ก่อนที่จะมาพิจารณาด้วยปัญญา ต้องตะล่อมจิตให้มีพลังภายในตัวด้วยความสงบ ท่านจึงสอนสมาธิเป็นขั้นเริ่มแรก เพื่อให้จิตสงบก่อน พิจารณาอะไรถึงจะเข้าอกเข้าใจ ไม่เป็นไปด้วยความหิวโหย จิตที่หาความสงบไม่ได้นี้เป็นไปด้วยความหิวโหย คิดอะไรพรวดพราดๆ กลายเป็นสัญญาไปหมด เป็นความฟุ้งเฟ้อไปเสีย เห่อเหิมไปเสียแทนที่จะเป็นอรรถเป็นธรรม กลายเป็นโลกเพิ่มเข้าไปอีก เป็นการสั่งสมกิเลสโดยไม่รู้สึกตัวในขณะที่พิจารณา เพราะมันเถลไถลออกไปตามนิสัยที่เคยเป็น เพราะจิตหิวโหย จิตหาความสงบไม่ได้
ท่านจึงสอนว่า สมาธิปริภาวิตา ปญญฺา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก คือ สมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญาได้ดี เหมือนอย่างคนรับประทานอาหารอิ่มหนำสำราญ พักผ่อนนอนหลับให้สะดวกสบายแล้ว ทำงานก็ไม่หิวไม่โหย ไม่เหนื่อยไม่เพลีย ตั้งหน้าตั้งตาทำงานได้ดียิ่งกว่าคนที่กำลังหิวไม่โหย ไม่เหนื่อยไม่เพลีย ตั้งหน้าตั้งตาทำงานได้ดียิ่งกว่าคนที่กำลังหิวจัด ซึ่งทำอะไรไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย ความฉุนเฉียวก็ง่าย จิตใจที่เป็นไปด้วยความหิวโหย เพราะหาความสงบไม่ได้ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนให้อบรมสมาธิให้มีความสงบพอสมควรแล้ว ก็พิจารณาทางด้านปัญญา จิตก็ตั้งหน้าทำงานไม่เถลไถลได้ง่ายๆ สมาธิมีความสำคัญอย่างนี้ แต่ไม่ใช่สมาธิจะทำปัญญาให้เกิด เป็นเครื่องหนุนเฉยๆ หนุนให้ปัญญาทำงานได้สะดวก พูดง่ายๆ ไม่ใช่สมาธิจะกลายเป็นปัญญาเสียเอง ให้พากันเข้าใจไว้ตรงนี้
ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้ เราได้เป็นมาแล้ว นี่ติดสมาธิติดอยู่ถึง ๕ ปีเต็มๆ สำหรับผมเอง คือ ชำนิชำนาญจริงๆ ใครจะมาโกหกเรื่องสมาธินี้ไม่ได้ว่างั้นเลย อาจหาญที่สุดเรื่องสมาธิ กำหนดเมื่อไรได้ เพราะฐานของสมาธิมันแน่นปึ๋งเหมือนภูเขาโน่นจะว่าอะไร กำหนดเมื่อไรก็ได้ ก็เพราะจิตเป็นสมาธิอยู่แล้ว ฐานของมัน เพียงแต่ระงับกระแสจิตเข้าไปเท่านั้น มันก็เข้าไปอยู่ในฐานนั้นแน่วอยู่นั้นเสีย แต่ไม่เป็นปัญญาให้ มันเพียงแค่นั้น สุดท้ายก็ไปเหมาเอาความที่แน่นหนามั่นคง รู้อยู่อย่างดิ่งหรือเด่นนั้นว่าจะเป็นนิพพาน นี้ล่ะนิพพาน นี้แลจะเป็นนิพพาน มันก็เลยจ่ออยู่ตรงนั้นไม่ได้เรื่อง
_______________________________________
ติดสมาธิ ๕ ปี
ถ้าพูดเรื่องความเพียรของผม พรรษาที่ ๑๐ คือ เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนนี่ ๙ พรรษา ไปถึงพรรษาที่ ๑๐ เป็นความเพียรที่หักโหมที่สุดเลย ในชีวิตนี้ไม่มีความเพียรใดเกี่ยวกับเรื่องร่างกาย ที่จะหักโหมยิ่งกวาพรรษาที่ ๑๐ ใจก็หักโหม ร่างกายก็หักโหมเต็มที่ หลังจากนั้นมาแล้วก็เจริญเรื่อยๆ จนจิตนี้ราวกับเป็นหินไปเลย คือ ความแน่นหนามั่นคงของสมาธิมันชำนาญพอ จนเป็นเหมือนกับหินทั้งแท่ง ไม่หวั่นไหวอะไรง่ายๆ เลย ติดสมาธินี้อยู่ถึง ๕ ปีเต็มๆ
๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑
_______________________________________
องค์หลวงปู่มั่นแก้ติดสมาธิ
เทศน์เมื่อ ๑๒ เมษายน ๒๕๓๐
พูดถึงเรื่องของกิเลส เวลาหนักหนา เวลาต่อสู้กิเลสถึงขนาดนั้นเชียวนะ เจ้าของยังไม่รู้ว่าจะตาย คนอื่นเขายังมาดู รู้ว่าเราจะตายนี้แห่กันออกมาดูเห็นไหม นี่บางครั้งเป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมไม่ได้อุตริมาหลอกลวงหมู่เพื่อน นี่ขั้นต่อการกันถึงขนาดนั้น
แล้วก็นี้ล่ะเป็นพื้นเป็นฐาน ที่จะให้เรามีทุนเป็นลำดับลำดาและเป็ฯกำไรขึ้นในวันนั้นวันนี้ หนุนกันขึ้นๆ สมาธิไม่มีก็ค่อยมีขึ้นมา เอ้า ! เมื่อมีขึ้นมาแล้วจิต จนกระทั่งกลายเป็นสมาธิด้วยความขยันหมั่นเพียร ด้วยความอุตส่าห์พยายาม เสริมกันขึ้นๆ ต่อจากนั้นก็ฟัดกันทางปัญญา
เอ้า ! ปัญญา ไม่มีครูบาอาจารย์ก็ออกไม่ได้ มันติด ติดสมาธิ เพราะสมาธินี้เป็นความสุขที่พอจะให้ติดได้ ถึงติดได้คนเราความสุขในสมาธิก็พออยู่พอกินแล้ว จิตใจไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ พอจิตหยั่งเข้าสู่ความรู้อันเดียวแน่วอยู่อย่างนั้น ไม่อยากออกยุ่งกับอะไรเลย ตาไม่อยากมองดู หูไม่อยากฟัง มันเป็นการยุ่งกวน รบกวนจิตใจของเราให้กระเพื่อมเปล่าๆ
เมื่อจิตได้แน่วอยู่ในสมาธินั้นอยู่สักกี่ชั่วโมงก็อยู่ได้ นี่ล่ะมันติดอย่างนี้ สุดท้ายก็นึกว่าความรู้ที่เด่นๆ อยู่นี้เองจะเป็นนิพพาน อันนี้จะเป็นนิพพาน จ่อกันอยู่นั้นว่าจะเป็นนิพพานๆ สุดท้ายมันก็เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นล่ะจนกระทั่งวันตาย ก็จะต้องเป็นสมาธิ และติดสมาธิจนกระทั่งวันตาย
ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มาฉุดลากออก ผมเองก็คือหลวงปู่มั่นมาฉุดลาก เถียงกันเสียจนตาดำตาแดง จนกระทั่งพระทั้งวัดแตกฮือกันมาเต็มอยู่ใต้ถุน นี่เพราะฟังการโต้กับหลวงปู่มั่น ไม่ใช่โต้ด้วยทิฐิมานะอวดรู้อวดฉลาดนะ โต้ด้วยความเราก็เข้าใจว่าจริงอันหนึ่งของเรา ท่านก็จริงอันหนึ่งของท่าน สุดท้ายก็หัวเราแตก เพราะท่านรู้นี่ เราพูดทั้งๆ ที่กิเลสเต็มหัวใจ แต่เข้าใจว่าสมาธินี่มันจะเป็นนิพพาน
ท่านก็ถามเรื่อย พอจิตได้หลักได้เกณฑ์แล้วถาม นานๆ ท่านถามทีหนึ่ง "เป็นไงท่านมหา จิตสบายดีเหรอ" ท่างนี้ตอบทันที "จิตสบายดีอยู่" ท่านก็นิ่งเฉยไป ไม่รู้ว่าท่านจะฟาดเราเมื่อไร เป็นอย่างนั้นล่ะ เพราะคนหนึ่งเหนือแล้ว มองเห็นหมดนี่ ถาม "เป็นยังไงท่านมหา จิตน่ะ" บางทีว่าเป็นยังไง เท่านั้นก็รู้แล้ว "จิตสบายดีอยู่ สงบดีอยู่" ท่านก็นิ่งไป ถึงคราวท่านจะเอา "เป็นยังไงท่านมหาจิตน่ะ" "สบายดีอยู่" "ท่านจะนอนตายอยู่นั้นเหรอ" ขึ้นเลยล่ะที่นี่ เห็นไหมล่ะ เปลี่ยนหมดนะ ลักษณะท่าทีนี้เปลี่ยนหมด
แล้วสุดท้ายก็ท่านมาไล่ออก "เห็นไหม สมาธิมันมีความสุขมากขนาดไหน หือเท่าไร? แล้วเนื้อติดฟันมีความสุขขนาดไหนว่าซิ? สมาธิก็เหมือนกับเนื้อติดฟันนั่นแหละ มันสุขขนาดไหนเนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหมๆ? ท่านรู้ไหมว่า สมาธิทั้งแท่งนั้นล่ะคือ ตัวสมุทัยทั้งแท่ง ท่านรู้ไหมๆ?"
"ถ้าหากว่าสมาธิเป็นตัวสมุทัยแล้ว สัมมาสมาธิจะให้เดินที่ไหน" นั่นเอาซิใส่กัน
"มันก็ไม่ใช่สมาธิตาย นอนตายอยู่อย่างนี้ซิ สมาธิของพระพุทธเจ้า สมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่... สมาธินอนตายเหรอเป็นสัมมาสมาธิน่ะ เอ้าๆ พูดออกมาซิ?"
มันก็ยอมล่ะซิ พอออกจากท่านไปแล้ว โห! นี่เราไปเก่งมาจากทวีปไหนนี่ เรามามอบกายถวายตัวต่อท่านเพื่อศึกษาอรรถ ศึกษาธรรมหาความจริง ทำไมวันนี้จึงมาโต้แย้งกับท่านยิ่งกว่ามวยแชมเปี้ยนเขานี่ มันเป็นยังไงเรานี้ มันไม่เกินครูอาจารย์ไปแล้วเหรอ และท่านพูดนั้น ท่านพูดด้วยความหลงไหล หรือใครเป็นคนหลงล่ะนะ
เอาล่ะทีนี้ย้อนเข้ามาหาตัวเอง ถ้าไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านสอนนี้ มาหาท่านทำไม ถ้าว่าเราวิเศษวิโสแล้ว ทำไมเราจึงต้องมาหาครูบาอาจารย์ที่ตนว่าไม่วิเศษล่ะ แต่เราก็ไม่เคยดูถูกท่านแหละ นี่หมายความว่าตีเจ้าของ ย้อนขึ้นมาแข่งเจ้าของ สุดท้ายก็ออกก้าวทางด้านปัญญา
________________________________________
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น