วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม ตอน 18



เกรงใจพระพุทธเจ้า

ย่างเข้าวัยชรามา 87 ปีแล้ว ลุกก็โอย นั่งก็โอย เหมือนดอกไม้โรยไม่มีเกสร แม่ก็ไม่ต่างอะไรกับดอกไม้โรย นับวันร่างกายยิ่งร่วงโรยอ่อนแรงไปเต็มที ตอนนี้แม่นั่งปฏิบัติธรรมนานนักไม่ค่อยได้ โดยปกติจะนั่งประมาณ 20-30 นาที บางวันก็นานถึงชั่วโมงไม่แน่นอน แต่วันหนึ่งปฏิบัติธรรม 2-3 ครั้งแล้วแต่โอกาส ขึ้นอยู่กับร่างกายจะเอื้ออำนวยให้หรือไม่เพียงใด

ผมเพิ่งสังเกตและเห็นว่า นับวันแม่เริ่มเข้าสู่วัยนอนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงให้แม่หัดภาวนา ในอิริยายถนอนบ้าง โดยให้กำหนดลมหายใจเข้าออก พุทโธ แล้วเฝ้าสังเกตว่า ใจแอบไปคิดหรือฟุ้งไปหรือไม่ แต่ไม่ห้ามฟุ้ง ฟุ้งเมื่อใดก็แค่ให้รู้ฟุ้งคิดไป สติจะกลับมารู้สึกที่ลมหายใจเข้า-ออกได้เอง

แม่ไม่เคยฝึกในอิริยาบถนอนมาก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นอิริยาบถนั่ง แต่พอฝึกใหม่ๆ แม่ก็บอกว่าไม่ได้ผลเลย คือรู้ลมหายใจไม่กี่ฟืดก็หลับแล้ว แม่บอกว่านอนทำมันไม่ค่อยถนัด มันมักจะเคลิ้มหลับอยู่เรื่อย และบางครั้งถ้าไม่หลับก็ฟุ้งมาก

ผมจึงใช้อุบาย ให้แม่พูดคำว่า “ลูกมีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของลูก”  ที่ให้พูดยาวเพราะเป็นที่แม่พูดตอนสุดท้ายของบทสวดมนต์เป็นประจำทุกวัน  เพื่อจะได้ไม่หลับหรือไม่ฟุ้งคิดไปในเรื่องอื่นๆ มากเกินไป นั่นเอง

แม่บอกว่า  “จะได้หรือ  เกรงใจพระพุทธเจ้า เมื่อเช้าตอนสวดมนต์ก็พูดบอกแบบนี้กับท่านไปแล้ว มาตอนฝึกท่านอนก็จะพูดถึงท่านอีกหรือ เกรงใจท่านรบกวนท่านเปล่าๆ”

ท่านเห็นมั้ยครับคนซื้์่ื่ี้อ คนขี้เกรงใจ เกรงใจแม้กระทั่งจะเอ่ยรบกวนถึงพระพุทธเจ้าบ่อยๆ ผมจึงบอกแม่ไปว่า
“แม่ไม่ต้องเกรงใจพระพุทธเจ้าหรอกครับ ยิ่งเอ่ยถึงพระองค์ท่าน ระลึกถึงพระองค์ท่านวันละหลายๆ ครั้ง หรือจะร้อยครั้งได้ก็ยิ่งดี ดีตรงไหนรู้มั้ยครับ แม่”  แม่ทำหน้างงๆ  “แม่ลองสังเกตใจตัวเองนะครับ ทุกครั้งที่แม่เอ่ยถึงพระพุทธเจ้า แม่มีความสุขหรือมีความทุกข์”

“แม่มีความสุข”
“มีความเย็นใจ หรือร้อนใจ”
“เย็นใจ”  แม่ตอบ

นั่นแหละครับ ทุกครั้งทีแม่คิดถึงพระพุทธเจ้า ขณะนั้นใจแม่ก็เป็นกุศล ไม่คิดโลภ โกรธ เกลียด เครียดแค้นใคร มีแต่ความเคารพศรัทธา จิตใจจึงร่มเย็นเป็นสุข ฉะนั้นไม่ต้องเกรงใจพระพุทธเจ้านะครับ”

“ถ้าเกรงใจ แม่จงเกรงใจที่ลืมเอ่ยถึงพระองค์ท่านมากกว่านะแม่
ถ้าอย่างนั้นต่อไป แม่ไม่ต้องเกรงใจอีกแล้วนะครับ ยิ่งเอ่ยถึงพระองค์ท่านบ่อยๆ เอ่ยทุกที พูดทุกครั้งแม่จะรู้สึกอบอุ่นใจ สบายใจเหมือนมีที่พึ่งทางใจ ยังไงยังงั้น แม่ว่าจริงมั้ยครับ” แม่พยักหน้าเห็นด้วย

“ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ตนตัวแรก หมายถึง พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตนตัวหลัง หมายถึง รูปนาม กายใจนั่นเอง จะมีตนเป็นที่พึ่งได้ ก็ต้องรู้จัก ฝึกฝนตน ให้มีธรรมปรากฏขึ้นในใจให้ได้ จะได้ไม่ทุกข์อีกต่อไป ท่านว่าจริงมั้ยครับ

(จากหนังสือ สอนแม่ฝึกหัดปฏิบัติธรรม โดย ธีรยุทธ  เวชเจริญยิ่ง)

ไม่มีความคิดเห็น: