วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ : ประวัติ ตอน 3 เกิดสมาธินิมิต




          เมื่อท่านพักอบรมภาวนาด้วยบทพุทโธ  อยู่ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลฯ  ขณะที่จิตสงบลง  ปรากฎเป็นอุคหนิมิตขึ้นมาในลักษณะคนตายอยู่ต่อหน้า  แสดงอาการพุพอง  มีน้ำเน่าน้ำหนองไหลออกมา  มีแร้งกาและสุนัขมากัดกินและยื้อแย่งกันอยู่ต่อหน้าท่าน  จนซากนั้นกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ  เป็นที่น่าเบื่อหน่ายและสลดสังเวชเหลือประมาณ  ในขณะนั้น  เมื่อจิตถอนขึ้นมา  ในวาระต่อไปไม่ว่าจะนั่งภาวนา  เดินจงกรม  หรือ  อยู่ในท่าอิริยาบถใด  ท่านก็ถือเอานิมิตนั้นเป็นเครื่องพิจารณาโดยสม่ำเสมอไม่ลดละ  จนนิมิตแห่งคนตายนั้นได้กลับกลายมาเป็นวงแก้วอยู่ต่อหน้าท่าน  เมื่อเพ่งพิจารณาวงแก้วนั้นหนักๆ เข้าก็ยิ่งแปรสภาพไปต่างๆ ไม่มีทางสิ้นสุด   ท่านพยายามติดตามก็ยิ่งปรากฎเป็นรูปร่างต่างๆ จนไม่มีประมาณว่าความสิ้นสุด  แห่งภาพนิมิตจะยุติลง ณ ที่ใด  ยิ่งเพ่งพิจารณาก็ยิ่งแสดงอาการต่างๆ ไม่มีสิ้นสุด  โดยเป็นภูเขาสูงขึ้นเป็นพักๆ บ้าง  ปรากฏว่าองค์ท่านสะพายดาบอันคมกล้าและเท้าทั้งสอง  มีรองเท้าสวมอยู่บ้าง  แล้วเดินไป-มาบนภูเขานั้นบ้าง  ปรากฎเห็นกำแพงขวางหน้า  มีประตูบ้าง  ท่านเปิดประตูเข้าไปดูเห็นมีที่นั่ง และที่อยู่ของพระ ๒-๓ รูป  กำลังนั่งสมาธิอยู่บ้าง  บริเวณกำแพงนั้นมีถ้ำและเงื้อมผาบ้าง  มีดาบสอยู่ในถ้ำนั้นบ้าง  มียนต์คล้ายอู่  มีสายหย่อนลงมาจากหน้าผาบ้าง  ปรากฎว่าท่านขึ้นสู่อู่ขึ้นไปบนภูเขาบ้าง  มีสำเภาใหญ่อยู่บนภูเขาบ้าง  เห็นโต๊ะสี่เหลี่ยมอยู่ในสำเภาบ้าง  มีประทีปความสว่าง  อยู่บริเวณรอบๆ หลังเขานั้นบ้าง  ปรากฎว่าท่านฉันจังหันอยู่บนภูเขานั้นบ้าง  จนไม่อาจจะตามรู้ตามเห็นให้สิ้นสุดลงได้

          สิ่งที่ท่านได้เห็นเกี่ยวกับนิมิตเป็นเหตุให้รู้สึกว่ามีมากมาย  จนไม่อาจจะนำมากล่าวจบสิ้นได้  ท่านพิจารณาในทำนองนี้ถึง ๓ เดือน  โดยการเข้าๆ ออกๆ ทางสมาธิภาวนา  พิจารณาไปเท่าไรก็ยิ่งรู้ยิ่งเห็นสิ่งที่จะมาปรากฎจนไม่มีทางสิ้นสุด  แต่ผลดีปรากฎจากการพิจารณา  ไม่ค่อยมีพอเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าเป็นวิธีที่ถูกต้อง  และแน่ใจเมื่อออกจากสมาธิประเภทนี้แล้ว  ขณะกระทบกับอารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วๆ ไปก็เกิดความหวั่นไหว  คือทำให้ดีใจ  เสียใจ  รักชอบ  และเกลียดชังไปตามเรื่องของอารมณ์นั้นๆ  หาความเที่ยงตรงคงตัวอยู่มิได้  จึงเป็นเหตุให้ท่านสำนึกใน  ความเพียรและสมาธิที่เคยบำเพ็ญมาว่า  คงไม่ใช่ทางแน่  ถ้าใช่ทำไมถึงไม่มีความสงบ  เย็นใจและดำรงตนอยู่ด้วยความสม่ำเสมอ  แต่ทำไมกลับกลายเป็นใจที่วอกแวก  คลอนแคลนไปตามอารมณ์ต่างๆ ไม่มีประมาณ  ซึ่งไม่ผิดอะไรกับคนที่เขามิได้ฝึกหัดภาวนาเลย  ชะรอยจะเป็นความรู้ความเห็นที่ส่งออกมา  ซึ่งผิดหลักของการภาวนาไปกระมัง?  จึงไม่เกิดผลแก่ใจให้ได้รับความสงบสุขเท่าที่ควร

          ท่านจึงทำความเข้าใจเสียใหม่โดยย้อนจิตเข้ามาอยู่ในวงแห่งกาย  ไม่ส่งใจไปนอก  พิจารณาอยู่เฉพาะกาย  ตามเบื้องบน  เบื้องล่าง  ด้านขวาง  สถานกลางโดยรอบ  ด้วยความมีสติตามรักษา  โดยการเดินจงกรมไป-มามากกว่าอิริยาบทถอื่นๆ  แม้เวลานั่งทำสมาธิภาวนาเพื่อนพักผ่อนให้หายเมื่อยบ้างเป็นบางกาล  ก็ไม่ยอมให้  จิตรวมสงบลงดังที่เคยเป็นมา  แต่ให้จิตพิจารณาและท่องเที่ยวอยู่ตามร่างกายส่วนต่างๆ เท่านั้น  ถึงเวาพักผ่อนนอนหลับก็ให้หลับด้วยพิจารณากายเป็นอารมณ์  พยายามพิจารณาตามวิธีนี้อยู่หลายวันจึงจะสงบแบบไหนกันอีกแน่  ความที่จิตไม่ได้พักสงบตัวเลย  เป็นเวลาหลายวัน  พร้อมกับได้รับอุบายวิธีที่ถูกต้องเข้ากล่อมเกลา  จิตจึงรวมสงบลงได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายผิดปกติ  ขณะที่จิตรวามสงบตัวไป  ปรากฎว่าร่างกายได้แตกออกเป็นสองภาค  และรู้ขึ้นมาในขณะนั้นว่า  "นี้เป็นวิธีที่ถูกต้องแน่นอนแล้ว  ไม่สงสัย"  เพราะขณะที่จิตรวามลงไปมีสติประจำตัวอยู่กับที่ไม่เหลวไหลและเที่ยวเร่ร่อนไปในที่ต่างๆ ดังที่เคยเป็นมา

          และนี้คืออุบายที่แน่ใจว่าเป็นความถูกต้องในขั้นแรกของการปฏิบัติ  ในวาระต่อไปก็ถืออุบายนี้เป็นเครื่องดำเนินไม่ลดละ  จนสามารถทำความสงบใจได้ตามต้องการ  และมีความชำนิชำนาญขึ้นไปตามกำลังแห่งความเพียร  ไม่ลดหย่อนอ่อนกำลัง  นับว่าได้หลักฐานทางจิตใจที่มั่นคงด้วยสมาธิ  ไม่หวั่นไหวคลอนแคลนอย่างง่ายดาย  ไม่เหมือนคราวบำเพ็ญตามนิมิตในขั้นเริ่มแรก  ซึ่งทำให้เสียเวลาไปเปล่าตั้ง ๓ เดือน   โทษแห่งความไม่มีครูอาจารย์ผู้ฉลาดคอยให้อุบายสั่งสอน  ย่อมมีทางเป็นไปต่างๆ ดังที่เคยพบเห็นมาแล้วนั้นแล  อย่างน้อยก็ทำให้ล่าช้า  มากกว่านั้นก็ทำให้ผิดทางและมีทางเสียไปได้อย่างไม่มีปัญหา  ท่านเล่าว่า  สมัยที่ท่านออกบำเพ็ญกรรมฐานภาวนาครั้งโน้น  ไม่มีใครสนใจทำกันเลย  ในความรู้สึกของประชาชนสมัยนั้น  คล้ายกับว่าการบำเพ็ญกรรมฐานเป็นของแปลกปลอม  ไม่เคยมีในวงของพระและพระศาสนาเลย  แม้แต่ชาวบ้านเองพอมองเห็นพระกรรมฐานเดินธุดงค์ไป  ซึ่งอยู่ห่างกันคนละฟากทุ่งนา  เขายังพากันแตกตื่นและกลัวกันมาก

          ถ้าอยู่ใกล้หมู่บ้านก็จะพากันวิ่งเข้าบ้านกันหมด  ถ้าอยู่ใกล้ป่าก็พากันวิ่ง  เข้าหลบซ่อนในป่ากันหมด  ไม่กล้ามายืนซึ่งๆ หน้า  พอให้เราได้ถามหนทางที่จะไปสู่หมู่บ้านตำบลต่างๆ บ้างเลย  บางครั้งเราเดินทางไปเจอกับพวกผู้หญิงที่กำลังเที่ยวหาอยู่หากิน  เที่ยวเก็บผักหาปลาตามป่าตามภูเขา  ซึ่งมีเด็กๆ ติดไปด้วย  พอมองเห็นพระธรรมกรรมฐานเดินมา  เสียงร้องลั่นบอกกันด้วยความตกใจกลัวว่า  "พระธรรมมาแล้ว"  พร้อมกับทิ้งหาบหรือสิ่งของอยู่บนบ่าลงพื้นดินเสียงดังตูมตาม  โดยไม่อาลัยเสียดายว่าอะไรจะแตก  อะไรจะเสียหาย  ส่วนตัวก็ต่างคนต่างวิ่งหาที่หลบซ่อน  ถ้าอยู่ใกล้ป่าหรืออยู่ในป่าก็พากันวิ่งเข้าป่า  ถ้าอยู่ใกล้หมู่บ้านก็พากันวิ่งเข้าบ้าน  ส่วนเด็กๆ ที่ไม่รู้เดียงสา  เห็นผู้ใหญ่ร้องโวยวายและต่างคนต่างวิ่งหนี  เจ้าตัวก็ร้องไห้วิ่งไปวิ่งมาอยู่บริเวณนั้น  โดยไม่มีใครกล้าออกมารับเอาเด็กไปด้วยเลย  เด็กจะวิ่งตามผู้ใหญ่ก็ไม่ทัน  เลยต้องวิ่งหันรีหันขวางอยู่แถวๆ นั้นเอง  ซึ่งน่าขบขันและน่าสงสารเด็กที่ไม่เดียวสา  ซึ่งร้องไห้วิ่งตามหาผู้ใหญ่ด้วยความตกใจและความกลัวเป็นไหนๆ

          ส่วนพระธรรมท่านเห็นท่าไม่ดี  กลัวเด็กจะกลัวมากและร้องไห้ใหญ่  ก็ต้องรีบก้าวเดินเพื่อผ่านไปให้พ้น  ถ้าขืนไปถามเด็กเข้าคงได้เรื่องแน่ๆ  คือเด็กยิ่งจะกลัว  และร้องไห้วิ่งไปวิ่งมา  และยิ่งจะร้องไห้ใหญ่ไปทั้งป่า  ส่วนผู้ใหญ่ที่เป็นแม่ของเด็ก  ก็ยืนตัวสั่นอยู่ในป่าอย่างกระวนกระวาย  ทั้งกลัวพระธรรมกรรมฐาน  ทั้งกลัวเด็กจะวิ่งเตลิดเปิดเปิงหนีไปที่อื่นอีก  ใจเลยไม่เป็นใจเพราะความกระวนกระวายคิดถึงลูก  เวลาพระธรรมผ่านไปแล้ว  แม่วิ่งหาลูก  ลูกวิ่งหาแม่วุ่นวายไปตามๆ กัน  กว่าจะออกมาพบหน้ากันทุกคนบรรดาที่ไปด้วยกัน  ประหนึ่งบ้านแตกสาแหรกขาดไปพักหนึ่ง  พอออกมาครบถ้วนหน้าแล้ว  ต่างก็พูดและหัวเราะกันถึงเรื่องชุลมุนวุ่นวาย  เพราะความกลัวพระธรรมกรรมฐานไปยกใหญ่  ก่อนที่จะเที่ยวหากินตามปกติ

          เรื่องเป็นเช่นนี้โดยมาก  คนสมัยที่ท่านออกธุดงคกรรมฐาน  เขาไม่เคยพบเคยเห็นกันเลย  จึงแสดงอาการตื่นเต้นตกใจและกลัวกันสำหรับผู้หญิงและเด็กๆ  ฉะนั้นเมื่อคบกันในขั้นเริ่มแรกจึงไม่ค่อยมีใครสนใจธรรมะกับพระธุดงค์นัก  นอกจากจะกลัวกันเป็นส่วนมาก  ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเหตุหลายประการ เช่น มารยาท  ท่านก็อยู่ในอาการสำรวมเคร่งขรึม  ไม่ค่อยแสดงความคุ้นกับใครนัก  ถ้าไม่คบกันนานๆ จนรู้นิสัยกันดีก่อนแล้ว  และผ้าสังฆฏิ จีวร สบง อังสะ และบริขารอื่นๆ  โดยมากย้อมด้วยสีกรักคือสีแก่ขนุน  ซึ่งเป็นสีฉูดฉาดน่ากลัวมากกว่าจะน่าเลื่อมใส

          เวลาออกเดินทางเพื่อเจริญสมถธรรมในที่ต่างๆ  ท่านครองจีวรสีแก่นขนุน  บ่าข้างหนึ่งแบกกลด  ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าร่มธรรมดาที่โลกๆ ใช้กันทั่วๆ ไป  บ่าข้างหนึ่งสะพายบาตร  ถ้ามีด้วยกันหลายองค์  เวลาออกเดินทางท่านเดินตามหลังกันเป็นแถว  ครองจีวรสีกรักคล้ายสีน้ำตาล  เห็นแล้วน่าคิดน่าทึ่งอยู่ไม่น้อยสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยพบเห็นมาก่อน  และน่าเลื่อมใสสำหรับผู้ที่เคยรู้อัธยาศัยและจริยธรรมท่านมาแล้ว  ประชาชนที่ยังไม่สนิทกับท่านจะเกิดความเลื่อมใสก็ต่อเมื่อท่านไปพักอยู่นานๆ  เขาได้รับคำชี้แจงจากท่านด้วยอุบายต่างๆ หลายครั้งหลายคราว  นานไปใจก็ค่อยโอนอ่อนต่อเหตุผลอรรกถธรรมไปเอง  จนเกิดความเชื่อเลื่อมใส  กลายเป็นผู้มีธรรมในใจ  มีความเคารพเลื่อมใสในครูอาจารย์ผู้ให้โอวาทสั่งสอนอย่างถึงใจ  ก็มีจำนวนมาก

          พระธุดงค์ผู้มุ่งปฏิบัติเพื่ออรรถเพื่อธรรมจริงๆ เข้าถึงใจประชาชนได้ดี  และทำประโยชน์ได้มาก  โดยไม่อาศัยคำโฆษณา  แต่การประพฤติปฏิบัติตัวโดยสามีจิกรรม  ย่อมเป็นเครื่องดึงดูดจิตใจผู้อื่นให้เกิดความสนใจไปเอง

          การเที่ยวแสวงหาที่วิเวกเพื่อความสงัดทางกายทางใจ  ไม่พลุกพล่านวุ่นวายด้วยเรื่องต่างๆ เป็นกิจวัตรประจำนิสัยของพระธุดงคกรรมฐานผู้มุ่งอรรถธรรมท่างใจ  ดังนั้นพอออกพรรษาแล้ว  ท่านพระอาจารย์มั่นจึงชอบออกเที่ยวธุดงค์ทุกๆ ปีโดยเที่ยวไปตามป่าตามภูเขา  ที่มีหมู่บ้านพอได้อาศัยโคจรบิณฑบาต  ทางภาคอีสานท่านชอบเที่ยวมากกว่าทุกๆ ภาค  เพราะมีป่ามีภูเขามาก  เช่น  จังหวัดนครพนม  สกลนคร  อุดรธานี  หนองคาย  เลย  หล่มสัก  และทางฝั่งแม่น้ำโขงของประเทศลาว  เช่น  ท่าแขก  เวียงจันทน์  หลวงพระบาง  ที่มีป่าเขาชุกชุมมาก  เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม  การบำเพ็ญเพียรในท่าอิริยาบถต่างๆ นั้น  ไม่ว่าท่านจะพักอยู่ในสถานที่ใด  ไม่มีการลดละทั้งกลางวันกลางคืน  ถือเป็นงานสำคัญยิ่งกว่างานอื่นใด  เพราะนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นไม่ชอบทางการก่อสร้าง  มาแต่เริ่มแรก  ท่านชอบการบำเพ็ญเพียรทางใจโดยเฉพาะ  และไม่ชอบเกาะเกี่ยวกับเพื่อนฝูงและหมู่ชน  ชอบอยู่ลำพังคนเดียว  มีความเพียรเป็นอารมณ์ทางใจ  มีศรัทธามุ่งมั่นต่อแดนพ้นทุกข์อย่างแรงกล้า  ดังนั้น  เวลาท่านทำอะไรจึงชอบทำจริงเสมอ  ไม่มีนิสัยโกหกหลอกลวงตนเองและผู้อื่น

          การบำเพ็ญเพียงของท่านเป็นเรื่องอัศจรรย์ไปตลอดสาย  ทั้งมีความขยัน  ทั้งมีความทรหดอดทนและมีนิสัยชอบใคร่ครวญ  จิตท่านปรากฎมีความก้าวหน้าทางสมาธิและทางปัญญาอย่างสม่ำเสมอ  ไม่ล่าถอยและเสื่อมโทรม  การพิจารณากาย นับแต่วันที่ท่านได้อุบายจากวิธีที่ถูกต้องในขั้นเริ่มแรกมาแล้ว  ไม่ยอมให้เสื่อมถอยลงได้เลย  ท่านยึดมั่นในอุบายวิธีนั้นอย่างมั่นคง  และพิจารณากายซ้ำๆ ซากๆ จนเกิดความชำนิชำนาญแยกส่วนแบ่งส่วนแห่งกายให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่และทำลายลงด้วยปัญญาได้ตามต้องการ  จิตยิ่งนับวันหยั่งลงสู่ความสงบเย็นใจไปเป็นระยะไม่ขาดวรรคขาดตอเพราะความเพียรหนุนหลังอยู่ตลอดเวลา

          ท่านเล่าว่า  ท่านไปที่ใด อยู่ที่ใด  ใท่านมิได้เหินห่างจากความเพียร  แม้ไปบิณฑบาต  กวาดลานวัด  ขัดกระโถน  ทำความสะดวก  เย็บผ้า  ย้อมผ้า  เดินไปมาในวัด  นอกวัด  ตลอดการขบฉัน  ท่านทำความรู้สึกตัวอยู่กับความเพียรทุกขณะที่เคลื่อนไหวไม่ยอมให้เปล่าประโยชน์จากการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น  นอกจากเวลาหลับนอนเท่านั้น  แม้เช่นนั้น  ท่านยังตั้งใจไว้เมื่อรู้สึกตัวจะรีบลุกขึ้นไม่ยอมนอนซ้ำอีก  จะเป็นความเคยตัวต่อไปและจะแก้ไขได้ยาก  ตามปกตินิสัย  พอรู้สึตัวท่านรีบลุกขึ้นล้างหน้า  แล้วเริ่มประกอบความเพียรต่อไป  ขณะที่ตื่นนอนขึ้นมาและล้างหน้าเสร็จแล้ว  ถ้ายังมีอาการง่วงเหงาอยู่  ท่านไม่ยอมนั่งสมาธิในขณะนั้น  กลัวจะหลับไป  ท่านต้องเดินจงกรมเพื่อแก้ความโงกง่วงที่คอยแต่จะหลับในเวลาเผลอตัว  การเดินจงกรม  ถ้าก้าวขาไปช้าๆ  ยังไม่อาจระงับความง่วงเหงาได้  ท่านต้องเร่งฝีก้าวให้เร็วขึ้น  จนความง่วงหายไป  เมื่อรู้สึกเมื่อยเพลียและไม่มีความง่วงเหลืออยู่ในเวลานั้น  ท่านถึงจะออกจากทางจงกรมเข้ามาที่พักหรือกุฎิ  แล้วนั่งสมาธิภาวนาต่อไป  จนสมควรแก่กาล

          เมื่อเวลาบิณฑบาตก็เติรียมนุ่งสบง  ทรงจีวร  ซ้อนสังฆาฏิ  สะพายบาตรขึ้นบนบ่าออกบิณฑบาตในหมู่บ้านโดยอาการสำรวม  ทำความรู้สึกตัวกับความเพียรไปตลอดสาย  บิณฑบาตทั้งไปและกลับถือเป็นการเดินจงกรมไปในตัว  มีสติประคองใจไม่ปล่อยให้เพ่นพ่านโลเลไปตามอารมณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไป  เมื่อกลับถึงที่พักหรือวัดแล้วเตรียมจัดอาหารที่ได้มาจากบิณฑาตลงในบาตร  ตามปกติท่านไม่ยอมรับอาหารที่ศรัทธาตามมาส่ง  ท่านรับและฉันเฉพาะที่บิณฑบาติได้มาเท่านั้น  ตอนชรามากแล้วท่านถึงอนุโลมผ่อนผัน คือรับอาหารที่ศรัทธานำมาถวาย  ฉะนั้น  อาหารนอกบาตรจึงไม่มีในระยะนั้น

          เมื่อเตรียมอาหารใส่ลงในบาตรเสร็จแล้ว  เริ่มพิจารณาปัจจเวกขณะเพื่อระงับดับไฟนรก  คือตัณหาอันอาจแทรกขึ้นมาตามความหิวโหยได้ในขณะนั้น  คือจิตอาจบริโภคด้วยอำนาจตัณหาความสอดส่ายในอาหารประณีตบรรจงและมีรสเอร็ดอร่อย  โดยมิได้คำนึงถึงความเป็นธาตุและปฏิกูลที่แฝงอยู่ในอาหารนั้นๆ ด้วยปฏิสังขา  โยนิโส  ฯลฯ   เสร็จแล้วเริ่มฉันโดยธรรม  มิให้เป็นไปด้วยตัณหาในทุกๆ ประโยคแห่งการฉัน  จนเสร็จไปด้วยดี  ซึ่งจัดว่ามีวัตรในการขบฉัน  หลังจากนั้นก็ล้างบาตรเช็ดบาตรให้แห้ง  แล้วผึ่งแดดชั่วคราวถ้ามีแดด  และนำเข้าถลกยกไปไว้ในสถานที่ควร  แล้วเริ่มทำหน้าที่เผาผลาญกิเลสให้วอดวายหายซากไปเป็นลำดับ  จนกว่าจะดับสนิทไม่มีพิษภัยเครื่องก่อกวนและรังความจิตใจต่อไป  แต่การเตรียมเผากิเลสนี้รู้สึกเป็นงานที่ยากเย็นเข็ญใจเหลือจะกล่าว  เพราะแทนที่เราจะเผามันให้ฉิบหาย  แต่มันกลับเผาเราให้ได้รับความทุกข์ร้อนและตายจากคุณงามความดีที่ควรบำเพ็ญไปอย่างสดๆ ร้อนๆ และบ่อนทำลายเรา  ทั้งๆ ที่เห็นๆ มันอยู่ต่อหน้าต่อตา  แต่ไม่กล้าทำอะไรมันได้  เพราะกลัวจะลำบาก

          ผลสุดท้ายมันก็ปีนขึ้นนั่งนอนอยู่บนหัวใจเราจนได้  และเป็นเจ้าใหญ่นายโตตลอดไป  แทบจะไม่มีเพศมีวัยใด  และความรู้ความฉลาดใดจะต่อสู้และเอาชนะมันได้  โลกจึงยอมมันทั่วไตรภพ  นอกจากพระศาสดาเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ทำการกวาดล้างมันให้สิ้นซากไปจากใจได้  ไม่กลับแพ้อีกตลอดอนันตกาล  เมื่อพระองค์ทรงชนะแล้วก็ทรงแผ่เมตตา  แหวกหาหนทางเพื่อสาวกและหมู่ชน  ด้วยการประทานพระธรรมสั่งสอน  จนเกิดศรัทธาเลื่อมใสและปฏิบัติตามพระโอวาทด้วยความไม่ประมาทนอนใจบำเพ็ญไปไม่ลดละตามรอยพระบาท  คือแนวทางที่เสด็จผ่านไป  ก็สามารถตามเสด็จจนเสร็จสิ้นทางเดิน  คือนบรรลุถึงพระนิพพาน  ด้วยการดับกิเลสขาดจากสันดานกลายเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาเป็นลำดับลำดา  ให้โลกได้กราบไหว้บูชาเป็นขวัญตาขวัญใจตลอดมา  นี้คือท่านผู้สังหารกิเลสตัวมหาอำนาจให้ขาดกระเด็นออกจากใจ  หายซากไปโดยแท้ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น  ท่านพระอาจารย์มั่น  ท่านเจริญตามรอยพระบาทพระศาสดามีความเพียรอย่างแรงกล้า  มีศรัทธาเหนียวแน่น  ไม่พูดพล่ามทำเพลง

          พอเสร็จภัตกิจแล้ว  ท่านก้าวเข้าสู่ป่าเดินจงกรมเพื่อสงบอารมณ์ในรมณียสถานอันเป็นที่ให้ความสุขสำราญทางภายใน  ทั้งเดินจงกรม  ทั้งนั่งสมาธิภาวนา  จนกว่าจะถึงเวลาอันควร  จึงพักผ่อนกายเพื่อคลายทุกข์  พอมีกำลังบ้างแล้วเริ่มทำงานเพื่อเผาผลาญกิเลสตัวก่อภาพก่อชาติภายในใจต่อไป  ไม่ลดหย่อนอ่อนข้อให้กิเลสหัวเราะเย้ยหยัน  การทำสมาธิก็เข้มข้นเอาการ  การทำวิปัสสนาปัญญาก็หมุนตัวอย่างไม่หยุดยั้ง  ทั้งสมาธิและวิปัสสนาท่านดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ  ไม่ให้บกพร่องในส่วนใดส่วนหนึ่ง

          จิตท่านได้รับความความสงบสุขโดยสม่ำเสมอ  ที่มีช้าอยู่บ้างในบางกาล  ตามที่ท่านเล่าว่า  เพราะขาดผู้แนะนำในเวลาติดขัด  ลำพังตนเองเพียงไปเจอเข้าแต่ละเรื่อง  กว่าจะหาทางผ่านพ้นไปได้ก็ต้องเสียเวลาไปหลายวัน  ทั้งจำต้องใช้ความพิจารณาอย่างมากและละเอียดถี่ถ้วน  เพราะนอกจากติดขัดจนไปไม่ได้แล้ว  ยังกลับมาเป็นภัยแก่ตัวเองอีกด้วย  หากมีผู้คอยเตือนและให้คำแนะนำในเวลาเช่นนั้นบ้าง  รู้สึกว่าไปได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องเสียเวลา  และเป็นที่แน่ใจด้วย  ฉะนั้น  กัลยาณมิตรจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้กำลังอยู่ในระหว่างแห่งการบำเพ็ญทางใจ  ท่านเคยเห็นโทษของความขาดกัลยาณมิตรมาแล้วว่าเป็นสิ่งไม่ดีเลย  และเป็นความบกพร่องอย่างบอกไม่ถูก

          ในบางครั้ง  แม้มีความอบอุ่นว่าตนมีครูอาจารย์คอยให้ความร่มเย็นอยู่ก็ตาม  เวลาไปเที่ยวธุดงค์ในที่ต่างๆ กับท่านพระอาจารย์เสาร์ผู้เป็นบุพพาจารย์  แต่เวลาเกิดข้อข้องใจขึ้นมา ไปกราบเรียนถามท่าน  ท่านก็ตอบว่า  ผมไม่เคยเป็ยอย่างท่านเพราะจิตท่านเป็ตจิตที่ผาดโผนมาก  เวลาเกิดอะไรขึ้นมาแต่ละครั้งมันไม่พอดี  เดี๋ยวจะเหาะขึ้นบนฟ้าบ้าง  เดี๋ยวจะดำดินลงไปใต้พื้นพิภพบ้าง  เดี๋ยวจะดำน้ำลงไปใต้ก้นมหาสมุทรบ้าง  เดี๋ยวจะโดดขึ้นไปเดินจงกรมอยู่บนอากาศบ้าง  ใครจะไปตามแก้ทัน  ขอให้ท่านใช้ความพิจารณาและค่อยดำเนินไปอย่างนั้นแหละ  แล้วท่านก็ไม่ให้อุบายอะไร  พอเป็นหลักยึดเลย  ตัวเองต้องมาแก้ตัวเอง  กว่าจะผ่านไปได้แต่ละครั้งแทบเอาตัวไม่รอดก็มี

          ท่านเล่าว่า  นิสัยของท่านพระอาจารย์เสาร์  เป็นไปอย่างเรียบๆ และเยือกเย็นน่าเลื่อมใสมาก  ที่มีแปลกอยู่บ้างก็เวลาท่านเข้าที่นั่งสมาธิ  ตัวของท่านชอบลอยขึ้นเสมอ  บางครั้งตัวท่านลอยขึ้นไปจนผิดสังเกต  เวลาท่านนั่งสมาธิอยู่  ท่านเองเกิดความแปลกใจในขณะนั้นว่า  "ตัวเราถ้าจะลอยขึ้นจากพื้นแน่ๆ"  เลยลืมตาขึ้นดูตัวเอง  ขณะนั้นจิตท่านถอนออกจากสมาธิพอดี  เพราะพะวักพะวงกับเรื่องตัวลอยท่านเลยตกลงมาก้นกระแทกกับพื้นอย่างแรง  ต้องเจ็บเองอยู่หลายวัน  ความจริงตัวท่านลอยขึ้นจากพื้นจริงๆ สูงประมาณ ๑ เมตร  ขณะที่ท่านลืมตาดูตัวเองนั้น  จิตได้ถอนออกจากสมาธิ  จึงไม่มีสติพอยับยั้งไว้บ้าง  จึงทำให้ท่านตกลงสู่พื้นอย่างแรง  เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆ ตกลงจากที่สูง  ในคราวต่อไปเวลาท่านนั่งสมาธิ  พอรู้สึกตัวท่านลอยขึ้นจากพื้น  ท่านพยายามทำสติให้อยู่ในองค์ของสมาธิ  แล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้นดูตัวเอง  ก็ประจักษ์ว่า  ตัวท่านลอยขึ้นจริงๆ  แต่มิได้ตกลงสู่พื้นเหมือนคราวแรก  เพราะท่านมิได้ปราศจากสติ  และคอยประคองใจให้อยู่ในองค์สมาธิ  ท่านจึงรู้เรื่องของท่านได้ดี

          ท่านเป็นคนละเอียดถี่ถ้วนอยู่มาก  แม้จะเห็นด้วยตาแล้ว  ท่านยังไม่แน่ใจ ต้องเอาวัตถุชิ้นเล็กๆ ขึ้นไปเหน็บไว้บนหญ้าหลังกุฏิ  แล้วกลับมาทำสมาธิอีก  พอจิตสงบและตัวเริ่มลอยขึ้นไปอีก  ท่านพยายามประคองจิตให้มั่นอยู่ในสมาธิ  เพื่อตัวจะได้ลอยขึ้นไปจนถึงวัตถุเครื่องหมายที่ท่านนำขึ้นไปเหน็บไว้  แล้วค่อยๆ เอื้อมมือจับด้วยความมีสติแล้วนำวัตถุนั้นลงมาโดยทางสมาธิภาวนา  คือพอหยิบได้วัตถุนั้นแล้วก็ค่อยๆ ถอนจิตออกจากสมาธิ  เพื่อกายจะได้ค่อยๆ ลงมาจนถึงพื้นอย่างปลอดภัย  แต่ไม่ถึงกับให้จิตถอนออกจากสมาธิจริงๆ  เมื่อได้ทดลองจนเป็นที่แน่ใจแล้ว  ท่านจึงเชื่อตัวเองว่าตัวท่านลอยขึ้นได้จริงในเวลาเข้าสมาธิในบางครั้ง  แต่มิได้ลอยขึ้นเสมอไป  นี้เป็นจริตนิสัยแห่งจิตของท่านพระอาจารย์เสาร์  รู้สึกผิดกับนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นอยู่มากในปฏิปทาทางใจ

          จิตของท่านพระอาจารย์เสาร์เป็นไปอย่างเรียบๆ  สงบเย็นโดยสม่ำเสมอ  นับแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงสุดท้ายปลายแดนแห่งปฏิปทาของท่าน  ไม่ค่อยล่อแหลมต่ออันตรายและไดม่ค่อยมีอุบายต่างๆ และความรู้แปลกๆ เหมือนจิตท่านพระอาจารย์มั่น

          ท่านเล่าว่า  ท่านพระอาจารย์เสาร์  เดิมท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า  เวลาออกบำเพ็ยพอเร่งความเพียรเข้ามากๆ ใจรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิม  เพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า  แสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดายยังไม่อยากไปนิพพาน  ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพาน  ในชาติปัจจุบันนี้ท่านเลยอธิษฐานของดจากความปรารถนานั้น  และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้  ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่างๆ อีกต่อไป  พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว  การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวกแลเห็นผลไปโดยลำดับ  ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน  สุดท้ายท่านก็บรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย  แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่นท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก  ทั้งนี้อาจจะเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า  ซึ่งตรัสรู้เองชอบ  แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้  อีกประการหนึ่งที่ท่านกลับความปรารถนาได้สำเร็จตามใจนั้น  คงอยู่ในชั้นพอแก้ไขได้  ซึ่งยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิแท้

          แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง  ตามท่านเล่าว่าท่านก็เคยปรารถนาพุทธภูมิมาแล้วเช่นเดียวกัน  ท่านเพิ่งมากลับความปรารถนาเมื่อออกบำเพ็ญธุดงคกรรมฐานนี่เอง  โดยเห็นว่าเนิ่นนานเกินไปกว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาตามความปรารถนา  จำต้องท่องเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ในวัฏสงสารหลายกับหลายกัลป์  ไม่ชนะจะแบกขนทนความทุกข์ทรมานไม่มีวันจบสิ้นนี้ได้  เวลาเร่งความเพียรมากๆ จิตท่านมีประหวัด  ประหวัดในความหลัง  แสดงเป็นความอาลัยเสียดายความเป็นพระพุทธเจ้า  ยังไม่อยากนิพพานในชาตินี้เหมือนท่านพระอาจารย์เสาร์  พออธิษฐานของดจากความปรารถนาเดิมเท่านั้น  รู้สึกเบาใจหายห่วง  และบำเพ็ญธรรมได้รับความสะดวงไปโดยลำดับ  ไม่ขัดข้องเหมือนแต่ก่อน  และปรากฏว่าท่านผ่านความปรารถนาเดิมไปได้อย่างราบรื่นชื่นใจ  เข้าใจว่าภูมิแห่งความปรารถนาเดิมคงยังไม่แก่กล้าพอ  จึงมีทางแยกตัวผ่านไป

          เวลาท่านออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานทางภาคอีสานตามจังหวัดต่างไ ในระยะต้นวัย  ท่านมักจะไปกับท่านพระอาจารย์เสาร์เสมอ  แม้ความรู้ทางภายในจะมีแตกต่างกันบ้างตามนิสัย  แต่ก็ชอบไปด้วยกัน  สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด  ไม่ชอบเทศน์  ไม่ชอบมีความรู้แปลกๆ ต่างๆ กวนใจเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น  เวลาจำเป็นต้องเทศน์ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น  แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย  ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า  "ให้พากัน ละบาป และบำเพ็ญบุญ  อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์"  และ  "เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก  แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ  มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์  และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก  เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย  อย่าพากันทำ"   แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิ  โดยไม่สนใจกับใครต่อไปอีก

          ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด  พูดน้อยที่สุด  ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค  เวลานั่งก็ทนทาน  นั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง  เดินก็ทำนองเดียวกัน  แต่ลักษณะท่าทางของท่านมีความสง่าผ่าเผย  น่าเคารพเลื่อมใสมาก  มองเห็นท่านแล้ว  เย็นตาเย็นใจไปหลายวัน  ประชาชนและพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก  ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น

          ทราบว่าท่านพระอาจารย์ทั้งสององค์นี้รักและเคารพกันมาก  ในระยะวัยต้นไปที่ไหนท่านชอบไปด้วยกัน  อยู่ด้วยกันทั้งในและนอกพรรษา  พอมาถึงวัยกลางผ่านไป  เวลาพักจำพรรษามักแยกกันอยู่  แต่ไม่ห่างไกลกันนัก  พอไปมาหาสู่กันได้สะดวก  มีน้อยครั้งที่จำพรรษาร่วมกัน  ทั้งนี้อาจเกี่ยวกับบรรดาศิษย์ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีมากด้วยกัน  และต่างก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที  ถ้าจำพรรษาร่วมกันจะเป็นความลำบากในการจัดที่พักอาศัย  จำต้องแยกกันอยู่เพื่อเบาภาระในการจัดที่พักอาศัยไปบ้าง  ทั้งสองพระอาจารย์ขณะที่แยกกันอยู่จำพรรษาหรือนอกพรรษา  รู้สึกคิดถึงกันมากและเป็นห่วงกันมาก  เวลามีพระที่เป็นลูกศิษย์ของแต่ละฝ่ายมากราบนมัสการ  จะมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์เสาร์หรือมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น  ต่างจะต้องถามถึงควาสุขทุกข์ของกันและกันก่อนเรื่องอื่นๆ  จากนั้นก็บอกกับพระที่มากราบว่า  "คิดถึงท่านพระอาจารย์.............."  และฝากความเคารพคิดถึงไปกับพระลูกศิษย์ที่มากราบเยี่ยมตามสมควรแก่  "อาวุโส ภันเต"  ทุกๆ ครั้งที่พระมากราบพระอาจารย์ทั้งสองแต่ละองค์

          ท่านมีความเคารพในคุณธรรมของกันและกันมาก  ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรืออยู่ไกล  เวลาพระอาจารย์ทั้งสององค์ใดองค์หนึ่งพูดปรารภถึงกันและกันให้บรรดาลูกศิษย์ฟัง  จะมีแต่คำที่เต็มไปด้วยความเคารพและความยกยอสรรเสริญโดยถ่ายเดียว  ไม่เคยมีแม้คำเชิงแผงขึ้นมาบ้างเลย

          ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าให้ฟังว่า  ที่ท่านพระอาจารย์เสาร์ว่าให้ท่านว่า  จิตท่านเป็นจิตที่โลดโผนมาก  รู้อะไรขึ้นมาแต่ละครั้งมันไม่พอดีเลย  เดี๋ยวจะเหาะเหินเดินฟ้า  เดี๋ยวจะดำดิน  เดี๋ยวจะดำน้ำข้ามะเลนั้น  ท่านว่าเป็นความจริงดังที่ท่านพระอาจารย์เสาร์ตำหนิ  เพราะจิตท่านเป็นเช่นนั้นจริงๆ  เวลารวามสงบลงแต่ละครั้ง  แม้แต่ขั้นเริ่มแรกบำเพ็ญยังออกเที่ยวรู้เห็นอะไรต่างๆ  ทั้งที่ท่านไม่เคยคาดฝันว่าจะเป็นได้เช่นนั้น  เช่น  ออกรู้เห็นคนตายต่อหน้าและเพ่งพิจารณาจนคนตายนั้นกลายเป็นวงแก้ว  และเกิดความรู้ความเห็นแตกแขนงออกไปไม่มีสิ้นสุด  ดังที่เขียนไว้ในเบื้อง้น  เวลาปฏิบัติที่เข้าใจว่าถูกทางแล้ว  ขณะที่จิตรวมสงบตัวลงก็ยังอดจะออกรู้สิ่งต่างๆ มิได้  บางทีตัวเหาะลอยขึ้นไปบนอากาศและเที่ยวชมสวรรค์วิมาน  กว่าจะลงมาก็กินเวลาหลายชั่วโมง  และมุดลงไปใต้ดินค้นดูนรกหลุมต่างๆ และปลงธรรมสังเวชกับพวกสัตว์นรกที่มีกรรมต่างๆ กัน  เสวยวิบากทุกข์ของตนๆ อยู่  จนลืมเวล่ำเวลาไปก็มี  เพราะเวลานั้นยังไม่แน่ว่าจะเป็นความจริงเพียงไร  เรื่องทำนองนี้ท่านว่าจะพิจารณาต่อเมื่อจิตมีความชำนาญแล้ว  จึงจะรู้เหตุผลผิด-ถูก  ดี-ชั่วได้อย่างชัดเจนและอย่างแม่นยำ  พอเผลอนิดขณะที่จิตรวามลงและพักอยู่ก็มีทางออกไปรู้กับสิ่งภายนอกอีกจนได้  แม้เวลามีความชำนาญและรู้วิธีปฏิบัติได้ดีพอสมควรแล้ว  ถ้าปล่อยให้ออกรู้สิ่งต่างๆ  จิตย่อมจะออกรู้อย่างรวดเร็ว

          ระยะเริ่มแรกที่ท่านยังไม่เข้าใจและชำนาญต่อการเข้าออกของจิต  ซึ่งมีนิสัยชอบออกรู้สิ่งต่างๆ นั้น  ท่านเล่าว่า เวลาบังคับจิตให้พิจารณาลงในร่างกายส่วนล่าง แทนที่จิตจะรู้ลงไปตามร่างกายส่วนต่างๆ จนถึงพื้นเท้า  แต่จิตกลับพุ่งตัวเลยร่างกายส่วนต่ำลงไปใต้ดินและทะลุดินลงไปใต้พื้นพิภพ  ดังท่านพระอาจารย์เสาร์ว่าให้จริงๆ  พอรีบฉุดย้อนคืนมาสู่กายก็กลับพุ่งขึ้นไปบนอากาศ  แล้วเดินจงกรมไป-มาอยู่บนอากาศอย่างสบาย  ไม่สนใจว่าจะลงมาสู่ร่างกายเลย  ต้องใช้สติบังคับอย่างเข้มแข็งถึงจะยอมลงมาเข้าสู่ร่างกายและทำงานตามคำสั่ง  การรวมสงบตัวลงในระยะนั้นก็รวมลงอย่างรวดเร็วเหมือนคนตกเหวตกบ่อจนสติตามไม่ทัน  และอยู่ได้เพียงขณะเดียวก็ถอนออกมาขั้นอุปจระแล้วออกรู้สิ่งต่างๆ ไม่มีประมาณ  รู้สึกรำคาญต่อความรู้ความเห็นของจิตประเภทนี้อย่างมากมาย

          ถ้าจะบังคับไม่ให้ออกและไม่ให้รู้ก็ไม่มีอุบายปัญญาจะบังคับได้  เพราะจิตมีความรวดเร็วเกินกว่าสติปัญญาจะตามรู้ทัน  จึงทำให้หนักใจและกระวนกระวายในบางครั้ง  แบบคิดไม่ออกบอกใครไม่ได้เพราะเป็นเรื่องภายใน  ต้องใช้การทดสอบด้วยสติปัญญาอย่างเข้มงวดกวดขัน  กว่าจะรู้วิธีปฏิบัติต่อจิตดวงผาดโผนในการออกรู้สิ่งต่างๆ ไม่มีประมาณนี้  ก็นับว่าเป็นทุกข์เอาการอยู่  แต่เวลารู้วิธีปฏิบัติรักษาแล้วรู้สึกว่าคล่องแคล่วว่องไว  และได้ผลกว้างขวางทั้งรวดเร็วทันใจ  ต่อภายในภายนอก  เวลามีสติปัญญารู้เท่าทันจนกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว  จิตดวงนี้จึงกลายเป็นแก้วสารพัดนึกขึ้นมา  เพราะทันกับเหตุการณ์ที่เกิดกับตนไม่มีขอบเขต

          พระอาจารย์มั่นท่านมีนิสัยองอาจกล้าหาญและฉลาดแหลมคม  อุบายวิธีฝึกทรมานตนก็ผิดกับผู้อื่นอยู่มาก  ยากที่จะยึดได้ตามแบบฉบับของท่านจริงๆ ผู้เขียนอยากจะพูดให้สมใจที่เฝ้าดูท่านตลอดมาว่า  ท่านเป็นนิสัยอาชาไนย  ใจว่องไวและผาดโผน  การฝึกทรมานก็เด็ดเดี่ยว  เฉียบขาดเท่าเทียมกัน  อุบายฝึกทรมานมีชนิดแปลกๆ แยบคาย  ทั้งวิธีขู่เข็ญและปลอบโยนตามเหตุการณ์ที่ควรแก่จิต  ดวงมีเชาวน์  เร็วแกมพยศ  ซึ่งคอยแต่จะนำเรื่องเข้ามาทับถมโจมตีเจ้าของอยู่ทุกขณะที่เผลอตัว

          ท่านเล่าว่า  เรื่องที่ทำให้ท่านได้รับความลำบากหนักใจเหล่านี้  เพราะไม่มีผู้คอยให้อุบายแนะนำนั่นเอง  พยายามตะเกียกตะกายปลุกปล้ำใจ  ดวงพยศโดยลำพังคนเดียวแบบเอาหัวชนภูเขาทั้งลูกเอาเลย  ไม่มีอุบายต่างๆ ที่แน่ใจมาจากครูอาจารย์บ้างเลย  พอเป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนเหมือนผู้อื่นท่านทำกัน  ทั้งนี้ท่านพูดเพื่อตักเตือน  บรรดาลูกศิษย์ที่มารับการศึกษากับท่านไม่ให้ประมาทนอนใจ  เวลาเกิดอะไรขึ้นมาจากสมาธิภาวนาท่านจะได้ช่วยชี้แจงไม่ต้องเสียเวลาไปนานดังที่ท่านเคยเป็นมาแล้ว

          เวลาท่านออกปฏิบัติเบื้องต้น  ท่านว่าท่านไปทางจังหวัดนครพนมและข้ามไปเที่ยวทางฝั่งแมาน้ำโขง  บำเพ็ญสมณธรรมอยู่แถบท่าแขก  ตามป่าและภูเขา  ท่านได้รับความสงบสุขทางใจมากพอควรในป่าและภูเขาแถบนั้น  ท่านเล่าว่า มีสัตว์เสือชุกชุมมากเฉพาะเสือทางฝั่งโน้นรู้สึกดุร้ายกว่าเสือทางเมืองไทยเราอยู่มากเป็นพิเศษ  เนื่องจากเสือทางฝั่งโน้นเคยดักซุ่มกัดกินคนญวนอยู่เสมอมิได้ขาด  มีข่าวอยู่บ่อยๆ แต่คนญวนไม่ค่อยกลัวเสือมากเหมือนคนลาวและคนไทยเรานัก  และไม่ค่อยเข็ดหลาบและกลัวเสืออยู่นานทั้งๆ ที่เคยเห็นเสือกัดและกินคนอยู่เสมอ  และเห็นมันโดดมากัด  เอาเพื่อนที่ไปป่าด้วยกันไปกินต่อหน้าต่อตาอย่างวันนี้  แต่พอวันหลังคนญวนยังกล้าพากันเข้าไปป่าที่มีเสือชุมเพื่อหาอยู่หากินได้อีกอย่างธรรมดา  ไม่ตื่นเต้นตกใจกลัวและเล่าลือกันเหมือนคนลาวและคนไทยเรา  ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะความเคยชิน  ของเขาก็เป็นได้

          ท่าเล่าว่าคนญวนนี้แปลกอยู่อย่างหนึ่งเวลาเห็นเสือโดดมากัดเพื่อนที่ไปด้วยกันหลายคนไปกินก็ไม่มีใครที่จะช่วยเหลือกันด้วยวิธีต่างๆ บ้างเลย  ต่างคนต่างวิ่งหนีเอาตัวรอด  ไม่สนใจในการช่วยเหลือ  เวลาไปนอนค้างคืนในป่าหลายคนด้วยกันตกกลางคืนถูกเสือโดดมากัดและคาบเอาเพื่อนคนใดคนหนึ่งไปกิน  พวกที่นอนอยู่ด้วยกันได้ยินเสียงตกใจตื่นขึ้น  เห็นเหตุการณ์แล้วต่างก็วิ่งหนีไปหาที่นอนใหม่ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณนั้นเอง  ความรู้สึกเขาเหมือนเด็กๆ ในเรื่องเช่นนี้  ไม่มีความคิดอ่านใดๆ ที่แยบคายไปกว่านี้เลย  ทำเหมือนเสือโคร่งใหญ่ทั้งตัวที่เคยกินคนมาแล้วอย่างขำนาญไม่มีหูไม่มีตาและไม่มีหัวใจเอาเลย

          เรื่องคนพรรค์นี้  ผู้เขียนเองก็พอรู้เรื่องที่เขาไม่ค่อยกลัวเสือมาบ้างพอสมควร  คือเวลาเขามาพักอาศัยในบ้านเมืองเราที่เป็นป่ารกชัฏและมีสัตว์เสือชุกชุม  เวลาเขาพากันไปนอนค้างคืนเลื่อยไม้อยู่ในป่าลึก  ซึ่งอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านมากและมีเสือชุม  เขาไม่เห็นแสดงอาการหวาดกลัวบ้างเลย  แม้เขาจะนอนอยู่ด้วยกันหลายคนหรือคนเดียว  เขาก็นอนได้อย่างสบายไม่กลัวอะไร  ถ้าเขาต้องการจะเข้ามาในหมู่บ้านเวลาค่ำคืนเขาก็มาได้  ไม่ต้องหาเพื่อนฝูงมาด้วย  อยากกลับไปที่พักเวลาใดก็กลับไปได้  เวลาถูกถามว่าไม่กลัวเสือบ้างหรือ?  เขาก็ตอบว่าไม่กลัว  เพราะเสือเมืองไทยไม่กินคนและยิ่งกลัวคนด้วยซ้ำ  ไม่เหมือนเสือเมืองเขาซึ่งมีแต่ตัวใหญ่ๆ และชอบกินคนแทบทั้งนั้น

          เมืองเขาบางแห่งเวลาเข้าป่าต้องทำคอกนอนเหมือนคอกหมู  ไม่เช่นนั้นเสือมาเอาไปกิน  ไม่ได้กลับบ้าน  แม้บางหมู่บ้านที่เสือดุมาก  เวลากลางคืนผู้คนอกมานอกบ้านเรือนไม่ได้  เสือโดดมาเอาไปกินเลยไม่มีเหลือ  เขายังกลับว่าให้เราอีกด้วยว่าคนไทยขี้กลัวมาก  จะไปป่าก็แห่แหนกันไปไม่กล้าไปคนเดียว  ที่ท่านพระอาจารย์มั่นว่าคนญวนไม่ค่อยกลัวเสือนั้นคงจะเป็นในทำนองนี้ก็ได้  เวลาท่านไปพักอยู่ที่นั้นก็ไม่ค่อยเห็นเสือมารบกวน  เห็นแต่รอยมันเดินผ่านไปมาและส่งเสียงร้องครางไปตามภาาาของสัตว์ที่มีปาก  และร้องครวญครางได้เท่านั้นในบางคืน  แต่เขาร้องมิได้คำรามให้เรากลัวหรือแสดงท่าทางจะกัดกินเป็นอาหาร

          เฉพาะองค์ท่านเองรู้สึกจะไม่ค่อยสนใจกับความกลัวสัตว์เสืออะไรมากไปกว่าความกลัวจะไม่หลุดพ้นจากกองทุกข์  ถึงบรมสุขคือพระนิพพานในชาตินี้  ทั้งนี้ทราบจากท่านเล่าถึงการข้ามไปฝั่งแม่น้ำโขงฟากโน้นและข้ามมาฝั่งฟากนี้  เพื่อการบำเพ็ญเพียรอย่างเอาจริงเอาจัง  ทำให้เห็นว่าท่านถือเป็นธรรมดาในการไป-มา  เพราะไม่เห็นท่านนำเรื่องความกลัวของท่านมาเล่าให้ฟัง  ถ้าเป็นผู้เขียนไปเจอเอาที่เช่นนั้นเข้าบ้าง  น่ากลัวชาวบ้านแถบนั้นจะพากันกลายเป็นตำรวจรักษา  พระธุดงค์ขี้ขลาดไม่เป็นท่ากันทั้งบ้านโดยไม่ต้องสงสัย  เพียงได้ยินเสยงเสือกระหึ่ม  ในบางครั้งยังชักใจไม่ดีเดินจงกรมก็ยังถอยหน้าถอยหลังก้าวขาไม่ค่อยออก  และเดินไม่ถึงที่สุดทางจงกรมอยู่แล้ว  เผื่อไปเจอเอาเรื่องดังที่ว่านั้น  จึงน่ากลัวธรรมแตกมากกว่าสิ่งอื่นๆ จะแตก  เพราะนับแต่วันรู้ความมา  พ่อแม่และชาวบ้านก็เคยพูดกันทั่วแผ่นดินว่า  เสือเป็นสัตว์ดุร้าย  ซึ่งเป็นเรื่องฝังใจจนถอนไม่ขึ้นตลอดมา  จะไม่ให้กลัวนั้นสำหรับผู้เขียน  จึงเป็นไปไม่ได้เอาเลย  และยอมสารภาพตลอดไปไม่มีทางต่อสู้

          พระอาจารญืมั่นท่านได้เที่ยวจาริกไปตามจังหวัดต่างๆ มีนครพนม เป็นต้น   ทางภาคอีสานนานพอสมควรสมัยออกปฏิบัติเบื้องต้น  จนจิตมีกำลังพอต้านทานอารมณ์ภายในที่เคยผาดโผนมาประจำใจและอารมณ์ภายนอกได้บ้างแล้ว  ก็เที่ยวจาริกลงไปทางภาคกลาง  จำพรรษาที่วัดปทุมวัน  พระนครฯ  ระยะที่จำพรรษาอยู่ วัดปทุมวัน ก็ได้พยายามมาศึกษาอบรมอุบายปัญญาเพิ่มเติมกับท่านเจ้าคุณ พระอุบาลี คุณูปมาจารย์ (สิริจันโท)  ที่วัดบรมนิวาสมิได้ขาด

          พอออกพรรษาแล้ว  ท่านก็ออกเที่ยวจาริกไปทางจังหวัดลพบุรี  พักอยู่ถ้ำไผ่ขวางเขาพระงามบ้าง  ถ้ำสิงโตบ้าง  ขณะที่พักอยู่ได้มีโอกาสเร่งความเพียรเต็มกำลัง ไม่ขาดวรรคขาดตอน  ใจรู้สึกมีความอาจหาญต่อตนเองและมีสิ่งเกี่ยวข้องต่างๆ ไม่พรั่นพรึงอย่างง่ายดาย  สมาธิก็มั่นคง  อุบายปัญญาก็เกิดขึ้นเรื่ีอยๆ มองเห็นสิ่งต่างๆ เป็นอรรถเป็นธรรมไปโดยลำดับ  เวลามีโอกาสก็เข้าไปกราบนมัสการและเล่าธรรมะถวาย  และเรียนถามปัญหาข้อข้องใจเกี่ยวกับอุบายปัญญากับท่านเจ้าคุณอุบาลี  วัดบรมนิวาส  ท่านก็ได้รับอธิบายวิธีพิจารณาปัญญาเพิ่มเติมให้จนเป็นที่พอใจ  แล้วกราบลาท่านไปเที่ยววิเวกทางถ้ำสาริกา  เขาใหญ่  จังหวัดนครนายก

          ท่านเล่าว่า  เวลาพักอยู่ถ้าสาริกา ๓ ปี  ได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ หลายประการทั้งภายในและภายนอก  แทบตลอดเวลาที่พักอยู่  จนเป็นที่สะดุดและฝังใจตลอดมา คือ ขณะที่ท่านไปถึงหมู่บ้าน  ถ้าจำไม่ผิดชื่อว่า "บ้านกล้วย"  ที่อยู่ใกล้กับถ้ำมากกว่าหมู่บ้านอื่นๆ  พอโคจรบิณฑบาตถึงสะดวก  ท่านขอวานให้ชาวบ้านนั้นไปส่งที่ถ้ำดังกล่ว  เพราะไม่เคยไปไม่รู้หนทาง  ชาวบ้านก็เล่าเรื่องฤทธิ์เดชต่างๆ ของถ้ำนั้นให้ท่านฟังว่า  เป็นถ้ำที่สำคัญอยู่มาก  พระไม่ดีจริงๆ ไปอยู่ไม่ได้  ต้องเกิดเจ็บป่วยต่างๆ และตายกันแทบไม่มีเหลือหลอลงมา  เพราะถ้ำนี้มีผีหลวงรูปร่างใหญ่และมีฤทธิ์มากรักษาอยู่ ผีัวนี้ดุร้ายมาก  ไม่เลือกพระเลือกใคร  ถ้าไปอยู่ถ้ำนั้นต้องมีอันเป็นไปอย่างคาดไม่ถึง  และตายกันจริงๆ ยิ่งพระองค์ใดที่อวดตัวว่ามีวิชาอาคมขลังๆ เก่งๆ ไม่กลัวผีแล้ว ผียิ่งชอบทดลอง  พระองค์นั้นเกิดเจ็บขึ้นมาอย่างกระทันหัน  และตายเร็วกว่าปกติธรรมดาที่ควรจะเป็น  ชาวบ้านพร้อมกันนิมนต์วิงวินไม่อยากให้ท่านขึ้นไปอยู่  เพราะกลัวท่านจะตายเหมือนพระทั้งหลายที่เคยเป็นมาแล้ว

          ท่านสงสัยจึงถามเขาว่า  ที่ว่าถ้ำมีฤทธิ์เดชต่างๆ และมีผีใหญ่ดุนั้นมันเป็นอย่างไร  อาตมาอยากทราบบ้าง  เขาบอกกับท่านว่าเวลาพระหรือฆราวาสขึ้นไปพักถ้ำนั้น  โดยมากเพียงคืนแรกก็เริ่มเห็นฤทธิ์บ้างแล้ว  คือเวลานอนหลับไป  จะต้องมีการละเมอเพ้อฝันไปต่างๆ  โดยมีผีรูปร่างดำใหญ่โตและสูงมากมาหา  และจะเอาตัวไปบ้าง  จะมาฆ่าบ้าง  โดยบอกว่าเขาเป็นผู้รักษาถ้ำนี้มานานแล้วและเป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวในเขตแขวงนั้น  ไม่ยอมให้ใครมารุกล้ำกล้ำกรายได้  เขาต้องปราบปรามหรือกำจัดให้เห็นฤทธิ์ทันที  ไม่ยอมให้ใครมีอำนาจเก่งกาจยิ่งกว่าเขาไปได้  นอกจากผู้มีศีลธรรมอันดีงามและมีเมตตาจิตคิดเผื่อแผ่กุศลแก่บรรดาสัตว์  ไม่เป็นผู้คับแคบ  ใจดำและต่ำทรามทางความประพฤติเท่านั้น  เขาถึงจะยินยอมให้อยู่ได้  และเขาจะให้ความอารักขาด้วยดี  พร้อมทั้งความเคารพรักและนับถือดังนี้

          ส่วนพระโดยมากที่ไปอยู่กันไม่ค่อยมีความผาสุกและอยู่ไม่ได้นาน  ต้องรีบลงมาหรือต้องตาย  เท่าที่เห็นมาก็เป็นทำนองนี้จริงๆ ใครไปอยู่ไม่ค่อยจะได้  เพียงคืนเดียวหรืองสองคืนก็เห็นรีบลงมาด้วยท่าทางที่น่ากลัวหรือตัวสั่นแทบไม่มีสติอยู่กับตัว  และพูดเรื่องผีดุออกมาโดยที่ยังไม่มีใครถามเลย  แล้วก็รีบหนีไปด้วยความกลัวและเข็ดหลาบ  ไม่คิดว่าจะกลับคืนมาถ้ำนี้อีกได้เลย  ยิ่งกว่านั้น  ขึ้นไปแล้วก็อยู่ที่นั้นเลย  ไม่มีวันกลับลงมาเห็นหน้ามนุษย์มนาอีกต่อไปเลยท่าน  ฉะนั้น  จึงไม่อยากให้ท่านขึ้นไปกลัวว่าจะอยู่ที่นั้นเลย

          ท่านพระอาจารย์จึงถามว่า  ที่ว่าขึ้นไปอยู่เลยไม่ลงมาเห็นหน้ามนุษย์นั้นขึ้นไป  อย่างไรกันถึงไม่ยอมลงมา  เขาบอกว่าตายเลยท่าน  จึงไม่มีทางที่จะลงมาได้  เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีพระมาตายอยู่ในถ้ำนี้ตั้ง ๔ องค์  ล้วนมีแต่พระองค์เก่งๆ ทั้งนั้น  เท่าที่พวกกระผมทราบจากพระท่านพูดให้ฟังว่า  เรื่องผีท่านบอกว่าไม่กลัว  เพราะท่านมี คาถากันผี และปราบผี  ตลอดคาถาอื่นๆ อีกเยอะแยะ  ผีเข้าไม่ถึงท่าน  เมื่อชาวบ้านบอกเรื่องราวของถ้ำและผีดุให้ท่านฟัง  เพราะไม่อยากให้ท่านขึ้นไป  แต่ท่านกลับบอกว่าไม่กลัว  และให้ญาติโยมพาท่านส่งขึ้นไปที่ถ้ำ  ชาวบ้านจำต้องไปส่งท่านไปอยู่ที่นั้น  เมื่อไปอยู่แล้วทำให้เป็นต่างๆ มีเจ็บไข้บ้าง  ปวดศีรษะบ้าง  เจ็บท้องขึ้นมาอย่างสดๆ ร้อนๆ บ้าง  เวลานอนหลับเกิดละเมอเพ้อฝันไปว่ามีคนจะมาเอาตัวไปบ้าง จะมาฆ่าบ้าง

          แม้พระที่ขึ้นไปอยู่ในถ้ำนั้นมิได้ไปพร้อมกัน  ต่างองค์ต่างไปคนละวันก็ตาม  แต่อาการที่เป็นขึ้นมีลักษณะคล้ายคลึงกัน  บางองค์ก็ตายอยู่ในถ้ำนั้น  บางองค์ก็รีบลงจากถ้ำหนีไป  พระที่มาตายอยู่ในถ้ำนี้ ๔ องค์ ในระยะเวลาไม่ห่างกันเลย  แต่ท่านจะตายด้วยผีดุหรือตายด้วยอะไร  ทางชาวบ้านก็ไม่ทราบได้  แต่เท่าที่เคยสังเกตมาถ้ำนี้รู้สึกแรงมากอยู่  และเคยเป็นมาอย่างนี้เสมอมา  ชาวบ้านแถบนี้กลัวกัน ไม่กล้าไปทะลึ่งอวดดีแต่ไหนแต่ไรมา  กลัวจะถูกหามกันลงมาโดยอาการร่อแร่บ้าง  โดยเป็นศพที่ตายแล้วบ้าง  ท่านถามชาวบ้านว่า  เหตุการณ์ดังที่ว่านี้เคยมีมาบ้างแล้วหรือ  เขาเรียนท่านว่าเคยมีจนชาวบ้านทราบอย่างฝังใจและกลัวกันทั้งบ้าง  ทั้งรีบบอกกับพระหรือใครๆ ที่มาถ้ำนี้เพื่อต้องการของดี  เช่น  เหล็กไหลหรือพระศักดิ์สิทธิ์อะไรต่างๆ  ซึ่งอาจมีหรือไม่มีก็ตาม  แต่บางคนก็ชอบประกาศโฆษณาว่ามี  ดังนั้น  จึงมักมีพระและคนที่ชอบทางนี้มากันเสมอ  แต่ก็ไม่เห็นได้อะไรติดตัวไป  นอกจากตายหรือรอตายไปเท่านั้น  เฉพาะชาวบ้านนี้ไม่ปรากฏว่ามีใครเคยไปเห็นเหล็กไหลหรือของดีอย่างอื่นๆ ในถ้ำนี้เลย  เรื่องก็เป็นดังที่เล่ามานี้  จึงไม่อยากให้ท่านขึ้นไป  กลัวจะไม่ปลอดภัยดังที่เห็นๆ มา

          พอชาวบ้านเล่าเรื่องจบลง  ท่านพระอาจารย์ยังไม่หายสงสัยในความอยากไปชมถ้ำนั้น  ท่านอยากขึ้นไปทดลองดู  จะเป็นจะตายอย่างไรก็ขอให้ทราบด้วยตนเอง  จะเป็นที่แน่ใจกว่าคำบอกเล่า  แม้เขาจะเล่าเรื่องผีซึ่งเป็นที่น่ากลัวให้ฟังก็ตาม  แต่ใจท่านมิได้มีความสะดุ้งหวาดเสียวไปตามแม้นิดหนึ่งเลย  ยิ่งเห็นเป็นเครื่องเตือนสติให้ได้ข้อคิดมากมายยิ่งขึ้น  และมีความอาจหาญที่จะเผชิญต่อเหตุการณ์อยู่ทุกขณะจิต  สมกับเป็นผู้มุ่งแสวงหาความจริงอย่างแท้จริง  ท่านจึงพูดกับชาวบ้านเป็นเชิงถ่อมตนว่า  เรื่องนี้เป็นที่น่ากลัวจริงๆ  แต่อาตมาคิดอยากไปชมถ้ำสักชั่วระยะหนึ่ง  หากเห็นท่าไม่ดีจะรีบลงมา  จึงขอควากรุณาโยมไปส่งอาตมาขึ้นไปอยู่ถ้ำนี้สักพักหนึ่งเถิด  เพราะยังไม่หายสงสัยที่อยากชมถ้ำนี้มามากแล้ว  ฝ่ายชาวบ้านก็พากันตามส่งท่านขึ้นถ้ำตามความประสงค์

(จากหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ  โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน)



          

ไม่มีความคิดเห็น: