วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม ตอน 9



ไม้เท้า

“แม่ครับ...ไม้เท้าของแม่มีไว้ทำอะไร”
แม่ทำหน้า งงๆ  พลันตอบว่า  “ก็เอาไว้ค้ำยันกายไม่ให้ล้มนะสิ”
“จริงครับ แล้วไม้เท้า ที่ค้ำยันใจไม่ให้ล้ม หรือไม่ให้ล่มสลาย มีขายมั้ยครับ”
แม่ได้แต่อมยิ้ม แล้วตอบว่า  “ไม่มี”

“แม่ครับ  ไม้เท้าค้ำยันกายหาซื้อได้ทั่วไป แต่ไม้เท้าค้ำยันใจ ต้องฝึกทำเองไม่มีขาย ไม้เท้าค้ำยันใจ ก็คือ  “สติ” นั่นเอง

“หากแม่ฝึกสติรู้สึกตัวที่กายบ้างที่ใจบ้าง สุดแท้แต่ว่าใจมันจะรู้สึกที่ไหน  กายแม่เคลื่อนไหวก็ให้รู้สึกตัว  กายปวดก็ให้รู้ว่ากายมันปวดไม่ใช่เราปวด  ความปวดมันก็อยู่ส่วนหนึ่ง กายมันก็อยู่ส่วนหนึ่ง  ใจที่มันไปรู้ปวดมันก็อยู่ส่วนหนึ่ง  ปวดแล้วรู้สึกหงุดหงิด โมโหง่ายนั้นก็เป็นอาการบางอย่างที่เกิดกับใจ  ก็ให้รู้ว่ามันมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นกับใจ  แล้วรู้ตามที่มันเป็น พอเข้าใจมั้ยครับแม่”

แม่คิดนิดนึง... แล้วถามขึ้นว่า
“แต่ความปวดมันเกิดที่กาย  แล้วมันไม่ใช่อันเดียวกันหรือ”
“ไม่ใช่ครับ”...ผมเริ่มอธิบายเพิ่มเติม

“กายกับความปวดคนละอย่างกัน  ถ้ามันเป็นอย่างเดียวกัน  นั้นหมายความว่า ขณะนี้ใครก็ตามที่มีร่างกายมันต้องปวดตลอดเวลา ใช่มั้ยครับ ตอนแรกๆ เรานั่งใหม่ๆ ปวดเมื่อยมั้ยครับ”
แม่ตอบว่า “ไม่ปวด”

“แต่พอนั่งไปนานๆ มันกลับปวด เข้ามาแทรกอยู่ในกาย  ฉะนั้นความปวดก็อย่างหนึ่ง  กายก็อย่างหนึ่ง  ทั้งสองอย่างนี้มันเป็นสิ่งที่ถูกรู้  แต่มันก็มีสิ่งหนึ่งที่ไปรู้อาการปวดที่กำลังปรากฏที่กาย  นั่นเขาเรียกว่าจิตผู้รู้หรือใจ ที่มันทำหน้าที่รับรู้นั่นเอง

“จริงนะ  ถ้าเธอไม่บอก แม่ก็คงยังไม่รู้ ทั้งๆ ที่มันก็เกิดขึ้นอยู่กับกายใจเรานี้มาตั้งแต่เกิด  แต่เราไม่เคยเข้าไปสังเกตเห็นมันเลย”

“จริงครับ... แท้ที่จริงไม่ใช่ผมเป็นผู้บอก แต่พระพุทธเจ้า พระองค์ท่านเป็นผู้บอก แล้วพระองค์ท่านยังบอกต่อไปด้วยว่า  อาการปวดมันก็ไม่เที่ยง  เดี๋ยวก็ปวดมาก เดี๋ยวก็ปวดน้อย เดี๋ยวก็หายปวด จะบังคับมันให้เป็นไปดั่งใจเราก็ไม่ได้  มันเป็นเพียงธรรมชาติหรืออาการอย่างหนึ่งที่ปรากฏที่กาย  แล้วมีใจเข้าไปรู้เข้าหรือรู้สึกได้ ทั้งกาย ทั้งใจ มันไม่ใช่เรา ถ้ามันใช่เราหรือเป็นของเรา  เราต้องบังคับมันได้ แต่นี่เราบังคับอะไรมันไม่ได้เลย มันจึงไม่ใช่เราและไม่ใช่ของเรา ถ้าเราเห็นถูกต้องตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอน เราจะได้ไม่ทุกข์ไงละครั้ง”

“พระพุทธเจ้าเก่งจริงๆ” ...แม่เอ่ย  พร้อมยกมือพนมกล่าว  “สาธุ  สาธุ สาธุ”

ชีวิตเราจำเป็นต้องมีที่พึ่งทางใจ ลองถามตัวเราเองซิว่า เรามีที่พึ่งทางใจแล้วหรือยัง ร่างกายก็นับวันจะชราทรุดโทรมผุพังไปเรื่อย  ถ้ามัวแต่เอื่อยเฉื่อยไม่ฝึกตนแล้วจะพ้นทุกข์ได้อย่างไร

(จากหนังสือ สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม โดย ธีรยุทธ  เวชเจริญยิ่ง)

ไม่มีความคิดเห็น: