วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๑๔ องค์หลวงปู่มั่นสอนอุบายวิธีภาวนา

เทศน์เมื่อ  ๓  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๑



          นี่ล่ะครูบาอาจารย์เฉลียวฉลาดอย่างนั้นนะ  ไม่อย่างนั้นสอนลูกศิษย์ให้เป็นอรรถเป็นธรรมไม่ได้  เราก็ไม่ค่อยคิดเวลาฝึกหัดทีแรก  ถ้าว่าฉันก็เต็มเหนี่ยว  ถ้าว่านอนก็หมอนแตก  เสื่อขาด  แต่ว่าจะสู้กับกิเลส  ก็ไม่ทราบเอาอะไรไปสู้  มันหากเป็นอยู่ในใจ  จนท่านหาอุบายสอน  "เออ ! ที่สติตั้งไม่อยู่นี้  มันมีสิ่งผลักดันอยู่ภายใน"  นั่นท่านว่านะ  "การอยู่กินหลับนอน"  ท่านขึ้นต้นนี่ล่ะพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรา  "ถ้าอยู่แบบสบาย  กิเลสเอาให้แหลกตลอด"  ท่านว่าอย่างนั้น  "อยู่กินสบาย  นอนสบาย  เรียกว่า  ขึ้นเชียงให้กิเลสสับยำตลอดเวลา"

          นี่ได้ฟังไหมอุบายครูบาอาจารย์สอนเรา  ต้องมีฟัดมีเหวี่ยง  การต่อสู้กัน  นักมวยเขาต่อสู้กัน  เขาต่างคนต่างฟัดต่างเหวี่ยงกันเต็มสติกำลังความสามารถของทั้งสองฝ่ายที่เขาต่อสู้กัน  นั่นท่านว่า  "เราที่ต่อสู้กับกิเลสด้วยธรรม  เราก็ต้องเป็นอย่างนั้น  ต้องหาอุบายวิธีการหลายอย่างมาใช้  เราจะมีแต่ความตั้งใจเฉยๆ  ล้มเหลว"  ท่านว่า  นี่ล่ะครูบาอาจารย์สอนเรา  เราจำได้  มันมีกำลังอะไรมากมายนัก  มันถึงตั้งสติไม่อยู่  ทำให้ล้มเหลวๆ นี่แสดงว่ากำลังวังชาทางด้านร่างกายมากเป็นเครื่องหนุนของกิเลสได้ดี

          นั่นฟังซิน่ะ  คือ  กินมาก  นอนมาก  เป็นเครื่่องส่งเสริมของกิเลส  ทำให้ความเพียรของเราล้มเหลวๆ เอา   ให้ตัดทอนลง  ฟังซิท่านพูด  "กินมากให้กินแต่น้อย  นอนมากให้นอนแต่น้อย  ให้ตัดมันลง  แล้วความเพียร คือ สติให้ตั้งไม่ถอย"  ท่านว่าอย่างนั้น  "เอา ! สังเกตตู  ให้ลดการกิน  ลดการนอน"  นี่ล่ะครูบาอาจารย์สอนลูกศิษย์ลูกหา  "การกิน  ถ้ากินมากมันเหมือนหมูขึ้นเขียง  ไม่มีลวดลายอะไรเลย  เอาๆ กินน้อย  พักไม่กิน"  นั่นท่านพูดเป็นหลายขั้นหลายตอน  "กิเลสมันอาศัยอันนี้ล่ะเป็นเครื่องมือ  เป็นกำลังของมันทำลายเรา  ให้เราทำความเพียรไม่สะดวก  ดีไม่ดีล้มเหลว"

          จับอันนั้นปุ๊บๆ เพราะฟัง  ฟังจริงๆ ไม่ใช่ธรรมดา  ฟังอย่างเอาจริงเอาจัง  เราที่ไม่เข้าใจอุบายใด  พอท่านว่าปั๊บ  จับปุ๊บๆๆ นำมาปฏิบัติทันทีที่มันก็เห็นผลอย่างท่านว่า  เอา ! ลดอาหารลง  มันเป็นอย่างไร  ลดการนอนลง  เอาทีนี้ความเพียร  สติตั้งให้ดีจะเป็นผลประโยชน์อย่างไรบ้าง  ดูกันตรงนี้  ซัดไปซัดมามันก็ได้เงื่อน  อ๋อ! การกินนี่ก็ตัดทอนความเพียร  การกินมากตัดทอนความเพียร  สติไม่ดี  นอนมากสติไม่ดี  เป็นเครื่องส่งเสริม  ทีนี้ตัดลง  อาหารกินแต่น้อย นอน นอนแต่น้อย  ต่อจากนั้นตัดบ้างอาหารไม่กิน

          เอา ! สังเกตดู  สติเป็นอย่างไร  ตั้งสติ  สติค่อยดีขึ้นๆ พอดีขึ้นจับได้  ดีเพราะเหตุไร  เช่น  ดีเพราะผ่อนอาหาร  เอา ! ผ่อน  ดีเพราะการอดนอน  เอา ! อด  ผ่อนนอนมากเข้าๆ สุดท้ายการกินตัดบ้างไม่กินบ้างอะไรบ้าง  สติค่อยดีขึ้นๆ จังได้เอามาทบทวนกัน  ความเพียรค่อยก้าวขึ้นๆ  พอจับเงื่อนได้แล้วทีนี้มันก็เอาล่ะ  แต่นิสัยเรามันมักจะผาดโผนตลอดนะ  แม้แต่ครูบาอาจารย์ท่านไสเราขึ้นนี้  ท่านยังต้องได้รั้งเราไว้  เพราะมันผาดโผนมากแต่ไหนแต่ไรมา  ถ้าลงใจในจุดไหนแล้วขาดสะบั้นไปเลย  นี่ก็ลงใจซัดกิเลส  มันก็เอาอย่างเดียวกัน

          สติตั้งได้เพราะเหตุนี้ๆ  ทีนี้ลดลงๆ  อาหารลดลง  ไม่กิน  ไม่กินเท่าไรภาวนายิ่งดีๆ  แล้วตัดอาหาร  การฉันอาหารฉันเมื่อไรก็ได้  มีกำลังวังชาเหมือนม้าแข่งหลังจากฉันเสร็จแล้ว  เวลาเรามาจากภูเขาเดินไปถึงหมู่บ้านเขาไม่ถึง  ไปหยุดแค่กลางทาง  มันเดินไม่ไหว  อ่อนปวกเปียกไม่มีกำลัง  พอฉันเสร็จแล้วกลับมานี่เหมือนม้าแข่ง  กำลังมันขึ้นรวดเร็วทางร่างกาย  แต่กำลังทางด้านจิตใจขึ้นช้าขึ้นยาก  จึงต้องได้ตัดเพื่อจิตใจให้มาก เช่น อดอาหาร

          สุดท้ายก็อดอาหาร  อดมากเข้าๆ  เห็นว่าภาวนาดีก็ซัดทางด้านอดอาหาร  นี่มันผาดโผน  สุดท้ายไม่ค่อยกินล่ะทีนี่  ภาวนาไม่ดี  อดอาหารไปเท่าไร  จิตมันจิ่งดีด  คือ  ร่างกายของเรานี้อ่อนเปียก   แต่จิตนี้เหมือนจะเหาะเหินเดินฟ้า  สง่างามอยู่ภายใน  ทีนี้มันก็เอาจิต  เพราะเรามุ่งแต่จิต  ร่างกายกินเมื่อไรก็ได้กำลังวังชายากอะไร  ซัดกันเอาเสียจนท้องเสีย  อย่างนั้นล่ะคือเรามันผาดโผน  มันไม่ค่อยกิน  กี่วันๆ จึงฉันหนหนึ่งๆ


__________________________________________

ไม่มีความคิดเห็น: