เราพูดอย่างนี้แล้ว มันก็กระเทือนถึงที่ว่าหลังเขาวัดดอยธรรมเจดีย์ ตอนเช้าก่อนจังหันอย่างนี้ จิตมันอัศจรรย์อย่างว่านั่นแหละ อัศจรรย์บ้าอะไรก็ไม่รู้ เจ้าของอัศจรรย์เจ้าของน่ะซี โอ้โห ! ทำไมจิตของเราถึงได้สว่างไสวอัศจรรย์เอาขนาดนี้เชียวนา รำพึง เดินจงกรมยืนอยู่ มันจ้าไปหมดเลย ทำไมถึงได้อัศจรรย์ขนาดนี้จิตดวงนี้ๆ นั่นล่ะตัวมหาภัย คือตัวที่ว่าอัศจรรย์นั่น เห็นไหมล่ะ
นั่นล่ะ ธรรมท่านกลัวไปหลงน่ะซี ก็เราติดอยู่แล้ว หลงอยู่แล้วว่าไง ไม่มีอะไรๆ ก็มาเอาจุดสุดท้าย นั่นล่ะวัฏจักร เรียกว่าอวิชชาตรงนั้นเอง นั่นล่ะยอดอวิชชา ยอดวัฏจักรวัฏจิต คือ อวิชชา มันไม่มีอะไรแล้วก็ไปชมเชยตรงนั้น สักเดี๋ยวขึ้นล่ะซี ธรรมท่านเตือนขึ้นมาเพราะว่าที่ว่าสว่างไสว มันมีจุดของมันอยู่นั้น เหมือนตะเกียงเจ้าพายุไส้ตะเกียงเจ้าพายุมันจ้าอยู่นั้น ออกไปข้างนอกมันก็ออกจากไส้ตะเกียงที่สว่างจ้า นั่นล่ะตัวสำคัญ
เราก็อัศจรรย์ตัวนั้นเอง ขึ้นอุทานในใจเทียวนะ โอ้โห! จิตของเราทำไมถึงสว่างไสวอัศจรรย์เอาเสีย เหมือนหนึ่งว่าเหนือโลกเหนือสงสาร นั่นเห็นไหม อวิชชาแผลงฤทธิ์เวลาสุดท้ายเห็นไหม เรารู้มันเมื่อไร ไม่รู้จะไปหลงอัศจรรย์มันหาอะไร สักเดี๋ยวธรรมะท่านกลัวหลง ท่านก็ผุดขึ้นมาเป็นคำๆ เราลืมเมื่อไร
ถ้ามีจุด จุดไส้ตะเกียงนั่นเองสว่าง นี่จุดกับต่อมเป็นไวพจน์ของกันและกัน ใช้แทนกันได้ "ถ้ามีจุดหรือต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหนนั้นแล คือ ตัวภพ" นั่นเห็นไหม บอกตรงนี้ ตัวนี้ตัวภพ ถึงขนาดนั้นยังจับไม่ได้นะ งงไปเลย มีจุดมีต่อม คือตัวนี้เอง ถึงได้คิดถึงพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ท่านมรณภาพจากไปแล้วนั้น เราไปติดปัญหานี้อยู่บนหลังเขาวัดดอยธรรมเจดีย์ ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ พอกราบเรียนอย่างนี้เท่านั้น "ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้ที่ไหน นั้นแล คือ ตัวภพ" "ก็จุดนั้นเอง" ท่านก็ใส่เปรี้ยงเข้าไปนั้น มันก็พังทันที พอรู้ปั๊บเห็นโทษของมัน คอยจะไปอยู่แล้วนี่นะ แต่เราประคองมันไว้นั่นซี
นั่นล่ะมหาภัยแท้ ตรงนั้นทีเดียว จุดที่รวามแห่งมหาภัยอยู่จุดที่สว่างกระจ่างแจ้งอัศจรรย์เต็มที่ของวัฏจักรของแดนสมมุติ อยู่จุดนั้นหมด เราไม่ลืม ตอนเดือนกุมภาฯ เผาศพพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเสร็จแล้วก็ขึ้นบนเขา ติดปัญหาอันนี้ งงไปเลยนะ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยธรรมที่ท่านเตือนขึ้นมา แทนที่จะให้เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลในเวลานั้น กลับเป็นความหลงมหาศาลเหมือนกัน
"เอ๊ ! จุดต่อมที่ไหนนาๆ" "ก็จุดนั้นน่ะ" นั่นล่ะเดือนกุมภาฯ เดือน ๓ เผาศพท่านเสร็จแล้วขึ้นบนเขา ไปติดปัญหาอันนี้ ไม่คิดไม่คาดว่าอันนี้เป็นตัวมหาภัย ยังว่าเป็นมหาคุณอยู่ เห็นไหมกิเลสหลอก ขนาดว่าตัวมหาภัย มันเสกว่าเป็นมหาคุณ เห็นไหม ก็แบกปัญหานี้ไปลืมเมื่อไร ลงจากวัดดอยธรรมเจดีย์ปั๊บขึ้นไปทางอำเภอบ้านผือ ศรีเชียงใหม่ แต่ก่อนศรีเชียงใหม่ยังไม่มีอำเภอ มีแต่อำเภอท่าบ่อ อำเภอบ้านผือ เข้าไปอยู่โน้นลึกๆ เขาเรียกถ้ำผาดัก จนกระทั่งย้อนกลับมาถึงเวลานี้เข้าอีกก็เป็น ๓ เดือนพอดี
_______________________________________
ศึกษาธรรมะขั้นสูงกับท่านอาจารย์หล้า
จากปฏิปทาพระธุดงค์กรรมฐานฯ
ท่านอาจารย์หล้า (องค์หลวงปู่หล้า ขนฺติธโร วัดป่าขันติยานุสรณ์ บ้านนาเก็น ต.หนองแว อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี) ภูมิลำเนาเดิมอยู่เวียงจันทน์ นับแต่อุปสมบทแล้ว ท่านเลยอยู่ฝั่งไทยตลอดมาจนวันมรณภาพ เพราะทางฝั่งไทยมีหมู่คณะและครูอาจารย์ทางฝ่ายปฏิบัติมาก การบำเพ็ญสมณธรรม ท่านมีนิสัยเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ชอบอยู่และไปคนเดียว อย่างมากก็มีตาปะขาวไปด้วยเพียงคนเดียว ท่านมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลกๆ ได้ดี คือ พวกกายทิพย์ มีเทวดา เป็นต้น พวกนี้เคารพรักท่านมาก ท่านว่าท่านพักอยู่ที่ไหน มักมีพวกนี้ไปอารักขาอยู่เสมอ
ท่านมีนิสัยมักน้อยสันโดษมากตลอดมา และไม่ชอบออกสังคมคือหมู่มาก ชอบอยู่แต่ป่าแต่เขากับพวกชาวไร่ ชาวป่า ชาวเขา เป็นปรกติตลอดมา ท่านมีคุณธรรมสูง น่าเคารพบูชามาก คุณธรรมทางสมาธิปัญญา รู้สึกว่าท่านคล่องแคล่วมาก แต่ผู้คนพระเณรส่วนมากไม่ค่อยทราบเรื่องนี้มากนัก เพราะท่านไม่ค่อยแสดงตัว มีเพียงผู้ที่เคยใกล้ชิดท่านที่ทราบกันได้ดี
ราว พ.ศ. ๒๔๙๓ ที่ผู้เขียน (องค์หลวงตา) ไปอาศัยอยู่กับท่าน ได้มีโอกาสศึกษาเรียนถามธรรมท่าน รู้สึกว่าซาบซึ้งใจมาก ท่านอธิบายปัจจยาการ คือ อวิชชาได้ละเอียดลออมาก ยากจะมีผู้อธิบายได้อย่างท่าน เพราะปัจจยาการเป็นธรรมละเอียดสุขุมมาก ต้องเป็นผู้ผ่านการปฏิบัติภาคจิตตภาวนามาอย่างช่ำชอง จึงจะสามารถอธิบายได้โดยละเอียดถูกต้อง
เนื่องจากปัจจยาการ หรืออวิชชาเป็นกิเลสประเภทละเอียดมากต้องเป็นวิสัยของปัญญาวิปัสสนาขั้นละเอียดเท่าๆ กัน จึงจะสามารถค้นพบ และถอดถอนตัวปัจจยาการ คือ อวิชชาจริงได้ และอธิบายได้อย่างถูกต้อง ท่านอาจารย์องค์นี้เป็นผู้หนึ่งที่อธิบายอวิชชา ปัจจยาการได้โดยละเอียดสุขุมเกินความสามารถของผู้เขียนจะนำมาอธิบายในที่นี้ได้ จึงขอผ่านไปด้วยความเสียดาย
ท่านอาจารย์องค์นี้ท่านเริ่มฉันหนเดียว และเที่ยวกรรมฐานอยู่ตามป่าตามเขากับท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์เสาร์มาแต่เริ่มอุปสมบทจนถึงวันมรณภาพ ไม่เคยลดละข้อวัตรปฏิบัติและความเพียรทางใจตลอดมา นับว่าเป็นอาจารย์ที่เหนียวแน่นทางธรรมปฏิบัติที่หายากองค์หนึ่งในสมัยปัจจุบัน ควรเป็นคติตัวอย่างแก่ท่านผู้สนใจปฏิบัติทั้งหลายได้เป็นอย่างดี
________________________________________
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น