วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ : ประวัติ ตอน 5 พระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ฟัง-4




          ท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนให้ตั้งหลักด้วยความเสียสละทุกสิ่งบรรดามีอยู่กับตัว  คือ  ร่างกาย  จิใจ  แต่มิให้สละธรรมที่ตนปฏิบัติหรือบริการรมอยู่ในขณะนั้น  จะเป็นอะไรก็ปล่อยให้เป็นไปตามคติธรรมดา  เกิดแล้วต้องตาย  จะเป็นคนขวางโลกไม่ยอมตายไม่ได้  ผิดคิตธรรมดา  ไม่มีความจริงใดๆ มาชมเชยคนผู้มีความคิดขวางโลก  เช่นนั้น  ท่านสอนให้เด็ดเดี่ยวอาจหาญ  ไม่ให้สะทกสะท้านต่อความตาย  เกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปบำเพ็ญเพื่อหาความดีใส่ตัว  ดงหนาป่ารกชัฏมีสัตว์เสือชุมเท่าไรยิ่งสอนให้ไปอยู่โดยให้เหตุผลว่า  ที่นั้นแลจะได้กำลังใจทางสมาธิปัญญา  เสือจะได้ช่วยให้ธรรมเกิดในใจได้บ้าง  เพราะคนเราเมื่อไม่กลัวพระพุทธเจ้า  ไม่เชื่อพระพุทธเจ้า  แต่กลัวเสือและเชื่อเสือว่าเป็นสัตว์ดุร้ายจะมาคาบเอาไปเป็นอาหาร  และช่วยไล่ตะล่อมจิตเข้าสู่ธรรมให้ก็ยังดี  จะได้กลัวและตั้งใจภาวนาจนเห็นธรรม  เมื่อเห็นธรรมแล้วก็เชื่อพระพุทธเจ้าและเชื่อพระธรรมไปเอง  เมื่อเข้าสู่ที่คับขันแล้วจิตไม่เคยเป็นสมาธิก็จะเป็น  ไม่เคยเป็นปัญญาก็จะเป็นในที่เช่นนั้นแล

          ใจไม่มีอะไรบังคับบ้าง  มันขี้เกียจและตั้งหน้าสั่งสมแต่กิเลสพอกพูนใจ  แทบจะหาบหามไปไม่ไหว  ไปให้เสือช่วยหาบขนกิเลสตัวขี้เกียจ  ตัวเพลิดเพลินจนลืมตัว  ลืมตายออกเสียบ้าง  จะได้หายเมาและเบาลง  ยืนเดินนั่งนอนจะไม่พะรุงพะรังไปด้วยกิเลสประเภทไม่เคยลงจากบนบ่า  คือหัวใจคน  ที่ใดกิเลสกลัวท่านสอนให้ไปที่นั้น  แต่ที่ที่กิเลสไม่กลัวอย่าไปเดี๋ยวเกิดเรื่อง  ไม่ได้ความแปลกและอัศจรรย์อะไรเลย  นอกจากกิเลสจะพาสร้างความฉิบหายใส่ตัวจนมองไม่เห็นบุญบาปเท่านั้น  ไม่มีอะไรน่าชมเชย  ท่านให้ความมั่นใจแก่นักปฏิบัติว่า  สถานที่ที่ไม่มีสิ่งบังคับบ้าง  ทำความเพียรไม่ดี  จิตลงสู่ความสงบได้ยาก  แต่สถานที่ที่เต็มไปด้วยความระเวียงระวังภัย  ทำความเพียรได้ผลดี  ใจก็ไม่ค่อยปราศจากสติ  ซึ่งเป็นทางเดินของความเพียรอยู่ในตัวอยู่แล้ว  ผู้หวังความพ้นทุกข์โดยชอบจึงไม่ควรกลัวความตายในที่ๆ น่ากลัว  มีในป่าในเขาที่เข้าใจว่าเป็นสถานที่น่ากลัว เป็นต้น

          เวลาเข้าสู่ที่คับขันจริงๆ ขอให้ใจอยู่กับธรรม  ไม่ส่งออกอกกายนอกใจ  ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่ของธรรม  ความปลอดภัยและกำลังใจทุกด้านที่จะพึงได้ในเวลานั้น  จะเป็นสิ่งที่ยอมรับกันไปในตัว  อย่างไรก็ไม่ตายถ้าไม่ถึงกาลตามกรรมนิยม  แทนที่จะตายดังความคาดหมายที่ด้นเดาไว้  ท่านเคยว่าท่านได้กำลังใจในที่เช่นนั้นแทบทั้งนั้น  จึงชอบสั่งสอนหมู่เพื่อนให้มีใจมุ่งมั่นต่อธรรมในที่คับขัน  จะสมหวังในไม่ช้าเลย  แทนที่จะทำไปแบบเสี่ยงวาสนาบารมีอันเป็นเรื่องเหลวไหลหลอกลวงตนมากกว่าจะเป็นความจริง  เพราะความคิดเช่นนั้น  ส่วนมากมักจะออกมาจากความอ่อนแอท้อถอย  จึงมักเป็นความคิดที่กดถ่วงลวงใจมากกว่าจะช่วยเสริมให้ดี  และเพิ่มพูนกำลังสติปัญญาให้ยิ่งๆ ขึ้น  ธรรมที่ให้ความมั่นใจแก่นักปฏิบัติเพื่อถือเป็นหลักประกันชีวิตและความเพียร  คือ  พึงหวังพึ่งเป็นและพึ่งตายต่อธรรมจริงๆ อย่าฟั่นเฟือนหวั่นไหวโดยประการทั้งปวงหนึ่ง  พึงเป็นผู้กล้าตายด้วยความเพียรในที่ที่ตนเห็นว่าน่ากลัวนั้นๆ หนึ่ง

          เมื่อเข้าที่จำเป็นและคับขันเท่าไร  พึงเป็นผู้มีสติกำกับใจให้มั่นในธรรม  มีคำบริกรรมเป็นต้น  ให้กลมกลืนกันทุกระยะอย่าปล่อยวาง  แม้ช้างเสืองูเป็นต้น  จะมาทำลาย  ถ้าจิตสละเพื่อธรรมจริงอยู่แล้ว  สิ่งเหล่านั้นจะไม่กล้าเข้าถึงตัว  มิหนำเรายังจะกล้าเดินเข้าไปหามันด้วยความองอาจกล้าหาญ  ไม่กลัวตาย  แทนที่มันจะทำอันตรายเรา  แต่ใจเรากลับจะเป็นมิตรอย่างลึกลับอยู่ภายในกับมันอีกด้วย  โดยไม่เป็นอันตรายเรา  แต่ใจเรากลับจะเป็นมิตรอย่างลึกลับอยู่ภายในกับมันอีกด้วย  โดยไม่เป็นอันตรายหนึ่ง  ใจเรามีธรรมประจำแต่ใจสัตว์ไม่มีธรรม  ใจเราต้องมีอำนาจเหนือกว่าสัตว์เป็นไหนๆ  แม้สัตว์จะไม่ทราบได้ว่ามีธรรม  แต่สิ่งที่ทำให้สัตว์ไม่กล้าอาจเอื้อมมีอยู่กับใจเราอย่าลึกลับ  นั่นแลคือธรรมเครื่องป้องกัน  หรือธรรมเครื่องทรงอำนายให้สัตว์ใจอ่อน  ไม่กล้าทำอะไรได้หนึ่ง  อำนาจของจิตเป็นอำนาจที่ลึกลับและรู้อยู่เฉพาะตัว  แต่ผู้อื่นทราบได้ยาก  หากไม่มีญาณภายในหนึ่ง

          ฉะนั้น  ธรรมแม้จะเรียนและประกาศสอนกันทั่วโลก  ก็ยังเป็นธรรมชาติที่ลึกลับอยู่นั่นเอง  ถ้าใจยังเข้าไม่ถึงธรรมชาติเป็นขั้นๆ ที่ควรจะเปิดเผยกับใจเป็นระยะๆ ไป  เมื่อเข้าถึงกันจริงๆ แล้ว  ปัญหาระหว่างใจกับธรรมก็สิ้นสุดลงเอง  เพราะใจกับธรรมมีความละเอียดสุขุมและลี้ลับพอๆ กัน  เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว  แม้จะพูดว่าใจคือธรรม  และธรรมคือใจก็ไม่ผิด  และไม่มีอะไรมาขัดแย้งถ้ากิเลสตัวเคยขัดแย้งสิ้นไปไม่มีเหลือแล้วเท่าที่ใจกลายเป็นเครื่องมือของกิเลสตัณหาจนมองหาคุณค่าไม่เจอนั้น  ก็เพราะใจถูกสิ่งดังกล่าวคละเคล้ากลุ้มรุมจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  จึงดูเหมือนไม่มีคุณค่าอะไรแฝงอยู่จนเลยในระยะนั้น  ถ้าปล่อยให้เป็นทำนองนั้นเรื่อยไปไม่สนใจรักษาและชำระแก้ไข  ใจก็ไม่มีคุณค่า  ธรรมก็ไม่มีราคาสำหรับตน  แม้จะตายแล้วเกิดและเกิด แล้วตายสักกี่ร้อยกี่พันครั้ง  ก็เป็นทำนองเขาเปลี่ยนชุดเสื้อผ้าซึ่งล้วนเป็นชุดที่สกปรกด้วยกัน  จะเปลี่ยนวันละกี่ครั้งก็คือผู้สกปรกน่าเกลียดอยู่นั่นเอง

          ผิดกับผู้เปลี่ยนชุดเสื้อผ้าที่สกปรกออก  แล้วสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาดแทนเป็นไหนๆ  ฉะนั้น  การเปลี่ยนชุดดีชั่วสำหรับใจ  จึงเป็นปัญหาสำคัญของแต่ละคนจะพิจารณาและรับผิดชอบตัวเองในทงใด  ไม่มีใครจะมารับภาระแทนได้  ไม่ต้องเป็นกังวลอีกต่อไป  แต่เรื่องตัวเองนี้เป็นเรื่องใหญ่โตของแต่ละคน  ซึ่งรู้อยู่กับตัวเองทั้งปัจจุบันและอนาคตว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบตัวเองตลอดไปไม่มีกำหนดกาล  นอกจากผู้ให้การบำรุงรักษาจนถึงที่ปลอดภัยโดยสมบูรณ์แล้วเท่านั้น  ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่านเป็นตัวอย่างนั้นชื่อว่าเป็นผู้หมดภาระโดยประการทั้งปวงอย่างสมบูรณ์  ผู้เช่นนั้นแลที่โลกกล่าวอ้างเป็นสรณะเพื่อหวังฝากเป็นฝากตายในชีวิตตลอดมา  แม้ผู้ตกอยู่ในลักษณะแห่งความไม่ดี  แต่ยังพอรู้บุญรู้บาปอยู่บ้าง  ก็ยังกล่าวอ้าง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ว่าเป็นสรณะอย่างไม่หยุดปากกระดากใจ  ยังระลึกถึงพอให้พระองค์ทรงเป็นห่วงและรำคาญในความไม่ดีของเขาอยู่นั่นเอง  เช่นเดียวกับลูกๆ ทั้งที่เป็นลูกที่ดีและลูกที่เลวบ่นถึงผู้บังเกิดเกล้าว่าเป็นพ่อเป็นแม่ของตนฉะนั้น

          ท่านพระอาจารย์มั่นท่านฝึกอบรมพระเณรเพื่อเห็นผลประจักษ์ในการบำเพ็ญ  ท่านมีอุบายปลอบด้วยวิธีต่างๆ ดังกล่าวมา  ผู้ตั้งใจปฏิบัติตามท่านด้วยความเคารพเทิดทูนจริงๆ ย่อมได้รับคุณธรรมเป็นการถ่ายทอดข้อวัตรวิธีดำเนินจากท่านมาอย่างพอใจ  ตลอดความรู้ความฉลาดภายในใจเป็นที่น่าเลื่อมใสและนำมาสั่งสอนลูกศิษย์สืบทอดกันมาพอเห็นเป็นสักขีพยานว่า  ศาสนายังทรงมรรคทรงผลประจักษ์ใจของผู้ปฏิบัติตลอดมาไม่ขาดสูญ  ถ้าพูดตามความเป็นมาและการอบรมสั่งสอนของท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว  ควรเรียกได้อย่างถนัดใจว่า  "ปฏิปทาอดอยาก"  คือที่อยู่ก็อดอยากที่อาศัยก็ฝืดเคือง  ปัจจัยเครื่องอาศัย  โดยมากดำเนินไปแบบขาดๆ เขินๆ ทั่งที่สิ่งเหล่านั้นมีอยู่  ความเป็นอยู่หลับนอนที่ล้วนอยู่ในสภาพอนิจจังนั้น

          ถ้าผู้เคยอยู่ด้วยความสนุกรื่นเริงและสมบูรณ์ไปเจอเข้า  อาจเกิดความสลดสังเวชใจในความเป็นอยู่ของท่านเหล่านั้นอย่างยากจะปลงตกได้  เพราะไม่มีอะไรจะเป็นที่เจริญตาเจริญใจสำหรับโลกผู้ไม่เคยต่อสภาพเช่นนั้น  จึงเป็นที่น่าทุเรศเอานักหนาแต่ท่านเองแม้จะเป็นอยู่ในลักษณะของนักโทษในเรือนจำ  แต่ก็เป็นความสมัครใจและอยู่ได้ด้วยธรรม  เป็นอยู่หลับนอนด้วยธรรม  ลำบากลำบนทนทุกข์ด้วยธรรม  ทรมานตรเพื่อธรรม  อะไรๆ ในสายตาที่เห็นว่าเป็นการทรมานของผู้ไม่เคยพบเคยเห็น  จึงเป็นเรื่องความสะดวกกายสบายใจสำหรับท่านผู้มีปฏิปทาในทางนั้น  ดังนั้น  จึงควรให้นามว่า "ปฏิปทาอดอยาก"  เพราะอยู่ด้วยความตั้งใจทรมานอดอยาก  ฝืนกายฝืนใจจริงๆ  คือ  อยู่ก็ฝืน  ไปก็ฝืน  นั่งก็ฝืน  ยืนก็ฝืน  นอนก็ฝืน  เดินจงกรมก็ฝืน  นั่งสมาธิก็ฝืน  ในอิริยาบถทั้งสี่เป็นท่าฝืนกายฝืนใจทั้งนั้น  ไม่ยอมให้อยู่ตามอัธยาศัยใจชอบเลย

          บางครั้งยังต้องทนอดทนหิว  ไม่ฉันจังหันไปหลายวัน  เพื่อเร่งความเพียรทางใจ  ขณะที่ไม่ฉันนั้นเป็นเวลาทำความเพียรตลอดสาย  ไม่มีการลดหย่อนผ่อนตัวว่าหิวโหยแม้จะทุกข์ก็ทราบว่าทุกข์ในเวลานั้น  แต่ก็ทราบว่าตนทนอดทนหิวเพื่อความเพียร  เพราะผู้ปฏิบัติบางรายจริตนิสัยชอบทางอดอาหาร  ถ้าฉันไปทุกวันร่างกายสมบูรณ์  ความเพียรทางใจไม่ก้าวหน้า  ใจอับเฉา  ไม่สว่างไสว  ไม่องอาจกล้าหาญ  ก็จำต้องหาทางแก้ไขโดยมีการผ่อนและอดอาหารบ้าง  อดระยะสั้นบ้าง  ระยะยาวบ้าง  พร้อมกับความสังเกตตัวเองว่า  อย่างไหนมีผลมากน้อยต่างกันอย่างไรบ้าง  เมื่อทราบนิสัยของตนว่าถูกกับวิธิใดก็เร่งรีบในวิธีนั้น  รายที่ถูกจริตกับการอดหลายวันก็จำต้องยอมรับตามนิสัยของตน  และพยายามทำตามแบบนั้นเรื่อยไป  แม้จะลำบากบ้างก็ยอมทนเอา  เพราะอยากดี  อยากรู้  อยากฉลาด  อยากหลุดพ้นจากทุกข์

          ผุ้ที่จริตนิสัยถูกกับการอดในระยะยามย่อมทราบได้ในขณะที่กำลังทำการอดอยู่  คืออดไปหลายวันเท่าไร  ใจยิ่งเด่นดวงและอาจหาญต่ออารมณ์ที่เคยเป็นข้าศึก  ใจมีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าต่อหน้าที่ของตนมากขึ้น  นั่งสมาธิภาวนาลืมมือลืมสว่างเพราะความเพลินกับธรรม  ขณะใจสัมผัสสัมพันธ์กับธรรมย่อมไม่สนใจต่อความหิวโหยและกาลเวลา  มีแต่ความรื่นเริงในธรรมทั้งหลายอันเป็นสมบัติที่ควรได้ควรถึงในเวลานั้น  จึงรีบตักตวงให้ทันกับเวลาที่กิเลสความเกียจคร้านอ่อนแอ  ความไม่อดทน เป็นต้น  กำลังนอนหลับอยู่ พอจะสามารถแอบปีนขึ้นบนหลังหรือบนคอมันบ้างก็ให้ได้ขึ้นในเวลานั้นๆ หากรั้งๆ รอๆ หาฤกษ์งามยามดีพรุ่งนี้มะรืนอยู่ เวลามันตื่นขึ้นมาแล้วจะลำบาก  ดีไม่ดีอาจสู้มันไม่ได้และกลายเป็นช้างให้มันโดดขึ้นบนคอ  แล้วเอาขอสับลงบนศีรณะคือหัวใจ  แล้วต้องยอมแพ้มันอย่างราบ

          เพราะใจเราเคยเป็นช้างให้กิเลสเป็นนายควาญบังคับมานานแสนนานแล้ว  ความรู้สึกกลัวที่เคยฝังใจมานานนั้นแลพาให้ขยาดๆ ไม่กล้าต่อสู้กับมันอย่างเต็มฝีมือได้  ทางด้านกรรมท่านว่ากิเลสกับธรรมเป็ฯคู่อริกัน  แต่ทางโลกเห็นว่ากิเลสกับใจเป็นคู่มิตรในลักษณะบ๋อยกลางเรือนอย่างแยกกันไม่ออก  ฉะนั้น  ผู้มีความเห็นไปตามธรรม  จึงต้องพยายามต่อสู้กับสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นข้าศึก  เพื่อเอาตัวรอดและครองตัวอย่างอิสระ  ไม่ต้องขึ้นกับกิเลสเป็นผู้คอยกระซิบสั่งการ  แต่ผู้เห็นตามกิเลสก็ต้องคอยพะเน้าพะนอเอาอกเอาใจที่มันแนะนำหรือสั่งการออกมาอย่างไรต้องตอมปฏิบัติตามทุกอย่างไม่ขัดขืนมันได้

          ส่วนผลที่ได้รับจากมันนั้น  เจ้าตัวก็ทราบว่ามีความกระเทือนต่อจิตใจเพียงใด  แม้ผู้อื่นก็ย่อมทราบได้จากการระบายออกของผู้เป็นเจ้าทุกข์ เพราะความกระทบกระเทือนทางจิตใจที่ถูกกิเลสกลั่นแกล้งและทรมานโดยวิธีต่างๆ ไม่มีประมาณ  โทษทั้งนี้แลทำให้ผู้มีความรักตัวสงวนใจต้องมีมานะต่อสู้ด้วยความเพียรทุกด้านอย่างไม่อาลัยเสียดายชีวิตถึงจะอดก็ยอมอก  ทุกข์ก็ยอมทุกข์  แม้ตายก็ยอมพลีชีพเพื่อยอมบูชาพระศาสนาไปเลย  ไม่มีการแบ่งรับแบ่งสู้ไว้เพื่อกิเลได้หวังมีส่วนด้วยจะได้ใจ

          ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ปลุกใจพระเณร  ให้มีความอาจหาญร่าเริงต่อความเพียรเพื่อยกคนให้พ้นทุกข์เครื่องกดถ่วงจิตใจ  ก็เพราะท่านได้พิจารณาทดสอบเรื่องของกิเลสกับธรรมมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจนเห็นผลประจักษ์ใจแล้ว  จึงได้กลับมาภาคอีสานและทำการสั่งสอนอย่างเต็มภูมิแห่งธรรมที่ท่านรู้เห็นมาเป็นคราวๆ ในสมัยนั้น

          ธรรมที่ท่านสั่งสอนอย่างอาจหาญและออกหน้าออกตาแก่บรรดาศิษย์อยู่เสมอ ได้แก่ พลธรม ๕  คือ  ศรัทธา  วิริยะ  สติ  สมาธิ  ปัญญา  โดยให้เหตุผลว่า  ผู้ไม่เหินห่างจากธรรมเหล่านี้ ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ขาดทุนและล่มจม  เป็นผู้มีหวังความเจริญก้าวหน้าไปโดยลำดับ  ธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ ท่านแยกความหมายมาใช้สำหรับท่านเองเป็นข้อๆ ซึ่งโดยมากเป็นไปในทางปลุกใจให้อาจหาญ  มีใจความว่า ศรัทธา เชื่อศาสนธรรมที่พระองค์ประทานไว้เพื่อโลก  เราผู้หนึ่งในจำนวนของคนในโลก  ซึ่งอยู่ในข่ายที่ควรได้รับแสงสว่างแห่งธรรมจากข้อปฏิบัติที่ทำจริลแน่นอนไม่เป็นอื่น  และเชื่อว่าเกิดแล้วต้องตาย  แต่จะช้าหรือเร็วไม่สำคัญ  ที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่าเราจะตายแบบผู้แพ้กิเลสวัฏฏ์  กรรมวัฏฏ์  วิปากวัฏฏ์  หรือจะเป็นผู้ชนิวัฏวนสามนี้ก่อนจะตาย  คำว่าแพ้ไม่เป็นสิ่งพึงปรารถนา  แม้แต่เด็กเล่นกีฬากัน  ต่างฝ่ายเขายังหวังชนะยังหวังชนะกัน  เราจึงควรสะดุดใจ  และไม่ควรทำตัวให้เป็นผู้แพ้  ถ้าเป็นผู้แพ้ก็ต้องทนอยู่อย่างผู้แพ้

          ทุกๆ อาการของผู้แพ้ต้องเป็นการกระเทือนใจอย่างมาก  และระทมทุกข์จนหาทางออกไม่ได้  ขณะที่จิตจะคิดหาทางออกของผู้แพ้มีอยู่ทางเดียวคือ  "ตายเสียดีกว่า"  ซึ่งตายไปแบบที่ว่าดีกว่านี้  ก็ต้องเป็นการตายของผู้แพ้ต่อข้าศึกอยู่นั่นเอง  อันเป็นทางกอบโกยโรยทุกข์ใส่ตัวเองจนไม่มีที่ปลงวาง  จึงไม่มีอะไรดีเลยสำหรับผู้แพ้ทุกประตูแล้ว  ถ้าจะตายแบบผู้ชนะดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่าน  ก็ต้องเชื่อแบบท่าน  ทำแบบท่าน  เพียรและอดทนแบบท่าน  มีสติรักษาใจ  รักษาตัว  รักษากิริยาที่แสดงออกทุกอาการแบบท่าน  ทำใจให้มั่นคงต่อหน้าที่ของตน  อย่าโยกเยกคลอนแคลนแบบคนจวนตัว  ไม่มีสติเป็นหลักยึด  แต่จงทำใจให้มั่นคงต่อเหตุที่ทำเพื่อผลอันพึงพอใจ  จะได้มีทางเกิดขึ้นได้  อันเป็นแบบที่ท่านพาดำเนิน

          ศาสนาคือคำสั่งสอนของท่านผู้ฉลาด  ท่านสอนคนเพื่อให้เกิดความฉลาดทุกแง่ทุกมุม  ซึ่งพอจะพิจารณาตามท่านได้  แต่เราอย่าฟังเพื่อความโง่  อยู่ด้วยความโง่  กินดื่มทำพูดด้วยความโง่  คำว่าโง่ไม่ใช่ของดี  คนโง่ก็ไม่ดี  สัตว์โง่ก็ไม่ดี  เด็กโง่  ผู้ใหญ่โง่  มิใช่ของดีทั้งนั้น  เราโง่จะให้ใครเขาชมว่าดี  จึงไม่ควรทำความสนิดติดจม  อยู่กับความโง่โดยไม่ใช้ความพิจารณาไตร่ตรอง  ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง  จึงไม่ควรแก่สมณะซึ่งเป็นเพศที่ใคร่ครวญไตร่ตรอง  นี่คือความหมายในธรรม ๕ ข้อที่ท่านคิดค้นขึ้นมาพร่ำสอนท่านเองและหมู่คณะที่ไปอบรมศึกษากับท่าน  รู้สึกว่าเป็นคติได้ดีมาก เพราะเป็นอุบายปลุกใจให้เกิดสติปัญญาและอาจหาญ  ทั้งเหมาะสมกับสภาพการณ์และสถานที่ของพระธุดงค์  ผู้เตรียมพร้อมแล้วในการรบพุ่งชิงชัยระหว่างกิเลสกับธรรม  เพื่อความชนะเลิศ คือวิมุตติพระนิพพาน  อันเป็นหลักเขตแดนมหาชัยที่ปรารถนามานาน

          พระอาจารย์ที่เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านเล่าให้ฟังว่า  เวลาอยู่กับท่าน  แม้จะมีพระเณรจำนวนมากด้วยกัน  แต่มองดูอากับกิริยาของแต่ละองค์  เหมือนพระเณรที่สิ้นกิเลสกันแล้วทั้งนั้น  ไม่มีอาการแสดงความคึกคะนองใดๆ แม้แต่น้อยให้ปรากฏบ้างเลย  ต่างองค์ต่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว  ทั้งที่อยู่โดยลำพังตนเอง  ทั้งเวลามารวมกันด้วยกิจธุระบางอย่าง  และเวลารวมประชุมฟังการอบรม  ต่างมีมรรยาทสวยงามมากถ้าไม่ได้ฟังธรรมเกี่ยวกับภูมิจิต  เวลาท่านสนทนากันกับท่านอาจารย์บ้าง  ก็อาจให้เกิดความสงสัยหรือเชื่อแน่ว่าแต่ละองค์คงสำเร็จพระอรหันต์กันแน่ๆ  แต่พอเดาได้จากการแก้ปัญหาธรรมขณะที่ท่านสนทนากัน  ว่าองค์ไหนควรอยู่ในภูมิธรรมขั้นใด  นับแต่สมาธิและปัญญาขั้นต้นขึ้นไปถึงสมาธิและวิปัสสนาขั้นสูง

          การแก้ปัญหาในเวลามีผู้ไปศึกษาก็ดี  การแสดงธรรมอบรมพระเณร  ในเวลาประขุมก็ดี  ท่านแสดงด้วยความแน่ใจและอาจหาญ  พอให้ผู้ฟังทราบได้ว่าธรรม  ที่แสดงออกเป็นธรรมที่ท่านรู้เห็นทางจิตใจจริงๆ ไม่แสดงด้วยความลูบคลำหรือสุ่มเดาว่าเห็นจะเป็นอย่างนั้น  เห็นจะเป็นอย่างนี้  จึงเป็นที่แน่ใจได้ว่า เป็นธรรมที่ส่อแสดงอยู่กับใจของทุกคนแม้ยังไม่รู้ไม่เห็น  และคงมีวันหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติจะสามารถรู้ได้จำเพาะตนหากไม่ลดละความเพียรไปเสีย

          วิธีให้การอบรมแก่พระเณรและฆราวาส  รู้สึกว่าท่าแสดงให้พอเหมาะสมกับขั้นภูมิความเป็นอยู่และจริตนิสัยของผู้มาอบรมศึกษาได้ดี  และได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย  ขณะที่ฟังอยู่ด้วยกัน  เพราะท่านอธิบายแยกแยะธรรมออกเป็นตอนๆ ซึ่งพอเหมาะสมกับภูมิของผู้มาฟังจะเข้าใจและนำไปปฏิบัติให้เกิดผลได้โดยมากเวลาท่านสอนฆราวาส ญาติโยมโดยเฉพาะ  ธรรมท้งสามนี้เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา  ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องเป็นผู้เคยผ่าน  คือเคยสั่งสมธรรมเหล่านี้มาอย่างน้อยต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นเชื้ออยู่ในนิสัยของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษยสมบัติอย่างแท้จริง

          ทาน  คือเครื่องแสดงน้ำใจมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง  ผู้มีเมตตาจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ผู้อาภัพ  ด้วยการให้การเสียสละแบ่งปันมากน้อย  ตามกำลังของวัตถุ  เครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่  จะเป็นวัตถุทาน  ธรรมทาน  หรือวิทยาทานแขนงต่างๆ ก็ตามที่ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยมิได้หวังค่าตอบแทนใดๆ นอกจากกุศลคือความดีที่เกิดจากทานนั้น  ซึ่งจะเป็นสิ่งตอบแทนให้เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น  ตลอดอภัยทานที่ควรให้แก่กันในเวลาอีกฝ่ายหนึ่งผิดพลาดหรือล่วงเกิน  คนมีทานหรือคนที่เด่นในการให้ทาน  ย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผยและเด่นในปวงชนโดยไม่นิยมรูปร่างลักษณะ  ผู้เช่นนี้ มนุษย์และสัตว์ตลอดเทวดาที่มองไม่เห็นก็เคารพรัก  จะตกทิศใดแดนใดย่อมไม่อดอยากขาดแคลน  หากมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์

          แม้ในแดนมนุษย์เรานี้ก็พอเห็นได้อย่างเต็มตารู้ได้อย่างเต็มใจว่า  ผู้มีทานเป็นเครื่องประดับตัวย่อมเป็นคนไม่ล้าสมัยในสังคม  และบุคคลทุกชั้นไม่มีใครรังเกียจ  แม้แต่คนที่มั่งมีแต่แสนตระหนี่ถี่เหนียวก็ยังหวังต่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากผู้อื่นเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วๆ ไป  ไม่ต้องพูดถึงคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้  แต่ไม่หวังให้ผู้อื่นช่วยเหลือจะไม่มีในโลกเมืองไทยเรา  อำนาจทานทำให้ผู้มีใจชอบบริจาคเกิดความเคยชินต่อนิสัยจนกลายเป็นผู้มีฤทธิ์บันดาลไม่ให้อดอยากในภพที่เกิดกำเนิดที่อยู่นั้นๆ ฉะนั้น ทานและคนที่มีใจเป็นนักให้ทาน  การเสียสละจึงเป็นเครื่องและเป็นผู้ค้ำจุนหนุนโลกให้เฟื่องฟูตลอดไป  โลกที่ยังมีการสงเคราะห์กันอยู่ยังจัดเป็นโลกที่มีความหมายตลอดไป  ไม่เป็นโลกที่ไร้ชาติขาดกระเจิง  เหลือแต่ซากคือแผ่นดินแน่ๆ ทานจึงเป็นสาระสำคัญ  สำหรับตัวและโลกทั่วๆ ไป  ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่นและหนุนโลกให้ชุ่มเย็น  ไม่เป็นบุคคลและโลกที่แห้งแล้งแช่งกับทุกข์ตลอดไป

          ศีล  คือรั้วกั้นความเบียดเบียนและทำลายสมบัติร่างกายและจิตใจของกันและกัน  ศีลคือพืชแห่งความดีอันยอดเยี่ยมที่ควรมีประจำชาติมนุษย์  ไม่ปล่อยให้สูญหายไปเสีย  เพราะมนุษย์ที่ไม่มีศีลเป็นรั้วกั้นและเป็นเครื่องประดับตัวเสียเลย  ก็คือกองเพลิงแห่งมนุษย์เราดีๆ นี่เอง  การเบียดเบียนและทำลายกันย่อมมีไปทุกหย่อมหญ้าและทั่วโลกดินแดน  ไม่มีเกาะมีดอนพอจะเอาศีรษะซุกนอนให้หลับสนิดได้โดยปลอดภัย  แม้โลกจะเจริญด้วยวัตถุจนกองสูงกว่าพระอาทิตย์บนท้องฟ้า  แต่ความรุ่มร้อนแผดเผาจะทวีคูณยิ่งกว่าพระอาทิตย์เป็นไหนๆ  โลกจะไม่มีที่ปลงใจได้เลย  ถ้ายังมัวคิดว่าวัตถุมีคุณค่ายิ่งกว่าศีลธรรมอยู่  เพราะศีลธรรมเป็นสมบัติจองจอมมนุษย์ คือ พระพุทธเจ้าผู้ค้นพบและนำมาประดับโลกที่กำลังมืดมัวกลัวทุกข์พอให้สว่างไสวร่มเย็น  ควรอาศัยได้บ้างด้วยอำนาจศีลธรรมเป็นเครื่องปัดเป่ากำจัด

          ลำพังความคิดของมนุษย์ที่มีกิเลสคิดผลิตอะไรออกมา  ทำให้โลกร้อนจะบรรลัยอยู่แล้ว  ยิ่งจะปล่อยให้คิดตามอำนาจโดยไม่มีกลิ่นแห่งศีลธรรมช่วยเป็นยาแก้และชะโลมไว้บ้าง  ก็น่ากลัวความคิดนั้นๆ จะผลิตยักษ์ใหญ่ตัวโหดร้ายที่ทรงพิษขึ้นมากี่แสนกี่ล้านตัว  ออกเที่ยวหากว้านกินมนุษย์ให้ฉิบหายกันทั้งโลก  ไม่มีอะไรเหลืออยู่บ้างเลย  ความคิดของคนสิ้นกิเลสที่ทรงคุณอย่างสูงสุดคือพระพุทธเจ้า  มีผลให้โลกได้รับความร่มเย็นซาบซึ้งกับความคิดที่เป็นไปด้วยกิเลสที่มีผลให้ตัวเองและผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนจนจะคาดไม่ถึงนี่แลเป็นความคิดที่ผิดกันอยู่มาก  พอจะนำมาเทียบเคียงเพื่อหาทางแก้ไขผ่อนหนักผ่อนเบาลงได้บ้าง  ไม่จมไปกับความคิดประเภทนั้นจนหมดทางแก้ไข  ศึลจึงเป็นเหมือนยาปราบโรค  ทั้งโรคระบาดและโรคเรื้อรัง  อย่างน้อยก็พอให้คนไข้ที่สุมด้วยกิเลสกินอยู่หลับนอนได้บ้าง  ไม่ถูกบีบคั้นด้วยโรคที่เกิดแล้วไม่ยอมหายนี้ตลอดไปมากกว่านั้นก็หายขาดอยู่สบาย
       
          ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเมตตาสั่งสอนฆราวาสให้รู้คุณของศีลและให้รู้โทษของความไม่มีศีลอย่างถึงใจจริงๆ ฟังแล้วจับใจไพเราะ  แม้ผู้เขียนเองพอได้ทราบว่าท่านสั่งสอนประชาชนให้เห็นโทษเห็นคุณในศีลอย่างซาบซึ้งจับใจเช่นนั้น  ยังเผลอตัวไปว่า  "อยากมีศีล ๕ กับเขาบ้าง"  ทั้งๆ ที่ขณะนั้นตนก็มีศีลอยู่ถึง ๒๒๗ ศีลอยู่แล้ว  เพราะความปีติผาดโผนไปบ้างเวลานั้นจึงขาดสติไปพักหนึ่ง  พอได้สติขึ้นมาเลยนึกอายตัวเองและไม่กล้าบอกใคร  กลัวท่านเหล่านั้นจะหาว่าเราบ้าซ้ำเข้าไปอีก  เพราะขณะนั้นเราก็ชักจะบ้าๆ อยู่บ้างแล้วที่คิดว่าอยากมีศีล ๕ กับฆราวาสเขา  โดยไม่คลำดูศีรษะบ้างเลย  อย่างนี้แลคนเรา  เวลาคิดไปทางชั่วจนถึงกับทำชั่วตามความคิดจริงๆ ก็คงเป็นไปในลักษณะดังกล่าวมา  จึงควรสำเหนียกในความคิดของตนไปทุกระยะว่าคิดไปในทางดีหรือชั่ว  ถูกหรือผิด  ต้องคอยชักบังเหียนไว้เสมอ  ไม่เช่นนั้นมีหวังเลย เกิดได้แน่นอน

          ภาวนา  คือ  การอบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลอรรถธรรม  รู้จักวิธีปฏิบัติต่อตัวเองและสิ่งทั้งหลาย  ไม่ให้จิตผาดโผนโลดเต้นแบบไม่มีฝั่งมีฝา  ยึดการภาวนาเป็นรั้วกั้นความคิดฟุ้งของใจให้อยู่ในเหตุผลอันจะเป็นทางแห่งความสงบสุข  ใจที่ยังมิได้รับการอบรมจากภาวนาจึงยังเป็นเหมือนสัตว์ที่ยังมิได้รับการฝึกหัดให้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์  มีจำนวนมากน้อยก็ยังมิได้รับประโยชน์จากมันเท่าที่ควร  จำต้องฝึกหัดให้ทำประโยชน์ตามประเภทของมันก่อน  ถึงจะได้รับประโยชน์ตามควร  ใจจึงควรได้รับการอบรมให้รู้เรื่องของตัวเสียบ้าง  จะเป็นผู้ควรแก่การงานทั้งหลาย  ทั้งส่วนหยาบส่วนละเอียด  ทั้งส่วนเล็กส่วนใหญ่  ทั้งภายในภายนอก  ผู้มีภาวนาเป็นหลักใจจะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ  ไม่ค่อยเอาตัวเข้าไปเสี่ยงต่อการกระทำที่ไม่แน่ใจ  ซึ่งอาจเกิดความเสียหายแก่ตนและผู้เกี่ยวข้องตลอด  ส่วนรวมเมื่อผิดพลาดลงไป  การภาวนาจึงเป็นงานเพื่อผลในปัจจุบันและอนาคต  ไม่เสียประโยชน์เมื่อผิดพลาดลงไป  การภาวนาจึงเป็นงานเพื่อผลในปัจจุบันและอนาคต  ไม่เสียประโยชน์ทั้งสองทาง  ประโยชน์สำคัญคือประโยชน์เฉพาะหน้าที่เรียกว่า  ทิฏฐธรรมมิกัตถประโยชน์

          การงานทุกชนิดที่ทำด้วยใจของผู้มีภาวนา  จะสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย  ขณะที่ทำก็ไม่ทำแบบขอไปที  แต่ทำด้วยความใคร่ครวญและเล็งถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากงานเมื่อสำเร็จลงไปแล้ว  จะไปมาในทิศทางใดจะทำอะไรย่อมเล็งถึงผลได้เสียจากงานเมื่อสำเร็จลงไปแล้ว  จะไปมาในทิศทางใดจะทำอะไร ย่อมเล็งถึงผลได้เสียเกี่ยวกับการนั้นๆ เสมอ  การปกครองตนก็สะดวกไม่ฝ่าฝืนตัวเองซึ่งเป็นผู้มีหลักเหตุผลอยู่แล้ว  ถือหลักความถูกต้องเป็นเข็มทิศทางเดินของกาย วาจา ใจประจำตัว  ไม่ยอมเปิดช่องให้ความอยากอันไม่มีขอบเขตเข้ามาเกี่ยวข้อง  เพราะความอยากไป  อยากมา  อยากทำ  อยากพูด  อยากคิด  ที่เคยเป็นมาดั้งเดิม  เป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา  ซึ่งไม่เคยสนใจต่อความผิดถูกดีชั่วเสียมากต่อมาก  และพาเราเสียไปจนนับไม่ถ้วน  ประมาณไม่ถูก  จะเอาโทษกับมันก็ไม่ได้  นอกจากยอมให้เสียไปอย่างน่าเสียดาย  แล้วพยายามแก้ตัวใหม่เท่านั้นเมื่อยังมีสติอยู่บ้างพอจะหักล้างกันได้  ถ้าไม่มีสติพอระลึกบ้างเลยแล้ว  ทั้งของเก่าก็เสียไป  ทั้งของใหม่ก็พลอยจมไปด้วย  ไม่มีวันกลับฟื้นคืนตัวได้เลย  นี่แลเรื่องของกิเลส  ต้องพาให้เสียหายเรื่อยไป  ฉะนั้นการภาวนาจึงเป็นเครื่องหักล้างความลามกไม่มีเหตุผลของตนได้ดี  แต่วิธีภาวนานั้นรู้สึกลำบากอยู่บ้าง  เพราะเป็นการบังคับใจซึ่งเหมือนบังคับลิงให้อยู่เชื่องๆ พองามตาบ้าง  ย่อมเป็นของลำบากฉะนั้น

          วิธีภาวนาก็คือวิธีสังเกตตัวเองนั่นแล  คือสังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิกเหมือนถูกไฟหรือน้ำร้อนลวก  ไม่อยู่เป็นปกติสุข  ด้วยสติตามระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของจิต  โดยมีธรรมบทหนึ่งเป็นคำบริกรรม  เพื่อเป็นยารักษาจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความสงบสุขในขณะภาวนา  ตามที่นิยมใช้กันมากและได้ผลดีก็มีอานาปานสติบ้าง  พุทโธบ้าง  ธัมโมบ้าง  สังโฆบ้าง  มรณานุสสติบ้าง  หรือเกสา  โลมา  นขา  ทันตา  ตโจ  โดยอนุโลมปฏิโลมบ้าง  หรือใช้บริกรรมเฉพาะบทใดบทหนึ่งบ้าง  พยายามบังคับใจให้อยู่กับอารมณ์แห่งธรรมบทที่นำมาบริกรรมขณะภาวนา  ใจที่อาศัยบทธรรมอันเป็นอารมณ์ที่ให้คุณ  ไม่เป็นภัยแก่จิตใจ  ย่อมจะเกิดความสงบสุขขึ้นมาในขณะนั้น  ที่เรียกว่าจิตสงบหรือจิตรวมเป็นสมาธิ  คือความมั่นคงต่อตัวเอง  ไม่อาศัยธรรมบทใดๆ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในเวลานั้น  เพราะจิตมีกำลังพอดำรงอยู่โดยอิสระได้

          คำบริกรรมที่เคยนำมากำกับใจ  ก็ระงับกันไปชั่วขณะที่จิตปล่อยอารมณ์เข้าพักสงบตัว  ต่อเมื่อถอนขึ้นมา  ถ้ามีเวลาทำต่อไปอีกก็นำคำบริกรรมที่เคยกำกับมาบริกรรมต่อไป  พยายามทำอย่างนี้เสมอด้วยความใฝ่ใจไม่ลดละความเพียร  จิตที่เคยทำบาปหาบทุกข์อยู่เสมอก็จะค่อยรู้สึกตัวและปล่อยวางไปเป็นลำดับ  และมีความสนใจหนักแน่นในหน้าที่ของตนเป็นประจำไม่ถูกบังคับถูไถเหมือนขั้นเริ่มแรก  ซึ่งเป็นขั้นกำลังฝึกหัดจิตที่สงบตัวลงเป็นสมาธิ  เป็นจิตที่มีความสุขเย็นใจมากและจำไม่ลืม  ถ้าได้ปรากฏขึ้นเพียงครั้งเดียว  ย่อมเป็นเครื่องปลุกใจให้ตื่นตัวและตื่นใจได้อย่างน่าประหลาด  หากไม่ปรากฏอีกในวาระต่อไปทั้งที่ภาวนาอยู่ในใจ  จะเกิดความเสียดายอย่างบอกไม่ถูกอารมณ์แห่งความติดใจและความเสียดายในจิตประเภทนั้นจะฝังใจไปนาน  นอกจากจิตจะเจริญก้าวหน้าขึ้นสู่ความสงบสุขอันละเอียดไปเป็นลำดับเท่านั้น  จิตถึงจะลืมและเพลินในธรรมขั้นสูงเรื่อยไป  ไม่มาเกี่ยวข้องเสียดายจิตและความสงบที่เคยผ่านมาแล้ว

          แต่เมื่อพูดถึงการภาวนาแล้ว  ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกเหงาหงอยน้อยใจ และอ่อนเปียกไปทั้งร่างกายและจิตใจว่าตนมีวาสนาน้อย  ทำไม่ไหว  เพราะคิดว่ากิจการยุ่งยากทั้งภายในบ้านและนอกบ้านตลอดงานสังคมต่างๆ  ลูกหลานก็มีหลายคนล้วนแต่ต้องเป็นธุระในการเลี้ยงดู  จะมัวมานั่งหลับตาภาวนาอยู่เห็นจะไม่ทันอยู่ทันกินกับโลกเขา  ต้องอดตายแน่ๆ แล้วทำให้เกิดความอิดหนาระอาใจไม่อยากทำประโยชน์ที่ควรได้เลยผ่านไป  ความคิดเช่นนั้นเป็นความคิดที่เคยฝังนิสัยมาดั้งเดิม  และอาจเป็นความคิดที่คอยกีดกันทางเดินเพื่อการระบายความทุกข์ทางใจไปเสีย  ถ้าไม่พยายามคิดแก้ไขเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป

          แท้จริงการภาวนา คือวิธีการแ้ก้ความยุ่งยากและความลำบากทางใจทุกประเภทที่เคยรับภาระอันหนักหน่วงมานานให้เบาลงและหมดสิ้นไป  เหมือนอุบายอื่นๆ ที่เราเคยนำมาแก้ไขไล่ทุกข์ออกจากตัวเหมือนที่โลกทำกันมานั่นเอง  เช่น เวลาร้อนต้องแก้ด้วยวิธีอาบน้ำ  เวลาหนาวแก้ด้วยวิธีห่มผ้าหรือผิงไฟ  หรือด้วยวิธีอื่นๆ  เวลาหิวกระหายแ้ก้ด้วยวิธีรับประทานและดื่ม  เวลาเป็นไข้ก็แก้ดวยวิธีรับประทานหรือฉีดยาที่จะยังโรคให้สงบและหายไป  ซึ่งล้วนเป็นวิธีการที่โลกเคยทำตลอดมาถึงปัจจุบัน  โดยไม่มีการผัดเพี้ยนเลื่อนเวลาว่ายังยุ่งยากยังลำบาก  และขัดสนจนใจใดๆ  ทั้งนั้น  ทุกชาติวรรณรจำต้องปฏิบัติกันทั่วโลก  แม้แต่สัตว์ก็ยังต้องอาศัยการเยียวยารักษาตัว  ดังที่เราเห็นเขาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเพื่อผ่อนคลายระบายทุกข์ไปวันหนึ่งๆ พอยังชีวิตให้เป็นไปตลอดกาลของเขา  ล้วนเป็นวิธีการแก้ไขและรักษาตัวแต่ละอย่างๆ

          การอบรมใจด้วยภาวนาก็เป็นวิธีหนึ่งแห่งการรักษาตัว  วิธีนี้ยิ่งเป็นงานสำคัญที่ควรสนใจเป็นพิเศษ  เพราะเป็นวิธีที่เกี่ยวกับจิตใจผุ้เป็นหัวหน้างานทุกด้านโดยตรง  งานอะไรเรื่องอะไรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัว  จิตจำต้องเป็นตัวการอย่างแยกไม่ออกที่จะต้องเข้ารับภาระแบกหามโดยไม่คำนึงถึงความหนักเบา  และชนิดของงานว่าเป็นงานชนิดใด  จะพอยกไหวไหม  แต่จิตต้องเข้ารับภาระทันที  ดีหรือชั่วผิดหรือถูกไม่ค่อยสนใจคิด  แม้งานหรือเรื่องจะหนักเบาเศร้าโศกเพียงใด  ซึ่งบางเรื่องแทบจะคว้าเอาชีวิตไปด้วยในขณะนั้น  แม้เช่นนั้นใจยังกล้าเอาตัวเข้าไปเสี่ยงและแบกหามจนได้  โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นจะตายเพราะเหลือบ่ากว่าแรง  มิหนำยังหอบเอาเรื่องมาคิดเป็นการบ้านอยู่อีก  จนแทบนอนไม่หลับ  รับประทานไม่ได้  ก็ยังมีในบางครั้ง  คำว่า หนักเกินไปยกไม่ไหว  เพราะเกินกว่ากำลังใจจะคิดและต้านทานนั้นเป็นไม่มี  มีแต่จะสู้เอาท่าเดียว

          งานทางกายยังมีเวลาพักผ่อน  และยังรู้ประมาณว่าควรหรือไม่ควรแก่กำลังของตนเพียงใด  ส่วนงานทางใจไม่มีวันเวลาได้พักผ่อนเอาเลย  จะมีพักอยู่บ้างเล็กน้อยก็ขณะหลับนอนเท่านั้น  แม้เช่นนั้นจิตยังอุตส่าห์ทำงานด้วยการละเมอเพ้อฝันต่อไปอีก  และไม่รู้จักประมาณว่าเรื่องต่างๆ นั้นควรหรือไม่ควรแก่กำลังของใจเพียงใด  เมื่อเกิดเป็นอะไรขึ้นมาก็ทราบแต่เพียงว่าทุกข์เหลือทน  แต่ไม่ทราบว่าทุกข์เพราะงานหนักและเรื่องเผ็ดร้อนเหลือกำลังที่ใจจะสู้ไหว  จึงควรให้นามว่า "ใจคือนักต่อสู้"  เพราะดีก็สู้  ชั่วก็สู้  สู้จนไม่รู้จักหยุดยั้งไตร่ตรอง

          อารมณ์ชนิดใดผ่านมาต้องสู้  และสู้แบบรับเหมา  ไม่ยอมให้อะไรผ่านหน้าไปได้  จิตเป็นเช่นนี้แลจึงสมนามว่านักต่อสู้  เพราะสู้จนไม่รู้จักตายถ้ายังครองร่างอยู่  และไม่ได้รับการแก้ไข  ก็ต้องเป็นนักต่อสู้เรื่อยไปชนิดไม่มีวันปลงวางภาระลงได้  หากปล่อยให้เป็นไปตามชอบของใจที่ไม่รู้ประมาณ  โดยไม่มีธรรมเครื่องยับยั้งบ้าง  คงไม่มีเวลาได้รับความสุขแม้สมบัติจะมีเป็ฯก่ายกอง  เพราะนั้นมิใช่กองแห่งความสุข  แต่กลับเป็นกองส่งเสริมทุกข์สำหรับใจที่ไม่มีเรือนพักคือธรรมภายในใจ

          นักปราชญ์ท่านกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า  ธรรมแลเป็นเครื่องปกครองทรัพย์สมบัติและปกครองใจ  ถ้าใจมีธรรมมากน้อย  ผู้นั้นแม้มีทรัพย์สมบัติมากน้อยย่อมจะมีความสุขพอประมาณ  ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว  ลำพังความอยากของใจจะพยายามหาทรัพย์ให้ได้กองเท่าภูเขาก็ยังหาความสุขไม่เจอ  เพราะนั้นเป็นเพียงเครื่องอาศัยของกายและใจ  ผู้ฉลาดหาความสุขใส่ตัวเท่านั้น  ถ้าใจไม่ฉลาดด้วยธรรม  ไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียวจะไปอยู่โลกใดและกองสมบัติใด  ก็เป็นเพียงโลกเศษเดนและกอสมบัติเศษเดนอยู่เท่านั้น  ไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใจเลยแม้นิด  ความสมบุกสมบัน  ความรับทุกข์ทรมาน  ความอดทนและความทนทานต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่างๆ ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ  ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง  ใจจะกลายเป็นของประเสริฐขึ้นมาให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจและอิ่มพอต่อเรื่องทั้งหลายทันที

          การใช้งามจิตนับแต่วันเกิดจนบัดนี้  รู้สึกว่าใช้เอาอย่างไม่มีปรานีปราศรัย  ถ้าเป็นเครื่องใช้ชนิดต่างๆ มีรถราเป็นต้น  จะเป็นอย่างไรบ้าง  ไม่ควรพูดถึงการนำเข้าอู่ซ่อม  แต่ควรพูดถึงความแหลกยับเยินของรถจนกลายเป็นเศษเหล็กไปนานแล้วจะเหมาะสมกว่า  นี่แลทุกสิ่งเมื่อมีการใช้ต้องมีการบูรณะซ่อมแซม  มีการเก็บรักษา  ถึงจะพอมีทางอำนวยประโยชน์ต่อไป  จิตเป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแลด้วยวิธีเก็บรักษาเช่นเดียวกับสมบัติทั่วไป  วิธีที่ควรแก่จิตโดยเฉพาะก็คือภาวนา  วิธีดังที่อธิบายมาบ้างแล้ว  ผู้สนใจในความรับผิดชอบต่อจิตอันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน  จึงควรปฏิบัติรักษาจิตด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม  คือฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควร  เพื่อเป็นการตรวจตราดูเครื่องเคราของรถคือจิต  ว่ามีอะไรบกพร่องและเสียไปบ้าง  จะได้นำเข้าโรงซ่อมสุขภาพทางจิต

          คือนั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน  คือความคิดปรุงของใจว่าคิดอะไรบ้างในวันและเวลาหนึ่งๆ พอมีสารประโยชน์บ้างไหม  หรือพยายามคิดแส่หาแต่เรื่อง  หากแต่โทษและขนทุกข์มาเผาลนเจ้าของอยู่ทำนองนั้น  พอให้รู้ความผิดถูกของตัวบ้าง  และพิจารณาสังขารภายนอก คือร่างกายของเรา  ว่ามีความเจริญขึ้นหรือเจริญลงในวันและเวลาหนึ่งๆ  ที่ผ่านไปจนกลายเป็นปีเก่าและปีใหม่ผลัดเปลี่ยนกันไปไม่มีที่สิ้นสุด  สังขารร่างกายเรามีอะไรใหม่ขึ้นบ้างไหม  หรือมีแต่ความเก่าแก่และคร่ำคร่าชราหลุดลงไปทุกวัน  ซึ่งพอจะนอนใจกับเขาละหรือ  จึงไม่พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอทำได้  เวลาตายแล้วจะเสียการ  นี่คือการภาวนา  การภาวนาคือวิธีเตือนตนสั่งสอนตน  ตรวจตราดูความบกพร่องของตนว่าควรจะแก้ไขจุดใดตรงไหนบ้าง

          ผู้ใช้ความพิจารณาอยู่ทำนองนี้เรื่อยๆ ด้วยวิธีสมาธิภาวนาบ้าง  ด้วยการรำพึงในอิริยาบถต่างๆ บ้าง  ใจจะสงบเยือกเย็นไม่ลำพองผยองตัวและคว้าทุกข์มาเผาลนตัวเอง  เป็นผู้รู้จักประมาณ  ทั้งหน้าที่การงานที่พอเหมาะพอดีแก่ตัว  ทั้งทางกายและทางใจ  ไม่ลืมตัวมั่วสุมในสิ่งที่เป็นเสียหายนะต่างๆ  คุณสมบัติของผู้ภาวนานี้มีมากมาย  ไม่อาจพรรณนาให้จบสิ้นลงได้  แต่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมิได้อธิบายลึกซึ้งมากไปกว่าฐานะของฆราวาสที่มารับการอบรม  ผิดกับท่านอธิบายให้พระเณรฟังอยู่มาก  เท่าที่เขียนตามท่านอธิบายไว้พอหอมปากหอมคอนี้  ก็ยังอาจมีบทที่รู้สึกว่าเปรี้ยวจัดเค็มจัดแฝงอยู่บ้างตามทรรศนะของนานสจิตตัง  จะให้เป็นแบบเดียวกันย่อมไม่ได้

          เท่าที่ได้พยายามตะเกีกตะกายนำมาลง  ก็เพื่อท่านผู้อ่านได้ช่วยติชม  พอเป็นยาอายุวัฒนะ  ผิดถูกประการใดโปรดได้ตำหนิผู้นำมาเขียน  กรุณาอย่าได้สนใจกับท่านผู้เป็นเจ้าของประวัติ  เพราะท่านมิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย  เวลาแสดงธรรมขั้นสูงท่านก็แสดงเป็นการภายในเฉพาะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเท่านั้น  แต่ผู้เขียนคะนองไปเอง  ใจและมือไม่อยู่เป็นสุข  ไปเที่ยวซอกแซกบันทึกเอาจากปากคำของพระอาจารย์ทั้งหลายที่เป็นลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น  ซึ่งเคยอยู่กับท่านมาเป็นคราวๆ ในสมัยนั้นๆ แล้วนำมาลง  เพื่อท่านผูอ่านได้ทราบปฏิปทาการดำเนินของท่านบ้างแม้ไม่สมบูรณ์  เพราะปฏิปทาท่านปรากฎว่าเด็ดเดี่ยวอาจหาญมาก  แทบจะพูดได้ว่าไม่มีท่านผู้ใดบรรดาลูกศิษย์ที่เคยพึ่งร่มเงาแห่งบารมีท่านมา  จะสามารถปฏิบัติเด็ดเดี่ยวต่อธุดงควัตรและจริยธรรมทั้งหลายอย่างสม่ำเสมอเหมือนท่าน  สำหรับองค์ท่าน ทั้งข้อปฏิบัติ ทั้งความรู้ภายในใจนับว่าเป็นเยี่ยมในสมัยปัจจุบัน ยากจะหาผู้เสมอเหมือนได้

          แถบจังหวัดอุดร  และหนองคาย  ตามในป่า  ชายเขา  และบนเขาที่ท่านพักอยู่  ท่านเล่าว่าพวกเทพฯ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างมาเยี่ยมฟังธรรมท่านเป็นคราวๆ ครึ่งเดือนบ้าง  หนึ่งเดือนบ้างมาหนหนึ่ง  ไม่บ่อยนักเหมือนจังหวัดเชียงใหม่  แต่จะเขียนต่อเมื่อประวัติท่านดำเนินไปถึง  ระยะนี้ขอดำเนินเรื่องไปตามลำดับเพื่อไม่ให้ก้าวก่ายกัน  ท่านเคยไปพักบำเพ็ญเพียรอยู่ชายเขาฝั่งไทยตะวันตกเมืองหลวงพระบางนานพอสมควร  ท่านเล่าว่าที่ใต้ชายเขาลูกนั้นมีเพียงพญานาคตั้งอยู่ใหญ่โตมาก  หัวหน้าพญานาคพาบริวารมาฟังธรรมท่านเสมอ  และมากันมากมายในบางครั้ง  พวกนาคไม่ค่อยมีปัญหามากเหมือนพวกเทวดา  พวกเทวดาทั้งเบื้องบนเบื้องล่างมักมีปัญหามากพอๆ กัน  ส่วนความเลื่อมใสในธรรมนั้นมีพอๆ กัน  ท่านพักอยู่ชายเขาลูกนั้น  พญานาคมาเยี่ยมท่านแทบทุกคืนและมีบริวารติดตามมาไม่มากนัก  นอกจากจะพามาเป็นพิเศษ  ถ้าวันไหนพญานาคจะพาบริวารมามาก  ท่านก็ทราบได้ล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง

          ท่านว่าท่านพักอยู่ที่นั้นเป็นประโยชน์แก่พวกนาคและพวกเทวดา  โดยเฉพาะไม่ค่อยเกี่ยวกับประชาชนนัก  พวกนาคมาเยี่ยมท่านไม่มาตอนดึกนัก  ท่านว่าอาจจะเป็นเพราะที่ที่พักสงัดและอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านก็ได้  พวกนาคจึงพากันมาเยี่ยมเฉพาะที่นั้นราว ๒๒-๒๓ นาฬิกา  คือ ๔-๕ ทุ่ม  ส่วนที่อื่นๆ มาดึกกว่านั้นก็มี  เวลาขนาดนั้นก็มี  พญานาคอาราธนานิมนต์ท่านให้อยู่ที่นั่นนานๆ เพื่อโปรดเขา  เขาเคารพเลื่อมใสท่านมาก  และจัดให้บริวารมารักษาท่านทั้งกลางวันและกลางคืน  โดยผลัดเปลี่ยนวาระกันมามิได้ขาด  แต่เขามิได้มาอยู่ใกล้นัก  อยู่ห่างๆ พอทราบและรักษาเหตุการณ์เกี่ยวกับท่านได้สะดวก  ส่วนพวกเทพฯ โดยมากมักมาดึกกว่าพวกนาค คือ ๒๔ นาฬิกาหรือตี ๑ ตี ๒  ถ้าอยู่ในเขาห่างไกลจากหมู่บ้าน  พวกเทพฯ ก็มีมาแต่วัน ราว ๒๒-๒๓ นาฬิกาอยู่บ้าง  จึงไม่แน่นัก  แต่โดยมากนับแต่เที่ยงคืนขึ้นไป  พวกเทพฯ ชอบมากันเป็นนิสัย

(จากหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ  โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน)

ไม่มีความคิดเห็น: