อาภัพ
“ชีวิตแม่นี้อาภัพนัก อ่านหนังสือก็ไม่ออก
เขียนหนังสือก็ไม่ได้
จะไปไหนมาไหนก็ต้องอาศัยคนอื่น
เห็นเขาอ่านหนังสือธรรมะก็อยากจะอ่านกับเขาบ้าง แต่ก็อ่านไม่เป็น ฟังพระท่านเทศน์สอนทางโทรทัศน์ บางคำก็ฟังไม่รู้เรื่อง เห็นเขานุ่งขาวห่มขาวเข้าวัดปฏิบัติธรรมก็ทำไม่เป็น เกิดมาชาตินี้ เกิดมาน่าเสียดาย
ตายเปล่าไม่รู้จักธรรม”
นี่คือคำบ่นน้อยใจที่ออกจากใจของแม่ผู้อาภัพ
แต่เป็นความอาภัพที่ไม่ได้รับการศึกษา
จึงคิดว่าหมดปัญญา หมดโอกาส หมดบุญวาสนาที่ตนจะศึกษาปฏิบัติธรรมได้
“แม่ครับ...
แม่อยากปฏิบัติธรรมจริงๆ หรือครับ” ผมเอ่ยถามขึ้นด้วยความเห็นใจ
แม่ตอบหนักแน่นจริงจัง
“จริงซิ
ปฏิบัติธรรม พระท่านก็สอนว่าดี
จะได้มีที่พึ่ง ใครๆ ก็บอกว่าดี
แล้วมันจะดีไปได้ยังไง ใครๆ
เขาก็อ่านหนังสือเป็น แต่แม่...มันอ่านไม่เป็น เพราะไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนคนอื่นเขา”
“แม่ครับ...
การปฏิบัติธรรมไม่เกี่ยวกับเรื่องการอ่านออกเขียนได้ แต่มันขึ้นอยู่กับใจที่เปิดรับ
พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนเราให้รู้จักอ่านกายอ่านใจตัวเอง ไม่ใช่ไปอ่านสิ่งภายนอก”
“จริงหรือ....” แม่เอ่ยถาม ดูท่าทางแม่ตื่นแต้น
“ปฏิบัติธรรมอ่านหนังสือไม่ออก
ก็ทำได้จริงหรือ”
“ได้สิครับ”
ผมตอบด้วยความมั่นใจ
“ไหนสอนแม่หน่อยซิทำยังไง”
“ง่ายนิดเดียว แม่ตั้งใจฟังนะครับ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า
ชีวิตเราประกอบไปด้วย กายกับอะไรนะแม่”
แม่หยุดคิดอยู่นิดนึง
“ก็ใจไง”
“ถูกต้องแล้วครับ แม่เก่งมาก พระพุทะองค์ยังสอนต่อนะว่า
ความทุกข์เวลามันเกิด มันเกิดที่ไหนได้บ้าง แม่ทราบมั้ยครับ”
“ก็ที่กาย ที่ใจไงละ” แม่ตอบอย่างมั่นใจและจริงจัง
“แม่่รู้ธรรมะเยอะเหมือนกันนี่ครับ”
“แม่ครับ...
ชีวิตเราประกอบด้วย กายกับใจ ความทุกข์เวลามันเกิดก็เกิดที่กายที่ใจนี้แหละ แล้วอะไรเป็นสาหตุ ที่ทำให้มันเกิดทุกข์ละแม่” ตอนนี้แม่เริ่มทำหน้างองูสองตัว...งง
“คิดไม่ออกใช่มั้ยครับ...ไม่เป็นไร
พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ตัณหา คือความอยาก เป็นเหตุทำให้เราเกิดทุกข์”
“แม่ทราบไหมว่า
ทำไมความอยากเป็นเหตุทำให้เราเกิดทุกข์”
“ไม่รู้”
“ผมจะลองสมมุติเหตุการณ์เป็นตัวอย่างให้แม่ฟังนะครับ
ถ้าแม่คิดอยากกินหมูสะเต๊ะรสเด็ดร้านอร่อย แล้วขอให้ผมช่วยไปซื้อให้ แต่ผมบอกว่าไม่ว่าง หรือขี้เกียจไปเพราะมันไกล
แม่ยั้วะมั้ยครับ”
“ก็ไม่ถึงกับยัวะ... แต่ไม่ค่อยพอใจ”
“นั่นแหละครับ ยัวะหรือไม่พอใจ มันก็มีโทสะเหมือนกัน แม่เห็นมั้ยครับ
การที่แม่ไม่พอใจเพราะเกิดจากความอยากก่อนใช่มั้ยครับ เมื่อไม่สมอยากมันจึงกลายเป็นความโกรธ หรือความไม่พอใจในภายหลัง ....แม่เริ่มพยักหน้าคล้อยตาม
“แม่เห็นมั้ยครับ
ความอยากเป็นตัณหาทำให้เกิดทุกข์ ถ้าหมดอยากก็หมดทุกข์ แต่คนส่วนใหญ่ มักเป็นคนประเภทเบื่อๆ
อยากๆ เบื่อสิ่งหนึ่งแล้วอยากได้อีกสิ่งหนึ่ง
เบื่อสิ่งนั้นแล้วก็อยากจะได้สิ่งนี้อยู่ร่ำไป ใจมันจึงต้องดิ้นรนเสาะแสวงหา
แสวงหาอะไร แม่ทราบไหมครับ”...แม่คิดนิดนึง แล้วจึงตอบว่า...
“ก็แสวงหาความสุขไง”
“ถูกต้องแล้วครับ
แต่เราก็มักจะต้องแสวงหาสุขอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะสุขที่ได้มา มันก็สุขเดี๋ยวเดียว สุขแบบจิ้มดูด สุขแป๊บเดียวก็จืดจาง”
“แล้วเราจะทำยังไง”
แม่ถาม
“พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนว่า เราต้องมีสติรู้กาย
รู้ใจ ตามความเป็นจริง”
“รู้กาย รู้ใจ รู้ยังไง” แม่ชักสนใจ
“เอาอย่างนี้ได้มั้ยครับแม่
พรุ่งนี้ผมจะมาสอนต่อเบื้องต้นต้องมีอุปกรณ์ช่วย ถ้าผมสอนมากกว่านี้
เดี๋ยวแม่จะงง”
“ดีเหมือนกัน แม่ก็อยากจะเข้าห้องน้ำอยู่พอดี”
“แม่ครับ... แม่เข้าห้องน้ำทำไม”
“อ้าว...ถามได้ ก็คนมันปวดท้องฉี่นะซิ”
“แล้วที่ปวดท้องนี้ มันใวดที่กายหรือใจ”
“ก็ปวดที่กายนะซิ”
“เห็นไหมครับ
พระพุทธเจ้าสอนว่า กาย-ใจ คือ
ตัวทุกข์ เอามันเข้าแล้ว ยังต้องเอามันออกอีก
เอามันออกแล้ว เดี๋ยวก็ต้องเอามันเข้าอีก
ต้องบำรุงบำเรอกายนี้มากมายเหลือเกินในแต่ละวัน”
“ทุกวันด้วย” แม่พูดเสริม
“จริงๆครับ พรุ่งนี้เรียนกันใหม่นะครับ”
“ขอบใจนะ” แม่พูดพลาง...แล้วค่อยๆ ลุกขึ้น เดินเข้าห้องน้ำ
ด้วยความคิดที่หวังว่าคงได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมเป็นเหมือนคนอื่นเขาบ้าง
นี่แหละครับ... ชีวิต บางคนมีโอกาสก็ไม่ปฏิบัติไม่ศึกษา บางคนไม่มีโอกาสศึกษาแต่ก็อยากจะปฏิบัติ
แต่บางคนมีโอกาสทั้งได้ศึกษาและได้ปฏิบัติ แต่สุดท้ายก็สลัดทิ้ง...
เพราะขี้เกียจปฏิบัติ
สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม
ใครทำเหตุอย่างใดก็ย่อมได้รับผลอย่างนั้น
(จากหนังสือ สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม โดย ธีรยุทธ เวชเจริญยิ่ง)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น