็นนี้เสียสนิด  โยม... อย่างที่อาตมาบอกนั่นแหลว่าตายแล้วเกิดทันที  ที่เขาเห็นกันนั่นเป็นจริงได้  แต่นั่นไม่ใช่เห็นวิญญาณ  ในขณะนั้นเขาเกิดแล้ว  อาจจะเกิดเป็นเทวดาที่อยู่ใกล้ๆ กับมนุษย์ที่เรียกว่า ภุมมัฏฐเทวดา หรืออาจเกิดเป็นเปรต อสุรกาย อย่างใดอย่างหนึ่ง...

          แต่ไม่ได้หมายความว่า  ถ้าเกิดเป็นตามที่อาตมาว่ามานี้จะต้องปรากฎตัวให้ญาติเห็นได้ทั้งหมดนะโยม  คงเฉพาะผู้ที่มีบุญอยู่พอประมาณที่ต้องการจะเตือนลูกๆ หลานๆ ไม่ให้ประมาท  แต่ไม่สามารถพูดให้ได้ยิน  หรืออาจจะให้รู้ว่าเขาได้รับควาทุกข์ ต้องการให้ทำบุญอุทิศไปให้ก็เป็นได้  อันนี้อาตมาอนุมานเอาเอง  แต่รับรองว่าเขาเกิดแล้ว  ไม่ใช่วิญญาเร่ร่อนแน่นอน...

          เวลาใกล้หมดแล้ว  ขอทบทวนเรื่องวิญญาณเป็นการสรุปให้โยมฟังอีกครั้ง

          โยม... คำว่า จิตใจ วิญญาณ ทั้ง ๓ คำนี้  เป็นอย่างเดียวกัน คือเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง รับรู้อารมณ์ต่างๆ ได้  มีสถานที่อยู่อาศัยหรือสำนักงานรับรู้เรื่องราว ๖ แห่ง  แบ่งหน้าที่กันชัดเจน คือ...

          ทางตารับรู้สีสันสัณฐาน  ทางหูรับรู้เสียง  ทางจมูกรับรู้กลิ่น  ทางลิ้นรับรู้รส  ทางกายรับรู้สัมผัสเย็นร้อน อ่อนแข็ง  ทางใจรับรู้เรื่องราวได้ทั้งหมด  คือทั้งที่เป็นปัจจุบัน อดีต อนาคต  ทางใจนี้ถือว่าเป็นสำนักงานใหญ่  และมันมีการเกิดดับเร็วมาก  ต่อเนื่องกันไปตลอดเวลา  คือวิญญาณเก่าดับไปเป็นเหตุให้วิญญาณใหม่เกิดขึ้นเหมือนกระแสไฟฟ้า...

          และเมื่อวิญญาณคือจิตขณะสุดท้ายในภพนี้ดับลง  ก็เป็นเหตุให้ปฏิสนธิวิญญาณหรือปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในภพใหม่ทันที  หมายความว่า  คนและสัตว์ตายแล้วเกิดทันที  ไม่มีการรอเกิดหรือให้ใครสวดก่อนจึงจะเกิดได้  จะเกิดเป็นอะไรก็เป็นไปตามกรรมที่ตนทำไว้  ได้รับผลของกรรมดีกรรมชั่ว  เริ่มตั้งแต่เกิดเป็นต้นไป  และในขณะที่รับผลกรรมเก่าอยู่  ก็เริ่มทำกรรมใหม่ต่อไปอีก  หมุนวนอยู่อย่างนี้ไม่รู้จักจบสิ้น  ทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า วัฏฏสงสาร  ดังนั้น  ความตายจึงเป็นสิ่งไม่น่ากลัว  กรรมชั่วต่างหากเป็นสิ่งที่น่ากลัว  ไม่ควรกระทำ  เพราะมีผลเป็นความทุกข์

          มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษตรงที่เลือกเกิดได้ด้วยการทำกรรมตามที่ต้องการ  คือถ้าต้องการเกิดในที่มีความสุขก็เลือกทำแต่ความดี  ก็จะได้ผลตามที่ทำโดยไม่ต้องปรารถนาร้องขอหรืออ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น...

          ขอให้ญาติโยมช่วยกันศึกษาหาความรู้เรื่องวิญญาณให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้  ก็จะเป็นเหตุให้เราเข้าใจเรื่องกรรมและการส่งผลของกรรมชัดเจนขึ้น  และจะได้เว้นจากกรรมชั่วที่มีผลเป็นความทุกข์  ทำแต่กรรมที่มีผลเป็นความสุข  เมื่อเกิดความรู้ความเข้าใจแล้ว  ช่วยถ่ายทอดความรู้นั้นให้แก่เพื่อนพ้อง  น้องพี่  ญาติ  ลูกหลาน  เพื่อทุกคนจะได้อยู่กันอย่างมีความสุขตลอดไป

          ขอจบการสนทนากับญาติโยมในคืนนี้ไว้เพียงเท่านี้  ขอเจริญพร"
 
........................................................................


          หลังจากพระสวดจบ  ผมยังทำหน้าที่ขับรถส่งพระกลับไปวัด  ในขณะคุยกันมา  ท่านก็ถามว่า

          "อาตมาพูดรู้เรื่องมั๊ย?... เรื่องวิญญาณมันเป็นนามธรรมพูดให้คนเข้าใจได้ยาก  โยมเข้าใจมั๊ย?"

          ผมรีบตอบว่า  "ผมได้เหตุผลมากเลยครับ  ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าใจว่าวิญญาณเป็นผลของบาปที่เร่ร่อนไปหาที่อยู่ประจำไม่ได้  บางครั้งก็เที่ยวหลอกหลอนคนให้เกิดความกลัว  วันนี้ผมเข้าใจเรื่องวิญญาณมากขึ้นครับ"

          หลังจากส่งพระท่านแล้วผมก็่ขอตัวกลับ  วันรุ่งขึ้นก็ยังมีพิธีอีกหลายขั้นตอนที่พวกเราทำตามลุงทายกแนะนำทั้งที่เกี่ยวกับพระก็มีและไม่เกี่ยวกับพระก็มี  แต่เราไม่ได้เกิดความเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นเลย  ถ้าพระวัดนั้นอยู่ด้วย  ท่านคงพูดเหตุผลให้เราได้ฟังกัน

          เมื่อการฌาปนกิจจบลง  ผมนึกว่าเสร็จพิธีแล้วก็จะพากันกลับบ้าน  ลุงทายกเข้ามาบอกว่า

          "วันนี้ต้องนิมนต์พระไปสวดที่บ้าน  เป็นการทำบุญอุทิศและป้องกันไม่ให้วิญญาณมารบกวนจะได้อยู่เย็นเป็นสุข  จะนิมนต์พระที่วัดบ้านเราเลยมั๊ย  ลุงจะนิมนต์ให้"

          ผมเลยบอกว่า  "เดี๋ยวผมไปนิมนต์พระวัดที่ท่านมาเทศน์ก็แล้วกัน"

          ผมส่งคณะแม่และน้องๆ กลับบ้านแล้วรีบขับรถไปที่วัด พบท่านอาจารย์

          ท่านถามว่า  "มาธุระอะไร โยม?"

          "มานิมนต์พระไปสวดที่บ้านในเวลาค่ำของวันนี้ครับ ต้องใช้พระกี่รูป  ท่านอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยครับ"

          ท่านตอบว่า  "ตามแต่โยมต้องการ  แต่ให้คำนึงถึงสถานที่ด้วย  ทำให้เหมาะสมก็แล้วกัน กี่รูปก็ได้"

          ผมบอกว่า  "บ้านผมค่อนข้างเล็กและแคบ  ขอนิมนต์สัก ๓ รูป จะได้ไหมครับ"

          ท่านตอบว่า  "ได้"

          "ผมขอนิมนต์ ๓ รูป  จะมารับเวลาประมาณ ๑ ทุ่มครับ"

          ...  ...  ...

          ผมไปถึงที่วัดก่อน ๑ ทุ่มเล็กน้อย  พระท่านยังประชุมกันในศาลา  ผมได้ยินเสียงทางลำโพง  เป็นเสียงของท่านอาจารย์ที่กำลังสอนหรือให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณร  ท่านเลิกประชุมกันเวลา ๑ ทุ่มพอดี  ท่านอาจารย์เดินออกมาเห็นผมก็บอกว่ารอสักครู่นะ  ไม่ทันถึง ๕ นาที  ท่านก็บอกว่าพร้อมแล้ว

          ขณะขับรถมาท่านบอกว่า  "อาตมาไม่เคยไปสวดมนต์ที่บ้านใครเลย  แต่วันนี้ต้องไปเพราะพระเข้าเรียนธรรมะกันหมด เหลืออยู่ ๒ รูป  อาตมารับแล้วก็เลยต้องมาให้ครบตามที่รับไว้"

          "ขอบคุณครับ"  ผมยกมือไหว้  "คงเป็นบุญของผมด้วย  บ้านผมเล็กนิดเดียว"

          ท่านบอกว่า  "ไม่เป็นไร  ไม่เกี่ยวกับว่าบ้านเล็กหรือใหญ่  มันพอคุ้มแดดคุ้มฝนก็ใช้ได้แล้ว"  พอถึงบ้าน  ท่านบอกให้ผมเอาอาสนะที่นั่งของพระไปปูบนเสื่อก่อน  เมื่อท่านอาจารย์และพระนั่งแล้ว  ภายในบ้านเหลือที่นั่งได้อีก ๔-๕ คน  ผมจึงเรียกคุณแม่และน้องๆ มานั่ง  ส่วนญาติและเพื่อนบ้านนั่งกันอยู่ด้านนอกประตู

          พอคุณแม่และน้องๆ มานั่ง  ท่านอาจารย์ก็ทักว่า  "โยม ร้องไห้ทำไม?  ตาแดงเชียว"

          คุณแม่ตอบว่า  "เพิ่งทำงานศพเสร็จกลับมาจากวัดตอนเย็นนี่เองค่ะ"

          ท่านถามอีกว่า  "แล้วทำไมต้องร้องไห้ด้วยละ?"  ทุกคนทำท่างงกับคำถามจึงไม่มีเสียงตอบ  ท่านถามต่ออีกว่า  "แล้ววันนี้โยมนิมนต์พระมาทำอะไร?"

          "นิมนต์มาสวดมนต์ค่ะ"  คุณแม่ตอบพลางเช็ดน้ำตา

          "ให้พระสวดมนต์  โยมต้องการอะไร?"

          "ต้องการบุญ"

          "จะเอาบุญไปทำไม?"

          "จะอุทิศให้คนตายค่ะ"

          "โยม... คนที่จะช่วยคนอื่นได้ต้องเป็นคนเข้มแข็ง  ไม่ใช่คนอ่อนแอ  คนอ่อนแอช่วยใครไม่ได้  โยมสงสารคนที่ล่วงลับไป  อยากจะช่วยเขาด้วยการอุทิศบุญให้  โยมมัวเอาแต่ร้องไห้จะเอาบุญที่ไนอุทิศให้เขา  เพราะขณะร้องไห้เป็นใจที่อ่อนแอ  บุญเกิดกับใจอย่างนี้ไม่ได้  โยมต้องทำใจให้เข้มแข็งในการทำบุญ  เมื่อมีบุญแล้วจึงอุทิศบุญให้เขา  จะไม่ดีกว่าหรือโยม?"

          "ดีค่ะ"

          "โยมพร้อมกันหรือยัง?  พร้อมแล้วก็เริ่มได้เลย...  แหม... จุดธูปเทียนก็เกี่ยงกันด้วย  เอ้า... ว่าพร้อมกันได้มั๊ย?"

          มีเสียงมาจากด้านหลัง  "ลุงทายกนำเลย"

................................................................



          หลังจากพระสวดจบ  ท่านอาจารย์ก็เริ่มพูดคุยแบบเป็นกันเอง  ท่านยังย้อนไปคำถามเดิมว่า  "โยม ทำไมถึงร้องไห้?  ร้องไห้เพราะสงสารคนที่ตายไปหรือ?  หรือคิดว่าขาดคนที่เคยช่วยเหลือกันมาตลอด?"

          "สงสารคนตายค่ะ"

          "ยังไม่แน่โยมลองทบทวนดูใหม่  ตามปกติถ้าใจเกิดความสงสาร  จะเป็นใจที่เข้มแข็ง  คิดแต่จะช่วยคนอื่น  จัดว่าเป็นใจที่เป็นบุญเป็นกุศล

          โยม... พระอริยะขั้นต้นๆ คือพระโสดาบันเมื่อญาติตายไปก็ยังร้องไห้เลย  เพราะฉะนั้น  การร้องไห้ในขณะที่คนที่เป็นที่รักตายไปเป็นเรื่องธรรมดา

          โยม... แต่พระอริยะท่านร้องไห้ด้วยเหตุผลไม่เหมือนเรา  ท่านร้องไห้ด้วยคิดว่าญาติเรายังไม่ได้บรรลุคุณธรรมอะไรเลย  ยังละกิเลสไม่ได้  คนที่ยังละกิเลสไม่ได้ย่อมไม่พ้นจากอบายภูมิ  คืออาจเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือหนักสุดเป็นสัตว์นรก  ต้องได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส

          โยมเห็นมั๊ย?  ท่านไม่ได้ร้องเพราะปรารภถึงตัวเองเลย  ส่วนเราร้องไห้เพราะปรารภตัวเองเป็นส่วนมาก  เช่นคิดว่า  ตั้งแต่นี้ไปใครจะอยู่เป็นเพื่อนเรา  ใครจะคอยช่วยเหลือเรา  ใครจะช่วยป้องกันอันตรายให้เรา  ตั้งแต่นี้ไปเราคงจะต้องลำบาก  กลัวคนจะมารังแก  กลั่นแกล้ง  ทำร้าย  งานต่างๆ ที่เขาเคยทำก่อให้เกิดรายได้ดำเนินชีวิตกันมา  ต่อแต่นี้ไปจะทำอย่างไรจะได้รับรายได้จากที่ไหนเป็นต้น  ...โยมคิดอย่างนี้บ้างหรือเปล่า?"

          "คิดค่ะ"

          "เห็นมั๊ยโยม... ที่จริงเราไม่ค่อยได้คิดสงสารคนตายเลย โยมอยู่กันมากี่ปี?"

          "เกือบ ๔๐ ปี ค่ะ"

          "โยมอยู่กันมารักกันดีมั๊ย?"

          "ดีค่ะ เขาเป็นคนดีช่วยเหลือทุกอย่างเลย  รักครอบครัว  ไม่เที่ยวเตร่สำมะเลเทเมา  ไม่สูบบุหรี่  ไม่เคยนอกใจเลยดีมากค่ะ"

          "เขาดีอย่างนี้  เดี๋ยวนี้ยังรักอยู่มั๊ย"

          "ยังรักอยู่ค่ะ"

          "ถ้าคืนนี้ให้มาอยู่ด้วยจะเอามั๊ย?"

          "ไม่เอาค่ะ"

          "อ้าว... ทำไมล่ะ?  ไหนว่ายังรักกันอยู่ไง"

          "ก็อยู่กันคนละภพภูมิแล้วนี่  มันไม่เหมือนก่อนแล้ว"

          "โยม...  ถ้าเขาได้ยินอยู่  เขาคงจะเสียใจว่าเราหลงเข้าใจผิดคิดว่าอยู่กับคนที่รักเรามาตั้งเกือบ ๔๐ ปี  ที่ไหนได้ไม่ได้รักเราจริง  มาถึงเวลานี้กลับกลัวเราอีก  เขาคงเสียใจมากถ้าได้ยิน  โยม...ถามจริงๆ เถอะ  ที่นิมนต์พระมาสวดนี่ก็เพราะกลัวด้วยใช่มั๊ย?  เอาพระมาช่วยใช่มั๊ย?"

          "ใช่ค่ะ"

          "พระก็สวดให้แล้ว  หายกลัวหรือยัง?"

          "หายแล้วค่ะ"

          "อาตมาว่ายังกลัวอยู่นา  ก็เมื่อกี้นี้โยมบอกว่าไม่อยากให้มาอยู่ด้วย  แสดงว่ายังกลัวอยู่  บางทีออกไปคุยกับเพื่อนบ้านเพลินไปหน่อยจนถึงเวลามืดค่ำ  ต้องเอาหลานมาเป็นที่พึ่งแน่เลย  จูงมือหลานบอกว่าไปๆ  ไปเที่ยวบ้านยายกัน  พอมาถึงประตู ใจเต้นตุ๊บๆ คิดไปว่า  ถ้าเปิดประตูออกเห็นเขายืนอยู่จะทำอย่างไร  ในขณะเปิดประตูก็หลับตา  เอื้อมมือไปเปิดสวิตซ์ไฟพอไฟสว่างก็โล่งใจไปนิดหนึ่ง  แล้วก็ชวนหลานๆ ให้นอนด้วย  เพราะคิดว่า  ถ้าเข้าห้องนอนเกิดมีคนมานอนอยู่ก่อนจะทำอย่างไร  ห้องที่เคยนอนอยู่ด้วยกันมาตั้งนาน  มาถึงเวลานี้กลับไม่อยากเข้าไปซะแล้ว... โยมเป็นอย่างนี้มั๊ย?  คิดอย่างนี้มั๊ย?"

          "คิดค่ะ... ท่ายอาจารย์พูดเหมือนกับรู้  เหมือนกับเห็น  เมื่อวานก็ชวนหลานมานอนเป็นเพื่อน  ทำเหมือนอย่างที่ท่านอาจารย์พูดเลยค่ะ"

          "โยมลองทบทวนดูซิว่าเรากลัวอะไร?"

          "กลัวเห็นค่ะ ไม่กล้าพูด"

          "กลัวเห็นอะไร?  เอ้า... โยมข้างนอกอยากตอบ  เข้ามาข้างใน  โยมเบียดๆ กันก็ได้  ไม่ต้องรีบ ค่อยๆ"

          "อยู่ข้างนอกมันเสียวๆ ยังไงไม่รู้"

          "โยม... เมื่อครู่นี้อยากจะพูดอะไร?"

          "อ้อ... คือกลัวความมืดค่ะ"

          "ใช่หรือเปล่าโยม  โยมไม่เคยอยู่ในความมืดเลยเหรอ?"

          "เคยค่ะ"

          "แล้วทำไมไม่กลัวละโยม?  อ้าว! โยมลองลำดับดูว่าเรากลัวอะไร  ในที่มืดเรากลัวเห็น... เห็นแล้วมันจะเป็นอย่างไร?"

          "กลัวช็อก...ค่ะ"

          "นั่นไง  ที่จริงก็คือกลัวตาย  เคยเห็นสักครั้งมั๊ยโยม?"

          "ยังไม่เคยเห็นค่ะ ถ้าเห็นก็คงช็อกตายไปแล้ว"

          "มันน่าแปลกนะโยม  คนเรากลัวสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น  ขอถามอีกครั้ง โยมกลัวเห็นอะไร?"

          "กลัวเห็นวิญญาณเขา  กลัวผี  หนูกลัวมากเลยค่ะ  พูดอย่างนี้ไม่รู้คืนนี้จะนอนหลับหรือเปล่า"

          "วิญญาณไม่มีรูปร่างมองไม่เห็น  มันน่ากลัวตรงไหน  โยมมีวิญญาณมั๊ย?"

          "มีค่ะ"

          "ทำไมไม่กลัววิญญาณของเราเองบ้าง"

          "มันตอบไม่ถูก  ไม่รู้เป็นอย่างไร  บอกไม่ถูก"

          "โยม... ธรรมดาคนตายแล้วเกิดทันที  โยมทำไมไม่คิดว่า  ถ้าเปิดห้องเข้าไปเห็นเทวดายืนอยู่  แต่งตัวสวยงาม  มีแสงสว่างออกจากตัว  หรือถ้าญาติของเราที่เสียไปเป็นผู้หญิงก็เป็นนางฟ้าสวยงามมายืนอยู่ในห้อง  ทำไมไม่คิดอย่างนี้บ้าง... ถ้าโยมเห็นเทวดา นางฟ้า โยมจะกลัวมั๊ย?"

          "ไม่กลัวค่ะ"

          "โยม... ทีนี้รู้หรือยังว่าอะไรทำให้เรากลัว?"

          "ยังค่ะ"

          "ความคิดของเรานั่นแหละมันหลอกตัวเราเอง  ทำให้เกิดความกลัว  ใจเรามันหลอกใจเราเอง  ที่เป็นเช่นนี้เพราะใจมันไม่มีปัญญา  คือมันยังไม่ได้รับรู้เหตุผลตามที่เป็นจริง  มันก็เลยหลอกตัวเอง  ไม่ใช่มันหลอกเฉพาะเรื่องนี้เท่านั้นนะโยม  มันหลอกอยู่เรื่อยเพียงแต่เราไม่รู้ว่ามันหลอกหรือยินดีให้มันหลอกด้วยซ้ำ  เอ้า...ใครไม่อยากถูกหลอกบ้าง โอ้! ทุกคนเลย  ไม่อยากถูกหลอก  จริงหรือเปล่าโยมที่ไม่อยากถูกหลอก?"

          "จริงค่ะ"

          "ถ้าไม่อยากถูกหลอก  ก็ต้องศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าประกอบด้วยเหตุผลทั้งหมด  ทีนี้มีปัญหาอยู่ว่า  จะศึกษาอย่างไร  เพราะทำมาหากินอย่างเดียวก็หมดเวลาแล้ว...  เอาอย่างนี้มั๊ยโยม...  การที่โยมได้ฟังได้พูดคุยด้วยเหตุผลผย่างนี้ก็เป็นการศึกษา  การอ่านหนังสือที่เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนาก็เป็นการศึกษา  ไปวัดซักถามข้อสงสัยให้พระท่านช่วยตอบ  ก็เป็นการศึกษา...  เอาล่ะ  ตามที่ได้ฟังมาพอบรรเทาความกลัวได้หรือยัง?"

          "ตอนอยู่กันมากๆ แบบนี้ก็ไม่กลัว  แต่พออยู่คนเดียวก็กลัวอีก"

          "เป็นธรรมดาโยม...  เราฝึกให้มันกลัวมานานหลายภพหลายชาติเหลือเกิน  จะให้มันหายกลัวเลยทีเดียว  คงยังไม่ได้...

          โยม... เวลามันกลัวก็เอาความรู้สึกมาดูที่ใจนะโยม  มาดูว่ามันกำลังกลัว  เพียงแค่เราเห็นมันว่ากำลังกลัว  มันจะหายกลัวทันที  หรือก่อนนอนควรสวดมนต์ ไม่ต้องสวดมากก็ได้  สวดบท อิติปิโส ก็ได้  สวดทุกๆ วันจนเป็นนิสัย  สอนเด็กๆ ให้สวดด้วย  ในขณะสวดก็ทำใจน้อมระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยะสงฆ์  แล้วแผ่เมตตา คือ แผ่ความปรารถนาดีไปถึงมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายให้เขามีความสุข  แผ่ความสงสารไปถึงมนุษย์และสัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์ลำบากที่อยู่โรงพยาบาล  หรือคนแก่และเด็กที่ถูกทอดทิ้ง  ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บโดยเร็ววัน  และได้รับการดูแลด้วยกำลังใจที่คิดจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์...

          และในขณะนอนก็เอาใจหรือความรู้สึกมาไว้ที่ปลายจมูก  สังเกตลมหายใจเข้าออก  โดยไม่ต้องมีคำภาวนาหรือพูดอะไรในใจเลย  และในขณะที่กำหนดอยู่ที่จมูก ถ้าใจคิดไปที่อื่น  พอรู้ว่าใจไปที่อื่นก็กลับมาที่ลมหายใจเข้าออกเช่นเดิม  ทำอย่างนี้ไปจนกว่าจะหลับ  การทำอย่างนี้เขาเรียกว่า ฝึกใจให้เป็นสมาธิ

          โอ... เวลาผ่านไปไวจัง  รบกวนเวลาโยมมามากแล้ว  และโยมก็ทำงานกันเหนื่อยมาตลอดวัน  ควรจะได้พักผ่อน  ขอให้โยมรับเหตุผลต่างๆ  ที่ได้จากการสนทนาพูดคุยกับพระในวันนี้ไปปฎิบัติ เพื่อนำตนให้พ้นจากทุกข์  ประสบสุขด้วยกันทุกคน... เจริญพร"

          ขณะที่ผมขับรถไปส่งท่านอาจารย์  ผมสารภาพกับท่านอาจารย์  "ผมเองไม่เคยสนใจพระพุทธศาสนาเลย  เพราะคิดว่าศาสนาก็คือเรื่องพิธีกรรม  ไสยศาสตร์  ผมเพิ่งมารู้คราวนี้เองว่า พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของเหตุผล  ผมได้รับรู้เหตุผลมากมาย  ตั้งแต่นี้ไปผมจะเริ่มศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนา  โอกาสหน้าผมขอรบกวนเวลา  ขอความรู้จากท่านอาจารย์อีกนะครับ"

          "ด้วยความเต็มใจเลยโยม  ไม่ต้องเกรงใจ เป็นหน้าที่ของพระอยู่แล้ว"  ท่านกล่าวทิ้งท้ายไว้


จบบริบูรณ์
..............................................................







ไม่มีความคิดเห็น: