วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ตามหาขงจื้อ

เล่าเรื่องโดย ชยสาโร ภิกขุ



         ที่เมืองจีนในช่วงฤดูร้อน  ครูคนหนึ่งมักจะชอบงีบหลับในตอนบ่าย  เขาสั่งให้เด็กนักเรียนเขียนเรียงความส่วนตัวเองก็นั่งหลับสัปหงก  พอตื่นขึ้นมาก็ทำไก๋ว่าตัวเองไม่ได้หลับ

          นักเรียน   "เมื่อกี้ตอนคุณครูหลับอยู่  ผม..............."
          ครู             "เฮ้ย! พูดอะไรอย่างน้าน.....ครูไม่ได้หลับซักกะหน่อย"
          นักเรียน   "อ้าว! แล้วถ้าคุณครูไม่ได้หลับ  คุณครูทำอะไรอยู่ล่ะครับ"
          ครู             "อย่าเอ็ดไปเชียว.....  ครูแอบขึ้นไปถกปรัชญากับขงจื้อบนสวรรค์น่ะ"

          บ่ายวันต่อมาอากาศร้อนอบอ้าว  เด็กนักเรียนคนหนึ่งเผลองีบหลับไป  ตัวครูเองตื่นขึ้นมาเห็นเด็กหลับก็ไม่พอใจ  รีบเขย่าตัวให้ตื่นและขู่ว่าจะทำโทษ

          เด็กรีบบอกครูทันทีว่า  "คุณครูครับ  ผมไม่ได้หลับนะครับ  ผมขึ้นไปบนสวรรค์ไปหาขงจื้อ  ผมเรียนท่านว่าผมเป็นลูกศิษย์คุณครูที่ขึ้นมาหาท่านเมื่อว่าน  แต่...ขงจื้อทำท่างงๆ นะครับ  ท่านว่า...เอ้!.....ครูอะไรเหรอ.....ไม่เห็นมีครูที่ไหนมานี่....."  มุขเด็ดนี้ทำเอาครูพูดไม่ออกไปเลย

          ท่านอาจารย์ว่าเด็กนักเรียนคนนี้ม่ไหวพริบปฏิภาณ  แต่ออกไปในทางมุสาวาท  ท่านให้เราฝึกคิด  คิดให้เร็ว  คิดให้ทันการ  แต่ขอให้คิดในทางที่เป็นกุศลนะ


(จาก หนังสือเรื่องท่านเล่า  โดย ศรีอรา อิสสระ)

เล่ห์กลการขาย

เล่าเรื่องโดย ชยสาโร ภิกขุ




          เจ้าของร้านขายนกในฮ่องกงวางกรงนกธรรมดาๆ ใส่นกธรรมดาๆ  ใส่นกธรรมดาๆ ไว้ที่บริเวณกระจกหน้าร้าน  สิ่งที่ไม่ธรรมดาในกรงนกนั้น คือ ภาชนะใส่น้ำสำหรับนก มันเป็นโบราณวัตถุสมัยราชวงศ์เหม็งราคาหลายหมื่นเหรียญฮ่องกง  คนที่เดินผ่านหน้าร้าน  ถ้าเป็นคนที่รู้จักคุณค่าของโบราณวัตถุเป็นต้องตาลุกวาว  ที่เห็นวัตถุสูงค่าเช่นนั้นอยู่ในกรงนกที่ทั้งกรงและทั้งนกดูแสนจะธรรมดาๆ ราคาถูกๆ กิเลสย่อมจะเกิดขึ้นได้ทันที  และจะนำพาบุคคลนั้นๆ เข้าไปในร้าน  เขาจะแกล้งถามเจ้าของร้านว่า  นกกรงนั้นราคาเท่าไหร่ เจ้าของร้านก็จะบอกราคาไม่ธรรมดา คือ ราคาแพงมากสำหรับนกธรรมดาๆ ชนิดนั้น  จนเขาตกใจ  แม้เขาจะรู้อยู่แก่ใจว่า  ราคานกไม่ควรจะแพงขนาดนั้น  แต่ก็เอาเถอะ ไม่เป็นไรหรอก  เขาคิดว่าเขาฉลาดคนเดียว  เจ้าของร้านคงไม่รู้คุณค่าของภาชนะใส่น้ำในกรงนกหรอก  เขาจะรีบตกลงซื้อนก  โดยไม่กล่าวถึงภาชนะใส่น้ำ  เจ้าของร้านก็จะยิ้มแล้วรีบไปหยิบกรงนกออกมาส่งให้คนซื้อ  แต่ไม่ลืมที่จะหยิบภาชนะใส่น้ำออกเสียก่อน

         ลูกค้า            "ไม่ต้องเอาออกหรอก  ถึงมันจะเก่าก็ไม่เป็นไร  ผมไม่ถือหรอก"
         เจ้าของร้าน  "คุณไม่ถือแต่ผมถือนี่ครับ  ภาชนะใบเนี้ย...ย น่ะ  สมัยราชวงศ์เหม็งเชียวนะครับ                                          ราคาตั้งหลายหมื่นดอลล่าร์แน่ะ"

          ท่านอาจารย์จึงว่า  นี่คือตัวอย่างหนึ่งของเล่ห์กลการขายที่อาศัยความอยากหรือตัณหาธรรมดาๆ ของมนุษย์  ความอยากทำให้เราคิดว่าเราฉลาดคนเดียว  จนลืมคิดไปว่าคนอื่นเขาอาจจะฉลาดกว่า


(จาก หนังสือเรื่องท่านเล่า  โดย ศรีอรา อิสสระ)

วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

หลวงพ่อทดสอบ

เล่าเรื่องโดย ชยสาโร ภิกขุ




          ท่านอาจารย์เล่าว่า  เมื่อบวชใหม่ๆ ท่านยึดติดในตัวหลวงพ่อชามาก  และหลวงพ่อก็ทราบเรื่องนี้ดี  ที่ท่านตั้งอกตั้งใจเรียนรู้ภาษาไทยอย่างรวดเร็วก็เพราะอยากจะเป็นพระอุปัฏฐาก  ท่านปรารถนาจะอยู่ใกล้ชิดหลวงพ่อ  ถ้าพูดภาษาไทยไม่เป็นก็คงหมดสิทธิ์  ออกพรรษาปีนั้น หลวงพ่อไปพักผ่อนที่วัดอีกวัดหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำ  ท่านอาจารย์ได้รับเลือกให้อยู่ในชุดอุปัฏฐากชุดแรก  ท่านดีใจมากที่ได้ไปอุปัฏฐากหลวงพ่อที่วัดนั้น  เพราะที่วัดป่าพงมีพระอุปัฏฐากเยอะนับสิบๆ รูป  แต่ที่นี่มีเพียงสามสี่รูปเท่านั้น  จึงได้อยู่กับหลวงพ่อตลอดเวลา  ท่านมีความสุขเหลือเกิน  นั่งถวายงานพัดบ้าง  นวดเท้าท่านบ้าง  ทำอะไรๆ ให้ท่านได้ทุกๆ อย่าง  บางทีหลวงพ่อยื่นฟันปลอมให้ไปล้าง  ท่านก็ภูมิใจมากที่ได้เป็นคนรับฟันปลอมหลวงพ่อมาล้าง  ตอนเช้าท่านรีบขึ้นไปที่ห้องหลวงพ่อ  อยากจะถึงกระโถนของท่านก่อนเพื่อน  ในกระโถนมีทั้งน้ำปัสสาวะ น้ำหมาก น้ำอะไรต่อมิอะไร  ท่านเล่าว่า  ท่านภูมิใจมากที่ได้ของดีไปล้าง

          บ่ายวันหนึ่งท่านเข้าไปที่ศาลา  เห็นหลวงพ่อกำลังครองผ้าเตรียมจะเดินทาง  ท่านคิดว่า  "แย่แล้ว! ครูบาอาจารย์จะไปไหนแล้ว  เราก็ยังไม่พร้อม  ยังไม่ได้เตรียมบริขารเลย"

          ท่านอาจารย์  "ขอโทษครับ  เดี๋ยวผมจะรีบไปเอาผ้าจีวร"
          หลวงพ่อ         "ไม่ต้อง!  ช้อน อยู่ที่นี่แล้ว"
          ท่านอาจารย์  "ฮะ?  ผมพร้อมแล้วครับ  ผมจะไปด้วยครับ"
          หลวงพ่อ         "ช้อนอยู่ที่นี่  อยู่ดูแลปู่ น."

          ปู่ น. นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นพระที่ดุมาก  ท่านเป็นหลวงตาที่แทบไม่เคยยิ้มเลย  ท่านอาจารย์ได้เรียนรู้สำนวนไทยที่ว่า "เอาใจยาก"  ก็ตอนนี้แหละ  เวลาใครๆ พูดถึงพระองค์นี้ก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  "ปู่ น. นี่เอาใจยาก"  หลวงพ่อชาสั่งให้ท่านอาจารย์อยูดูแลหลวงปู่ น. แล้วหลวงพ่อก็จากไป

          หน้าที่ที่ต้องอุปัฏฐากหลวงปู่ น. ก็เหมือนกับที่เคยทำถวายหลวงพ่อชา  แต่ความรู้สึกมันช่างไม่เหมือนกันเสียเลย  กระโถนก็มีน้ำปัสสาวะน้ำหมากเหมือนกัน  แต่ทำไมน้ำปัสสาวะของหลวงพ่อชาน่ารัก  น้ำปัสสาวะของหลวงปู่ น.  นี่น่าเกลียด  ท่านต้องกัดฟันอดทนเพราะเห็นว่าหลวงพ่อกำลังทอสอบ  ท่านจึงตั้งใจทำแล้วก็ได้ความรู้มากมาย  ตอนกลางคืนท่านต้องไปชงน้ำร้อนให้หลวงปู่แล้วเดินนวดเหยียบหลังให้ทุกคืน  หลวงปู่จะเล่าอะไรๆ จากพระไตรปิฎกให้ท่านฟัง  เคี้ยวหมากไปด้วยเล่าไปด้วย  หลวงปู่พูดภาษาลาวซึ่งท่านฟังออกบ้างฟังไม่ออกบ้าง  คืนหนึ่งหลวงปู่เล่าเรื่องพระรัฐบาลอย่างละเอียด  ท่านได้ยินคำว่า รัฐบาลๆๆ หลายๆ ทีเข้า  ก็คิดตำหนิหลวงปู่ในใจว่า  ท่านประพฤติองค์ไม่เหมาะสมเลย เป็นพระแท้ๆ กลับมานอนพูดเรื่องการเมืองซึ่งเป็นเรื่องทางโลกทั้งคืน  ท่านมาทราบภายหลังว่า  ที่แท้หลวงปู่กำลังเล่าถึงประวัติของพระมหาสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า ชื่อ พระรัฐบาล

          อย่างไรก็ตาม  ตลอดเวลาที่อยู่กับหลวงปู่  แม้จะฟังท่านพูดไม่ค่อยเข้าใจ ท่านอาจารย์ก็ตั้งใจอดทนฟังอย่างเต็มที่ แถมยังพูดจาเออออ  "โด่ยๆ ขะน้อย"  ไปเรื่อยๆ ทำให้หลวงปู่มีความสุขมาก  หลวงปู่ท่านเหงาเพราะไม่ค่อยมีใครยอมอยู่กับท่าน  นอกจากผู้ที่หลวงพ่อส่งไป  และถึงหลวงพ่อจะส่งไป  พระก็จะหนีไปภายในเวลาไม่กี่วัน  เพราะใครๆ ก็ว่าหลวงปู่ น. องค์นี้เอาใจยากกก...มากกก... ท่านอาจารย์เล่าว่า  ท่านก็มีมานะและอัตตาว่า  "พระองค์อื่นๆ อยู่ไม่กี่วันก็หนี  แต่เราจะไม่หนี"  แล้วท่านก็ตั้งอกตั้งใจพยายามอุปัฏฐากหลวงปู่เต็มที่อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน  หลวงปู่จึงรักท่านเหมือนลูกชาย  ท่านอาจารย์เองก็ได้ทำประโยชน์แก่พระผู้ใหญ่

          ท่านเล่าว่า  วัดนั้นเงียบสงบดี  ท่านท่องปาฏิโมกข์ขึ้นใจได้ที่นั่น  ซึ่งสำหรับพระแล้ว  ถ้าได้ "ปาฏิโมกข์" ที่ไหน  ก็จะจดจำท่นั่นได้ตลอดชีวิต  ท่านอยู่ที่วัดนั้นกับหลวงปู่ น. หลายเดือน  จึงได้กลับไปอยู่วัดป่าพง  ถ้าจิตใจของท่านฝืนและปรุงแต่งด้วยความไม่พอใจ  ด้วยความคิดถึงหลวงพ่อชา  และความไม่อยากอยู่ที่วัดนั้น  มันจะเป็นการทรมานจิตใจไปเปล่าๆ เมื่อหลวงพ่อให้อยู่ที่นี่  ท่านก็ตั้งใจจะให้ได้กำไรจากการอยู่ที่นี่  ท่านต้องสร้างประโยชน์ให้ได้  ถ้ากายอยู่ที่นี่แต่ใจมัวไปคิดถึงที่อื่น  มันย่อมเป็นการไม่ฉลาดโดยแท้


(จาก หนังสือเรื่องท่านเล่า  โดย ศรีอรา อิสสระ)

วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เมตตาขาเป๋

เล่าเรื่องโดย ชยสาโร ภิกขุ




          เรื่องนี้เกิดที่อเมริกา  เด็กผู้ชายคนหนึ่งเดินเข้าไปในร้านขายสัตว์เลี้ยง

          เด็ก                 "ผมอยากได้ลูกหมา  ลูกหมาราคาตัวละซักเท่าไหร่ครับ"

          เจ้าของร้าน    "สามสิบ ถึง ห้าสิบดอลล่าร์  หนูมีเงินเท่าไหร่ล่ะ"

          เจ้าของร้านเห็นเด็กน่าเอ็นดู  จึงปล่อยแม่หมาออกมาจากกรง  มีลูกๆ วิ่งตามออกมาสี่ตัว  วิ่งเล่นกันดูน่ารักมาก  สักพักก็มีลูกหมาอีกตัวค่อยๆ ออกมาช้าๆ ดูน่าสงสาร  เด็กคนนั้นชี้ลูกหมาตัวน้อยนั้น

          เด็ก                "ผมจะเอาตัวนั้น  ตัวสุดท้ายนั่นแหละ  ราคาเท่าไหร่ครับ"

          เจ้าของร้าน   "ตัวนั้นอย่าเอาเลย  มันพิการ  เลี้ยงยากนะ  เล่นไม่สนุกหรอก  แต่ถ้าจะเอาตัวนั้นจริงๆ ก็จะยกให้ฟรีๆ เลย"

          เด็กน้อยไม่พอใจ  "ผมมีเงิน  ผมอยากจ่ายเงินซื้อมัน  อย่าไปดูถูกมันเลยครับ  มันก็มีค่าเท่ากับพี่ๆของมัน  ผมจะดาวน์สองดอลล่าร์สามสิบเจ็ดเซนต์  แล้วจะขอผ่อนอาทิตย์ละห้าสิบเซนต์"

          เจ้าของร้าน    "งั้นเลือกเอาตัวอื่นดีกว่า  ตัวนี้มันวิ่งไม่ได้  เล่นไม่สนุกหรอก"

          เด็กชายมองหน้าเจ้าของร้าน  แล้วเขาก็ดึงขากางเกงขึ้นมา  ขาของเขาก็เป็นเหมือนกัน

          เด็ก                   "ผมว่าลูกหมาตัวนี้  มันคงต้องการเจ้าของที่จะเข้าใจมัน  ผมขอตัวนี้เถอะครับ"

          นี่แหละคือความเมตตา

          ท่านอาจารย์ว่า  การที่เด็กชายคนนั้นเห็นใจและรักลูกหมาตัวนั้น  เพราะเขารู้สึกว่ามันเหมือนกับเขา  หมาก็ขาเป๋ไม่มีใครรักและให้ความสำคัญ  ตัวเขาก็เหมือนกัน  มันน่าจะไปด้วยกันได้

          ท่านสอนต่อว่า  หากเราสามารถมองเห็นว่า  คนอื่นหรือสัตว์อื่นมีอะไรๆ เหมือนๆ กับเรา  ความเมตตาจะเกิดทันที  ฉะนั้น  การที่เราพิจารณาว่า  ทุกคนในโลกนี้ล้วนเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย  ทุกคนในโลกนี้ไม่ต้องการความทุกข์แม้เพียงนิดเดียว  และทุกคนต้องการความสุขแค่นิดเดียวก็ยังเอา  ฉะนั้นเราเหมือนกัน  ความซาบซึ้งในข้อที่เราเหมือนกันนั่นแหละจะทำให้ความเมตตาเกิดขึ้น




(จาก หนังสือเรื่องท่านเล่า  โดย ศรีอรา อิสสระ)

ขี้ฉันใครอย่าแตะ

เล่าเรื่องโดย ชยสาโร ภิกขุ




          ท่านอาจารย์สอนว่า  การจะดูว่าคนเรามีปัญญาหรือไม่มีปัญญา  ก็ให้ดูที่ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา  มีอัตตาตัวตนเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง

          ในสมัยก่อนทางอีสานไม่มีห้องน้ำ  พ่อออกคนหนึ่งออกไปถ่ายในทุ่ง  พ่อออกอีกคนเดินตามเข้าไปในทุ่งโดยไม่เห็นคนแรก  เกือบเหยียบกองอุจจาระของเพื่อน

          คนที่สอง   "เฮ้ย! กองขี้ผู้ใด๋  เหม็นแท้"
          คนที่หนึ่ง   "อีหยังว่ะ  มาว่าขี้ของเฮาเหม็น"
          คนที่สอง   "ข้อยบ่ฮู้ว่าเป็นขี้ของผู้ใด๋  ข้อยเห็นว่ามันเหม็น  แต่บ๋ฮู้ว่าเป็นของเจ้า"

          จากนั้นพ่อออกทั้งสองก็เริ่มเถียงกันลั่นทุ่ง  คนแรกว่า.....  คนที่สองดูถูก.....  ดูถูกว่าอะไร.....  ก็ดูถูกว่าขี้ของเขาเหม็นน่ะซิ  ทะเลาะกันจนเกือบตีกันตาย  ความยึดมั่นถือมั่นนี่มันเข้าไปในทุอย่าง  แม้แต่อุจจาระก็ยังถือว่าเป็นของเรา  ใครจะตำหนิไม่ได้  สิ่งที่ออกมาจากร่างกายแล้ว  ก็ยังยึดมั่นถือมั่นซะเหลือเกิน  อะไรจะขนาดนั้น!



(จาก หนังสือเรื่องท่านเล่า  โดย ศรีอรา อิสสระ)

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ : ประวัติ ตอน 6 ข้อวัตรประจำองค์ท่านโดยเฉพาะในมัชฌิมวัย-2




          คำว่าสวรรค์และพรหมโลกชั้นนั้นๆ  สูงขึ้นไปเป็นลำดับนั้น  ก็มิได้สูงขึ้นไปแบบบ้านที่มีหลายชั้นซึ่งเป็นด้านวัตถุ  ดังที่รู้ๆ กันที่จะต้องใช้บังไดหรือลิฟท์ขึ้นไปเป็นชั้นๆ  หากสูงแบบนามธรรม  ขึ้นแบบนามธรรม  ด้วยนามธรรม  คือใจดวงมีสมรรถภาพภายในตัว  เพราะกรรมดีคือกุศลกรรม  คำว่านรกต่ำก็มิได้ต่ำแบบลงเหวลงบ่อ  แต่ต่ำแบบนามธรรม  ลงแบบนามธรรม  และดูด้วยนามธรรม  คือดวงใจมีความสามารถายในตัว  แต่ผู้ลงไปเสวยกรรมของตนต้องไปด้วยอำนาจกรรมชั่วที่พาให้เป็นไปทางตรงกันข้าม  อยู่รับความทุกข์ทรมานก็อยู่ด้วยกรรมพาให้อยู่จนกว่าจะพ้นโทษ  เหมือนคนติดคุกตะรางตามกำหนดเวลา  เมื่อพ้นโทษก็ออกจากคุกตะรางไปฉะนั้น  ส่วนอุปจารสมาธิของท่านรู้สึกเริ่มเกี่ยวพันกันกับขณิกสมาธิแต่เริ่มแรกปฏิบัติ  เพราะจิตท่านเป็นจิตที่ว่องไวผาดโผนมาดั้งเดิม  เวลารวมลงเพียงขณะเดียวที่เรียกว่า  ขณิกสมาธิ  ก็เริ่มออกเที่ยวรู้เห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในวงของอุปจาระ  จนกระทั่งท่านมีความชำนาญและบังคับให้อยู่กับที่หรือให้ออกรู้เหตุการณ์ต่างๆ ก็ได้แล้ว  จากนั้นท่านต้องการจะปฏิบัติต่อสมาธิประเภทใดก็ได้สะดวกตามต้องการ  คือจะให้เป็นขณิกะแล้วเลื่อนออกมาเป็นอุปจาระเพื่อรับรู้สิ่งต่างๆ หรือจะให้รวมสงบลงถึงฐานสมาธิอย่างเต็มที่ที่เรียกว่าอัปปนาสมาธิ  แล้วพักอยู่ในสมาธินั้นตามต้องการก็ได้

          อัปปนาสมาธิเป็นสมาธิที่สงบละเอียดแนบแน่นและเป็นความสงบสุขอย่างพอตัว  ผู้ปฏิบัติจึงมีทางติดสมาธิประเภทนี้ได้  ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเล่าว่า  ท่านเคยติดสมาธิประเภทนี้บ้างเหมือนกัน  แต่ท่านเป็นนิสัยปัญญาจึงหาทางออกได้  ไม่นอนใจและติดอยู่ในสมาธิประเภทนั้นนาน  ผู้ติดสมาธิประเภทนี้ทำให้เนิ่นช้าได้เหมือนกัน  ถ้าไม่พยายามคิดค้นทางปัญญาต่อไป  นักปฏิบัติที่ติดอยู่ในสมาธิประเภทนี้มีเยอะแยะ  เพราะเป็นสมาธิที่เต็มไปด้วยความสุข  ความเยื่อใยและอ้อยอิ่งน่าอาลัยเสียดายอยู่มาก  ไม่คิดอยากแยกตัวออกไปทางปัญญาอันเป็นทางถอนกิเลสทั้งมวล  ถ้าไม่มีผู้ฉลาดมาตักเตือนด้วยเหตุผลจริงๆ จะไม่ยอมถอดถอนตัวออกมาสู่ทางปัญญาเอาเลย

          เมื่อจิตติดอยู่ในสมาธิประเภทนี้นานไป  อาจเกิดความสำคัญตนไปต่างๆ ได้  เช่น  สำคัญว่านิพพานความสิ้นทุกข์ก็ต้องมีอยู่ในจุดแห่งความสงบสุขนี้หามีอยู่ในที่อื่นใดไม่ ดังนี้  ความจริงจิตที่รวมตัวเข้าเป็นจุดเดียวจนรู้เห็นจุดของจิตได้อย่างชัดเจน  และรู้เห็นความสงบสุขประจักษ์ใจในสมาธิขั้นอัปปนานี้  เป็นการรวมกิเลส  ภพชาติอยู่ในจิตดวงนั้นด้วยในขณะเดียวกัน  ถ้าไม่ใช่ปัญญาเป็นเครื่องบุกเบิกทำลาย  ก็มีหวังตั้งภพชาติอีกต่อไปโดยไม่ต้องสงสัย ฉะนั้น  ผู้ปฏิบัติในสมาธิขั้นใดก็ตาม  ปัญญาจึงควรมีแอบแฝงอยู่เสมอตามโอกาสที่ควร  เฉพาะอัปปนาสมาธิด้วยแล้ว  ควรใช้ปัญญาเดินหน้าอย่างยิ่ง  ถ้าไม่อยากรู้อยากเห็นจิตที่มีเพียงความสงบสุขอย่างเดียว  ไม่มีความฉลาดรอบตัวเลยเท่านั้น

          ท่านพระอาจารย์มั่น  นับแต่ท่านกลับมาทางภาคอีสานเที่ยวนี้  ท่านชำนาญในปัญญาขั้นกลางมากจริงอยู่  เพราะผู้ก้าวขึ้นสู่ภูมิธรรมขั้นสาม  คือพระอนาคามี ต้องนับว่ามีปัญญาขั้นกลางอย่างพอตัว  ไม่เช่นนั้นจะพิจารณาภูมิธรรมขั้นนั้นไม่ได้  การก้าวขึ้นสู่ภูมิธรรมขั้นนี้ต้องผ่านกายคตาสติ  ทั้งสุภะความเห็นว่ากายเป็นของสวยงาม  ทั้งอสุภะความเห็นว่ากายเป็นของไม่สวยงามไปด้วยปัญญามิได้ติดอยู่  โดยจิตแยกสุภะและอสุภะออกด้วยปัญญา  แล้วก้าวผ่านไปในทามกลางคือมัชฌิมา  ตรงกลางได้แก่ ระหว่างสุภะและอสุภะต่อกัน  หมดความสงสัยและเยื่อใยในธรรม  ทั้งสองนั้นอันเป็นเพียงทางเดินผ่านเท่านั้น  การพิจารณาถึงขั้นที่ว่านี้จัดว่าเพียงผ่านไปได้  ถ้าเทียบการสอบไล่ก็เพียงได้คะแนนตามกฎที่ตั้งไว้ท่านั้น  ยังมิได้คะแนนสูง  และสูงสุดในชั้นนั้น  ผู้บรรลุธรรมถึงระดับนี้แล้ว  จำต้องฝึกซ้อมปัญญาเพื่อความชำนาญละเอียดขึ้นไป  จนเต็มภูมิของธรรมชั้นนั้น  ที่เรียกว่าอนาคามีเต็มภูมิ  ถ้าตายในขณะนั้นก็ไปเกิดในชั้นอกนิษฐาพรหมโลกชั้นที่ห้าทันที  ไม่ต้องเกิดในพรหมโลกสี่ชั้นต่ำนั้น

          ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเล่าว่า  ท่านเคยติดอยู่ในภูมินี้นานเอาการอยู่  เพราะไม่มีผู้คอยให้อุบายใดๆ เลย  ต้องลูบคลำกันอย่างระมัดระวังมาก  กลัวจะผิดพลาด  เพราะทางไม่เคยเดิน  เท่าที่สังเกตรู้ตลอดมา  เวลาสติปัญญาละเอียด  ธรรมละเอียด  ส่วนกิเลสที่จะทำให้หลงก็ละเอียดไปตามๆ กัน  จึงเป็นความลำบากอยู่ไม่น้อย  ในธรรมแต่ละขั้นกว่าจะผ่านไปได้  ท่านเล่า น่าอัศจรรย์เหลือประมาณ  อุตส่าห์คลำไม่คลำตอและขวากหนามโดยมิได้รับคำแนะจากใคร  นอกจากธรรมในคัมภีร์เท่านั้น  กว่าจะผ่านพ้นไปได้และมาเมตาสั่งสอนพวกเรา  ก็อดที่จะระลึกถึงความทุกข์อย่างมหันต์ของท่านมิได้  เวลากำลังบุกป่าฝ่าดงไปองค์เดียว

          มีโอกาสดีๆ ท่านเล่าถึงการบำเพ็ญของท่านให้ฟัง  ที่น่าสมเพชเวทนาท่านนักหนา  ผู้เขียนเองเคยน้ำตาร่วงสองครั้งด้วยความเห็นทุกข์ไปตามเวลาท่านลำบากมากในการบำเพ็ญ  และด้วยความอัศจรรย์ในธรรมที่ท่านเล่าให้ฟัง  ซึ่งเป็นธรรมละเอียดลึกซึ้งจนเกิดความคิดขึ้นมาว่า  เรานี้จะพอมีวาสนาบารมีแค่ไหนบ้างหนอ  พอจะถูไถเสือกคลานไปกับท่านได้เพียงใดหรือไม่ก็มีในบางขณะ  ตามประสาของปุถุชนอย่างนั้นเอง  แต่คำพูดท่านเป็นเครื่องปลุกประสาทให้ตื่นตัวตื่นใจได้ดีมาก  นี่แลเป็นเครื่องพยุงความเพียรไม่ให้ลดละเพื่ออนาคตของตนตลอดมา  ท่านเล่าว่าพอเร่งความเพียรทางปัญญาเขามากทีไร  ยิ่งทำให้จิตใจจืดจางออกจากหมู่คณะมากขึ้น  และกลับดูดดื่มทางความเพียรมากเข้าทุกที  ทั้งที่ทราบเรื่องของตัวมาโดยลำดับว่ากำลังของเรายังไม่พอ  แต่ก็จำต้องอยู่รออบรมหมู่คณะพอให้มีหลักฐานทางใจบ้าง

          ทราบว่าท่านจำพรรษาที่จังหวัดนครพนมหลายปี  ตามแถบหมู่บ้านสามผง  อำเภอศรีสงคราม   ถ้าจำไม่ผิดก็ราว ๓-๔ ปี  ที่บ้านห้วยทราย   ซึ่งตั้งอยู่เขตอำเภอคำซะอี  จังหวัดเดียวกัน ๑ ปี  แถบหมู่บ้านห้วยทราย  บ้านคำซะอี  หนองสูง  โคกกลาง  เหล่านี้มีภูเขามาก  ท่านชอบพักอยู่แถบนี้มาก  ที่เขาผักกูดซึ่งอยู่ใกล้หมู่บ้านแถบนั้น  ท่านว่าเทวดาก็ชุม  เสือก็ชุมมาก  ตอนกลางคืนเสือก็มาเที่ยวรอบๆ บริเวณที่ท่านพักอยู่  เทวดาก็ชอบมาฟังธรรมท่านบ่อยเช่นกัน  กลางคืนเสียงเสือโคร่งใหญ่กรหึ่มอยู่ใกล้ๆ กับที่พักท่าน  บางคืนมันกระหึ่มพร้อมกันทีละหลายๆ ตัว  เสียงสนั่นหวั่นไหวไปทั่วทั้งป่า  เสียงมันร้องรับกันเหมือนเสียงคนร้องหากันนี่เอง  ทางโน้นก็ร้อง  ทางนี้ก็ร้อง  กระหึ่มรับกันเป็นพักๆ ทีละหลายๆ ตัวน่ากลัวมาก  พระเณรบางคืนไม่ได้หลับนอนกันเลย  กลัวเสือจะมาฉวยไปกิน

          ท่านฉลาดหาอุบายพูดแปลกๆ ให้พระเณรกลัวเสือ  เพื่อจะได้พากันขยันทำความเพียร  โดยพูดว่า ใครขี้เกียจทำความเพียรระวังให้ดีนะ  เสือในเขาลูกนี้ชอบพระเณรที่ขี้เกียจทำความเพียรนัก  กินก็อร่อยดี  ใครไม่อยากเป็นอาหารอร่อยของมันต้องขยัน  ใครขยันทำความเพียร  เสือกลัวและไม่ชอบเอาเป็นอาหาร  พอพระเณรได้ยิน  ดังนั้น  ต่างก็พยายามทำความเพียรกัน  แม้เสือกำลังกระหึ่มอยู่รอบๆ ก็จำต้องฝืนออกไปเดินจงกรมแบบสละตายทั้งที่กลัวๆ เพราะเชื่อคำท่านว่าใครขี้เกียจเสือจะมาเอาไปเป็นอาหารอันอร่อยของมัน  เพราะที่อยู่นั้นมิได้เป็นกุฎีเหมือนวัดทั่วๆ ไป  แต่เป็นร้านเล็กๆ พอหมกตัวเวลาหลับนอนเท่านั้นและเตี้ยๆ ด้วย  เผื่อเสือนึกหิวขึ้นมาและโดดมาเอาไปกิน  ต้องเสียท่าให้มันจริงๆ เพราะฉะนั้น พระท่านถึงกลัวและเชื่อคำของท่านอาจารย์

          ท่านเล่าให้ฟังก็น่ากลัวด้วย  ว่าบางคืนเสือโคร่งใหญ่เข้ามาถึงบริเวณที่พระพักอยู่ก็มี  แต่ก็ไม่ทำอะไร  เป็นเพียงเดินผ่านไปเท่านั้น  ตามปกติท่านก็ทราบอยู่แล้วว่าเสือไม่กล้ามาทำอะไรได้  ท่านว่าเทวดารักษาอยู่ตลอดเวลา  คือเวลาเทวดาลงมาเยี่ยม ฟังเทศน์ท่าน  เขาบอกกับท่านว่า  เขาพากันอารักขาไม่ให้มีอะไรมารบกวน  และทำอันตรายได้ และขออาราธนาท่านให้พักอยู่ที่นั้นนานๆ ฉะนั้น  ท่านจึงหาอุบายพูดให้พระเณรกลัวและสนใจต่อความเพียรมากขึ้น  เสือเหล่านั้นก็รู้สึกจะทราบว่าที่บริเวณท่านพักอยู่เป็นสถานที่เย็นใจ  พวกสัตว์เสือต่างๆ ไม่ต้องระวังอันตรายจากนายพรานเพราะตามปกติชาวบ้านทราบว่าท่านไปพักอยู่ที่ใด  เขาไม่กล้าไปเที่ยวล่าเนื้อที่นั้น  เขาบอกว่ากลัวเป็นบาป  และกลัวปืนจะระเบิดทั้งลำกล้องใส่มือเขาตาย  ขณะยิงสัตว์ในที่ใกล้บริเวณนั้น

          สิ่งที่แปลกอยู่อย่างหนึ่งก็คือ  เวลาท่านไปพักอยู่ ณ สถานที่ใดซึ่งเป็นแหล่งที่เสือชุมๆ ที่นั้นแม้ปกติเสือจะเคยมาเที่ยวหากัดวัวความกินเป็นประจำ  ตามหมู่บ้านแถบนั้นแต่ก็เลิกรากันไป  ไม่ทราบว่ามันไปเที่ยวหากินกันที่ไหน  เรื่องทั้งนี้ท่านเองก็เคยเล่าให้ฟังและชาวบ้านหลายหมู่บ้านที่ท่านเคยไปพักอยู่ก็เคยให้ฟัเหมือนกัน  ว่าเสือไม่ไปทำอันตรายสัตว์เลี้ยงเขาเลย  น่าอัศจรรย์มากดังนี้  ยังมีข้อแปลกอยู่อีกอย่างหนึ่งคือเวลาพวกเทวดามาเยี่ยมฟังเทศน์  ท่านหัวหน้าเทวดาเล่าว่า  ท่านมาพักอยู่ที่นี่ทำให้พวกเทวดาสบายใจไปทั่วกัน  เทวดามีความสุขมากผิดปกติ  เพราะกระแสเมตตาธรรมท่านแผ่กระจายครอบท้องฟ้าอากาศและแผ่นดินไปหมด  กระแสเมตตาธรรมท่านเป็นกระแสที่บอกไม่ถูกและอัศจรรย์มาก  ไม่มีอะไรเหมือนเลยดังนี้  แล้วพูดต่อไปว่า ฉะนั้นท่านพักอยู่ที่ไหน  พวกเทวดาต้องทราบกันจากกระแสธรรมที่แผ่จากองค์ท่านไปทุกทิศทุกทาง  แม้เวลาท่านแสดงธรรมแก่พระเณรและประชาชน  กระแสเสียงท่านก็สะเทือนไปหมดทั้งเบื้องบนเบื้องล่างไม่มีขอบเขต  ใครอยู่ที่ไหนก็ได้เห็นได้ยิน  นอกจากคนตายแล้วเท่านั้นจะไม่ได้ยิน  ตอนนี้ต้องขออภัยท่านผู้อ่านมากๆ อีกด้วย

          จะได้เชิญอาราธนาคำพูดระหว่างท่านพระอาจารย์กับพวกเทวดาสนทนากันมาลงอีกเล็กน้อย  ส่วนจะจริงหรือเท็จก็เขียนตามที่ได้ยินได้ฟังมา  ท่านย้อนถามเขาบ้างว่า ก็มนุษย์ไม่เห็นได้ยินกันบ้าง  ถ้าว่าเสียงเทศน์สะเทือนไปไกลดังที่ว่านั้น  หัวหน้าเทพฯ รีบตอบท่านทันทีว่า  ก็มนุษย์เขาจะรู้เรื่องอะไรและสนใจกับศีลกับธรรมอะไรกันท่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเขา  เขาเอาไปใช้ในทางบาปทางกรรมและขนนรกมาทับถมตัวตลอดเวลา  นับแต่วันเขาเกิดมาจนกระทั่งเขาตายไป  เขามิได้สนใจกับศีลกับธรรมอะไรเท่าที่ควรแก่ภูมิของตนหรอกท่าน  มีน้อยเต็มทีผู้ที่สนใจจะนำ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไปทำประโยชน์  คือศีลธรรม  ชีวิตเขาก็น้อยนิดเดียว  ถ้าเทียบกันแล้วมนุษย์ตายคนละกี่สิบกี่ร้อยครั้ง  เทวดาที่อยู่ภาคพื้นแม้เพียงรายหนึ่งก็ยังไม่ตายกันเลย  ไม่ต้องพูดถึงเทวดาบนสวรรค์ชั้นพรหมซึ่งมีอายุยืนนานกันเลย

          มนุษย์จำนวนมากมีความประมาทมาก  ที่มีความไม่ประมาทมีน้อยเต็มที  มนุษย์เองเป็นผู้รักษาศาสนา  แต่แล้วมนุษย์เสียเองไม่รู้จักศาสนา  ไม่รู้จักศีลธรรมซึ่งเป็นของดีเยี่ยม  มนุษย์คนใดชั่วก็ยิ่งรู้จักแต่จะทำชั่วถ่ายเดียว  เขายังแต่ลมหายใจเท่านั้น  พอเป็นมนุษย์อยู่กับโลกเขา  พอลมหายใจขาดไปเท่านั้น  เขาก็จมไปกับความชั่วของเขาทันทีแล้ว  เทวดาก็ได้ยินทำไมจะไม่ได้ยิน  ปิดไม่อยู่  เวลามนุษย์ตายแล้วนิมนต์พระท่านมาสาธยายธรรมกุสลา  ธัมมาให้คนตายฟัง  เขาจะเอาอะไรมาฟังสำหรับคนชั่วขนาดนั้น  พอแต่ตายลงไปกรรมชั่วก็มัดดวงวิญญาณเขาไปแล้ว  เริ่มแต่ขณะสิ้นลมหายใจจะมีโอกาสมาฟังเทศน์ฟังธรรมได้อย่างไร  แม้ขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ก็ไม่สนใจ  อยากฟังเทศน์ฟังธรรม  นอกจากคนที่ยังเป็นอยู่เท่านั้น  พอฟังได้ถ้าสนใจอยากฟัง  แต่เขามิได้สนใจฟังหรอกท่าน

          ท่านไม่สังเกตดูเขาบ้างหรือ  เวลาพระท่านสาธยายธรรมกุสลา  ธัมมาให้ฟัง  เขาสนใจฟังเมื่อไร  ศาสนามิได้ถึงใจมนุษย์เท่าที่ควรหรอกท่าน  เพราะเขาไม่สนใจกับศาสนา  สิ่งที่เขารักชอบที่สุดนั้น  มันเป็นสิ่งที่ต่ำทรามที่สัตว์เดียรัจฉานบางตัวก็ยังไม่อยากชอบ  นั่นแลเป็นสิ่งที่มนุษย์ที่ไม่ชอบศาสนาชอบมากกว่าสิ่งอื่นใด  และชอบแต่ไหนแต่ไรมา  ทั้งชอบแบบไม่มีวันเบื่อไม่รู้จักเบื่อเอาเลย  ขณะจะขาดใจยังชอบอยู่เลยท่าน  พวกเทวดารู้เรื่องของมนุษย์ได้ดีกว่ามนุษย์จะมาสนใจรู้เรื่องของพวกเทวดาเป็นไหนๆ มีท่านนี่แลเป็นพระวิเศษ  รู้ทั้งเรื่องมนุษย์ทั้งเรื่องเทวดาทั้งเรื่องสัตว์นรก  สัตว์กี่ประเภทท่านรู้ได้ดีกว่าเป็นไหนๆ ฉะนั้น  พวกเทวดาทั้งหลาย  จึงยอมตนลงกราบไหว้ท่าน

          พอหัวหน้าเทวดาพูดจบลง  ท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดเป็นเชิงปรึกษาว่า  เทวดาเป็นผู้มีตาทิพย์หูทิพย์แลเห็นได้ไกล  ฟังเสียงได้ไกล  รู้เรื่องดีชั่วของชาวมนุษย์ได้ดีกว่ามนุษย์จะรู้เรื่องของตัวเองและรู้เรื่องของพวกมนุษย์ด้วยกัน  จะไม่พอมีทางเตือนมนุษย์ให้รู้สึกสำนึกในความผิดถูกที่ตนทำได้บ้างหรือ  อาตมาเข้าใจว่าจะได้ผลดีกว่ามนุษย์ด้วยกัน  ตักเตือนกันสั่งสอนกัน จะพอมีทางได้บ้างไหม  หัวหน้าเทวดาตอบท่านว่า เทวดายังไม่เคยเห็นมนุษย์มีกี่รายพอจะมีใจเป็นมนุษย์สมภูมิเหมือนอย่างพระคุณเจ้า  ซึ่งให้ความเมตตาแก่ชาวเทพฯ และชาวมนุษย์ตลอดมาเลย  พอที่เขาจะรับทราบว่าในโลกนี้มีสัตว์ชนิดต่างๆ หลายต่อหลายจำพวกอยู่ด้วยกัน  ทั้งที่เป็นภพหยาบ ทั้งที่เป็นภพละเอียด  ซึ่งมนุษย์จะยอมรับว่าเทวดาประเภทต่างๆ มีอยู่ในโลก  และสัตว์อะไรๆ ที่มีอยู่ในโลกกี่หมื่นกี่แสนประเภทว่ามีจริงตามที่สัตว์เหล่านั้นมีอยู่

          เพราะนับแต่เกิดมามนุษย์ไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาแต่พ่อแต่แม่แต่ปู่ย่าตายาย  แล้วมนุษย์จะมาสนใจอะไรกับเทวดาเล่าท่าน  นอกจากเห็นอะไรผิดสังเกตบ้างจริงหรือไม่จริงไม่คำนึง  พวกมนุษย์มีแต่พากันกล่าวตู่ว่าผีกันเท่านั้น  จะมาหวังคำตักเตือนดีชอบอะไรจากเทวดา  แม้เทวดาจะรู้เห็นพวกมนุษย์อยู่ตลอดเลา  แต่มนุษย์ก็มิได้สนใจจะรู้เทวดาเลย  แล้วจะให้เทวดาตักเตือนสั่งสอนมนุษย์ด้วยวิธีใด  เป็นเรื่องจนใจทีเดียว  ปล่อยตามกรรมของใครของเราไว้อย่างนั้นเอง  แม้แต่พวกเทวดาเองก็ยังมีกรรมเสวยอยู่ทุกขณะ  ถ้าปราศจากกรรมแล้วเทวดาก็ไปนิพพานได้เท่านั้นเอง  จะพากันอยู่ให้ลำบากไปนานอะไรกัน

          ท่านพระอาจารย์มั่นถามเขาว่า  พวกเทวดาก็รู้นิพพานกันด้วยหรือ  ถึงว่าหมดกรรมแล้วก็ไปนิพพานกันได้  และพวกเทวดาก็มีความทุกข์เช่นสัตว์ทั้งหลายเหมือนกันหรือ  เขาตอบท่านว่า  ทำไมจะไม่รู้ท่าน  ก็เพราะพระพุทธเจ้าองค์ใดมาสั่งสอนโลกก็ล้วนแต่สอนให้พ้นทุกข์ไปนิพพานกันทั้งนั้น  มิได้สอนให้จมอยู่ในกองทุกข์  แต่สัตว์โลกไม่สนใจพระนิพพานเท่าเครื่องเล่นที่เขาชอบเลย  จึงไม่มีใครคิดอยากไปนิพพานกัน  คำว่านิพพานพวกเทวดาจำได้อย่างติดใจจากพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่มาสั่งสอนสัตว์โลก  แต่เทวดาก็มีกรรมหนาจึงยังไม่พ้นจากภพของเทวดาให้ได้ไปนิพพานกันจะได้หมดปัญหาไม่ต้องวกเวียนถ่วงตนดังที่เป็นอยู่นี้  ส่วนความทุกข์นั้นถ้ามีกรรมอยู่แล้วไม่ว่าสัตว์จำพวกใดต้องมีทุกข์ไปตามส่วนของกรรมดีชั่วที่มีมากน้อยในตัวสัตว์

          ท่านถามเทวดาว่า  พระที่พูดกับเทวดารู้เรื่องกันมีอยู่แยะไหม?  เขาตอบว่ามีอยู่เหมือนกันท่าน  แต่ไม่มากนัก  โดยมากก็เป็นพระซึ่งชอบปฏิบัติบำเพ็ญอยู่ในป่าในเขาเหมือนพระคุณเจ้านี่แล  ท่านถามว่า ส่วนฆราวาสเล่ามีบ้างไหม?  เขาตอบว่า มีเหมือนกันแต่มีน้อยมากและต้องเป็นผู้ใคร่ทางธรรมปฏิบัติใจผ่องใสถึงรู้ได้  เพราะกายพวกเทวดานั้นหยาบสำหรับพวกเทวดาด้วยกัน  แต่ก็ละเอียดสำหรับมนุษย์จะรู้เห็นได้ทั่วไป  นอกจากผู้มีใจผ่องใสจึงจะรู้จะเห็นได้ไม่ยากนัก

          ท่านถามเขาว่า  ที่ธรรมท่านว่าพวกเทวดาไม่อยากมาอยู่ใกล้พวกมนุษย์ เพราะเหม็นสาบคาวมนุษย์นั้นเหม็นสาบคาวอย่างไรบ้าง  ขณะที่ท่านทั้งหลายมาเยี่ยม อาตมาไม่เหม็นคาวบ้างหรือ  ทำไมถึงพากันมาหาอาตมาบ่อยนัก  เขาตอบว่า มนุษย์ที่มีศีลธรรมมิใช่มนุษย์ที่ควรรังเกียจยิ่งเป็นที่หอมหวนชวนให้เคารพบูชาอย่างยิ่ง  และอยากมาเยี่ยมฟังเทศน์อยู่เสมอไม่เบื่อเลย  มนุษย์ที่เหม็นคาวน่ารังเกียจ คือมนุษย์ที่เหม็นคาวศีลธรรม  รังเกียจศีลธรรม  ไม่สนใจในศีลธรรม  มนุษย์ประเภทเบื่อศีลธรรมซึ่งเป็นของดีเลิศในโลกทั้งสาม  แต่ชอบในสิ่งที่น่ารังเกียจของท่านผู้ดีมีศีลธรรมทั้งหลาย  มนุษย์ประเภทนี้น่ารังเกียจจึงไม่อยากเข้าใกล้และเหม็นคาวฟุ้งไปไกลด้วย  แต่เทวดามิได้ตั้งข้อรังเกียจชาวมนุษย์แต่อย่างใด  หากเป็นนิสัยของพวกเทวดามีความรู้สึกอย่างนั้นมาดั้งเดิมดังนี้

          เวลาท่านเล่าเรื่องเทวดาภูตผีชนิดต่างๆ ให้ฟัง  ผู้ฟังเคลิ้มไปจนลืมตัวและลืมเวล่ำเวลา  ลืมเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไปตามๆ กัน  ประหนึ่งตนก็ใคร่รู้อย่างนั้นบ้าง  และคิดว่าจะรู้จะเห็นอย่างนั้นบ้างในวันหนึ่งข้างหน้า  แล้วทำให้เกิดความกระหยิ่มต่อความเพียรเพื่อผลอย่างนั้นขึ้นมา  กับตอนท่านเล่าอดีตชาติของท่านและของคนอื่นเป็นบางรายที่เห็นว่าจำเป็นให้ฟัง  ยิ่งทำให้อยากรู้เรื่องอดีตของตนจนลืมความคิดที่อยากพ้นทุกข์ไปนิพพาน  ในบางครั้งพอรู้ตัวเกิดตกใจและตำหนิตนว่า อ๋อ เรานี่จะเริ่มบ้าไปเสียแล้ว  แทนที่จะคิดไปในทางหลุดพ้นดังที่ท่านสั่งสอน  แต่กลับไปคว้าและงมเงาในอดีตที่ผ่านมาแล้ว  ก็ทำให้รู้สึกตัวไปพักหนึ่ง  พอเผลอตัวก็คิดไปอีกแล้ว  ต้องคอยปราบปรามตัวเองอยู่เรื่อย

          เวลาท่านเล่าเรื่องพวกเทวดาภูตผีชนิดต่างๆ มาเยี่ยมท่าน  รู้สึกน่าฟังมาก เฉพาะพวกภูตผีรู้สึกมีผีอันธพาลเช่นกับมนุษย์เรา  ถ้าพวกใดชอบก่อความไม่สงบมาก เขาต้องจับพวกนั้นมาขังรวมกันไว้ในคอกที่มนุษย์เรียกว่าห้องขังนั่นเอง  ขังไว้เป็นพวกๆ เป็นห้องๆ เต็มห้องขังแต่ละห้อง  มีทั้งผีอันธพาลหญิง ผีอันธพาลชาย  และอันธพาลประเภทโหดร้ายทารุณ  จำพวกทารุณยังมีทั้งหญิงทั้งชายอีกด้วย  มองดูหน้าตาพวกนี้บอกอย่างชัดแจ้งว่าแผ่เมตตาให้ไม่ยอมรับ  พวกผีนี้เขามีบ้านเมืองเหมือนมนุษย์เราเหมือนกัน  เป็นบ้านเมืองใหญ่โตมาก  มีหัวหน้าปกครองดูแลเหมือนกัน  ผีที่มีอุปนิสัยใฝ่บุญกุศลก็มีอยู่แยะ  พวกผีธรรมดาและผีจำพวกอันธพาลเคารพนับถือมาก  เพราะผู้มีอุปนิสัยวาสนาเป็นผู้มีฤทธาศักดานุภาพมาก  ผีทั้งหลายเคารพเกรงกลัวมากตามหลักธรรมชาติ  มิใช่การประจบประแจง

          ท่านเล่าว่าที่ว่าบาปมีอำนาจน้อยกว่าบุญนั้น  ท่านไปพบเห็นในเมืองผี  เป็นพยานอีกประเด็นหนึ่ง  คือผีมีวาสนาแต่มาเสวยกรรมตามวาระ  เช่น  มาเกิดเป็นภูตผี  แต่นิสัยใจคอในทางบุญนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยและมีอำนาจมากด้วย  เพียงผู้เดียวเท่านั้นก็สามารถปกครองผีได้เป็นจำนวนมากมาย  เพราะเมืองผีไม่มีการถือพ้องเหมือนเมืองมนุษย์เรา  แต่ถืออำนาจตามหลักธรรม  แม้จะฝืนถือย่างมนุษย์ก็เป็นไปไม่ได้  เพราะกรรมไม่อำนวยไปตาม  ต้องขึ้นอยู่กับกรรม  ดีชั่วเท่านั้นเป็นหลักตายตัว  อำนาจที่ใช้อยู่ในเมืองมนุษย์จึงนำไปใช้ในปรโลกไม่ได้  ท่านเล่าตอนนี้รู้สึกพิสดารมาก  แต่จำได้เพียงเล็กน้อยขาดๆ วิ่นๆ จึงขออภัยด้วย

          เวลาท่านออกเที่ยวโปรดสัตว์ตามสถามที่ที่พวกผีตั้งบ้านเรือนอยู่โดยทางสมาธิภาวนา  พอมองเห็นท่านเขาก็รีบโฆษณาบอกกันมาทำความเคารพเหมือนมนุษย์เรา  ท่านเดินผ่านไปตามที่ต่างๆ ในที่ชุมนุมผีและผ่านไปที่คุมขังผีอันธพาลหญิงชาย  โดยมีหัวหน้าผีเป็นผู้พานำทางด้วยความเคารพเลื่อมใสท่านมาก  และอธิบายสภาพความเป็นอยู่ของผีชนิดต่างๆ ให้ท่านฟัง  และอธิบายเรื่องผีที่ถูกคุมขังว่า  เป็นผู้มีใจโหดร้ายคอยรบกวนผู้อื่นไม่ให้มีความสงบสุขเท่าที่ควร  ต้องขังไว้ตามแต่โทษหนักเบาของเขา  คำว่าภูตผีนั้นเป็นคำที่มนุษย์เราให้ชื่อเขาต่างหาก  ความจริงเขาก็เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกทั่วไปตามภูมิของตนท่านว่าที่ใดมีป่ามีเขามาก  ท่านพระอาจารย์มั่นชอบพักอยู่ที่นั้นนาน  ไปๆ มาๆ อยู่ตามแถบเขานั้นๆ เมื่อท่านพักอยู่นครพนมและอบรมหมู่คณะนานพอสมควรแล้ว  ทำให้คิดถึงตัวเองมากขึ้น  โดยคำนึงถึงความรู้สึกที่โผล่ขึ้นเสมอว่ากำลังเรายังไม่พอดังนี้  ถ้าจะฝืนอยู่กับหมู่คณะไปทำนองนี้  ความเพียรก็ล่าช้า  ท่านว่าเท่าที่สังเกตดู  นับแต่กลับมาจากภาคกลางมาอบรมสั่งสอนหมู่คณะอยู่ทางภาคอีสาน  รู้สึกว่าภูมิจิตใจไม่ค่อยก้าวไปรวดเร็วเหมือนอยู่องค์เดียว  จะต้องเร่งความเพียรอีกสักพักจนบรรลุถึงความพึงใจแล้วนั่นแหละถึงจะหมดความกังวลห่วงใยตัวเอง

          ประกอบระยะนั้นท่านรับโยมมารดามาบวชเป็นอุบาสิกาอบรมอยู่ด้วยประมาณ ๖ ปี  จะไปมาทางใดไม่ค่อยสะดวก  ทำให้เป็นอารมณ์ห่วงใยอยู่เสมอ  เลยทำให้ท่านตัดสินใจจะเอาโยมมารดาไปส่งที่จังหวัดอุบลราชธานี  มารดาท่านก็เห็นดีด้วยไม่ขัดอัธยาศัย  จากนั้นท่านก็เริ่มพามารดาออกเดินทางจากนครพนม  โดยเดินตัดตรงไปภูเขาแถบหนองสูง  คำชะอี  ออกไปอำเภอเลิงนกทา  จังหวัดอุบลฯ   ขณะที่ท่านออกเดินทางทราบว่า  มีพระเณรติดตามไปด้วยมากมาก  ปีนั้นไปจำพรรษาบ้านหนองขอน  อำเภออำนาจเจริญ  อุบลฯ  มีพระเณรจำพรรษากับท่านมาก  ขณะที่จำพรรษาอยู่นี้ก็ให้การอบรมพระเณรอุบาสกอุบาสิกาอย่างเต็มกำลัง  มีผู้คนพระเณรเกิดความเชื่อเลื่อมใสและมาอยู่อบรมกับท่านมากขึ้นเป็นลำดับ

          คืนวันหนึ่งเวลาดึกสงัด  ท่านกำลังเข้าที่ภาวนา  พอจิตสงบรวมลงไป ปรากฎเห็นพระเณรจำนวนมากที่ค่อยๆ เดินตามหลังท่านมาด้วยความเคารพและมีระเบียบสวยงามน่าเลื่อมใสก็มี  ที่เดินแซงหน้าท่านไปข้างหน้าด้วยอาการลุกลี้ลุกลน  ไม่มีความเคารพและสำรวมอินทรีย์เลยก็มี  ที่กำลังถือโอกาสเดินแซงหน้าท่านไปด้วยท่าทางที่ไม่มีระเบียบธรรมวินัยติดตัวเลยก็มี  พวกที่กำลังเอาไม้มีลักษณะเหมือนไม้ผ่าครึ่งเหมือนหีบปิ้งปลา  มาคีบหัวอกท่านอย่างแน่นแทบหายใจไม่ได้ก็มี  เมื่อเห็นความแตกต่างแห่งพระทั้งหลายที่แสดงอาการไม่มีความเคารพ  และทำความโหดร้ายทรมานท่านด้วยวิธีการต่างๆ กันเช่นนี้  ท่านก็กำหนดจิตดูเหตุการณ์ที่เกิดเฉพาะหน้าให้ละเอียดก็ทราบขึ้นมาทันทีว่า

          จำพวกที่ค่อยๆ เดินตามหลังท่านด้วยความเคารพและมีระเบียบสวยงามเป็นที่น่าเลื่อมใส  นั้นคือจำพวกที่จะประพฤติปฏิบัติชอบตามโอวาทคำสั่งสอนของท่าน  จะเป็นผู้เคารพเทิดทูนท่านและพระศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่ไปในอนาคต  จะสามารถทำตนให้ประโยชน์แก่พระศาสนาตลอดหมู่ชนทั่วไปได้  และสามารถจะยังขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามทางศาสนาให้คงที่ดีงามต่อไป  เป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสทั้งมนุษย์และเทวดาอีกพรหมยมยักษ์ทั่วหน้ากัน  ซึ่งนับว่าเป็นผู้ทรงตนและพระศาสนาไว้ได้ตามแบบอริยะประเพณีไม่เสื่อมสูญ

          จำพวกที่เดินแซงหน้าท่านไปด้วยท่าทางไม่ระวังสำรวมนั้นคือจำพวกอวดรู้อวดฉลาด  เข้าใจว่าตนเรียนมากรู้มาก  ปฏิบัติดียิ่งกว่าครูอาจารย์ผู้พาปฏิบัติดำเนินด้วยสามีจิกรรมมาก่อน  ไม่สนใจเคารพเอื้อเฟื้อต่อการศึกษาไต่ถามข้ออรรถข้อธรรมใดๆ  เพราะความสำคัญตนว่าฉลาดรอบรู้ทุกอย่างแล้วปฏิบัติตนไปด้วยความสำคัญนั้นๆ  อันเป็นทางล่มจมแก่ตนและพระศาสนา  ตลอดประชาชนผู้มาเกี่ยวข้องศึกษา  ต่างจะนำยาพิษเพราะความเห็นผิดจากอาจารย์องค์นั้นไปใช้แล้วกลายเป็นผู้ทำลายตนและหมู่ชน  ตลอดกุลบุตรสุดท้ายภายหลังให้เสียหายไปตาม  โดยไม่รู้สึกระลึกได้ว่าเป็นทางถูกต้องดีงามหรือไม่ประการใด

          จำพวกที่กำลังคอยหาโอกาสเดินแซงหน้าท่านไปในลำดับต่อมานั้น  คือจำพวกที่กำลังเริ่มก่อตั้งความเสื่อมเสียแก่ตนและวงพระศาสนาต่อไป  ด้วยความสำคัญผิดชนิดต่างๆ ทำนองจำพวกก่อนซึ่งเป็นจำพวกที่จะช่วยกันทำลายตนและพระศาสนา  อันเป็นส่วนรวมดวงใจของประชาชนชาวพุทธให้ฉิบหายล่มจมลงไปโดยมิได้สนใจว่าผิดหรือถูกประการใด  จำพวกที่เอาไม้มาคีบหัวอกเท่านั้น  คือจำพวกที่เข้าใจว่าตนฉลาดรอบรู้และปฏิบัติไปด้วยความสำคัญนั้นๆ  โดยมิได้คำนึงว่าผิดหรือถูก  ทั้งที่ความจริงการปฏิบัตินั้นเป็นทางผิด  และยังมีส่วนกระทบกระเทือนวงพระศาสนาและครูอาจารย์ที่พาดำเนินมาก่อน  ให้ม่ส่วนบอบช้ำเสียหายไปด้วย  ส่วนจำพวกหลังนี้ ท่านเล่าว่า ท่านรู้ตัวและนามของพระนั้นๆ ด้วย  ที่มาทำให้ท่านลำบากนเวลาต่อมา  คือพระที่เป็นลูกศิษย์ท่านอยู่ก่อน  เป็นแต่ออกไปจำพรรษาอยู่ไม่ห่างกันนัก  ซึ่งท่านเองเป็นผู้เห็นชอบและอนุญาตให้ออกไป

          เมื่อกำหนดดูเหตุการณ์ทราบละเอียดแล้ว  ท่านก็มารำพึงถึงพระจำพวกที่มาทำความทรมานให้ท่านลำบาก  ว่าเป็นพระที่มีความเคารพเลื่อมใสและนับถือท่านมาก  ไม่น่าจะทำอย่างนั้นได้  หลังจากนั้นท่านก็ค่อยสังเกตความเคลื่อนไหวของบรรดาลูกศิษย์เหล่านั้นตลอดมา  โดยมิได้แสดงเรื่องที่ปรากฎในคืนวันนั้นให้ใครทราบเลย

          ต่อมาไม่กี่วันก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดกับข้าราชการหลายท่าน  และพระอาจารย์ที่เป็นลูกศิษย์ท่าน  และเป็นองค์ที่เป็นหัวหน้าพากันเอาไม้มาคีบหัวอกท่านมาเยี่ยมท่านที่สำนักทั้งสองฝ่ายมาแสดงความประสงค์ขอให้ท่านช่วยอนุเคราะห์ประกาศเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านในตำบลอำเภอนั้น  เพื่อสร้างโรงเรียนขึ้น ๒-๓ แห่งอันเป็นการช่วยทางราชการอีกทางหนึ่งด้วย  โดยความเห็นของทั้งสองฝ่ายที่ตกลงกันมาก่อนแล้วว่า  ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นที่เคารพเลื่อมใสของประชาชนมาก  ท่านพูดอะไรขึ้นมาต้องสำเร็จแน่นอน  จึงได้พากันมาหาท่านให้อนุเคราะห์ช่วยเหลือ  พอทราบความประสงค์ของผู้มาติดต่อแล้ว  ท่านก็ทราบทันทีว่า  พระทั้งสองรูปนี้เปนตัวการสำคัญที่ทำให้ท่านลำบาก  ซึ่งเทียบกับเอาไม้มาคีบหัวอกท่าน  โอกาสต่อไปท่านได้เรียกพระทั้งสองรูปนั้นมาอบรมสั่งสอน

          เพื่อให้รู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควรแก่เพศสมณะปฏิบัติผู้ตั้งอยู่ในควาสงบและสำรวมระวังที่เรียนทั้งนี้ก็เพื่อท่านผู้อ่านได้ทราบว่า  จิตเป็นธรรมชาติลึกลับและสามารถรู้ได้ทั้งสิ่งเปิดเผยและลึกลับ  ทั้งอดีตอนาคตและปัจจุบันดังเรื่องท่านพระอาจารย์มั่นเป็นตัวอย่างมาหลายเรื่อง  ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติเพื่อความเที่ยงตรงต่ออรรถธรรม  มิได้มีความคิดที่เป็นโลกามิสแอบแฝงอยู่ด้วยเลย  คำพูดที่ออกจากความรู้ความเห็นท่านแต่ละคำ  จึงเป็นคำที่ควรสะดุดใจว่ามิใช่เป็นคำโกหกหลอกลวงท่านผู้หนึ่งผู้ใด  ทั้งที่อยู่ใกล้ชิดและทั่วๆ ไปให้งมงายเสียหายไปด้วยแต่อย่างใด  เพราะคำพูดท่านที่นำมาลงนี้เป็นคำพูดที่พูดในวงจำเพาะพระที่อยู่ใกล้ชิด  มิได้พูดทั่วไปโดยไม่มีขอบเขต  แต่ผู้เขียนอาจเป็นนิสัยไม่ดีอยู่บ้างที่ตัดสินใจนำเอาเรื่องท่านออกมา  ความคิดก็เพื่อท่านที่สนใจได้อ่านและพิจารณาดูบ้าง  ซึ่งอาจเกิดประโยชน์เท่าที่ควร

          เรื่องของท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเรื่องอัศจรรย์  และพิสดารอยู่มากในพระปฏิบัติสมัยปัจจุบัน  ทั้งภาคปฏิบัติและความรู้ที่ท่านแสดงออกแต่ละประโยค  การสั่งสอนบางประโยคก็บอกตรงๆ บางประโยคก็บอกเป็นอุบายไม่บอกตรง  ทั้งสิ่งที่ควรและไม่ควร  การทำนายทายทักทางจิตใจนับแต่เรื่องขรัวตาที่ชายเขาถ้าสาริกาเป็นต้นเหตุมาแล้ว  ท่านระวังมากทั้งที่อยากเมตตาสงเคราะห์  บอกตามความคิดของผู้มาอบรมนั้นๆ  แสดงออกในทางผิดถูกต่างๆ อย่างบริสุทธิ์ใจในฐานะเป็นอาจารย์สอนตน  แต่เวลาบอกไปตามตรงว่า  ท่านผู้นั้นคิดอย่างนั้นผิด  ท่านผู้นี้คิดอย่างนี้ถูกต้อง  แทนที่จะได้รับประโยชน์ตามเจตนาอนุเคราะห์  แต่ผู้รับฟังกลับคิดไปอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นความเสียหายแก่ตนแทบทั้งนั้น  ไม่ค่อยมาสนใจตามเหตุผลและเจตนาสงเคราะห์เลย

          บางรายพอเห็นคิดไม่ดีและเริ่มจะเป็นชนวนแห่งความเสียหาย  ส่วนใหญ่ท่านก็ตักเตือนบ้างโดยอุบายไม่บอกตรง  เกรงว่าผู้ถูกเตือนจะกลัวและอายหมู่เพื่อนเพียงเตือนให้รู้สึกตัวมิได้ระบุนาม  แม้เช่นนั้นยังเกิดความรุ่มร้อนแทบจะเป็นบ้าเป็นหลังไปต่อหน้าต่อตาท่านและหมู่คณะก็ยังมี  เรื่องทั้งนี้จึงเท่ากับเตือนให้รู้เท่าทันถึงอุบายวิธีสั่งสอนไปในตัวทุกระยะที่เหตุการณ์เกี่ยวข้องบังคับอยู่  ต้องขออภัยหากเป็นความไม่สบายใจในบางตอน  ที่เขียนตามความจริงที่บันทึกและจดจำมาจากท่านเอง  และจากครูอาจารย์ที่อยู่กับท่านมาเป็นคราวๆ หลายท่านด้วยกัน  จึงมีหลายเรื่องและหลายรสด้วยกัน

         โดยมากสิ่งที่เป็นภัยต่อนักบวช  นักปฏิบัติ  และนักบวช  นักปฏิบัติชอบคิดโดยไม่มีเจตนา  แต่เป็นนิสัยที่ฝังประจำสันดานมาดั้งเดิม  ก็คือ  อายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ของเพศที่เป็นวิสภาคกัน  นั่นแลคือกัณฑ์เทศน์  กัณฑ์เอกที่ท่านจำต้องเทศน์และเตือนทั้งทางตรงทางอ้อมอยู่เสมอ  มิได้รามือพอให้สบายใจได้บ้าง  การนึกคิดอย่างอื่นๆ ก็มี  แต่ถ้าไม่สำคัญนักท่านก็ทำเป็นไม่สนใจ  ที่สำคัญอย่างยิ่งก็เวลาประชุมฟังธรรม  ซึ่งท่านต้องการความสงบทั้งทางกายและทางใจ  ไม่ต้องการอะไรมารบกวนทั้งผู้ฟังและผู้ให้โอวาท  จุดประสงค์ก็เพื่อได้รับประโยชน์จากการฟังจริงๆ ใครเกิดไปคะนองคิดเรื่องแสลงเพศแสลงธรรมขึ้นมาในขณะนั้น  ฟ้ามักจะผ่าเปรี้ยงๆ ลงในท่ามกลางความคิดที่กำลังคิดเพลินและท่านกลางที่ประชุม  ทำเอาผู้กำลังกล้าหาญคิดแบบไม่รู้จักตายตัวสั่นแทบสลบไปในขณะนั้นทั้งที่ไม่ได้ระบุตัวบุคคล  แต่ระบุเรื่องที่คิดซึ่งเป็นเรื่องกระตุกใจของผู้กำลังคิดเรื่องนั้นอย่างสำคัญ  แม้ผู้อื่นในที่ประชุมก็พลอยตกใจ

          และบางรายตัวสั่งไปด้วยเผื่อคิดเช่นนั้นขึ้นมาบ้างขณะเผลอ  ถ้าถูกฟ้าผ่าอยู่เรื่อยๆ  ขณะฟังเทศน์ปรากฎว่าจิตใจผู้ฟังหมอบและมีสติระวังตัวอย่างเข้มงวดกวดขัน  บางรายจิตรวมสงบลงอย่างเต็มที่ก็มีในขณะนั้น  ผู้ไม่รวมในขนาดนั้นก็อยู่ในเกณฑ์สงบและระวังตัว  เพราะกลัวฟ้าจะลงเปรี้ยงหรือเหยี่ยวจะลงโฉบเอาศีรษะขณะใดก็ไม่รู้  ถ้าเผลอคิดไม่เข้าเรื่องในขณะนั้น  ฉะนั้น  ผู้ที่อยู่กับท่านจึงมีหลักใจเป็นที่มั่นคงไปโดยลำดับ  อยู่กับท่านไปนานเท่าไรก็ยิ่งทำให้นิสัยทั้งภายในภายนอก กลมกลืนกับนิสัยท่านไปไม่มีสิ้นสุด  ผู้ใดอดทนอยู่กับท่านได้นานๆ ด้วยความใฝ่ใจ  ยอมเป็นผ้าขี้ริ้วให้ท่านดุด่าสั่งสอน  คอยยึดเอาเหตุเอาผลจากอุบายต่างๆ ที่ท่านแสดงในเวลาปกติหรือเวลาแสดงธรรม  ไม่ลดละความสังเกตและพยายามปฏิบัติตนให้เป็นไปตามท่านทุกวันเวลา  นิสัยความใคร่ธรรมและหนักแน่นในข้อปฏิบัติทุกด้านนี่แล  จะทำให้เป็นผู้มั่นคงทางภายในขึ้นวันละเล็กละน้อย จนสามารถทรงตัวได้

          ที่ไม่ค่อยได้หลักเกณฑ์จากการอยู่กับท่าน  โดยมากมักจะเพ่งเล็งภายนอกยิ่งกว่าภายใน  เช่น  กลัวท่านดุด่าบ้างเวลาคิดไปต่างๆ  ตามเรื่องความโง่ของตน  พอถูกท่านว่าให้บ้างเลยกลัวโดยมิได้คิดจะแก้ตัวสมกับไปศึกษาอบรมกับท่านเพื่อหาความดีใส่ตัว  ไม่มีเหตุมีผลอะไรเลย  ไปอยู่กับท่านก็ไปแบบเรา  อยู่แบบเรา  ฟังแบบเรา  คิดไปร้อยแปดแบบเราที่เป็นทางดั้งเดิม  อะไรๆ ก็เป็นแบบเราซึ่งมีกิเลสหนาอยู่แล้ว  ไม่มีแบบท่านเข้ามาแทรกบ้างเลย  เวลาจากท่านไปก็จำต้องไปแบบเรา  ที่เคยเป็นมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น  ชื่อว่าความดีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงพอให้เป็นที่น่าชมเชย  แต่ความชั่วที่ทับถมจนมองไม่เห็นตัวนั้นยิ่งสั่งสมขึ้นทุกวันเวลา  ไม่มีความเบื่อหน่ายอิ่มพอ  ผลจึงเป็นคนอาภัพอยู่เสมอ  ไม่มีสิ่งใดมาฉุดลากพอให้กลับฟื้นตัวได้บ้างเลย  ถ้าไปอยู่กับท่านแบบที่ว่านี้  จะอยู่นานเท่าไรก็ไม่ผิดอะไรกับ ทัพพีอยู่กับแกงที่มีรสอร่อย  แต่ทัพพีจะไม่รู้เรื่องอะไรกับแกง  นอกจากให้เขาจับโยนลงหม้อนั้นหม้อนี้ไม่ได้หยุดหย่อนเท่านั้น  กิเลสตัณหาเครื่องพอกพูนความชั่วไม่มีประมาณ  จับเราโยนลงกองทุกข์หม้อนั้นหม้อนี้ก็ทำนองเดียวกัน

          ผู้เขียนก็นับเข้าในจำนวนถูกจับโยนลงหม้อนั้นหม้อนี้ด้วย  โดยไม่ต้องสงสัยเพราะชอบขยันหมั่นเพียร  แต่สิ่งหนึ่งนั้นคอยกระซิบให้ขี้เกียจ  ชอบไปแบบท่าน  อยู่แบบท่าน  ฟังแบบท่าน  คิดแบบท่าน  อย่างเป็นอรรถเป็นธรรม  แต่สิ่งหนึ่งก็คอยกระซิบให้ไปแบบเรา  อยู่แบบเรา  ฟังแบบเรา  คิดแบบเรา  อะไรๆ ก็กระซิบให้เป็นแบบเราที่เคยเป็นมาดั้งเดิม  และกระซิบไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น  สุดท้ายก็เชื่อมั่นจนเคลิ้มหลับสนิทและยอมทำตามแบบดั้งเดิม  เราจึงเป็นคนดั้งเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นพอให้ตัวเองและผู้อื่นได้ชมเชยบ้าง  คำว่า "ดั้งเดิม" จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราและใครๆ จนมีรากฝังลึกอยู่ภายใน  ยากที่จะถอดถอนออกได้

          ถ้าไม่สังเกตสอดรู้ความเป็นมาและเป็นไปของตนอย่างเอาใจใส่  จริงๆ พอตกหน้าแล้ง  ท่านพระอาจารย์มั่นก็เริ่มพาโยมมารดาท่านออกเดินทาง  พาพักบ้านละคืนสองคืนไปเรื่อยจนถึงบ้าน  และพักอยู่ที่บ้านท่านนานพอควร  ให้การอบรมมารดาและชาวบ้านพอมีความอบอุ่นโดยทั่วกัน  แล้วก็ลาโยมมารดาและญาติออกเดินทางธุดงค์ไปเรื่อยๆ  โดยมุ่งหน้าลงไปทางภาคกลาง  ไปแบบธุดงคกรรมฐาน  ไม่รีบไม่ด่วนเจอหมู่บ้านหรือสถานที่มีน้ำท่าสมบูรณ์ก็กางกลดลงที่นั้น  แล้วพักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่อย่างเย็นใจ  พอมีกำลังกายกำลังใจแล้วก็เดินทางต่อไป  สมัยโน้นเดินด้วยเท้ากันทั้งนั้น  รถราไม่มีเหมือนสมัยนี้  ท่านว่าท่านมิได้เร่งรีบกับเวล่ำเวลา  จุดใหญ่อยู่ที่การภาวนาเท่านั้น  เดินทางทั้งวันก็เท่ากับเดินจงกรมภาวนาไปทั้งวัน

(จากหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ  โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน)




วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระสร้างวัด




          เจ้าอาวาสในกลางเป็นพระหนุ่มอายุ 40 ปี  มาจากสวนโมกข์  อยากจะทำวัดให้ร่มรื่นแบบสวนโมกข์บ้าง  แต่ต้นไม้ที่ลงไปรอบแรกก็ตายเรียบ  เพราะดินเค็ม  กำลังจะปลูกใหม่อีกรอบ

          วัดในยานใกล้เคียงมีอีกมาก  แต่ก็เป็นแบบรดน้ำมนต์ให้หวยกันไปตามเรื่อง  ชาวบ้านจึงเข้าวัดเวลามีเคราะห์  หรือต้องการโชคลาภ  ดังนั้น  เมื่อเจ้าอาวาสจัดกิจกรรมวันพระ  มีการตักบาตรทำบุญ  และเทศน์ธรรมะจึงมีญาติโยมมาสัก 20-30 คนเท่านั้นเอง

          พระในวัดมีประมาณ 10 รูป  บวชเข้ามาอยู่วัดตามประเพณีเท่านั้น

          กุฎิเจ้าอาวาสเป็นเรือนโบราณ  จึงใหญ่โตโอ่โถง  ด้านซ้ายเป็นห้องพักเจ้าอาวาส  ตรงกลางเป็นชานเสวนาและถวายของ  ส่วนด้านขวาใช้เป็นที่พักเทศน์วันพระ  ถัดลึกเข้าไปเป็นห้องพักพระเรียงเป็นตับ  คั่นกลางด้วยโรงครัว  จานชามและปิ่นโตกองอยู่เต็ม

          "จวนหายจนขี้เกียจนับ"  เจ้าอาวาสบอก  ดวงแก้วหัวเราะเบาๆ  วันนี้เธอมาสำรวจวัดและสำรวจศรัทธาเจ้าอาวาส  แล้วถามว่าท่านจะทำอย่างไรต่อไป

          "ก็จะพยายามพัฒนาไปแบบสวนโมกข์  คือสอนธรรมะนะ  ถ้าไม่ไหว  อาตมาก็คงจะไปอยู่ที่อื่น  แต่ก็ต้องสู้กันก่อนนะ"
  
          เมื่อดวงแก้วกลับมากรุงเทพฯ  เธอไปซื้อหนังสือหลวงพ่อพุทธทาส  และหลวงพ่อปัญญา  ที่วัดชลประทานฯ เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ ถอดความมาจากการเทศน์ 1 ชั่วโมง  ทุกๆ ต้นเดือนเธอก็ส่งไปให้เจ้าอาวาส 4 เรื่อง  สำหรับวันพระ 4 ครั้ง  ในเดือนนั้น  เรื่องหนึ่งก็ประมาณ 40 เล่ม  ใกล้เคียงกับจำนวนคนมาวัด

          ประมาณ 8 เดือนหลังจากนั้น  วันหนึ่งเจ้าอาวาสก็โทรศัพท์มาแจ้งข่าวงานฉลองเรือนโบราณอายุเป็นร้อยปีที่ปรับปรุงซ่อมแซมและจะใช้เป็นศาลาการเปรียญต่อไป  ดวงแก้วถามถึงความคืบหน้าของงานเผยแผ่ศาสนา  เจ้าอาวาสเล่าด้วยสุ้มเสียงสดชื่นกระปรี้กระเปร่า

          "อาตมาแจกหนังสือที่โยมส่งมาให้อยู่เรื่อยๆ  เดี๋ยวนี้คนมาวัดเยอะขึ้น  เขาเริ่มรู้แนวของวัดเราแล้วว่าเราให้ธรรมะจริงๆ  ตอนนี้มีหนุ่มๆ สาวๆ เข้ามาด้วยนะ"  ดวงแก้วฟังแล้วดีใจ  ถ้าเริ่มดึงคนหนุ่มสาวเข้าวัดได้ก็ได้การแล้ว  จะช่วยงานเผยแผ่ธรรมะได้มากขึ้น

          "ทุกปีบวชเณรมีสัก 10 คนเท่านั้น  ปีนี้มีมาบวชเป็นร้อยเลย  เวลามีงานวัด  เดี๋ยวนี้คนเต็มวัด  แจกหนังสือกันไม่ทันทีเดียว  หนังสือที่โยมส่งมาให้ต่างหากนั่น  อาตมาเก็บไว้แจกวันมีงาน  โยมมาสิ  คนเยอะมาก"

          ดวงแก้วเป็นปลื้ม  ชาวบ้านนั้นเขามีปัญญาพิจารณา  เมื่อมีธรรมะดีๆ ที่แท้จริงเข้าไปให้  เจาย่อมรับรู้ได้  เมื่อมีพระดีสักองค์หนึ่งมาสอน  ธรรมะย่อมเจริญงอกงามได้ในใจคน

          พระอย่างนี้สิจึงจะเรียกว่า  พระสร้างวัด  วัดใจ  วัดธรรม  ไม่ใช่วัตถุ


(จาก หนังสือช้อปปิ้งบุญ  โดย ขวัญ เพียงหทัย)

วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ต้นไม้ของใจแก้ว




          ใจแก้วบอกคนสวนให้ยกกระถางแสงจันทร์ไปไว้บนดาดฟ้า  มันเป็นกิ่งที่ดัดมาจากต้นหน้าบ้าน  และปักชำไว้อยู่นานจนตอนนี้ออกใบใหม่งาม  แข็งแรงพอจะย้ายที่ได้แล้ว

          เดี๋ยวนี้ที่บ้านมีแสงจันทร์ถึง 10 ต้น  จากเริ่มแรกที่มีเพียงต้นเล็กๆ  ต้นเดียวซึ่งปลูกลงดิน  ที่บ้านไม่มีบริเวณที่เป็นดินมากนัก  ต้นที่ปักชำใหม่จึงต้องใส่กระถางทั้งหมด

          นอกจากแสงจันทร์แล้ว  ในบ้านของใจแก้วก็ยังมีต้นไม้อื่นๆ อีกมากพอสมควร  แต่ใจแก้วไม่ค่อยรู้เรื่องการดูแลต้นไม้  ทำให้ตายไปหลายพันธุ์  พันธุ์ใดที่เหลืออยู่ก็ขยายเป็นหลายต้นแทน  เพราะแสดงว่ามันทนใจแก้วได้

          ในตอนแรกๆ ใจแก้วก็เหมือนคนอื่นๆ ที่อยากให้ต้นไม้สวยอยู่ตลอดเหมือนต้นไม้พลาสติก  แต่ความที่ทั้งไม่มีเวลาดูแลและดูแลไม่ค่อยเป็น  ต้นไม้ก็ไม่คล้อยตามใจแก้ว  บางทีเธอเก็บไปคิดเรื่องต้นนี้ดูใบมันเหมือนจะป่วย  ต้นนั้นทำไมไม่ออกดอก  คิดไปทั้งคืนจนแทบไม่ได้นอน

          เป็นอย่างนี้บ่อยๆ  จนวันหนึ่งใจแก้วเห็นว่าจะเอาชีวิตมาทิ้งกับต้นไม้ขี้แยเสียเป็นแน่แท้แล้ว  จึงตัดสินใจว่า  ต่อไปนี้จะไม่ยึดมั่นกับต้นไม้อีกต่อไป  ต้นไหนอยู่ได้ก็อยู่  ตายได้ก็ตาย  แต่ใจแก้วจะรอด  ปล่อยวางแล้วก็มีความสุขขึ้น  เห็นต้นไหนน้อยใจก็เฉยๆ  ดูแลอย่างดีตามปกติ  หลังจากนั้นแล้วแต่มันจะตัดสินใจเอง  ว่าจะอยู่หรือจะตายดี

          นานมาแล้วเคยอ่านนิทานเกี่ยวกับต้นไม้ต้นหนึ่ง  พอคนร้อนก็บอกให้มานอนใต้ต้น  พอคนจะปลูกบ้านก็ให้ตัดต้นไปปลูกบ้าน  เหลือแต่ตอก็ยังบอกให้คนมานั่งพัก  ต้นไม้เป็นผู้ให้ที่ใจดีตลอดมา  และสำหรับใจแก้ว  แค่เห็นต้นไม้ก็สบายใจแล้ว  ต้นไม้ยังไม่ทันทำอะไรเลย

          ใจแก้วปลูกต้นไม้มากมายหลายกระถาง  แม้จะเป็นต้นไม้  ต้นไม้ใหญ่แบบสวนสาธารณะ  แต่ใจแก้วก็พอใจ  เธอรู้สึกว่ามีคนตัดต้นไม้ในป่ามาก  เธอรู้สึกว่าบ้านเมืองร้อน  เพราะมีสิ่งทำความร้อนให้บรรยากาศมาก  นักอนุรักษ์ธรรมชาติบอกว่า  โลกร้อนขึ้นเพราะมีคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไปในชั้นบรรยากาศ  ใจแก้วไปทำอะไรกับใครไม่ได้  ไปเปลี่ยนแปลงอะไรที่ไหนไม่ได้  แต่ปลูกต้นไม้ในบ้านได้

          ต้นไม้บ้านเดียว  แม้จะหลายต้นเล็กๆ เต็มบ้านแล้ว  ก็คงไม่ทำให้สภาวะแวดล้อมของโลกเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น  แต่อย่างน้อยใจแก้วก็ได้ลงมือปลูกต้นไม้  แค่เท่าที่ตัวเองทำได้  ได้ตอบแทนคุณของโลกเล็กน้อย  ในขนาดเท่าน้ำค้างหยดเดียว  ใจแก้วก็พอใจ

          ยิ่งคิดถึงว่า  ใจแก้วหายใจอยู่ทุกวินาที  มีแต่หายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเท่านั้น  เป็นการใช้ธรรมชาติฝ่ายเดียวเลย  ความเคยชินทำให้ลืมเรื่องนี้ไปแล้ว  แต่พอนึกได้ก็ดีใจที่ใจแก้วปลูกต้นไม้ในบ้านเยอะๆ  และต้นไม้ก็ผลิตออกซิเจนคืนให้กับโลกแทนใจแก้ว



(จาก หนังสือช้อปปิ้งบุญ  โดย ขวัญ เพียงหทัย)

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ส่งหรีดส่งบุญ




          ดาหลาไปงานศพญาติที่นครปฐม  เธอแวะไปที่โต๊ะทำบุญหน้าศาลาเพื่อร่วมทำบุญด้วย  เจ้าหน้าที่เป็นคุณลุงเก่าๆ ท่าทางใจดี  ช่วยลงชื่อไว้ในสมุดรับแขก  และมอบด้วยสีแดงให้เธอเส้นหนึ่งตามธรรมเนียมจีนที่ว่า  คนที่ได้รับด้ายสีแดงจะไม่พาความเศร้าโศกในวัดติดตัวไปด้วย

          เธอนั่งที่เก้าอี้รับแขกมองดูไปรอบๆ ศาลา  มีผ้าขนหนูผืนใหญ่ยาวติดป้ายชื่อห้างร้าน  หรือชื่อคนผู้มอบให้มา  แขวนเรียงๆ กันเต็มผนัง  เจ๊กิมลั้งพูดให้ฟัง  เมื่อเธอถามถึงพวงหรีดดอกไม้สดที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวใกล้ประตู

          "ของคนมาจากกรุงเทพฯ  ถ้าคนที่นี่เขาใช้ผ้าขนหนูซะมากมันมีประโยชน์  ให้ลูกหลานใช้ต่อไปไม่ต้องทิ้งเหมือนพวงหรีด เสียของ"

          ดาหลากลับมาเล่าให้เรณูฟัง  เรณูฟังหัวเราะ  บอกว่าจุดไต้ตำตอ  เพราะญาติผู้พี่ของเธอเป็นเจ้าของร้านทำหรีดผ้าห่มอยู่ที่ผักไห่  แต่ไม่ใช่แบบแขวนเฉยๆ อย่างนี้  หากแต่พับเป็นรูปดอกไม้  รูปนกรูปอะไรสารพัด  มีรถจากต่างจังหวัดมารับไปขายส่งทีละเป็นคันรถเลย  ส่งทั่วประเทศโดยที่พี่แกไม่ต้องไปประชาสัมพันธ์  เขามารับเองถึงบ้าน  แกจ่ายงานให้คนทั้งตำบลเอาไปทำที่บ้าน  เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนชั้นดีทีเดียว

          ส่วนในกรุงเทพฯ ก็มีพวงหรีดผ้าห่มขายอยู่ตามร้านพวงหรีดดอกไม้สดบ้างเหมือนกัน  แต่คนยังสั่งซื้อไม่มาก  คงเพราะไม่ค่อยรู้กัน  เรณูบอกว่าถ้ามีผ้าห่มมากก็จะสามารถเอาไปแจกชาวบ้านยากจนทางเหนือ  ซึ่งอากาศหนาวมาก  ชาวบ้านยากจนมีเยอะ  เกือบทุกจังหวัด  แจกไปเท่าไหร่ก็ไม่พอ

          "ให้กับคนที่จำเป็นมาก  ก็ยิ่งได้บุญมากนะ"  ดาหลาเอ่ยเห็นด้วย  เรณูยังบอกอีกว่า  มีแต่คนกรุงเทพฯ เท่านั้นแหละที่ใช้พวงหรีดดอกไม้สด  ยิ่งพวงใหญ่ดอกไม้นอก  ตกเกือบพวงละ 2,000 บาท

          "เลิกงานก็เหี่ยวแล้ว  เอาไปทิ้งหลังวัด  เทศบาลมาโกยไม่ไหวหรอก  มันเยอะ  เน่าแห้งอยู่หลังวัดนั่นแหละ  เป็นภูเขาเลากา  เป็นกรรมของวัดไป  บาปของใครไม่รู้  ทั่วกรุงเทพฯ น่ะ  วันหนึ่งสงสัยทิ้งไปหลายล้านบาท"

          ดาหลากำลังฟังเพลินๆ ถึงกับสะดุ้ง

          "เฮ้ย มากไปมั้ง"

          "อะไรมาก  สมมุติมีพวงหรีดแบบ 2,000 บาท  แค่ 10 พวงนะ  แล้วพวงละ 1,000  สัก 100 พวง   เอาแค่ศาลาเดียวแล้วก็เอาแค่ 50 วัด  ก็ 6 ล้านแล้ว   แต่กรุงเทพฯ มีเป็นร้อยวัดนา  วัดละหลายศาลาด้วย  นี่แค่วันเดียว  ปีหนึ่งเท่าไหร่  ซื้อทีมฟุตบอลได้เลย"

          "โอ้โฮ"  ดาหลาเห็นรูปธรรมของพวงหรีด  เป็นรูปธรรมของธนบัตรขึ้นมาทันทีตามทฤษฎีของเรณู  ชักรู้สึกไม่อยากใช้พวงหรีดดอกไม้สดอีกแล้ว  เพราะแม้จะต้องส่งพวงหรีดเพราะหน้าตาบริษัทที่จะต้องไปโชว์ตัวว่า  บริษัทของดาหลาก็มอบให้เหมือนกัน  แต่การคิดที่  "เสร็จธุระ"  แค่นั้น   ก็ดูจะอกตัญญูต่อค่าของเงินไปหน่อย  ที่มันมีค่าแต่ใช้มันไม่คุ้มค่า  ไม่สมกับที่แม่สอนไว้ว่าให้รู้ค่าของเงิน  เพราะการไม่รู้ค่าของเงินเท่ากับไม่รู้ค่าของหยาดเหงื่อแรงงานของเราเอง  ดูถูกว่าเหงื่อของเราไม่แพง  ถ้าเหงื่อเราแพง  เงินเราที่จะใช้ไปต้องได้ประโยชน์เยอะๆ

          "เอ  แล้วจะเปลี่ยนเป็นอะไรดีถึงจะมีประโยชน์  มีอะไรนอกจากผ้าห่มอีกมั้ย"

          "เดี๋ยวนี้มีหรีดต้นไม้"  เรณูทำตัวเป็นประชาสัมพันธ์ที่ดีของสิ่งแวดล้อมโลก  "เป็นขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  ตรงถนนราชดำเนิน  ใกล้ๆ สะพานมัฆวาน  โทรศัพท์ 0-2629-8659  0-1908-3458  ฉันเคยไปสั่งนะ  เขาไปส่งที่วัดให้เลยล่ะ สบาย"

          ดาหลาสนใจจดเบอร์โทรฯ ยิกๆ ขณะที่เรณูฝอยต่อ  "ถ้ามีคนสั่งเยอะๆ  ต่อไปบ้านเมืองเราจะได้มีต้นไม้เยอะๆ  เจ้าของงานอาจจะเอาไปปลูกที่บ้าน  หรือมอบให้สวนสาธารณะ  ปลูกแล้วโตให้ร่มเงาแก่คนมาพักผ่อน  เป็นกุศลแก่ผู้ล่วงลับทุกวัน  หรือปลูกในวัดในโรงเรียนที่ยังไม่มีต้นไม้ให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นใต้ต้นไม้  หรือถ้าเป็นต้นเล็กๆ น่ารักๆ ก็ปลูกในบ้านและแจกญาติๆ กันไป  แจกเพื่อนฝูงกันไป  ให้ช่วยกันปลูกต้นไม้  ประเทศเราจะได้มีต้นไม้ทุกบ้าน  ทำให้อากาศดีมีประโยชน์กับตัวเราเอง  เวลาไปทำงานเหนื่อยๆ กลับมาบ้าน  เห็นต้นไม้แล้วสบายใจ"

          ดาหลาเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย เสริมว่า

          "แต่ใจฉันนะ  อยากให้กรมป่าไม้เอาไปปลูกป่าจังเลย  ได้วันหนึ่งๆ คงเป็นพันๆ ต้น  เท่ากับทุกคนได้ช่วยปลูกป่าไปในตัวโดยไม่ต้องจัดทัวร์ไปปลูกป่า  ประเภทต้นสูง 5 เซ็นต์  ปลูกแล้วรอด 10 เปอร์เซ็นต์  อะไรทำนองนั้น  ได้ประโยชน์หลายต่อแนะจริงมะ"

          เรณูยิ้ม  "เอ๊ะ  นี่เราได้นักอนุรักษ์ใหม่เกิดขึ้นอีกคนด้วยแฮะ ดีจัง  แต่ตอนนี้เอาแค่ที่เราทำเองได้ก่อนก็แล้วกันนะ"

          ดาหลาขมวดคิ้วสงสัย  "เอ๊ะ!  แล้วจะกระเทือนคนปลูกดอกไม้มั้ยเนี่ย"

          เรณูส่ายหน้า  "ไม่หรอก  เขาปลูกต้นไม้เป็นอยู่แล้ว  จะดอกไม้หรือต้นไม้เขาก็ปลูกตามที่ตลาดต้องการเองแหละ  ขอบใจที่ห่วง  อย่างร้านพวงหรีดก็เหมือนกัน  ถ้ามีลูกค้าซื้อเป็นต้นไม้  เขาก็สั่งต้นไม้มาขาย  เพราะราคาก็ได้เท่าๆ กัน  เขาไม่ได้เสียรายได้อะไร"

          ดาหลาค่อยยิ้มออก  "เอาละ  รับรอง  ทีนี้จะสั่งเป็นหรีดผ้าห่มมั่ง  เป็นหรีดต้นไม้บ้างจ้า  คุณเรณูจ๋า"

          เรณูยิ้มร่าเริง  "ดีแล้วจ๊ะ  การทำสิ่งดีมีประโยชน์นั้นเป็นบุญแก่ตัวเรา  การไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม  เป็นการตอบแทนคุณของธรรมชาติ  เป็นบุญอย่างหนึ่งที่เราควรทำ  เพราะเรามีชีวิตอยู่ได้นี่  เราอาศัยสิ่งแวดล้อมมากเลย  อาศัยเขาแล้วก็ต้องตอบแทนดูแลเขาให้ดี  จริงมั้ยจ๊ะ"

          "จริงซีนะ  แล้วเวลาเจอสิ่งแวดล้อมที่ดี  ใจเราก็สงบอ่อนโยนขึ้นด้วย"  ดาหลาสนับสนุนเพื่อนอย่างเต็มที่  เรณูยิ้มอย่างมีความสุขกับแนวร่วมคนใหม่



(จาก หนังสือช้อปปิ้งบุญ  โดย ขวัญ เพียงหทัย)

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

บุญไม่เกี่ยว เหนียวไว้ก่อน




          ตึ๋งหนืดเป็นคนขี้เหนียวมาก  ทั้งชาติยังไม่เคยให้ของใครเลย  เวลาใครเอาอะไรมาให้ก็มักพูดแซวว่า  แล้วเงินล่ะมีมั้ย  ออกเงินค่าอะไรให้ใครบ้างก็ไม่เคย  ออกแทนไปแล้วต้องทวงคืน  จนใครๆ ในบริษัทตั้งให้เป็นนายกสมาคมขี้เหนียวแห่งชาติ

          ความขึ้เหนียวนี่ก็บดบังสายตา  เวลาเห็นใครทำบุญอุทิศให้พ่อแม่  ก็จะคิดในใจว่า  พระกินข้าวไปหมดแล้ว  จะไปถึงพ่อแม่ได้ไง  คิดแล้วรู้สึกว่าตัวเองฉลาดไม่ถูกหลอก  ตึ๋งหนืดไม่รู้ว่าการถวายข้าวพระ  พระฉันแล้ว  จึงมีชีวิตผ่านวันนั้นไป  ได้มีโอกาศปฏิบัติธรรมหรือเผยแผ่ศาสนาต่อไป  นั่นคือบุญ  และเป็นบุญที่จะเกิดแก่ตึ๋งหนืด  และบุญนั้นแหละที่จะอุทิศให้พ่อแม่  พ่อแม่ต้องรอกินข้าวปีละจานของตึ้งหนืดซะที่ไหน  และจะกินได้อย่างไร  ให้หายวับไปอย่างการ์ตูนหรือ  ตึ๋งหนืดไม่รู้  ขี้เกียจคิด  รำคาญ

          เวลาตึ๋งหนืดเห็นตวงบุญหอบของไปบริจาค  ตึ๋งหนืดจะเสียดายแทน  และคิดไม่ตกว่าเหตุใดจะต้องเอาไปบริจาค  ทีคนอื่นไม่เห็นมาบริจาคให้เราบ้างเลยทำนองนั้น

          ตึ้งหนืดเห็นว่าการบริจาคมีแต่การให้ออกไป  มีแต่เสียของไปไม่ได้อะไรคืนมา  ตวงบุญบอกว่า  เราจะได้บุญคืนมาเก็บไว้  ท่านเรียกว่าเป็นอริยทรัพย์  เป็นทรัพย์ที่ดีกว่าที่ตึ๋งหนืดมี  เพราะอันนี้ตายแล้วเอาไปไม่ได้  ตึ๋งหนืดควรบริจาคเสียบ้าง  ชาติหน้าตึ๋งหนืดจะต้องใช้อริยทรัพย์นี่มากเลย  ด้วยจะต้องไปเกิดเป็นยาจกแน่ๆ  จากผลของความเป็นคนขี้เหนียวในชาตินี้

          วันหนึ่งตวงบุญเล่านิทานให้ฟังว่า  มีชาย 2 คน  ตอนจะมาเกิด  เทวดาให้เลือกว่าจะเป็นผู้รับหรือผู้ให้  คนแรกขอเป็นผู้รับได้ไปเกิดเป็นขอทาน  ส่วนคนที่สองขอเป็นผู้ให้  ได้ไปเกิดเป็นเศรษฐีเพราะการจะให้ได้แสดงว่าต้องมี  ตวงบุญหวังว่าเล่าแล้วตึ๋งหนืดอาจจะอยากเป็นเศรษฐี  จะได้เริ่มบริจาค

          ตึ๋งหนืดถือว่าตัวไม่เกี่ยวกับนิทานเรื่องนี้  เพราะแม้จะไม่ให้ใคร  แต่ก็ไม่เคยรับของใคร  เท่ออก

          ตวงบุญหัวเราะ  "ไม่รับจริงหรือ  เราทุกคนอยู่ในโลกนี้ต้องรับและเป็นหนี้อะไรหลายอย่าง  พ่อแม่เลี้ยงเรามา  เราก็รับแล้ว  เราทำงานให้บริษัท  บริษัทก็รับแล้ว  คือมันต้องทั้งรับและให้ซึ่งกันและกันไปทั้งนั้น  ครูต้องสอนนักเรียนถึงได้เรียน  หรือแม้แต่สายลม  แสงแดด  เราก็รับเอามา  เราเป็นหนี้ธรรมชาติด้วย  เกิดมาอยู่กินบนแผ่นดินนี้  ก็ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินด้วย"

          "แล้วคนที่เธอไปบริจาค  เขาทำอะไรให้เธอ"  ตึ๋งหนืดยังมืดมน

          "พระสอนให้เราเมตตา  สอนการให้ทาน  เราควรช่วยเหลือกันและกันในสังคม  ถ้าทุกคนเห็นแก่ตัวหมด  คนลำบากมากๆ อาจต้องไปจี้ปล้น  การช่วยเหลือกันทำให้สังคมมีความสุข  เวลาเราเดือดร้อน  เรายังอยากให้มีคนมาช่วยเหลือเราบ้างเลย  พอมีใครมาช่วยเหลือ  เราก็ดีใจประทับใจไปนาน"

          ตึ๋งหนืดยังเฉยๆ มองภาพห่วงโซ่สังคมไปไกลๆ ไม่เห็นสายตามันมั้น  แต่วันนี้ตวงบุญมาขอบริจาค  "อะไรก็ได้"  เป็นครั้งที่สิบแล้วมั้ง  ชักอายขึ้นมานิดๆ ถึงจะขี้เหนียวแต่ก็ยังอายเป็น

          ตวงบุญอยากให้ตึ๋งหนืดรู้จักการให้  จึงมาเอ่ยชวนบ่อยๆ หวังผลเพียงว่า  วันหนึ่งตึ๋งหนืดจะสว่างในธรรม  แม้เพียงเท่าเทียนไขแท่งจิ๋วก็ยังดี  เธอรู้ว่าจะต้องเริ่มทีละจิ๋วๆ  ของจิ๋วๆ ก่อน  ถ้าบุญพอมี อีกหน่อยตึ๋งหนืดจะคลายความขี้เหนียวลงได้เอง  แม้ว่าอาจจะเป็นชาติหน้า

          "ขอเสื้อที่ตึ๋งหนืดไม่ชอบมากๆ  ไม่เคยใส่เลยมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี  ที่เก็บไว้ก้นตู้น่ะ  ขอตัวเดียว"

          เพื่อไม่ให้เสียหน้ามากไป  ตึ๋งหนืดจึงให้รางวัลความพยายามของตวงบุญด้วยการพยักหน้า  แล้วบอกว่า

          "ความนี้ฉันขอทำบุญกับเธอด้วยการอนุโมทนาบุญก่อนละกัน  คราวหน้าจะให้"  ตึ๋งหนืดกัดฟัน  "เสื้อ 1 ตัว"




(จาก หนังสือช้อปปิ้งบุญ  โดย ขวัญ เพียงหทัย)

วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ : ประวัติ ตอน 6 ข้อวัตรประจำองค์ท่านโดยเฉพาะในมัชฌิมวัย-1




          ข้อวัตรประจำองค์ท่านโดยเฉพาะในมัชฌิมวัย  หลังจังหันเสร็จแล้วเข้าทางจงกรม  จวนเที่ยงหรือเที่ยงวันเข้าที่พักกลางวันเล็กน้อย  หลังจากพักก็เข้าที่ทำสมาธิภาวนาราวชั่วโมงครึ่ง  จากนั้นลงเดินจงกรมจนถึงเวลาบ่าย ๔ โมงปัดกวาดลานวัดหรือที่พักเสร็จแล้วสรงน้ำ  แล้วเข้าทางจงกรมอีกจนถึงเวลา ๑-๒ ทุ่มเข้าที่พักทำสมาธิภาวนาต่อไป  ถ้าเป็นหน้าฝนหรือหน้าแล้ง  คืนที่ฝนไม่ตกท่านยังลงมาเดินจงกรมอีกจนดึกดื่นถึงจะขึ้นกุฎิหรือเข้าที่พัก  ซึ่งเป็นร้านเล็กๆ ถ้าเห็นว่าดึกมากไปท่านก็เข้าพักจำวัด  ปกติท่านพักจำวัดราว ๒๓ นาฬิกา คือ ๕ ทุ่ม ไปตื่นเอาตี ๓ คือ ๙ ทุ่ม  ถ้าวันใดจะมีแขกเทพฯมาเยี่ยมฟังธรรม  ซึ่งปกติท่านต้องทราบไว้ล่วงหน้าในตอนเย็นก่อนแล้วทุกครั้ง  วันนั้นถ้าเขาจะมาดึกท่านก็รีบพักเสียก่อน  ถ้าจะมาราว ๕ ทุ่ม หรือเที่ยงคืนก็เข้าที่รอรับพวกเทพฯ อย่างนี้เป็นประจำ

          ท่านไปพักบำเพ็ญในที่บางแห่ง  บางคืนมีทั้งพวกเทพฯ เบื้องบนและเทพฯ เบื้องล่างจะมาเยี่ยมท่านในเวลาเดียวกันก็มี  ถ้าเป็นอย่างนี้ท่านต้องย่นเวลาคือรับแขกเทพฯ  พวกมาถึงก่อนแต่น้อย  แสดงธรรมให้ฟังและแก้ปัญหาเท่าที่จำเป็น  แล้วก็บอกชาวเทพฯ ที่มาก่อนให้ทราบว่า ถัดจากนี้ไปจะมีชาวเทพฯ มาฟังธรรมและถามปัญหาอีก  พวกที่มาก่อนก็รีบลาท่านกลับไป  พวกมาทีหลังซึ่งรออยู่ห่างๆ พอไม่ให้เสียมารยาท  ความเคารพก็พากันเข้ามา  ท่านก็เริ่มแสดงธรรมให้ฟังตามแต่บาทคาถาที่ท่านกำหนดในขณะนั้นจะผุดขึ้นมา  ซึ่งพอเหมาะกับจริตนิสัยและภูมิขอเทพฯ พวกนั้นๆ บางทีหัวหน้าเทพฯ ก็แสดงความประสงค์ขึ้นเสียเองว่าขอฟังธรรมนั้น  ท่านก็เริ่มกำหนด พอธรรมนั้นผุดขึ้นมาก็เริ่มแสดงให้พวกเทพฯ ฟัง  ในบางครั้งหัวหน้าเทพฯ ขอฟังธรรมประเภทนั้น  ท่านสงสัยต้องถามเขาก่อนว่าธรรมนั้นชื่ออะไรในสมัยนี้  เพราะชื่อธรรมที่พวกเทพฯ เคยนับถือกันมาดั้งเดิมแต่สมัยโน้นกับชื่อธรรมในสมัยนี้ต่างกันในบางสูตรบางคัมภีร์  เขาก็บอกว่าอย่างนั้นในสมัยนี้  แต่สมัยโน้นซึ่งพวกเทพฯ นับถือกันมาชื่อว่าอย่างนั้น  บางครั้งถ้าสงสัยท่านก็กำหนดเอง  ยอมเสียเวลาเล็กน้อย  บางครั้งก็ถามเขาเลยทีเดียว  แต่บางครั้งพอเขาขอฟังธรรมสูตรนั้นหรือคัมภีร์นั้น  ซึ่งเป็นสูตรหรือคัมภีร์ที่ท่านเคยรู้อยู่แล้ว  นึกว่าเป็นความนิยมในชื่ออันเดียวกัน  ท่านเลยไม่ต้องกำหนดพิจารณาต่อไป  เพราะเข้าใจว่าตรงกันกับที่เขาขอ  ท่านเริ่มแสดงไปเลย  พอแสดงขึ้นเขารีบบอกทันทีว่าไม่ใช่  ท่านยกสูตรหรือคัมภีร์ผิดไป ต้องขึ้นคาถาว่าอย่างนั้นถึงจะถูก  อย่างนี้ก็เคยมีท่านว่าพอโดนเข้าครั้งหนึ่งสองครั้งก็จำได้เอง  จากนั้นท่านต้องกำหนดให้แน่ใจเสียก่อนว่าตรงกับมนุษย์และเทวดานิยมใช้ตรงกันหรือเปล่า  ค่อยเริ่มแสดงต่อไป  บางวันพวกเทพฯ เบื้องบนบ้าง  เบื้องล่างบ้าง  พวกใดพวกหนึ่งจะมาเยี่ยมฟังธรรมกับท่านในเวลาเดียวกันกับพวกพญานาคจะมาก็มี  เช่นเดียวกับแขกมนุษย์เรามาเยี่ยมครูอาจารย์ในเวลาเดีวกันฉะนั้น  แต่นานๆ มีครั้ง  ในกรณีเช่นนี้ เมื่อเขามาในเวลาตรงกันบ่อยๆ เข้า  ท่านจำต้องตกลงกับเทพฯ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างว่าพวกนี้ให้มาในเวลาเท่านั้น  พวกนั้นให้มาในเวลาเท่านั้น  และพวกนาคให้มาในเวลาเท่านั้น  เพื่อความสะดวกทั้งฝ่ายพระฝ่ายเทพฯ  และฝ่ายนาคทั้งหลาย  ตามท่านเล่าว่า  ท่านไม่ค่อยมีเวลาว่างเท่าไรนัก  แม้จะไปอยู่ในป่าในเขาลึกๆ ก็จำต้องปฏิบัติต่อพวกเทพฯ ซึ่งมาจากเบื้องบนชั้นต่างๆ และมาจากเบื้องล่างในที่ต่างๆ กันอยู่นั่นเอง  ในคืนหนึ่งพวกหนึ่งชั้นหนึ่งไม่มา  ก็ต้องมีอีกพวกหนึ่งอีกชั้นหนึ่งและพวกรุกขเทพฯ ที่ใดที่หนึ่งมากันจนได้  จึงไม่ค่อยมีเวลาว่างในเวลากลางคืน  แต่ที่เช่นนั้นมนุษย์ไม่ค่อยมี  ถ้าลงมาพักใกล้บ้านใกล้เมืองก็เป็นชาวมนุษย์จากที่ต่างๆ มาเยี่ยม  แต่ต้องต้อนรับเวลากลางวัน  ตอนบ่ายหรือตอนเย็น  จากนั้นก็อบรมพระเณรต่อไปขณะที่จะเขียนประวัติของชาวมนุษย์เราในอันดับต่อจากชาวเทพฯ ที่มาเกี่ยวข้องกับท่านซึ่งผู้เขียนมีส่วนได้เสียรวมอยู่ด้วย  เพราะความเป็นมนุษย์ปุถุชนด้วยกัน  จึงต้องขออภัยท่านผู้อ่านมากๆ หากเป็นการไม่งามและไม่สมควรประการใดในเนื้อหาต่อไปนี้  เพราะความจำเป็นที่จำต้องเขียนตามความจริง  ที่ท่านเล่าให้ฟังเป็นการภายในโดยเฉพาะ  แต่ผู้เขียนมีนิสัยไม่ดีประจำตัวที่แก้ไม่ตกในบางกรณี  ดังเรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้  ทั้งนี้เพื่อจะได้นำมาเทียบเคียงกันระหว่างชาวมนุษย์กับชาวเทพฯ และถือเอาประโยชน์เท่าที่ควร  จึงขออภัยอีกครั้ง

          ท่านเล่าว่า  การติดต่อและแสดงธรรมระหว่างมนุษย์กับเทวดา  รู้สึกต่างกันอยู่มาก  คือเวลาแสดงธรรมให้เทวดาฟัง  ไม่ว่าเบื้องบน  เบื้องล่าง  หรือรุกขเทวดา  พวกนี้ฟังเข้าใจง่ายกว่ามนุษย์เราหลายเท่า  พอแสดงธรรมจบลง  เสียงสาธุการ ๓ ครั้ง กระเทือนโลกธาตุ  ขณะที่พวกเทพฯ ทุกชั้นทุกภูมิมาเยี่ยมก็มีความเคารพพระอย่างยิ่งไม่เคยเห็นพวกเทพฯ  แม้รายหนึ่งแสดงอาการไม่ดีไม่งามภายในใจ  ทุกอาการของพวกเทพฯ อ่อนนิ่มเหมือนผ้าพับไว้เสมอกันในขณะนั้น  ขณะที่มาก็ดี  ขณะนั่งฟังธรรมก็ดี  ขณะจะจากไปก็ดี  เป็นความสงบเรียบร้อยและสวยงามไปตลอดสาย  แต่เวลาแสดงธรรมให้ชาวมนุษย์ฟังกลับไม่เข้าใจกัน  แม้อธิบายซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ  นอกจากไม่เข้าใจแล้ว  ยังคิดตำหนิผู้แสดงอยู่ภายในอีกด้วยว่าเทศน์อะไรฟังไม่รู้เรื่องเลย  สู้องค์นั้นไม่ได้  สู้องค์นี้ไม่ได้

          บางรายยังอดจะเอากิเลสหยาบๆ  อยู่ภายในของตัวออกอวดไม่ได้ว่า  สมัยเราบวชยังเทศน์เก่งกว่านี้เป็นไหนๆ คนฟังฮากันตึงๆ  ด้วยความเพลิดเพลิน  ไม่มีการง่วงเหงาหาวนอนเลย  ยิ่งเทศน์โจทก์สองธรรมาสน์ด้วยแล้ว  คนฟังหัวเราะกันไม่ได้หุบปากตลอดกัณฑ์  บางรายก็คิดในใจว่า  คนเล่าลือกันว่าท่านเก่งมากทางรู้วาระน้ำจิตคน  ใครคิดอะไรขึ้นมาท่านรู้ได้ทันที  แต่เวลาเราคิดอะไรๆ ท่านไม่เห็นรู้บ้างเลย  ถ้ารู้ก็ต้องแสดงออกบ้าง  ถ้าไม่แสดงออกตรงๆ ต่อหน้าผู้กำลังคิด  ก็ควรพูดเป็นอุบายเปรียบเปรยว่า  นาย ก.  นาย ข.  ไม่ควรคิดเช่นนั้นๆ มันผิด  ควรเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ดังนี้  พอจะจับเงื่อนได้ว่าผู้รู้หัวใจคนจริงสมคำเล่าลือ  บางรายเตรียมตัวจะมาจับผิดจับพลาดด้วยความอวดตัวว่าฉลาดอย่างพอตัว  ผู้นั้นไม่มีความสนใจต่อธรรมเอาเลย  แม้จะแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟังด้วยวิธีใดๆ ที่เขานั่งฟังอยู่ด้วยในขณะนั้น  ก็เป็นเหมือนเทน้ำใส่หลังหมานั่นเอง  มันสลัดทิ้งหมดทันที  ไม่มีน้ำเหลืออยู่บนหลังแม้หยดเดียว  ว่าแล้วท่านก็หัวเราะ  อาจจะขบขันในใจอยู่บ้างที่นานๆ ท่านจะได้พบมนุษย์ที่ฉลาดสักครั้ง แล้วก็เล่าต่อไป

          เวลามาต่างก็แบกทิฐิมานะมาจนจะเดินแทบไม่ไหว  เพราะหนักมากเกินกว่าแรงมนุษย์ทั้งคนจะแบกหามได้  ในตัวทั้งหมดปรากฎว่ามีแต่ทิฐิมานะตัวเป้งๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่ของเล่น  มองดูแล้วน่ากลัวยิ่งกว่าที่จะน่าสงสารและคิดแสดงธรรมให้ฟัง  แต่ก็จำต้องแสดงเพื่อสังคม  ถูไถกันไปอย่างนั้นแล  ธรรมก็ไม่ทราบว่าหายไปไหนหมด  คิดหาแต่ละบทละบาทก็ไม่เห็นแสดงขึ้นมาบ้างเลย  เจ้าใจว่าธรรมจะสู้ตัวเป้งๆ ไม่ไหวเลยวิ่งหนีหมด  ยังเหลือแต่ตัวเปล่าที่เป็นเหมือนตุ๊กตา  ซึ่งกำลังถูกเหล็กแหลมทิ่มแทงอยู่อย่างไม่มีใครสนใจว่าจะมีความรู้สึกอย่างไรเวลานั้น  ที่เขาตำหนิก็ถูกของเขา  เพราะบางครั้งเราก็ไม่มีธรรมโผล่หน้าขึ้นมาเพื่อให้แสดงบ้างเลยจริงๆ มีแต่นั่งอยู่เหมือนหัวตอ  จะได้อรรถได้ธรรมมาจากไหน  แล้วท่านก็หัวเราะไปพลางเล่าไปพลาง  ผู้นั่งฟังผู้ด้วยกันหลายคนในขณะนั้น  บางรายก็เกิดตัวสั่นขึ้นมาเอาเฉยๆ แต่หาใช้ไม่เจอ  หนาหนาวไม่เจอ  เพราะไม่ใช่หน้าหนาว  เลยพากันเดาเอาเองว่าคงเป็นเพราะความกลัวนั่นเอง

          ท่านว่าถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่เทศน์  เพราะการเทศน์เป็นเหมือนโปรยยาพิษทำลายคนผู้ไม่มีความเคารพอยู่ภายใน  ส่วนธรรมนั้นยกไว้ว่าเป็นธรรมที่เยี่ยมยอดจริงๆ  มีคุณค่ามหาศาลสำหรับผู้ตั้งใจและมีเมตตาเป็นธรรม  ไม่อดวรู้อวดฉลาดเหนือธรรมตรงนี้แลที่สำคัญมากและทำให้เป็นยาพิษเผาลนเจ้าของผู้ก่อเหตุโดยไม่รู้สึกตัว  ผู้ไม่ก่อเหตุผลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  ขณะนั่งฟังอยู่ด้วยกันหลายคน  ผู้ร้อนๆ จนจะละลายตายไปก็มี  ผู้เย็นๆ จนตัวจะเหาะลอยขึ้นบนอากาศก็มี  มันผิดกันที่ใจดวงเดียวนี้เท่านั้น  นอกนั้นไม่สำคัญ  เราจะพยายามอนุเคราะห์เขาเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบาบ้างก็ไม่มีทาง  เมื่อใจไม่ยอมรับแล้วแม้จะพยายามคิดว่า  ถ้าไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่อยากให้  เกิดโทษแต่ก็ปิดไม่อยู่  เพราะผู้คอยจะสร้างบาปสร้างกรรมนั้นเขาสร้างอยู่ตลอดเวลาแบบไม่สนใจกับใครและอะไรทั้งนั้น

          การเทศน์สั่งสอนมนุษย์นับว่ายากอยู่ไม่น้อย  เวลาเขามาหาเราซึ่งไม่กี่คน  แต่โดยมากต้องมียาพิษแอบติดตัวมาจนได้ไม่มากก็พอให้รำคาญใจได้  ถ้าเราจะสนใจรำคาญอย่างโลกๆ ก็ต้องได้รำคาญจริงๆ แต่นี้ปล่อยตามบุญตามกรรม  เมื่อหมดทางแก้ไขแล้วถือว่าเป็นกรรมของสัตว์  ท่านว่าแล้วก็หัวเราะ  ผู้ตั้งใจมาเพื่อแสวงหาอรรถหาธรรมหาบุญกุศลด้วยความเชื่อบุญเชื่อกรรมจริงๆ ก็มี  นั่นน่าเห็นใจและน่าสงสารมากแต่มีจำนวนน้อย  ผู้มาแสวงหาสิ่งไม่เป็นท่าและไม่มีขอบเขตนั้น  รู้สึกมากเหลือหูเหลือตาพรรณนาไม่จบ  ฉะนั้นจึงชอบอยู่แต่ในป่าในเขาอันเป็นที่สบายกายสบายใจ  ทำความพากเพียรก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย  ไม่มีสิ่งรบกวนให้ลำบากตา ลำบากใจ มองไปทางไหน คิดเรื่องอะไรเกี่ยวกับอรรถรรมก็ปลอดโปร่างโล่งใจ

          มองดูและฟังเสียงสัตว์สาราสิง  พวกลิงค่างบ่างชะนีที่หยอกเล่นกัน  ทั้งห้อยโหนโยนตัวและกู่ร้องโหยหวนหากันอยู่ตามกิ่งไม้ชายเขาลำเนาป่า  ยังทำให้เย็นตาเย็นใจไปตามโดยมิได้คิดว่าเขาจะมีความรู้สึกอะไร่ต่อเรา  ต่างตัวต่างหากินและปีนขึ้นโดดลงไปตามภาษาของสัตว์  ทำให้รู้สึกในอิริยาบถและความเป็นอยู่ทุกด้านสดชื่นผ่องใสและวิเวกวังเวง  หากจะมีอันเป็นอันตรายขึ้นมาในเวลานั้นก็เป็นไปด้วยความสงบสุขทั้งทางกายและจิตใจ  ไม่เกลื่อนกล่นวุ่นวาย ตายแบบธรรมชาติคือมาคนเดียวไปคนเดียวแท้  โดยมากพระสาวกอรหันต์ท่านนิพพานแบบนี้กันทั้งนั้น  เพราะกายและจิตของท่านไม่มีความเกลื่อนกล่อนวุ่นวายมาแอบแฝง  มีกายอันเดียว จิตดวงเดียว และมีอารมณ์เดียว  ไม่ไหลบ่าแส่หาความทุกข์  ไม่สั่งสมอารมณ์ใดๆ มาเพิ่มเติมให้เป็นการหนักหน่วงถ่วงตน  ท่านอยู่แบบอริยะ  ไปแบบอริยะ  ไม่ระคนคละเคล้ากับสิ่งที่จะทำให้กังวลเศร้าหมองในทิฏฐธรรมปัจจุบัน

          สะอาดเท่าไรยิ่งรักษา  บริสุทธิ์เท่าไรยิ่งไม่คุ้นกับอารมณ์  ตรงกันข้ามกับที่ว่าหนักเท่าไรยิ่งขนมาเพิ่มเข้า  แต่ท่านเบาเท่าไรยิ่งขนออกจนไม่มีอะไรจะชนะ  แล้วก็อยู่กับความไม่มีทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีคือใจก็มีอยู่กับตัว  คือไม่มีงานจะขนออกและขนเข้าอีกต่อไป  เรียกว่าบรรลุถึงขั้นคนว่างงาน  ใจว่างงาน  ทางศาสนาถือการว่างงานแบบนี้เป็นความสุขอันยิ่งใหญ่  ผิดกับโลกที่ผู้ว่างงานกลายเป็นคนมีทุกข์มากขึ้น  เพราะไม่มีทางไหลมาแห่งโภคทรัพย์

          ท่าเล่าความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับเทวดาให้ฟังมากมาย  แต่นำมาเขียนเท่าที่จำได้และที่เห็นว่าควรจะยึดเป็นสารประโยชน์ได้บ้างตามสติปัญญาที่จะคัดเลือกหาแง่ที่เป็นประโยชน์  ที่มีขาดตอนไปบ้างในเรื่องเดียวกัน  เช่น  เรื่องเทวดา  เป็นต้น   ซึ่งควรจะนำมาเชื่อมโยงติดต่อกันไปจนจบ  แต่ไม่สามารถทำได้ในระยะนี้นั้น  เกี่ยวกับประสบการณ์ของท่านผู้เป็นเจ้าของ  มีประสบหลายครั้งทั้งในที่และสมัยต่างๆ กัน  จำต้องเขีนไปตามประวัติที่ท่านประสบเพื่อให้เรียงลำดับกันไปแม้เรื่องเทวดาก็ยังจะมีอยู่อีกในวาระต่อไป  ตามประวัติที่ผู้เขียนดำเนินไปถึงตามประสบการณ์นั้นๆ ไม่กล้านำมาลงให้คละเคล้ากัน  จึงขออภัยด้วยหากไม่สะดวกในการอ่าน  ซึ่งมึ่งประสงค์จะให้จบสิ้นในเรื่องทำนองเดียวกันในตอนเดียวกัน

          ที่ท่านเล่าระหว่างมนุษย์กับเทวดานั้น  เป็นเรื่องราวของมนุษย์และเทวดาในสมัยโน้นต่างหาก  ซึ่งองค์ท่านผู้ประสบและเล่าให้ฟังก็มรณภาพผ่านไปราว ๒๐ ปีนี้แล้ว  คิดว่ามนุษย์และเทวดาสมัยนั้นคงจะแปรสภาพเป็นอนิจจังไปตามกฎอันมีมาดั้งเดิม  อาจจะยังเหลือเฉพาะมนุษย์และเทวดาสมัยใหม่  ซึ่งต่างก็ได้รับการอบรมพัฒนาทางจิตใจและความประพฤติกันมาพอสมควร  เรื่องมนุษย์ทำนองที่มีในประสบการ์ของท่านจนกลายเป็นประวัติมานั้น  คงจะไม่มีท่านผู้สนใจสืบต่อให้รกรุงรังแก่ตนและประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อีกต่อไป  เพราะการศึกษานับวันเจริญ ผู้ได้รับการศึกษามากคงไม่มีท่านผู้มีจิตใจใฝ่ต่ำขนาดนั้น  จึงเป็นที่เบาใจกับชาวมนุษย์ในสมัยนี้

          ท่านพักบำเพ็ญและอบรมพระเณรและประชาชนชาวจังหวัดอุดรฯ  หนองคาย พอสมควรแล้ว  ก็ย้อนกลับไปทางจังหวัดสกลนคร  เที่ยวไปตามหมู่บ้านที่มีอยู่ในป่าในเขาต่างๆ มีอำเภอวาริชภูมิ  พังโคน  สว่างแดนดิน  วานรนิวาส  อากาศอำนวย  แล้วก็เลยเข้าเขตจังหวัดนครพนม  เที่ยวไปตามแถบอำเภอศรีสงคราม มีหมู่บ้านสามผง โนนแดง ดงน้อย คำนกกก เป็นต้น   ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยดงหนาป่าทึบ  และชุกชุมไปด้วยไข้ป่า (ไข้มาลาเรีย)  ซึ่งรายใดเจอเข้าแล้วก็ยากจะหายได้ง่ายๆ อย่างน้อยเป็นแรมปีก็ยังไม่หายขาด  หากไม่ตายก็พอทรมาน  ดังที่เคยเขียนผ่านมาบ้างแล้วว่า  "ไข้ที่พ่อตาแม่ยาเบื่อหน่ายและเกลียดชัง"  เพราะผู้เป็นไข้ประเภทนี้นานๆ ไป  แม้ยังไม่หายขาดแต่ก็พอไปมาได้และรับประทานได้  แต่ทำงานไม่ได้  บางรายก็ทำให้เป็นคนวิกลวิการไปเลยก็มี  ชาวบ้านแถบนั้นเจอกันบ่อยและมีดาษดื่น  ส่วนพระเณรจำต้องอยู่ในข่ายอันเดียวกัน  มากกว่านั้นก็ถึงตาย  ท่านจำพรรษาแถบหมู่บ้านสามผง ๓ ปี  มีพระตายเพราะไข้ป่าไปหลายรูป  ที่เป็นพระชาวทุ่งไม่เคยชินกับป่ากับเขา  เช่น  พระชาวอุบล  ร้อยเอ็ด  สารคาม  ไปอยู่กับท่านในป่าแถบนั้นไม่ค่อยได้  เพราะทนต่อไข้ป่าไม่ไหว  ต้องหลีกออกไปจำพรรษาตามหมู่บ้านแถวทุ่งๆ

          ท่านเล่าว่า  ขณะท่านกำลังแสดงธรรมอบรมพระเณรตอนกลางคืน  ที่หมู่บ้านสามผง  มีพญานาคที่อยู่แถบลำแม่น้ำสงครามได้แอบมาฟังเทศน์ท่านแทบทุกคืน  เฉพาะวันพระมาทุกคืน  ถ้าไม่มาตอนท่านอบรมพระเณร  ก็ต้องมาตอนดึกขณะท่านเข้าที่ภาวนา  ส่วนพวกเทวดาทั้งเบื้องบนเบื้องล่างมีมาห่างๆ ไม่เหมือนอยู่ที่อุดรฯ  หนองคาย  เฉพาะวันเข้าพรรษา  วัดกลางพรรษา  และวันปวารณาออกพรรษาแล้วไม่ว่าท่านจะพักจำอยู่ที่ไหนแม้แต่ในตัวเมือง  ก็ยังมีพวกเทวดาทั้งเบื้องบนเบื้องล่างชั้นใดชั้นหนึ่ง  และที่ใดที่หนึ่งมาฟังธรรมท่านมิได้ขาด  เช่น  ที่วัดเจดีย์หลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

          ขณะที่ท่านพักอยู่บ้านสามผงมีเรื่องที่แปลกอยู่เรื่องหนึ่ง  เวลานั้นเป็นหน้าแล้ง พระเณรอบรมกับท่านราว ๖๐-๗๐ รูป  น้ำท่ามีไม่พอใช้และขุ่นข้นไปหมด  พระและเณรพากันปรึกษากันกับชาวบ้านว่า  ควรจะขุดบ่อให้ลึกลงไปอีก  เผื่อจะได้น้ำที่สะอาดและพอกินพอใช้ไม่ขาดแคลนดังที่เป็นอยู่บ้าง  เมื่อตกลงกันแล้วพระผู้ใหญ่ก็เข้าไปกราบเรียนท่านเพื่อขออนุญาต  พอกราบเรียนความประสงค์ให้ท่านทราบ  ท่านนิ่งอยู่พักหนึ่ง  แล้วแสดงอาการเคร่งขรึมและห้ามออกมาอย่างเสียงแข็งว่า  ๐อย่าๆ ดีไม่ดีเป็นอันตราย"  พูดเท่านั้นก็หยุด  ไม่พูดอะไรต่อไปอีก  พระอาจารย์รูปนั้นก็งงงันในคำพูดท่านที่ว่า  "ดีไม่ดีเป็นอันตราย"  พอกราบท่านออกมาแล้วก็นำเรื่องมาเล่าให้พระเณรและญาติโยมฟังตามที่ตนได้ยินมา  แทนที่จะมีผู้คิดและเห็นตามที่ท่านพูดห้าม  แต่กลับปรึกษากันเป็นความลับว่าพวกเราไม่ต้องให้ท่านทราบ  พากันขโมยทำก็ยังได้  เพราะน้ำบ่อก็อยู่ห่างไกลจากวัน  พอจะขโมยทำได้

          พอเที่ยงวันกะว่าท่านพักจำวัดก็พากันเตรียมออกไปขุดบ่อ  พอขุดกันยังไม่ถึงไหน  ดินรอบๆ ปากบ่อก็พังลงใหญ่จนเต็มขึ้นมาเสมอพื้นที่ที่เป็นอยู่ดั้งเดิม  ปากบ่อ  เบิกกว้างและเสียหายไปเกือบหมด  พระเณรญาติโยมพากันกลัวจนใจหายใจคว่ำไปตามๆ กันและตั้งตัวไม่ติด  เพราะดินพังลงเกือบทับคนตายหนึ่ง  เพราะพากันล่วงเกินคำที่ท่านห้ามโดยไม่มีใครระลึกรู้พอยับยั้งกันไว้บ้างหนึ่งและกลัวท่านจะทราบว่า  พวกตนพากันขโมยทำโดยการฝ่าฝืนท่านหนึ่ง  พระเณรทั้งวัดและญาติโยมทั้งบ้านพากันร้อนเป็นไฟไปตามๆ กัน  และรีบพากันหาไม้มากั้นดินปากบ่อที่พังลงด้วยความเห็นโทษ  ขออาราธนาวิงวอนถึงพระคุณท่านให้ช่วยคุ้มครองพอเอาดินที่พังลงในบ่อขึ้นได้  และได้อาศัยน้ำต่อไป  เดชะบุญพออธิษฐานถึงพระคุณท่านแล้ว  ทุกอย่างเลยเรียบร้อยไปอย่างน่าอัศจรรย์คาดไม่ถึง  จึงพอมีหน้ายิ้มต่อกันได้บ้าง

          พอเสร็จงานพระเณรและญาติโยมต่างก็รีบหนีเอาตัวรอด  กลัวท่านจะมาที่นั่น  ส่วนพระเณรทั้งวัดต่างก็มีความร้อนใจสุมอยู่ตลอดเวลา  เพราะความผิดที่พากันก่อไว้แต่กลางวัน  ยิ่งจวนถึงเวลาประชุมอบรมซึ่งเคยมีเป็นประจำทุกคืนก็ยิ่งเพิ่มความไม่สบายใจมากขึ้น  ใครๆ ก็เคยรู้เคยเห็นและเคยถูกดุเรื่องทำนองนี้มาแล้วจนฝังใจ  บางเรื่องแม้ตนเคยคิดและทำจนลืมไปแล้ว  ท่านยังสามารถรู้และนำมาเทศน์สอนจนได้เพียงเรื่องน้ำบ่อซึ่งเป็นเรื่องหยาบๆ ที่พากันขโมยท่านทำทั้งวัด  จะเอาอะไรไปปิดไม่ให้ท่านทราบ  ท่านต้องทราบและเทศน์อย่างหนักแน่นอนในคืนวันนี้  หรืออย่างช้าก็ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น  อารมณ์เหล่านี้แลที่ทำให้พระเณรไม่สบายใจกันทั้งวัด  พอถึงเวลาประชุมและแทนที่จะถูกโดนอย่างหนักดังที่คาดกันไว้  ท่านกลับไม่ประชุมและไม่ดุด่าอะไรแก่ใครๆเลย  สมเป็นอาจารย์ที่ฉลาดสั่งสอนคนจำนวนมาก  ทั้งที่ทราบเรื่องนั้นได้ดีและยังทราบความไม่ดีของพระทั้งวัดที่ล่วงเกินฝ่าฝืนท่านแล้วกำลังได้รับความเร่าร้อนกันอยู่  หากจะว่าอะไรลงไปเวลานั้นก็เท่ากับการซ้ำเติมผู้ทำผิดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์  ขณะนั้นผู้ทำผิดต่างกำลังเห็นโทษของตนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

          พอรุ่งเช้าวันใหม่เวลาท่านออกจากที่ภาวนา  ปกติท่านลงเดินจงกรมจนได้เวลาบิณฑบาตแล้วค่อยขึ้นบนศาลา  ครองผ้าออกบิณฑบาตอย่างนั้นเป็นประจำมิได้ขาด  เช้าวันนั้นพอท่านจากทางจกรมขึ้นศาลา  พระทั้งวัดต่างร้อนอยู่ภายในและคอยฟังปัญหาว่าท่านจะออกแง่ไหนบ้างวันนี้  แต่แทนที่จะเป็นไปตามความคิดของพระทั้งวัด  ซึ่งกำลังกระวนกระวายอยากฟัง  แต่เรื่องกลับเป็นไปคนละโลก  คือท่านกลับพูดนิ่มนวลอ่อนหวานแสดงเป็นเชิงปลอบใจพระเณรที่กำลังเร่าร้อนให้กลับสบายใจว่า  "เรามาศึกษาหาอรรถหาธรรม  ไม่ควรกล้าจนเกินตัวและกลัวจนเกินไป  เพราะความผิดพลาดอาจมีได้ด้วยกันทุกคน  ความเห็นโทษความผิดนั่นแลเป็นความดี  พระพุทธเจ้าท่านก็เคยผิดมาก่อนพวกเรา  ตรงไหนทีเห็นว่าผิดท่านก็เห็นโทษในจุดนั้น  และพยายามแก้ไขไปทุกระยะที่เห็นว่าผิด  เจตนานั้นดีอยู่  แต่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นอาจมีได้  ควรสำรวมระวังต่อไปทุกกรณี  เพราะความมีสติระวังตัวทุกโอกาสเป็นทางของนักปราชญ์"  เพียงเท่านี้ก็หยุด  และแสดงอาการยิ้มแย้มต่อพระเณรต่อไป  ไม่มีใครจับพิรุธท่านได้เลย  แล้วก็พาออกบิณฑบาตตามปกติ

          คืนวันหลังก็ไม่ประชุมอีก  เป็นแต่สั่งให้พากันประกอบความเพียร  รวมเป็นเวลาสามคืนที่ไม่มีการประชุมอบรมธรรม  พอดีกับระยะนั้นพระเณรกำลังกลัวท่านจะเทศน์เรื่องบ่อน้ำอยู่แล้ว  ก็พอเหมาะกับที่ท่านไม่สั่งให้ประชุม  จนคืนที่สึ่ถึงมีการประชุม  เวลาประชุมก็มิได้เอ่ยถึงเรื่องบ่อน้ำ  ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ให้เรื่องหายเงียบไปเลยตั้งนาน  จนปรากฎว่าพระทั้งวัดลืมกันไปหมดแล้ว  เรื่องถึงได้โผล่ขึ้นมาอย่างไม่นึกไม่ฝันและก็ไม่มีใครกล้าเล่าถวายให้ท่านทราบเลย  เพราะต่างคนต่างปิดเงียบ  ท่านเองก็มิได้เคยไปที่บ่อซึ่งอยู่ห่างจากวัดนั้นเลย

          เริ่มแรกก็แสดงธรรมอบรมทางภาคปฏิบัติไปเรื่อยๆ อย่างธรรมดา  พอแสดงไปถึงเหตุผลและความเคารพในธรรมในครูอาจารย์  ธรรมก็เริ่มกระจายไปถึงผู้มารับการศึกษาอบรม  ว่าควรเป็นผู้หนักในเหตุผลซึ่งเป็นเรื่องของธรรมแท้  ไม่ควรปล่อยให้ความอยากที่คอยผลักดันอยู่ตลอดเวลาออกมาเพ่นพ่านในวงปฏิบัติ  จะมาทำลายธรรมอันเป็นแนวทางที่ถูกและเป็นแบบฉบับแห่งการดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์  จะทำให้ทุกสิ่งที่มุ่งปรารถนาเสียไปโดยลำดับ  ธรรมวินัยหนึ่ง  คำพูดของครูอาจารย์หนึ่ง  ที่เราถือเป็นที่เคารพไม่ควรฝ่าฝืน  การฝ่าฝืนพระธรรมวินัยและการฝ่าฝืนคำครูอาจารย์เป็นการทำลายตัวเอง  และเป็นการส่งเสริมนิสัยไม่ดีให้มีกำลังเพื่อทำลายตนและผู้อื่นต่อไปไม่มีทางสิ้นสุด  น้ำบ่อนี้มิใช่มีแต่ดินเหนียวล้วนๆ แต่มีดินทรายอยู่ข้างล่างด้วย  หากขุดลึกลงไปมากดินทรายจะพังลงไปก้นบ่อและจะทำให้ินเหนียวขาดตกลงไปด้วย  ดีไม่ดีทับหัวคนตายก็ได้จึงได้ห้ามมิให้พากันทำ

          การห้ามมิให้ทำหรือการสั่งให้ทำในกิจใดๆ ก็ตาม  ได้พิจารณาก่อนแล้วทุกอย่างถึงได้สั่งลงไป  ผู้มารับการอบรมก็ควรพิจารณาตามบ้าง  บางอย่างก็เป็นเรื่องภายในโดยเฉพาะ  ไม่จำต้องแสดงออกต่อผู้อื่นเสียจนทุกแง่ทุกมุม  เท่าที่แสดงออกเพื่อผู้อื่นก็พอเข้าใจความมุ่งหมายดีพอ  แต่ทำไมจึงไม่เข้าใจ  เช่น  อย่าทำสิ่งนั้น  แต่กลับทำในสิ่งนั้น  ให้ทำสิ่งนั้น  แต่กลับไม่ทำในสิ่งนั้นดังนี้  เรื่องทั้งนี้มิใช่ไม่เข้าใจ  ต้องเข้าใจกันแน่นอน  แต่ที่ทำไปอีกอย่างหนึ่งนั้น  เป็นความดื้อดึงตามนิสัยที่เคยดื้อดึงต่อพ่อแม่มาแต่เป็นเด็กเพราะท่านเอาใจ  นิสัยนั้นเลยติดตัวและฝังใจมาจนถึงขั้นพระขั้นเณร  ซึ่งเป็นชั้นผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว  แล้วก็มาดื้อดึงต่อครูอาจารย์ต่อพระธรรมวินัยอันเป็นทางเสียหายเข้าอีก  ความดื้อดึงในวัยและเพศนี้  ไม่ใช่ความดื้อดึงที่ควรได้รับอภัยและเอาใจเหมือนควาวเป็นเด็ก  แต่ควรตำหนิอย่างยิ่ง  ถ้าขืนดื้อดึงต่อไปอีกก็จะเป็นการส่งเสริมนิสัยไม่ดีนั้นให้ยิ่งขึ้นและควรได้รับสมัญญาว่า  "พระธุดงค์หัวดื้อ"  บริขารใช้สอยทุกชิ้นที่เกียวกับตัวก็ควรเรียกว่าบริขารของ พระหัวดื้อไปด้วย   องค์นี้ก็ดื้อ  องค์นั้นก็ด้าน  องค์โน้นก็มึนและดื้อด้านกันทั้งวัด  อาจารย์ก็ได้ลูกศิษย์หัวดื้อ  อะไรก็กลายเป็นเรื่องดื้อด้านไปเสียหมด  โลกนี้เห็นจะแตก  ศาสนาก็จะล่มจมแน่นอน  แล้วก็แสดงเป็นเชิงถามว่า  ใครบ้างที่ต้องการเป็นพระหัวดื้อและต้องการให้อาจารย์เป็นอาจารย์ของพระหัวดื้อ  มีไหมในที่นี่  ถ้ามีพรุ่งนี้ให้พากันไปรื้อไปขุดน้ำบ่ออีกให้ดินพังลงทับตาย  จะได้ไปเกิดบนสวรรค์วิมานหัวดื้อ  เผื่ชาวเทพทั้งหลายชั้นต่างๆ จะได้มาชมบารมีบ้างว่าเก่งจริง  ไม่มีชาวเทพพวกไหนแม้ชั้นพรหมโลกที่เคยเห็นและเคยได้อยู่วิมานประหลาดเช่นนี้มาก่อน

          จากนั้นก็แสดงอ่อนลงทั้งเสียงและเนื้อธรรมทำให้ผู้ฟังเห็นโทษแห่งความดื้อดึงฝ่าฝืนของตนอย่างถึงใจ  ผู้นั่งฟังอยู่ในขณะนั้นคล้ายกับลืมหายใจไปตามๆ กัน  พอจบการแสดงธรรมและเลิกประชุมแล้ว  ต่างก็ออกมาถามและยกโทษกันวุ่นวายไปว่า  มีใครไปกราบเรียนท่านถึงได้เทศน์ขนาดหนัก  ทำเอาผู้ฟังแทบสลบไปตามๆ กันในขณะนั้น  ทุกองค์ต่างก็ปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันว่า  ไม่มีใครกล้าไปกราบเรียน  เพราะต่างก็กลัวว่าท่านจะทราบและถูกโดนเทศน์หนักอยู่แล้ว  เรื่องก็เป็นอันผ่านไปโดยมิได้ต้นสายปลายเหตุ

          ตามปกติ  ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ มาแต่สมัยท่านจำพรรษาอยู่ถ้าสาริก  จังหวัดนครนายกตลอดมา  และมีความชำนาญกว้างขวางขึ้นเป็นลำดับจนแทบจะพูดได้ว่าไม่มีประมาณ  เวลาปกติก็ดี  ขณะเข้าประชุมฟังการอบรมก็ดี  พระที่อยู่กับท่านซึ่งรู้เรื่องของท่านได้ดีต้องมีความระวังสำรวมจิตอย่างเข้มงวดกวดขันอยู่ตลอดไป  จะเผลอตัวคิดไปต่างๆ นานาไม่ได้  เวลาเข้าประชุมความคิดนั้นต้องกลับมาเป็นกัณฑ์เทศน์ให้เจ้าของฟังอีกจนได้  ยิ่งขณะที่ท่านกำลังให้การอบรมอยู่ด้วยแล้วยิ่งเป็นเวลาที่สำคัญมากกว่าเวลาอื่นใด  ทั้งๆ ที่แสดงธรรมอยู่  แต่ขณะที่หยุดหายใจ  หรือหยุดเพื่อสังเกตการณ์อะไรก็สุดจะเดา  เพียงขณะเดียวเท่านั้น  ถ้ามีรายใดคิดเปะปะออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง  ขณะนั้นแลเป็นต้องได้เรื่อง  และได้ยินเสียงเทศน์แปลกๆ ออกมาทันที  ซึ่งตรงกับความคิดที่ไม่มีสติรายนั้นๆ เป็นแต่ท่านไม่ระบุรายชื่อออกมาอย่างเปิดเผยเท่านั้น  แม้เช่นนั้นก็ทำให้ผู้คิดสะดุดใจในความคิดของตนทันทีและกลัวท่านมาก  ไม่กล้าคิดแบบนั้นต่อไปอีก

          กับเวลาออกบิณฑบาตตามหลังท่านนั้นหนึ่ง  จะต้องระวัง  ไม่เช่นนั้นจะได้ยินเสียงเทศน์เรื่องความคิดไม่ดีของตนในเวลาเข้าประชุมแน่นอน  บางทีก็น่าอับอายหมู่เพื่อนที่นั่งฟังอยู่ด้วยกัน  หลายท่านซึ่งได้ยินแต่เสียงท่านเทศน์ระบุเรื่องความคิด  แต่มิได้ระบุตัวผู้คิด  ผู้ถูกเทศน์แทบมุดดินให้จมหายหน้าไปเลยก็มี  เพราะบางครั้งเวลาได้ยินท่านเทศน์แบบนั้น  ทำให้ผู้ฟังอยู่ด้วยกันหลายท่านต่างหันหน้ามององค์นั้น  ชำเลืองดูองค์นี้  เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นองค์ไหนแน่ที่ถูกเทศน์เรื่องนั้นอยู่ขณะนั้น  บรรดาพระเณรจำนวนมากรู้สึกจะมีนิสัยคล้ายคลึงกัน  พอโดนเจ็บๆ ออกมาแล้วแทนที่จะเสียใจหรือโกรธ  พอพ้นเขตดัดสันดานออกมาต่างแสดงความยิ้มแย้มขบขันพอใจ  และไต่ถามซึ่งกันและกันว่า  วันนี้โดนใคร?  วันนี้โดนใคร?

          แต่าน่าชมเชยอยู่อย่างหนึ่ง  ที่พระท่านมีความสัตย์ซื่อต่อความคิดผิดของตัวและต่อเพื่อนฝูง  ไม่ปกปิดไว้เฉพาะตัว  พอมีผู้ถามจะเป็นองค์ใดก็ตามที่คิดผิดทำนองท่านเทศน์นั้น  องค์นั้นต้องสารภาพตนทันทีว่า  วันนี้โดนผมเอง  เพราะผมมันดื้อไม่เข้าเรื่องไปหาญคิดเรื่อง.....   ทั้งที่ตามปกติก็รู้อยู่ว่าจะโดนเทศน์ถ้าขืนคิดอย่างนั้น  แต่พอไปเจอเข้ามันลืมเรื่องที่เคยกลัวเสียสิ้น  มีแต่เรื่องกล้าแบบบ้าๆ บอๆ ออกมาท่าเดียว  ที่ท่านเทศน์นั้นสมควรอย่างยิ่งแล้ว  จะได้ดัดสันดานเราที่คิดไม่ดีเสียที

          ต้องขออภัยจากท่านผู้อ่านมากๆ ที่บางเรื่องผู้เขียนก็ไม่สะดวกใจที่จะเขียน  แต่เรื่องที่ว่าไม่สะดวกก็มีผู้ก่อไว้แล้ว  พอให้เกิดปัญหากลืนไม่ได้คายไม่ออกขวางอยู่ในคอดีๆ นี่เอง  ถ้าได้ระบายออกตามความจริงก็น่าจเป็นธรรม  เหมือนพระท่านแสดงอาบัติ  ก็เป็นวิธีที่ทำให้หมดโทษหมดกังวล  ไม่กำเริบต่อไป  จึงเรียนเป็นบางตอน  พอเป็นข้อคิดจากทั้งท่านผู้เป็นเจ้าของเรื่องทั้งท่านผู้ชำระเรื่อง  ทั้งพวกเราผู้มีหัวใจที่อาจมีความคิดอย่างนั้นบ้าง

          โดยมากนักบวชและนักปฏิบัติที่โดนเทศน์เจ็บๆ อยู่บ่อยๆ  ก็เนื่องจากอายตนะภายนอก  คือ  รูป  เสียง  เป็นต้น   ที่เป็นวิสภาคต่อกันนั่นเอง  มากกว่าเรื่องอื่นๆ ต้นเหตุที่ถูกเทศน์โดยมากก็เวลาบิณฑบาต  ซึ่งเป็นกิจจำเป็นของพระ  จะละเว้นมิได้  เวลาไปก็ต้องเจอ  เวลาเจอก็จำต้องคิดไปต่างๆ  บางรายพอเจอเข้าเกิดความรักชอบ  ความคิดกลายเป็นกงจักรไปโดยไม่รู้สึกตัว  นี่แลคือต้นเหตุสำคัญที่ฉุดลากใจให้คิดออกไปนอกลู่นอกทาง  ทั้งที่ไม่อยากจะให้เป็นเช่นนั้น  พอได้สติรั้งกลับมาได้  ตกตอนเย็นมาก็โดนเทศน์  แล้วพยายามทำความสำรวมต่อไป  พอวาระต่อไปก็ไปเจอเอาของดีเข้าอีก  ทำให้แผลกำเริบขึ้นอีก  ขากลับมาวัดก็โดนยาเม็ดขนานเด็ดๆ ใส่แผลเข้าอีก  คือ  โดนเทศน์นั่นเอง  ถ้าองค์นี้ไม่โดนของดี  แต่องค์นั้นก็โดนเข้าจนได้  เพราะพระเณรมีมากต่อมากและต่างองค์ก็มีแผลเครื่องรับของแสดงด้วยกัน  ฉะนั้น   จึงไปโดนแต่ของดีมาจนไม่ชนะจะหลบหลีกแก้ไข  พอมาถึงวัดและสบจังหวะก็โดนเทศน์จากท่านเข้าอีก

          ธรรมดาความคิดของคนมีกิเลสก็ต้องมีคิดไปต่างๆ ดี  บ้างชั่วบ้าง  ท่านเองก็ไม่ใช่นักดุด่าไปเสียทุกขณะจิตที่คิด  ที่ท่านตำหนิก็คือสิ่งที่ท่านอยากให้คิด  เช่น  คิดอรรถคิดธรรมด้วยสติปัญญาเพื่อหาทางปลดเปลื้องตนออกจากทุกข์  อันเป็นความคิดที่ถูกทางและเบาใจแก่ผู้อบรมสั่งสอนนั้นไม่ค่อยชอบคิดกัน  แต่ชอบไปคิดในสิ่งที่ไม่อยากให้คิด  จึงโดนเทศน์กันอยู่เสมอแทบทุกคืน  เพราะผู้ทำให้ท่านต้องเทศน์บ่อยๆ มีมาก

          ทั้งนี้กล่าวถึงความรู้ความละเอียดแห่งปรจิตตวิชชา  คือการกำหนดรู้ใจผู้อื่นของท่านพระอาจารย์มั่น  ว่าท่านรู้และสามารถจริงๆ  ส่วนความคิดที่น่าตำหนินั้น ก็มิได้เป็นขึ้นด้วยเจตนาจะสั่งสมของผู้ผลิต  หากแต่เป็นขึ้นเพราะความเผอเรอที่สติตามไม่ทันเป็นบางครั้งเท่านั้น  แม้เช่นนั้นในฐานะที่ท่านเป็นอาจารย์ผู้คอยให้ความรู้ความฉลาดแก่ลูกศิษย์  เมื่อเห็นว่าไม่เหมาะสมก็รีบเตือนเพื่อผู้นั้นจะได้สติและเข็ดหลาบแล้วระวังสำรวมต่อไป  ไม่หลวมตัวคิดอย่างนั้นอีก  จะเป็นทางเบิกกว้างเพื่อความเสียหายต่อไป  เพราะความคิดซ้ำซากเป็นเครื่องส่งเสริมการสั่งสอนพระ  รู้สึกว่าท่านสั่งสอนละเอียดถี่ถ้วนมาก  ศีลที่เป็นฝ่ายวินัยท่านก็สอนละเอียด  สมาธิและปัญญาที่เป็นฝ่ายธรรมท่านยิ่งสอนละเอียดลออมาก  แต่ปัญญาขั้นสูงสุดจะเขียนลงข้างหน้าตามประวัติท่านที่บำเพ็ญธรรมขั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ  ส่วนสมาธิทุกขั้น และปัญญาขั้นกลาง  ท่านเริ่มมีความชำนาญมาแล้วจากถ้ำสาริกา  นครนายก  พอมาฝึกซ้อมอยู่ทางภาคอีสานนานพอควรก็ยิ่งมีความชำนิชำนาญยิ่งขึ้น  ฉะนั้น  การอธิบายสมาธิทุกขั้นและวิปัสสนาขั้นกลางแก่พระเณร  ท่านจึงอธิบายได้อย่างคล่องแคล่วมาก  ไม่มีการเคลื่อนคลาดจากหลักสมาธิปัญญาที่ถูกต้องเลย  ผู้รับการอบรมได้ฟังอย่างถึงใจทุกขั้นของสมาธิและปัญญาขั้นกลาง

          สมาธิท่านรู้สึกแปลกและพิสดารมาก  ทั้งขณิกสมาธิ  อุปจารสมาธิ  และอัปปนาสมาธิ  คือขณะจิตรวมเป็นขณิกสมาธิแล้วตั้งอยู่ได้ขณะเดียว  แต่มิได้ถอนออกมาเป็นจิตธรรมดา  หากแต่ถอนออกมาสู่อุปจารสมาธิ  แล้วออกรู้สิ่งต่างๆ ไม่มีประมาณ  บางครั้งเกี่ยวกับพวกภูตผี  เทวบุตร  เทวธิดา  พญานาคต่างๆ นับภพ  นับภูมิได้ที่มาเกี่ยวข้องกับสมาธิประเภทนี้  ซึ่งท่านใช้รับแขกจำพวกมีรูปไม่ปรากฏด้วยตา  มีเสียงไม่ปรากฏด้วยหูมาเป็นประจำ  บางครั้งจิตก็เหาะลอยออกจากกายแล้วเที่ยวชมสวรรค์วิมานและพรหมโลกชั้นต่างๆ  และลงไปเที่ยวดูภพภูมิของสัตว์นรกที่กำลังเสวยกรรม  มีประเภทต่างกันอยู่ที่ที่ทรมานต่างๆ กันตามกรรมของตน

          คำว่าขึ้นลงตามคำสมมุติที่โลกนำมาใช้กันตามกิริยาของกายซึ่งเป็นอวัยวะหยาบนั้น  ผิดกัยกิริยาของจิตซึ่งเป็นของละเอียดอยู่มากจนกลายเป็ฯคนละโลกเอาเลย  คำว่าขึ้นหรือลงของกาย  รู้สึกเป็นประโยคพยายามอย่างเอาจริงเอาจัง  แต่จิตถ้าใช้กิริยาแบบกายบ้างว่าขึ้นหรือลงก็สักแต่ว่าเท่านั้น  แต่มิได้เป็นประโยคพยายามว่าจิตขึ้นหรือลงเลย  คำว่าสวรรค์  พรหมโลก  และนิพพาน  อยู่สูงขึ้นไปตามลำดับแห่งความละเอียดของชั้นนั้นๆ ก็ดี  คำว่านรกอยู่ต่ำลงไปตามลำดับของความต่ำแห่งภูมิและผู้มีกรรมต่างๆ กันก็ดีนี้  เรานำด้านวัตถุเข้าไปวัดกับนามธรรมเหล่านั้นต่างหาก  นรก  สวรรค์ เป็นต้น   จึงมีต่ำสูงไปตามโลก

          เราพอเทียบกันได้บ้าง  เช่น  นักโทษทั้งลหุโทษที่อยู่ในเรือนจำอันเดียวกัน  ซึ่งตั้งอยู่ในที่ที่มนุษย์ผู้ไม่มีโทษทัณฑ์อะไรอยู่กัน  ในนักโทษทั้งสองชนิดไม่มีการขึ้นลง  ต่างกันที่ตรงไหนบ้างเลย  เพราะอยู่ในเรือนจำอันเดียวกันและไม่มีขึ้นลง  ต่างกันกับมนุษย์ผู้ไม่มีโทษอีกด้วย  เพราะเรือนจำหรือตะรางอันเป็นที่อยู๋ของนักโทษทุกชนิดอยู่กันกับสถานที่ที่มนุษย์อยู่กัน  มันเป็นแผ่นดินอันเดียวกัน  บ้านเมืองอันเดียวกัน  เป็นแต่แยกเป็นเอกเทศกันอยู่คนละส่วนเท่านั้น  เมื่อต่างคนต่างมีตาดีหูดี  ทั้งลหุโทษ ครุโทษและมนุษย์ผู้ปราศจากโทษ  ต่างก็มองเห็นได้ยินและรู้เรื่องของกันได้อย่างธรรมดาทั่วๆ ไป  ไม่เป็นปัญหาเหมือนระหว่างพวกนรกกับเทวดา  ระหว่างเทวดากับพรหม  และระหว่างพวกเทพฯ ทุกชั้นกับสัตว์นรกทุกภูมิ  และระหว่างสัตว์นรกทุกภูมิและเทวดาพรหมทุกชั้นกับพวกมนุษย์ที่ไม่รู้เรื่องของกันเอาเลยแม้กระแสใจของทุกๆจำพวกจะส่งประสานผ่านภูมิที่อยู่ของกันและกันอยู่ตลอดเวลา  แต่ก็เหมือนไม่ได้ผ่านและเหมือนไม่มีอะไรมีอยู่ในโลก  นอกจากเราคนเดียวที่รู้เรื่องของตัวทุกอย่างเท่านั้น  จะรับรองตนได้ว่า  การมีอยู่ในโลก  เพียงใจที่มีอยู่กับทุกคนตลอดสัตว์ก็ยังไม่สามารถรู้เรื่องความคิดดีชั่วของกันและกันได้  ถ้าจะปฏิเสธว่าใจของคนและสัตว์ไม่มีและถ้ามีทำไมไม่รู้ไม่เห็นใจเรื่องใจกันบ้าง  ดังนี้  ก็พอจะปฏิเสธได้ถ้าจะเป็นความจริงตามคำปฏิเสธ  แต่จะปฏิเสธวันยังค่ำก็คงผิดไปทั้งวัน  เพราะปกติคนและสัตว์ที่ยังครองตัวอยู่ย่อมมีใจด้วยกันทุกราย  แม้จะไม่รู้ไม่เห็นความคิดของกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า  ใจไม่มีในร่างที่เราไม่สามารถมองเห็นและได้ยิน  สิ่งละเอียดที่สุดวิสัยของตาหูจะรับรู้ได้ในโลกแห่งสัตว์ทั้งหลาย  ก็คงขึ้นอยู่กับความไม่สามารถของแต่ละราย  ไม่ขึ้นกับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่จะปกปิดตัวเอง

(จากหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ  โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน)