วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ : ประวัติ ตอน 5 พระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ฟัง-1




          บางคืนปรากฏมีพระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟังตามทางอริยะประเพณี  โดยปรากฏทางสมาธินิมิต เป็นใจความว่า  วิธีเดินจงกรมต้องให้อยู่ในท่าสำรวมทั้งกายและใจ  ตั้งจิตและสติไว้ที่จุดหมายของงานที่ตนกำลังทำอยู่  คือกำลังกำหนดธรรมบทใดอยู่ พิจารณาขันธ์ใดอยู่  อาการแห่งกายใดอยู่  พึงมีสติอยู่กับธรรม  หรืออาการนั้นๆ  ไม่พึงส่งใจและสติไปอื่น  อันเป็นลักษณะของคนไม่มีหลักยึด  ไม่มีความแน่นอนในตัวเอง  การเคลื่อนไหวไปมาในทิศทางใดควรมีความรู้สึกด้วยสติพาเคลื่อนไหว  ไม่พึงทำเหมือนคนนอนหลับ  ไม่มีสติตามรักษาความกระดุกกระดิกของกาย  และความละเมอเพ้อฝันของใจในเวลาหลับของตน  การบิณฑบาต  การขบฉัน  การขับถ่าย  ควรถืออริยประเพณีเป็นกิจวัตรประจำตัว  ไม่ควรทำเหมือนคนผู้ไม่เคยอบรมศีลธรรมมาเลย  พึงทำเหมือนสมณะคือเพศของนักบวชอันเป็นเพศที่สงบเยือกเย็น  มีสติปัญญาเครื่องกำจัดโทษที่ฝังลึกอยู่ภายในอยู่ทุกอิริยาบถ  การขบฉันพึงพิจารณาอาหารทุกประเภทด้วยดี  อย่าปล่อยให้อาหารที่มีรสเอร็ดอร่อยตามชิวหาประสาทนิยม  กลายมาเป็นยาพิษแผดเผาใจ  แม้ร่างกายจะมีกำลังเพราะอาหารที่ขาดการพิจารณาเข้าไปหล่อเลี้ยง  แต่ใจจะอาภัพเพราะรสอาหารเข้าไปทำลาย  จะกลายเป็นการทำลายตนด้วยการบำรุงคือทำลายใจ  เพราะการบำรุงร่างกายด้วยอาหาร  โดยความไม่มีสติ

          สมณะไปที่ใด  อยู่ที่ใด  ไม่พึงก่อความเป็นภัยแก่ตัวเองและผู้อื่น  คือไม่สั่งสมกิเลส สิ่งน่ากลัวแก่ตัวเองและระบาดสาดกระจายไปเผาลนผู้อื่น  คำว่ากิเลส  อริยธรรม  ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่ง  พึงใช้ความระมัดระวังด้วยความจงใจ  ไม่ประมาทต่อกระแสของกิเลสทุกๆ กระแส  เพราะเป็นเหมือนกระแสไฟที่จะสังหารหรือทำลายได้ทุกๆ กระแสไป  การยืน เดิน นั่ง นอน การขบฉัน การขับถ่าย การพูดจาปราศรัยกับผู้มา  เกี่ยวข้องทุกๆ ราย  และทุกๆ ครั้งด้วยความสำรวม  นี่แล คือ อริยธรรม  เพราะพระอริยบุคคลทุกประเภทท่านดำเนินอย่างนี้กันทั้งนั้น  ความไม่มีสติ  ไม่มีการสำรวม  เป็นทางของกิเลสและบาปธรรม  เป็นทางของวัฏฏะล้วนๆ ผู้จะออกจากวัฏฏะจึงไม่ควรสนใจกับทางอันลามกตกเหวเช่นนั้น  เพราะจะพาให้เป็นสมณะที่เลว  ไม่เป็นผู้อันใครๆ พึงปรารถนา  อาหารเลวไม่มีใครอยากรับประทาน  สถานที่บ้านเรือนเลวไม่มีใครอยากอยู่อาศัย  เครื่องนุ่งห่มใช้สอยเลว  ไม่มีใครอยากนุ่งห่มใช้สอยและเหลือบมอง  ทุกสิ่งที่เลวไม่มีใครสนใจ  เพราะความรังเกียจโดยประการทั้งปวง  คนเลว  ใจเลว  ยิ่งเป็นบ่อแห่งความรังเกียจของโลกผู้ดีทั้งหลาย  ยิ่งสมณะคือนักบวชเราเลวด้วยแล้ว  ก็ยิ่งเป็นจุดทิ่มแทงจิตใจของทั้งคนดีคนชั่ว  สมณะชีพราหมณ์  เทวบุตร  เทวดา  อินทร์  พรหม  ไม่เลือกหน้า  จึงควรสำรวมระวังนักหนา

          การบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลก  การบำรุงรักษาตน  คือใจเป็นเยี่ยม  จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ  ควรบำรุงรักษาด้วยดี  ได้ใจแล้วคือได้ธรรม  เห็นใจตนแล้วคือเห็นธรรม  รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล  ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน  ใจนี่แลคือสมบัติอันล้ำค่า  จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป  คนพลาดใจคือ  ไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้  แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง  เมื่อทราบแล้วว่าใจเป็นสิ่งประเสริฐในตัวเรา  จึงไม่ควรให้พลาดทั้งรู้ๆ จะเสียใจภายหลัง  ความเสียใจทำนองนี้ไม่ควรให้เกิดได้เมื่อทราบอยู่อย่างเต็มใจ  มนุษย์เป็นชาติที่ฉลาดในโลก  แต่อย่าให้เราที่เป็นมนุษย์ทั้งคน  โง่เต็มตัว  จะเลวเต็มทนและหาความสุขไม่เจอ  กิจการทั้งภายในภายนอกของสมณะเป็นกิจ  หรือเป็นงานตัวอย่างของโลกได้อย่างมั่นใจ  เพราะเป็นกิจที่ขาวสะอาดปราศจากมลทินโทษทั้งกิริยาที่ทำและงานที่ประกอบ  จัดว่าชอบด้วยอรรถด้วยธรรม  จึงควรบำรุงส่งเสริมสมณกิจของตนให้มีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป  จะเป็นผู้เจริญรุ่งเรืองในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ  สมณะผู้รักในศีล  รักในสมาธิ  รักสติ  รักปัญญา  รักความเพียร  จะเป็นสมณะอย่างเต็มภูมิทั้งปัจจุบันและอนาตคอันใกล้นี้  ธรรมที่แสดงนี้คือธรรมของท่านผู้มีความเพียร  ของท่านผู้อดผู้ทน  ของท่านผู้เป็นนักต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดเป็นยอดคน  ของผู้พ้นจากทุกขโดยสิ้นเชิง  ปราศจากสิ่งกอขี่บังคับของท่านผู้เป็นอิสระอย่างเต็มภูมิ  คือพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของโลกทั้งสาม  ถ้าท่านเห็นว่าธรรมทั้งนี้เป็นธรรมสำคัญสำหรับท่าน  ท่านจะเป็นผู้ไม่มีกิเลสในไม่ช้านี้  จึงขอฝากธรรมไว้กับท่านนำไปพิจารณาด้วยดี  ท่านจะกลายเป็นคนที่แปลกขึ้นมาในใจ  ซึ่งเป็นของแปลกอยู่แล้วตามหลักธรรมชาติดังนี้

          เมื่อพระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟังจากไปแล้ว  ท่านก็น้อมเอาธรรมนั้นมาพิจารณาใคร่ครวญอีกต่อหนึ่ง  โดยแยกแยะออกเป็นแขนงๆ ไตร่ตรองดูด้วยความละเอียด  ทุกๆ ครั้งที่พระสาวกอรหันต์แต่ละองค์มาแสดงธรรมสั่งสอน  ท่านได้อุบายต่างๆ จากการสดับธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลายที่มาอบรมสั่งสอนแต่ละครั้งแต่ละองค์  ช่วยส่งเสริมกำลังใจกำลังสติปัญญาตลอดมา

          ท่านเล่าว่าขณะที่ฟังธรรมพระอรหันต์ท่านแสดงธรรมให้ฟัง  ประหนึ่งได้ฟังธรรมในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า  แม้ไม่เคยเห็นพระองค์มาก่อน  ใจรู้สึกอิ่มเอิบและเพลิดเพลินไปตาม  เหมือนโลกและธาตุขันธ์ไม่มีกาลเวลามาบีบบังคับเลย  ปรากฏว่ามีแต่จิตล้วนๆ ที่สว่างไสวไปด้วยอรรถด้วยธรรมเท่านั้น  พอจิตถอนออกมาจึงทราบว่าตนมีภูเขาอันแสนหนักทั้งลูก  คือร่างกายอันเป็นที่รวมแห่งขันธ์  ซึ่งแต่ละขันธ์ล้วนเป็นกองทุกข์อันแสนทรมาน  ท่านพักอยู่ที่ถ้ำนั้นมีพระอรหันต์หลายองค์มาเยี่ยม  และแสดงธรรมให้ฟังเสมอในวาระต่างๆ กัน  ซึ่งผิดกับที่ทั้งหลายอยู่มากในชีวิตที่ผ่านมา  ธรรมเป็นที่แน่ใจได้ปรากฏขึ้นแก่ท่านในถ้ำนั้น  ธรรมนั้นคือพระอนาคามีผล  ธรรมนี้ในพระปริยัติท่านกล่าวไว้ว่าละสังโยชน์ได้ ๕ คือ สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  สีลัพพตปรามาส  กามราคะ  ปฏิฆะ  ท่านผู้บรรลุธรรมขั้นนี้เป็นผู้แน่นอนในการไม่กลับมาอุบัติเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์ที่มีธาตุสี่  คือ  ดิน น้ำ ลม ไฟ  เป็นเรือนร่างอีกต่อไป  หากยังไม่เลื่อนชั้นขึ้นถึงพระอรหันตภูมิในอัตภาพนั้น  เวลาตายแล้วก็ไม่อุบัติเกิดในพรหมโลก ๕ ชั้น  ชั้นใดชั้นหนึ่ง  ตามภูมิธรรมที่ผู้นั้นได้บรรลุในพรหมโลก ๕ ชั้น คือ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐา  ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่ของพระอนาคามีบุคคล  ตามลำดับแห่งภูมิธรรมที่มีความละเอียดต่างกัน

          ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าเป็นการภายในว่า  ท่านได้บรรลุอนาคามีธรรมในถ้ำนั้น  แต่ผู้เขียนก็เลยตัดสินใจนำมาลงเพื่อท่านผู้อ่านได้ติชมบ้าง  หากเป็นการผิดพลาดประการใด  ก็ขอได้ตำหนิผู้เขียนว่าเป็นผู้ไม่รอบคอบเสียเอง  ท่านพักบำเพ็ญสมณธรรมด้วยความสงบเย็นใจอยู่ที่นั้นหลายเดือน

          คืนวันหนึ่ง  เกิดความเมตตาสงสารหมู่คณะขึ้นมาอย่างมากมาย  ผิดสังเกตที่เคยเป็นมา  สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น  เนื่องมาจากท่านทำสมาธิภาวนาเกิดความอัศจรรย์หลายอย่างที่ไม่เคยคาดฝันว่าจะเป็นได้ในชีวิต  แต่ก็ได้ปรากฏขึ้นมาอย่างประจักษ์ใจติดๆ กันทุกคืน  เฉพาะคืนที่คิดถึงหมู่คณะนั้น  รู้สึกเป็นคืนที่แปลกมาก  คือจิตเป็นสมาธิที่ละเอียดสุขุมมากเป็นพิเศษ  ความรู้ความเห็นทั้งภายในภายนอกเป็นพิเศษ  ความอัศจรรย์ปรากฏขึ้นกับใจเป็นพิเศษ  ถึงกับน้ำตาร่วงไหลออกมาด้วยความเห็นโทษแห่งความโง่ของตนในอดีตที่ผ่านมา  ความเห็นคุณของความเพียรที่ตะเกียกตะกายมาจนได้เห็นธรรมอัศจรรย์ขึ้นจำเพาะหน้า  ความเห็นคุณของพระพุทธเจ้าผู้มีพระเมตตาประสิทธิ์ประสาทธรรมไว้พอเห็นร่องรอยได้ดำเนินตาม  และรู้ความสลับซับซ้อนแห่งกรรมของตนและของผู้อื่นตลอดสัตว์ทั้งหลายขึ้นมาอย่างประจักษ์  ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัย  ตรงตามธรรมบทว่า  สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นของตน  เป็นต้น   อันเป็นบทธรรมที่รวมความสำคัญของศาสนาไว้แทบทั้งมวล  ท่านเตือนตนว่า  แม้จะประสบความอัศจรรย์หลายอย่างขึ้นมาอย่างภาคภูมิใจก็ตาม  แต่ก็ทราบว่าทางเดินเพื่อความพ้นทุกข์ของท่านยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้  ยังจะต้องทุ่มเทกำลังสติปัญญาและความพากเพียรทุกด้านลงอย่างเต็มกำลังอีกต่อไป

          สิ่งที่ทำให้ท่านเย็นใจและอยู่ด้วยความผาสุกทั้งทางกายและทางใจนั้น  คือโรคเรื้อรังในท้องที่เคยรบกวนและตัดรอนเสมอมาได้หายไปโดยสิ้นเชิง  จิตใจได้หลักยึดอย่างมั่นคง  แม้ยังไม่สิ้นกิเลส  แต่ก็มิได้สงสัยปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน  ปฏิปทาภายในเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลุ่มๆ ดอนๆ เหมือนแต่ก่อน  มีความแน่ใจว่าจะไม่ลุ่มหลงสงสัยทางดำเนินเพื่อธรรมชั้นสูงสุดแบบลูบๆ คลำๆ ดังที่เคยเป็นมา  และมั่นใจว่าตนจะบรรลุถึงธรรมแอดนพ้นทุกข์ในวันหนึ่งแน่นอน  สติปัญยาก็เดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอไม่ถูกบังคับเคี่ยวเข็ญ  วันคืนหนึ่งๆ เกิดความรู้ความเห็นต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวแก่สิ่งภายในและเกี่ยวแก่สิ่งภายนอกไม่มีประมาณ  ทำให้จิตใจรื่นเริงในธรรม และเกิดความสงสารหมู่คณะที่เคยอยู่ด้วยกันมามากขึ้น  อยากให้ได้รู้ได้เห็นอย่างที่ตนรู้เห็นบ้าง  ความคิดสงสารนี้เลยกลายเป็นสาเหตุให้ท่านจำต้องจากถ้ำอันเป็นอุดมมงคลนี้  ไปหาหมู่คณะทางภาคอีสานอีก ทั้งๆ ที่อาลัยอาวรณ์ไม่อยากไป

          ก่อนที่ท่านจะจากถ้ำนี้ไปราว ๒-๓ วัน  ก็ปรากฎว่ามีพวกรุกขเทพ  โดยมีเทพลึกลับองค์ที่เคยมาหาท่านเป็นหัวหน้าพามาเยี่ยมฟังธรรมเทศนาท่าน  เมื่อท่านให้โอวาทแก่เทวดาจบลง  และบอกความประสงค์ที่จะต้องจากถ้ำและคณะเทพทั้งหลาย  ไปสู่ถิ่นอื่นด้วยความจำเป็น  บรรดาเทวดาที่รวมกันอยู่จำนวนมาก  ไม่ยอมให้ท่านจากไปและพร้อมกันอาราธนานิมนต์ท่านไว้  เพื่อความร่มเย็นและเป็นสิริมงคลแก่ชาวเทพตลอดกาลนาน  ท่านก็บอกว่า ที่มาอยู่ที่นี่ก็มาด้วยความจำเป็น  แม้การจะจากไปสู่ที่อื่นก็ไปด้วยความจำเป็นเช่นเดียวกัน  มิได้มาและไปด้วยความอยากพาให้เป็นไป  จึงขอความเห็นใจจากท่านทั้งหลาย  อย่าได้เสียใจ  ถ้ามีโอกาสวาสนาอำนวย  ยังจะได้มาที่นี่อีก  ชาวเทพพากันแสดงความเสียใจและเสียดายท่านด้วยความเคารพรักจริงๆ ไม่อยากให้ท่านจากไป

          จวนจะถึงวันลงจากถ้ำตอนกลางคืนราว ๔.๐๐ นาฬิกา คือ ๑๐ ทุ่ม  ท่านคิดถึงท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์  วัดบรมนิวาส  ว่าเวลานี้ท่านจะพิจารณาอะไรอยู่  จึงกำหนดจิตส่งกระแสลงมาดูท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ทราบว่า  เวลานั้นท่านกำลังพิจารณาปัจจยการคืออวิชชาอยู่  ท่านอาจารย์ทราบแล้วก็จดจำวันไว้  เวลาลงมากรุงเทพฯ ได้โอกาสก็เรียนถามท่านตามที่ตนทราบมาแล้ว  ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ พอได้ทราบเท่านั้น  เลยต้องสารภาพและหัวเราะกันพักใหญ่  พร้อมทั้งชมเชยว่า  "ท่านมั่นนี้เก่งจริง  เราเองเป็นขนาดอาจารย์  แต่ไม่เป็นท่า  น่าอายท่านมั่นเหลือเกิน  ท่านมั่นเก่งจริง"  แล้วก็กล่าวชมเชยว่า  "มันต้องอย่างนี้ซิลูกศิษย์พระตถาคต  ถึงจะเรียกว่าเดินตามครู  พวกเราอย่าทำตัวเป็นโมฆะจากธรรมของพระพุทธเจ้าเสียหมด  ต้องมีผู้ทรงธรรมท่านไว้บ้าง  สมกับธรรมเป็นอกาลิโก  ไม่ปล่อยให้กาลสถานที่และความเกียจคร้านเอาไปกินเสียหมด  ธรรมจะไม่ปรากฏแก่โลกทั้งที่พระพุทธเจ้าประกาศสอนแก่หมู่ชน  ต้องทำอย่างท่านมั่น  ที่ได้ความรู้ต่างๆ มาเล่าสู่กันฟังอย่างนี้จึงเป็นที่น่าชมเชย"

          ท่าเล่าให้ฟังว่า  ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เลื่อมใสและชมเชยท่านมาก  บางครั้งเวลามีเรื่องราวต่างๆ ที่ท่านไม่แน่ใจว่าควรจะพิจารณาและตัดสินใจอย่างไร  จึงจะถูกต้องเหมาะสม  ท่านยังให้พระนิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่นไปร่วมปรึกษา  และมอบเรื่องราวให้ท่านไปพิจารณาช่วยก็ยังมี  พอควรแก่เวลาแล้ว  ท่านก็เดินทางไปภาคอีสาน  ท่านว่าก่อนท่านจะขึ้นไปบำเพ็ญอยู่ที่ถ้ำสาริกาเขาใหญ่  จังหวัดนครนายก  ท่านเที่ยวจาริกไปทางประเทศพม่าก่อน  แล้วกลับมาผ่านจังหวัดเชียงใหม่  ลงไปทางหลวงพระบาง ประเทศลาว  บำเพ็ญสมณธรรมอยู่แถบนั้นนานพอสมควร  แล้วไปจังหวัดเลย  และจำพรรษาที่บ้านโคก  ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับถ้ำผาปู่ในเขตจังหวัดเลย ๑ พรรษา  และไปจำพรรษาที่ถ้ำผาปิ้ง ๑ พรรษาในเขตจังหวัดเดียวกัน  ที่ที่ท่านจำพรรษาเหล่านี้มีแต่ป่า  แต่เขาและเต็มไปด้วยสัตว์ชนิดต่างๆ เพราะหมู่บ้านและผู้คนมีน้อยในสมัยนั้น  เดินทางไปตั้งวันก็ไม่เจอหมู่บ้าน  ถ้าเกิดไปหลงทางเข้าต้องแย่  และนอนกลางป่า  ซึ่งเป็นที่ชุกชุมของสัตว์นานาชนิด มีเสือ เป็นต้น

          ท่านเล่าว่า  ท่านข้ามไปเที่ยวธุดงค์ฟากฝั่งแม่น้ำโขงประเทศลาว  และพักอยู่ในป่าใกล้ภูเขา  มีเสือโคร่งใหญ่เคยมาหาท่านบ่อยๆ บางทีมันก็มาดูท่านอยู่ห่างๆ ในเวลากลางคืน  ซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่  แต่มันมิได้แสดงท่าทางให้เป็นที่น่ากลัวอะไรนัก  นอกจากมันร้องไปตามภาษาของมัน  แลเที่ยวไปมาอยู่แถวๆ บริเวณนั้นเท่านั้น  ท่านก็มิได้สนใจกับมัน  เพราะเคยชินกับพวกสัตว์ต่างๆ มาแล้ว  คืนวันหนึ่งมีเสือโคร่งตัวใหญ่มากเข้ามาหาพระที่เป็นเพื่อนไปด้วยกัน  ซึ่งกำลังเดินจงกรมอยู่  แต่อยู่กันคนละหมู่บ้าน  มิได้อยู่ด้วยกัน  มันเข้ามานั่งดูท่านอยู่ข้างทางเดินจงกรมของพระอาจารย์องค์นั้นห่างจากทางจงกรมท่านประมาณ ๑ วา  ท่ามกลางความสว่างของแสงไฟเทียนไขที่ท่านจุดไว้เพื่อมองเห็นหนทางเดินจงกรมไปมา  การนั่งของเสือโคร่งตัวนั้นเหมือนสุนัขบ้านเรานั่งนั้นเอง  มันนั่งหันหน้ามาทางจงกรมท่าน  ตามันจับจ้องมาดูพระที่ท่านกำลังเดินจงกรมไปมาไม่ลดละสายตา  แต่มิได้แสดงอาการอย่างใดออกมา

          ขณะที่พระท่านเดินจงกรมไปถึงตรงที่มันนั่งดูอยู่นั้น  รู้สึกสงสัยนัยน์ตา  และเฉลียวใจเพราะข้างทางจงกรมตรงนั้นปกติไม่มีอะไร  แต่ขณะนั้นรู้สึกพิกลนัยน์ตาจึงมองไปดู  ก็พอดีเห็นเสือโคร่งใหญ่กำลังนั่งมองดูท่านอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ  พระท่านเองก็ไม่กลัวมัน  มันก็ไม่ทำอะไรท่าน  เป็นเพียงนั่งดูอยู่เฉยๆ เหมือนสัตว์ไม่มีวิญญาณและไม่กระดุกกระดิก  ท่านก็เดินจงกรมผ่านหน้ามันไปมาไม่นึกกลัวอะไรกัน  เป็นแต่เห็นมันนั่งดูท่านอยู่นานผิดปกติ  จึงทำให้ท่านคิดขึ้นด้วยความสงสารมันว่า  แกจะไปหาอยู่หากินที่ไหนก็ไปซิ  จะมานั่งเฝ้าเราทำไมกัน  พอท่านคิดจบลงเท่านั้น  เสียงมันดังกระหึ่มขึ้นทันที  จนสะเทือนป่าไปหมดในขณะนั้น  เมื่อท่านได้ยินเสียงมันดังกระหึ่มและไม่ยอมหนีตามที่ท่านคิดอยากให้มันหนีไป  ท่านเลยรีบเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ว่า  เท่าที่คิดเช่นนั้นก็เพราะความสงสาร  เกรงว่าจะเกิดความหิวโหย  เพราะมีปากมีท้องที่จะต้องได้รับการบำรุงรักษาเช่นทั่วๆ ไป  เพราะการมานั่งเฝ้าเรานานๆ ถ้าไม่เกิดความหิวกระหายใดๆ จะนั่งเฝ้าเพื่อรักษาอันตรายให้ก็ยิ่งดี  เราก็ไม่ว่าอะไร

          พอท่านเปลี่ยนความคิดใหม่เช่นนี้จบลง  มันก็มิได้แสดงอาการอย่างไรต่อไปอีก  คงนั่งดูท่านเดินจงกรมต่อไปตามนิสัยของมัน  ท่านเองก็คงเดินจงกรมไปมาตามปกติ  มิได้สนใจกับมันอีกต่อไป  มันก็นั่งดูท่านอยู่เหมือนหัวตอไม่กระดุกกระดิกตัว  แต่อย่างใดเลยจนถึงเวลาท่านก็เดินออกจากทางจงกรมเข้าไปสู่ที่พักซึ่งเป็นแคร่เล็กๆ เหมือนเตียงนอนที่อยู่ไม่ห่างไกลจากทางจงกรมนัก  ทำวัตรสวดมนต์และนั่งสมาธิภาวนาต่อไป  จนถึงเวลาพักผ่อนท่านก็พักนอนอยู่บนแคร่นั้น  ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเสือโคร่ง  ตัวนั้นนักเลย  ท่านตื่นนอน ๓.๐๐ นาฬิกา คือ ๙ ทุ่ม  จากนั้นท่านก็เริ่มออกไปเดินจงกรมอีกตามเคย  แต่ไม่เห็นเสือตัวนั้นอีก  ไม่ทราบว่ามันหายไปทางทิศใด  คืนต่อไปก็ไม่เห็น  มันมาที่นั่นอีกจนกระทั่งท่านจากที่นั้นหนีไป  เผอิญเห็นเฉพาะคืนเดียวเท่านั้น  จึงทำให้พระอาจารย์องค์นั้นเกิดความสงสัย  เวลาไปพบกับท่านพระอาจารย์มั่น  จึงเล่าเรื่องเสือมาเฝ้าตนให้ท่านพระอาจารย์มั่นฟัง

          ท่านเล่าว่า  อาจารย์องค์นั่นชื่อ "สีทา"  อายุพรรษาแก่กว่าท่านเล็กน้อย  ท่านเป็นพระนักปฏิบัติรุ่นเดียวกัน  และเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง  ท่านชอบป่าชอบเขา  ชอบที่สงบสงัดมาก  ท่านชอบอยู่ตามภูเขาทางฝั่งแม่น้ำโขงประเทศลาวมากกว่าที่อื่นๆ  แม้ข้ามมาฝั่งไทยเราก็ไม่นาน  ท่านพระอาจารย์สีทาเล่าให้พระอาจารย์มั่นฟัง  คราวเสือกระหึ่มใส่ท่านนั้น  เป็นขณะที่ท่านคิดอยากให้มันหนีไปว่าท่านไม่รู้สึกกลัว  แต่ขนลุกไปหมดทั้งตัว  ศีรษะชาเหมือนใส่หมวก  ต่อไปค่อยเป็นปกติและเดินจงกรมไปมาได้สะดวกธรรมดาเหมือนไม่มีอะไรมาอยู่ที่นั้น  ความจริงมันคงจะมีความกลัวอยู่อย่างลึกลับจนเจ้าตัวไม่อาจรู้ได้  แม้คืนที่เสือโคร่งใหญ่ตัวนั้นไม่มาหาท่านถึงที่อยู่  แต่ก็ได้ยินเสียงมันร้องกระหึ่มๆ อยู่บริเวรใกล้เคียงที่ท่านพักอยู่แทบทุกคืน  ท่านก็ไม่เห็นรู้สึกกลัวมัน  และทำความเพียรได้อย่างสบายเหมือนไม่มีอะไรในบริเวณนั้น

          สมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นออกปฏิบัติทีแรก  และเที่ยวไปตามจังหวัดต่างๆ  มีจังหวัดนครพนม  สกลนคร  อุดรธานี  จนไปถึงพม่า  กลับมาผ่านจังหวัดเชียงใหม่  หลวงพระบาง  เวียงจันทน์  จังหวัดเลย  ลงไปจำพรรษาที่วัดปทุมวัน  กรุงเทพฯ  และไปพักที่ถ้ำสาริกา  เขาใหญ่  ตลอดเวลาที่ท่านกลับมาทางภาคอีสานอีก  ท่านมักจะไปเพียงองค์เดียว  แม้จะมีพระติดตามบ้างก็เป็นบางสมัยเท่านั้น  แล้วก็แยกกันไป  เพราะท่านเป็นผู้ปฏิบัติเด็ดเดี่ยว  ไม่ชอบเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ  ท่านถือเป็นความสะดวกในการไปคนเดียวอยู่คนเดียว  บำเพ็ญสมณธรรมคนเดียวตลอดมา  จนปรากฏว่ามีกำลังใจมั่นคง  จึงเกิดความสงสารหมู่คณะ  และสนใจที่จะแนะนำสั่งสอน  ความคิดอันนี้เป็นเหตุให้ท่านได้จากถ้ำสาริกาอันแสนสบายกลับไปทางภาคอีสาน  หลังจากท่านได้อบรมพระเณรไว้บ้างสมัยที่ท่านเที่ยวธุดงค์อยู่ทางภาคอีสาน  ก่อนหน้าจะลงมาทางภาคกลางและไปถ้ำเขาใหญ่  ก็ปรากฏว่ามีพระธุดงคกรรมฐานปฏิบัติอยู่ทางภาคอีสานมากพอสมควร  พอท่านกลับไปเที่ยวนี้ก็ได้ตั้งใจทำการสั่งสอนทั้งพระเณรและฆราวาส  ผู้มีความมุ่งหวังต่อท่านอยู่แล้วอย่างเต็มกำลัง

          การเที่ยวทางภาคอีสานท่านก็เที่ยวไปตามจังหวัดต่างๆ ที่เคยไปแล้ว  ปรากฏว่ามีพระเณรญาติโยมเกิดความเชื่อเลื่อมใสท่านมากมาย  ผู้ออกบวชและปฏิบัติตามท่านด้วยความเชื่อเลื่อมใสมีจำนวนมาก  แม้พระที่มีอายุพรรษาจนเป็นชั้นอาจารย์แล้วก็ยอมสละ  ทิฐิมานะและภาระหน้าที่ออกปฏิบัติตามท่าน  จนกลายเป็นผู้มีความมั่นคงทางข้อปฏิบัติและทางจิตใจ  จนสามารถสั่งสอนผู้อื่นได้อย่างเต็มภูมิก็มีจำนวนมาก

          พระที่เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของท่าน คือ ท่านพระอาจารย์สุวรรณ  ที่เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส  อำเภอท่าบ่อ  จังหวัดหนองคาย  พระอาจารย์สิ่งห์ ขันตยาคโม  เจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน  จังหวัดนครราชสีมา  พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล  เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดศรัทธาราม  นครราชสีมา  ทั้ง ๓ องค์นี้ท่านเป็นชาวอุบลราชธานี  และท่านมรณภาพไปหมดแล้ว  ซึ่งล้วนเป็นลูกศิษย์ผู้สำคัญ  ที่ให้การอบรมพระเณรญาติโยม  สืบทอดจากพระอาจารย์มั่นมาเป็นลำดับถึงสมัยปัจจุบัน

          พระอาจารย์สิงห์ กับ พระอาจารย์มหาปิ่น  ทั้งสององค์นี้ท่านเป็นพี่กับน้องร่วมอุทรเดียวกัน  และเป็นผู้ได้รับการศึกษาทางปริยัติมามากพอสมควร  ทั้งสององค์นี้ท่านเกิดความเลื่อมใสพอใจ  ยอมสละทิฐิมานะและภาระหน้าที่ออกปฏิบัติตามท่านพระอาจารย์มั่นตลอดมา  และได้ทำประโยชน์แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง

          รองกันลงมาก็พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี   ท่านเป็นพระราชาคณะ  ปัจจุบันท่านจำพรรษาอยู่วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย  ท่านเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่นรูปหนึ่งที่ปฏิบัติชอบเป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสอยู่มาก  และเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพระเณรและประชาชนทั่วไปแทบทุกภาค  ปฏิปทาของท่านเป็นไปอย่างเรียบๆ สม่ำเสมอ  สมกับอัธยาศัยท่านที่คล่องแคล่วอ่อนโยนสงบเสงี่ยมงามมาก  ยากที่จะหาได้แต่ละองค์  คำพูดจาปราศรัยเป็นที่จับใจไพเราะต่อคนทุกชั้น  ท่านมีมารยาทสวยงามมาก  ผู้ยึดไปเป็นคติและปฏิบัติตามย่อมเป็นผู้สวยงามและเย็นตาเย็นใจแก่ผู้ได้เห็นได้ยิน  ตลอดผู้มาเกี่ยวข้องทั่วๆ ไปอย่างไม่มีประมาณ

          เพราะมารยาทอัธยาศัยของครูอาจารย์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน  คือมารยาทของบางองค์ใครนำไปใช้ก็งามไปหมด  ไม่แสลงใจแก่ผู้มาเกี่ยวข้องและเป็นความงามตาเย็นใจในคนทุกชั้น  แต่มารยาทของบางอาจารย์  ย่อมเป็นสมบัติที่เหมาะสมและสวยงามเฉพาะองค์ท่านเท่านั้น  ผู้อื่นยึดเอาไปใช้ย่อมกลายเป็นสิ่งที่ปลอมแปลงและแสลงใจผู้อื่นที่ได้เห็นได้ยินขึ้นมาทันที  ดังนั้น  มารยาทของบางอาจารย์จึงไม่สะดวกที่จะยึดไปใช้ทั่วๆ ไป  ท่านอาจารย์เทสก์  ท่านมีอัธยาศัยนุ่มนวลควรเป็นคติและเป็นสิริมงคลแก่ผู้รับไปปฏิบัติตามทั่วๆ ไป  โดยไม่มีปัญหาว่าจะขัดต่อสายตาและจิตใจของผู้มาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด  และเหมาะสมกับเพศนักบวชผู้ควรมีมารยาท  อัธยาศัยสงบเสงี่ยมเย็นใจโดยแท้  นี่คือลูกศิษย์ของท่านรูปหนึ่งที่ควรกราบไหว้บูชาอย่างสนิทใจ  ตามความรู้สึกของผู้เขียนที่ได้เคยสมาคมและกราบไหว้บูชาท่าน  โดยถือเป็นครูอาจารย์อย่างสนิทใจตลอดมา  ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากในภาคต่างๆ และทำประโยชน์แก่หมู่ชนอย่างกว้างขวาง  จัดว่าเป็นพระอาจารย์ที่หาได้ยากรูปหนึ่ง

          ลำดับพรรษาลงมาก็มี  พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร   ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านผู้หนึ่ง  ขณะนี้ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดอุดมสมพร บ้านนาหัวช้าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร  ท่านเป็นที่เลื่องลือระบือทั่วทุกหนทุกแห่งด้วยกิตติศัพท์กิตติคุณ  แห่งการปฏิบัติสามีจิกรรมที่ชอบทั้งภายนอกภายใน  จิตใจท่านก็สูงด้วยคุณธรรม  เป็นที่เคารพนับถือของหมู่ชนทุกภาคของเมืองไทย  เป็นที่น่าเลื่อมใสอย่างยิ่ง  เป็นผู้มีความเมตตามากต่อคนทุกชั้น  การสงเคราะห์ทั้งด้านวัตถุและด้านธรรมะ  นับว่าท่านเอาใจใส่อย่างพระผู้มีจิตเมตตาไม่มีขอบเขตจริงๆ  แต่รู้สึกเสียใจที่จำต้องงดเรื่องท่าน  ไว้ก่อนเพื่อดำเนินเรื่องของท่านพระอาจารย์มั่นสืบต่อไป  หากมีโอกาสจะนำมาลงในวาระต่อไป  ตอนจบเรื่องของท่านพระอาจารย์มั่นเรียบร้อยแล้ว

          ลำดับศิษย์ของท่านองค์ต่อไปคือ ท่นพระอาจารย์ขาว  ซึ่งขณะนี้ท่านอยู่วัดถ้ำกลองเพล  อำเภอหนองบัวลำภู  จังหวัดอุดรธานี   ท่านผู้อ่านคงทราบกิตติคุณท่านได้ดีพอ  เพราะเป็นอาจารย์สำคัญในปัจจุบัน  ทั้งด้านข้อปฏิบัติและความรู้ภายในใจ  เป็นที่น่าเลื่อมใสอย่างมาก  ท่านเป็นพระที่เด็ดเดี่ยวทางความเพียร  ชอบแสวงหาอยู่ในที่สงัดตลอดมา  ทางความเพียรท่านเป็นเยี่ยมในวงพระธุดงคกรรมฐาน  ยากจะหาตัวจับได้แม้ปัจจุบันอายุท่านจะก้าวข้าม ๘๒ ปีอยู่แล้วก็ตาม  แต่ความเพียรยังไม่ยอมลดหย่อนผ่อนตามสังขารเลย  มีบางคนพูดเป็นเชิงวิตกเป็นห่วงท่านว่า  ท่านจะทำความเพียรไปเพื่ออะไรนักหนา  เพราะอะไรๆ ท่านก็เพียงพอทุกอย่างแล้ว  ไม่ทราบว่าท่านจะขยันไปเพื่ออะไรอีก

          ก็ได้ชี้แจงเรื่องของท่านให้ฟังว่า  ท่านผู้หมดสิ้นที่เป็นข้าศึกซึ่งคอยกีดกันบั่นทอนและคอยเอารัดเอาเปรียบตลอดเวลาโดยสิ้นเชิงแล้ว  ท่านไม่มีความเกียจคร้านมากีดขวางลวงใจให้ลุ่มหลงไปตาม  เหมือนพวกเราผู้สั่งสมความขี้เกียจอ่อนแอไว้ในใจจนกองเท่าภูเขาสูงลูกใหญ่ๆ แทบมองหาตัวคนไม่เห็น  พอจะทำอะไรลงไปบ้างก็กลัวแต่จะได้มาก  มีมากกลัวจะหาที่เก็บไม่ได้  กลัวแต่จะเหนื่อยยากลำบาก  สุดท้ายก็ไม่มีอะไรจะเก็บใส่ภาชนะเลย  มีแต่ภาชนะเปล่าๆ ใจเปล่าๆ ใจเหี่ยวแห้ง  ใจไม่มีคุณสมบัติเครื่องอาศัย  ใจลอยๆ สิ่งที่เต็มก็คือการบ่นว่าทุกข์ว่าจนหรือเดือนร้อนกันทั่วโลก  เพราะมารตัวขี้เกียจคอยบันดาลขัดขวางและกดถ่วงไว้  ท่านผู้ปราบมารตัวเหล่านี้ออกจากใจได้แล้ว  จึงเป็นผู้ขยันหมั่นเพียรไม่ลดละ  โดยไม่สนใจคิดว่าจะมีภาชนะเก็บหรือไม่  ความมีใจเป็นธรรมล้วนๆ ไม่มีโลกเครื่องทำลายเข้ามาแอบแฝง  จึงเป็นบุคคลที่มีความสง่าผ่าเผยอยู่ทุกอิริยาบถ  ไม่มีความอับเฉาเศร้าใจ  เข้ามาครอบครอง  จึงเป็นบุคคลตัวอย่างของโลกได้อย่างมั่นเหมาะ  ลูกศิษย์ของท่าน  พระอาจารย์แต่ละองค์รู้สึกมีสมบัติอันแพรวพราวราวกับเพชรซ่อนอยู่ในตัวอย่างลึกลับแทบทุกองค์  เมื่อเข้าถึงองค์ท่านจริงๆ แล้ว  จะได้รับสิ่งแปลกๆ และอัศจรรย์ไปเป็นขวัญจและระลึกไว้เป็นเวลานานๆ

          ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีลูกศิษย์ที่สำคัญๆ อยู่หลายองค์และหลายรุ่น  ทั้งรุ่นอายุพรรษาและคุณธรรมรองกันลงมาเป็นลำดับลำดา  สมกับท่านเป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องรุ่งเรืองด้วยคุณธรรม  คือข้อปฏิบัติและธรรมภายใน  ประหนึ่งพระไตรปิฎกย่อมๆ ตั้งอยู่ภายในดวงใจท่าน  จริงดังบุพพนิมิตที่ปรากฎเป็นกรุยหมายไว้  แต่เริ่มแรกออกปฏิบัติ  เวลาสำเร็จผลขึ้นมาก็ตรงตามนั้น  ทราบว่าท่านจาริกไปในที่ต่างๆ และทำการอบรมสั่งสอนพระเณรและประชาชนเป็นจำนวนมากต่อมาก  พากันเกิดความเชื่อเลื่อมใสอย่างฝังใจ  และติดใจในรสพระสัทธรรมของท่านมาก  เนื่องจากท่านนำเอาของจริงภายในใจออกสั่งสอนด้วยความรู้จริงเห็นจริง  มิได้เป็นไปแบบสุ่มเดา  คือท่านก็แน่ใจและเห็นจริงในธรรมที่ปฏิบัติ  รู้และสอนจริงตามธรรมที่ท่านรู้ท่านเห็น  เมื่อกลับจากถ้ำสาริกาสู่ภาคอีสานครั้งที่สองนี้  ท่านเล่าว่าท่านตั้งใจอบรมสั่งสอน  พระเณรและประชาชนทั้งชุดเก่าที่เคยอบรมไว้บ้างแล้ว  ทั้งชุดใหม่ที่กำลังเริ่มตั้งรากตั้งฐานอย่างแท้จริง

          การปฏิบัติต่อธุดงควัตรที่ท่านนับถือเป็นแบบฉบับอย่างฝังใจประจำองค์ท่านและสั่งสอนพระเณรให้ดำเนินตามมีดังนี้

          การบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวันมิได้ขาด  ถ้ายังฉันอยู่  เว้นจะไม่ฉันในวันไดก็ไม่จำต้องไปในวันนั้น  กิจวัตรในการบิณฑบาต  ท่านสอนให้ตั้งอยู่ในท่าสำรวมกายวาจาใจ  มีสติประจำตนกับความเพียรที่เป็นไปอยู่เวลานั้น  ไม่ปล่อยใจให้พลั้งเผลอไปตามสิ่งยั่วยวนต่างๆ ที่ผ่านเข้ามากับอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  ทั้งไปและกลับ  ท่านสอนให้มีสติรักษาใจ  ตลอดความเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ให้เผลอตัวและถือเป็นความเพียรประจำกิจวัตรข้อนี้ทุกๆ วาระที่เริ่มเตรียมตัวออกบิณฑบาต หนึ่ง

          อาหารที่ได้มาในบาตรมากน้อยถือว่าเป็นอาหารที่พอดี  และเหมาะสมกับผู้ตั้งใจจะสั่งสมธรรมคือความมักน้อยสันโดษให้สมบูรณ์ภายในใจ  ไม่จำต้องแสวงหาหรือรับอาหารเหลือเฟือที่ตามส่งมาทีหลังอีก  อันเป็นการส่งเสริมกิเลสความมักมากซึ่งมีประจำตนอยู่แล้ว  ให้มีกำลังผยองพองตัวยิ่งๆ ขึ้นจนตามแก้ไม่ทัน  อาหารที่ได้มาในบาตรอย่างใดก็ฉันอย่างนั้น  ไม่แสดงความกระวนกระวายส่ายแส่อันเป็นลักษณะ  เปรตผีตัวมีวิบากกรรมทรมาน  มีอาหารไม่พอกับความต้องการ  ต้องวิ่งวุ่นขุ่นเคืองเดือนร้อน  เพราะท้องเพราะปาก  ด้วยความหวังอาหารมากยิ่งกว่าธรรม  ธุดงค์ข้อห้ามอาหารที่ตามส่งมาทีหลังนี้  เป็นธรรมหรือเครื่องมือหักล้างกิเลสความมักมากในอาหารได้เป็นอย่างดี  และตัดความหวังความกังวลต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาหารได้อย่างดีเยี่ยม หนึ่ง

          การฉันมื้อเดียวหรือหนเดียวในวันหนึ่งๆ เป็นความพอดีกับพระธุดงคกรรมฐาน  ผู้มีภาระและความกังวลน้อย  ไม่พร่ำเพรื่อกับอาหารหวานคาวในเวลาต่างๆ อันเป็นการกังวลกับปากท้องมากกว่าธรรมจนเกินไป  ไม่สมศักดิ์ศรีของผู้แสวงธรรมเพื่อความพ้นทุกข์อย่างเต็มใจ  แม้เช่นนั้น  ในบางคราวยังควรทำการผ่อนอาหาร  ฉันแต่น้อยในอาหารมื้อเดียวนั้น  เพื่อจิตใจกับความเพียรจะได้ดำเนินโดยสะดวก  ไม่อึดอากเพราะมากจนเกินไป  และยังเป็นผลกำไรทางใจอีกต่อหนึ่งจากการผ่อนนั้นด้วยสำหรับรายที่เหมาะกับ  จริตของตน  ธุดงควัตรข้อนี้เป็นธรรมเครื่องสังหารลบล้าง  ความเห็นแก่ปากแก่ท้องของพระธุดงค์ที่มีใจมักละโมบโลเลในอาหารได้ดี  และเป็นธรรมข้อบังคับที่เหมาะสมมาก

          ทางโลกก็นิยมเช่นเดียวกับทางธรรม  เช่น  เขามีเครื่องป้องกันและปราบปรามสิ่งที่เป็นข้าศึก  ไม่ว่าจะเป็นข้าศึกต่อทรัพย์สินหรือต่อชีวิตจิตใจ  เช่น  สุนัขดุ  งูดุ  ช้างดุ  เสือดุ  คนดุ  ไข้ดุ  หรือไข้ทรยศ  เขามีเครื่องมือหรือยาสำหรับป้องกัหรือ  ปราบปรามกันทั่วโลก  พระธุดงคกรรมฐานผู้มีใจดุ  ใจหนักในอาหารหรือในทางไม่ดีใดๆ ก็ตามที่ไม่น่าดูสำหรับตัวเองและผู้อื่น  จึงควรมีธรรมเป็นเครื่องมือไว้สำหรับปราบปรามบ้าง  ถึงจะจัดว่าเป็นผู้มีขอบเขตและงามตาเย็นใจสำหรับตัวและผู้เกี่ยวข้องทั่วๆไป  ธุดงค์ข้อนี้จึงเป็นธรรมเครื่องปราบปรามได้ดี หนึ่ง

          การฉันในบาตรไม่เกี่ยวกับภาชนะอื่นใด  จัดเป็นความสะดวกอย่างยิ่ง  สำหรับพระธุดงคกรรมฐาน  ผู้ประสงค์ความมักน้อยสันโดษและมีนิสัยไม่ค่อยอยู่กับที่เป็นประจำ  การไปเที่ยวจาริกเพื่อสมณธรรมในทิศทางใด  ก็ไม่ต้องหอบหิ้วพะรุงพะรังอันเป็นความไม่สะดวก  และเหมาะสมกับพระผู้ต้องการถ่ายเท  สิ่งรกรุงรังภายในใจทุกประเภท  เครื่องบริขารใช้สอยแต่ละอย่างนั้นทำความกังวลแก่การบำเพ็ญได้อย่างพอดู  ฉะนั้นการฉันเฉพาะในบาตรจึงเป็นกรณีที่ควรสนใจเป็นพิเศษ  สำหรับพระธุดงค์คุณสมบัติที่จะเกิดจากการฉันในบาตรยังมีมากมาย คือ อาหารชนิดต่างๆ ที่รวมลงในบาตรย่อมเป็นสิ่งที่สะดุดตาสะดุดใจและเตือนสติปัญญามิให้นิ่งนอนใจต่อการพิจารณาเพื่อถือเอาความจริงต่างๆ ที่มีอยู่กับอาหารที่รวมกันอยู่ได้อย่างดีเยี่ยม  ท่านเล่าว่าท่านเคยได้รับอุบายต่างๆ จากการพิจารณาอาหารในขณะที่ฉันมาเป็นประจำ  แม้ข้ออื่นๆ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน  ท่านจึงได้ถือเป็นข้อหนักแน่นในธุดงควัตรตลอดมามิได้ลดละ

          การพิจารณาอาหารในบาตร  เป็นอุบายตัดความทะเยอทะยานในรสชาติของอาหารได้ดี  การพิจารณาก็เป็นธรรมเครื่องถอดถอนกิเลส  เวลาฉันใจก็ไม่ทะเยอทะยานไปกับรสอาหาร  มีความรูสึกอยู่กับความจริงของอาหารโดยเฉพาะอาหารก็เพียงเป็นเครื่องยังชีวิตให้เป็นไปในวันหนึ่งๆ เท่านั้น  ไม่กลับเป็นเครื่องก่อกวนและส่งเสริมให้ใจกำเริบ  เพราะอาหารดีมีรสอร่อยบ้าง  เพราะอาหารไม่ดีมีรสไม่ต้องใจบ้าง  การพิจารณาโดยแยบคายทุกๆ ครั้งก่อนลงมือฉัน  ย่อมทำให้ใจคงตัวอยู่ได้โดยสม่ำเสมอไม่ตื่นเต้น  ไม่อับเฉา  เพราะอาหารและรสอาหารชนิดต่างๆ วางตัวคือใจเป็นกลางอย่างมีความสุข ฉะนั้น  การฉันในบาตรจึงเป็นข้อวัตรเครื่องกำจัดกิเลส  ตัวหลงรสอาหารได้เป็นอย่างดี หนึ่ง

         ท่านถือผ้าบังสุกุลเป็นกิจวัตร  พยายามอดกลั้นไม่ทำตามความอยาก  อันเป็นความสะดวกใจ  ซึ่งมีนิสัยชอบสวยงามในความเป็นอยู่ใช้สอยโดยประการทั้งปวงมาดั้งเดิม  คือเที่ยวเสาะแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งไว้ในที่ต่างๆ ที่ป่าช้า เป็นต้น  เก็บเล็กผสมน้อยมาเย็บปะติปะต่อเป็นเครื่องนุ่งห่มใช้สอย  โดยเป็นสบงบ้าง  เป็นจีวรบ้าง  เป็นสังฆาฏิบ้าง  เป็นผ้าอาบน้ำฝนบ้าง  เป็นบริขารอื่นๆ บ้าง  เรื่อยมา บางครั้งทานชักบังสุกุลผ้าที่เขาพันศพคนตายในป่าช้าก็มีที่เจ้าของศพเขายินดี  เวลาไปบิณฑบาตมองเห็นผ้าขาดตกทิ้งอยู่ตามถนนหนทาง  ท่านก็เป็นเอาเป็นผ้าบังสุกุล  ไม่ว่าจะเป็นผ้าชนิดใดและได้มาจากที่ไหน  เมื่อมาถึงที่พักแล้วท่านนำมาทำการซักฟอก  ให้สะอาดแล้วเอามาเย็บปะสบงจีวรที่ขาดบ้าง  เย็บติดต่อกันเป็นผ้าอาบน้ำฝนบ้าง  อย่างนั้นเป็นประจำตลอดมา

          ต่อมาศรัทธาญาติโยามทราบเข้า  ต่างก็นำผ้าไปบังสุกุลถวายท่านที่ป่าช้าบ้าง  ตามสายทางที่ท่านไปบิณฑบาตบ้าง  ตามบริเวณที่พักท่านบ้าง  ที่กุฎีหรือแคร่ที่ท่านพักบ้าง  การบังสุกุลที่ท่านเคยทำมาดั้งเดิมก็ค่อยเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ที่พาให้เป็นไป  ท่านเลยต้องชักบังสุกุลผ้าที่เขามาทอดไว้ตามที่ต่างๆ ในข้อนี้ปรากฏว่าท่านพยายามรักษามาตลอดอวสานแห่งชีวิต  ท่านว่าพระเราต้องทำตัวเหมือนผ้าขี้ริ้วที่ปราศจากราคาค่างวดใดๆ แล้วจึงเป็นความสบาย  การกินอยู่หลับนอนและใช้สอยอะไรก็สบาย  การเกี่ยวข้องกับผู้คนก็สบาย  ไม่มีทิฐิมานะความถือตัวว่าเราเป็นพระเป็นเณร  ผู้สูงศักดิ์  ด้วยศีลธรรม  เพราะศีลธรรมอันแท้จริงมิได้อยู่กับความสำคัญเช่นนั้น  แต่อยู่กับความไม่ถือตัวยั่วกิเลส  อยู่กับความตรงไปตรงมาตามผู้มีสัตย์มีศีลมีธรรม  ความสม่ำเสมอเป็นเครื่องครองใจ  นี้แลคือศีลธรรมอันแท้จริง  ไม่มีมานะเข้ามาแอบแฝงทำลายได้  อยู่ที่ใดก็เย็นกายเย็นใจ  ไม่มีภัยทั้งแก่ตัวและผู้อื่น

          การปฏิบัติธุดงควัตรข้อนี้เป็นเครื่องทำลายกิเลสมานะความสำคัญตนในแง่ต่างๆ ได้ดี  ผู้ปฏิบัติจึงควรเข้าใจระหว่างตนกับศีลธรรมด้วยดี  อย่าปล่อยให้ตัวมานะเข้าไปยื้อแย่งครอบครองศีลธรรมภายในใจได้  จะกลายเป็นผู้มีเขี้ยวมีเขาแฝงขึ้นมาในศีลธรรม  อันเป็นธรรมชาติเยือกเย็นมาดั้งเดิม  การฝึกหัดทรมานตนให้เป็นเหมือนผ้าเช็ดเท้าจนเคยชิน  โดยไม่ยอมให้ตัวทิฐิมานะโผล่ขึ้นมาว่าตัวมีราคาค่างวดนี้  เป็นทางก้าวหน้าของธรรมภายในใจโดยสม่ำเสมอจนกลายเป็นใจธรรมชาติ  เป็นธรรม  ธรรมชาติไม่หวั่นไหวเหมือนแผ่นดิน  ใครจะทำอะไรๆ ก็ไม่สะเทือนจิตที่ปราศจากทิฐิมานะทุกประเภทโดยประการทั้งปวงแล้ว  ย่อมเป็นจิตที่คงที่ต่อเหตุการณ์ดีชั่วทั้งมวล  การปฏิบัติต่อบังสุกุลจีวรท่านถือว่าเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยตัดทอนลบล้างตัวมีราคาที่ฝังอยู่ในใจอย่างลึกลับ  ให้สูญซากลงได้อย่างมั่นใจข้อหนึ่ง

          การอยู่ป่าเป็นวัตรตามธุดงค์ระบุไว้  ท่านก็เริ่มเห็นคุณแต่เริ่มฝึกหัดอยู่ป่าเป็นต้นมา  ทำให้เกิดความวิเวกวังเวงอยู่คนเดียว  ตาเหลือบมองไปในทิศทางใด  ก็ล้วนเป็นทัศนียภาพเครื่องปลุกประสาทให้ตื่นตนอยู่เสมอ  ไม่ประมาทนอนใจ  นั่งอยู่ก็มีสติ  ยืนอยู่ก็มีสติ  เดินอยู่ก็มีสติ  นอนอยู่ก็มีสติ  กำหนดธรรมทั้งหลายที่มีอยู่รอบตัวเว้นแต่หลับเท่านั้น  ในอิริยาบถทั้งสี่เต็มไปด้วยความปลอดโปร่งโล่งใจ  ไม่มีพันธะใดๆ มาผูกพัน  มองเห็นแต่ความมุ่งหวังพ้นทุกข์ที่เตรียมพร้อมอยู่ภายใน  ไม่มีวันจืดจางและอิ่มพอ  ยิ่งพักอยู่ในป่าเปลี่ยวอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ทุกชนิด  ซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านด้วยแล้ว  ใจปรากฏว่าเตรียมพร้อมอยู่ทุกขณะประหนึ่งจะทะยานเหาะขึ้นจากหล่มลึก คือกิเลสในเดี๋ยวนั้น  ราวกับนกจะเหาะบินขึ้นบนอาหาศฉะนั้น  ความจริงกิเลสก็คงเป็นกิเลสและฝังอยู่ในใจตามความมีอยู่มันนั่นแล  แต่ใจมันมีความรู้สึกไปอีกแง่หนึ่ง

          เมื่อไปอยู่ในที่เช่นนั้น  ความรู้สึกในบางครั้งเป็นเหมือนกิเลสตายลงไปวันละร้อยละพัน  ยังเหลืออยู่บ้างประปรายราวตัวสองตัวเท่านั้น  เพราะอำนาจของสถานที่ที่พักอยู่ช่วยส่งเสริม  ทั้งความรู้สึกโดยปกติและเวลาบำเพ็ญเพียร  กลายเป็นเครื่องพยุงใจไปทุกระยะที่พักอยู่  ความคิดเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์ร้ายและสัตว์ดีที่มีอยู่ทั่วไปในบริเวณนั้น ก็คิดไปในทางสงสารมากกว่าจะคิดในทางเป็นภัย  โดยคิดว่าเขากับเราก็มีความเกิดแก่เจ็บตายเท่ากันในชีวิตที่ทรงตัวอยู่เวลานี้  แต่เรายังดีกว่าเขาตรงที่รู้จักบุญบาปดีชั่วอยู่บ้าง  ถ้าไม่มีสิ่งนี้แฝงอยู่ภายในใจบ้างก็คงมีน้ำหนักเท่ากันกับเขา

          เพราะคำว่า "สัตว์"  เป็นคำที่มนุษย์ไปตั้งชื่อให้เขาโดยที่เขามิได้รับทราบ จากเราเลยทั้งๆ ที่เราก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง  คือสัตว์มนุษย์ที่ตั้งชื่อกันเอง  ส่วนเขาไม่ทราบว่าได้ตั้งชื่อให้พวกมนุษย์เราอย่างไรหรือไม่  หรือเขาขโมยตั้งชื่อให้ว่า "ยักษ์" ก็ไม่มีใครทราบได้  เพราะสัตว์ชนิดนี้ชอบรังแกและฆ่าเขา  แล้วนำเนื้อมาปรุงเป็นอาหารก็มี  ฆ่าทิ้งเปล่าๆ ก็มี  จึงน่าเห็นใจสัตว์ที่พวกมนุษย์เราชอบเอารัดเอาเปรียบเขาเกินไป  ประจำนิสัยและไม่ค่อยยอมให้อภัยแก่สัตว์ตัวใดง่ายๆ แม้แต่พวกเดียวกันยังรังเกียจและเกลียดชังกัน  เบียดเบียนกัน  ฆ่ากันไม่มีหยุดหย่อนและผ่อนเบาลงบ้างเลย  ในวงสัตว์ก็ร้อนเพราะมนุษย์เบียดเบียนกัน  ฆ่ากันไม่มีหยุดหย่อนและผ่อนเบาลงบ้างเลย  ในวงสัตว์ก็ร้อนเพราะมนุษย์เบียดเบียนและฆ่าเขา  ในวงมนุษย์เองก็ร้อนเพราะมนุษย์เบียดเบียนและฆ่ากันเอง  ฉะนั้นสัตว์จึงระเวียงระวังมนุษย์ประจำสันดาน

          ท่านว่าการอยู่ในป่ามีทางคิดทางไตร่ตรองได้กว้างขวาง  ไม่มีทางสิ้นสุดทั้งเรื่องนอกเรื่องใน  ซึ่งมีอยู่รอบตัวตลอดเวลา  ใจที่มีความใคร่ต่อธรรมและแดนพ้นทุกข์  จึงรีบเร่งตักตวงความเพียรไม่มีเวลาลดละ  บางครั้งหมูป่าเดินเข้ามาหาในบริเวณที่นั้นและมองเห็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่  แทนที่มันจะกระโดดโลดเต้นวิ่งหนีเอาตัวรอด  แต่เปล่า  มันมองเห็นแล้วก็เดินหากินไปตามภาษาของมันอย่างธรรมดา  ท่านว่ามันจะเห็นท่านเป็นยักษ์ไปกับมนุษย์ผู้ร้ายกาจทั้งหลายด้วย  แต่มันไม่คิดเหมาไปหมด  มันจึงไม่รีบวิ่งหนีและเที่ยวขุดกินอาหารอย่างสบายเหมือนไม่มีอะไร

          ในตอนนี้มีผู้เขียนขอแทรกบ้างเล็กน้อยเพื่อเรื่องกระจ่างขึ้นบ้าง  อย่าว่าแต่หมูมันไม่กลัวท่านพระอาจารย์มั่นที่อยู่องค์เดียวในป่าเลย  แม้แต่วัดป่าบ้านตาด  เมื่อเริ่มสร้างวัดใหม่ๆ  และมีพระเณรอยู่ด้วยกันหลายรูป  หมูป่าเป็นฝูงๆ ยังพากันมาอาศัยนอนและเที่ยวหากินอยู่ตามบริเวณหน้ากุฎีพระเณรในเวลากลางคืน  ห่างจากที่ท่านเดินจงกรมราว ๒-๓ วาเท่านั้น  ได้ยินเสียงมันขุดดินหาอาหารด้วยจมูกดังตุ๊บตั๊บๆ อยู่ในบริเวณนั้น  ไม่เห็นมันกลัวท่านเลย  เวลาท่านเรียกกันมาดูและฟังเสียงมันอยู่ใกล้ๆ ก็ไม่เห็นมันวิ่งหนีไป  ยังพากันเที่ยวหากินตามสบายในบริเวณนั้นแทบทุกคืน  ทั้งหมูและพระเณรเคยชินกันไปเอง  แต่ทุกวันนี้ยังมีเหลือเล็กน้อยและนานๆ พากันมาเที่ยวหากินทีหนึ่ง  เพราะยักษ์ที่สัตว์ตั้งชื่อให้ดังท่านพระอาจารย์มั่นว่าไว้  เอาไปรับประทานเกือบจะไม่มีสัตว์เหลือค้างแผ่นดินแถบนั้นอยู่แล้วเวลานี้  ต่อไปไม่กี่ปีคงจะเรียบไปเอง

          ที่ท่านเล่าคงเป็นความจริงในทำนองเดียวกัน  เพราะสัตว์แทบทุกชนิด  ชอบมาอาศัยพระ  พระอยู่ที่ไหน  สัตว์ชอบมาอยู่ที่นั้นมาก  แม้วัดที่อยู่ในเมือง สัตว์ยังต้องมาอาศัย เช่น สุนัข เป็นต้น   บางวัดมีเป็นร้อย  เพราะท่านไม่เบียดเบียนมัน  เพียงเท่านี้ก็พอทราบได้ว่าธรรมเป็นของเย็น  สัตว์โลกจึงไม่มีใครค่อยรังเกียจ  เว้นกรณีที่สุดวิสัยจะกล่าวเสีย  เท่าที่ท่านปฏิบัติมาก่อน  ท่านว่าป่าเป็นสถานที่ช่วยพยุงใจได้ดีมาก  ฉะนั้น  ป่าจึงเป็นจุดที่เด่นของพระผู้มีความใคร่ต่อทางพ้นทุกข์  จะถือเป็นสมรภูมิสำหรับบำเพ็ญธรรมทุกชั้น  โดยไม่ระแวงสงสัยว่าป่าจะกลับเป็นข้าศึกต่อการบำเพ็ญธรรม  ตรงกับอนศาสน์ที่พระอุปัชฌาย์อบรมสั่งสอนภิกษุผู้อุปสมบทใหม่  ให้พากันเสาะแสวงหาอยู่ป่าตามอัธยาศัย  ท่านพระอาจารย์จึงถือธุดงค์ข้อนี้จนวาระสุดท้ายแห่งขันธ์  นอกจากสมัยที่จำต้องอนุโลมผ่อนผันไปตามเหตุการ์เท่านั้น  เพราะทำให้ระลึกว่าตนอยู่ในป่าซึ่งเป็นที่เปลี่ยวกายเปลี่ยวใจตลอดเวลาจะนอนใจมิได้  คุณธรรมจึงมีทางเกิดไม่เลือกกาล หนึ่ง

(จากหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ  โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน)





ไม่มีความคิดเห็น: