เล่าเรื่องโดย ชยสาโร ภิกขุ
ที่ภาคอีสานในคืนวันออกพรรษาหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา บรรดาพ่อออกแม่ออก(โยมผู้ชายโยมผู้หญิง) ผู้มีศรัทธาจะพากันไปถือศีลและร่วมกิจกรรมที่วัดตลอดคืน ทั้งนั่งสมาธิเดินจงกรมและฟังเทศน์ที่พระท่านสลับกันขึ้นธรรมาสน์จนถึงเช้า
แม่ออกคนหนึ่งกลับถึงบ้านหลังจากไปเนสัชชิก(การปฏิบัติโดยไม่นอนทั้งคืน) ที่วัดมาตลอดคืนด้วยใบหน้าอิ่มบุญ เมื่อพบหน้าหลานชายๆ ทักยายว่า
หลาน "เป็นจังได้ล่ะยาย ไปวัดมาเมิ๊ดคืน เมื่อยบ่"
ยาย "บ๋เมื่อดอก... มันอิ๋มใจ๋ ฟังพระเพิ่นเทศน์เมิ๊ดคืนเล้ย เพิ่นเทศน์ได้จั๊บใจ๋ อีหลี"
หลาน "เพิ่นเทศน์ว่าจังได๋"
ยาย "เพิ่นเทศน์ดีคัก" (เทศน์ดีเหลือเกิน)
หลาน "ดีจั๊งได๋ล่ะ"
ยาย "ฮู้ย... จำบ่ได้ด๊อก ฮู้แต่ว่าดีหลาย"
หลานรำพึง "โอ้ย! สิมีประโยชน์หยังน้อ...อดสา(อุตส่าห์) ตั้งใจไปอยู่เมิ๊ดคืน บ่ได้ประโยชน์อีหยังเล้ย"
ยาย "เจ้าบ่เข้าใจด๊อก เอาจังซี้ก็แล้วกัน..."
ว่าแล้วยายก็ส่งตะกร้าสานใบหนึ่งให้หลานชายแล้วสั่งว่า...
ยาย "บักหล้าเอ้ย เจ้าเอาตะกร้านี่ไปตักน้ำมาให้ยายแหน่"
หลาน "แม่ใหญ่... คือให้เอาตะกร้าไปตักน้ำ มันสิได้น้ำได้จังได๋"
ยายดุว่า "ยายให้ไปตักก็ไปตักมาโลด"
แม้หลานชายจะงงงวย แต่เพราะเขาเป็นหลานที่ดีและเชื่อฟังยาย เขาจึงลงทุนหิ้วตะกร้าสานใบนั้นไปตักน้ำที่คลองเพื่อให้ยายสบายใจ แล้วจึงนำตะกร้ากลับมาหายาย
ยาย "เจ้าเห็นน้ำในตะกร้าบ่นี่"
หลาน "ก็มันบ่มี ข้อยสิเห็นได้จังได๋" แล้วคิดต่อในใจว่า "ยายไปวัดหลายเลยเพี้ยนแล้วล่ะ"
ยายมิได้สนใจท่าทีหลานชาย แต่กลับสั่งให้เขาสะบัดตะกร้านั้นแรงๆ จนน้ำกระเด็นออกมา
ยาย "บัดนี้เจ้าเห็นน้ำบ่ ตะกร้านี้มันคืออุ้มน้ำกลับมาบ่ได้ จังได๋มันก็ได้น้ำมาล่ะ ตะกร้าก็คือ ใจยาย มันเว้าบ่ได้ว่าเพิ่นเทศน์ว่าจังได๋ แต่คำสอนเพิ่นก็อยู่ในหัวยายนี่ล่ะ ฟังเทศน์แล้ว ใจมันใสขึ้น มันแจ้งขึ้น คือตะกร้าที่ถึก(โดน) น้ำ จังได๊จังได๋ มันก็สะอาดขึ้นล่ะ บัดนี้เข้าใจขึ้นบ้อ บักหล่าเอ๊ย"
(จาก หนังสือเรื่องท่านเล่า โดย ศรีอรา อิสสระ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น