วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม ตอน 8



ดูใจ

“แม่ครับ...  วันนี้อากาศเย็นดีนะครับ เมื่อวานนี้ร้อนมาก  แต่วันนี้กลับมาเย็นไม่มีอะไรแน่นอนเลยนะแม่  มีร้อนก็มีหนาว มีสาวก็มีแก่  มีแย่ก็มีดี แต่ที่สำคัญคือ เห็นว่าไม่มีอะไรแน่ จริงมั้ยครับ”  แม่พยักหน้า ยอมรับ

“วันนี้ เราจะมาเรียนรู้ใจกันหน่อย ดีมั้ยครับ แม่ครับ...ใจเรานี้ เราสามารถรู้อะไรมันได้บ้างครับ”

แม่ถามว่า  “รู้อะไร”
“ก็รู้ว่ามีอะไรสามารถกิดขึ้นที่ใจเราได้บ้าง”

แม่นั่งคิด
“ความสุข ความทุกข์”
“แล้วอะไรอีกครับ  เฉยๆ  มีมั้ยครับ”

“มี แต่บางทีมันก็มี ความโกรธ  ความโลภอยากได้ ความฟุ้ง ความรำคาญ”

“มีอีกมั้ยครับ  ถ้าแม่ยังนึกไม่ออก  ผมช่วยนะครับ  หงุดหงิด เบื่อ เหงา เศร้า เซ็ง อิจฉา พยาบาท เกลียด กลัว หึง หวง ห่วง สงบ สบายใจ สงสาร เมตตา และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งจิตใจที่เป็นกุศลและอกุศล

แม่พยักหน้าว่า “จริง... จริง... จริง อย่างที่พูดมาทั้งหมด”
“นี่แหละครับแม่ การเรียนรู้ใจก็คือ การเรียนรู้อาการที่ปรากฏที่ใจ เช่นมีคนมาว่าแม่แล้ว  แม่โกรธ ถามว่าในใจแม่มีตัวหนังสือ “โกรธ” หรือไม่ มันจะมีเพียงแค่อาการโกรธปรากฏที่ใจ  จะเรียกว่าอะไรก็ช่าง  มันแต่มีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นที่ใจเท่านั้นเอง เพียงแค่เป็นผู้รู้ผู้ดู  อย่าไปทำมัน  อย่าไปแก้ไขมัน  เห็นแล้วรู้แล้ว  อย่าไปหลงรัก  อย่าไปหลงชอบมัน และก็ไม่ต้องไปเกลียดชังมันด้วย

“สมมุติว่ามีคนเอาขนมเค้กมาให้แม่ แม่ดีใจมั้ยครับ”
“ดีใจซิ”

“ดีใจมันเกิดขึ้นที่ไหน”
“มันเกิดขึ้นที่ใจ”

“ดีใจให้รู้ว่าดีใจ  คือรู้สึกว่ามีสิ่งหนึ่งมันเกิดขึ้นที่ใจ นั่นคืออาการดีใจนั่นเอง พอได้ขนมเค้กมา แม่อยากกินมั้ย”
“อยากกิน”

“อยากกินให้รู้ว่าใจอยากกิน  อยากกินมันเกิดที่ไหน”
“มันเกิดที่ใจ  เพราะใจมันชอบ”  แม่ตอบ  เก่งมาก  แม่เริ่มเรียนรู้อาการของใจได้มากขึ้นแล้ว

“แม่ครับ... เมื่ออยากกิน กินมั้ยครับ กินได้มั้ย กินได้ครับ ท่านไม่ได้ห้ามกิน  แต่การกินก็ควรพิจารณาด้วยเหมือนกันนะแม่  ว่าสิ่งที่กินนั้นเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ เราสมควรกินหรือไม่สมควรกิน เช่น ถ้าแม่เป็นเบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดมาก ก็ไม่ควรกินใช่มั้ยครับ แต่ถ้าจะกินก็กินแต่พอประมาณนานๆ ครั้ง

แม่พูดแทรก  “จริงๆ ขนมเค้กมันก็ไม่ค่อยได้กินสักเท่าไหร่นะ ส่วนมากปีใหม่ ถึงจะมีโอกาสได้กินเสียที”
“แม่ครับ... ถ้าสมมุตว่า แม่เอามีดมาตัดเค้ก พอตัดออกมาปรากฏว่า ขนมเค้กขึ้นรา เขียวอื๋อเลย แม่จะรู้สึกยังไง”
“รู้สึกไม่ค่อยพอใจ ที่เอาของบูดเน่าเก่าเก็บมาให้เรา”

“เห็นมั้ยครับ...ตอนแรกเขาเอาเค้กมาให้ก็ดีใจ  ให้รู้ว่าดีใจ  พอเปิดกล่องเค้ก อยากกินรู้ว่าใจมันอยาก พอตัดเค้กเห็นเค้กขึ้นรา ไม่พอใจก็ให้รู้ว่ามันไม่พอใจ ไม่พอใจนี้เป็นเราไม่พอใจหรืออะไรไม่พอใจครับ”
แม่นั่งคิด  “ก็เราไม่พอใจ”

“ไม่ใช่ครับ  แม่ต้องรู้สึกว่ามีอาการหนึ่งมันเกิดขึ้นที่ใจ  อาการนั้นมันไม่ใช่เรา  แต่มันเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น  อาการนั้นเขาสมมุติเรียกว่า  ไม่พอใจ แม่ไม่จำเป็นต้องรู้ชื่อมันก็ได้ครับ  รู้เพียงแต่ว่ามันมีสิ่งแปลกปลอมอะไรบางอย่างเกิดขึ้นที่ใจแล้ว

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เพิ่งมีอาการดีใจเกิดขึ้นหยกๆ  แต่พอเห็นเค้กขึ้นรา อาการของใจก็เปลี่ยนไปเป็นไม่พอใจ เห็นมั้ยครับ จิตใจมนุษย์เปลี่ยนแปลงง่าน เปลี่ยนแปรเร็วเป็นคนหลายใจ เดี๋ยวพอใจ เดี๋ยวไม่พอใจ แม่จะสังเกตเห็นว่าอาการเหล่านั้น เราไม่ได้ทำให้มันเกิด เราไม่ได้ทำให้มันดับหรือหายไป มันเกิดเองดับเอง เราบังคับมันไม่ได้ แต่เรารู้เท่าทันมันได้ ถ้าเรารู้ทัน เราก็จะไม่ไปคิดว่าเขาเอาของเน่าเสียมาให้เรา เขาไปซื้อเค้กที่ร้าน เขาอาจจะไม่รู้ว่ามันเก่าเน่าบูดก็ได้ แต่เขามีเจตนาดีคิดถึงเรา จึงซื้อมาฝาก

ถ้าเรารู้ว่า  ความไม่พอใจเกิดขึ้น  ก็ให้รู้ว่าจิตไม่พอใจไม่ใช่เราไม่พอใจ  อาการไม่พอใจก็จะเริ่มคลายตัวลง แต่ถ้าเราไปคิดถึงคนที่เขาเอาเค้กเน่ามาให้เรา มันก็จะหลงปรุงแต่งคิดว่าเขาไม่ดี เขาแกล้งเรา เขาดูถูกเรา มันก็มีแต่จิตที่คิดไปเพ่งโทษผู้อื่น พระท่านเรียกว่า  “ส่งจิตออกนอก” ไปรู้เรื่องข้างนอก แทนที่จะรู้ว่าใจตัวเองขณะนั้นเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นในขณะปัจจุบันนั้น ก็พอแล้ว”

แม่ฟัง พร้อมพยักหน้า และพูดว่า  “ลึกซึ้ง ท่านสอนละเอียดดีนะ”  
 “แม่ฟังแล้วเบื่อมั้ย”
 “ไม่เบื่อๆ แม่ชอบ”
 “ถ้าชอบรู้ว่าอย่างไรครับ”
“รู้ว่าใจมันชอบ”

“เก่งมากครับ พรุ่งนี้เรามาเรียนกันต่อนะครับ ตอนนี้แม่ก็ฝึกรู้กาย รู้ใจไปก่อน รู้ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นนะครับ  อย่าไปบังคับให้มันรู้ตลอดเพราะมันบังคับไม่ได้หรอก

เรียนรู้แล้ว  ไม่ฝึกรู้  ฝึกดู  ก็ไม่รู้ไม่เป็น  ธรรมะก็ไร้ค่าถ้าไม่ทำ


(จากหนังสือ สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม โดย ธีรยุทธ  เวชเจริญยิ่ง)

สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม ตอน 7



ดูกาย

หลังจากแม่ฝึกภานาพุทโธ มาได้ประมาณ 2 ปี ผมก็เริ่มฝึกให้แม่มาหัดดูกาย ดูใจ ตัวเองบ้าง
“แม่ครับ... ชีวิตเราประกอบด้วย กายและใจ การฝึกสติ ก็ต้องฝึกมารู้ที่กายที่ใจ  สติคือการระลึกได้  ระลึกรู้ที่กายที่ใจ  รู้ด้วยความรู้สึกตัวตามความเป็นจริงตามที่มันปรากฏตรงลงขณะปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าหรือต่อหน้าต่อตา  โดยไม่เข้าไปแทรกแซงจัดแจงแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น  อะไรเกิดก็รู้มันตามความเป็นจริง ไม่ต้องแก้ไขดัดแปลงมัน  มันจะเป็นอย่างไร  ก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น  รู้เห็นอะไรในกายในใจนี้  ก็ไม่ต้องเข้าไปหลงยินดียินร้ายกับมัน  กายมีอาการอย่างไร  ใจมีอาการอย่างไร  ก็รู้มันเฉยๆ  รู้ดว้ยใจเป็นกลางๆ  รู้แบบไม่มีส่วนได้เสียกับมัน  พอเข้าใจมั้ยครับ”

แม่ฟังแล้วยิ้มๆ  “เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง  แต่จำไม่ค่อยได้”
“ไม่เป็นไรครับ ค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้ไป สิ่งที่ผมพูดไม่ต้องจำให้ได้หมด  ไม่ต้องกังวลใจฝึกทำไปเดี๋ยวก็เข้าใจเอง”

“แม่ครับ... ตอนนี้แม่นั่งอยู่หรือยืนอยู่ครับ”
“นั่งอยู่”  แม่ตอบอย่างไม่ลังเล   “กายที่นังอยู่มันนิ่งๆ หรือเคลื่อนไหวครับ”
“นิ่งๆ อยู่”

“กายที่นั่งนิ่งๆ อยู่นี้ มีส่วนใดของกายบ้าง ที่ไม่นิ่ง แม่สังเกตดูที่กายแม่ซิครับ”
“ลมหายฝจเข้า-ออก”
“ถูกต้องแล้วครับ ลมหายใจเข้า กับลมหายใจออก อันเดียวกัน หรือคนละอัน”
“คนละอันกัน” แม่ตอบ

“ลมหายใจเข้า กับลมหายใจออก อันไหนผ่อนคลายมากกว่ากัน”
แม่ตอบว่า “ลมหายใจออก ผ่อนคลายกว่า”
“เก่งมากครับ  แม่ลองสังเกตต่อไปอีกหน่อยซิครับว่า มีอะไรเคลื่อนไหวอีก

แม่เริ่มทำหน้างงๆ ผมจึงพูดนำว่า
“แม่ลองสังเกตท้องดูสิครับ  เป็นยังไงบ้าง”
“มันพองออก มันยุบเข้า”

“มีอะไรอีกมั้ยครับ”
“หน้าอกมันกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง  ตามันกระพริบ”

เก่งมาก  แม่สังเกตุกายได้หลายอย่างทีเดียว แม่ลองขยับกายหน่อยสิครับ รู้สึกยังไง”
“กายมันเคลื่อนไหว”

“กายเคลื่อนไหวกับกายนิ่ง เหมือนกันหรือไม่”
“ไม่เหมือนกัน”

“เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่”
“คนละอย่างกัน”

“นี่แหละครับแม่  ท่านสอนให้สังเกตดูกายแบบนี้ กายนิ่งๆ ให้รู้สึกว่ากายนิ่งๆ  กายเคลื่อนไหวให้รู้สึกว่ากายเคลื่อนไหว  ชีวิตเราทั้งวันมันก็มีแต่กายนิ่งกับกายเคลื่อนไหวเท่านั้นเอง  เวลานั่ง เวลายืน  กายนิ่งหรือเคลื่อนไหว”
“กายนิ่ง”

“เวลาเดินกายเคลื่อนไหว หรือนิ่งๆ”
“กายเคลื่อนไหว”

“เวลานอน กายนิ่ง หรือเคลื่อนไหว”
“นิ่งๆ แต่ถ้าพลิกตัวมันก็เคลื่อนไหวนะ”

“แม่สังเกตกายนิ่งกับกายเคลื่อนไหวแบบนี้พอได้มั้ยครับ”
“ได้ได้ แม่ทำได้”

“ดีครับ แล้ววันหน้า ผมจะมาสอนการดูใจให้เพิ่มเติมนะครับ กายไหว...กายนิ่งให้ฝึกรู้ ฝึกดู แค่สองอย่าง รู้ด้วยความรู้สึกตัว ไม่ใช่คิดเอานึกเอานะครับแม่”
“ไม่ยาก...ไม่ยาก”   แม่พูดทบทวนความเข้าใจ

ธรรมะแท้จริงไม่ใช่เรื่องยากแต่ที่ยากเพราะไม่เข้าใจ  พอเข้าใจก็ไม่ฝึกฝนใจ  จึงได้แต่บ่นว่ายาก...ยาก...ยาก   “การปฏิบัติธรรมนั้นมันไม่ยาก แต่ที่ยากเพราะไม่ปฏิบัติ”  นี่คือคำกล่าวของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

(จากหนังสือ สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม โดย ธีรยุทธ  เวชเจริญยิ่ง)

วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม ตอน 6



อานาสงส์พุทโธ

          กาลเวลาผ่านไปรวดเร็วยังกับละคร แม่ฝึก พุทโธ อยู่ทุกวัน  วันละหลายรอบ นับจากวันนั้นจนถึงวันที่เกิดเหตุ แม่ฝึกภาวนา พุทโธ  มาประมาณ ๒ ปี เห็นจะได้

          บ่ายวันพุธของเดือนเมษายนปี 2548 อากาศค่อนข้างร้อน แม่รู้สึกเหนียวเนื้อเหนียวตัวอยากจะอาบน้ำสระผม  พี่สาวจะพาไปสระผมในห้องน้ำ พอสระผมเสร็จก็พาแม่มายังห้องนอนชั้นล่าง เป็นทั้งห้องนอนและห้องรับแขกไปในตัว เพื่อจะเป่าผมที่เปียกอยู่ให้แห้ง พอเดินออกมาจากห้องน้ำ ก็พบป้าอ้อย(เรียกตามหลาน)  หมอนวดประจำตัวคุณแม่ ปกติป้าอ้อยจะมานวดให้แม่ทุกวันพฤหัส แม่จึงร้องถามว่า “วันนี้มาทำไม”  ป้าอ้อยก็บอกว่ามานวดให้แม่ไง  “วันนี้ไม่ใช่วันพฤหัส วันนี้เป็นวันพุธ” แม่พูดตอบ

"อ้าว... ป้าอ้อยทำเสียงงงๆ จำวันผิดไม่เป็นไร พรุ่งนี้มาใหม่ก็ได้  “ไหนๆ มาแล้ว ก็ดื่มน้ำดื่มท่า พอให้ได้คลายร้อนคลายเหนื่อยเสียก่อนแล้วค่อยไป”  แม่เอ่ยเชิญชวน

          ขณะที่พี่สาวก็กำลังใช้ไดร์เป่าผมให้แม่  ครั้นเป่าไปไม่นาน เส้นผมก็ยังไม่แห้งดี จู่ๆ แม่ก็คอพับ ปากเขียวหมดสติไป พี่สาวก็ตกใจ  ป้าอ้อยก็รีบมาช่วยกันหายาอมยาดมยาหม่องเท่าที่จะหาได้ในขณะนั้น มาบีบมานวดมาทาให้แม่ เพื่อให้แม่ฟื้นคืนมา

          ช่วยกันนวดอยู่ไม่นานนัก แม่ก็เริ่มรู้สึกตัว คำพูดแรกที่ป้าอ้อยได้ยินคือ พุทโธ...พุทโธ  ออกจากปากแม่ ป้าอ้อยเล่าว่าได้ยินแล้วขนลุก แม่เริ่มลืมตาขึ้น แล้วมองไปรอบๆ

“แม่...แม่...แม่... เป็นอะไรหรือเปล่า” พี่สาวร้องเรียกถาม แม่ตอบว่า 
“ไม่เป็นไร มันมืดไปหมดแล้วก็ไม่รู้ตัว มารู้ตัวอีกทีเหมือนมีเสียงแต่ไกลๆ”

“เสียงอะไรคะแม่”  ทุกคนตื่นเต้นอยากจะรู้
“เสียง พุทโธ...พุทโธ แล้วแม่ก็ตื่นฟื้นขึ้นมา”

          สาธุ...สาธุ...สาธู... ถ้าแม่ไปตอนนั้น  แม่ก็ไปกับพุทโธ  มีพุทโธเป็นที่พึ่ง มพุทโธเป็นผู้นำทาง  ท่านจะเชื่อเหมือนผมมั้ยครับว่า ถ้าแม่ไปตอนนั้น แม่ต้องไปดี

          ด้วยอานิสงส์การภาวนาพุทโธ ๒ ปี จนพุทโธแรกๆ ที่ฝึกเพียงอยู่ที่ปาก  แต่บัดนี้ พุทโธ ได้เข้าไปประทับอยู่ในใจของแม่แล้ว  แม่มี พุทโธ เป็นที่พึ่งแล้ว

          ก่อนหน้านี้ แม่เคยสั่งพี่ๆ น้องๆ ว่าอายุแม่ก็แก่มากแล้ว จะตายวันตายพรุ่งเมื่อไหร่ก็ไม่รู้  ถ้าวันไหนแม่ใกล้จะตายให้รีบไปตามธีรยุทธมาด้วย ผมถามแม่ว่าไปตามผมมาทำไมครับ แม่บอกว่า “ตามมานำทาง” ผมจึงบอกกับแม่ไปว่า  “ตอนนี้ แม่ไม่ต้องการผมแล้ว เพราะแม่มีพุทโธ เป็นผู้นำทางแล้ว”

ชีวิตนี้ถ้าใตรมีพุทโธมีพระธรรมมีสติสัมปชัญญะเป็นที่พึ่งก็นับประเสริฐยิ่งนัก  เราฝึกทุกวันนี้ก็เพื่อวันสุดท้ายของชีวิตนั่นเอง

(จากหนังสือ สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม โดย ธีรยุทธ  เวชเจริญยิ่ง)

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม ตอน 5



หลานฉงน

          เมื่ออาม่ามีพุทโธเป็นเพื่อน  หลานจะซนอาม่าก็ไม่สนใจ  ครั้นอาม่าอยากจะบ่นอยากจะว่า ก็มิรอช้าหันมาหาลูกประคำ  นับเม็ดประคำ  ท่องบ่นภาวนา  พุทโธ...พุทโธ...พุทโธ ดีกว่า  เจ้าหลานน่ารักทำหน้าฉงน  ปกติชอบวิ่งซน  อาม่าต้องมาร่วมสาละวนห้ามปราม  แต่มาวันนี้อาม่าไม่บ่นไม่ว่า  หันหาลูกประคำ  ภาวนา  พุทโธ  แปลกอยากรู้อยากเห็นจังเลย หลานนึกในใจ

          หลานน้อย  เดินย่องแอบมองด้านหลังอาม่า เห็นเม็ดกลมๆ ถูกเลื่อนไปทีละเม็ดๆ เห็นปากอาม่าขมุบขมิบ พุทโธ...พุทโธ...พุทโธ  หลานน้อยก็พลอยหยุดซนหันมาสนใจของเล่นชิ้นใหม่  สะกิดแขนอาม่า “อาม่าทำอะไร ขอหนูเล่นด้วยคน”  อาม่าบอกว่า “เล่นไม่ได้ ของพระ หนูอยู่เงียบๆ อาม่าจะว่าพุทโธ ให้ฟัง”

          หลานก็สงบอาม่าก็สงัด  อาม่าว่าพุทโธหลานก็ฟังจนเคลิ้มหลับ มินานนัก  อาม่าก็เริ่มสงบเย็นใจ  ที่วุ่นก็กลายเป็นว่าง  ว่างจากความหงุดหงิดจิตฟุ้งซ่าน

ตกเย็นผมเดินไปเยี่ยมแม่
“แม่เป็นยังไงบ้างครับ พุทโธ อยู่กับลูกประคำ หรือพุทโท่ อยู่กับหลาน”  แม่ยิ้มแล้วเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง

“ต่อนี้ไปแม่จะภาวนาพุทโธ ทุกวัน”  แม่เน้นเสียงคำว่า ทุกวัน ด้วยใบหน้าที่ชื่นบาน ด้วยแววตาที่มีความสุข

“แม่ส่งการบ้านหน่อยซิครับ  ภาวนาพุทโธ เป็นยังไงบ้าง”

“เวลาแม่พุทโธ แรกๆ ใจก็มาอยู่กับพุทโธดี แต่พอไม่นานมันก็ฟุ้งไปคิด  ปากก็ว่าพุทโธ  แต่ใจมันไม่ได้อยู่กับพุทโธ  มันฟุ้งบ่อยมาก บางทีก็นึกโกรธตัวเองทำไมมันฟุ้งบ่อยจัง”

“นั่นแหละครับ...ดีแล้ว  แม่เริ่มปฏิบัติธรรมเป็นแล้ว”
“อ้าว  ฟุ้งอย่างงี้นะหรือปฏิบัติธรรมเป็น”

“เป็นตรงที่แม่รู้ว่ามันฟุ้งบ่อย ตอนฟุ้งแสดงว่า แม่เผลอสติ แต่ตอนรู้ว่าฟุ้ง  ตอนนั้นแม่มีสติ แต่พอมีสติแป๊บเดียว มันก็เผลอสติครั้งใหม่ ดีแล้วครับ ฝึกแบบนี้ต่อไปนะครับ  ถ้าแม่ฝึกบ่อยๆ อาการฟุ้งจะน้อยลงไปเอง เวลาฟุ้งก็ฟุ้งไม่นาน เดี๋ยวก็มีสติรู้ตัวขึ้นมา เพียงแต่ว่า แม่อย่าไปโกรธฟุ้งนะครับ เพราะฟุ้งก็เป็นธรรมะ

“ฟุ้งเป็นธรรมะตรงไหน”  แม่ถาม

“เป็นตรงที่เห็นว่า มันบังคับไม่ได้ จิตใจมนุษย์มันคิดโน่นคิดนี่อยู่ไม่หยุด เดี๋ยวก็ไปรับรู้สิ่งนั้น เดี๋ยวก็มารับรู้สิ่งนี้ ห้ามก็ไม่ได้ บังคับก็ไม่ได้ หากเราฝึกสติรู้ตัวบ่อยๆ สุดท้ายจิตใจก็จะตั้งมั่นไม่ซัดส่ายเผลอเพลิน ออกนอกกายนอกใจ

“แม่ฝึกต่อไปนะครับ อยู่กับ  “พุทโธ”  นะครับ มี “พุทโธ” เป็นที่พึ่งให้ได้นะครับ ผมกลับบ้านก่อนนะครับมันมืดค่ำแล้ว พรุ่งนี้ค่อยมาคุยกันต่อดีมั้ยครับ

“เออ...ดีๆ  ไปอาบน้ำอาบท่าแล้วรีบเข้านอนเถอะ  พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้าไปทำงาน”
“ครับ”

ราตรีสวัสดิ์ นี่ผมพูดในใจ  เพราะเห็นว่า นี่เป็นราตรีแห่งความสวัสดี  สวัสดีตรงที่แม่เริ่มรู้จักธรรมะ  เริ่มรู้จักความฟุ้ง  ความสงบ  รู้จักสังเกตถึงสภาวธรรมต่างๆ หรืออาการต่างๆ  ที่มันปรากฏขึ้นที่กาย ที่ใจได้บ้างแล้ว


(จากหนังสือ สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม โดย ธีรยุทธ  เวชเจริญยิ่ง)

สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม ตอน 4



พุทโธ

          ปกติแม่จะเป็นคนมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย  โดยเฉพาะที่บ้านมีหลานสาวตัวเล็กที่กำลังซนตามประสาเด็กวัย ๔ ขวบ   “อย่าซนอย่ากระโดด...อย่าวิ่ง...อย่าจับเดี๋ยวแตก”  เจ้าหลานก็ดีใจเพราะนึกว่าอาม่ากำลังเล่นด้วย  อาม่าวัย 85 ปี ก็เหนื่อยที่คอยร้องห้ามปราบหลานเจ้าหลานสาวก็ยิ่งสนุกใหญ่เพราะเห็นอาม่านั่งหอบ  สุดท้ายอาม่าก็เครียด ความดันขึ้นสูง ต้องพึ่งยาพาราแก้ปวดเศียรเวียนเกล้า

ผมเองจึงคิดหาอุบายหาอุปกรณ์ช่วยภาวนา  จึงได้หาลูกประคำมาเส้นหนึ่ง แล้วเดินเข้าไปหาแม่
“แม่ครับ... วันนี้เป็นยังไงบ้างครับ”

“ปวดหัว ปวดหัว”  เสียงบ่นรำคาณ จากอาม่าผู้มีใบหน้าอันเหี่ยวย่อน ยู่ย่น ที่บ่นออกมาเพราะความเครียดไปกับเจ้าหลานน้อยตัวดี

“แม่ครับ...ธรรมชาติของเด็กก็อย่างนี้แหละ เด็กซนบ้างก็เป็นเรื่องปกติ  ถ้าเด็กนั่งเศร้าเหงาหงอย แบบนี้มันน่าเป็นห่วงมากกว่านะครับ เรามาฝึกหัดปฏิบัติธรรมกันต่อดีกว่าไหมครับ”

“เออ...ดีเหมือนกัน”  แม่เริ่มมีสีหน้าดีขึ้น

“ลูกประคำเส้นนี้หลวงพ่อท่านให้มา  ผมเก็บไว้บนหิ้งพระเสียนาน  เมื่อวานก็ลองไปค้นดู  ก็ได้มาเส้นหนึ่งแม้จะดูเก่าไปหน่อย  แต่ก็ดูขลังดีนะแม่นะ  แม่ลองจับดูซิครับ หนึ่งเส้นจะมี 108 ลูก แม่นับทีละลูกนะครับ นับลูกแรกให้พูดว่า “พุท” นับลูกต่อไปให้พูดว่า “โธ” สลับกันไป จนกว่าจะครบหมดเส้น พอเข้าใจมั้ยครับ”

“เข้าใจ”  แม่ตอบอย่างมั่นใจ

“เวลาใดที่แม่เริ่มหลงเข้าไปวุ่นยุ่งอยู่กับหลาน ก็ให้แม่กลับมาหาลูกประคำ ภาวนา  “พุทโธ”  โดยไม่ต้องไปสนใจหลาน  ภาวนาไปใจคิด  รู้สึกตัวว่าใจมันคิดแล้วกลับมารู้ มาอยู่กับ พุทโธ นะครับแม่ วันหนึ่งแม่ทำ 2-3 ครั้ง หรือมากกว่านั้นก็ได้ ใจแม่จะสงบ ร่มเย็นขึ้น แม่ลองฝึกดู ฟังเฉยๆ  ไม่ลองไม่รู้นะครับแม่

“พรุ่งนี้ผมจะมาตรวจการบ้านนะครับว่าปฏิบัติแล้วเป็นอย่างไรบ้าง”
“การบ้านอะไร”  แม่ถาม

“ก็การปฏิบัติไงครับ  ว่าแม่ภาวนา พุทโธ แล้วใจแม่เป็นอย่างไร  ฟุ้งหรือสงบ  เบื่อหรือชอบ  เบาหรือหนัก  รู้หรือเผลอ  ทำเองก็รู้เองครับ  กลับก่อนนะครับ  พรุ่งนี้ผมจะมาพูดธรรมะวันละคำกับแม่ใหม่ สวัสดีครับ

ชีวิตเราหากไม่มีอารณ์ฝ่ายกุศลเป็นที่ระลึกชีวิตก็มักจะนึกถึงแต่อารมณ์ฝ่ายอกุศล  จึงทำให้จิตใจไม่ปกติเป็นทุกข์เดือดร้อนกันทั่วบ้านทั่วเมือง

เมื่อมี “พุทโธ” เป็นอารมณ์ให้สติมาระลึก จิตก็มีความสงบร่มเย็น ใจก็มีความสุข ทุกข์ก็บรรเทา

นี่แหละครับความสุขที่ไม่ต้องรอขอจากใคร  แต่เกิดขึ้นได้ด้วยใจที่ละวางเป็น

(จากหนังสือ สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม โดย ธีรยุทธ  เวชเจริญยิ่ง)

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

สอนแม่หัดฝึกปฏิบัติธรรม ตอน 3



อาภัพ

    “ชีวิตแม่นี้อาภัพนัก  อ่านหนังสือก็ไม่ออก เขียนหนังสือก็ไม่ได้  จะไปไหนมาไหนก็ต้องอาศัยคนอื่น  เห็นเขาอ่านหนังสือธรรมะก็อยากจะอ่านกับเขาบ้าง แต่ก็อ่านไม่เป็น  ฟังพระท่านเทศน์สอนทางโทรทัศน์  บางคำก็ฟังไม่รู้เรื่อง  เห็นเขานุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดปฏิบัติธรรมก็ทำไม่เป็น  เกิดมาชาตินี้ เกิดมาน่าเสียดาย ตายเปล่าไม่รู้จักธรรม”  นี่คือคำบ่นน้อยใจที่ออกจากใจของแม่ผู้อาภัพ แต่เป็นความอาภัพที่ไม่ได้รับการศึกษา  จึงคิดว่าหมดปัญญา หมดโอกาส หมดบุญวาสนาที่ตนจะศึกษาปฏิบัติธรรมได้

แม่ครับ... แม่อยากปฏิบัติธรรมจริงๆ หรือครับ” ผมเอ่ยถามขึ้นด้วยความเห็นใจ แม่ตอบหนักแน่นจริงจัง

จริงซิ ปฏิบัติธรรม พระท่านก็สอนว่าดี  จะได้มีที่พึ่ง ใครๆ ก็บอกว่าดี  แล้วมันจะดีไปได้ยังไง  ใครๆ เขาก็อ่านหนังสือเป็น  แต่แม่...มันอ่านไม่เป็น  เพราะไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนคนอื่นเขา

                “แม่ครับ... การปฏิบัติธรรมไม่เกี่ยวกับเรื่องการอ่านออกเขียนได้  แต่มันขึ้นอยู่กับใจที่เปิดรับ พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนเราให้รู้จักอ่านกายอ่านใจตัวเอง  ไม่ใช่ไปอ่านสิ่งภายนอก”

                “จริงหรือ....”   แม่เอ่ยถาม ดูท่าทางแม่ตื่นแต้น
                “ปฏิบัติธรรมอ่านหนังสือไม่ออก ก็ทำได้จริงหรือ”
“ได้สิครับ”  ผมตอบด้วยความมั่นใจ
“ไหนสอนแม่หน่อยซิทำยังไง”

“ง่ายนิดเดียว แม่ตั้งใจฟังนะครับ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ชีวิตเราประกอบไปด้วย กายกับอะไรนะแม่”  แม่หยุดคิดอยู่นิดนึง

“ก็ใจไง”

“ถูกต้องแล้วครับ แม่เก่งมาก พระพุทะองค์ยังสอนต่อนะว่า ความทุกข์เวลามันเกิด มันเกิดที่ไหนได้บ้าง แม่ทราบมั้ยครับ”

“ก็ที่กาย  ที่ใจไงละ”  แม่ตอบอย่างมั่นใจและจริงจัง
“แม่่รู้ธรรมะเยอะเหมือนกันนี่ครับ”

“แม่ครับ...  ชีวิตเราประกอบด้วย กายกับใจ ความทุกข์เวลามันเกิดก็เกิดที่กายที่ใจนี้แหละ  แล้วอะไรเป็นสาหตุ  ที่ทำให้มันเกิดทุกข์ละแม่”  ตอนนี้แม่เริ่มทำหน้างองูสองตัว...งง

“คิดไม่ออกใช่มั้ยครับ...ไม่เป็นไร  พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ตัณหา คือความอยาก เป็นเหตุทำให้เราเกิดทุกข์”
“แม่ทราบไหมว่า  ทำไมความอยากเป็นเหตุทำให้เราเกิดทุกข์” 
“ไม่รู้”

“ผมจะลองสมมุติเหตุการณ์เป็นตัวอย่างให้แม่ฟังนะครับ ถ้าแม่คิดอยากกินหมูสะเต๊ะรสเด็ดร้านอร่อย แล้วขอให้ผมช่วยไปซื้อให้  แต่ผมบอกว่าไม่ว่าง หรือขี้เกียจไปเพราะมันไกล แม่ยั้วะมั้ยครับ”

“ก็ไม่ถึงกับยัวะ... แต่ไม่ค่อยพอใจ”

“นั่นแหละครับ ยัวะหรือไม่พอใจ มันก็มีโทสะเหมือนกัน  แม่เห็นมั้ยครับ  การที่แม่ไม่พอใจเพราะเกิดจากความอยากก่อนใช่มั้ยครับ  เมื่อไม่สมอยากมันจึงกลายเป็นความโกรธ  หรือความไม่พอใจในภายหลัง  ....แม่เริ่มพยักหน้าคล้อยตาม

“แม่เห็นมั้ยครับ  ความอยากเป็นตัณหาทำให้เกิดทุกข์ ถ้าหมดอยากก็หมดทุกข์  แต่คนส่วนใหญ่ มักเป็นคนประเภทเบื่อๆ อยากๆ  เบื่อสิ่งหนึ่งแล้วอยากได้อีกสิ่งหนึ่ง เบื่อสิ่งนั้นแล้วก็อยากจะได้สิ่งนี้อยู่ร่ำไป ใจมันจึงต้องดิ้นรนเสาะแสวงหา แสวงหาอะไร แม่ทราบไหมครับ”...แม่คิดนิดนึง แล้วจึงตอบว่า...

“ก็แสวงหาความสุขไง”
“ถูกต้องแล้วครับ  แต่เราก็มักจะต้องแสวงหาสุขอย่างไม่มีที่สิ้นสุด  เพราะสุขที่ได้มา  มันก็สุขเดี๋ยวเดียว สุขแบบจิ้มดูด  สุขแป๊บเดียวก็จืดจาง”

“แล้วเราจะทำยังไง”  แม่ถาม
“พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า  เราต้องมีสติรู้กาย รู้ใจ ตามความเป็นจริง
“รู้กาย รู้ใจ รู้ยังไง” แม่ชักสนใจ
“เอาอย่างนี้ได้มั้ยครับแม่  พรุ่งนี้ผมจะมาสอนต่อเบื้องต้นต้องมีอุปกรณ์ช่วย ถ้าผมสอนมากกว่านี้ เดี๋ยวแม่จะงง”
“ดีเหมือนกัน แม่ก็อยากจะเข้าห้องน้ำอยู่พอดี”
“แม่ครับ... แม่เข้าห้องน้ำทำไม”
“อ้าว...ถามได้ ก็คนมันปวดท้องฉี่นะซิ”
“แล้วที่ปวดท้องนี้ มันใวดที่กายหรือใจ”
“ก็ปวดที่กายนะซิ”

“เห็นไหมครับ  พระพุทธเจ้าสอนว่า  กาย-ใจ คือ ตัวทุกข์ เอามันเข้าแล้ว ยังต้องเอามันออกอีก  เอามันออกแล้ว เดี๋ยวก็ต้องเอามันเข้าอีก ต้องบำรุงบำเรอกายนี้มากมายเหลือเกินในแต่ละวัน

“ทุกวันด้วย” แม่พูดเสริม
“จริงๆครับ พรุ่งนี้เรียนกันใหม่นะครับ”

“ขอบใจนะ” แม่พูดพลาง...แล้วค่อยๆ ลุกขึ้น เดินเข้าห้องน้ำ ด้วยความคิดที่หวังว่าคงได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมเป็นเหมือนคนอื่นเขาบ้าง

นี่แหละครับ... ชีวิต  บางคนมีโอกาสก็ไม่ปฏิบัติไม่ศึกษา  บางคนไม่มีโอกาสศึกษาแต่ก็อยากจะปฏิบัติ แต่บางคนมีโอกาสทั้งได้ศึกษาและได้ปฏิบัติ แต่สุดท้ายก็สลัดทิ้ง... เพราะขี้เกียจปฏิบัติ

สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม  ใครทำเหตุอย่างใดก็ย่อมได้รับผลอย่างนั้น

(จากหนังสือ สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม โดย ธีรยุทธ  เวชเจริญยิ่ง)