ข้อวัตรประจำองค์ท่านโดยเฉพาะในมัชฌิมวัย หลังจังหันเสร็จแล้วเข้าทางจงกรม จวนเที่ยงหรือเที่ยงวันเข้าที่พักกลางวันเล็กน้อย หลังจากพักก็เข้าที่ทำสมาธิภาวนาราวชั่วโมงครึ่ง จากนั้นลงเดินจงกรมจนถึงเวลาบ่าย ๔ โมงปัดกวาดลานวัดหรือที่พักเสร็จแล้วสรงน้ำ แล้วเข้าทางจงกรมอีกจนถึงเวลา ๑-๒ ทุ่มเข้าที่พักทำสมาธิภาวนาต่อไป ถ้าเป็นหน้าฝนหรือหน้าแล้ง คืนที่ฝนไม่ตกท่านยังลงมาเดินจงกรมอีกจนดึกดื่นถึงจะขึ้นกุฎิหรือเข้าที่พัก ซึ่งเป็นร้านเล็กๆ ถ้าเห็นว่าดึกมากไปท่านก็เข้าพักจำวัด ปกติท่านพักจำวัดราว ๒๓ นาฬิกา คือ ๕ ทุ่ม ไปตื่นเอาตี ๓ คือ ๙ ทุ่ม ถ้าวันใดจะมีแขกเทพฯมาเยี่ยมฟังธรรม ซึ่งปกติท่านต้องทราบไว้ล่วงหน้าในตอนเย็นก่อนแล้วทุกครั้ง วันนั้นถ้าเขาจะมาดึกท่านก็รีบพักเสียก่อน ถ้าจะมาราว ๕ ทุ่ม หรือเที่ยงคืนก็เข้าที่รอรับพวกเทพฯ อย่างนี้เป็นประจำ
ท่านไปพักบำเพ็ญในที่บางแห่ง บางคืนมีทั้งพวกเทพฯ เบื้องบนและเทพฯ เบื้องล่างจะมาเยี่ยมท่านในเวลาเดียวกันก็มี ถ้าเป็นอย่างนี้ท่านต้องย่นเวลาคือรับแขกเทพฯ พวกมาถึงก่อนแต่น้อย แสดงธรรมให้ฟังและแก้ปัญหาเท่าที่จำเป็น แล้วก็บอกชาวเทพฯ ที่มาก่อนให้ทราบว่า ถัดจากนี้ไปจะมีชาวเทพฯ มาฟังธรรมและถามปัญหาอีก พวกที่มาก่อนก็รีบลาท่านกลับไป พวกมาทีหลังซึ่งรออยู่ห่างๆ พอไม่ให้เสียมารยาท ความเคารพก็พากันเข้ามา ท่านก็เริ่มแสดงธรรมให้ฟังตามแต่บาทคาถาที่ท่านกำหนดในขณะนั้นจะผุดขึ้นมา ซึ่งพอเหมาะกับจริตนิสัยและภูมิขอเทพฯ พวกนั้นๆ บางทีหัวหน้าเทพฯ ก็แสดงความประสงค์ขึ้นเสียเองว่าขอฟังธรรมนั้น ท่านก็เริ่มกำหนด พอธรรมนั้นผุดขึ้นมาก็เริ่มแสดงให้พวกเทพฯ ฟัง ในบางครั้งหัวหน้าเทพฯ ขอฟังธรรมประเภทนั้น ท่านสงสัยต้องถามเขาก่อนว่าธรรมนั้นชื่ออะไรในสมัยนี้ เพราะชื่อธรรมที่พวกเทพฯ เคยนับถือกันมาดั้งเดิมแต่สมัยโน้นกับชื่อธรรมในสมัยนี้ต่างกันในบางสูตรบางคัมภีร์ เขาก็บอกว่าอย่างนั้นในสมัยนี้ แต่สมัยโน้นซึ่งพวกเทพฯ นับถือกันมาชื่อว่าอย่างนั้น บางครั้งถ้าสงสัยท่านก็กำหนดเอง ยอมเสียเวลาเล็กน้อย บางครั้งก็ถามเขาเลยทีเดียว แต่บางครั้งพอเขาขอฟังธรรมสูตรนั้นหรือคัมภีร์นั้น ซึ่งเป็นสูตรหรือคัมภีร์ที่ท่านเคยรู้อยู่แล้ว นึกว่าเป็นความนิยมในชื่ออันเดียวกัน ท่านเลยไม่ต้องกำหนดพิจารณาต่อไป เพราะเข้าใจว่าตรงกันกับที่เขาขอ ท่านเริ่มแสดงไปเลย พอแสดงขึ้นเขารีบบอกทันทีว่าไม่ใช่ ท่านยกสูตรหรือคัมภีร์ผิดไป ต้องขึ้นคาถาว่าอย่างนั้นถึงจะถูก อย่างนี้ก็เคยมีท่านว่าพอโดนเข้าครั้งหนึ่งสองครั้งก็จำได้เอง จากนั้นท่านต้องกำหนดให้แน่ใจเสียก่อนว่าตรงกับมนุษย์และเทวดานิยมใช้ตรงกันหรือเปล่า ค่อยเริ่มแสดงต่อไป บางวันพวกเทพฯ เบื้องบนบ้าง เบื้องล่างบ้าง พวกใดพวกหนึ่งจะมาเยี่ยมฟังธรรมกับท่านในเวลาเดียวกันกับพวกพญานาคจะมาก็มี เช่นเดียวกับแขกมนุษย์เรามาเยี่ยมครูอาจารย์ในเวลาเดีวกันฉะนั้น แต่นานๆ มีครั้ง ในกรณีเช่นนี้ เมื่อเขามาในเวลาตรงกันบ่อยๆ เข้า ท่านจำต้องตกลงกับเทพฯ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างว่าพวกนี้ให้มาในเวลาเท่านั้น พวกนั้นให้มาในเวลาเท่านั้น และพวกนาคให้มาในเวลาเท่านั้น เพื่อความสะดวกทั้งฝ่ายพระฝ่ายเทพฯ และฝ่ายนาคทั้งหลาย ตามท่านเล่าว่า ท่านไม่ค่อยมีเวลาว่างเท่าไรนัก แม้จะไปอยู่ในป่าในเขาลึกๆ ก็จำต้องปฏิบัติต่อพวกเทพฯ ซึ่งมาจากเบื้องบนชั้นต่างๆ และมาจากเบื้องล่างในที่ต่างๆ กันอยู่นั่นเอง ในคืนหนึ่งพวกหนึ่งชั้นหนึ่งไม่มา ก็ต้องมีอีกพวกหนึ่งอีกชั้นหนึ่งและพวกรุกขเทพฯ ที่ใดที่หนึ่งมากันจนได้ จึงไม่ค่อยมีเวลาว่างในเวลากลางคืน แต่ที่เช่นนั้นมนุษย์ไม่ค่อยมี ถ้าลงมาพักใกล้บ้านใกล้เมืองก็เป็นชาวมนุษย์จากที่ต่างๆ มาเยี่ยม แต่ต้องต้อนรับเวลากลางวัน ตอนบ่ายหรือตอนเย็น จากนั้นก็อบรมพระเณรต่อไปขณะที่จะเขียนประวัติของชาวมนุษย์เราในอันดับต่อจากชาวเทพฯ ที่มาเกี่ยวข้องกับท่านซึ่งผู้เขียนมีส่วนได้เสียรวมอยู่ด้วย เพราะความเป็นมนุษย์ปุถุชนด้วยกัน จึงต้องขออภัยท่านผู้อ่านมากๆ หากเป็นการไม่งามและไม่สมควรประการใดในเนื้อหาต่อไปนี้ เพราะความจำเป็นที่จำต้องเขียนตามความจริง ที่ท่านเล่าให้ฟังเป็นการภายในโดยเฉพาะ แต่ผู้เขียนมีนิสัยไม่ดีประจำตัวที่แก้ไม่ตกในบางกรณี ดังเรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ ทั้งนี้เพื่อจะได้นำมาเทียบเคียงกันระหว่างชาวมนุษย์กับชาวเทพฯ และถือเอาประโยชน์เท่าที่ควร จึงขออภัยอีกครั้ง
ท่านเล่าว่า การติดต่อและแสดงธรรมระหว่างมนุษย์กับเทวดา รู้สึกต่างกันอยู่มาก คือเวลาแสดงธรรมให้เทวดาฟัง ไม่ว่าเบื้องบน เบื้องล่าง หรือรุกขเทวดา พวกนี้ฟังเข้าใจง่ายกว่ามนุษย์เราหลายเท่า พอแสดงธรรมจบลง เสียงสาธุการ ๓ ครั้ง กระเทือนโลกธาตุ ขณะที่พวกเทพฯ ทุกชั้นทุกภูมิมาเยี่ยมก็มีความเคารพพระอย่างยิ่งไม่เคยเห็นพวกเทพฯ แม้รายหนึ่งแสดงอาการไม่ดีไม่งามภายในใจ ทุกอาการของพวกเทพฯ อ่อนนิ่มเหมือนผ้าพับไว้เสมอกันในขณะนั้น ขณะที่มาก็ดี ขณะนั่งฟังธรรมก็ดี ขณะจะจากไปก็ดี เป็นความสงบเรียบร้อยและสวยงามไปตลอดสาย แต่เวลาแสดงธรรมให้ชาวมนุษย์ฟังกลับไม่เข้าใจกัน แม้อธิบายซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ นอกจากไม่เข้าใจแล้ว ยังคิดตำหนิผู้แสดงอยู่ภายในอีกด้วยว่าเทศน์อะไรฟังไม่รู้เรื่องเลย สู้องค์นั้นไม่ได้ สู้องค์นี้ไม่ได้
บางรายยังอดจะเอากิเลสหยาบๆ อยู่ภายในของตัวออกอวดไม่ได้ว่า สมัยเราบวชยังเทศน์เก่งกว่านี้เป็นไหนๆ คนฟังฮากันตึงๆ ด้วยความเพลิดเพลิน ไม่มีการง่วงเหงาหาวนอนเลย ยิ่งเทศน์โจทก์สองธรรมาสน์ด้วยแล้ว คนฟังหัวเราะกันไม่ได้หุบปากตลอดกัณฑ์ บางรายก็คิดในใจว่า คนเล่าลือกันว่าท่านเก่งมากทางรู้วาระน้ำจิตคน ใครคิดอะไรขึ้นมาท่านรู้ได้ทันที แต่เวลาเราคิดอะไรๆ ท่านไม่เห็นรู้บ้างเลย ถ้ารู้ก็ต้องแสดงออกบ้าง ถ้าไม่แสดงออกตรงๆ ต่อหน้าผู้กำลังคิด ก็ควรพูดเป็นอุบายเปรียบเปรยว่า นาย ก. นาย ข. ไม่ควรคิดเช่นนั้นๆ มันผิด ควรเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ดังนี้ พอจะจับเงื่อนได้ว่าผู้รู้หัวใจคนจริงสมคำเล่าลือ บางรายเตรียมตัวจะมาจับผิดจับพลาดด้วยความอวดตัวว่าฉลาดอย่างพอตัว ผู้นั้นไม่มีความสนใจต่อธรรมเอาเลย แม้จะแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟังด้วยวิธีใดๆ ที่เขานั่งฟังอยู่ด้วยในขณะนั้น ก็เป็นเหมือนเทน้ำใส่หลังหมานั่นเอง มันสลัดทิ้งหมดทันที ไม่มีน้ำเหลืออยู่บนหลังแม้หยดเดียว ว่าแล้วท่านก็หัวเราะ อาจจะขบขันในใจอยู่บ้างที่นานๆ ท่านจะได้พบมนุษย์ที่ฉลาดสักครั้ง แล้วก็เล่าต่อไป
เวลามาต่างก็แบกทิฐิมานะมาจนจะเดินแทบไม่ไหว เพราะหนักมากเกินกว่าแรงมนุษย์ทั้งคนจะแบกหามได้ ในตัวทั้งหมดปรากฎว่ามีแต่ทิฐิมานะตัวเป้งๆ ทั้งนั้น ไม่ใช่ของเล่น มองดูแล้วน่ากลัวยิ่งกว่าที่จะน่าสงสารและคิดแสดงธรรมให้ฟัง แต่ก็จำต้องแสดงเพื่อสังคม ถูไถกันไปอย่างนั้นแล ธรรมก็ไม่ทราบว่าหายไปไหนหมด คิดหาแต่ละบทละบาทก็ไม่เห็นแสดงขึ้นมาบ้างเลย เจ้าใจว่าธรรมจะสู้ตัวเป้งๆ ไม่ไหวเลยวิ่งหนีหมด ยังเหลือแต่ตัวเปล่าที่เป็นเหมือนตุ๊กตา ซึ่งกำลังถูกเหล็กแหลมทิ่มแทงอยู่อย่างไม่มีใครสนใจว่าจะมีความรู้สึกอย่างไรเวลานั้น ที่เขาตำหนิก็ถูกของเขา เพราะบางครั้งเราก็ไม่มีธรรมโผล่หน้าขึ้นมาเพื่อให้แสดงบ้างเลยจริงๆ มีแต่นั่งอยู่เหมือนหัวตอ จะได้อรรถได้ธรรมมาจากไหน แล้วท่านก็หัวเราะไปพลางเล่าไปพลาง ผู้นั่งฟังผู้ด้วยกันหลายคนในขณะนั้น บางรายก็เกิดตัวสั่นขึ้นมาเอาเฉยๆ แต่หาใช้ไม่เจอ หนาหนาวไม่เจอ เพราะไม่ใช่หน้าหนาว เลยพากันเดาเอาเองว่าคงเป็นเพราะความกลัวนั่นเอง
ท่านว่าถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่เทศน์ เพราะการเทศน์เป็นเหมือนโปรยยาพิษทำลายคนผู้ไม่มีความเคารพอยู่ภายใน ส่วนธรรมนั้นยกไว้ว่าเป็นธรรมที่เยี่ยมยอดจริงๆ มีคุณค่ามหาศาลสำหรับผู้ตั้งใจและมีเมตตาเป็นธรรม ไม่อดวรู้อวดฉลาดเหนือธรรมตรงนี้แลที่สำคัญมากและทำให้เป็นยาพิษเผาลนเจ้าของผู้ก่อเหตุโดยไม่รู้สึกตัว ผู้ไม่ก่อเหตุผลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขณะนั่งฟังอยู่ด้วยกันหลายคน ผู้ร้อนๆ จนจะละลายตายไปก็มี ผู้เย็นๆ จนตัวจะเหาะลอยขึ้นบนอากาศก็มี มันผิดกันที่ใจดวงเดียวนี้เท่านั้น นอกนั้นไม่สำคัญ เราจะพยายามอนุเคราะห์เขาเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบาบ้างก็ไม่มีทาง เมื่อใจไม่ยอมรับแล้วแม้จะพยายามคิดว่า ถ้าไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่อยากให้ เกิดโทษแต่ก็ปิดไม่อยู่ เพราะผู้คอยจะสร้างบาปสร้างกรรมนั้นเขาสร้างอยู่ตลอดเวลาแบบไม่สนใจกับใครและอะไรทั้งนั้น
การเทศน์สั่งสอนมนุษย์นับว่ายากอยู่ไม่น้อย เวลาเขามาหาเราซึ่งไม่กี่คน แต่โดยมากต้องมียาพิษแอบติดตัวมาจนได้ไม่มากก็พอให้รำคาญใจได้ ถ้าเราจะสนใจรำคาญอย่างโลกๆ ก็ต้องได้รำคาญจริงๆ แต่นี้ปล่อยตามบุญตามกรรม เมื่อหมดทางแก้ไขแล้วถือว่าเป็นกรรมของสัตว์ ท่านว่าแล้วก็หัวเราะ ผู้ตั้งใจมาเพื่อแสวงหาอรรถหาธรรมหาบุญกุศลด้วยความเชื่อบุญเชื่อกรรมจริงๆ ก็มี นั่นน่าเห็นใจและน่าสงสารมากแต่มีจำนวนน้อย ผู้มาแสวงหาสิ่งไม่เป็นท่าและไม่มีขอบเขตนั้น รู้สึกมากเหลือหูเหลือตาพรรณนาไม่จบ ฉะนั้นจึงชอบอยู่แต่ในป่าในเขาอันเป็นที่สบายกายสบายใจ ทำความพากเพียรก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีสิ่งรบกวนให้ลำบากตา ลำบากใจ มองไปทางไหน คิดเรื่องอะไรเกี่ยวกับอรรถรรมก็ปลอดโปร่างโล่งใจ
มองดูและฟังเสียงสัตว์สาราสิง พวกลิงค่างบ่างชะนีที่หยอกเล่นกัน ทั้งห้อยโหนโยนตัวและกู่ร้องโหยหวนหากันอยู่ตามกิ่งไม้ชายเขาลำเนาป่า ยังทำให้เย็นตาเย็นใจไปตามโดยมิได้คิดว่าเขาจะมีความรู้สึกอะไร่ต่อเรา ต่างตัวต่างหากินและปีนขึ้นโดดลงไปตามภาษาของสัตว์ ทำให้รู้สึกในอิริยาบถและความเป็นอยู่ทุกด้านสดชื่นผ่องใสและวิเวกวังเวง หากจะมีอันเป็นอันตรายขึ้นมาในเวลานั้นก็เป็นไปด้วยความสงบสุขทั้งทางกายและจิตใจ ไม่เกลื่อนกล่นวุ่นวาย ตายแบบธรรมชาติคือมาคนเดียวไปคนเดียวแท้ โดยมากพระสาวกอรหันต์ท่านนิพพานแบบนี้กันทั้งนั้น เพราะกายและจิตของท่านไม่มีความเกลื่อนกล่อนวุ่นวายมาแอบแฝง มีกายอันเดียว จิตดวงเดียว และมีอารมณ์เดียว ไม่ไหลบ่าแส่หาความทุกข์ ไม่สั่งสมอารมณ์ใดๆ มาเพิ่มเติมให้เป็นการหนักหน่วงถ่วงตน ท่านอยู่แบบอริยะ ไปแบบอริยะ ไม่ระคนคละเคล้ากับสิ่งที่จะทำให้กังวลเศร้าหมองในทิฏฐธรรมปัจจุบัน
สะอาดเท่าไรยิ่งรักษา บริสุทธิ์เท่าไรยิ่งไม่คุ้นกับอารมณ์ ตรงกันข้ามกับที่ว่าหนักเท่าไรยิ่งขนมาเพิ่มเข้า แต่ท่านเบาเท่าไรยิ่งขนออกจนไม่มีอะไรจะชนะ แล้วก็อยู่กับความไม่มีทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีคือใจก็มีอยู่กับตัว คือไม่มีงานจะขนออกและขนเข้าอีกต่อไป เรียกว่าบรรลุถึงขั้นคนว่างงาน ใจว่างงาน ทางศาสนาถือการว่างงานแบบนี้เป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ ผิดกับโลกที่ผู้ว่างงานกลายเป็นคนมีทุกข์มากขึ้น เพราะไม่มีทางไหลมาแห่งโภคทรัพย์
ท่าเล่าความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับเทวดาให้ฟังมากมาย แต่นำมาเขียนเท่าที่จำได้และที่เห็นว่าควรจะยึดเป็นสารประโยชน์ได้บ้างตามสติปัญญาที่จะคัดเลือกหาแง่ที่เป็นประโยชน์ ที่มีขาดตอนไปบ้างในเรื่องเดียวกัน เช่น เรื่องเทวดา เป็นต้น ซึ่งควรจะนำมาเชื่อมโยงติดต่อกันไปจนจบ แต่ไม่สามารถทำได้ในระยะนี้นั้น เกี่ยวกับประสบการณ์ของท่านผู้เป็นเจ้าของ มีประสบหลายครั้งทั้งในที่และสมัยต่างๆ กัน จำต้องเขีนไปตามประวัติที่ท่านประสบเพื่อให้เรียงลำดับกันไปแม้เรื่องเทวดาก็ยังจะมีอยู่อีกในวาระต่อไป ตามประวัติที่ผู้เขียนดำเนินไปถึงตามประสบการณ์นั้นๆ ไม่กล้านำมาลงให้คละเคล้ากัน จึงขออภัยด้วยหากไม่สะดวกในการอ่าน ซึ่งมึ่งประสงค์จะให้จบสิ้นในเรื่องทำนองเดียวกันในตอนเดียวกัน
ที่ท่านเล่าระหว่างมนุษย์กับเทวดานั้น เป็นเรื่องราวของมนุษย์และเทวดาในสมัยโน้นต่างหาก ซึ่งองค์ท่านผู้ประสบและเล่าให้ฟังก็มรณภาพผ่านไปราว ๒๐ ปีนี้แล้ว คิดว่ามนุษย์และเทวดาสมัยนั้นคงจะแปรสภาพเป็นอนิจจังไปตามกฎอันมีมาดั้งเดิม อาจจะยังเหลือเฉพาะมนุษย์และเทวดาสมัยใหม่ ซึ่งต่างก็ได้รับการอบรมพัฒนาทางจิตใจและความประพฤติกันมาพอสมควร เรื่องมนุษย์ทำนองที่มีในประสบการ์ของท่านจนกลายเป็นประวัติมานั้น คงจะไม่มีท่านผู้สนใจสืบต่อให้รกรุงรังแก่ตนและประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อีกต่อไป เพราะการศึกษานับวันเจริญ ผู้ได้รับการศึกษามากคงไม่มีท่านผู้มีจิตใจใฝ่ต่ำขนาดนั้น จึงเป็นที่เบาใจกับชาวมนุษย์ในสมัยนี้
ท่านพักบำเพ็ญและอบรมพระเณรและประชาชนชาวจังหวัดอุดรฯ หนองคาย พอสมควรแล้ว ก็ย้อนกลับไปทางจังหวัดสกลนคร เที่ยวไปตามหมู่บ้านที่มีอยู่ในป่าในเขาต่างๆ มีอำเภอวาริชภูมิ พังโคน สว่างแดนดิน วานรนิวาส อากาศอำนวย แล้วก็เลยเข้าเขตจังหวัดนครพนม เที่ยวไปตามแถบอำเภอศรีสงคราม มีหมู่บ้านสามผง โนนแดง ดงน้อย คำนกกก เป็นต้น ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยดงหนาป่าทึบ และชุกชุมไปด้วยไข้ป่า (ไข้มาลาเรีย) ซึ่งรายใดเจอเข้าแล้วก็ยากจะหายได้ง่ายๆ อย่างน้อยเป็นแรมปีก็ยังไม่หายขาด หากไม่ตายก็พอทรมาน ดังที่เคยเขียนผ่านมาบ้างแล้วว่า "ไข้ที่พ่อตาแม่ยาเบื่อหน่ายและเกลียดชัง" เพราะผู้เป็นไข้ประเภทนี้นานๆ ไป แม้ยังไม่หายขาดแต่ก็พอไปมาได้และรับประทานได้ แต่ทำงานไม่ได้ บางรายก็ทำให้เป็นคนวิกลวิการไปเลยก็มี ชาวบ้านแถบนั้นเจอกันบ่อยและมีดาษดื่น ส่วนพระเณรจำต้องอยู่ในข่ายอันเดียวกัน มากกว่านั้นก็ถึงตาย ท่านจำพรรษาแถบหมู่บ้านสามผง ๓ ปี มีพระตายเพราะไข้ป่าไปหลายรูป ที่เป็นพระชาวทุ่งไม่เคยชินกับป่ากับเขา เช่น พระชาวอุบล ร้อยเอ็ด สารคาม ไปอยู่กับท่านในป่าแถบนั้นไม่ค่อยได้ เพราะทนต่อไข้ป่าไม่ไหว ต้องหลีกออกไปจำพรรษาตามหมู่บ้านแถวทุ่งๆ
ท่านเล่าว่า ขณะท่านกำลังแสดงธรรมอบรมพระเณรตอนกลางคืน ที่หมู่บ้านสามผง มีพญานาคที่อยู่แถบลำแม่น้ำสงครามได้แอบมาฟังเทศน์ท่านแทบทุกคืน เฉพาะวันพระมาทุกคืน ถ้าไม่มาตอนท่านอบรมพระเณร ก็ต้องมาตอนดึกขณะท่านเข้าที่ภาวนา ส่วนพวกเทวดาทั้งเบื้องบนเบื้องล่างมีมาห่างๆ ไม่เหมือนอยู่ที่อุดรฯ หนองคาย เฉพาะวันเข้าพรรษา วัดกลางพรรษา และวันปวารณาออกพรรษาแล้วไม่ว่าท่านจะพักจำอยู่ที่ไหนแม้แต่ในตัวเมือง ก็ยังมีพวกเทวดาทั้งเบื้องบนเบื้องล่างชั้นใดชั้นหนึ่ง และที่ใดที่หนึ่งมาฟังธรรมท่านมิได้ขาด เช่น ที่วัดเจดีย์หลวงที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
ขณะที่ท่านพักอยู่บ้านสามผงมีเรื่องที่แปลกอยู่เรื่องหนึ่ง เวลานั้นเป็นหน้าแล้ง พระเณรอบรมกับท่านราว ๖๐-๗๐ รูป น้ำท่ามีไม่พอใช้และขุ่นข้นไปหมด พระและเณรพากันปรึกษากันกับชาวบ้านว่า ควรจะขุดบ่อให้ลึกลงไปอีก เผื่อจะได้น้ำที่สะอาดและพอกินพอใช้ไม่ขาดแคลนดังที่เป็นอยู่บ้าง เมื่อตกลงกันแล้วพระผู้ใหญ่ก็เข้าไปกราบเรียนท่านเพื่อขออนุญาต พอกราบเรียนความประสงค์ให้ท่านทราบ ท่านนิ่งอยู่พักหนึ่ง แล้วแสดงอาการเคร่งขรึมและห้ามออกมาอย่างเสียงแข็งว่า ๐อย่าๆ ดีไม่ดีเป็นอันตราย" พูดเท่านั้นก็หยุด ไม่พูดอะไรต่อไปอีก พระอาจารย์รูปนั้นก็งงงันในคำพูดท่านที่ว่า "ดีไม่ดีเป็นอันตราย" พอกราบท่านออกมาแล้วก็นำเรื่องมาเล่าให้พระเณรและญาติโยมฟังตามที่ตนได้ยินมา แทนที่จะมีผู้คิดและเห็นตามที่ท่านพูดห้าม แต่กลับปรึกษากันเป็นความลับว่าพวกเราไม่ต้องให้ท่านทราบ พากันขโมยทำก็ยังได้ เพราะน้ำบ่อก็อยู่ห่างไกลจากวัน พอจะขโมยทำได้
พอเที่ยงวันกะว่าท่านพักจำวัดก็พากันเตรียมออกไปขุดบ่อ พอขุดกันยังไม่ถึงไหน ดินรอบๆ ปากบ่อก็พังลงใหญ่จนเต็มขึ้นมาเสมอพื้นที่ที่เป็นอยู่ดั้งเดิม ปากบ่อ เบิกกว้างและเสียหายไปเกือบหมด พระเณรญาติโยมพากันกลัวจนใจหายใจคว่ำไปตามๆ กันและตั้งตัวไม่ติด เพราะดินพังลงเกือบทับคนตายหนึ่ง เพราะพากันล่วงเกินคำที่ท่านห้ามโดยไม่มีใครระลึกรู้พอยับยั้งกันไว้บ้างหนึ่งและกลัวท่านจะทราบว่า พวกตนพากันขโมยทำโดยการฝ่าฝืนท่านหนึ่ง พระเณรทั้งวัดและญาติโยมทั้งบ้านพากันร้อนเป็นไฟไปตามๆ กัน และรีบพากันหาไม้มากั้นดินปากบ่อที่พังลงด้วยความเห็นโทษ ขออาราธนาวิงวอนถึงพระคุณท่านให้ช่วยคุ้มครองพอเอาดินที่พังลงในบ่อขึ้นได้ และได้อาศัยน้ำต่อไป เดชะบุญพออธิษฐานถึงพระคุณท่านแล้ว ทุกอย่างเลยเรียบร้อยไปอย่างน่าอัศจรรย์คาดไม่ถึง จึงพอมีหน้ายิ้มต่อกันได้บ้าง
พอเสร็จงานพระเณรและญาติโยมต่างก็รีบหนีเอาตัวรอด กลัวท่านจะมาที่นั่น ส่วนพระเณรทั้งวัดต่างก็มีความร้อนใจสุมอยู่ตลอดเวลา เพราะความผิดที่พากันก่อไว้แต่กลางวัน ยิ่งจวนถึงเวลาประชุมอบรมซึ่งเคยมีเป็นประจำทุกคืนก็ยิ่งเพิ่มความไม่สบายใจมากขึ้น ใครๆ ก็เคยรู้เคยเห็นและเคยถูกดุเรื่องทำนองนี้มาแล้วจนฝังใจ บางเรื่องแม้ตนเคยคิดและทำจนลืมไปแล้ว ท่านยังสามารถรู้และนำมาเทศน์สอนจนได้เพียงเรื่องน้ำบ่อซึ่งเป็นเรื่องหยาบๆ ที่พากันขโมยท่านทำทั้งวัด จะเอาอะไรไปปิดไม่ให้ท่านทราบ ท่านต้องทราบและเทศน์อย่างหนักแน่นอนในคืนวันนี้ หรืออย่างช้าก็ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น อารมณ์เหล่านี้แลที่ทำให้พระเณรไม่สบายใจกันทั้งวัด พอถึงเวลาประชุมและแทนที่จะถูกโดนอย่างหนักดังที่คาดกันไว้ ท่านกลับไม่ประชุมและไม่ดุด่าอะไรแก่ใครๆเลย สมเป็นอาจารย์ที่ฉลาดสั่งสอนคนจำนวนมาก ทั้งที่ทราบเรื่องนั้นได้ดีและยังทราบความไม่ดีของพระทั้งวัดที่ล่วงเกินฝ่าฝืนท่านแล้วกำลังได้รับความเร่าร้อนกันอยู่ หากจะว่าอะไรลงไปเวลานั้นก็เท่ากับการซ้ำเติมผู้ทำผิดที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขณะนั้นผู้ทำผิดต่างกำลังเห็นโทษของตนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
พอรุ่งเช้าวันใหม่เวลาท่านออกจากที่ภาวนา ปกติท่านลงเดินจงกรมจนได้เวลาบิณฑบาตแล้วค่อยขึ้นบนศาลา ครองผ้าออกบิณฑบาตอย่างนั้นเป็นประจำมิได้ขาด เช้าวันนั้นพอท่านจากทางจกรมขึ้นศาลา พระทั้งวัดต่างร้อนอยู่ภายในและคอยฟังปัญหาว่าท่านจะออกแง่ไหนบ้างวันนี้ แต่แทนที่จะเป็นไปตามความคิดของพระทั้งวัด ซึ่งกำลังกระวนกระวายอยากฟัง แต่เรื่องกลับเป็นไปคนละโลก คือท่านกลับพูดนิ่มนวลอ่อนหวานแสดงเป็นเชิงปลอบใจพระเณรที่กำลังเร่าร้อนให้กลับสบายใจว่า "เรามาศึกษาหาอรรถหาธรรม ไม่ควรกล้าจนเกินตัวและกลัวจนเกินไป เพราะความผิดพลาดอาจมีได้ด้วยกันทุกคน ความเห็นโทษความผิดนั่นแลเป็นความดี พระพุทธเจ้าท่านก็เคยผิดมาก่อนพวกเรา ตรงไหนทีเห็นว่าผิดท่านก็เห็นโทษในจุดนั้น และพยายามแก้ไขไปทุกระยะที่เห็นว่าผิด เจตนานั้นดีอยู่ แต่ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นอาจมีได้ ควรสำรวมระวังต่อไปทุกกรณี เพราะความมีสติระวังตัวทุกโอกาสเป็นทางของนักปราชญ์" เพียงเท่านี้ก็หยุด และแสดงอาการยิ้มแย้มต่อพระเณรต่อไป ไม่มีใครจับพิรุธท่านได้เลย แล้วก็พาออกบิณฑบาตตามปกติ
คืนวันหลังก็ไม่ประชุมอีก เป็นแต่สั่งให้พากันประกอบความเพียร รวมเป็นเวลาสามคืนที่ไม่มีการประชุมอบรมธรรม พอดีกับระยะนั้นพระเณรกำลังกลัวท่านจะเทศน์เรื่องบ่อน้ำอยู่แล้ว ก็พอเหมาะกับที่ท่านไม่สั่งให้ประชุม จนคืนที่สึ่ถึงมีการประชุม เวลาประชุมก็มิได้เอ่ยถึงเรื่องบ่อน้ำ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ให้เรื่องหายเงียบไปเลยตั้งนาน จนปรากฎว่าพระทั้งวัดลืมกันไปหมดแล้ว เรื่องถึงได้โผล่ขึ้นมาอย่างไม่นึกไม่ฝันและก็ไม่มีใครกล้าเล่าถวายให้ท่านทราบเลย เพราะต่างคนต่างปิดเงียบ ท่านเองก็มิได้เคยไปที่บ่อซึ่งอยู่ห่างจากวัดนั้นเลย
เริ่มแรกก็แสดงธรรมอบรมทางภาคปฏิบัติไปเรื่อยๆ อย่างธรรมดา พอแสดงไปถึงเหตุผลและความเคารพในธรรมในครูอาจารย์ ธรรมก็เริ่มกระจายไปถึงผู้มารับการศึกษาอบรม ว่าควรเป็นผู้หนักในเหตุผลซึ่งเป็นเรื่องของธรรมแท้ ไม่ควรปล่อยให้ความอยากที่คอยผลักดันอยู่ตลอดเวลาออกมาเพ่นพ่านในวงปฏิบัติ จะมาทำลายธรรมอันเป็นแนวทางที่ถูกและเป็นแบบฉบับแห่งการดำเนินเพื่อความพ้นทุกข์ จะทำให้ทุกสิ่งที่มุ่งปรารถนาเสียไปโดยลำดับ ธรรมวินัยหนึ่ง คำพูดของครูอาจารย์หนึ่ง ที่เราถือเป็นที่เคารพไม่ควรฝ่าฝืน การฝ่าฝืนพระธรรมวินัยและการฝ่าฝืนคำครูอาจารย์เป็นการทำลายตัวเอง และเป็นการส่งเสริมนิสัยไม่ดีให้มีกำลังเพื่อทำลายตนและผู้อื่นต่อไปไม่มีทางสิ้นสุด น้ำบ่อนี้มิใช่มีแต่ดินเหนียวล้วนๆ แต่มีดินทรายอยู่ข้างล่างด้วย หากขุดลึกลงไปมากดินทรายจะพังลงไปก้นบ่อและจะทำให้ินเหนียวขาดตกลงไปด้วย ดีไม่ดีทับหัวคนตายก็ได้จึงได้ห้ามมิให้พากันทำ
การห้ามมิให้ทำหรือการสั่งให้ทำในกิจใดๆ ก็ตาม ได้พิจารณาก่อนแล้วทุกอย่างถึงได้สั่งลงไป ผู้มารับการอบรมก็ควรพิจารณาตามบ้าง บางอย่างก็เป็นเรื่องภายในโดยเฉพาะ ไม่จำต้องแสดงออกต่อผู้อื่นเสียจนทุกแง่ทุกมุม เท่าที่แสดงออกเพื่อผู้อื่นก็พอเข้าใจความมุ่งหมายดีพอ แต่ทำไมจึงไม่เข้าใจ เช่น อย่าทำสิ่งนั้น แต่กลับทำในสิ่งนั้น ให้ทำสิ่งนั้น แต่กลับไม่ทำในสิ่งนั้นดังนี้ เรื่องทั้งนี้มิใช่ไม่เข้าใจ ต้องเข้าใจกันแน่นอน แต่ที่ทำไปอีกอย่างหนึ่งนั้น เป็นความดื้อดึงตามนิสัยที่เคยดื้อดึงต่อพ่อแม่มาแต่เป็นเด็กเพราะท่านเอาใจ นิสัยนั้นเลยติดตัวและฝังใจมาจนถึงขั้นพระขั้นเณร ซึ่งเป็นชั้นผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว แล้วก็มาดื้อดึงต่อครูอาจารย์ต่อพระธรรมวินัยอันเป็นทางเสียหายเข้าอีก ความดื้อดึงในวัยและเพศนี้ ไม่ใช่ความดื้อดึงที่ควรได้รับอภัยและเอาใจเหมือนควาวเป็นเด็ก แต่ควรตำหนิอย่างยิ่ง ถ้าขืนดื้อดึงต่อไปอีกก็จะเป็นการส่งเสริมนิสัยไม่ดีนั้นให้ยิ่งขึ้นและควรได้รับสมัญญาว่า "พระธุดงค์หัวดื้อ" บริขารใช้สอยทุกชิ้นที่เกียวกับตัวก็ควรเรียกว่าบริขารของ พระหัวดื้อไปด้วย องค์นี้ก็ดื้อ องค์นั้นก็ด้าน องค์โน้นก็มึนและดื้อด้านกันทั้งวัด อาจารย์ก็ได้ลูกศิษย์หัวดื้อ อะไรก็กลายเป็นเรื่องดื้อด้านไปเสียหมด โลกนี้เห็นจะแตก ศาสนาก็จะล่มจมแน่นอน แล้วก็แสดงเป็นเชิงถามว่า ใครบ้างที่ต้องการเป็นพระหัวดื้อและต้องการให้อาจารย์เป็นอาจารย์ของพระหัวดื้อ มีไหมในที่นี่ ถ้ามีพรุ่งนี้ให้พากันไปรื้อไปขุดน้ำบ่ออีกให้ดินพังลงทับตาย จะได้ไปเกิดบนสวรรค์วิมานหัวดื้อ เผื่ชาวเทพทั้งหลายชั้นต่างๆ จะได้มาชมบารมีบ้างว่าเก่งจริง ไม่มีชาวเทพพวกไหนแม้ชั้นพรหมโลกที่เคยเห็นและเคยได้อยู่วิมานประหลาดเช่นนี้มาก่อน
จากนั้นก็แสดงอ่อนลงทั้งเสียงและเนื้อธรรมทำให้ผู้ฟังเห็นโทษแห่งความดื้อดึงฝ่าฝืนของตนอย่างถึงใจ ผู้นั่งฟังอยู่ในขณะนั้นคล้ายกับลืมหายใจไปตามๆ กัน พอจบการแสดงธรรมและเลิกประชุมแล้ว ต่างก็ออกมาถามและยกโทษกันวุ่นวายไปว่า มีใครไปกราบเรียนท่านถึงได้เทศน์ขนาดหนัก ทำเอาผู้ฟังแทบสลบไปตามๆ กันในขณะนั้น ทุกองค์ต่างก็ปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีใครกล้าไปกราบเรียน เพราะต่างก็กลัวว่าท่านจะทราบและถูกโดนเทศน์หนักอยู่แล้ว เรื่องก็เป็นอันผ่านไปโดยมิได้ต้นสายปลายเหตุ
ตามปกติ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ มาแต่สมัยท่านจำพรรษาอยู่ถ้าสาริก จังหวัดนครนายกตลอดมา และมีความชำนาญกว้างขวางขึ้นเป็นลำดับจนแทบจะพูดได้ว่าไม่มีประมาณ เวลาปกติก็ดี ขณะเข้าประชุมฟังการอบรมก็ดี พระที่อยู่กับท่านซึ่งรู้เรื่องของท่านได้ดีต้องมีความระวังสำรวมจิตอย่างเข้มงวดกวดขันอยู่ตลอดไป จะเผลอตัวคิดไปต่างๆ นานาไม่ได้ เวลาเข้าประชุมความคิดนั้นต้องกลับมาเป็นกัณฑ์เทศน์ให้เจ้าของฟังอีกจนได้ ยิ่งขณะที่ท่านกำลังให้การอบรมอยู่ด้วยแล้วยิ่งเป็นเวลาที่สำคัญมากกว่าเวลาอื่นใด ทั้งๆ ที่แสดงธรรมอยู่ แต่ขณะที่หยุดหายใจ หรือหยุดเพื่อสังเกตการณ์อะไรก็สุดจะเดา เพียงขณะเดียวเท่านั้น ถ้ามีรายใดคิดเปะปะออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง ขณะนั้นแลเป็นต้องได้เรื่อง และได้ยินเสียงเทศน์แปลกๆ ออกมาทันที ซึ่งตรงกับความคิดที่ไม่มีสติรายนั้นๆ เป็นแต่ท่านไม่ระบุรายชื่อออกมาอย่างเปิดเผยเท่านั้น แม้เช่นนั้นก็ทำให้ผู้คิดสะดุดใจในความคิดของตนทันทีและกลัวท่านมาก ไม่กล้าคิดแบบนั้นต่อไปอีก
กับเวลาออกบิณฑบาตตามหลังท่านนั้นหนึ่ง จะต้องระวัง ไม่เช่นนั้นจะได้ยินเสียงเทศน์เรื่องความคิดไม่ดีของตนในเวลาเข้าประชุมแน่นอน บางทีก็น่าอับอายหมู่เพื่อนที่นั่งฟังอยู่ด้วยกัน หลายท่านซึ่งได้ยินแต่เสียงท่านเทศน์ระบุเรื่องความคิด แต่มิได้ระบุตัวผู้คิด ผู้ถูกเทศน์แทบมุดดินให้จมหายหน้าไปเลยก็มี เพราะบางครั้งเวลาได้ยินท่านเทศน์แบบนั้น ทำให้ผู้ฟังอยู่ด้วยกันหลายท่านต่างหันหน้ามององค์นั้น ชำเลืองดูองค์นี้ เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นองค์ไหนแน่ที่ถูกเทศน์เรื่องนั้นอยู่ขณะนั้น บรรดาพระเณรจำนวนมากรู้สึกจะมีนิสัยคล้ายคลึงกัน พอโดนเจ็บๆ ออกมาแล้วแทนที่จะเสียใจหรือโกรธ พอพ้นเขตดัดสันดานออกมาต่างแสดงความยิ้มแย้มขบขันพอใจ และไต่ถามซึ่งกันและกันว่า วันนี้โดนใคร? วันนี้โดนใคร?
แต่าน่าชมเชยอยู่อย่างหนึ่ง ที่พระท่านมีความสัตย์ซื่อต่อความคิดผิดของตัวและต่อเพื่อนฝูง ไม่ปกปิดไว้เฉพาะตัว พอมีผู้ถามจะเป็นองค์ใดก็ตามที่คิดผิดทำนองท่านเทศน์นั้น องค์นั้นต้องสารภาพตนทันทีว่า วันนี้โดนผมเอง เพราะผมมันดื้อไม่เข้าเรื่องไปหาญคิดเรื่อง..... ทั้งที่ตามปกติก็รู้อยู่ว่าจะโดนเทศน์ถ้าขืนคิดอย่างนั้น แต่พอไปเจอเข้ามันลืมเรื่องที่เคยกลัวเสียสิ้น มีแต่เรื่องกล้าแบบบ้าๆ บอๆ ออกมาท่าเดียว ที่ท่านเทศน์นั้นสมควรอย่างยิ่งแล้ว จะได้ดัดสันดานเราที่คิดไม่ดีเสียที
ต้องขออภัยจากท่านผู้อ่านมากๆ ที่บางเรื่องผู้เขียนก็ไม่สะดวกใจที่จะเขียน แต่เรื่องที่ว่าไม่สะดวกก็มีผู้ก่อไว้แล้ว พอให้เกิดปัญหากลืนไม่ได้คายไม่ออกขวางอยู่ในคอดีๆ นี่เอง ถ้าได้ระบายออกตามความจริงก็น่าจเป็นธรรม เหมือนพระท่านแสดงอาบัติ ก็เป็นวิธีที่ทำให้หมดโทษหมดกังวล ไม่กำเริบต่อไป จึงเรียนเป็นบางตอน พอเป็นข้อคิดจากทั้งท่านผู้เป็นเจ้าของเรื่องทั้งท่านผู้ชำระเรื่อง ทั้งพวกเราผู้มีหัวใจที่อาจมีความคิดอย่างนั้นบ้าง
โดยมากนักบวชและนักปฏิบัติที่โดนเทศน์เจ็บๆ อยู่บ่อยๆ ก็เนื่องจากอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง เป็นต้น ที่เป็นวิสภาคต่อกันนั่นเอง มากกว่าเรื่องอื่นๆ ต้นเหตุที่ถูกเทศน์โดยมากก็เวลาบิณฑบาต ซึ่งเป็นกิจจำเป็นของพระ จะละเว้นมิได้ เวลาไปก็ต้องเจอ เวลาเจอก็จำต้องคิดไปต่างๆ บางรายพอเจอเข้าเกิดความรักชอบ ความคิดกลายเป็นกงจักรไปโดยไม่รู้สึกตัว นี่แลคือต้นเหตุสำคัญที่ฉุดลากใจให้คิดออกไปนอกลู่นอกทาง ทั้งที่ไม่อยากจะให้เป็นเช่นนั้น พอได้สติรั้งกลับมาได้ ตกตอนเย็นมาก็โดนเทศน์ แล้วพยายามทำความสำรวมต่อไป พอวาระต่อไปก็ไปเจอเอาของดีเข้าอีก ทำให้แผลกำเริบขึ้นอีก ขากลับมาวัดก็โดนยาเม็ดขนานเด็ดๆ ใส่แผลเข้าอีก คือ โดนเทศน์นั่นเอง ถ้าองค์นี้ไม่โดนของดี แต่องค์นั้นก็โดนเข้าจนได้ เพราะพระเณรมีมากต่อมากและต่างองค์ก็มีแผลเครื่องรับของแสดงด้วยกัน ฉะนั้น จึงไปโดนแต่ของดีมาจนไม่ชนะจะหลบหลีกแก้ไข พอมาถึงวัดและสบจังหวะก็โดนเทศน์จากท่านเข้าอีก
ธรรมดาความคิดของคนมีกิเลสก็ต้องมีคิดไปต่างๆ ดี บ้างชั่วบ้าง ท่านเองก็ไม่ใช่นักดุด่าไปเสียทุกขณะจิตที่คิด ที่ท่านตำหนิก็คือสิ่งที่ท่านอยากให้คิด เช่น คิดอรรถคิดธรรมด้วยสติปัญญาเพื่อหาทางปลดเปลื้องตนออกจากทุกข์ อันเป็นความคิดที่ถูกทางและเบาใจแก่ผู้อบรมสั่งสอนนั้นไม่ค่อยชอบคิดกัน แต่ชอบไปคิดในสิ่งที่ไม่อยากให้คิด จึงโดนเทศน์กันอยู่เสมอแทบทุกคืน เพราะผู้ทำให้ท่านต้องเทศน์บ่อยๆ มีมาก
ทั้งนี้กล่าวถึงความรู้ความละเอียดแห่งปรจิตตวิชชา คือการกำหนดรู้ใจผู้อื่นของท่านพระอาจารย์มั่น ว่าท่านรู้และสามารถจริงๆ ส่วนความคิดที่น่าตำหนินั้น ก็มิได้เป็นขึ้นด้วยเจตนาจะสั่งสมของผู้ผลิต หากแต่เป็นขึ้นเพราะความเผอเรอที่สติตามไม่ทันเป็นบางครั้งเท่านั้น แม้เช่นนั้นในฐานะที่ท่านเป็นอาจารย์ผู้คอยให้ความรู้ความฉลาดแก่ลูกศิษย์ เมื่อเห็นว่าไม่เหมาะสมก็รีบเตือนเพื่อผู้นั้นจะได้สติและเข็ดหลาบแล้วระวังสำรวมต่อไป ไม่หลวมตัวคิดอย่างนั้นอีก จะเป็นทางเบิกกว้างเพื่อความเสียหายต่อไป เพราะความคิดซ้ำซากเป็นเครื่องส่งเสริมการสั่งสอนพระ รู้สึกว่าท่านสั่งสอนละเอียดถี่ถ้วนมาก ศีลที่เป็นฝ่ายวินัยท่านก็สอนละเอียด สมาธิและปัญญาที่เป็นฝ่ายธรรมท่านยิ่งสอนละเอียดลออมาก แต่ปัญญาขั้นสูงสุดจะเขียนลงข้างหน้าตามประวัติท่านที่บำเพ็ญธรรมขั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ ส่วนสมาธิทุกขั้น และปัญญาขั้นกลาง ท่านเริ่มมีความชำนาญมาแล้วจากถ้ำสาริกา นครนายก พอมาฝึกซ้อมอยู่ทางภาคอีสานนานพอควรก็ยิ่งมีความชำนิชำนาญยิ่งขึ้น ฉะนั้น การอธิบายสมาธิทุกขั้นและวิปัสสนาขั้นกลางแก่พระเณร ท่านจึงอธิบายได้อย่างคล่องแคล่วมาก ไม่มีการเคลื่อนคลาดจากหลักสมาธิปัญญาที่ถูกต้องเลย ผู้รับการอบรมได้ฟังอย่างถึงใจทุกขั้นของสมาธิและปัญญาขั้นกลาง
สมาธิท่านรู้สึกแปลกและพิสดารมาก ทั้งขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ คือขณะจิตรวมเป็นขณิกสมาธิแล้วตั้งอยู่ได้ขณะเดียว แต่มิได้ถอนออกมาเป็นจิตธรรมดา หากแต่ถอนออกมาสู่อุปจารสมาธิ แล้วออกรู้สิ่งต่างๆ ไม่มีประมาณ บางครั้งเกี่ยวกับพวกภูตผี เทวบุตร เทวธิดา พญานาคต่างๆ นับภพ นับภูมิได้ที่มาเกี่ยวข้องกับสมาธิประเภทนี้ ซึ่งท่านใช้รับแขกจำพวกมีรูปไม่ปรากฏด้วยตา มีเสียงไม่ปรากฏด้วยหูมาเป็นประจำ บางครั้งจิตก็เหาะลอยออกจากกายแล้วเที่ยวชมสวรรค์วิมานและพรหมโลกชั้นต่างๆ และลงไปเที่ยวดูภพภูมิของสัตว์นรกที่กำลังเสวยกรรม มีประเภทต่างกันอยู่ที่ที่ทรมานต่างๆ กันตามกรรมของตน
คำว่าขึ้นลงตามคำสมมุติที่โลกนำมาใช้กันตามกิริยาของกายซึ่งเป็นอวัยวะหยาบนั้น ผิดกัยกิริยาของจิตซึ่งเป็นของละเอียดอยู่มากจนกลายเป็ฯคนละโลกเอาเลย คำว่าขึ้นหรือลงของกาย รู้สึกเป็นประโยคพยายามอย่างเอาจริงเอาจัง แต่จิตถ้าใช้กิริยาแบบกายบ้างว่าขึ้นหรือลงก็สักแต่ว่าเท่านั้น แต่มิได้เป็นประโยคพยายามว่าจิตขึ้นหรือลงเลย คำว่าสวรรค์ พรหมโลก และนิพพาน อยู่สูงขึ้นไปตามลำดับแห่งความละเอียดของชั้นนั้นๆ ก็ดี คำว่านรกอยู่ต่ำลงไปตามลำดับของความต่ำแห่งภูมิและผู้มีกรรมต่างๆ กันก็ดีนี้ เรานำด้านวัตถุเข้าไปวัดกับนามธรรมเหล่านั้นต่างหาก นรก สวรรค์ เป็นต้น จึงมีต่ำสูงไปตามโลก
เราพอเทียบกันได้บ้าง เช่น นักโทษทั้งลหุโทษที่อยู่ในเรือนจำอันเดียวกัน ซึ่งตั้งอยู่ในที่ที่มนุษย์ผู้ไม่มีโทษทัณฑ์อะไรอยู่กัน ในนักโทษทั้งสองชนิดไม่มีการขึ้นลง ต่างกันที่ตรงไหนบ้างเลย เพราะอยู่ในเรือนจำอันเดียวกันและไม่มีขึ้นลง ต่างกันกับมนุษย์ผู้ไม่มีโทษอีกด้วย เพราะเรือนจำหรือตะรางอันเป็นที่อยู๋ของนักโทษทุกชนิดอยู่กันกับสถานที่ที่มนุษย์อยู่กัน มันเป็นแผ่นดินอันเดียวกัน บ้านเมืองอันเดียวกัน เป็นแต่แยกเป็นเอกเทศกันอยู่คนละส่วนเท่านั้น เมื่อต่างคนต่างมีตาดีหูดี ทั้งลหุโทษ ครุโทษและมนุษย์ผู้ปราศจากโทษ ต่างก็มองเห็นได้ยินและรู้เรื่องของกันได้อย่างธรรมดาทั่วๆ ไป ไม่เป็นปัญหาเหมือนระหว่างพวกนรกกับเทวดา ระหว่างเทวดากับพรหม และระหว่างพวกเทพฯ ทุกชั้นกับสัตว์นรกทุกภูมิ และระหว่างสัตว์นรกทุกภูมิและเทวดาพรหมทุกชั้นกับพวกมนุษย์ที่ไม่รู้เรื่องของกันเอาเลยแม้กระแสใจของทุกๆจำพวกจะส่งประสานผ่านภูมิที่อยู่ของกันและกันอยู่ตลอดเวลา แต่ก็เหมือนไม่ได้ผ่านและเหมือนไม่มีอะไรมีอยู่ในโลก นอกจากเราคนเดียวที่รู้เรื่องของตัวทุกอย่างเท่านั้น จะรับรองตนได้ว่า การมีอยู่ในโลก เพียงใจที่มีอยู่กับทุกคนตลอดสัตว์ก็ยังไม่สามารถรู้เรื่องความคิดดีชั่วของกันและกันได้ ถ้าจะปฏิเสธว่าใจของคนและสัตว์ไม่มีและถ้ามีทำไมไม่รู้ไม่เห็นใจเรื่องใจกันบ้าง ดังนี้ ก็พอจะปฏิเสธได้ถ้าจะเป็นความจริงตามคำปฏิเสธ แต่จะปฏิเสธวันยังค่ำก็คงผิดไปทั้งวัน เพราะปกติคนและสัตว์ที่ยังครองตัวอยู่ย่อมมีใจด้วยกันทุกราย แม้จะไม่รู้ไม่เห็นความคิดของกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ใจไม่มีในร่างที่เราไม่สามารถมองเห็นและได้ยิน สิ่งละเอียดที่สุดวิสัยของตาหูจะรับรู้ได้ในโลกแห่งสัตว์ทั้งหลาย ก็คงขึ้นอยู่กับความไม่สามารถของแต่ละราย ไม่ขึ้นกับสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่จะปกปิดตัวเอง
(จากหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น