ก่อนการปฏิบัติธรรม ควรเตรียมความพร้อมของใจให้รู้จักหัดไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีล 5 เป็นประจำทุกวัน ศีล 5 เป็นรากฐานของความเป็นมนุษย์ มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ ที่ประเสริฐได้เพราะมนุษย์เป็นผู้มีศีลธรรม หากมนุษย์ขาดศีลธรรมประจำใจ ก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปกว่าสัตว์โลกทั่วๆ ไป เราต้องตั้งเจตนางดเว้นและสำรวมระวังไม่ให้ล่วงละเมิดศีล 5 เพื่ออบรมกาย วาจาให้เป็นปกติ ให้ใจมีความอ่อนน้อม อ่อนโยน นุ่มนวล อดทนรู้จักให้อภัย ใจไม่กระด้างและพร้อมที่จะเป็นพานทองรองรับพระสัทธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป
ให้มีสติระลึกรู้ที่กายรู้ด้วยความรู้สึกตัว
รู้ด้วยใจที่เป็นกลางต่อสิ่งที่ปรากฏขึ้นที่กาย เช่น
เวลาเราเดินให้รู้สึกถึงอาการเคลื่อนไหวของกาย เวลานั่ง เวลายืน เวลานอน
ให้รู้สึกในอาการที่กายทรงตัวอยู่ในท่าทางนั้นๆ
หากท่านถนัดดูลมหายใจเข้าออก
ให้มีสติระลึกรู้ถึงการเคลื่อนไหวของลมหายใจที่กำลังเคลื่อนเข้า เคลื่อนออก
ด้วยความรู้สึก เสมือนหนึ่งเรากำลังดูร่างกายเขาหายใจ ลมหายใจเป็นสิ่งที่ถูกรู้
ใจเป็นผู้รู้
บางท่านอาจจะถนัดดูอาการพองยุบที่หน้าท้อง
ก็ให้รู้ถึงอาการพอง อาการยุบ ที่ปรากฏที่กาย โดยเป็นผู้รู้ผู้ดู โดยไม่ไปบังคับ
เพ่งจ้อง ให้รู้แบบสบายๆ ด้วยใจที่เป็นกลาง
ให้มีสติมาระลึกรู้ที่ใจ
รู้ด้วยความรู้สึกตัว ให้รู้อาการที่ปรากฏที่ใจ โดยไม่เข้าไปแทรกแซงจัดแจงแก้ไข
ใจมีอาการเป็นอย่างไร ก็ให้รู้สึกถึงอาการนั้นๆ ตามความเป็นจริงด้วยใจที่เป็นกลาง
เช่น มีคนมาชื่นชมเราเกิดความพอใจ
ให้รู้สึกถึงความพอใจที่ปรากฏที่ใจ หากมีใครมาด่าเรา
เสียใจให้รู้สึกว่ามีอาการเสียใจปรากฏที่ใจ รู้แบบผู้สังกตุการณ์ ให้รู้สึกถึงปฏิกิริยาบางสิ่งบางอย่างแปลกปลอมเข้ามาที่ใจ
เช่น โลภ โกรธ หลง สุข ทุกข์ เฉยๆ อิจฉา พยาบาท ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ หงุดหงิด
ลังเล สงสัย เบื่อ เซ็ง รัก เกลียด เมตตา สงสาร สงบ จิตเป็นกุศล จิตเป็นอกุศล สิ่งที่ปรากฏขึ้นที่ใจ
ก็ให้รู้สึกถึงอาการนั้นๆ โดยไม่เข้าไปหลงยินดีกับสิ่งที่ชอบ หรือหลงยินร้ายกับสิ่งที่ชัง
กายใจมีอาการอย่างไร
ก็ให้รู้ในอาการอย่างนั้น รู้ด้วยความรู้สึกตัวลงในปัจจุบัน
ไม่ใช่ด้วยการนึกคิดเอา เช่น การกะพริบตาต้องรู้สึกถึงอาการที่ตากะพริบ
ไม่ใช่รู้ด้วยการนึกคิดว่าที่ฉันกะพริบตาเพราะมันแสบตาระคายเคืองตาแสงเข้าตา
เห็นมั้ยครับว่าอาการกะพริบตาจบไปตั้งนานแล้ว แต่ความคิดยังไม่จบเลย
เพราะความคิดมันไม่ทันปัจจุบัน ต้องใช้ความรู้สึกเอา
กะพริบปุ๊บรู้สึกปั๊บมันถึงจะทันกัน
ฉะนั้นต้องรู้แบบผู้ตามรู้ตามดูในสิ่งที่ปรากฏที่กายบ้างที่ใจบ้าง
รู้แบบผู้สังเกตการณ์ รู้แบบผู้ไม่มีส่วนได้เสีย
ในการรู้นั้น เป็นแค่เพียงผู้เรียนรู้
ไม่ใช่เรียนทำ รู้แล้วเห็นว่ากายใจ หรือสิ่งที่ปรากฏที่กายที่ใจ ไม่ใช่เรา
เป็นเพียงธรรมชาติหนึ่งเท่านั้น เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป
มีแล้วกลับไม่มีแปรปรวนเปลี่ยนไป
ดำรงคงอยู่สภาพเดิมนั้นนานๆ ไม่ได้
บังคับบัญชาให้เป็นไปดังใจปรารถนาของเราไม่ได้ ซึ่งภาษาธรรมะ เรียกว่า
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
คนเราเก่งเกินกันได้
แต่ไม่มีใครเก่งเกินกรรมได้เลย
ขอความสุขสงบเย็น
จงบังเกิดกับใจผู้ใฝ่ธรรมทุกท่านเทิญ
(จากหนังสือ สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม โดย ธีรยุทธ เวชเจริญยิ่ง)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น