เทศน์เมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๙
หลักปฏิปทาที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นพาดำเนินมา ซึ่งได้สืบทอดมาถึงพวกเราเวลานี้ เป็นปฏิปทาที่ถูกต้องแม่นยำ ไม่มีเงื่อนจะให้สงสัยแม้แต่น้อย เพราะท่านดำเนินตามแบบฉบับของศาสดาที่มีไว้แล้วในตำราจริงๆ ไม่ใช่แบบแอบๆ แฝงๆ หรือแผลงๆ ไป ดังที่เห็นๆ กันทั่วๆ ไปนี้ มีลักษณะอยากเด่นอยากดัง ไม่เข้าร่องเข้ารอยอย่างนั้นไม่มี สำหรับของหลวงปู่มั่นเป็นปฏิปทาด้วยความเป็นธรรมล้วนๆ จึงไม่มีแง่ใดที่น่าสงสัย
เท่าที่พาดำเนินมานี้ก็พอจะทราบเรื่องราวบ้าง เช่น ธุดงควัตร การฉันมื้อเดียวหนเดียว นี่ก็มีอยู่แล้วในธุดงค์ ๑๓ ข้อ การบิณฑบาตเป็นวัตร คือไม่ให้ขาดเมื่อยังฉันอยู่ อันนี้ก็มในธุดงค์ ๑๓ นั่นแล้ว การฉันในบาตรก็มีในธุดงค์นั่นแล้ว นี่ที่ปฏิบัติกันอยู่นี้ก็เห็นได้อย่างชัดเจน ไม่มีลี้ลับอันใดเลย เพราะในตำรามีไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ท่านดำเนินตามตำรานั้นจริงๆ
ถือผ้าบังสุกุลก็ท่านเป็นองค์หนึ่ง ดูจะไม่มีในสมัยปัจจุบันนี้เกินหรือเหนือท่านไป ท่านถือมาตั้งแต่เริ่มบวชจนกระทั่งวาระสุดท้าย ก็ได้เห็นท่านใช้อังสะที่ท่านเจ้าคุณปราจีนมุนี จังหวัดปราจีนฯ นำมาถวายท่านเท่านั้น ด้วยเมตตาสงสารท่านเจ้าคุณนั้นน่ะเท่าที่สังเกตดู เพราะก่อนที่ท่านจะถวายด้วยมือ ท่านได้กราบเรียนให้ทราบก่อนว่านี้เป็นผ้าป่าน ท่านว่านั้น ดูว่าท่านกรอเอง แล้วไปให้ช่างหูกเขาทอให้ ว่าอย่างนั้น ท่านจึงได้เมตตาฉลองให้ทั้งสองผืน นอกนั้นดูไม่เห็นปรากฎว่าท่านใช้คหปติจีวรเลย นี่จะให้เด่นขนาดไหนในสมัยปัจจุบันนี้ ผู้ที่ทรงธุดงค์ข้อนี้ได้โดยสมบูรณ์ ตั้งแต่ต้นมาจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย จะหาอย่างท่านอาจารย์มั่นนี้ได้ที่ไหน นี่ก็เป็นธุดงค์ข้อหนึ่งที่เด็ดเดี่ยวมากสำหรับองค์ท่าน ที่เคยปฏิบัติมาโดยลำดับลำดาไม่ขาดวรรคขาดตอนเลย
พูดถึงด้านภาวนา นี่เราพูดเพียงแง่ธุดงค์เพียงเล็กน้อย เช่น การอยู่ในป่า อยู่ในป่าช้า เหล่านี้มีในธุดงค์หมดแล้วไม่เป็นข้อที่น่าสงสัย ในถ้ำ เงื้อมผา เหล่านี้มีในอนุศาสน์และในธุดงค์ ๑๓ อยู่แล้วนั่น เป็นธรรมดาที่ตายใจได้จริงๆ ที่ท่านพาดำเนินมา เราทั้งหลายได้ยึดเป็นแนวทางสืบกันมาจนปัจจุบันนี้ เพราะท่านเป็นผู้พาดำเนิน
นี่พูดถึงเรื่องธุดงค์ ๑๓ เราพูดเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ไม่พูดโดยตลอดทั่วถึงทุกข้อไป เช่น เนสัชชิ ก็สมาทานไม่นอนเป็นวันๆ หรือคืนๆ ไป อย่างนี้ก็มีในธุดงค์ นอกจากนั้นวิธีดำเนินทางด้านจิตตภาวนา ท่านก็ไม่ได้พาบำเพ็ญหรือปฏิบัติให้นอกเหนือไปจากหลักธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้วนั้นเลย เข่น สอนพุทโธ หรือสอนอานาปานสติ หรืออาการ ๓๒ นับแต่กรรมฐาน ๕ ขึ้นไปจนกระทั่งถึงอาการ ๓๒ เหล่านี้มีในตำรับตำราโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่เป็นข้อสงสัย ไม่เป็นที่ให้เกิดความระแวงอะไรทั้งสิ้น
ที่ท่านพาดำเนินมาไม่ได้มีบทแปลกๆ ต่างๆ และเป็นสิ่งที่ผูกขาดบ้าง หรือเป็นอะไรขลังๆ บ้างอย่างนี้ไม่ปรากฏ ถ้าขลังก็ขลังด้วยความเป็นธรรมจริงๆ คือเอาจริงเอาจังประหนึ่งว่าขลัง ไม่ใช่ขลังแบบโลกๆ ขลังด้วยความเป็นธรรม ขลังด้วยความแน่ใจตัวเอง และทำความอบอุ่นแก่ตนเองด้วยความขลังนั้นจริงๆ นี่คือปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นพาดำเนินมา
_________________________________
ธุดงค์ ๑๓ หมายถึง องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส, ซึ่งข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ เป็นต้น มี ๑๓ ข้อ คือ
หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุต - เกี่ยวกับจีวร มี
๑. ปังสุกูลิกังคะ ถือใช้แต่ผ้าบังสุกุล
๒. เตจีวรีกังคะ ใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน
หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุต - เกี่ยวกับบิณฑบาต มี
๓. ปิณฑปาติกังคะ เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ
๔. สปทานจารีกังคะ บิณฑบาตตามลำดับบ้าน
๕. เอกาสนิกังคะ ฉันมื้อเดียว
๖. ปัตตปิณฑิกังคะ ฉันเฉพาะในบาตร
๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม
หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุต - เกี่ยวกับเสนาสนะ มี
๘. อารัญญิกังคะ ถืออยู่ป่า
๙. รุกขมูลิกังคะ อยู่โคนไม้
๑๐. อัพโภกาสิกังคะ อยู่กลางแจ้ง
๑๑. โสสานิกังคะ อยู่ป่าช้า
๑๒. ยถาสันถติกังคะ อยู่ในที่แล้วแต่เขาจัดให้
หมวดที่ ๔ วิริยปฏิสังยุต - เกี่ยวกับความเพียร มี
๑๓. เนสัชชิกังคะ ถือนั่งอย่างเดียวไม่นอน
_______________________________________
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น