เวลาบวชแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ ตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือ นี่เล่าเป็นคติให้หมู่เพื่อนฟังเรื่องความจริงจัง เรียนเรียนจริงๆ ไม่ถอย แต่สำคัญที่เรียนธรรมะไปตรงไหน มันสะดุดใจ เอ๊ะๆ ชอบกลๆ เข้าไปเรื่อยๆ ธรรมก็เข้ากับเรา ซึ่งเป็นคนจริงอยู่แล้วได้ง่าย ธรรมะเป็นของจริงอยู่แล้ว กับนิสัยจริงก็เลยเข้ากันได้สนิท เอ๊ะ ! ชอบกลๆ
เวลาอ่านพุทธประวัติและอ่านสาวกประวัติเข้าไปอีก โอ้โฮ ! ทีนี้ใจหมุนติ้วๆ นั่นแลเรื่องที่จะอยู่ไปได้ เรื่องภายนอกก็ค่อยจืดไป จางไปๆ เรื่องธรรมะก็หมุนติ้วๆ ดูดดื่มเข้าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้ตั้งสัตย์อธิษฐานเวลาเรียนหนังสือว่า จบเปรียญสามประโยคแล้ว เราจะออกปฏิบัติโดยถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข เพราะอยากพ้นทุกข์เหลือกำลัง
พูดง่ายๆ อยากเป็นพระอรหันต์นั่นเอง เห็นพระพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ สาวกทั้งหลายออกมาจากสกุลต่างๆ สกุลพระราชา มหาเศรษฐี กุฎุุมพี พ่อค้า ประชาชน ตลอดคนธรรมดา องค์ไหนออกมาจากสกุลใด ก็ไปบำเพ็ญในป่าในเขา หลังจากได้รับพระอวาทจากพระพุทธเจ้าแล้ว เดี๋ยวองค์นั้นสำเร็จพระอรหันต์อยู่ที่นั่น องค์นั้นสำเร็จอยู่ป่านั้น อยู่ในเขาลูกนั้น อยู่ในทำเลนี้ มีแต่ที่สงบสงัด
การประกอบความพากเพียรของท่านทำอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นเนื้อเป็นหนัง เอาเป็นเอาตายเข้าว่าจริงๆ ท่านไม่ทำเหลาะๆ แหละๆ เล่นๆ ลูบๆ คลำๆ เหมือนอย่างเราทั้งหลายทำกัน ผลของท่านแสดงออกมาเป็นความอัศจรรย์ เป็นพระอรหันต์วิเศษๆ นี่ล่ะมันถึงใจ
ทีนี้จิตเลยมุ่งมั่นถึงอรหันตบุคคล อยากเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในสมัยปัจจุบันนี้ คิดย้ำลงอีกว่า เอ้า ! ขอให้แน่ใจเถอะว่า ในธรรมนี้มรรคผลนิพพานยังมีอยู่ แล้วเราจะเอาให้ได้ ไม่ได้ เอา ! ตาย มีเท่านั้นไม่มีอย่างอื่น ขอให้มีผู้หนึ่งผู้ใด ครูบาอาจารย์องค์ใด หรือผู้ใดก็ตามมาชี้แจงแสดงให้เราทราบ ว่ามรรคผลนิพพานยังมีอยู่ เป็นที่ถึงใจเราแล้ว นั้นล่ะการปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานจะทำให้ถึงใจ เอา ! ให้ตายไม่ตายให้รู้ มีเท่านั้น
"พระอรหันต์ หมายถึง ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา, พระอริยบุคคลขั้นสูงสุดใน ๔ ชัน คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์, พระอรหันต์เป็นผู้ละสังโยขน์ได้ทั้งหมด
สังโยชน์ หมายถึง กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ อย่าง คือ
ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ได้แก่
๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน
๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
๓. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต
๔. กามราคะ ความติดใจในกามคุณ
๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ
ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง ๕ ได้แก่
๖. รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมดันประณีต
๗. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม
๘. มานะ ความถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่
๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
๑๐. อวิชชา ความไม่รู้จริง
พระโสดาบัน ละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้,
พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ ๔ และ ๕ ให้เบาบางลงด้วย,
พระอนาคามี ละสังโยชน์ ๕ ข้อต้นได้หมด,
พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อ
___________________________________
ตั้งความสัตย์
เทศน์เมื่อง ๒๗ มีนาคม ๒๕๐๗
ความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็ดี สาวกอรหันต์ทั้งหลายตรัสรู้เป็นผู้บริสุทธิ์ก็ดี รู้สึกจะมีเชื่อมั่นเข้าอย่างเต็มที่ตามนิสัยของปุถุชน เหตุที่จะเป็นอุปสรรคแก่ตนเองอยู่ในระยะเริ่มต้นนี้ ก็คือสงสัยปฏิปทาที่เราดำเนินไปตามท่านนี้ จะถึงจุดที่ท่านถึงหรือไม่ หรือว่าทางเหล่านี้จะกลายเป็นขวากเป็นหนามไปเสีย หรือจะกลายเป็นทางผิดไปเสีย ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายเดินทางสายนี้ไปแล้ว ถึงแดนแห่งความเกษม นี่เป็นเรื่องสงสัยปฏิปทา อันเป็นฝ่ายเหตุ
ทีนี้ฝ่ายผลก็เป็นเหตุให้มีความสงสัยอีกเช่นเดียวกันว่า เวลานี้มรรคผลนิพพานจะมีอยู่เหมือนครั้งพุทธกาลหรือไม่ ความสงสัยที่ปรากฏอยู่ภายในใจเช่นนี้ ไม่สามารถจะระบายให้ผู้ใดผู้หนึ่งฟังได้ เพราะเข้าใจว่าจะไม่มีใครสามารถแก้ไขความสงสัยของเรา ให้หมดไปจากจิตใจ จึงเป็นเหตุให้มีความสนใจและมุ่งที่จะพบท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ แม้จะไม่เคยเห็นหน้าเห็นตาท่านก็ตาม แต่ได้ยินกิตติศัพท์ กิตติคุณของท่านฟุ้งขจรมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ว่าท่านเป็นพระสำคัญ โดยมากผู้ที่มาเล่าให้ฟังนั้น จะไม่เล่าขั้นธรรมในอริยภูมิธรรมดา แต่จะเล่าถึงพระอรหันตภูมิของท่านทั้งนั้น
จึงเป็นเหตุให้มั่นใจว่า เมื่อเราได้ศึกษาให้เต็มภูมิความสัตย์ของเราที่ตั้งไว้แล้ว อย่างไรเราจะต้องพยายามไปอยู่สำนักของท่าน ศึกษาอบรมจากท่าน เพื่อนจะตัดข้อข้องใจในความสงสัยของเราที่มีฝังใจอยู่ ณ บัดนี้
ความสัตย์ที่เคยตั้งไว้ต่อตนเองนั้น คือ การสอบเปรียญขอให้จบเพียง ๓ ประโยคเท่านั้น ส่วนนักธรรมจะได้ขั้นไหนก็ตามไม่เป็นปัญหา เมื่อเปรียญได้จบ ๓ ประโยคแล้ว จะออกปฏิบัติโดยถ่ายเดียว จะไม่ยอมศึกษาเล่าเรียน และสอบประโยคต่อไปเป็นอันขาด นี่เป็นคำสัตย์ที่ตั้งไว้
_____________________________________
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น