วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ : ประวัติ ตอน 5 พระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ฟัง-2




          ธุดงควัตรข้อรุกขมูลคือร่มไม้  ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน  ท่านพระอาจารย์มั่นแล่าว่า  ขณะที่จิตของท่านจะผ่านโลกามิสไปได้โดยสิ้นเชิง  คืนวันนั้นท่านก็อาศัยอยู่รุกขมูล  คือร่มไม้  ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวต้นเดียว  ตอนสำคัญนี้จะรอลงข้างหน้าตามลำดับของการเที่ยวจาริกและการบำเพ็ญของท่าน  จึงขออภัยท่านผู้อ่านทั้งหลายโปรดรอ  อ่านข้างหน้าวาระนี้จำจะเขียนไปตามลำดับความจำเป็นก่อน  เพื่อเนื้อเรื่องจะไม่ขาดความตามลำดับ  การอยู่ใต้ร่มไม้ซึ่งปราศจากที่มุงบังและเครื่งป้องกันตัว  ย่อมทำให้มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ  จิตที่ตั้งความรู้สึกไว้กับตัว  ย่อมเป็นทางถอดถอนกิเลสไปทุกโอกาส  เพราะกาย เวทนา จิต ธรรม หรือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค  ที่เรียกว่า  "สติปัฏฐาน และสัจธรรม"  อันเป็นจุดที่ระลึกรู้จองจิตแต่ละจุดนั้น  ย่อมเป็นเกราะเครื่องป้องกันตัว  เพื่อทำลายกิเลสแต่ละประเภทได้อย่างมั่นเหมาะ  ซึ่งไม่มีที่อื่นใดจะยิ่งไปกว่า

          ฉะนั้น จิตที่ระลึกรู้อยู่กับสติปัฏฐานหรืออริยสัจ  เพราะความเปลี่ยวและความกลัวเป็นเหตุ  จึงเป็นจิตที่มีหลักยึดเพื่อการรบชิงชัยเอาตัวรอดโดยสุคโต  ตามทาอริยธรรมไม่มีผิดพลาด  ผู้ประสงค์อยากทราบเรื่องของตัวอย่างละเอียดทั่วถึงโดยทางที่ถูกและปลอดภัย  จึงควรแสวงหาธรรมและสถานที่ที่เหมาะสม  เป็นเครื่องพยุงทางความเพียร  จะช่วยให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นกว่าธรรมดาที่ควรจะเป็นอยู่มาก  ดังนั้น  ธุดงควัตรข้ออยู่รุกขมูล  จึงเป็นธรรมเครื่องทำลายกิเลสได้เป็นอย่างดีเสมอมาที่ควรสนใจเป็นพิเศษอีกข้อหนึ่ง

          ธุดงควัตรที่เกี่ยวกับการเยี่ยมป่าช้า  เป็นธุดงค์เครื่องปลุกเตือนพระและหมู่ชนมิให้ประมาทในเวลามีชีวิตอยู่  โดยเข้าใจว่าตัวจะไม่ตาย  ความจริงก็คือคนที่เริ่มตายเล็กตายน้อยไปอยู่ทุกเวลานั่นเอง  เพราะคนที่ตายจนถึงกับย้ายบ้านใหม่ไปปลูกสร้างกัน  อยู่ที่ป่าช้าจนดาษดื่นแทบจะหาที่เผาและที่ฝังกันไม่ได้  ก็ล้วนแต่คนที่เคยตายเล็กตายน้อยมาแล้ว  เช่น  พวกเราผู้ยังมีชีวิตอยู่นี่เอง  จะเป็นคนแปลกหน้ามาจากที่ไหนพอจะเห็นว่าเราเป็นคนที่แปลกกว่าเขา  แล้วประมาทว่าตนจะไม่ตาย  ที่ท่านสอนให้เยี่ยมญาติพี่น้องผู้เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกัน  ก็เพื่อเตือนไม่ให้หลงลืมญาติพี่น้องอันดั้งเดิมในป่าช้านั่นเอง  เพื่อจะได้ท่องบ่นไว้ในใจว่า  เรามีความแก่ เจ็บ ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน  ไม่มีใครจะกล้าอุตริเย่อหยิ่งตัวว่า  จะไม่เกิด แก่ เจ็บ ตายได้  เมื่อสายทางแห่งวัฏฏะที่ตนยังท่องเที่ยวเรียนสูตรอยู่ยังไม่จบ

          พระซึ่งเป็นเพศที่เตรียมพร้อมแล้วเพื่อความหลุดพ้น  จึงควรศึกษามูลเหตุแห่งวัฏทุกข์ที่มีอยู่กับตน  คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย  ทั้งภายนอกคือการเยี่ยมป่าช้าอันเป็นที่เผาศพ  ทั้งภายในคือตัวเองอันเป็นป่าช้าร้อยแปดพันเก้าแห่งศพที่นำมาฝัง  หรือบรรจุอยู่ในตัวตลอดเวลาทั้งเก่าและใหม่  จนนับไม่ครบและแทบเรียนไม่จบ  ให้จบสิ้นลงด้วยการพิจารณาธรรมสังเวชโดยทางปัจจเวกขณะ คือ องค์สติปัญญาเครื่องทดสอบแยกแยะหามูลความจริงไม่นิ่งนอนใจ  ทั้งนักบวชและฆราวาสที่ชอบเข้าเยี่ยมทั้งป่าช้านอกและป่าช้าในตัวเอง  โดยการพิจารณาความตาย เป็นต้น  เป็นอารมณ์ย่อมมีทางถอดถอนความเผยอเย่อหยิ่งในวัยในชีวิตและในวิทยฐานะต่างๆ ออกได้อย่างน่าชม  ไม่ชอบผยองพองตัวในแง่ต่างๆ ตามนิสัยมนุษย์ซึ่งมักมีความพิสดารประจำใจอยู่เป็นนิตย์  ทั้งจะเห็นโทษแห่งความบกพร่องของตัวและพยายามแก้ไขไปเป็นลำดับมากกว่าจะไปเห็นโทษคนอื่นแล้วนำมานินทาเขา  ซึ่งเป็นการสั่งสมความไม่ดีใส่ตน  ประจำนิสัยมนุษย์ที่ชอบเป็นกันอยู่ทั่วไป  เหมือนโรคระบาดเรื้อรังชนิดแก้ไม่หาย  หรือไม่สนใจจะแก้นอกจากจะเพิ่มเชื้อให้มากขึ้นเท่านั้น

          ป่าช้าเป็นสถานที่อำนวยความรู้ความฉลาดให้แก่ผู้สนใจพิจารณาอย่างกว้างขวาง  เพราะคำว่าป่าช้าเป็นจุดใหญ่ที่สุดของโลก  ทุกคนทุกเพศทุกวัยและทุกชาติชั้นวรรณะจำต้องประสบด้วยกัน  จะกระโดดข้ามไปไม่ได้  เพราะไม่ใช่คลองเล็กๆ พอจะก้าวข้ามไปอย่างง่ายดายโดยมิได้พิจารณาจนรู้รอบขอบชิดก่อน  ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ท่านข้ามไป  แม้เช่นนั้นก็ปรากฏว่าท่านต้องเรียนวิชาจากสถาบันใหญ่ คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย จนเชี่ยวชาญทุกๆ แขนงก่อน  แล้วจึงโดดข้ามไปอย่างสบายหายห่วง  ไม่ต้องติดบ่วงแห่งมารอยู่เหมือนพวกที่ลืมตนลืมตาย  ไม่สนใจพิจารณาเรื่องของตัวคือ  มรณธรรมอันขวางหน้าอยู่  ซึ่งจะต้องโดนในไม่ช้านี้

          การเยี่ยมป่าช้าเพื่อพิจารณาความตาย  จึงเป็นทางผ่อนคลายหายกลัว  ทั้งเรื่องของตัวและเรื่องของคนอื่นได้อย่างไม่มีประมาณ  จนเกิดความอาจหาญต่อความตายทั้งๆ ที่โลกกลัวกันทั่วดินแดน  ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้  แต่ก็ได้เป็นไปในวงของนักปฏิบัติธรรมมาแล้ว  มีพระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นตัวอย่างอันยอดเยี่ยม  เสร็จแล้วจึงประทานพระโอวาทเกี่ยวกับการพิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไว้ทุกแง่ทุกมุม  เพื่อหมู่ชนผู้มีความรับผิดชอบในตนและผู้เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาหาทางแก้ไข  บรรเทาความมัวเมาเขลาปัญญาของตนขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  ซึ่งเป็นเวลาที่พอดิบพอดี  ยังไม่สายเกินไป  เมื่อสิ้นลมหายใจจนไปถึงสถาบันใหญ่แล้ว  ต้องนับว่าหมดหนทางแก้ไข  มีอยู่เพียงอย่างเดียวคือ  ถ้าไม่เผาก็ต้องฝังเท่านั้น  จะพาไปรักษาศีลภาวนาทำบุญสุนทานอย่างแต่ก่อนนั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว

          ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเห็นคุณของการเยี่ยมป่าช้า  ว่าเป็นสถานที่ที่ให้สติปัญญารอบรู้กับเรื่องของตนตลอดมา  ท่านจึงสนใจเยี่ยมป่าช้านอกและป่าช้าในอยู่เสมอ  แม้พระบางองค์ที่เป็นลูกศิษย์ท่านก็ยังพยายามตะเกียกตะกายปฏิบัติตามท่านทั้งๆ  ที่ตนเป็ฯพระที่กลัวผีมาก  ซึ่งเราไม่ค่อยได้ยินกันในคำว่าพระกลัวผีและธรรมกลัวโลก  แต่พระองค์นั้นได้เป็นพระที่กลัวผีเสียแล้ว

          ท่านเล่าให้ฟังว่า  พระองค์หนึ่งเที่ยวธุดงค์ไปพักอยู่ในป่าใกล้กับป่าช้า  แต่เจ้าตัวไม่รู้ว่าถูกโยมพาไปพักริมป่าช้า  เพราะไปถึงหมู่บ้านนั้นตอนเย็นๆ และถามถึงป่าที่ควรบำเพ็ญเพียร  โยมก็ชี้บอกตรงป่านั้นว่าเป็นที่เหมาะ  แต่มิได้บอกว่าเป็นป่าช้าแล้วพาท่านไปพักที่นั้น  พอพักได้เพียงคืนเดียว  วันต่อมาก็เห็นเขาหาผีตายผ่านมาที่นั้นเลยไปเผาที่ป่าช้า  ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักท่านประมาณ ๑ เส้น  ท่านมองตามไปก็เห็นที่เขาเผาอยู่อย่างชัดเจน  องค์ท่านเองพอมองเห็นหีบศพที่เขาหามผ่านมาเท่านั้น  ก็ชักเริ่มกลัว  ใจไม่ดี  และยังนึกว่าเขาจะหามผ่านไปเผาที่อื่น  แม้เช่นนั้นก็นึกเป็นทุกข์ไว้เผื่อตอนกลางคืนอยู่อีก  กลัวว่าภาพนั้นจะมาหลอกหลอนทำให้นอนไม่ได้ตอนกลางคืน

          ความจริงที่ท่านพักอยู่กลับเป็นริมป่าช้า  และยังได้เห็นเขาเผาผีอยู่ต่อหน้า  ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลเลย  ท่านยิ่งคิดไม่สบายใจและเป็นทุกข์ใหญ่  คือทั้งจะคิดเป็นทุกข์ในขณะนั้น  และคิดเป็นทุกข์เผื่อตอนกลางคืนอีก  ใจเริ่มกระวนกระวายเอาการอยู่  นับแต่ขณะที่ได้เห็นศพทีแรก  เมื่อตกกลางคืนยิ่งกลัวมาก  และหายใจแทบไม่ออก  ปรากฏว่าตีบตันไปหมด  น่าสงสารที่พระกลัวผีถึงขนาดนี้ก็มี  จึงได้เขียนลงเพื่อท่านผู้อ่านที่เป็นนักกลัวผี  จะได้พิจารณาดูความบึกบึนที่ท่านพยายามต่อสู้กับผีในคราวนั้น  จนเป็นประวัติการณ์อันเกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียมีอยู่ในเนื้อเรื่องอันเดียวกันนี้

          พอเขากลับกันหมดแล้ว  ท่านเริ่มเกิดเรื่องยุ่งกับผีแต่ขณะนั้นมา  จนถึงตอนเย็นและกลางคืน  จิตใจไม่เป็นอันเจริญสมาธิภาวนาเอาเลย  หลับตาลงไปทีไร  ปรากฏว่ามีแต่ผีเข้ามาเยี่ยมถามข่าวถามคราวความทุกข์สุกดิบต่างๆ  อันสืบสาวยาวเหยียดไม่มีประมาณ  และปรากฏว่าพากันมาเป็นพวกๆ ก็ยิ่งทำให้ท่านกลัวมาก  แทบไม่มีสติยับยั้งตั้งตัวได้เลย  เรื่องเริ่มแต่ขณะมองเห็นศพที่เขาหามผ่านหน้าท่านไปจนถึงกลางคืน  ไม่มีเวลาเบาบางลงบ้างพอให้หายใจได้  นับว่าท่านเป็นทุกข์ถึงขนาดที่จะทนอดกลั้นได้นับแต่วันบวชมาก็เพิ่งมีครั้งเดียวเท่านั้นที่ต่อสู้กับผีในมโนภาพอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง

          ท่านจึงพอมีสติระลึกได้บ้างว่า  ที่เราคิดกลัวผีก็ดี  ที่เข้าใจว่าผีพากันมาเยี่ยมเราเป็นพวกๆ ก็ดี  อาจไม่เป็นความจริงก็เป็นได้  และอาจเป็นเรื่องเราวาดมโนภาพศพขึ้นมาหลอกตนเองให้กลัวเปล่าๆ มากกว่า  อย่ากระนั้นเลย  เพราะถึงอย่างไรเราก็เป็นพระธุดงคกรรมฐานทั้งองค์  ที่โลกให้นามว่าเป็นพระที่เก่งกาจอาจหาญเอาจริงเอาจังและเป็นพระประเภทที่ไม่กลัวอะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นผีที่ตายแล้ว  หรือเป็นผีเปรต  ผีหลวง  ผีทะเลอะไรๆ มากหลอกก็ไม่กลัว  แต่เราซึ่งเป็นพระธุดงค์ที่โลกเคยยกยอสรรเสริญอย่างยิ่งมาแล้วว่าไม่กลัวอะไร  แล้วทำไมจึงมาเป็นพระที่อาภัพอับเฉาวาสนา  บวชมากลัวผี กลัวเปรต แลัวลมกลัวแล้งอย่างไม่มีเหตุมีผลเอาได้  เป็นที่น่าอับอายขายหน้าหมู่คณะซึ่งเป็นพระธุดงคกรรมฐานด้วยกัน  เสียเรี่ยวแรงและกำลังใจของโลกที่อุตส่าห์ยกยอให้ว่าเป็นพระดี  พระไม่กลัวผีกลัวเปรต  ครั้งแล้วก็เป็นพระอย่างนี้ไปได้

           เมื่อท่านพรรณนาคุณของพระธุดงค์และตำหนิตัวเองว่าเป็นพระเหลวไหลไม่เป็ฯท่าแล้ว  ก็บอกกับตัวเองว่า  นับแต่ขณะนี้เป็นต้นไป  ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลากลางคืนเรามีความกลัวในสถานที่ใด  จะต้องไปในสถานที่นั้นให้จงได้  ก็บัดนี้ใจเรากำลังกลัวผีที่กำลังถูกมา  ซึ่งมองเห็นกองไฟอยู่ในป่าช้านั้น  เราต้องไปที่นั้นให้ได้ในขณะนี้  ว่าแล้วก็เตรียมตัวครองผ้าออกจากที่พัก  เดินตรงไปที่ศพซึ่งกำลังถูกเผาและมองเห็นอยู่อย่างชัดเจนทันที  พอออกเดินไปได้ไม่กี่ก้าว ขาชักแข็ง ก้าวไม่ค่อยออกเสียแล้ว ใจทั้งเต้น ทั้งสั่น ตัวร้อนเหมือนถูกแดดเผาเวลากลางวัน  เหงื่อแตกโชกไปทั้งตัว  เห็นท่าไม่ได้การจึงรีบเปลี่ยนวิธีใหม่  คือเดินแบบเท้าต่อเท้าติดๆ กันไป  ไม่ยอมให้หยุดอยู่กับที่  ตอนนี้ท่านต้องบังคับใจอย่างเต็มที่  ทั้งกลัวทั้งสั่นแทบไม่เป็นตัวของตัว  เหมือนอะไรๆ มันจะสุดๆ สิ้นๆ ไปเสียแล้วเวลานั้น  แต่ท่านไม่ถอยความพยายามที่จะก้าวไปให้ถึงแบบเอาเป็นเอาตายเข้าว่ากัน  สุดท้ายก็ไปจนถึง

          พอไปถึงศพแล้ว  แทนที่จะสบายตามความรู้สึกในสิ่งทั่วๆ ไปว่า "สมประสงค์แล้ว"   แต่เวลานั้นปรากฏว่าตัวเองจะเป็นลมและลืมหายใจไปจนแล้วจนรอด  จึงข่มใจพยายามดูศพที่กำลังถูกเผาทั้งๆ ที่กำลังกลัวแทบจะเป็นบ้าเป็นหลังไปอยู่แล้ว  พอมองเห็นกะโหลกศีรษะผีที่ถูกเผาจนไหม้และขาวหมดแล้ว  ใจก็ยิ่งกำเริบกลัวใหญ่แทบจะพาเหาะลอยไปในขณะนั้น  จึงพยายามสะกดใจไว้  แล้วพานั่งสมาธิลงตรงหน้าศพห่างจากเปลวไฟเผาศพพอประมาณ  โดยหันหน้ามาทางศพเพื่อทำศพให้เป็นเป้าหมายของการพิจารณา  บังคับใจที่กำลังกลัวๆ ให้บริกรรมว่า  เราก็จะตายเช่นเดียวกับเขาคนนี้ไม่ต้องกลัว  เราก็จะตาย  ไม่ต้องกลัว  เราก็จะตาย  กลัวไปทำไม  ไม่ต้องกลัว

          ขณะที่นั่งบังคับใจให้บริกรรมภาวนาความตายอยู่ด้วยทั้งความกระวนกระวายเพราะกลัวผีนั้น  ได้ปรากฏเสียงแปลกประหลาดขึ้นข้างหลัง  เสียงบาทย่างเท้าดังเข้ามาเป็นบทเป็นบาทเหมือนมีอะไรเดินมาหาท่าน  ซึ่งกำลังนั่งสมาธิภาวนาอยู่และเดินๆ หยุดๆ เป็นลักษณะจดๆ จ้องๆ คล้ายจะมาทำอะไรท่าน  ซึ่งเป็นความรู้สึกที่คิดขึ้น  ในขณะนั้นก็ยิ่งทำให้ใจกำเริบใหญ่ถึงขนาดจะวิ่งหนีและร้องออกมาดังๆ ว่า ผีมาแล้วช่วยด้วย  ถ้าเทียบทางวัตถุก็ยังอีเส้นผมเดียวที่ท่านจะออกวิ่ง  ท่านอดใจรอฟังไปอีก ก็ได้ยินเสียงค่อยๆ เดินมาข้างๆ ห่างท่านประมาณ ๓ วา  แล้วก็ได้ยินเสียงเคี้ยวอะไรกร้อบแกร้บ  ยิ่งทำให้ท่านคิดไปมากว่า  มันมาเคี้ยวกินอะไรที่นี่  เสร็จแล้วก็จะมาเคี้ยวเอาศีรษะเราเข้าอีก  ก็เป็นอันว่าเราต้องจบเรื่องกับผีตัวร้ายกาจไม่ไว้หน้าใครอยู่ที่นี้แน่ๆ

          พอคิดขึ้นมาถึงตอนนี้  ท่านอดรนทนไม่ไหว จึงคิดจะลืมตาขึ้นดูมัน  เผื่อเห็นทำไม่ได้การจะได้เตรียมวิ่งหนีเพื่อเอาตัวรอดดีกว่าจะมายอมจอดจมให้ผีตัวไม่มีความดีอะไรเลยกินเปล่า  เมื่อชีวิตรอดไปได้เรายังมีหวังได้บำเพ็ญเพียรต่อไป  ยังจะมีกำไรกว่าการเอาชีวิตของพระทั้งองค์มาให้ผีกินเปล่า  พอปลงตกแล้วก็รีบลืมตาขึ้นมาดูผีตัวกำลังเคี้ยวอะไรกร้อบๆ อยู่ขณะนั้น  พร้อมกับเตรียมตัวจะวิ่งเพื่อตัวรอดหวังเอาชีวิตไปจอดข้างหน้า  พอลืมตาขึ้นมาดูจริงๆ สิ่งที่เข้าใจว่าผีตัวร้ายกาจ  เลยกลายเป็นสุนัขบ้านออกมาเที่ยวเก็บกินเศษอาหารที่เขานำมาเพื่อเซ่นผู้ตายตามประเพณี  ซึ่งไม่สนใจกับใครและมาจากที่ไหน  คงเที่ยวหากินไปตามภาษาสัตว์ซึ่งเป็นผู้อาภัพทางอาหารประจำชาติตามกรรมนิยม

          ส่วนพระธุดงคกรรมฐาน  พอลืมตาขึ้นมาเห็นสุนัขอย่างเต็มตาแล้ว  เลยทั้งหัวเราะตัวเองและคิดพูดทางใจกับสุนัขตัวไม่รู้ภาษาและไม่สนใจกับใครนั้นว่า  แหม! สุนัขตัวนี้มีอำนาจวาสนามากจริง  ทำเอาเราแทบตัวปลิวไปได้  และเป็นประวัติการณ์อันสำคัญต่อไปไม่มีสิ้นสุด  ทั้งเกิดความสลดสังเวชตนอย่างยิ่งที่ไม่เป็นท่าเอาเลย  ทั้งๆ ที่ได้พูดกับตัวเองแล้วว่า  จะเป็นนักสู้แบบเอาชีวิตเข้าประกัน  แต่พอเข้ามาเยี่ยมศพในป่าช้าและได้ยินเสียงสุนัขมาเที่ยวหากินเท่านี้ก็แทบตั้งตัวไม่ติด  และจะเป็นกรรมฐานบ้าวิ่งเตลิดเปิดเปิงไปจนได้  ยังดีที่มีพระธรรมท่านเมตตาไว้ให้รออยู่ประมาณผมเส้นหนึ่ง  พอร้เหตุผลต้นปลายบ้าง  ไม่เช่นนั้นคงเป็นบ้าไปเลย  โอ้โฮ! เรานี่โง่และหยาบถึงขนาดนี้เชียวหรือ  ควรจะครองผ้าเหลืองอันเป็นเครื่องหมายของศิษย์ตถาคตผู้องอาจกล้าหาญไม่มีใครเสมอเหมือนอีกต่อไปละหรือ  และควรจะไปบิณฑบาตจากชาวบ้านมากินให้สิ้นเปลืองของเขาเปล่าๆ ด้วยความไม่เป็นท่าของเราอยู่อีกหรือ

          เราจะปฏิบัติต่อตัวเองที่แสนต่ำทรามอย่างไรบ้าง  จึงจะสาสมกับความเลวทรามไม่เป็นท่าของตนซึ่งแสดงอยู่ขณะนี้  ลูกศิษย์พระตถคตผู้โง่เขลาและต่ำทราม  ขนาดเรานี้จะยังมีอยู่ให้หนักพระศาสนาต่อไปอีกไหมหนอ  ขนาดมีเราเพียงคนเดียวเท่านี้ก็นับว่าจะทำพระศาสนาให้ซวยพอแล้ว  ถ้าขืนมีอีกเช่นเรานี้พระศาสนาคงแย่แน่ๆ  ความกลัวผีซึ่งเป็นเรื่องกดถ่วงให้เราเป็นคนต่ำทรามไม่เป็นท่านั้น  เราจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร  รีบตัดสินใจเดี๋ยวนี้  ถ้ารอไปนานก็ขอให้เราตายเสียดีกว่า  อย่างมายอมตัวให้ความกลัวผีเหยียบย่ำบนหัวใจอีกต่อไปเลย  อายโลกเขาแทบไม่มีแผ่นดินจะให้คนหนักพระศาสนาอยู่ต่อไปอีก  พอพร่ำสอนตนจบลง  ท่านทำความเข้าใจกับตัวเองว่าถ้าไม่หายกลัวผีเมื่อไร  จะไม่ยอมหนีจากที่นี้อย่างเด็ดขาด  ตายก็ยอมตาย  ไม่ควรอยู่ให้หนักโลกและพระศาสนาต่อไป  คนอื่นยังจะเอาอย่างไม่ดีไปใช้อีกด้วย  และจะกลายเป็นคนไม่เป็นท่าไปหลายคน  และหนักพระศาสนายิ่งขึ้นไปอีกมากมาย

          นับแต่ขณะนั้นมา  ท่านตั้งใจปฏิบัติต่อความกลัวอย่างกวดขัน  โดยเข้าไปอยู่ป่าช้าทั้งกลางวันกลางคืน  ยืดเอาคนที่ตายไปแล้วมาเทียบกับตนซึ่งยังเป็นอยู่ว่าเป็นส่วนผสมของธาตุเช่นเดียวกัน  เวลาใจยังครองตัวอยู่ก็มีทางเป็นสัตว์  เป็นบุคคลสืบต่อไป  เมื่อปราศจากใจครองเพียงอย่างเดียว  ธาตุทั้งมวลที่ผสมกันอยู่ก็สลายลงไป  ที่เรียกว่าคนตายและยึดเอาความสำคัญที่ไปหมายสุนัขทั้งตัวที่มาเที่ยวหากินในป่าช้าว่าเป็นผีมาสอนตัวเองว่า  เป็นความสำคัญที่เหลวไหล  จนบอกใครไม่ได้  ไม่ควรเชื่อถือว่าเป็นสาระต่อไปกับคำว่าผีมาหลอก  ความจริงแล้วคือ ใจหลอกตัวเองทั้งหมด  การกลัวก็กลัวเพราะใจหลอกหลอนตัวเอง  ทุกข์ก็เพราะความเชื่อ  ความหลอกลวงของใจจนทำให้เป็ฯทุกข์แบบจะเป็นจะตายและแทบจะเสียคน  ไปทั้งคนในขณะนั้น  ผีจริงไม่ปรากฏว่ามาหลอกหลอน

          เราเคยหลงเชื่อความคิดความหมายมั่นปั้นเรื่องหลอกลวงต่างๆ  ของจิตมานานแต่ยังไม่ถึงขั้นจะพาตัวให้ล่มจมเหมือนครั้งนี้  ธรรมท่านสอนไว้ว่าสัญญาเป็นเจ้ามายานั้น  แต่ก่อนเรายังไม่ทราบความหมายชัดเจน  เพิ่งมาทราบเอาตอนจะตายทั้งเป็นและจะเหม็นทั้งที่ยังไม่เน่า  ขณะกลัวผีที่ถูกเจ้าสัญญาหลอกและต้มตุ๋นนี้เอง  ต่อไปนี้สัญญาจะมาหลอกเราเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แน่นอน  เราจะต้องอยู่ป่าช้านี้จนกว่าเจ้าสัญญาที่เคยหลอกตายไปเสียก่อน  จนไม่มีอะไรมาหลอกให้กลัวผีต่อไป  ถึงจะหนีไปที่อื่นเวลานี้เป็นเวลาที่เราจะทรมานสัญญาตัวปลิ้นปล้อนหลอกลวงเก่งๆ  นี้ให้ตายไปจนได้เผาศพมันเหมือนเผาศพผีตายดังที่เราเห็นเมื่อวานเสียก่อน  เมื่อชีวิตยังอยู่  อยากไปที่ไหนเราถึงจะไปทีหลัง

          ตอนนี้ถึงขั้นเด็ดขาดกับสัญญา  ท่านก็เด็ดจริงๆ และทรมานถึงขนาดที่สัญญาหมายขึ้นว่า  ผีมีอยู่ ณ ที่ใด  และเกิดขึ้นขณะใดท่านต้องไปที่นั้น  เพื่อดูและรู้เท่ามันทันทีจนสัญญาเผยอตัวขึ้นไม่ได้ในคืนวันนั้น  เพราะท่านไม่ยอมหลับนอนเอาเลย  ตั้งหน้าต่อสู้กับผีภายนอก คือสุนัขซึ่งเกือบเสียตัวไปกับมัน  พอได้เงื่อนและได้สติ  ท่านก็ย้อนกลับมาต่อสู้กับผีภายในให้หมอบราบไปตามๆ กัน  นับแต่ขณะที่รู้ตัวแล้ว  ความกลัวผีไม่เคยเกิดขึ้นรบกวนท่านได้อีกตลอดทั้งคืน  แม้คืนต่อมา  ท่านก็ตั้งท่ารับความกลัวนั้นอย่างแข็งแกร่งต่อไป  จนกลายเป็นพระองค์กล้าหาญต่อหลายๆ สิ่งขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ  แต่เรื่องก็เป็นความจริงจากท่านมาแล้ว  จนเป็นที่เรื่องฝังใจและตั้งตัวได้เพราะผีเป็นเหตุ  แต่บัดนั้นเป็นต้นมา

          ความกลัวผีจึงเป็นธรรมเทศนากัณฑ์เอกโปรดท่าน  ให้กลายเป็นพระอันแท้จริงขึ้นมาองค์หนึ่ง  ถึงได้นำมาแทรกลงในประวัติของท่านพระอาจารย์มั่น  เผื่อท่านผู้อ่านได้นำไปเป็นคติต่อไป  คงไม่ไร้สาระไปเสียทีเดียว  เช่นกับประวัติของท่านผ้เป็นอาจารย์  ซึ่งเป็นประวัติที่ให้คติแก่โลกอยู่เวลานี้  ฉะนั้น  การเยี่ยมป่าช้าจึงเป็นความสำคัญสำหรับธุดงควัตรประจำสมัยตลอดมา หนึ่ง

          การถือไตรจีวรคือผ้า ๓ ผืนเป็นวัตร  ท่านพระอาจารย์มั่นถือปฏิบัติมาแต่เริ่มอุปสมบทไม่ลดละ  จนถึงวัยชราจึงลดหย่อนผ่อนตามธาตุขันธ์ที่ต้องการความบำรุงมากขึ้นทุกระยะ  ที่ท่านปฏิบัติเช่นนั้นโดยเห็นว่า  พระธุดงค์กรรมฐานครั้งนั้นไม่อยู่ประจำที่นัก  นอกจากในพรรษาเท่านั้น  ต้องเที่ยวไปในป่านั้น  ในภูเขาลูกนี้อยู่เสมอ  การไปก็ต้องเดินด้วยเท้าเปล่าไม่มีรถราเหมือนสมัยนี้  มีบริขารมากน้อยต้องสะพายไปเอง  ช่วยตัวเองทั้งนั้น  ของใครของเราช่วยกันไม่ได้  เพราะต่างคนต่างมีพอกับกำลังของตัว  จะมีมากกว่านั้นก็เอาไปไม่ไหว  ทั้งเป็นความไม่สะดวก  พะรุงพะรังอีกด้วย  จึงมีเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ นานไปก็กลายเป็นความเคยชินต่อนิสัย  แม้ผู้มีมาถวายก็ให้ทานผู้อื่นไป  ไม่สั่งสมให้เป็นการกังวล

          เพราะสมณะเรามีความสวยงามอยู่กับการปฏิบัติและไม่สั่งสม  เวลาตายไปให้มีแต่บริขารแปด  ซึ่งเป็นของจำเป็นสำหรับพระเท่านั้น  เป็นความงามอย่างยิ่ง  เมื่อมีชีวิตอยู่ก็สง่าผ่าเผยด้วยความจนแบบพระ  เวลาตายก็เป็นสุคโต  ไม่มีอารมณ์กับสิ่งใดอันเป็นเกียรติอย่างยิ่งของพระผู้ตายด้วยความจน  มนุษย์และเทวดาสรรเสริญธุดงควัตรข้อนี้จึงเป็นเครื่องประดับสมณะให้งามตลอดอวสานข้อหนึ่ง

          ธุดงควัตรเหล่านี้  ท่านเคยปฏิบัติมาเป็นประจำไม่ลดละ  ปรากฏว่า  เป็นผู้คล่องแคล่ว  ชำนิชำนาญในทางนี้อย่างยากจะหาผู้เสมอได้ในสมัยปัจจุบัน  และได้อบรมสั่งสอนพระเณรผู้มาศึกษาอบรมด้วยธุดงควัตรเหล่านี้ คือ ท่านพาอยู่รุกขมูลร่มไม้  ในป่า  ในเขา  ในถ้ำ  เงื้อมผา  ป่าช้า  ซึ่งล้วนเป็นสถานที่เปล่าเปลี่ยวน่ากลัว  พาบิณฑบาตเป็นกิจวัตรประจำวัน  ไม่พารับอาหารที่มีผู้ตามส่งทีหลัง  ข้อนี้คณะศรัทธาเมื่ีอทราบอัธยาศัยท่านแล้ว  เขามีอาหารคาวหวานอย่างไร  ก็พากันจัดใสบาตรถวายทานไปพร้อมเสร็จ  ไม่ต้องไปส่งให้ลำบาก  พาฉันสำรวมในบาต  ไม่มีภาชนะชนิดสำหรับใส่อาหารทั้งคาวหวานรวมลงในบาตรใบเดียว  พาฉันนี้มื้อเดียวคือวันละหนมาเป็นประจำจนอวสานสุดท้าย

          พระเณรที่เป็นลูกศิษย์ตลอดฆราวาสญาติโยมนับวันแน่นหนาขึ้นเป็นลำดับ  ท่านไปพัก ณ ที่ใด  มีพระเณรพยายามติดสอยห้อยตามเป็นจำนวนมาก  บางสมัยมีพระเณรอยู่กับท่านราว ๖๐-๗๐ รูปก็มี  ที่พักอยู่แถวบริเวณใกล้เคียงก็ยังมีอีกมาก  แต่ท่านพยายามระบายพระเณรให้แยกย้ายกันไปอยู่ในที่ต่างๆ ไม่ไกลกัน  พอไปมาหาสู่เพื่อศึกษาอรรถธรรมในเวลาเกิดความสงสัย  สะดวกและเหมาะแก่การบำเพ็ญธรรมไม่หลายองค์เกินไปจนกลายเป็นความไม่สงบ  วันอุโบสถปาฏิโมกข์ต่างก็ทยอยมารวมกันทำที่สำนักท่าน  หลังจากปาฏิโมกข์แล้ว  ท่านให้โอวาทสั่งสอนและแก้ปัญหาข้อข้องใจแก่ผู้มีความสงสัยเรียนถามเป็นรายๆ ไป  จนเป็นที่พอใจแล้ว  ต่างองค์ก็กลับไปสู่ที่อยู่ของตนด้วยความอิ่มเิบในธรรมที่ได้รับจากท่าน  และต่างก็ตั้งหน้าปฏิบัติด้วยความสนใจ  ทั้งศีล  ทั้งสมาธิและปัญญาตามภูมิและกำลังของตนตลอดข้อวัตรปฏิบัติอย่างอื่นที่เป็นอุปกรณ์แก่การบำเพ็ญ

          พระเณรแม้จะอยู่กับท่านเป็นจำนวนมากในบางสมัย  แต่การปกครอง  เป็นที่เบาใจตลอดมา  เพราะม่านที่มาศึกษาต่างพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติตนเพื่อความเป็นคนดีตามโอวาทที่ท่านอบรมสั่งสอน  เรื่องราวอันเป็นข้าศึกต่อความสงบ  จึงไม่ค่อยมีในป่าที่พระเณรกับท่านพักอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก  แต่เป็นเหมือนไม่มีคนอยู่ที่นั้นเลย  ถ้าไปไม่ถูกกับเวลาที่ท่านมารวมกัน  เช่น  เวลาฉันและเวลาประชุมเท่านั้น  นอกเวลาแล้วจะไปหาท่านก็ไม่พบ  เพราะต่างองค์ต่างหลีกเร้นอยู่กับความเพียร  คือการเดินจงกรม  นั่งสมาธิภาวนาในป่า  เป็นแห่งๆ จำเพาะองค์  ทั้งกลางวันและกลางคืน

          เวลาท่านประชุมให้โอวาทแก่พระเณรตอนกลางคืน  จะได้ยินเฉพาะเสียงท่านที่ให้โอวาทเท่านั้น  เสียงจากพระเณรแม้จะอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก  ไม่ปรากฏในขณะนั้น  กระแสเสียงแลเนื้อธรรมที่ท่านให้โอวาทแก่พระเณร  รู้สึกซาบซึ้ง  จับใจ  ไพเราะ  ทำให้ผู้ฟังเคลิ้มไปตามกระแสธรรมจนลืมเนื้อลืมตัว  ลืมความเหน็ดเหนื่อย  ลืมเวล่ำเวลา  ไม่รู้สึกกับสิ่งอื่นใดในขณะนั้น  นอกจากกระแสธรรมกับใจสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่อย่างเพลินตัวไม่รู้จักอิ่มพอเท่านั้น  การประชุมครั้งหนึ่งๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง  เพราะถือเป็นการทำความเพียงทางสมาธิและปัญญาอันเป็นภาคปฏิบัติ  อยู่กับการฟังในขณะนั้นด้วย

          พระธุดงค์จึงมีความเลื่อมใสในอาจารย์และในการฟังมากเป็นพิเศษ  เนื่องจากอาจารย์ผู้คอยให้โอวาทตักเตือนและการฟังถือเป็นเส้นชีวิตจิตใจแห่งการปฏิบัติทางภายในของพระธุองค์จริงๆ  ท่านจึงมีความเคารพรักต่ออาจารย์มาก  แม้ชีวิตก็ย่อมสละแทนได้  ที่พระอานนท์มีความจงรักภักดีต่อพระพุทธองค์  ถึงกับกล้าสละวิ่งออกขัดขวางช้างตัวเมามัน  ที่เทวทัตปล่อยให้มาทำลายพระองค์ได้อย่างไม่อาลัยชีวิต  ก็เพราะความเคารพรักเป็นสำคัญ

          พระธุดงคในสมัยท่านพระอาจารย์มั่นพาดำเนิน  รู้สึกเป็นไปด้วยความเคารพเชื่อฟังโอวาทอย่างถึงใจ  พอจะทราบได้เวลาท่านหาอุบายจะให้พระที่อาศัยอยู่กับท่านได้กำลังใจเป็นกรณีพิเศษว่า  ท่านองค์นั้นควรไปอยู่ในป่านั้น  องค์นี้ควรไปอยู่ในถ้ำนั้น ดังนี้  พระองค์ที่ถูกระบุนามจะไม่ขัดขืนและไปด้วยความเคารพเต็มใจจริงๆ  โดยไม่สนใจคิดว่าจะกลัวหรือจะเป็นจะตายอะไรเลย  มีแต่ความดีใจและมั่นใจว่า  ตัวจะต้องได้กำลังใจจากสถานที่ที่ท่านแสดงอุบายให้ไปท่าเดียว  และตั้งใจบำเพ็ญเพียรทั้งกลางวันและกลางคืไม่หยุดยั้งลดละ  มีความมุ่งมั่นต่อผลที่จะพึงได้จากความเพียรในสถานที่นั้นตามคำที่ท่านแนะให้ไป  ประหนึ่งได้รับคำพยากรณ์จากท่านมาแล้วอย่างมั่นใจว่า  เมื่อพักอยู่ที่นั้นจะได้ผลอย่างนั้น  ทำนองพระอานนท์ที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธจ้าเวลาจะเสด็จปรินิพพานว่า  อีกสามเดือนเธอจะไปเป็นผู้ไม่มีกิเลสเหลืออยู่ในใจ  คือจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตบุคคลในวันทำสังคายนาแน่นอนฉะนั้น  เหล่านี้พอจะทราบได้ว่า  ความเคารพเชื่อฟังครูอาจารย์เพื่อผลที่ตนมุ่งหวัง  เป็นสิ่งสำคัญมาก  ทำให้ผู้นั้นมีความสนใจจดจ่อ  ไม่เผอเรอและเลื่อนลอยปล่อยใจปล่อยตัว  นับว่าเป็นผู้มีหลักยึดของใจด้วยดี  พูดอะไรก็พอรู้เรื่องกันบ้าง  ไม่ต้องพูดซ้ำๆ ซากๆ  จนกลายเป็นเรื่องรำคาญและหนักใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย  โดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย

          ท่านพระอาจารย์มั่นกลับไปภาคอีสานเที่ยวที่สองนี้  ทำให้ผู้คนพระเณรตื่นเต้นและกระตือรือร้นกันทั้งภาค  เพราะท่านเที่ยวจาริกและอบรมสั่งสอนในที่ต่างๆ เกือบทกจังหวัด  เริ่มผ่านไปแต่จังหวัดนครราชสีมา  ศรีสะเกษ  อุบลฯ  นครพนม  สกลนคร  อุดรธานี  หนองคาย  เลย  หล่มสัก  เพชรบูรณ์  และข้ามไปเวียงจันทน์  ท่าแขก  ประเทศลาว  กลับไปมาหลายตลบในแต่ละจังหวัด  จังหวัดที่มีป่ามีเขามาก  ท่านชอบพักอยู่นาน  เพื่อการบำเพ็ญเป็นแห่งๆ ไป  เช่น  ทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวจังหวัดสกลนคร  มีป่ามีเขามาก  ท่านพักจำพรรษาอยู่แถบนั้น  คือจำพรรษาที่หมู่บ้านโพนสว่าง  อำเภอสว่างแดนดิน  จังหวัดสกลนคร  แถบนั้นมีแต่ป่าแต่เขา  พระธุดงค์จึงมีประจำมิได้ขาดตลอดมาจนทุกวันนี้  เพราะท่านเหล่านี้ชอบป่าชอบเขามาก

          เวลาท่านเที่ยวจาริกในหน้าแล้ว  ที่พักหลับนอนโดยมากก็เป็นร้านหรือแคร่เล็กๆ ปูด้วยฟากที่ทำด้วยไม้ไผ่สับแผ่ออกเป็นแผ่นแบนๆ ยาวประมาณ ๑ วา  กว้าง ๒ หรือ ๓ ศอก  สูงประมาณ ๑ ศอก  เฉพาะแต่ละรูปอยู่ห่างกันตามแต่ป่าที่ไปอาศัยกว้างหรือแคบ  ถ้าป่ากว้างก็อยู่ห่างกันออกไปประมาณ ๒๐ วา  มีป่าคั่นมองไม่เห็นกัน  ถ้าป่าแคบและอยู่ด้วยกันหลายรูป  ก็ห่างกันราว ๑๕ วา  แต่โดยมากตั้งแต่ ๒๐ วาขึ้นไป  อยู่น้อยองค์ด้วยกันเท่าไรก็ยิ่งอยู่ห่างกันออกไปมาก  พอได้ยินเสียงไอหรือจามเท่านั้น

          ญาติโยมพากันมาทำทางสำหรับเดินจงกรมให้ท่านประจำที่พัก  องค์ละหนึ่งสาย ยาวประมาณ ๕ วาหรือ ๑๐ วา  ทุกองค์  สำหรับทำความเพียรในท่าเดิน  และเดินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน  ตามแต่สะดวก  ในเวลาต้องการ

          ถ้ามีพระขี้กลัวผี หรือกลัวเสือไปอยู่ด้วย  ท่านมักจะให้อยู่ห่างๆ หมู่เพื่อนเป็นพิเศษ  เพื่อเป็นการฝึกทรมานให้หายพยศความขี้ขลาดของตัวเสียบ้าง  จนมีความเคยชินต่อป่าดงพงลึกและสัตว์เสือหรือผีต่างๆ ที่จิตไปทำความสำคัญมั่นหมายสิ่งนั้นๆ มาหลอกตัวเอา  จะได้เหมือนท่านที่เคยฝึกมาแล้วบ้าง  ไปที่ไหนจะไม่ต้องหาบหามความกลัวไปด้วย  เพราะวิธีนี้ท่านถือว่าได้ผลดีกว่าการปล่อยตามใจ  ซึ่งไม่มีวันจะเกิดความกล้าหาญได้เลย  ถ้าไปอยู่ใหม่ๆ ต่างองค์ก็นอนกับพื้นดินไปก่อน  โดยเที่ยวหาใบไม้แห้งหรือใบไม้สดมารองนอน  ถ้ามีฟางก็เอาฟางมาปูรองที่นอน

          ท่านว่าหน้าเดือน ๑-๒  ซึ่งเป็นฤดูฟ้าใหม่ฝนเก่าประสานกันนี้รู้สึกลำบากอยู่บ้าง  เวลาฝนตกต้องเปียกและตากฝนทุกปี  บางครั้งนอนตากฝนตลอดคืนจนกว่าจะหยุด  กลดก็สู้ไม่ไหว  เพราะทั้งฝนทั้งลม  ต้องทนหนาวตัวสั่นอยู่ในกลดนั่นแล  ตาก็มองไม่เห็น  จะหนีไปไหนก็ไม่ได้  ถ้ากลางวันก็ค่อยยังชั่วบ้าง  แม้จะเปียกก็พอมองเห็นนั่นเห็นนี่  และคว้านั่นคว้านี่มาช่วยปิดบังฝนได้บ้าง  ไม่มืดมิดปิดตาเสียทีเดียว  ผ้าสังฆาฏิและไม้ขีดไฟซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น  ต้องเก็บไว้ในบาตร  เอาฝาปิดไว้ให้ดี  ส่วนจีวรเอาไว้สำหรับห่มกันหนาวขณะฝนกำลังตก  มุ้งที่กางไว้กับกลดต้องลดลงเพื่อกันฝนสาดเวลาลมพัดแรง  ไม่เช่นนั้นก็เปียกหมด  ตกตอนเช้าไม่มีผ้าห่มบิณฑบาตก็ยิ่งแย่ใหญ่

          พอตกเดือน ๓ เดือน ๔ หรือเดือน ๕  อากาศเริ่มร้อนขึ้น  ก็ขึ้นบนภูเขา  หาพักตามถ้ำหรือเงื้อมผา  พอบังแดงบังฝนได้บ้าง  ถ้าไปตอนเดือน ๑-๒  ซึ่งพื้นที่ยังไม่แห้งดีก็ทำให้เป็นไข้และชนิดจับสั่นที่เรียกกันว่ามาลาเรีย  ซึ่งใครเป็นเข้าแล้วไม่ค่อยหายเอาง่ายๆ  เสียเวลาตั้งหลายๆ เดือนกว่าจะหายขาด  หรือบางทีก็กลายเป็นไข้เรื้อรังไปเลย  คิดอยากไข้เมื่อไรก็เป็นขึ้นมา  ชนิดที่เขาเรียกว่า  "ใช้พ่อตาแม่ยายหน่าย  เกลียดชัง"   รับประทานได้  แต่ทำงานไม่ได้  คอยแต่จะไข้  ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ว่าแต่พ่อตา แม่ยาย ใครๆ ก็คงจะเบื่อหน่ายเหมือนกัน  ใช้ประเภทนี้ไม่มียารับประทาน  ในสมัยโน้นใครเป็นเข้าต้องปล่อยให้หายไปเอง  ไข้ที่น่าเข็ดหลาบประเภทนี้ผู้เขียนเองเคยถูกมา  บ่อยที่สุดเวลาเป็นขึ้นมาแล้วก็ต้องให้หายไปเองเช่นกันเพราะไม่มียารักษา  ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าเรื่องพระธุดงค์เป็นไข้ป่า  ไข้มาลาเรีย  นับแต่องค์ท่านลงไปถึงลูกศิษย์  บางองค์ถึงกับตายไปก็มี  ฟังแล้วเกิดความสงสารสังเวชท่านและคณะของท่านมากมาย  รอดตากมาแล้วถึงได้มาสั่งสอนธรรม  พอเป็นร่องรอยแก่คณะลูกศิษย์ได้ยึดถือและปฏิบัติตามท่านบ้าง

          แต่ก่อนที่ท่านพระอาจารย์มั่นและพระอาจารย์เสาร์ยังไม่ได้ผ่านไปอบรมสั่งสอนพอให้รู้เรื่องดีเรื่องชั่วเรื่องผีเรื่องคน  เรื่องบุญเรื่องบาปบ้าง  ภาคอีสานทั้งภาคเป็นภาคที่นับถือผีอย่างเป็นชีวิตจิตใจจริงๆ  จะทำนาทำสวนปลูกบ้านสร้างเรือนอะไรๆ แทบทั้งนั้น  ต้องลงเลขลงยามหาวันดี  เดือนดี  ปีดี  หาฤกษ์งามยามดี  และเซ่นสรวงวิงวอนผีให้เห็นดีเห็นชอบก่อนถึงจะลงมือทำอะไรลงไปได้  ไม่เช่นนั้นหากมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น  เช่น  ไอบ้างจามบ้างตามธรรมดาธาตุขันธ์  แม้แต่สุนัขก็ยังมีได้เป็นได้  แต่เป็นต้องหาว่าผิดผีเข้าแล้ว  ต้องไปเชิญหมอมาทำนายทายทักให้ในทันทีทันใด  หมอสมัยนั้นก็เก่งจริงเก่งกว่าหมอลงสมัยนี้เป็นไหนๆ  เป็นต้องทายเปาะออกมาว่าผิดผีตรงนั้นบ้าง  ตรงนี้บ้าง  ทันทีเมื่อไปบวงสรวงแล้วจะหาย  หวัดก็หาย  จามก็หาย  ไอก็หาย  แม้ผู้เป็นจะยังไอ  ยังจามฟิกๆ แฟกๆ อยู่ก็ตาม  ถ้าหมอสมัยนั้นว่าหายแล้วก็หายไปตามและสบายใจไปเลย  ทั้งที่ไอและจามฟิกๆ อยู่นั้นแล  ฉะนั้น  จึงกล้าเขียนว่าหมอสมัยนั้นเก่งจริง  และคนไข้สมัยนั้นเก่งจริง  หมอบอกอย่างไรก็ได้อย่างนั้น  ไม่ต้องสนใจหาหยูกหายามารักษากัน  เอาหมอกับผีมาเป็นยารักษาเป็นหายเรียบไปเลย

          แต่พอท่านอาจารย์ทั้งสองผ่านไปและอบรมสั่งสอนอย่างมีเหตุผล  เรื่องบ้าผีแลบ้าหมอทายผีก็ค่อยจางลงจนแทบไม่มีเลย  แม้หมอเสียเองก็ยอมรับพระไตรสรณคมน์  คือ  พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์   แทนการถืผีไหว้ผีต่างๆ แต่บัดนั้นเป็นต้นมาทุกวันนี้แทบจะไม่มีใครทำกันก็ว่าได้  เวลาเที่ยวไปตามหมู่บ้านต่างๆ ท่างภาคอีสานไม่ค่อยโดนและเหยียบผีและเหยียบเครื่องสังเวยผีเหมือนแต่ก่อน  นอกจากเขาจะพากันไปทำอยู่ใต้ดิน  ซึ่งสุดวิสัยที่จะไปเที่ยวซอกแซกเห็น  จึงนับว่าภาคอีสานมีวาสนาอยู่บ้าง  ไม่พากันกอดคอกันตายกับผีไปตลอดชาติ  ยังมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบไหว้บูชาแทนผีบ้างในกาลต่อมา  ชาวอีสานที่ได้รับความเมตตาอนุเคราะห์จากท่านพระอาจารย์ทั้งสองคนไม่ลืมบุญคุณท่าน  เพราะเป็นผู้มีพระคุณแก่คนภาคนั้นจนสุดที่พรรณนา  ทั้งนี้เขียนตามประวัติที่ท่านเล่าให้ฟัง  ส่วนจะผิดหรือถูกผู้เขียนก็ทราบไม่ได้  ในระยะนั้นอาจยังไม่เกิดหรือยังเป็นเด็กอยู่มาก  ที่พ่อแม่พานับถือผีเป็นชีวิตจิตใจเหมือนคนทั่วไปก็ได้  จึงขออภัยด้วย

          สมัยโน้น  ไม่ว่าการอบรมฆราวาสหรือพระเณร  ท่านได้ทุ่มเทกำลังและความสามารถทุกด้านเพื่อให้คนเป็นคนจริงๆ  ท่านเที่ยวไปบางหมู่บ้าน  มีนักปราชญ์บัณฑิตประจำหมู่บ้านมาถามปัญหากับท่านก็มี  ความว่าผีมีจริงไหมบ้างว่ามนุษย์เกิดมาจากไหนบ้าง  ว่าอะไรทำให้ผู้หญิงกับผู้ชายเกิดรักชอบกันเอง  โดยไม่มีโรงร่ำโรงเรียนสอนให้รักชอบกันบ้าง  ว่าสัตว์ชนิดเดียวกันตัวผู้กับตัวเมียทำไมจึงเกิดรักชอบกันเองบ้าง  ว่ามนุษย์และสัตว์ไปเรียนความรักชอบซึ่งกันและกันมาจากไหน  จึงได้เกิดรักชอบกันขึ้นมาบ้าง  แต่ผู้เขียนก็จำได้บ้างเล็กน้อยไม่ละเอียดทั่วถึง  จงนำมาลงไว้เท่าที่จำได้จะถูกหรือผิดประการใดนั้นขึ้นอยู่กับผู้เขียนเอง  เพราะเป็นผู้จดจำผิดพลาดคลาดเคลื่อนมาตามนิสัยที่เคยเป็นมาประจำ  แม้แต่จำคำที่ตนเคยพูดปละเรื่องของตัวที่เคยเป็นมาก็ยังมีผิดพลาดได้เสมอมาอย่างแก้ไม่ตก  จึงไม่สามารถจดจำคำของท่านทุกคำด้วยความถูกต้องได้

          ปัญหาที่ว่ามีผีจริงไหม? ท่านแก้ว่า  ไม่ว่าแต่ผีหรือสิ่งใดๆ ในโลก  ถ้าสิ่งนั้นมีอยู่จริง  สิ่งนั้นต้องเป็นอิสระไปตามความมีอยู่ของตน  ไม่ขึ้นอยู่กับความสนับสนุนหรือทำลายของใครที่ไปว่าสิ่งนั้นมีจริงหรือสิ่งนั้นไม่มี  สิ่งนั้นถึงจิมีหรือจะสูญไป  แต่สิ่งนั้นต้องมีอยู่ตามธรรมชาติของตน  ไม่มีการเพิ่มขึ้นและลดลงตามคำเสกสรรของใครๆ  ผีที่มนุษย์สงสัยกันทั่วโลกว่ามีหรือไม่มีก็เช่นกัน  ความจริงผีที่ทำให้คนเกิดความกลัวและเป็นทุกข์กันนั้นเป็นผีที่คนคิดขึ้นที่ใจ  ว่าผีมีอยู่นั้นบ้างที่นี่บ้าง  ผีจะมาทำลายบ้างตางหาก  จึงพาให้เกิดความกลัวและเป็นทุกข์ขึ้นมา  ถ้าอยู่ธรรมดาไม่ก่อเรื่องผีขึ้นที่ใจก็ไม่เกิดความกลัวและไม่เป็นทุกข์  ฉะนั้น  ผีจึงเกิดขึ้นจากการก่อเรื่องของผู้กลัวผีขึ้นที่ใจมากกว่าผีจะมาจากที่อื่น

          แต่ผีจะมีจริงหรือไม่นั้น  แม้จะบอกว่าผีมีจริงก็ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันกันพอให้เชื่อได้  เพราะนิสัยมนุษย์เราไม่ชอบยอมรับความจริง  แม้ไปเที่ยวขโมยของเขามาเจ้าของตามจับตัวได้พร้อมทั้งของกลางและพยานหลักฐานมาอย่างพร้อมมูล  ยังไม่ยอมรับตามความจริง  แถมยังปั้นพยานเท็จขึ้นหลอกลวงเพื่อหาทางรอดตัวไปจนได้  โดยไม่ยอมรับว่าตัวทำผิด  นอกจากถูกบังคับด้วยหลักฐานพยานเท่านั้นก็ยอมรับโทษไปทั้งๆ ที่ใจจริงและกิริยาที่แสดงออกไม่ยอมรับว่าตัวผิด  เวลาไปเป็นนักโทษอยู่ในเรืองจำแล้ว  มีผู้ไปถามว่าคุณทำผิดอะไรถึงต้องมาติดคุกและเสวยกรรมอย่างนี้  นักโทษคนนั้นจะรีบตอบเป็นเชิงแก้ตัวทันทีว่า  เขาหาว่าผมขโมยของเขาแต่จะยอมรับตามความจริงว่าผมไปขโมยของเขาอย่างนี้ไม่ค่อยมี  รายไหนถูกถาม  รายนั้นต้องตอบอย่างเดียวกัน  นี่คือมนุษย์เราโดยมากเป็นอย่างนี้

(จากหนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ  โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน)





ไม่มีความคิดเห็น: