วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๒๖ จิตว่าง (กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๒)

เทศน์เมื่อ  ๓๑  ตุลาคม  ๒๕๒๑



          ทีนี้พอจิตรู้เรื่องนี้ชัดเจนแล้ว  จิตก็ถอนตัวจากอันนั้นมาสู่ภายใน  พอจิตแย็บออกไป  มันก็รู้ว่าตัวนี้ออกไปแสดงต่างหาก  ทีนี้ภาพอสุภะนั้นมันก็เลยมาปรากฏอยู่ภายในจิตโดยเฉพาะ  กำหนดอยู่ภายใน  พิจารณาอยู่ภายในจิต  ทีนี้มันไม่เป็นความกำหนัดอย่างนั้นน่ะซิ  มันผิดกันมาก  เรื่องความกำหนัดแบบโลกๆ มันหมดไปแล้ว  มันเข้าใจชัดว่า  มันต้องขาดจากกันอย่างนี้  คือมันตัดสินกันแล้ว  เข้าใจแล้ว  ทีนี้ก็มาเป็นภาพปรากฏอยู่ภายในจิต  ก็กำหนดอยู่ภายในนั้น

          พอกำหนดอยู่ภายใน  มันก็ทราบชัดอีกว่า  ภาพภายในนี้ก็คือ เกิดจากจิตน่ะ  มันดับ  มันก็ดับไปที่นี่  มันไม่ดับไปที่ไหน  พอกำหนดขึ้นมันดับไป  พอกำหนดไม่นาน  มันก็ดับไป  ต่อไปมันก็เหมือนฟ้าแลบนั่นเอง  พอกำหนดพับขึ้นมาเป็นภาพก็ดับไปพร้อม  ดับไปพร้อมเลยจะขยายให้เป็นสุภะ  อสุภะอะไรไม่ได้  เพราะความรวดเร็วของความเกิดดับ  พอปรากฏขึ้นพับก็ดับพร้อมๆ  ต่อจากนั้นนิมิตภายในจิตก็หมดไป  จิตก็กลายเป็นจิตว่างไปเลย  ส่วนอสุภะภายนอกนั้นหมดปัญหาไปก่อนหน้านี้แล้ว  เข้าใจแล้วตั้งแต่ขณะที่มันกลืนตัวเข้ามาสู่จิต  มันก็ปล่อยอสุภะข้างนอกทันทีเลย  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  อะไรข้างนอกมันปล่อยไปหมด  เพราะอันนี้ไปหลอกต่างหากนี่  เมื่อเข้าใจตัวนี้ชัดแล้ว  อันนั้นไม่มีปัญหาอะไร  มันเข้าใจทันทีและปล่อยวางภายนอกโดยสิ้นเชิง

          หลังจากภาพภายในดับไปหมดแล้ว  จิตก็ว่าง  ว่างหมดที่นี่  กำหนดดูอะไรก็ว่างหมด  มองดูต้นไม้  ภูเขา  ตึกรามบ้านช่องเห็นเป็นเพียงรางๆ เป็นเงาๆ ส่วนใหญ่  คือ  จิตนี้มันทะลุไปหมด  ว่างไปหมด  แม้แต่มองดูร่างกายตัวเอง  มันก็เห็นแต่พอเป็นเงาๆ  ส่วนจิตแท้มันทะลุไปหมด  ว่างไปหมด  ถึงกับออกอุทานในใจว่า  โอ้โฮ ! จิตนี้ว่างถึงขนาดนี้เชียวนา  ว่างตลอดเวลา  ไม่มีอะไรเข้าผ่านในจิตเลย  ถึงมันจะว่างอย่างนั้น  มันก็ปรุงภาพเป็นเครื่องฝึกซ้อมอยู่เหมือนกันนะ  เราจะปรุงภาพไดก็แล้วแต่เถอะ  เป็นเครื่องฝึกซ้อมจิตใจให้มีความว่างช่ำชองเข้าไป  จนกระทั่งแย็บเดียวว่าง  แย็บเดียวว่าง  พอปรุงขึ้นแย็บเท่านั้น  มันก็ว่างพร้อม  ว่างพร้อมไปหมด

          ตอนนี้แหละตอนที่จิตว่างเต็มที่  ความรู้อันนี้จะเด่นเต็มที่ที่นี่ คือ รูปก็ดี  เวทนาก็ดี  สัญญาก็ดี  สังขารก็ดี  วิญญาณก็ดี  มันรู้รอบหมดแล้ว  มันปล่อยของมันหมดไม่มีอะไรเหลือ  เหลือแต่ความรู้อันเดียว  มันมีความปฏิพัทธ์  มันมีความสัมผัสสัมพันธ์อ้อยอิ่งอยู่อย่างละเอียดสุขุมมาก  ยากจะอธิบายให้ตรงกับความจริงได้  มันมีความดูดดื่มอยู่กับความรู้อันนี้อย่างเดียว  พออาการใดๆ เกิดขึ้นพับ  มันก็ดับพร้อม  มันดูอยู่นี่

          สติปัญญาขั้นนี้ถ้าครัั้งพุทธกาลท่านก็เรียก  มหาสติมหาปัญญา  แต่สมัยทุกวันนี้  เราไม่อาจเอื้อมพูด  เราพูดว่าสติปัญญาอันโนมัติก็พอตัวแล้วกับที่เราใช้อยู่  มันเหมาะสมกันอยู่แล้ว  ไม่จำเป็นจะต้องให้ชื่อให้นามสูงยิ่งไปกว่านั้น  มันก็ไม่พ้นจากความจริงซึ่งเป็นอยู่นี้เลย  จิตดวงนี้ถึงได้เด่น  ความเด่นอันนี้มันทำให้สว่างไปหมด

ตอนจิตว่าง
          ในตอนท้ายแห่งความละเอียดอ่อนของจิต  เราก็เห็นว่าอวิชาเป็นของดีและประเสริฐไปอย่างสนิดติดจมไปพักหนึ่ง  และหลงอวิชชาอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน   ไม่เคยลืม  เพราะรักสงวนอวิชชาซึ่งเป็นตัวผ่องใส  ตัวสง่าผ่าเผย  ตัวองอาจกล้าหาญ  จึงรักสงวนอยู่นั้นเสีย  พยายามระมัดระวังรักษาอวิชชา  ทั้งๆ ที่สติปัญญาก็มีเต็มภูมิ  แต่ไม่นำมาใช้กับอวิชชาในขณะนั้น
๖  มิถุนายน  พุทธศํกราช  ๒๕๒๑
           องค์หลวงตาอวิชชาขาดสะบั้นลงจากใจวันที่  ๑๕  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๙๓   ถ้านับย้อนถอยไป ๘ เดือน  ดังนั้น  ตอนจิตว่างขององค์ท่าน  จึงเกิดในช่วงเดือนกันยายน  พ.ศ.  ๒๔๙๒
 __________________________________________

รู้สึกจะหมดหวัง (ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒)
เทศน์เมื่อ  ๒  ตุลาคม  ๒๕๒๑

          พอมาถึงพรรษา ๑๖   เอ้า ! สรุปเลย  พอพรรษษ ๑๖  ล่วงแล้วตอนนั้นปัญญาเป็นธรรมจักรอยู๋นะ   พรรษา ๑๖  ในพรรษามันเป็นธรรมจักรอยู่แล้วนี่  เร่งเต็มที่  ในขณะนั้นเรื่องความเพียรเป็นอัตโนมัติแล้วล่ะ  สติปัญญาในขั้นนั้น  จนกระทั่งออกพรรษา  พอออกพรรษาปั๊บในวันนั้น  มันไม่สำเร็จนี่

          ทำไมเรื่องนิมิตที่มาบอกมาแสดงเหตุให้เราเห็นว่า ๙ ปีสำเร็จนั้น  เราก็คาดมาแล้วหนหนึ่งมันผิด  คาดหนที่สองนี้ก็ ๙ ปีในการออกปฏิบัติ  ก็นี่ออกพรรษาแล้วในวันนี้ยังไม่เห็นสำเร็จเลย  แม้จิตจะละเอียดขนาดไหน  ก็ยังมีกิเลสอยู่  จะเรียกสำเร็จได้อยังไง  คำว่าสำเร็จในนิมิตนั้น  บอกสำเร็จถึงที่สุดของธรรมนะ  ไม่ใช่จะสำเร็จธรรมดาขั้นนั้นขั้นนี้  เอ๊ ! ทำไม  ทีนี้ชักไม่แน่ใจ  ไม่ใช่

          ได้มีพวกเดียวกันล่ะ  แต่ท่านก็ดี  อุบายท่านดีอยู่นะ  เรานั้นได้ยกบูชาอุบายของท่านจนกระทั่งป่านนี้  ผมไม่ลืมนะ  นิสัยผมไม่ค่อยลืมคุณใคร  เรื่องเห็นบุญเห็นคุณคนนี้  ความกตัญญูนี้  เราชัดอยู่ในใจของเรา  เนรคุณคนไม่เป็น  เป็นนิสัยกตัญญูกตเวทีฝังใจจริงๆ  ท่านองค์นี้  เราก็เล่าให้ท่าน คือ เก็บมาได้ ๙ ปี  อันนี้ไม่บอกใครเลย  วันนั้นมันหมดหวัง  ว่างั้นเลย

          นี่ผมจะเล่าให้ท่านฟังนะ  "แหม ! ผมได้แบกอันนี้มาฝังไว้ภายในจิตนี้ได้ ๙ ปีแล้วนิมิตอันนี้  ผมจะเล่าเรื่องความเหลวไหลของผมให้ฟัง  แต่ผมพูดเฉพาะท่านนะ  ท่านอย่าไปพูดให้ใครฟัง  ผมเก็บฝังไว้ในหัวใจนี่และเชื่อแน่ด้วย  ผมมันก็เหลวไหลเสีย  จนต้องมาเล่าเรื่องความเหลวไหลให้ฟัง  ความโกหกขอผมให้ฟัง"   "เอ้า ! เล่าซิเป็นไง"  ก็เลยเล่าไปตามเรื่องนิมิต  จนกระทั่งมาถึงพรรษา ๙ ที่ว่า ๙ ปีสำเร็จ  นี่ก็ออกพรรษาแล้วในวันนี้  เดี๋ยวนี้มันยังไม่สิ้นนี่จะทำยังไง  มันยังมีอยู่ละเอียดๆ  มันรู้อยู่ชัดๆ  นี่ยังไม่สิ้น  ก็แสดงว่านิมิตโกหกอย่างชะมัดเลย

          "มันไม่ใช่อย่างนั้น"  ท่านว่างั้นนะ  ที่เราไม่ลืม  คือ  "คำว่า ๙ ปีสำเร็จนี้  ๙ ปีนี้ต้อง  ๙ ปีตั้งแต่ออกพรรษานี้ไปชนพรรษาหน้าน่ะซี"  ท่านว่าอย่างนี้นะ   "นี้ยังเป็นโอกาสของ ๙ ปีอยู่ดีๆ  เมื่อถึงเข้าพรรษาหน้าวันไหน  ก็วันนั้นล่ะถึงจะหมดเขตของ ๙ ปีนี้"   "อย่างนั้นหรือ"

          "ก็อย่างนั้นแหละ  มันยังไม่หมดๆ  อายุของ ๙ ปีนี้นะ   เมื่อหมดก็นู้นนะ  วันเข้าพรรษาวันไหน  พรรษาที่ ๑๐ เมื่อไรแล้วของการปฏิบัตินี้  เมื่อไรแล้ว  นั้นแหละจึงจะหมดอายุอันนี้  ถ้าจะตำหนิก็ตำหนิได้  เวลานี้ยังไม่ควรตำหนิ  ยังอยู่ในเกณฑ์"  ว่าอย่างนั้นนะ   "หือ ! ว่างั้นหรือ"  มีกำลังใจขึ้นอีก  ทั้งๆ ที่ใจก็หมุนติ้วอยู่แล้วล่ะ  มันก็มาเพิ่มกำลังใจอีก  ฟาดเข้าอีกเอากันอย่างหนักเลย  นิมิตแปลกดีนะ  นิมิตอันนี้มีแปลกแต่ต้องได้ชม  ถ้าลงนิมิตได้แสดงให้เห็นชัดๆ อย่างนั้นมันไม่ค่อยผิดค่อยพลาดเท่าไร

__________________________________________

ไม่มีความคิดเห็น: