วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม ตอน 16



ธรรมมะโอสถ

เช้าวันเสาร์แม่รู้สึกปวดหัวครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนจะเป็นไข้ โดยปกติผมจะไปสนทนาธรรมให้แม่ฟังทุกวัน เรียกตามภาษาที่เข้าใจกันว่า ธรรมะวันละคำ

                วันนี้ แม่ดูหน้าตาไม่ค่อยดี เมื่อเห็นผม แม่จึงพูดขึ้นว่า “แม่ขอนอนฟังได้มั้ย แม่ไม่ค่อยสบาย” แม่รู้สึกเกรงใจ ที่ต้องนอนฟัง ผมจึงบอกไปว่า  “ไม่เป็นไรครับ แม่นอนฟังก็ได้ครับ ผมจะพูดธรรมะให้ฟัง แม่ฟังไปถ้าง่วงก็หลับไปเลยนะครับ”

ชีวิตเราก็เท่านี้แหละ เกิดแล้วก็ต้องแก่ แก่แล้วก็ต้องเจ็บ เจ็บแล้วก็ต้องตาย  ร่างกายสังขารใช้มันมานานแล้ว มันก็เริ่มเสื่อมโทรมไปเป็นธรรมดา ชีวิตนี้ไม่แน่นอน ความป่วยไข้มันจะมา มันก็ไม่บอกเราล่วงหน้า ความตายจะมาเมื่อไร มันก็ไม่บอกเราล่วงหน้า

โรคทางกายก็ต้องให้หมอรักษา โรคทางใจก็ต้องให้ธรรมะพระพุทธเจ้ารักษา พระพุทธเจ้าท่านก็ยังมีทุกข์กาย ท่านยังต้องปวดหัวตัวร้อนเหมือนเรา แต่พระองค์ท่านต่างกับเราตรงที่ว่า ทุกข์กายแต่ไม่ทุกข์ใจ

“แม่สังเกตสิครับ ความปวดอยู่ที่หัว ทำไมมันต้องปวดหัว ก็เพราะมันมีหัว ทำไมต้องปวดเข่า ก็เพราะมันมีเข่า พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า กายใจเป็นตัวทุกข์ ทุกข์ที่มันต้องแปรปรวนเปลี่ยนไป ทุกข์เพราะมันทนอยู่สภาพเดิมนานๆ ไม่ได้ ทุกข์เพรามันบังคับบัญชาไม่ได้ ทุกข์เพราะเราเห็นผิดว่า กายใจเป็นเรา ทุกข์เพราะเราเข้าไปยึดมั่นว่า กายใจเป็นตัวเราของเรา”

จู่ๆ แม่ก็พลันลุกขึ้นมานั่ง แล้วก็ตั้งใจฟัง ผมเริ่มสังเกตเห็นว่า แม่มีหน้าตาที่สดชื่นขึ้น
“แม่หายปวหัวแล้วหรือครับ”

แม่บอกว่า “หายแล้ว ตะกี้มันยังปวดตุ๊บๆ อยู่เลย แต่ตอนนี้ไม่รู้มันหายไปไหน”

“แม่เห็นมั้ยครับ มันกำลังแสดงความไม่เที่ยงออกมาให้แม่เห็น”
“นี่แหละ เขาเรียกว่า ธรรมะโอสถ”

“ธรรมมโอสถ” แม่ทวนคำพูดผม  “แม่เคยได้ยิน แต่แม่ไม่เข้าใจ”
“ธรรมะโอสถ เปรียบเหมือนดังยาทางใจ พอฟังธรรมก็รู้สึกสุขใจ ชื่นใจ ปลื้มใจ พอใจสบาย กายก็เลยพลอยสบายไปด้วย”

“อ้อ...แม่เข้าใจแล้ว ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก เพิ่งเข้าใจวันนี้เอง”
“ไม่ใช่เพียงแค่เข้าใจนะครับ  แม่ได้กินยาธรรมะโอสถเข้าไปแล้วด้วย หน้าตาจึงดูสดใสเบิกบานขึ้นตั้งเยอะ”

“วันหน้า มาพูดธรรมะให้แม่ฟังอีกนะแม่ชอบ”
“ชอบให้รู้อะไรครับแม่”  ผมลองถาม

“ชอบให้รู้ว่าใจมันชอบ ไม่ใช่เราชอบ” แม่ตอบพร้อมอมยิ้ม
“ถูกต้องแล้วครับ”

ชีวิตเราก็เท่านี้ ตั้งแต่เล็กก็เรียนหนังสือ  ครั้นเติบใหญ่ก็หางานทำ หาเงินหาทองไว้เลี้ยงชีวิต แต่เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้ ก็เลี้ยงได้แต่เฉพาะร่างกาย ได้เพียงแค่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเป็นอาหารเท่านั้น ส่วนอาหารใจ มันถูกลืม ไม่ค่อยมีใครใส่ใจเหลียวแลมัน อาหารใจก็คือ คุณธรรม ศีลธรรม หรือธรรมะนั่นเอง  นับตั้งแต่ ทานกุศล ศีลกุศลและภาวนากุศล สิ่งสูงสุดนั้นคือ วิปัสสนากุศล หรือการเจริญสติ ตามรู้รูปธรรม นามธรรม ที่เกิดขึ้นที่กาย ที่ใจเรานั่นเอง”

“โดยให้เห็น ความเป็นจริงว่า รูปนาม กายใจมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ทนอยู่สภาพเดิมนั้นไม่ได้ มันบังคับบัญชาให้เป็นไปดั่งใจเราไม่ได้เลย”
ท่านผู้อ่านอย่ากังวลว่ามันยากเลย แท้ที่จริงพ่อแม่ครูบาอาจารย์กล่าวสอนไว้ว่า

“การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ยาก แต่ยากสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติเท่านั้น”


เมื่อใดที่ท่านมีลมหายใจ
เมื่อนั้นท่านก็ปฏิบัติธรรมได้แล้ว
ขอแต่เพียงอย่าหายใจทิ้งขว้างไปเปล่าๆเท่านั้นเอง


(จากหนังสือ สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม โดย ธีรยุทธ  เวชเจริญยิ่ง)

ไม่มีความคิดเห็น: