วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๑๓ องค์หลวงปู่มั่นถือหลักสัลเลขธรรม

เทศน์เมื่อ  ๑๒  กันยายน  ๒๕๓๔



          พูดถึงการปฎิบัติปฏิปทาการดำเนิน  เท่าที่เราได้เที่ยวเสาะแสวงหาครูหาอาจารย์มามากต่อมาก  ที่มาถึงใจเสียทุกสิ่งทุกอย่าง  ก็คือ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นของเรา  นี่เป็นเครื่องยืนยันได้เลยว่า  ผู้ทรงมรรคทรงผลท่านดำเนินอย่างนั้น  อย่างพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นของเรา  ไม่ว่าการจะอยู่  ไปที่ไหน  บำเพ็ญที่ใด  มีแต่ที่สงบสงัด  มีแต่ที่บำเพ็ญที่เหมาะสมกับการจะยังธรรมให้เกิดเพื่อมรรคเพื่อผลโดยถ่ายเดียวเท่านั้น  ไม่มีสิ่งใดมาเคลือบมาแฝงเลย  ตั้งแต่สมัยท่านยังหนุ่มอยู่ก็เป็นเช่นนั้นเรื่อยมา  จนกระทั่งเฒ่าแก่แล้วก็ไม่เคยลดละปฏิปทาที่ราบรื่นดีงามเรื่อยมา  จนกระทั่งวาระสุดท้ายของท่าน

          ท่านถือหลักสัลเลขธรรมเป็นเครื่องดำเนิน  เป็นเครื่องสนทนาพูดจาปราศรัยกับพระกับเณรไปเสียทั้งนั้น  คือ  ไม่ห่างจากสัลเลขธรรม ๑๐ ประการนี้เลย   เพราะฉะนั้น  สัลเลขธรรม ๑๐ ประการนี้  จึงเป็นเครื่องดำเนินเพื่อมรรคเพื่อผลโดยตรง  ไม่มีคำว่าอ้อมค้อม   ดังพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นของเรา  พูดขึ้นคำใดมีแต่เรื่องธรรม ๑๐ ประเภทนี้ทั้งนั้น คือ  สัลเลขธรรม  เครื่องขัดเกลา  เครื่องซักฟอกกิเลส

_____________________________________

         สัลเลขธรม  คือ ธรรมอันเป็นเครื่องขัดเกลาชำระกิเลส  เพื่อความหลุดพ้น  มี ๑๐ ประการ  ได้แก่          - อัปปิจฉตา (ความมักน้อย)          - สันตุฏฐี (สันโดษ)          - วิเวกตา (ความสงัดวิเวกทางกายและทางใจ)          - วิริยารัมภา  (การประกอบความเพียร)          - อสังสัคคณิกา  (ความไม่คลุกคลีมั่วสุมกับใครๆ ทั้งนั้น)          - ศีล          - สมาธิ          - ปัญญา          - วิมุตติ (ความหลุดพ้น)          - วิมุตติญาณทัสสนะ (ความรู้เห็นอันแจ้งชัดในความหลุดพ้น)

_________________________________________

ไม่มีความคิดเห็น: