วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ : ประวัติ ตอน 2 เกิดสุบินนิมิต




          เมื่อท่านเริ่มปฏิบัติวิปัสสนาใหม่ๆ ในสำนักพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล  วัดเลียบ อุบลราชธานี   ท่านบริกรรมภาวนาด้วยบท พุทโธ  ประจำนิสัยที่ชอบกว่าบรรดาบทธรรมอื่นๆ ในขั้นเริ่มแรกยังไม่ปรากฎเป็นความสงบสุขมากเท่าที่ควร  ทำให้มีความสงสัยในปฏิปทาว่าจะถูกหรือผิดประการใด  แต่มิได้ลดละความเพียรพยายาม   ในระยะต่อมาผลปรากฏเป็นความสงบพอให้ใจเย็นบ้าง  ในคืนวันหนึ่งเกิดสุบินนิมิตว่า  ท่านออกเดินทางจากหมู่บ้านเข้าสู่ป่าใหญ่อันรกชัฏที่เต็มไปด้วยขวากหนามจนจะหาที่ด้นดั้นผ่านไปแทบไม่ได้  ท่านพยายามซอกซอนไปตามป่านั้นจนพ้นไปได้โดยปลอดภัย  พอพ้นจากป่าไปก็ถึงทุ่งกว้างจนสุดสายตา  เดินตามทุ่งไปโดยลำดับไม่ลดละความพยายาม  ขณะที่เดินตามทุ่งไปได้พบไม้ต้นหนึ่งชื่อต้นชาติ  ซึ่งเขาตัดล้มเอง  ขอนจมดินอยู่เป็นเวลานานปี  เปลือกและกระพี้ผุพังไปบ้างแล้ว  ไม้ต้นนั้นรู้สึกใหญ่โตมาก  ท่านเองก็ปีนขึ้นและไต่ไปตามขอนชาติที่ล้มนอนอยู่นั้น  พร้อมทั้งพิจารณาอยู่ภายใน  และรู้ขึ้นมาว่าไม้นี้จะไม่มีการงอกขึ้นได้อีก  ซึ่งเทียบกับชาติของท่านว่าจะไม่กำเริบให้เป็นภพชาติสืบต่อไปอีกแน่นอน

          คำว่าขอนชาติท่านพิจารณาเทียบกับชาติความเกิดของท่านที่เคยเป็นมา  ที่ขอนชาติผุพังไปไม่กลับงอกขึ้นได้อีก  เทียบกับชาติของท่านว่าจะมีทางสิ้นสุดในอัตภาพนี้แน่ถ้าไม่ลดละความพยายามเสีย  ทุ่งนี้เวิ้งว้างกว้างขวางเทียบกับความไม่มีสิ้นสุดแห่งวัฏวนของมวลสัตว์  ขณะที่กำลังยืนพิจารณาอยู่  ปรากฏว่ามีม้าสีขาวตัวหนึ่งรูปร่างใหญ่และสูงเดินเข้ามาเทียบที่ขอนชาตินั้น  ท่านนึกอยากจะขี่ม้าขึ้นมาในขณะนั้น  เลยปีนขึ้นบนหลังม้าตัวแปลกประหลาดนั้น  ขณะนั้นปรากฏว่าม้าได้พาท่านวิ่งไปอย่างเต็มกำลังฝีเท้า  ท่านเองก็มิได้นึกว่าจะไปเพื่อประโยชน์อะไร ณ ที่ใด  แต่ม้าก็พาท่านวิ่งไปอย่างไม่ลดละฝีเท้า   โดยไม่กำหนดทิศทางและสิ่งที่ตนพึงประสงค์ใดๆ ในขณะนั้น  ระยะทางที่ม้าพาวิ่งไปตามทุ่งอันกว้างขวางนั้น  รู้สึกว่าไกลแสนไกลโดยไม่อาจจะคาดได้  ขณะที่ม้ากำลังวิ่งไปนั้น  ได้แลเห็นตู้ใบหนึ่ง  ในความรู้สึกว่าเป็นตู้พระไตรปิฎกซึ่งวิจิตรด้วยเงินสีขาวงดงามมาก  ม้าได้พาท่านตรงเข้าไปสู่ตู้นั้นโดยมิได้บังคับ  พอถึงตู้พระไตรปิฎกม้าก็หยุด  ท่านก็รีบลงจากหลังมาทันทีด้วยความหวังจะเปิดตู้พระไตรปิฎกที่ตั้งอยู่เฉพาะหน้า  ส่วนม้าก็ได้หายตัวไปในขณะนั้น  โดยมิได้กำหนดว่าได้หายไปในทิศทางใด  ท่านได้เดินตรงเข้าไปหาตู้พระไตรปิฎกที่ตั้งอยู่ที่สุดของทุ่งอันกว้างนั้น  ซึ่งมองจากนั้นไปเห็นมีแต่ป่ารกชัฏที่เต็มไปด้วยขวากหนามต่างๆ ไม่มีช่องทางพอจะเดินต่อไปอีกได้  แต่มิทันจะเปิดดูตู้พระไตรปิฎกว่ามีอะไรอยู่ข้างในบ้าง เลยรู้สึกตัวตื่นขึ้น
       
          สุบินนิมิตนั้นเป็นเครื่องแสดงความมั่นใจว่า  จะมีทางสำเร็จตามใจหวังอย่างแน่นอน  ไม่เป็นอย่างอื่น  ถ้าไม่ลดละความเพียรพยายามเสียเท่านั้น  จากนั้นท่านได้ตั้งหน้าประกอบความเพียรอย่างเข้มแข็ง  มีบทพุทโธเป็นคำบริกรรมประจำใจในอิริยาบทต่างๆ อย่างมั่นใจ   ส่วนธรรมคือธุดงควัตรที่ท่านศึกษาเป็นประจำด้วยความรักสงวนอย่างยิ่งตลอดมา  นับแต่เริ่มอุปสมบทจนถึงวันสุดท้ายปลายแดนแห่งชีวิต  ได้แก่
            ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร  ไม่รับคหปติจีวรที่เขาถวายด้วยมือ ๑  
            บิณฑบาตเป็นวัตรประจำวันไม่ลดละ  เว้นเฉพาะวันที่ไม่ฉันเลยก็ไม่ไป ๑  
            ไม่รับอาหารที่ตามส่งทีหลัง คือรับเฉพาะที่ได้มาในบาตร ๑  
            ฉันมื้อเดียว คือฉันวันละหน ไม่มีอาหารว่างใดๆ ที่เป็นอามิสเข้ามาปะปนในวันนั้นๆ ๑   
            ฉันในบาตร คือมีภาชนะใบเดียวเป็นวัตร ๑  
            อยู่ในป่าเป็นวัตร คือเที่ยวอยู่ตามร่มไม้บ้าง ในป่าธรรมดา ในภูเขาบ้าง หุบเขาบ้าง ในถ้ำ ในเงื้อมผาบ้าง ๑  
            ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือมีผ้า ๓ ผืนได้แก่ สังฆาฏิ จีวร สบง (เว้นผ้าอาบน้ำฝนซึ่งจำเป็นต้องมีในสมัยนี้) ๑

          ธุดงค์นอกจากนี้ท่านก็สมาทานและปฏิบัติเป็นบางสมัย  ส่วน ๗ ข้อนี้ท่านปฏิบัติเป็นประจำ  จนกลายเป็นนิสัยซึ่งจะหาผู้เสมอได้ยากในสมัยปัจจุบัน  ท่านมีนิสัยทำจริงในงานทุกชิ้นทั้งกิจนอกการในไม่เหลาะแหละ  มีความมุ่งหวังต่อแดนหลุดพ้นอย่างเต็มใจ  ในอิริยาบถต่างๆ เต็มไปด้วยความพากเพียรเพื่อถอดถอนกิเลสทางภายใน  ไม่มีความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเข้ามาแอบแฝงได้  ทั้งๆ ที่มีกิเลสเหมือนสามัญชนทั่วๆ ไป  เพราะท่านไม่ยอมปล่อยใจให้กิเลสย่ำยีได้  มีการต้านทานห้ำหั่นด้วยความเพียรอย่างไม่ลดละ  ซึ่งผิดกับคนธรรมดาอยู่มาก (ตามท่านเล่าให้ฟังในเวลาบำเพ็ญ)

          ในระยะต่อมาที่แน่ใจว่าจิตมีหลักฐานมั่นคงพอจะพิจารณาได้แล้ว  ท่านจึงย้อนมาพิจารณาสุบินนิมิตจนได้ความโดยลำดับว่า  การออกบวชปฏิบัติตนสมควรแก่ธรรมก็เท่ากับการยกระดับจิตให้พ้นจากความผิดมีประเภทต่างๆ  ซึ่งเปรียบเหมือนบ้านเรือนอันเป็นที่รวมแห่งสรรพทุกข์  และป่าอันรกชัฏทั้งหลายอันเป็นที่ซุ่มซ่อนแห่งภัยทั้งปวงให้ถึงที่เวิ้งว้างไม่มีจุดหมาย  ซึ่งเมื่อเข้าถึงแล้ว  เป็นคุณธรรมที่แสนสบายหายกังวลโดยประการทั้งปวง  ด้วยปฏิปทาข้อปฏิบัติที่เปรียบเหมือนม้าตัวออาจเป็นพาหนะขับขี่ไปถึงที่อันเกษม  และพาไปพบตู้พระไตรปิฏกอันวิจิตสวยงาม  แต่วาสนาไม่อำนวยสมบูรณ์  จึงเป็นเพียงได้เห็น  แต่มิได้เปิดตู้พระไตรปิฎกออกชมอย่างสมใจ  เต็มภูมิแห่งจตุปฏิสัมภิทาญาณทั้งสี่  อันเป็นคุณธรรมยังผู้เข้าถึงให้เป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องเลื่องลือระบือทั่วไตรโลกธาตุ  มีความฉลาดกว้างขวางในอุบายวิธี  ประหนึ่งท้องฟ้ามหาสมุทร  ไม่มีความคับแค้นจนมุมในการอบรมสั่งสอนหมู่ชนทั้งเทวาและมนุษย์ทุกชั้น  แต่เพราะกรรมอันดีเยี่ยมไม่เพียงพอ  บารมีไม่ให้  โอกาสวาสนาไม่อำนวย  จึงเป็นเพียงได้ชมตู้พระไตรปิฎก  และตกออกมาเป็นผลให้ท่านได้รับเพียงชั้นปฏิสัมภิทานุศาสน์  มีเชิงฉลาดในเทศนาวิธีอันเป็นบาทวิถีอันเป็นบาทวิถีแก่หมู่ชนพอเป็นปากเป็นทางเท่านั้น  ไม่ลึกซึ้งกว้างขวางเท่าที่ควร  ทั้งนี้แม้ท่านจะพูดว่า  การสั่งสอนของท่านพอเป็นปากเป็นทางอันเป็นเชิงถ่อมตนก็ตาม  แต่บรรดาผู้ที่ได้เห็นปฏิปทาคือข้อปฏิบัติที่ท่านพาดำเนินและธรรมะที่ท่านนำมาอบรมสั่งสอน  แต่ละบทละบาท  แต่ละครั้งละคราว  ล้วนเป็นความซาบซึ้งใจไพเราะเหลือจะพรรณนาและยากที่จะได้เห็นได้ยินจากที่อื่นใดในสมัยปัจจุบัน  ซึ่งเป็นสมัยที่ต้องการคนดีอยู่มาก


(จากหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ  โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน)
 

ไม่มีความคิดเห็น: