วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๒๖ จิตว่าง (กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๒)

เทศน์เมื่อ  ๓๑  ตุลาคม  ๒๕๒๑



          ทีนี้พอจิตรู้เรื่องนี้ชัดเจนแล้ว  จิตก็ถอนตัวจากอันนั้นมาสู่ภายใน  พอจิตแย็บออกไป  มันก็รู้ว่าตัวนี้ออกไปแสดงต่างหาก  ทีนี้ภาพอสุภะนั้นมันก็เลยมาปรากฏอยู่ภายในจิตโดยเฉพาะ  กำหนดอยู่ภายใน  พิจารณาอยู่ภายในจิต  ทีนี้มันไม่เป็นความกำหนัดอย่างนั้นน่ะซิ  มันผิดกันมาก  เรื่องความกำหนัดแบบโลกๆ มันหมดไปแล้ว  มันเข้าใจชัดว่า  มันต้องขาดจากกันอย่างนี้  คือมันตัดสินกันแล้ว  เข้าใจแล้ว  ทีนี้ก็มาเป็นภาพปรากฏอยู่ภายในจิต  ก็กำหนดอยู่ภายในนั้น

          พอกำหนดอยู่ภายใน  มันก็ทราบชัดอีกว่า  ภาพภายในนี้ก็คือ เกิดจากจิตน่ะ  มันดับ  มันก็ดับไปที่นี่  มันไม่ดับไปที่ไหน  พอกำหนดขึ้นมันดับไป  พอกำหนดไม่นาน  มันก็ดับไป  ต่อไปมันก็เหมือนฟ้าแลบนั่นเอง  พอกำหนดพับขึ้นมาเป็นภาพก็ดับไปพร้อม  ดับไปพร้อมเลยจะขยายให้เป็นสุภะ  อสุภะอะไรไม่ได้  เพราะความรวดเร็วของความเกิดดับ  พอปรากฏขึ้นพับก็ดับพร้อมๆ  ต่อจากนั้นนิมิตภายในจิตก็หมดไป  จิตก็กลายเป็นจิตว่างไปเลย  ส่วนอสุภะภายนอกนั้นหมดปัญหาไปก่อนหน้านี้แล้ว  เข้าใจแล้วตั้งแต่ขณะที่มันกลืนตัวเข้ามาสู่จิต  มันก็ปล่อยอสุภะข้างนอกทันทีเลย  รูป  เสียง  กลิ่น  รส  อะไรข้างนอกมันปล่อยไปหมด  เพราะอันนี้ไปหลอกต่างหากนี่  เมื่อเข้าใจตัวนี้ชัดแล้ว  อันนั้นไม่มีปัญหาอะไร  มันเข้าใจทันทีและปล่อยวางภายนอกโดยสิ้นเชิง

          หลังจากภาพภายในดับไปหมดแล้ว  จิตก็ว่าง  ว่างหมดที่นี่  กำหนดดูอะไรก็ว่างหมด  มองดูต้นไม้  ภูเขา  ตึกรามบ้านช่องเห็นเป็นเพียงรางๆ เป็นเงาๆ ส่วนใหญ่  คือ  จิตนี้มันทะลุไปหมด  ว่างไปหมด  แม้แต่มองดูร่างกายตัวเอง  มันก็เห็นแต่พอเป็นเงาๆ  ส่วนจิตแท้มันทะลุไปหมด  ว่างไปหมด  ถึงกับออกอุทานในใจว่า  โอ้โฮ ! จิตนี้ว่างถึงขนาดนี้เชียวนา  ว่างตลอดเวลา  ไม่มีอะไรเข้าผ่านในจิตเลย  ถึงมันจะว่างอย่างนั้น  มันก็ปรุงภาพเป็นเครื่องฝึกซ้อมอยู่เหมือนกันนะ  เราจะปรุงภาพไดก็แล้วแต่เถอะ  เป็นเครื่องฝึกซ้อมจิตใจให้มีความว่างช่ำชองเข้าไป  จนกระทั่งแย็บเดียวว่าง  แย็บเดียวว่าง  พอปรุงขึ้นแย็บเท่านั้น  มันก็ว่างพร้อม  ว่างพร้อมไปหมด

          ตอนนี้แหละตอนที่จิตว่างเต็มที่  ความรู้อันนี้จะเด่นเต็มที่ที่นี่ คือ รูปก็ดี  เวทนาก็ดี  สัญญาก็ดี  สังขารก็ดี  วิญญาณก็ดี  มันรู้รอบหมดแล้ว  มันปล่อยของมันหมดไม่มีอะไรเหลือ  เหลือแต่ความรู้อันเดียว  มันมีความปฏิพัทธ์  มันมีความสัมผัสสัมพันธ์อ้อยอิ่งอยู่อย่างละเอียดสุขุมมาก  ยากจะอธิบายให้ตรงกับความจริงได้  มันมีความดูดดื่มอยู่กับความรู้อันนี้อย่างเดียว  พออาการใดๆ เกิดขึ้นพับ  มันก็ดับพร้อม  มันดูอยู่นี่

          สติปัญญาขั้นนี้ถ้าครัั้งพุทธกาลท่านก็เรียก  มหาสติมหาปัญญา  แต่สมัยทุกวันนี้  เราไม่อาจเอื้อมพูด  เราพูดว่าสติปัญญาอันโนมัติก็พอตัวแล้วกับที่เราใช้อยู่  มันเหมาะสมกันอยู่แล้ว  ไม่จำเป็นจะต้องให้ชื่อให้นามสูงยิ่งไปกว่านั้น  มันก็ไม่พ้นจากความจริงซึ่งเป็นอยู่นี้เลย  จิตดวงนี้ถึงได้เด่น  ความเด่นอันนี้มันทำให้สว่างไปหมด

ตอนจิตว่าง
          ในตอนท้ายแห่งความละเอียดอ่อนของจิต  เราก็เห็นว่าอวิชาเป็นของดีและประเสริฐไปอย่างสนิดติดจมไปพักหนึ่ง  และหลงอวิชชาอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน   ไม่เคยลืม  เพราะรักสงวนอวิชชาซึ่งเป็นตัวผ่องใส  ตัวสง่าผ่าเผย  ตัวองอาจกล้าหาญ  จึงรักสงวนอยู่นั้นเสีย  พยายามระมัดระวังรักษาอวิชชา  ทั้งๆ ที่สติปัญญาก็มีเต็มภูมิ  แต่ไม่นำมาใช้กับอวิชชาในขณะนั้น
๖  มิถุนายน  พุทธศํกราช  ๒๕๒๑
           องค์หลวงตาอวิชชาขาดสะบั้นลงจากใจวันที่  ๑๕  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๔๙๓   ถ้านับย้อนถอยไป ๘ เดือน  ดังนั้น  ตอนจิตว่างขององค์ท่าน  จึงเกิดในช่วงเดือนกันยายน  พ.ศ.  ๒๔๙๒
 __________________________________________

รู้สึกจะหมดหวัง (ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒)
เทศน์เมื่อ  ๒  ตุลาคม  ๒๕๒๑

          พอมาถึงพรรษา ๑๖   เอ้า ! สรุปเลย  พอพรรษษ ๑๖  ล่วงแล้วตอนนั้นปัญญาเป็นธรรมจักรอยู๋นะ   พรรษา ๑๖  ในพรรษามันเป็นธรรมจักรอยู่แล้วนี่  เร่งเต็มที่  ในขณะนั้นเรื่องความเพียรเป็นอัตโนมัติแล้วล่ะ  สติปัญญาในขั้นนั้น  จนกระทั่งออกพรรษา  พอออกพรรษาปั๊บในวันนั้น  มันไม่สำเร็จนี่

          ทำไมเรื่องนิมิตที่มาบอกมาแสดงเหตุให้เราเห็นว่า ๙ ปีสำเร็จนั้น  เราก็คาดมาแล้วหนหนึ่งมันผิด  คาดหนที่สองนี้ก็ ๙ ปีในการออกปฏิบัติ  ก็นี่ออกพรรษาแล้วในวันนี้ยังไม่เห็นสำเร็จเลย  แม้จิตจะละเอียดขนาดไหน  ก็ยังมีกิเลสอยู่  จะเรียกสำเร็จได้อยังไง  คำว่าสำเร็จในนิมิตนั้น  บอกสำเร็จถึงที่สุดของธรรมนะ  ไม่ใช่จะสำเร็จธรรมดาขั้นนั้นขั้นนี้  เอ๊ ! ทำไม  ทีนี้ชักไม่แน่ใจ  ไม่ใช่

          ได้มีพวกเดียวกันล่ะ  แต่ท่านก็ดี  อุบายท่านดีอยู่นะ  เรานั้นได้ยกบูชาอุบายของท่านจนกระทั่งป่านนี้  ผมไม่ลืมนะ  นิสัยผมไม่ค่อยลืมคุณใคร  เรื่องเห็นบุญเห็นคุณคนนี้  ความกตัญญูนี้  เราชัดอยู่ในใจของเรา  เนรคุณคนไม่เป็น  เป็นนิสัยกตัญญูกตเวทีฝังใจจริงๆ  ท่านองค์นี้  เราก็เล่าให้ท่าน คือ เก็บมาได้ ๙ ปี  อันนี้ไม่บอกใครเลย  วันนั้นมันหมดหวัง  ว่างั้นเลย

          นี่ผมจะเล่าให้ท่านฟังนะ  "แหม ! ผมได้แบกอันนี้มาฝังไว้ภายในจิตนี้ได้ ๙ ปีแล้วนิมิตอันนี้  ผมจะเล่าเรื่องความเหลวไหลของผมให้ฟัง  แต่ผมพูดเฉพาะท่านนะ  ท่านอย่าไปพูดให้ใครฟัง  ผมเก็บฝังไว้ในหัวใจนี่และเชื่อแน่ด้วย  ผมมันก็เหลวไหลเสีย  จนต้องมาเล่าเรื่องความเหลวไหลให้ฟัง  ความโกหกขอผมให้ฟัง"   "เอ้า ! เล่าซิเป็นไง"  ก็เลยเล่าไปตามเรื่องนิมิต  จนกระทั่งมาถึงพรรษา ๙ ที่ว่า ๙ ปีสำเร็จ  นี่ก็ออกพรรษาแล้วในวันนี้  เดี๋ยวนี้มันยังไม่สิ้นนี่จะทำยังไง  มันยังมีอยู่ละเอียดๆ  มันรู้อยู่ชัดๆ  นี่ยังไม่สิ้น  ก็แสดงว่านิมิตโกหกอย่างชะมัดเลย

          "มันไม่ใช่อย่างนั้น"  ท่านว่างั้นนะ  ที่เราไม่ลืม  คือ  "คำว่า ๙ ปีสำเร็จนี้  ๙ ปีนี้ต้อง  ๙ ปีตั้งแต่ออกพรรษานี้ไปชนพรรษาหน้าน่ะซี"  ท่านว่าอย่างนี้นะ   "นี้ยังเป็นโอกาสของ ๙ ปีอยู่ดีๆ  เมื่อถึงเข้าพรรษาหน้าวันไหน  ก็วันนั้นล่ะถึงจะหมดเขตของ ๙ ปีนี้"   "อย่างนั้นหรือ"

          "ก็อย่างนั้นแหละ  มันยังไม่หมดๆ  อายุของ ๙ ปีนี้นะ   เมื่อหมดก็นู้นนะ  วันเข้าพรรษาวันไหน  พรรษาที่ ๑๐ เมื่อไรแล้วของการปฏิบัตินี้  เมื่อไรแล้ว  นั้นแหละจึงจะหมดอายุอันนี้  ถ้าจะตำหนิก็ตำหนิได้  เวลานี้ยังไม่ควรตำหนิ  ยังอยู่ในเกณฑ์"  ว่าอย่างนั้นนะ   "หือ ! ว่างั้นหรือ"  มีกำลังใจขึ้นอีก  ทั้งๆ ที่ใจก็หมุนติ้วอยู่แล้วล่ะ  มันก็มาเพิ่มกำลังใจอีก  ฟาดเข้าอีกเอากันอย่างหนักเลย  นิมิตแปลกดีนะ  นิมิตอันนี้มีแปลกแต่ต้องได้ชม  ถ้าลงนิมิตได้แสดงให้เห็นชัดๆ อย่างนั้นมันไม่ค่อยผิดค่อยพลาดเท่าไร

__________________________________________

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๒๕ ทดสอบกามราคะด้วยวิธีต่างๆ (บรรลุอนาคามี)

เทศน์เมื่อ  ๓๑  ตุลาคม  ๒๕๒๑



          ตอนอสุภะนี่สำคัญอยู่มากนะ  สำคัญมากจริงๆ  พิจารณาอนุภะนี่มันคล่องแคล่วแกล้วกล้ามองดูอะไรทะลุไปหมด  ไม่ว่าจะหญิง  จะชาย  จะหนุ่มสาวขนาดไหน  เอ้า ! พูดให้เต็มตามความจริงที่จิตมันกล้าหาญน่ะ  ไม่ต้องให้มีผู้หญิงเฒ่าๆ แก่ๆ ล่ะ  ให้มีแต่หญิงสาวๆ เต็มอยู่ในชุมนุมนั้นน่ะ  เราสามารถจะเดินบุกเข้าไปในที่นั่น  โดยไม่มีราคะตัณหาอันใดแสดงขึ้นมาได้เลย  นั่น  ความอาจหาญของจิต  เพราะอสุภะ

          มองดูคนมีแต่หนังห่อกระดูก  มีแต่เนื้อหนังแดงโร่ไปหมดน่ะ  ไม่เห็นความสวยความงามที่ไหน  เพราะอำนาจของอสุภะมันแรง  มองดูรูปไหน  มันก็เป็นแบบนั้นหมด  แล้วมันจะเอาความสวยงามมาจากไหนพอให้กำหนัดยินดี  เพราะฉะนั้นมันจึงกล้าเดินบุก  เอ้า ! ผู้หญิงสาวๆ สวยๆ นั้นแหละไปได้อย่างสบายเลย  คราวมันกล้าหมายถึงมันกล้า  ความกล้านี่ก็ถูกทาง  แต่ก็เมื่อมันผ่านไปแล้ว  มันก็เรียกว่า  ความกล้านี่มันก็บ้าอันหนึ่งเหมือนกัน  แต่ตอนเดินดำเนินทางนี้ก็เรียกว่าถูก

          การพิจารณาอสุภะอสุภัง  พิจารณาไปจนกระทั่งราคะนี้ไม่ปรากฏเลย  ค่อยหมดไปๆ และหมดไปเอาเฉยๆ  ไม่ได้บอกเหตุบอกผล  บอกกาล  บอกเวลา  บอกสถานที่เลยว่า  ราคะความกำหนัดยินดีในรูปหญิงรูปชายนี้ได้หมดไปแล้วตั้งแต่ขณะนั้น  เวลานั้น  สถานที่นั้นไม่บอก  จึงต้องมาวินิจฉัยกันอีก  ความหมดไปๆ เฉยๆ นี่ไม่เอา คือ จิตไม่ยอมรับ  ถ้าหมดตรงไหน  ก็ต้องบอกว่าหมดสิ  ให้รู้ชัดว่าหมดเพราะเหตุนั้น  หมดเพราะขณะนั้น  หมดในสถานที่นั้น  ต้องบอกเป็นขณะให้รู้...

          พลิกใหม่  คราวนี้เอาสุภะเข้ามาบังคับแก้อันที่ว่าอสุภะที่มีแต่ร่างกระดูกนั้นออก  เอาหนังหุ้มห่อให้สวยให้งามบังคับนะ  ไม่งั้นมันทะลุทันทีนะ  เพราะมันชำนาญนี่  บังคับหนังหุ้มกระดูกให้สวยให้งาม  ให้ติดแนบกับตัวเอง  นี่วิธีพิจารณาของเรา  เดินจงกรมก็ให้ความสวยความงามอันนั้นน่ะ  รูปอันนั้นน่ะติดแนบกับตัว  ติดกับตัวไปอย่างนั้น  เอ้า ! มันจะนานสักเท่าไร  หากมันมีอยู่  มันจะต้องแสดงขึ้นมา  ถ้ามันไม่มีก็ให้รู้ว่าไม่มี  เอาวิธีการนี้มาปฏิบัติได้ ๔ วันเต็มๆ นะ  ที่มันไม่แสดงความกำหนัดขึ้นมาเลย  ทั้งๆ ที่รูปนี้สวยงามที่สุด  น่ารักใคร่ชอบใจที่สุด  มันก็ไม่แสดง  มันคอยแต่จะทหยั่งเข้ากระดูก  หนังห่อกระดูก  บังคับไว้อยู่กับผิวหนังนี่

          พอถึงคืนที่ ๔ น้ำตาร่วงออกมาบอกว่า  ยอมแล้ว  ไม่เอาคือไม่ยินดีนะ  มันบอกมันยอมแล้ว  ยอมอะไร?  ถ้ายอมว่าสิ้นก็ให้รู้ว่าสิ้นซิ  ยอมอย่างนี้ไม่เอา  ยอมนี้ยอมมีเล่ห์เหลี่ยม  เราไม่เอา ! กำหนดไปกำหนด  กำหนดทุกแง่ทุกมุมนะ  แง่ไหนมุนใดที่มันจะเกิดความกำหนัดเพื่อจะรู้ว่ามันขึ้นขณะไหน  ความกำหนัดนี่เราจะจับเอาตัวนั้นตัวแสดงออกมานั้น  พิจารณาแต่สุภะอย่างเดียวเท่านั้น ๔ วันเต็มๆ คือเราจะหาอุบายทดสอบมัน

          พอสัก ๓-๔ ทุ่มล่วงไปแล้วในคืนที่ ๔  มันก็มียุบยับเป็นลักษณะเหมือนจะกำหนัดในรูปที่สวยๆ งามๆ  ที่เรากำหนดมาติดแนบกับตัวเรา  เนี่ยมันยุบยับ  หือ ! ชอบกล  แน่ะ ! มันทันนะ  เพราะสติมันมีอยู่ตลอดเวลา  นี่จะกำหนดเสริมขึ้นเรื่อยๆ  เอ้า ! กำหนดเสริมขึ้น  มันก็มีลักษณะยุบยับๆ นั่นเห็นไหม  นั่น ! จับเจ้าของได้แล้วนะ  เห็นไหม  มันสิ้นได้ยังไง  ถ้าสิ้นทำไมจึงต้องเป็นอย่างนี้

          ที่่นี่ยังไม่หมดแล้วจะปฏิบัติยังไง  ก็ต้องปฏิบัติสับเปลี่ยนกัน  พอเรากำหนดไปทางอสุภะนี้มันพรึบเดียวเลยนะ  มันเร็วที่สุดเพราะมันมีความชำนาญ  พอกำหนดเรื่องอสุภะนี่มันเป็นกองกระดูกไปหมดทันที  แล้วกำหนดสุภะความสวยงามขึ้นมาแทนที่  เอ้า ! เอาอย่างนั้น  นี่ก็เป็นเวลานาน  เพราะทางเราไม่เคยเดิน  เราไม่เข้าใจก็ต้องได้ทดสอบด้วยวิธีต่างๆ...

          ทีนี้วาระสุดท้ายนะ  เวลามันจะได้ความ  ก็นั่งกำหนดอสุภะไว้ตรงนี้  จิตกำหนดไว้ให้มันตั้งอยู่อย่างงั้นน่ะ  อสุภะตั้งอยู่ตรงนั้นตอนนั้นไม่เป็นสุภะนะ  ตั้งเป็นอสุภะแต่ไม่ให้มันทำลาย  คือตั้งให้มันคงที่ของมันอยู่นั้นล่ะ  มันจะเป็นหนังห่อกระดูก  หรือหนังออกหมดเหลือแต่กระดูก  กองกระดูกก็ให้มันรู้อยู่ตรงนั้นแล้วจิตเพ่งดู

          บทเวลามันจะได้ความนะ  ดูเอามันจะไปไหนมาไหน  กองอสุภะกองนี้จะไปไหนมาไหน  เอ้าๆ ดูเพ่ง  คือเพ่งยังไง  มันก็อยู่อย่างนั้นแหละ  เพราะความชำนาญของจิตไม่ให้ทำลาย  มันก็ไม่ทำ  พอกำหนดตรงนั้น  กำหนดเข้าไปๆ ปรากฏว่า  อสุภะที่ตั้งอยู่เนี่ยมันถูกจิตกลืนเข้ามาๆ  อมเข้ามาๆๆ ตรงนี้   เลยเป็นจิตเสียเองเป็นตัวอสุภะนั้นน่ะ   จิตตัวไปกำหนดที่ว่าอสุภะเนี่ย  มันกลืนเข้ามาๆ  เลยมาเป็นตัวจินเสียเองเป็นอสุภะ  มันก็ปล่อยผลัวะทันที  ปล่อยข้างนอก  มันต้องอย่างนี้  มันเข้าใจแล้วที่นี่  มันขาดน่ะ  มันต้องอย่างนี้ซิ  มันเป็นเรื่องของจิตต่างหากไปหลอกต่างหาก  อันนั้นเขาไม่ใช่ราคะ  อันนั้นไม่ใช่โทสะ  ไม่ใช่โมหะ  ตัวจิตผู้นี้ต่างหากเป็นตัวราคะ  โทสะ  โมหะ


_____________________________________________

   

วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๒๔ ปัญญาพิจารณาเพลินต้องพักในสมาธิ

เทศน์เมื่อ  ๒๕  ธันวาคม  ๒๕๔๖



          คือสังขารที่เป็นมรรค  เรามาพิจารณาเป็นด้านปัญญา  เมื่อเลยเถิดออกไปแล้ว  สังขารจะแทรกด้วยสมุทัย  นี่เราก็ไม่ลืม  ทีนี้เวลามันจะเป็นจะตายจริงๆ  ย้อนจิตเข้ามาสู่สมาธิ  สมาธิก็แน่วเลย  ทีนี้บังคับนะสมาธิ  ทำไมถึงบังคับ  เหมือนว่าไม่เคยมีสมาธิมาก่อนเลย  เพราะมันเพลินทางด้านปัญญามาก  ซึ่งมีผลมากกว่าสมาธิเป็นไหนๆ  เวลาย้อนเข้ามาสู่สมาธินี้  มันจะเพลินฟัดกับกิเลสตลอดไป  ด้วยอัตโนมัติของสติปัญญานั่นแหละ  จึงต้องได้หักห้ามกันอย่างหนัก

          สุดท้ายก็บริกรรมพุทโธเลย  ให้สติกับจิตนี้อยู่อันเดียวกัน  ไม่ให้ออกไปทางด้านปัญญา  จนกระทั่งนึกพุทโธ  เอาพุทโธมาเป็นคำบริกรรม  ทั้งๆ ที่จิตมันจ้าๆ ด้วยปัญญาแล้วนะ  มันไม่ได้สนใจกับสมาธิ  มันหาว่าสมาธินี้นอนอยู่เหมือนขึ้นเขียง  ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร  ปัญญาต่างหากเกิดประโยชน์  ปัญญาต่างหากมีความรู้ที่ละเอียดลออ  มันถึงนู้นแล้วก็าตำหนิสมาธิ

          เพราะฉะนั้น  มันจึงไม่อยากเข้าสมาธิ  มันไม่ได้เพลินเหมือนปัญญา  แต่ครั้นแล้วมันจะตายจริงๆ  ก็ถอยเข้ามาสู่สมาธฺ  บังคับไว้เลย  พอบังคับไว้แล้วพุทโธๆ ถึ่ยิบเลยนะ  นั่นล่ะเหมือนเรียน ก.ไก่  ก.กาใหม่นะ  พอบังคับเข้ามาจิตก็สงบเข้าๆ  แน่วลงสมาธิ  ก็มันมีอยู๋เป็นพื้นฐานมาแล้วได้ ๕ ปีแล้วว่าไง  แต่เวลามันเพลินกับปัญญา  มันไม่สนใจกับสมาธิต่างหาก  จึงเหมือนกับว่าสมาธิไม่มี

          ทีนี้พอย้อนเข้ามาหาสมาธิต้องถูกบังคับ  เพราะกำลังของสติปัญญามีมากกว่า  เกินกว่าที่จะมาพักในสมาธิ  แต่เวลามันจะตายจริงๆ ก็ต้องพัก  เหมือนเราพักงานของเรา  ทำอะไรก็ตาม  เห็นว่ามีรายได้ๆ  โดยไม่คำนึงถึงกำลังวังชาของเจ้าของ  มันก็ไปไม่รอดคนเรา

          ทีนี้ก็ย้อนเข้ามาสมาธิ  จิตแน่วลงไปเลยสงบแน่ว  เป็นสมาธิเหมือนราเคยพิจารณา  ทีนี้เหมือนถอดเสี้ยนถอดหนามนะ  ความทุกข์ความลำบากลำบนที่เกี่ยวกับการพิจารณาทางด้านปัญญา  สงบตัวลงไปในองค์สมาธินี้  สงบแน่วเลย  ปล่อยให้มันอยู่นั้น  บังคับไม่ให้ออก  ถ้าเรารามือนิดหน่อย  มันจะผึงออกทางด้านปัญญา  เพราะอันนั้นมีกำลังมากกว่า  จึงต้องบังคับในสมาธิให้อยู่ในนั้น  จนกระทั่งจิตใจมีกำลังวังชากระปรี้กระเปร่า  รู้ชัดเจนในเจ้าของว่ามีกำลังเต็มที่แล้ว  ทีนี้จิตพอถอยออกนั้น  มันก็ใส่กับกิเลสเลยที่นี่ปัญญา  ตูมๆ เลย  ไม่มีถอย

          ทีนี้มันก็เห็นชัดเจน  ที่เราพิจารณานี้เหมือนมีดที่เราไม่ได้ลับหิน  มันก็ไม่คมเต็มที่ของมัน  แต่เวลามาพักสมาธิแล้ว  ออกไปคราวนี้เหมือนว่ามีดได้ลับหิน  เจ้าของก็ได้พักผ่อนนอนหลับ  มีกำลังวังชาแล้ว  กิเลสตัวนั้น  มีดอันนั้น  เราคนเก่าแหละฟาดนี้ขาดสะบั้นๆ นั่นเป็นอย่างงั้นนะพิจารณา  นี่จิตเมื่อเข้าถึงขั้นอัตโนมัติแล้วเป็นอย่างงั้น  ในภาคปฏิบัติผมเป็นในหัวใจของผมเอง  พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านก็เป็นอย่างนั้น  แต่ไม่เป็นกับเรา  เราก็ไม่รู้  ทีนี้เวลามันหนักเข้าๆ มันจะตายจริงๆ  หักกลับมาพักสมาธิเสียก่อน

          พอมันได้กำลังแล้วออกๆ  ทีนี้สติปัญญานี้เวลาเชื่อมกันเข้าไป  ก้าวเข้าถึงมหาสติมหาปัญญาละเอียดลออ  ซึมซาบไปหมด  กับกิเลสทั้งหลายโผล่ขึ้นมาไม่ได้  ขาดสะบั้นๆ ไปเลย  นี่เห็นไหมสติปัญญาฆ่ากิเลส  เมื่อมีกำลังจากการอบรมแล้ว  จะเห็นชัดเจนกับปฏิบัตินั้นแล  เอ้า ! กิเลสตัวไหนจะละเอียดขนาดไหน  ไม่มีที่จะพ้นจากสติปัญญา  และมหาสติปัญญาไปได้เลย  เป็นอันว่าขาดสะบั้นๆ  ทีนี้สุดท้ายความที่จะหลุดพ้นจากทุกข์เหมือนนิพพานอยู่ชั่วเอื้อม


_______________________________________

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๒๓ ออกใช้ปัญญาพิจารณาอสุภะ

เทศน์เมื่อ  ๒๕  ธันวาคม  ๒๕๔๖



          ทีนี้พอออกทางด้านปัญญามันก็รวดเร็ว  เพราะจิตอิ่มอารมณ์แล้ว  พิจารณาแยกธาตุ  แยกขันธ์  อสุภะอสุภัง  อนัจฺจํ  ทุกฺขํ  อนตฺตา  ป่าช้าผีดิบ  ป่าช้าผีสด  แยกออกมาทีนี้มันก็ยิ่งรวดเร็วปัญญา  เพราะจิตอิ่มอารมณ์แล้ว  เอาล่ะที่นี่ฟาดให้จิตหมุนติ้วๆ ในทางปัญญา  แยกธาตุ  แยกขันธ์  กฎ  อนิจฺจํ  ทุกฺขํ  อนตฺตา   ทั่วแดนโลกธาตุประมวลเข้ามาหาตัวผู้หลงที่มันไปหลงเพลิน  พิจารณาแล้วมันก็คลายของมันออกไปเรื่อยๆ จิตก็ออกทางด้านปัญญา

          ทีนี้เวลาออกทางด้านปัญญา  มันผิดกันกับสมาธิเป็นไหนๆ  สมาธิสบายสงบเย็นดีอยู่เพียงขั้นนี้จะให้แยบคายยิ่งกว่านั้นไม่มี  สมาธิเต็มภูมิ  เต็มที่เลยสมาธิ  จะให้เหนือนั้นไปอีกไม่ได้  สมาธิ  เหมือนว่าน้ำเต็มโอ่ง  สมาธิก็เต็มโอ่งของสมาธิ  เราจะทำอะไรให้เป็นสมาธิยิ่งกว่านั้นอีกไม่มี  เราเต็มภูมิ

          พอท่านลากออกทางด้านปัญญา  มันถึงหมุนติ้ว  เวลาพิจารณาทางด้านปัญญานี้  โอ้โห ! น่าอัศจรรย์นะ  น่าแปลกประหลาด  มีแต่เอ๊ะๆ ทำไมเป็นอย่างนี้  จิตมีแต่แปลกประหลาด  มีแต่แยบคาย  แล้วพิจารณาอะไรกระจัดกระจายออกไปอย่างรวดเร็วๆ  หมุนติ้วเลยทางด้านปัญญา  ต่อจากนั้นไปก็มีความชำนิชำนาญเป็นสติปัญญาอัตโนมัติหมุนตัวไปเอง  สติปัญญากลมกลืนเป็นอันเดียวกัน  หมุนตัวตลอดเวลา  แก้กิเลสไม่มีอิริยาบถ  เว้นแต่หลับเท่านั้น  ทีนี้หมุนตัวเป็นเกลียวไปอีกนะ  ไม่หยุดไม่ถอย  แล้วกลับมาบางคืนไม่ได้หลับเลย  ความเพียรมันหมุนตัวของมันไปเองโดยอัตโนมัติ

         มันดูดมันดื่มในการพิจารณา  ฆ่ากิเลสได้เป็นลำดับๆ ยิ่งเพลินที่นี้  การหลับนอนบางคืนนอนไม่หลับ  เพราะจิตมันไม่ยอมนอน  เรานอนลงไปนี้  จิตมันหมุนกันอยู่กับกิเลส  ฆ่ากิเลสโดยอัตโนมัติของมัน  กลางวันก็ยังไม่หลับอีกมันหมุนติ้ว  อ้าว ! มันจะตายแล้วนะนี่  มันเป็นยังไง  ว่าออกก็ออกเหนือเหตุเหนือผล  จึงไปเล่าถวายท่านว่า  "พ่อแม่ครูอาจารย์ว่าให้ออกทางด้านปัญญา  เวลานี้ออกแล้วนะ"  ว่างี้  "มันออกยังไงว่ามาซิ"   "ก็มันหมุนตัวอยู่ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน  สุดท้านนอนไม่หลับก็มีบางคืน"  "นั่นล่ะ  มันหลงสังขาร"  เห็นไหมล่ะ  ท่านว่ามันหลงสังขาร

____________________________________

องค์หลวงปู่มั่น แก้การออกทางด้านปัญญา
เทศน์เมื่อ  ๒๘  มีนาคม  ๒๕๔๘

          เห็นไหมล่ะ  เรากับพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่เคยพูดธรรมะนิ่มนวลนะ  ต้องธรรมะฟ้าถล่มๆ ทั้งนั้นล่ะ  นั่นล่ะตามนิสัยเห็นไหม  คำพูดของท่านแข็งกร้าวไหม  คำพูดของท่านดุด่าว่ากล่าว  กระแทกแดกดันไหม  ฟังซิน่ะ  ท่านลงตามจุดๆ  ที่ควรจะหนัก  ท่านหนัก  นั่นล่ะธรรมเป็นอย่างนั้น  ควรจะหนัก  ท่านก็หนัก  อย่างที่ท่านฟาดเรานี้ก็  "มันหลงสังขาร"  "ถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้"   "นั่นล่ะ  บ้าหลงสังขาร"  ชัดเข้าอีก  ขึ้นบ้าหลงสังขารล่ะที่นี่  มันก็หมุนของมันไปเรื่อยๆ เวลาจะตายแล้วก็ย้อนเข้ามาสู่สมาธิ

          อันนี้เราพูดย่อๆ นะ  มันจะตายจริงๆ ถึงเข้ามาสมาธิ  สมาธิที่เก่งกล้าที่สุดนั้นไม่มีความหมายนะ  สู้ปัญญาไม่ได้  ปัญญานี้พุ่งๆ ตลอด  จะเข้าสมาธิ  โอ้ย ! สมาธินี่มันนอนตายอยู่เฉยๆ ไม่เห็นเกิดปัญญา  แน่ะ  ปัญญาต่างหากฆ่ากิเลส  สมาธิไม่ได้ฆ่ากิเลส  มันก็เลยหมุนไปทางด้านปัญญา  มันไม่พอดี  ท่านจึงเรียกว่า  มันหลงสังขาร

          คือ สังขารนี่  สังขารที่เป็นปัญญา  สังขารเป็นมรรคแก้กิเลส  ทีนี้เราไม่รู้จักประมาณ  สังขารฝ่ายสมุทัยมันแทรกเข้าไปในนั้น  ท่านว่ามันหลงสังขาร  คือ  สังขารสมุทัย  ไม่รู้จักประมาณ  ความหมายว่างั้น  แต่ท่านไม่ได้พูดมากนักกับเรา  ให้เราไปตีเองทุกอย่าง  ท่านจะจับไม้ก็ทั้งท่อนโยนให้เรา  ให้ไปเลื่อยเอง  อันนี้ก็แบบเดียวกัน  นี่มันหลงสังขาร

          พอเราเถียงท่านว่า  ถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้  "นั่นล่ะบ้าหลงสังขาร"  เท่านั้นพอ  แต่เวลามันไปแจงแล้ว  โอ้โห ! ท่านพูดอย่างนี้  เวลามันจะตายจริงๆ  มันเข้าสมาธิ  พิจารณาพุ่งๆๆ  เป็นระยะๆๆ  นี่ตรงนี้ก็ลงท่าน  ท่านว่ามันหลงสังขาร  คือ  มันพิจารณาเลยเถิดไม่อยู่ในความพอดี  สังขารสมุทัยแทรกเข้าไป  เราไม่รู้  แต่เวลาผ่านไปแล้ว  มันรู้หมดนั่นซิ  เรื่อยเลย

          นี่เราก็ไม่ลืม  ไล่ออกจากสมาธิ  จนเถียงกันก็ไม่ลืม  ที่ออกทางด้านปัญญาได้รั้งเอาไว้  ท่านว่าขนาดถึงบ้าหลงสังขาร  นี่เราก็ไม่ลืม  นี่ล่ะมันลงท่านทุกอย่าง  ที่ได้แล้วลงทั้งนั้นถูกหมด  ท่านพูด  เราผิดทั้งเพ


_____________________________________

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๒๒ ติดสมาธิ ๕ ปี

เทศน์เมื่อ  ๗  พฤษภาคม  ๒๕๒๑



          ก่อนที่จะมาพิจารณาด้วยปัญญา  ต้องตะล่อมจิตให้มีพลังภายในตัวด้วยความสงบ  ท่านจึงสอนสมาธิเป็นขั้นเริ่มแรก  เพื่อให้จิตสงบก่อน  พิจารณาอะไรถึงจะเข้าอกเข้าใจ  ไม่เป็นไปด้วยความหิวโหย  จิตที่หาความสงบไม่ได้นี้เป็นไปด้วยความหิวโหย  คิดอะไรพรวดพราดๆ กลายเป็นสัญญาไปหมด  เป็นความฟุ้งเฟ้อไปเสีย  เห่อเหิมไปเสียแทนที่จะเป็นอรรถเป็นธรรม  กลายเป็นโลกเพิ่มเข้าไปอีก  เป็นการสั่งสมกิเลสโดยไม่รู้สึกตัวในขณะที่พิจารณา  เพราะมันเถลไถลออกไปตามนิสัยที่เคยเป็น  เพราะจิตหิวโหย  จิตหาความสงบไม่ได้

          ท่านจึงสอนว่า  สมาธิปริภาวิตา  ปญญฺา  มหปฺผลา  โหติ  มหานิสํสา   ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้วย่อมมีผลมาก  มีอานิสงส์มาก  คือ  สมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญาได้ดี  เหมือนอย่างคนรับประทานอาหารอิ่มหนำสำราญ  พักผ่อนนอนหลับให้สะดวกสบายแล้ว  ทำงานก็ไม่หิวไม่โหย  ไม่เหนื่อยไม่เพลีย  ตั้งหน้าตั้งตาทำงานได้ดียิ่งกว่าคนที่กำลังหิวไม่โหย  ไม่เหนื่อยไม่เพลีย  ตั้งหน้าตั้งตาทำงานได้ดียิ่งกว่าคนที่กำลังหิวจัด  ซึ่งทำอะไรไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย  ความฉุนเฉียวก็ง่าย  จิตใจที่เป็นไปด้วยความหิวโหย  เพราะหาความสงบไม่ได้ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

          เพราะฉะนั้น  ท่านจึงสอนให้อบรมสมาธิให้มีความสงบพอสมควรแล้ว  ก็พิจารณาทางด้านปัญญา  จิตก็ตั้งหน้าทำงานไม่เถลไถลได้ง่ายๆ  สมาธิมีความสำคัญอย่างนี้  แต่ไม่ใช่สมาธิจะทำปัญญาให้เกิด  เป็นเครื่องหนุนเฉยๆ  หนุนให้ปัญญาทำงานได้สะดวก  พูดง่ายๆ ไม่ใช่สมาธิจะกลายเป็นปัญญาเสียเอง  ให้พากันเข้าใจไว้ตรงนี้

          ภาคปฏิบัติเป็นอย่างนี้  เราได้เป็นมาแล้ว  นี่ติดสมาธิติดอยู่ถึง ๕ ปีเต็มๆ  สำหรับผมเอง คือ ชำนิชำนาญจริงๆ  ใครจะมาโกหกเรื่องสมาธินี้ไม่ได้ว่างั้นเลย  อาจหาญที่สุดเรื่องสมาธิ  กำหนดเมื่อไรได้  เพราะฐานของสมาธิมันแน่นปึ๋งเหมือนภูเขาโน่นจะว่าอะไร  กำหนดเมื่อไรก็ได้  ก็เพราะจิตเป็นสมาธิอยู่แล้ว  ฐานของมัน  เพียงแต่ระงับกระแสจิตเข้าไปเท่านั้น  มันก็เข้าไปอยู่ในฐานนั้นแน่วอยู่นั้นเสีย  แต่ไม่เป็นปัญญาให้  มันเพียงแค่นั้น  สุดท้ายก็ไปเหมาเอาความที่แน่นหนามั่นคง  รู้อยู่อย่างดิ่งหรือเด่นนั้นว่าจะเป็นนิพพาน  นี้ล่ะนิพพาน  นี้แลจะเป็นนิพพาน  มันก็เลยจ่ออยู่ตรงนั้นไม่ได้เรื่อง

_______________________________________

ติดสมาธิ ๕ ปี
          ถ้าพูดเรื่องความเพียรของผม  พรรษาที่ ๑๐ คือ เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนนี่ ๙ พรรษา ไปถึงพรรษาที่ ๑๐ เป็นความเพียรที่หักโหมที่สุดเลย   ในชีวิตนี้ไม่มีความเพียรใดเกี่ยวกับเรื่องร่างกาย  ที่จะหักโหมยิ่งกวาพรรษาที่ ๑๐ ใจก็หักโหม  ร่างกายก็หักโหมเต็มที่  หลังจากนั้นมาแล้วก็เจริญเรื่อยๆ  จนจิตนี้ราวกับเป็นหินไปเลย  คือ  ความแน่นหนามั่นคงของสมาธิมันชำนาญพอ  จนเป็นเหมือนกับหินทั้งแท่ง  ไม่หวั่นไหวอะไรง่ายๆ เลย  ติดสมาธินี้อยู่ถึง ๕ ปีเต็มๆ
                                                                ๓๑  ตุลาคม  พุทธศักราช  ๒๕๒๑
_______________________________________

องค์หลวงปู่มั่นแก้ติดสมาธิ
เทศน์เมื่อ  ๑๒  เมษายน  ๒๕๓๐

          พูดถึงเรื่องของกิเลส  เวลาหนักหนา  เวลาต่อสู้กิเลสถึงขนาดนั้นเชียวนะ  เจ้าของยังไม่รู้ว่าจะตาย  คนอื่นเขายังมาดู  รู้ว่าเราจะตายนี้แห่กันออกมาดูเห็นไหม  นี่บางครั้งเป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมไม่ได้อุตริมาหลอกลวงหมู่เพื่อน  นี่ขั้นต่อการกันถึงขนาดนั้น

          แล้วก็นี้ล่ะเป็นพื้นเป็นฐาน  ที่จะให้เรามีทุนเป็นลำดับลำดาและเป็ฯกำไรขึ้นในวันนั้นวันนี้  หนุนกันขึ้นๆ สมาธิไม่มีก็ค่อยมีขึ้นมา  เอ้า ! เมื่อมีขึ้นมาแล้วจิต  จนกระทั่งกลายเป็นสมาธิด้วยความขยันหมั่นเพียร  ด้วยความอุตส่าห์พยายาม  เสริมกันขึ้นๆ ต่อจากนั้นก็ฟัดกันทางปัญญา

          เอ้า ! ปัญญา  ไม่มีครูบาอาจารย์ก็ออกไม่ได้  มันติด  ติดสมาธิ  เพราะสมาธินี้เป็นความสุขที่พอจะให้ติดได้  ถึงติดได้คนเราความสุขในสมาธิก็พออยู่พอกินแล้ว  จิตใจไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ  พอจิตหยั่งเข้าสู่ความรู้อันเดียวแน่วอยู่อย่างนั้น  ไม่อยากออกยุ่งกับอะไรเลย  ตาไม่อยากมองดู  หูไม่อยากฟัง  มันเป็นการยุ่งกวน  รบกวนจิตใจของเราให้กระเพื่อมเปล่าๆ

          เมื่อจิตได้แน่วอยู่ในสมาธินั้นอยู่สักกี่ชั่วโมงก็อยู่ได้  นี่ล่ะมันติดอย่างนี้  สุดท้ายก็นึกว่าความรู้ที่เด่นๆ อยู่นี้เองจะเป็นนิพพาน  อันนี้จะเป็นนิพพาน  จ่อกันอยู่นั้นว่าจะเป็นนิพพานๆ  สุดท้ายมันก็เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นล่ะจนกระทั่งวันตาย  ก็จะต้องเป็นสมาธิ  และติดสมาธิจนกระทั่งวันตาย

          ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มาฉุดลากออก  ผมเองก็คือหลวงปู่มั่นมาฉุดลาก  เถียงกันเสียจนตาดำตาแดง  จนกระทั่งพระทั้งวัดแตกฮือกันมาเต็มอยู่ใต้ถุน  นี่เพราะฟังการโต้กับหลวงปู่มั่น  ไม่ใช่โต้ด้วยทิฐิมานะอวดรู้อวดฉลาดนะ  โต้ด้วยความเราก็เข้าใจว่าจริงอันหนึ่งของเรา  ท่านก็จริงอันหนึ่งของท่าน  สุดท้ายก็หัวเราแตก  เพราะท่านรู้นี่  เราพูดทั้งๆ ที่กิเลสเต็มหัวใจ  แต่เข้าใจว่าสมาธินี่มันจะเป็นนิพพาน

          ท่านก็ถามเรื่อย  พอจิตได้หลักได้เกณฑ์แล้วถาม  นานๆ ท่านถามทีหนึ่ง  "เป็นไงท่านมหา  จิตสบายดีเหรอ"  ท่างนี้ตอบทันที  "จิตสบายดีอยู่"  ท่านก็นิ่งเฉยไป  ไม่รู้ว่าท่านจะฟาดเราเมื่อไร  เป็นอย่างนั้นล่ะ  เพราะคนหนึ่งเหนือแล้ว  มองเห็นหมดนี่  ถาม  "เป็นยังไงท่านมหา  จิตน่ะ"  บางทีว่าเป็นยังไง  เท่านั้นก็รู้แล้ว  "จิตสบายดีอยู่  สงบดีอยู่"  ท่านก็นิ่งไป  ถึงคราวท่านจะเอา  "เป็นยังไงท่านมหาจิตน่ะ"  "สบายดีอยู่"   "ท่านจะนอนตายอยู่นั้นเหรอ"  ขึ้นเลยล่ะที่นี่  เห็นไหมล่ะ  เปลี่ยนหมดนะ  ลักษณะท่าทีนี้เปลี่ยนหมด

          แล้วสุดท้ายก็ท่านมาไล่ออก  "เห็นไหม  สมาธิมันมีความสุขมากขนาดไหน  หือเท่าไร?  แล้วเนื้อติดฟันมีความสุขขนาดไหนว่าซิ?  สมาธิก็เหมือนกับเนื้อติดฟันนั่นแหละ  มันสุขขนาดไหนเนื้อติดฟัน  ท่านรู้ไหมๆ?  ท่านรู้ไหมว่า  สมาธิทั้งแท่งนั้นล่ะคือ ตัวสมุทัยทั้งแท่ง  ท่านรู้ไหมๆ?"

          "ถ้าหากว่าสมาธิเป็นตัวสมุทัยแล้ว  สัมมาสมาธิจะให้เดินที่ไหน"  นั่นเอาซิใส่กัน

          "มันก็ไม่ใช่สมาธิตาย  นอนตายอยู่อย่างนี้ซิ  สมาธิของพระพุทธเจ้า  สมาธิต้องรู้สมาธิ  ปัญญาต้องรู้ปัญญา  อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย  มันบ้าสมาธินี่...  สมาธินอนตายเหรอเป็นสัมมาสมาธิน่ะ  เอ้าๆ พูดออกมาซิ?"

          มันก็ยอมล่ะซิ  พอออกจากท่านไปแล้ว  โห! นี่เราไปเก่งมาจากทวีปไหนนี่  เรามามอบกายถวายตัวต่อท่านเพื่อศึกษาอรรถ  ศึกษาธรรมหาความจริง  ทำไมวันนี้จึงมาโต้แย้งกับท่านยิ่งกว่ามวยแชมเปี้ยนเขานี่  มันเป็นยังไงเรานี้  มันไม่เกินครูอาจารย์ไปแล้วเหรอ  และท่านพูดนั้น  ท่านพูดด้วยความหลงไหล  หรือใครเป็นคนหลงล่ะนะ

          เอาล่ะทีนี้ย้อนเข้ามาหาตัวเอง  ถ้าไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านสอนนี้  มาหาท่านทำไม  ถ้าว่าเราวิเศษวิโสแล้ว  ทำไมเราจึงต้องมาหาครูบาอาจารย์ที่ตนว่าไม่วิเศษล่ะ  แต่เราก็ไม่เคยดูถูกท่านแหละ  นี่หมายความว่าตีเจ้าของ  ย้อนขึ้นมาแข่งเจ้าของ  สุดท้ายก็ออกก้าวทางด้านปัญญา

________________________________________


หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ปรวัติ ตอนที่ ๒๑ การพิจารณาธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ

เทศน์เมื่อ  ๕  มกราคม  ๒๕๑๙






















          เรื่องความตายนี้มันไม่กลัวเลย  ก็จะเอากลัวมาจากไหน  ความตายก็เป็นธรรมดา  คือ ปัญญาแยกแยะลงไป  จนกระทั่งอันไหนมันตาย  ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ  หนัง  กระดูกนี้  มันเป็นส่วนธาตุเดิม  ธาตุดิน

          ธาตุดินนี้มันตายเมื่อไร  สลายลงไปแล้วเป็นอย่างไร  กำหนดตามลงไปก็รู้ว่า  ลงไปสู่ธาตุเดิมของมัน  ธาตุน้ำก็ลงไปสู่ธาตุน้ำตามเดิมของมัน  ธาตุลม  ธาตุไฟก็ลงไปสู่ธาตุเดิมของตนเท่านั้น  ไม่ได้มีอะไรฉิบหาย  มีแต่เพียงว่าธาตุเหล่านี้มาประชุม  หรือมาผสมเข้ากันเป็นก้อน  อาศัยจิตเข้าไปสิง  ตัวเจ้ามหาหลงเข้าไปสิงเท่านั้น  ก็ไปแบกเอาหมด  นี่เป็นตัวของตน  ไปจับจองเอา  นี่เป็นเรา  นี่เป็นของเรา  จึงไปกอบโกยเอาทุกข์ทั้งมวลแบบรับเหมาหมด  ด้วยความสำคัญอันนั้นเข้ามาเผาลนตนเองเท่านั้น  ไม่มีอย่างอื่น

          ตัวจิตนี้เองเป็นนักโทษ  ธาตุขันธ์เขาไม่ได้เป็นนักโทษ  เขาไม่ได้เป็นตัวข้าศึกอะไรแก่เรา  เขามีความจริงของเขาอยู่อย่างนั้น  แต่เราไปแบกไปหาม  ไปสำคัญต่างหาก  ความทุกข์จึงเป็นเราเป็นผู้ผลิตขึ้นมาเอง  สิ่งเหล่านั้นไม่ได้ผลิตให้เรา  ไม่มีอะไรมาให้ทุกข์แก่เรา  แน่ะ  มันเข้าใจอย่างนี้  เราเองเป็นผู้สำคัญผิด  เป็นผู้ทุกข์  เพราะสำคัญผิดเป็นเหตุ  ให้เป็นทุกข์เกิดขึ้นมาเผาลนจิตใจให้เดือดร้อน  เห็นได้ชัดว่า  ไม่มีอะไรตาย

          จิตก็ไม่ตาย  มันยิ่งเด่น  พิจารณาธาตุสี่  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ลงถึงธาตุเดิมของเขาเต็มที่แล้ว  จิตยิ่งเด่นชัด  คำว่า "ตาย"  ที่ไหนตาย  อะไรตาย  อาการเหล่านี้มันก็ไม่ตาย  ธาตุสี่  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ก็ไม่ตาย  จิตล่ะมันตายอย่างไร  จิตยิ่งรู้  ยิ่งเด่นยิ่งเห็นได้ชัด  อันนี้มันก็ไม่ตาย  แล้วมันกลัวตายอะไร  อ๋อ ! นี่หลอกกัน  นั่นแน่ะ  หลอกันมาตั้งกับตังกัลป์  ความจริงแล้วไม่มีอะไรตาย

          คำว่า "หลอก"  นี่ไม่ได้หมายความว่าด้วยเจตนา  หลอกเพราะความหลงพาเป็นต่างหาก  กลัวตาย  อ๋อ ! โลกกลัวตาย  กลัวอย่างนี้เมื่อเรียนไม่ถึงความจริงของมัน  เพราะไม่ทราบอะไรตาย  ก็มันไม่มีอะไรตายนี่  ต่างอันต่างจริงอยู่เพียงเท่านี้  รู้ชัดเจน  จิตมันประกาศตนโดยธรรมชาติ  เห็นความอัศจรรย์ทุกครั้งอย่างเด่นชัด

          เวลามันดับหมดจริงๆ ด้วยการพิจารณา  ทั้งๆ ที่ทุกขเวทนามันเหมือนจะส่งตัวไปถึงเมฆนั่นแน่ะ  ความทุกข์ความร้อนเป็นฟืนเป็นไฟภายในร่างกาย  แต่แล้วมันก็ดับลงด้วยอำนาจของสติปัญญาอย่างราบ  ไม่มีอะไรเหลือเลย  ร่างกายก็ดับไปด้วยกันในความรู้สึก  ไม่ปรากฏเลย  เลยเป็นความรู้อันเดียว  เหมือนอยู่ในกลางอากาศ  แต่ก็ม่ไปเทียบกันเวลานั้น  มันว่างไปหมด  แต่ความรู้นั้น  รู้อยู่ชัดเจน  มีอันเดียวเท่านั้น  สิ่งที่แปลกในโลกนี้มีอันเดียว คือ ใจ

          ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  กับ  ใจ   ไม่สัมผัสสัมพันธ์  จึงหมดความรู้สึกจากดิน  จากน้ำ  จากลม  จากไฟ  จากร่างกายทุกส่วน  เหลือแต่ความรู้อยู่ลำพังตนเองล้วนๆ  เป็นความรู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรเลย  เป็นความรู้ที่อัศจรรย์จากการพิจารณารอบคอบแล้วถอนตัวออกมาจากสิ่งเหล่านั้น  เด่น  ชัดเจน  อัศจรรย์   ถ้าลงจิตได้เป็นเช่นนั้นแล้ว  แม้จะเป็นอยู่สักกี่วันกี่คืนก็ตาม  ก็ไม่มีความหมายถึงทุกขเวทนาว่า  ร่างกายจะแตกจะดับ  หรือจะเจ็บจะปวดที่ไหน  มันไม่มี  จะเอาอะไรมามี  กาล  สถานที่ไม่มีในขณะจิตนั้น

          นี่ก็ทำให้หยั่งถึงเรื่องพระสาวก  หรือพระพุทธเจ้า  หรือพระปัจเจกพระพุทธเจ้า  ท่านเข้านิโรธสมาบัต ๗ วัน  ท่านถึงออก  เข้าเท่าไรก็เข้าได้  ถ้าลงจินไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไรเลยเช่นนั้น  เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ  ซึ่งสักแต่ว่าปรากฏขึ้นนี้เท่านั้น  ไม่มีกาล  สถานที่เข้าไปเกี่ยวข้อง  จะนั่งอยู่ตั้งกัปตั้งกัลป์ก็นั่งเถอะ  แม้ร่างกายทนไม่ไหว  มันจะแตกก็สลายไปเฉยๆ นั่นแน่ะ  โดยไม่กระทบกระเทือนถึงธรรมชาตินั้นเลย

          ทีนี้จิตยอมรับแล้ว  เชื่อจริงๆ  ในการเข้านิโรธสมาบัติได้เท่านั้นวันเท่านี้วันของท่านผู้วิเศษทั้งหลาย  ลงถึงจิตชั้นนี้แล้ว  ไม่ถอนตัวออกมาสู่อะไรๆ  เข้าไปกี่วันกี่เดือนก็ไม่รู้ความหมายอะไร  ร่างกายมันมีสุขมีทุกข์ที่ไหน  ไม่มีเลย  ร่างกายมันไม่มีความรู้สึก  เวทนามันก็ไม่มีความรู้สึก  เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ นั่งอยู่ตั้งกัปตั้งกัลป์ก็นั่งได้  ถ้าเป็นอย่างนี้ทำให้เชื่อถือเรื่องพระปัจเจกพุทธเจ้า  ท่านเข้านิโรธสมาบัติเลยถืออันนี้เป็นหลักฐานยืนยันภายในจิต  ใครจะว่าบ้าก็ว่าไป  ปากเขามี  หูเรามี  อยากฟังก็ฟังไป  ไม่อยากฟังก็เฉยเสีย  เรื่องนี้เรื่องนั้นก็รู้ไปเห็นไป  ไม่มีใครผูกขาดนี่

          แม้เราจะไม่นั่งไปนานก็ตาม  แต่ขณะจิตที่มันสงบด้วยขนาดนั้นชั่วระยะเดียว  ก็พอเป็นหลักฐานพยานได้กับท่านที่เข้าสู่นิโรธสมาบัติได้เป็นเวลานานๆ เพราะเป็นลักษณะนี้  ลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรเลย  ร่างกายก็มีแต่ร่างกาย  เปื่อยพังไปหมด  มันทนไม่ไหว  เพราะร่างกายมันเป็น  อนิจฺจํ  ทุกฺขํ  อนตฺตา   มันก็เปื่อยไปเฉยๆ  โดยที่จิตนั้นไม่รับทราบเลย  มันเป็นขั้นที่เกิดขึ้นด้วยสติปัญญา

          นี่เป็นขั้นของปัญญาอบรมสมาธิ  คือจิตดวงนี้มันเต็มภูมเต็มฐานของความสงบเช่นนั้น  เพราะปัญญาค้นคว้าอย่างเต็มเหตุเต็มผลแล้ว  รวมลงไปนี้รวมอย่างองอาจกล้าหาญ  รวมอย่างละเอียดมากทีเดียว  ลำพังจิตที่เต็มไปด้วยกำลังของสมาธิ  กำหนดแล้วลงไปเลยนั้น  มันแน่วอยู่อย่างเดียวเท่านั้น  ไม่ได้ลึกซึ้งละเอียดเหมือนอย่างนี้  แต่จิตที่สงบลงด้วยอำนาจขอปัญญานั้นละเอียดทุกครั้งไป  ถ้าลงได้ตะลุมบอนขนาดนี้แล้วเป็นผลขึ้นมา  จะต้องสงบเต็มที่  ดังที่เป็นอยู่นี้

          นี่เป็นรากฐานหรือเป็นต้นทุนแห่งความอาจหาญ  หรือเป็นเชื้ออันสำคัญที่ให้เกิดความเชื่่อมั่นในเรื่องของจิต  อะไรจะสูญสิ้นไปเพียงไรก็ตาม  แต่ธรรมชาติที่รู้นี้ไม่สูญ  เห็นได้ชัดเจน  เห็นก็เห็นกันอย่างชัดเจน  ในขณะที่ไม่มีอะไรเข้าเกี่ยวข้องเลยในความรู้สึกนั้น  มีสักแต่ว่ารู้อันเดียวเท่านั้น  จึงเด่นมาก  นี่จะว่าขั้นสมาธิหรือขั้นปัญญา  มันพูดไม่ถูกนะ  เวลาจิตเป็นจริงๆ เป็นอย่างนั้น

          แต่นั้นมาก็เรื่อยๆ  พิจารณาเรื่อย  ออกทางปัญญานี้  ขยับขยายออกอย่างกว้างขวางแล้วก็ย่นเข้ามา พอเข้าใจเป็นลำดับลำตาแล้วจิตก็ปล่อยเข้ามา  ปล่อยเข้ามา  ย่นเข้ามา  เข้าวงแคบๆ มาเรื่อยๆๆ  พิจารณาถึงธาตุถึงขันธ์  แยกธาตุแยกขันธ์   ทีนี้จะเริ่มเป็นสมุจเฉทปทาน  คือ  จะละกันได้โดยเด็ดขาด  จากการพิจารณาในวาระต่อมานั้น  มันชนะกันได้ชั่วกาล  พอให้เป็นหลักฐานพยานยืนยันได้เท่านั้น  ในเวลาที่เรายังพิจารณามันไม่เด็ดขาด  ยังไม่เป็นสมุจเฉทปทาน  เวลาพิจารณาทางด้านปัญญานี้  มันเข้าใจได้ชัด  ขาดออกจากกัน  ถอนออกจากกัน  ขาดออกเป็นลำดับๆ  ขาดไม่มีชิ้นต่อ  ขาดไปโดยลำดับๆ  เหลือแต่ความรู้ล้วนๆ


________________________________________



      


วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๒๐ เห็นกายที่หนองผือ (บรรลุสกิทาคามี)

เทศน์เมื่อ  ๑๗  กันยายน  ๒๕๔๑


          ปีพรรษา ๒๒  ท่าน(องค์หลวงปู่มั่น)  ได้หลักเกณฑ์ไม่หวั่นไหวตรงนั้นล่ะ  ทั้้งๆ ที่กิเลสมีอยู่นะ  แต่ว่าหลักธรรมนี้เข้าสู่ใจแล้ว  ไม่หวั่นไหวเลย  เชื่อแน่ต่อมรรคผลนิพพาน  กล้าหาญตั้งแต่นั้นมา  ไปได้หลักเกณฑ์อันใหญ่หลวงที่ถ้าสาริกา  สิ่งเหล่านี้มันมีตั้งแต่ครั้งนั้นเหรอ  ทุกวันนี้ก็ทำลงไปซิใครจะทำ  สิ่งที่จะเจอของจริงมีอยู่  เป็นแต่เพียงว่าหลับตาดูเฉยๆ ไม่เห็ฯ  เวลาลืมตาปั๊บก็เห็นอย่างท่านเห็น

          เราพูดไม่ใช่อวดนะ  จนได้ไปเล่าให้พ่อแม่ครูอาจารย์ฟังอยู่หนองผือ  พิจารณาร่างกายนี้แหละ  พิจารณาลงไปๆ  ดึกๆ นะ  พิจารณาลงไปๆ  ร่างกายมันเป็นของมันเอง  เวลามันจะเป็นขึ้นมา  มันแปลกนะ  ไม่มีใครช่วย  ไม่มีใครตกใครแต่ง  มันหากเป็นของมันเอง  พอจิตจ่อลงไปจุดเดียวเท่านั้น  ร่างกายจะทำงานของมันเอง  ผุพังแตกสลาย  สลายๆ ลงไป  พังลงไป  ก็ยิ่งสนใจ  ยิ่งดูความเป็นของมัน  นั่นล่ะธรรมท่านแสดง  อันหนึ่งเหมือนผู้ดู  อันหนึ่งเหมือนธรรมแสดงลวดลายต่างๆ

          สุดท้ายร่างกายนี้ก็พังลงไปๆ หมด  ยังเหลือแต่กองกระดูก  พิจารณากองกระดูก  กระดูกเหล่านี้มันก็เป็นดินเหมือนกัน  เหล่านั้นก็เป็นดิน  ส่วนที่ละเอียดมันก็ลงไปก่อนแล้ว  อันนี้ส่วนหยาบมันก็จะลงเป็นแผ่นดินอันเดียวกันนี้แหละ  พอว่าอย่างนั้นพรึบเลย  นั่นเห็นไหมล่ะ  ลงก็พรึบหมดเลย  โลกธาตุดับหมด

          โอ้โห ! อัศจรรย์  ลงเป็นชั่วโมงๆ นะ  เงียบเลย  แต่ธรรมชาติที่รู้ไม่ได้เงียบตัวเอง  สว่างจ้าเลย  มันเงียบสิ่งมาเกียวข้องต่างหาก  ว่างไปหมดเลย  โลกธาตุนี่ว่างเปล่าไปหมด  โอ้โห ! อัศจรรย์เป็นชั่วโมงๆ  จิตถึงค่อยถอนขึ้นมา  พอถอนขึ้นมาแล้วกำหนดดูต้นไม้  ภูเขา  กำหนดดูกุฏิศาลาไม่เห็นเลย  ว่างไปหมด  ลืมตาดูก็มองเห็นเป็นรางๆ แล้วว่างไปหมด  ตานี่เห็นพอเป็นรางๆ เงาๆ นะ  ส่วนใหญ่ของจิต  มันทะลุไปหมด  ว่างไปหมดเลย  อัศจรรย์

          ขึ้นไปเล่าให้ท่านฟัง  ท่านก็ขึ้นทันทีเลย   "เอ้อ ! ได้หลักพยานแล้ว  อย่างนี้ล่ะผมเป็น"  ท่านก็ยกนั้นล่ะขึ้นมา  ขึ้นอย่างขึงขังตึงตัง  "ผมเป็นที่ถ้ำสาริกา  เป็นอย่างท่านมหานี่ล่ะ"  เอาเลยได้การ  ขึ้นเลยนะขึงขัง  นั่นเห็นไหม  ธรรมเข้าดลใจท่าน  ก็อกน้ำที่ใสสะอาด  ท่านก็ผางออกมาเลย  เราก็ฟังอย่างเคลิ้มเทียว  ใครบอก  มันเป็นขึ้นมาเอง  จึงไปพูดให้ท่านฟังได้อย่างอาจหาญ  เอาความจริงไปพูด  ท่านก็รับขึ้นเลยทันที  "เออ ! เอาล่ะที่นี้ได้การ  ผมเป็นอย่างนี้แหละที่ถ้ำสาริกา  เอ้า ! ทีนี้ได้การๆ"  ผึงผังตึงตังเลย

          สองต่อสองนะ  เสียงลั่นอยู่ในห้อง  เรากับท่านไม่มีอะไรกันมันเหมือนพ่อกับลูกนั่นแหละ  จะเข้าหาท่านเมื่อไร  ท่านไม่เคยห้ามนะกับเรานะ  องค์อื่นไปยุ่งไม่ได้นะ  แม้ท่านป่วยก็เหมือนกัน  ใครจะไปยุ่งท่านไม่ได้นะ  ถ้าเราขึ้นเมื่อไร  ท่านไม่เคยว่าอะไรเลย  ไม่เคยนะกับเราท่านนอนอยู่  เราไปปั๊บ  เข้าไปถึงเท้าท่าน  เพราะเราก็หมุนติ้วของเรา  ธรรมะของเรา  ไปกราบเรียนเรื่องธรรมะ  ท่านก็อธิบายให้ฟังปุ๊บปั๊บๆ  เราก็ลงปุ๊บไปเลย

          ท่านไม่เคยห้ามเรานะ  นี่ที่แปลกอยู่  ไม่เคยได้ยินเลยว่าห้ามว่ามาทำไม  ไม่เคยมี  ทั้งๆ ที่พระเณรเข้าใกล้ไม่ได้  เราไปเมื่อไรได้ทั้งนั้น  ไม่ว่ากลางค่ำกลางคืน  เวลาไหนได้ทั้งนั้นเลย  ก็มีแปลกอันหนึ่งไม่ใช่ยกตัวนะ  เราพูดตามเรื่องท่านเมตตา  พอเล่าถวายท่านแล้วใจก็พอง  แล้วเราก็ได้หลักของเราก็แน่อยู่แล้ว  ก็ยิ่งมีสักขีพยานอันเป็นตัวเอกแล้ว  ใจก็ยิ่งพองขึ้น   โถ ! เราก็ซัดใหญ่เลย  วันหลังก็จะเอาอย่างเก่า  มันไม่ได้อีกแหละ  สองสามวันซัดกันอยู่ยังไม่ได้  ขึ้นไปหาท่านอีก  "ที่นี่มันไม่เป็นอย่างนั้นอีก"   "มันเป็นยังไง"   ท่านว่า  "ว่าจะเอาให้เป็นอย่างนั้น  มันเลยเป็นหนเดียว  จากนั้นมันก็รู้ธรรมดา  ลงธรรมดา"

          "มันจะเป็นบ้านะนี่"  ท่านว่า  บทจะเอา  "ไม่ได้สอนให้คนเป็นบ้า  มันเป็น  มันก็เป็นหนเดียวเท่านั้น  ผมก็เป็นหนเดียวเท่านั้นแหละ  ผมไม่เห็นเป็นบ้า  นี่มาเป็นบ้าอะไรอีก"   ขนาบใหญ่เลย   "ไม่ได้สอนคนให้เป็นบ้านี่นะ  มันเป็นแล้วก็ผ่านไปแล้ว  ไปยุ่งกับมันทำไม  พิจารณาในหลักปัจจุบันซิ  มันจะเป็นอะไรก็ให้เป็นขึ้นในหลักปัจจุบัน  ท่านรู้นั้น  ท่านรู้ในหลักปัจจุบันใช่ไหม  นั่นท่านเอาล่ะนะ  นี้ไปคว้าหาที่ไหนอีก"  โอ๋ย ! ขนาบอีกนี่ก็ดี  เราก็ไม่ลืม  นั่นเห็นไหม  จิตเวลามันแสดง

          นี้ถึงคราวที่จะพูด  นี่ไม่เคยพูดที่ไหนเลยนะ  พึ่งมาพูดนี่นะ  ก็อย่างนั้นแล้ว  เราไม่ได้หนัดได้หน่วง  รู้เหมือนไม่รู้  มีเหมือนไม่มี  เพราะไม่ได้หนักได้หน่วงเหมือนกิเลส...ธรรมมีในใจเหมือนไม่มี  แล้วแต่เหตุผลกลไกที่จะออกต้อนรับกัน  เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้มาเกี่ยวข้องหนักเบามากน้อย  มันก็จะออกตามขั้นตามภูมิ  ควรหนัก  หนัก  ควรเบาเบา  ถ้าไม่ควรก็ไม่ออกเลย  มีเท่านั้น  ไม่เห็นหนักเห็นหน่วง  ว่าอยากโอ้อยากอวด  อย่างนั้นไม่มี

          เวลาท่านขู่เอาวันนั้น  นี้ยังเป็นบ้าอยู่หรือนี่  ก็สอนให้ดีทำไมจะเป็นบ้า  ก็มันไม่เป็นอย่างเก่า  จะให้มันเป็นอะไรอีก  ก็มันเป็นแล้วขนาบใหญ่เลย  "ผมก็เป็นหนเดียวเท่านั้นไม่เคยเป็นอีกเลย  ผมก็ไม่สงสัยนี่นะ"  ว่างั้นนะ  "นี่มาเป็นบ้างมเงาอะไรอีก"  เราก็  โห ! ขบขันดี  ก็ไม่เป็นอีกนะ  เป็นหนเดียวเท่านั้น  เป็นแบบนั้นนะ  แบบอื่นมันก็เป็นของมันจิปาถะ  แล้วแต่มันจะเป็น  แต่ที่เด่นๆ เด็ดๆ มากๆ สะดุดใจอย่างมาก  อย่างไม่เคยเป็น  เราก็เล่าให้ฟังอย่างที่ขึ้นไปเล่าถวายท่าน

          อย่างอื่นมันก็เป็นอยู่แต่ธรรมดาๆ  แต่วันนั้นมันเป็นแบบสะเทือนโลก  ไปเล่าให้ท่านฟัง  ท่านก็คึกคักขึ้นเลย  "เออ ! ถูกต้องแล้ว  เหมาะแล้ว  ได้หลักได้เกณฑ์แล้ว  ผมเคยเป็นมาแล้วตั้งแต่อยู่ถ้ำสาริกา"  ท่านว่า  "ผิดกันตั้งแต่ผีใหญ่เท่านั้น  ท่านมหาไม่มีผี  ผมมีผี"  ท่านก็เลยรื้อมาเล่าให้ฟัง  "โห ! โลกธาตุดับหมดเลย  เหมือนกันกับท่านมหาแหละ  พูดตรงกันเป๋งเลย  เอาล่ะทีนี้ได้หลักใหญ่แล้ว"  ท่านว่าหลักใหญ่ คือ มันครอบไปหมดเกี่ยวกับเรื่องมรรคผลนิพพาน  เกี่ยวกับความรู้แปลกประหลาดอะไร  มันครอบไปหมด  ก็เป็นหนเดียวเท่านั้นล่ะ  จนกระทั่งป่านนี้ไม่เคยเป็นอย่างนั้นอีก

          แต่นี้มันเป็นอย่างนั้น  เป็นยังไงพูดไม่ถูก  มันเป็นของมันอยู่เป็นประจำ  แต่อันไหนที่เป็นบทเด็ดของมันก็มีอย่างที่ว่านี่  บทเด็ดมันก็มี  ท่านก็ไม่ค่อยเล่าเรื่องอะไรอีก  ท่านก็พูดบทเด็ดให้ฟังอย่างนั้นล่ะของท่าน  ท่านก็รู้ของท่านไปตลอดเวลา  พูดมันแปลกอยู่นะ

_____________________________________

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๑๙ จิตอัศจรรย์จากการนั่งภาวนาตลอดรุ่ง

เทศน์เมื่อ  ๓๑  ตุลาคม  ๒๕๒๑


          พอเว้นคืนหนึ่งสองคืนก็นั่งตลอดรุ่งอีก  เว้น ๒-๓ คืนเอาอีกจนกระทั่งจิตอัศจรรย์  เรื่องความตายนี้หายหมด  เวลามันรู้จริงๆ แล้วแยกธาตุ  แยกขันธ์  ดูความเป็ฯความตาย  ธาตุสี่  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ   สลายตัวไปแล้วก็เป็นดิน  เป็นน้ำ  เป็นลม  เป็นไฟตามเดิม  อากาศธาตุก็เป็นอากาศธาตุตามเดิม  ใจที่กลัวตายก็ยิ่งเด่น  มันเอาอะไรมาตาย  รู้เด่นขนาดนี้มันตายได้ยังไง  ใจก็ไม่ตาย  แล้วมันกลัวอะไร  มันโกหกกัน  โลกกิเลสมันโกหกกันต่างหาก  (คำว่าโกหกกันนั้น  หมายถึง  กิเลสโกหกสัตว์โลกให้กลัวตาย  ทั้งที่ความจริงไม่มีอะไรตาย)

          พิจารณาวันหนึ่งได้อุบายแบบหนึ่งขึ้นมา  พิจารณาอีกวันหนึ่งได้อุบายแบบหนึ่งขึ้นมา  แต่มันมีอุบายแบบเผ็ดๆ ร้อนๆ แบบอัศจรรย์ทั้งนั้น   จิตก็ยิ่งอัศจรรย์และกล้าหาญจนถึงขนาดที่ว่า  เวลาจะตายจริงๆ มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ  ทุกขเวทนาทุกแง่ทุกมุมที่แสดงในวันนี้เป็นเวทนาที่สมบูรณ์แล้ว  จากนี้ก็ตายเท่านั้น  ทุกขเวทนาเหล่านี้เราเห็นหน้ามันหมด  เข้าใจมันหมด  แก้ไขมันได้หมด  แล้วเวลาจะตาย  มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราให้หลงอีกวะ  หลงไปไม่ได้  เวทนาต้องเวทนาหน้านี้เอง  พูดถึงเรื่องความตายก็ไม่มีอะไรตาย  กลัวอะไรกันนอกจากกิเลสมันโกหกเรา  ให้หลไปตามกลอุบายอันจอมปลอมของมันเท่านั้น  แต่บัดนี้ไปเราไม่หลงกลของมันอีกแล้ว

          นั้นล่ะจิตเวลามันรู้  และมันรู้ชัดตั้งแต่คืนแรกนะ  ที่ว่าจิตเจริญแล้วเสื่อมๆ  ก่อนมาภาวนาจนนั่งตลอดรุ่งคืนแรกมันก็ไม่เสื่อม  ตั้งแต่เดือนเมษายนมาก็ไม่เสื่อม  แต่มันก็ยังไม่ชัด  พอมาถึงคืนวันนั้นแล้วมันชัดเจน  เอ้อ! มันต้องอย่างนี้ไม่เสื่อม  เหมือนกับว่ามันปีนขึ้นไปตกลงๆ  พอปีขึ้นไปเกาะติดปั๊บ  ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่เสื่อม  มันรู้แล้ว  จึงได้เร่งเต็มที่เต็มฐาน

          ในพรรษานั้นนั่งภาวนาตลอดรุ่งถึง ๙ คืน ๑๐ คืนกว่าๆ  แต่ไม่ติดกัน  โดยเว้น ๒ คืนบ้าง ๓ คืนบ้าง  บางทีก็เว้น ๖-๗ คืนก็มี  จนเป็นที่แน่ใจในเรื่องของทุกขเวทนาหนักเบามากน้อย  เข้าใจวิธีปฏิบัติต่อกัน  หลบหลีกปลีกตัวแก้ไขกันได้ทันท่วงทีไม่มีสะทกสะท้านแม้จะตายก็ไม่กลัว  เพราะได้พิจารณาด้วยอุบายแยบคายเต็มที่แล้ว  สติปัญญาทันความตายทุกอย่าง

_____________________________________

องค์หลวงปู่มั่นแก้การนั่งภาวนาตลอดรุ่ง
เทศน์เมื่อ  ๒๕  ธันวาคม  ๒๕๔๖

          เล่าความอัศจรรย์ให้ท่านฟัง  ทุกคืนไม่มีพลาด  ลงถึงความอัศจรรย์  จนกระทั่งตอนท้ายนี้  ท่านไม่ค่อยพูดยกยออะไรนัก  ท่านฟังนิ่งๆ ไป  เราก็ยังไม่รู้ตัว  ความรู้ของเรามันก็เด่นอยู่ตลอดเวลา  ไม่เห็นบกพร่องที่ตรงไหน  พอถึงวาระที่ท่านจะกระตุกหรือเหยียบเบรกให้เรา  พอขึ้นไปหาท่าน  กราบท่านเท่านั้น   "กิเลสมันไม่ได้อยู่ในกายนะ  มันอยู่ในใจนะ  มันอยู่กับใจต่างหาก  มันไม่ได้อยู่ในธาตุในขันธ์  มันไม่อยู่ในกายนะ"  ท่านว่างั้น   ถ้าธรรมดาเราแล้วจะหักโหมอะไรนักหนา  ความหมายว่างััน  เมื่อจิตก็พอเป็นพอไปแล้ว  จะมาหักโหมอะไรนักหนา

          แต่ท่านรู้นิสัยเรา  เป็นนิสัยผาดโผนเอาจริงเอาจัง  ท่านก็ใส่เปรี้ยงเลยว่า  "กิเลสมันไม่อยู่กับกายนะ  มันอยู่กับใจ"  ท่านก็ยกม้าที่มีในตำรานั้นแหละมาสอนมาบอกเรา  "สารถีฝึกม้า  ถ้าม้าตัวไหนมันผาดโผนมาก  มันคึกมันคะนองมาก  ผาดโผนมาก  สารถีเขาจะต้องฝึกอย่างแรงทีเดียว  ฝึกอย่างหนัก  ฝึกอย่างหนักแน่นทีเดียว  จนกว่าว่าม้านี่ค่อยลดพยศลงไป  การฝึกอย่างนั้นเขาก็ค่อยลดลงตามส่วน  จนกระทั่งว่าม้านี้ใช้ได้แล้ว  ไม่มีพยศอดสูอะไร  พอที่จะต้องฝึกอย่างนั้นแล้ว  เขาก็ใช้งานใช้การเป็นธรรมดาเท่านั้นแหละ"

          ท่านไม่ได้ย้อนมาหาเรา  เรายังเสียดาย  เพราะนิสัยเรามันหยาบ  ท่านว่างั้น  เราเข้าใจหมดแล้ว  พอพูดอย่างงั้น  เพราะมันมีแล้ว  ในตำราก็มี  เราก็เห็นมาแล้ว  พูดเท่านั้นแหละ  เราก็เข้าใจ  แต่เราที่ยังเสียดายอยู่อันหนึ่งว่า  สารถเขาฝึกม้า  เขารู้จักประมาณ  เขาฝึกเป็นอย่างนั้น  แต่ไอ้หมาตัวนี้มันฝึกยังไง  มันถึงผาดโผนเอานักหนา  แต่ก้นแตกไม่เคยเล่าถวายท่านนะ  ก้นแตกไม่เคยเล่า  เล่าตั้งแต่ความผาดโผนเวลาฝึกทรมานตัวเองให้ท่านฟัง  เรายังเสียดาย  ท่านไม่ย้อนกลับมาว่า  ไอ้หมาตัวนี้มันฝึกยังไง  มันถึงไม่รู้จักประมาณ  ความหมายก็ว่าอย่างงั้น

          ทีนี้พอท่านว่าให้วันนั้นแล้ว  เราหยุดเลยนะนั่งตลอดรุ่งๆ  ถ้าหากว่าท่านไม่มากระตุกนั้น  มันยังจะเอาอีก  ไม่ใช่เล่นๆ นะ  ก็เลยหยุดตั้งแต่บัดนั้น  ไม่นั่งตลอดรุ่งอีกเลย  นั่งเป็นเวลา ๙ ถึง ๑๐ คืน  เว้นสองคืนบ้าง สามคืนบ้าง  ตลอดรุ่งๆ นี่ล่ะจับจิตได้ความอัศจรรย์  ได้ความแปลกประหลาดจากภาคปฏิบัติ  เวลาที่เราฝึกทรมานอย่างเต็มเหนี่ยว  เพราะกิเลสมันดื้อ  เราก็ใส่กันอย่างหนักอย่างที่ว่านี่แหละ  จากนั้นมาจิตของเรามันก็แน่นหนามั่นคงแล้ว  เราก็ไม่เคยนั่งตลอดรุ่งอีกเลย  จิตสงบแน่ว  นั่นเห็นไหม  ผลแห่งการปฏิบัติด้วยจิตตภาวนาของผู้บำเพ็ญทั้งหลาย  จิตใจมีความแน่นหนามั่นคงขึ้นไปเรื่อยๆๆ

______________________________________

นิมิตโยมพ่อตาย (พ.ศ. ๒๔๘๗)
เทศน์เมื่อ  ๑๕  กันยายน  ๒๕๕๑

          พ่อพูดคำหนึ่ง  เราก็ไม่ลืมนะ  ส่วนแม่ไม่พูด  ส่วนพ่อนั้นมาพูดคำหนึ่ง  ได้ ๑๐ พรรษากว่าแล้วล่ะ  ตอนนั้นกำลังเร่งความเพียรก่อนพ่อจะเสียก่อนิดเดียว  พูดไปพูดมา  "ไม่คิดอยากสึกเหรอ"  ว่าอย่างนั้นนะ  ท่านถาม  เราไม่ตอบเลย  เฉยไม่ตอบ  จากนั้นพ่อก็เสียไป

          พรรษา ๑๐ นั่งภาวนาอยู่ตอนตี ๔  เวลาจิตสงบรวามเข้าไปเห็นน้องของพ่อ...อา  เอาจดหมายไปยื่นให้เรา  พอยื่นให้  "อะไรล่ะ"  ไม่ตอบ  ออกไปเลย  มันก็ทราบภายในรับกันกับจดหมายว่า  พ่อเสียแล้ว  เสียเมื่อคืนนี้  ว่าอย่างนั้นนะ

          ตื่นเช้ามาก็เลยเล่าให้หมู่เพื่อนฟังว่า  "วันนี้มีนิมิตแปลกๆ นะ  เมื่อเช้านี้นั่งอยู่ตี ๔ ปรากฏว่า  อา...น้องของพ่อนั่นล่ะ  เอาจดหมายมายื่นให้แล้ว  ถามว่าจดหมายอะไร  ไม่บอกแล้วออกไป  มันก็รู้รับกันว่าจดหมายบอกข่าวว่า  พ่อตายแล้วเมื่อคืนนี้ๆ"   ตื่นเช้ามาก็เลยเล่าให้หมู่เพื่อนฟัง  คอยดูมันจะจริงไหม  จำเอาไว้ล่ะ

          ประมาณสัก ๗ วันจดหมายก็มา  พ่อตายแล้วจริงๆ  ตายคืนวันนั้นล่ะ  ตรงกันเป๋งเลยนะ  แปลกอยู่  นู่นจำพรรษาอยู่ที่ศรีสงครามนั่งภาวนาอยู่  อา...น้องพ่อล่ะเอาจกหมายไปยื่นให้  ยื่นให้แล้ว "อะไร"  ไม่ตอบ  กลับออกไป  มันก็ทราบภายในว่า  พ่อเสียแล้ว  เลยเล่าให้หมู่เพื่อนฟังว่า  เมื่อเช้านี้ปรากฏอย่างนันๆ คอยฟังข่าวน่ะ  ว่าพ่อเสียแล้ว  เป็นอย่างไรให้จำเอาไว้  พอดีเสียคืนวันนั้น  ไปบอกทางนิมิตภาวนาพ่อเสียแล้ว  บอกกับหมู่เพื่อนเรื่องความฝันของเรา ๗ วันจดหมายก็ไปพอดีพ่อเสียแล้วในคืนวันนั้นจริงๆ

_______________________________________




วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๑๘ พรรษา ๑๐ (พ.ศ. ๒๔๘๖) นั่งภาวนาตลอดรุ่งอีก

เทศน์เมื่อ  ๒๔  ธันวาคม  ๒๕๔๖



          นั่งภาวนา ท่านทั้งหลายฟังซิ  ผมโกหกไหม  ผมนั่งตลอรุ่งๆ นี้  เก้าคืน  สิบคืน  เว้นคืนหนึ่ง  สองคืน  นั่งตลอดรุ่งทีหนึ่ง  เว้นสองคืน  สามคืน  นั่งตลอดรุ่งๆ  ทีแรกกันเรานี้เหมือนเอาไฟเผา  ออกร้อนทั้งวัน  มันไม่แตก  พอคืนที่สองซ้ำเข้าไปนี้มันก็พอง  ก้นพอง  ต่อจากนั้นไปแตก  จากแตกแล้วเลอะ  นั่นกันแตกเลอะ  นั่งภาวนาไม่มีหยุดเลย  ตั้งคำสัตย์คำจริงเอาตายเท่านั้นเข้าว่าเลย  เอาคำสัตย์คำจริงบีบบังคับ  เราจะนั่งตั้งแต่บัดนี้ถึงตลอดรุ่งเป็นวันใหม่อย่างน้อย  เราถึงจะออก  ถ้าไม่ถึงเวลาแล้ว  เราจะไม่ยอมออก  ตายก็ตายไปเลย  จะได้เห็นเรื่องกับกิเลส  ฟัดกิเลสตอนจนตรอกจนมุม  ใครจะเก่ง  ใครไม่เก่งจะให้รู้กันตอนนั้น

          เรามีข้อยกเว้นตั้งแต่ครูบาอาจารย์  หรือพระเณรในวัดเกิดอุบัติเหตุในเวลานั้น  เราจะออกจากที่นี้ไปช่วยเหตุการณ์อันนั้นเท่านั้น  นอกจากนั้นไม่มีคำว่ายกเว้น  จะปวดหนักเอาออกเลย  จะปวดเบาออกเลย  อะไรจะเป็นอะไร  เป็นว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อคำสัตย์คำจริงที่เราตั้งใจไว้ว่านั่งตลอดรุ่งนี้ได้เลย  พุ่งๆ ความเพียร  ความทุกข์  เอ้า ! ใครลองดูซิน่ะ  ให้รู้ล่ะนั่งตลอดรุ่งนี้เป็นยังไง  ตั้งแต่เริ่มมืดจนกระทั่งเป็นวันใหม่ขึ้นมา  ๑๒ ชั่วโมง  บางวันถึง ๑๓ ชั่วโมง  ไม่ขยับเขยื้อนไปไหนเลย  ไม่มี  ปวดหนักปวดเบาไม่มีข้อแม้

          มันจะหาทางออก  เวลามันจะตาย  เดี๋ยวปวดหนัก  เดี๋ยวปวดเบา  มันจะหาทางออก  เราบังคับไว้หมดเลย  มีตายเท่านั้นกับสว่าง  สว่างเป็นวันใหม่แล้วเราจะลุก  ถ้าไม่เป็นวันใหม่เราจะไม่ลุก  นี่ล่ะคำสัตย์คำจริงที่ได้มัดตัวเอง  จึงได้เกิดความแปลกประหลาดอัศจรรย์ขึ้นมาในเวลาจนตรอกจนมุม  เวลาเรานั่งภาวนานี้  ถ้าเป็นภาพพจน์แล้ว  ก็เหมือนกับว่า  เราที่นั่งอยู่นี่เป็นเหมือนหัวตอ  ความทุกข์ทรมานทั้งหลายที่เกิดขึ้นในเวลาเรานั่งนั้นน่ะ  มันเหมือนกับเป็นเปลวไฟรอบตัวเรา  เราเป็นซุง  หรือว่าเป็นตอไม้ให้ไฟ  คือ  ความทุกข์  ความทรมานทั้งหลายเผาอยู่ขนาดนั้น  ไม่ยอมลุก  เอาๆ จะเป็นจะตายก็ให้มันเป็นมันตาย  ซัดกันเลย  พิจารณาไม่ถอยนะ

          เวลาความทุกข์มากเท่าไรนี้  สติปัญญาจะหยุดอยู่ไม่ได้ทนเอาเฉยๆ ไม่ได้  ต้องทนด้วยสติปัญญาฟัดกันกับความทุกข์ความทรมาน  แยกธาตุ  แยกขันธ์  แยกหนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  ตับ  ไต  ไส้  พุง  อะไรเป็นทุกข์  อะไรเกิดขึ้นจากอะไรนี้ไล่กันไป  ไล่กันมาว่าหนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  เป็นทุกข์  เวลาตายแล้วหนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  มีอยู่เอาไปเผาไฟเขาว่าไง  เขาไม่เห็นว่าอะไร  นี้มันเป็นกับอะไรมันถึงได้เดือดร้อน  ว่าร้อน  ว่าทุกข์  ว่ายาก  มันเป็นกับอะไรไล่เข้าหาจิต  จิตเป็นตัวสำคัญมั่นหมาย

          กายก็เป็นกาย  ทุกข์ก็เป็นทุกข์  แล้วจิตก็เป็นจิต  มันไปหมายอะไร  ไปหาโทษเรื่องอะไร  ตัวของมันเป็นโทษเต็มตัวมันไม่ดู  นี่ว่าให้จิต  หาดูตามหลักความจริง  แยกไปแยกมา  เวลาทุกข์มากเท่าไรนี้จิตจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้นะ  จะต้องหมุนเป็นกงจักรไปเลย  หมุนเป็นสติ  หมุนเป็นปัญญา  ฟัดกัน  พอมันรอบของมัน  พิจารณาธาตุขันธ์ต่างๆ  รู้ตามความเป็นจริงแล้ว  จิตมันก็พรึบเลย  รวาม  นั่นเห็นไหมล่ะ  บางครั้งรวมหรือดับหมดเลย  เหลือแต่ความแปลกประหลาดหรือความอัศจรรย์สุดที่จะคิดอยู่ภายใน  ร่างกายหายหมดเลยไม่มีคำว่า  "ทิศใต้  ทิศเหนือ  ทิศไหนไม่มี"  เหลือแต่ความรู้อันเดียว  ไม่มีอะไรมาเป็นสอง  ว่างั้นเถอะ

          นี่อัศจรรย์ไหม  ธรรมชาติที่ปรากฏอยู่เด่นๆ  อันเดียวไม่มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง  นั้นล่ะเป็นธรรมชาติที่อัศจรรย์ในเวลานั่งตลอดรุ่งนั้น  แม้จิตจะยังไม่หลุดพ้นก็ตาม  ความอัศจรรย์ขนาดไหนที่ปรากฏขึ้นกับจิตในเวลาเรานั่งภาวนาตลอดรุ่ง  เห็นชัดเจนๆ  เวลาลงอย่างงั้นแล้ว  ทุกข์นี่หายหมดเลย  ที่ไล่เบี้ยกันอยู่ด้วยสติปัญญา  แยกธาตุ  แยกขันธ์  แยกทุกข์  แยกอะไรอยู่นั้นพอมันรอบตัวของมันแล้ว  จิตก็ลงปึ๋งเลย  ร่างกายหายเงียบเลยไม่มี  ทุกข์ทั้งหลายดับหมด  เหลือแต่ความปรากฏ  พูดได้แต่ว่าปรากฏ คือ ปรากฏเป็นความอัศจรรย์อันเดียวเท่านั้น  จะมีสองเข้าไปแทรกไม่ได้  จึงบอกว่ามีแต่ความปรากฏ  อะไรๆ ไม่มีเวลานั้น

          นู่นจนกระทั่งมันได้เวลาของมันแล้ว  มันก็ยุบยิบๆ ถอยขึ้นมา  พอถอยขึ้นมา  ร่างกายตอนจิตถอนขึ้นมาใหม่ๆ  มันไม่เป็นทุกข์นะ  ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าที่จิตจะลงนั้นมันเป็นทุกข์  ทุกข์แทบเป็นแทบตาย  แต่คำสัตย์คำจริงนี้บีบบังคับไว้  เอาตายเป็นเกณฑ์เลย  คำสัตย์บีบลงกระทั่งถึงตาย  ทีนี้พอจิตถอนขึ้นมา  ร่างกายไม่ทุกข์นะเงียบเลย  พอนั่งเข้าไป  พิจารณาเข้าไป  สักเดี๋ยวร่างกายเป็นทุกข์ขึ้นมาอีก  เป็นทุกข์ขึ้นมาอีก  พิจารณาอีกอย่างนั้นล่ะ  แต่เราจะไปเอาสัญญาอารมณ์ของความรู้ของเราที่พิจารณามาแล้วนั้น  มาเป็นอารมณ์แก้กิเลส  แก้ทุกข์ในเดี๋ยวนั้นไม่ได้นะ  ต้องคุ้ยเขี่ยขุดค้นหาใหม่  มันจะเป็นของเก่าก็ตาม  ขอให้เกิดขึ้นปัจจุบันๆ เป็นธรรมทั้งนั้นๆ พิจารณาลงอีก

          บางคืนลงได้สามหนก็มี  บางคืนลงได้แค่สองหนก็มี  ลงได้นานได้ช้ามีต่างกันบ้าง  แต่ลงถึงขั้นอัศจรรย์เหมือนกันหมด  ถ้าลงถึงนั้นแล้วเงียบไปเลย  มันมีอยู่อีกอันหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติได้พบได้เห็นจากการปฏิบัติของตน  คือลงแบบดับไปหมดเลย  นี่อันหนึ่งนะ  อันหนึ่งนี้ลงไปถึงแดนอัศจรรย์นั้น  แต่มันไม่ดับวูบนะ  ลงๆๆ พอรู้แล้วมันหดตัวเข้ามาสู่แดนอัศจรรย์นั้น  ร่างกายทุกส่วนยังมี  ยังรู้สึกอยู่  ทุกข์จะมีอยู่ในร่างกายก็ตาม  แต่ทุกข์ในร่างกายกับจิตดวงนั้นไม่ประสานกัน  ไม่ซึมซาบกัน  นี่ประการหนึ่ง  ถึงทุกข์จะเป็นขนาดไหนก็ไม่ทำจิตใจให้กำเริบเลย  นี่ประการหนึ่ง

          มันเป็นได้สองภาคสำหรับผมเองนะ  ซึ่งไม่เคยเรียนจากผู้ใด  เรียนโดยลำพังตนเอง  เห็นขึ้นมาสองประเภท  ก็พูดได้อย่างเต็มปากเพราะมันเกิดกับเรา  เวลาลงผึงทีเดียวนั้นก็มี  เวลารู้รอบหมดแล้วจิตหดเข้ามาลงที่อัศจรรย์  ร่างกายยังมีความรู้สึกอยู่ก็มี  จะมีทุกข์มีอะไรบ้างนิดๆ หน่อยๆ มันไม่เป็นพิษเป็นภัยล่ะ  ถ้าลงจิตใจได้ลงถึงขั้นนั้นแล้วนะ  นี่ก็มี  แล้วการลงนี้มีช้ามีเร็วต่างกัน  ถ้าวันไหนเราพิจารณารอบคอบ  สติปัญญาของเราคล่องตัวๆ  พิจารณาเรื่องทุกขเวทนาทั้งหลายนี้ลงได้อย่างรวดเร็วๆ  จิตลงๆ พอถอนขึ้นมาพิจารณาก็ลงวันเช่นนั้นร่างกายจะไม่บอบช้ำ  พอลุกจากที่แล้วเดินไปเลย

          แต่วันไหนที่บอบช้ำ  ฟัดกันจนกระทั่งถึงเป็นถึงตาย  เวลาจะออกจากที่นี้  มันตายหมดแล้ว  บั้นเอวลงไปนี้ตายหมดเลย  ร่ากายดีแต่ส่วนนี้ขึ้นไป  เวลาเราลุกนี่ล้มตูม  ล้มแล้วลุกไม่ขึ้น  คืนแรกผมเป็นอย่างนั้น  มันตายหมด  ต้องปล่อยไว้นั้นก่อน  จนกระทั่งแข้งขาของเราคู้เข้ามาดู  เหยียดดู  กระดิกนิ้ว   ถ้ามันยังเฉยอยู่อย่าลุก  ลุกก็ล้ม  ต่อไปมันก็รู้วิธีปฏิบัติต่อกันเองระหว่างทุกขเวทนา  ร่างกายของเราที่ขนาดตายไปแล้ว  แล้วมันเป็นยังไงก็รู้เอง  ต่อมาพอมันรู้เรื่องมันกระดิกพลิกแพลง  คู้เข้าเหยียดออกได้แสดงว่าไปได้แล้วที่นี่ ไป

          วันเช่นนั้นเป็นวันพิจารณาลำบากมาก  ถ้าวันไหนพิจารณาได้เป็นความสะดวกลงผึงๆ  พอถึงเวลาเท่ากันก็ตามนะ  วันนั้นจะไม่บอบช้ำเลย  ลุกจากที่ไปเลย  ทำหน้าที่การงาน  เดินจงกรมอะไรไปได้สะดวกสบาย  ไม่บอบช้ำมากมายเหมือนวันไหนที่พิจารณากันยากๆ  นี่ผมก็เคยทำมา  จนกระทั่งคืนแรกก้นมันออกร้อนเป็นไฟเผากันเลย  นั่งอยู่กลางวี่กลางวันออกร้อนจะเป็นจะตาย  แล้วเว้นไปสักสองคืนหรือสามคืนนั่งอีก  เอาอีกไปตลอดรุ่งๆ  ทีนี้ทีแรกมันออกร้อนกัน  ต่อมามันก็พอง  คืนต่อไปมันก็พอง  จากพองมันก็แตก  คืนต่อไปเรื่อยๆ จากแตกมันก็เลอะ  นั่นเห็นไหมจิต  ฟัดกันอย่างงั้น  จนกระทั่งพ่อแม่ครูอาจารย์มาหักห้าม  หรือมากระตุกอย่างแรง

_____________________________________


หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๑๗ พรรษา ๑๐ (พ.ศ. ๒๔๘๖) นั่งภาวนาตลอดรุ่งคืนแรก (บรรลุโสดาบัน)

เทศน์เมื่อ  ๓๑  ตุลาคม  ๒๕๒๑



          ตอนที่เห็นความอัศจรรย์ก็เห็นตอนนั่งภาวนาตลอดรุ่ง  ตั้้งแต่เริ่มคืนแรกพิจารณาทุกขเวทนา  แหม ! มันทุกข์แสนสาหัสนะ  ทีแรกก็ไม่นึกว่า  จะนั่งสมาธิภาวนาตลอดรุ่ง  นั่งไปๆ ทุกขเวทนาเกิดขึ้นๆ  พิจารณายังไงก็ไม่ได้เรื่อง  "เอ๊ะ ! มันยังไงกันนี่ว่ะ  เอ้า ! วันนี้ตายก็ตาย"  เลยตั้งสัจจอธิษฐานในขณะนั้น  เริ่มนั่งตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงสว่างถึงจะลุก  "เอ้า ! เป็นก็เป็น  ตายก็ตาย"  ฟาดกันเลยทีเดียวจนกระทั่งจิตซึ่งไม่เคยพิจารณา  ปัญญายังไม่เคยออกแบบนั้นนะ  แต่พอเวลามันจนตรอกจนมุมจริงๆ

          โอ้ย ! ปัญญามันไหวตัวทันเหตุการณ์ทุกแง่ทุกมุม  จนกระทั่งรู้เท่าทุกขเวทนา  รู้เท่ากาย  รู้เรื่องจิต  ต่างอันต่างจริง  มันพรากกันลงอย่างหายเงียบเลย  ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเป็นอย่างนั้นมาก่อนเลย  กายหายในความรู้สึก  ทุกขเวทนาดับหมด  เหลือแต่ความรู้ที่สักแต่ว่ารู้  ไม่ใช่รู้เด่นๆ ชนิดคาดๆ หมายๆ ได้นะ คือ สักแต่ว่ารู้เท่านั้น  แต่เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนที่สุด  อัศจรรย์ที่สุดในขณะนั้น  พอถอนขึ้นมาก็พิจารณาอีก  แต่การพิจารณา  เราจะเอาอุบายต่างๆ ที่เคยพิจารณามาแล้วมาใช้ในขณะนั้นไม่ได้ผล  มันเป็นสัญญาอดีตไปเสีย  ต้องผลติขึ้นมาใหม่ให้ทันกับเหตุการณ์ในขณะนั้น  จิตก็ลงได้อีก  คืนนั้นลงได้ถึง ๓ ครั้งก็สว่าง  โอ้ย ! อัศจรรย์เจ้าของล่ะซิ

          รุ่งเช้ามาพอได้โอกาส  ก็ขึ้นไปกราบเรียนท่านอาจารย์มั่น  ซึ่งตามปกติมีความกลัวท่านมาก  แต่วันนั้นไม่ได้กลัวเลย  อยากจะกราบเรียนเรื่องความจริงให้ท่านทราบ  ให้ท่านเห็นผลแห่งความจริงของเรา  ว่าปฏิบัติมาอย่างไรจึงได้ปรากฏเช่นนี้  พูดขึ้นมาอย่างอาจหาญเลย  ทั้งๆที่เราไม่เคยพูดกับท่านอย่างนั้น  พูดขึงขังดึงดังใส่เปรี้ยงๆ พอเล่าถวายท่านจบแล้วก็หมอบฟังท่าน  ท่านขึ้ทีแรกท่านยอ  "เอ้อ ! มันต้องอย่างนี้แหละ"  ท่านว่างั้นเลย  "เอาล่ะทีนี้ได้หลักแล้วเอาเลย  อัตภาพร่างกายอันเดียวนี้มันไม่ได้ตายถึงห้าหน  มันตายหนเดียวเท่านั้น  ทีนี้ได้หลักแล้ว  เอาเลย"  โอ๋ย! เราก็เป็นหมาตัวหนึ่งเหมือนกันนะ  ลงมาเห่าลมเห่าแล้งก็เห่า  ใบไม้ร่วงก็เท่านมันกล้าหาญเช่นไรทั้งจะเห่า  ทั้งจะกัด  ฟัดอีกๆ

___________________________________

ภูมิปฐมฤกษ์
          คนตายแล้วสิ่งเหล่านี้มีไปเผาไฟ  มันไม่ได้ว่าอะไร  มันเป็นทุกข์  เพราะหัวใจไปสำคัญมั่นหมาย  ทุกข์เป็นอันหนึ่งต่างหาก  ทุกข์ไม่ใช่กาย  กายไม่ใช่ทุกข์  จิตไม่ใช่ทุกข์  ทุกข์ไม่ใช่จิต  แยกกันไปแยกกันมา  พอมันรอบพอแล้ว  ปัญญามันพอพร้อมแล้ว  จิตนี้ลงผึงเลย  ฟังซิน่ะ  นี่ล่ะผลแห่งการปฏิบัติบีบบังคับตัวเอง  เวลาลงนี้ถึงแดนอัศจรรย์  สว่างจ้าไปหมดตามภูมิของเรานั่นแหละ  ถึงยังไม่พ้นกิเลสก็ตาม  ภูมินี้ก็เป็นภูมิอัศจรรย์  ในปฐมฤกษ์ของเรา  ได้หลักได้เกณฑ์มาตั้งแต่บัดนั้นแหลที่นี่  แล้วฟัดกันคืนไหนไม่เคยมีพลาด  ความอัศจรรย์ของจิตที่ลงเพราะการพิจารณาด้วยสติปัญญาในทุกขเวทนาทั้งหลายนี้รอบหมดแล้ว  จิตลงผึงๆ ได้ทุกคืนไม่มีพลาดเลย
๒๑  กรกรฎาคม  พุทธศักราช  ๒๕๕๑
_________________________________________

การพิจารณาเวทนาขณะนั่งตลอดรุ่ง
จากปฏิปทาพระธุดงค์กรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น

          นับแต่ขณะเริ่มนั่งจนถึงขึ้นเวทนาใหญ่เกิดขึ้น  ถ้าผู้ยังไม่เคยประสบมาก่อน  ก็น่าจะไม่ทราบว่าอันไหนเป็นเวทนาเล็ก  อันไหนเป็นเวทนาใหญ่  กลัวจะเริ่มเหมาไปแต่เวทนาเล็ก  ซึ่งเป็นเพียงลูกหลานของมันเท่านั้นว่า  เป็นเวทนาใหญ่ไปเสียหมด  ทั้งที่เวทนาใหญ่ยังไม่ตื่นนอนก็เป็นได้  แต่ถ้าผู้เคยประสบมาแล้วก็ทราบได้ทันทีว่า  เป็นเวทนาอะไร  เพราะเวทนาใหญ่จะเริ่มปรากฏตัวนับแต่ห้าหกชั่วโมงล่วงไปแล้ว  ก่อนหน้านี้มีแต่เวทนาเล็ก  ซึ่งเปรียบกับลูกๆ หลานๆ เท่านั้นมาเยี่ยมหยอกเล่นพอให้รำคาญ

          เวทนาใหญ่เมื่อเกิดขึ้นเต็มที่แล้ว  อวัยวะส่วนต่างๆ  ปรากฏว่า  เจ็บปวดรวดร้าวและระบมไปหมด  ราวกับจะแตกทลายลงในขณะนั้นจริงๆ  ความออกร้อนตามหลังมือหลังเท้ารุนแรงมาก  เหมือนมีคนมาก่อไฟหุงต้มแกงอะไรๆ ในที่นั้น  กระดูกในอวัยวะส่วนต่างๆ  เหมือนมีคนเอาค้อนมาทุบตีให้แตกให้หักไปในขณะนั้น  เพราะความเจ็บปวดแสบร้อนสาหัส  จนไม่มีที่ปลงวางร่างกายจิตใจลงได้เลย  ปรากฏเป็นกองเพลิงไปทั้งร่าง

          สิ่งที่จะสามารถต้านทานกันได้เวลานั้น  มีแต่สติปัญญา  ศรัทธา  ความเพียร  มีความอด  ความทนเป็นเครื่องหนุนหลัง  ไม่ยอมถอยทัพกลับแพ้ข้าศึกที่กำลังโหมกันมาอย่างเต็มที่  มีสติกับปัญญาเท่านั้นที่ต้องผลิตขึ้นมาด้วยอุบายต่างๆ  เพื่อให้ทันกับเวทนาในเวลานั้น  โดยแยกแยะกาย  เวทนา  จิต  ออกทดสอบเทียบเคียงกัน  ดูจนทราบความจริงของแต่ละสิ่งอย่างชัดเจนด้วยปัญญา

          การแยกแยะ  ไม่ว่าแยกแยะกายกับเวทนา  หรือแยกแยะจิตกับเวทนา  สติกับปัญญาต้องหมุนติ้วอยู่ในวงงานที่ทำ  จะส่งออกไปอื่นไม่ได้  เวลานั้นทุกขเวทนาแสดงตัวมากเพียงไร  สติปัญญายิ่งพิจารณาไม่หยุดหย่อนเพื่อรู้ความจริงในสิ่งที่ประสงค์อยากรู้  อยากเห็น  อยากเข้าใจ  เวทนาจะกำเริบหรือลดตัวลง  หรือว่าจะดับไป  ก็ให้รู้ประจักษ์ในวงการพิจารณาเป็นสำคัญ

          ข้อสำคัญ  อย่าตั้งความหวังให้ทุกข์ดับไป  โดยที่พิจารณายังไม่เข้าใจความจริงของกาย  ของเวทนา  และของจิต  ว่าต่างอันต่างเป็นความจริงของตนอย่างไรกันแน่   พิจารณาจนเข้าใจทั้งกาย  ทั้งเวทนา  ทั้งจิต    เมื่อเข้าใจด้วยสติปัญญาจริงๆ แล้ว  กายก็สักแต่ว่ากาย  ไม่ได้นิยมว่าตนเป็นทุกข์เป็นเวทนา  เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนาอยู่เท่านั้น  ไม่นิยมว่าตนเป็นกายเป็นจิต  แม้จิตก็สักแต่ว่าเป็นจิตอยู่เท่านั้น  ไม่นิยมว่าตนเป็นกายเป็นเวทนา  ดังที่เคยสำคัญแบบสุ่มๆ เดาๆ มาแต่เวลาที่ยังมิได้พิจารณาให้เข้าใจ  พอสติปัญญาพิจารณารอบแล้ว  ทุกขเวทนาทั้งหลายก็ดับลงในขณะนั้นไม่กำเริบต่อไป  จิตก็รวมลงอย่างสนิดชนิดไม่รับรู้กันเลย

          อีกประการหนึ่ง  แม้จิตจะไม่รวมลงถึงขั้นดับสนิท  แต่ก็มิได้รับความกระทบกระเทือนจากเวทนา  คือ  กายก็จริง  เวทนาก็จริง  จิตก็จริง  ต่างอันต่างจริง  ต่างอันต่างอยู่ตามความจริงของตน  ขณะที่ต่างอันต่างจริงนั้น  จะได้เห็นความอัศจรรย์ของจิต  และเห็นความอาจหาญของจิต  ว่าสามารถแยกตนออกจากเวทนาทั้งหลายได้อย่างอัศจรรย์เกินคาด  นอกจากนั้นยังเกิดความอาจหาญต่อความเป็นความตายที่ขวางหน้าอยู่อย่างไม่สะทกสะท้านใดๆ อีกด้วย  เนื่องจากได้เห็นหน้าตาเวทนาที่เคยหลอกลวงให้กลัวเป็นกลัวตายอย่างประจักษ์ใจแล้วในขณะนั้น

           คราวต่อไป  แม้เวทนาจะแสดงความกล้าสาหัสมากมายขนาดใด  ใจก็สามารถพิจารณาได้ทำนองที่เคยพิจารณาและเข้าใจมาแล้ว  การรู้เห็นอย่างนี้แล  คือ  การรู้เห็นสัจธรรมด้วยสติปัญญาแท้  แม้จะมิใช่รู้เห็นขั้นเด็ดขาดหาดกิเลสให้จบไปโดยสิ้นเชิงก็ตาม  แต่กิเลสจะจมมิดหัวไม่มีฟื้นได้  ก็ต้องอาศัยวิธีนี้เป็นเครื่องดำเนินในวาระต่อไป

________________________________________

วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๑๖ จิตเสื่อมเพราะขาดคำบริกรรม


เทศน์เมื่อ  ๑๘  มกราคม  ๒๕๔๘



          ที่เราได้พูดเรื่องสติให้บรรดาลูกหลานทั้งหลายฟังนี้  เราทำมาแล้ว  เป็นที่ยอมรับในตัวของเราเองประจักษ์ไม่สงสัยแล้ว  จึงเอาสิ่งที่แน่ใจนี้มาสอน  เราเริ่มทีแรก คือ จิตเรามันเจริญแล้วเสื่อม  ทีแรกจิตมันแน่นปึ๋งเหมือนภูเขาทั้งลูก  เราไม่รู้จักวิธีรักษา  เพราะทางไม่เคยเดินสิ่งที่ไม่เคยรู้  รู้ขึ้นมาก็ไม่รู้จักวิธีรักษา  เมื่อไม่รู้จักวิธีรักษา  จิตมันก็เสื่อม  พอเสื่อมแล้วก็พลิกใหม่เอาใหม่  ตั้งแต่นั้นมาเจริญแล้วเสื่อมๆ อยู่อย่างนั้นตลอด  ปีหนึ่งกับ ๕ เดือน  อกจะแตก  จิตเสื่อมนี้แหมทุกข์มากนะ  จิตมีความแน่นหนามั่นคง  จิตสงบเย็นตลอดเวลา  แล้วมาเสื่อมไปเสีย  มีแต่ไฟเผาแทนกันเลยเทียว  อยู่ที่ไหนหาความสะดวกสบายไม่ได้  จึงได้ทบทวนพิจารณาดูตัวเอง

          คือเวลาเรากำหนดเอาแต่ความรู้เฉยๆ ทีนี้สติมันอาจเผลอไปไม่รู้ตัว  ขยับเข้าไป ๑๔-๑๕ วันขึ้นไปได้  พอไปอยู่นั้นได้เพียงสองคืนเสื่อม  เสื่อมเหมือนกลิ้งครกลงจากภูเขา  ผึงเลย  ใครห้ามไม่อยู่ทั้งนั้น  ลงผึงเลย  เหลือแต่อีตาบัวไม่มีค่าเลย  เอ้า ! ไสขึ้นไปอีก กว่าจะไปถึงนั้น ๑๔-๑๕ วัน  ไปอยู่ได้คืนหรือสองคืนลง  เป็นอย่างนี้ปีกับ ๕ เดือน  เอ๊ ! เป็นยังไง  ความทุกข์ก็ทุกข์มาตลอดปีกับ ๕ เดือน  เป็นเพราะเหตุไรนา  จิตของเราเจริญแล้ว  เวลามันเสื่อมนี้ถึงเอาไว้ไม่อยู่
          เรามาพิจารณาดูก็มาสะดุดเอาที่สติ  เราอาจจะขาดคำบริกรรม  คือตอนนั้นเรากำหนดแต่จิตเฉยๆ  ไม่มีคำบริกรรมกำกับ  จิตของเราอาจเผลอ  สติของเราอาจเผลอไปได้ตอนนั้นกิเลสเข้าแทรกได้  จิตจึงเสื่อมได้  แต่นี้ต่อไปเราจะเอาพุทโธ  นี่ตั้งใหม่นะ

          กำหนดรวามมาหมดเรียบร้อยแล้วก็เอ้า !  ทีนี้ให้อยู่กับพุทโธ  เอาคำบริกรรม พุทโธ  นิสัยเราชอบพุทโธ  คำบริกรรมนี้แล้วแต่นิสัยของใครชอบอันไหน  เอาได้ทั้งนั้น  เราชอบพุทโธ  เลยเอาพุทโธติดเป็นคำบริกรรม  ไม่ยอมให้จิตคิดออกไปไหนเลย  จะให้อยู่กับคำบริกรรมคำเดียว  มีสติบังคับเอาไว้  เช่น ช่องนี้กิเลส คือ สังขารมันปรุงออกมาจากอวิชชา  มันดันออกมาให้อยากคิดอยากปรุง  อยากรู้อยากเห็น  อยากตลอดเวลาพุ่งๆ อยู่ตลอด

          ทีนี้เวลาเอาคำบริกรรมเข้าไปปั๊บ  ปิดช่องมันเลย  แต่เราเอาจริงเอาจังนะไม่ได้ทำเล่น  พอลงใจแน่แล้ว  เอาล่ะทีนี่เราจะเอาวิธีนี้  เป็นตายก็วิธีนี้ให้เห็นเหตุเห็นผลกัน  เรื่องเสื่อมก็ตาม  เจริญก็ตาม  เราจะปล่อยหมด  มันจะเสื่อมก็ให้เสื่อมไป  เจริญก็เจริญไป  เพราะเรายุ่งกับมันนี้เป็นทุกข์แสนสาหัส  ทีนี้เราจะไม่ยุ่ง  แต่เราจะอยู่กับพุทโธคำบริกรรมคำเดียวไม่ให้เผลอ  ตัดสินตัวเอง  แน่ใจแล้วเหรอ  แน่เอา ! ถ้าแน่ใจแล้วตั้งแต่บัดนี้ต่อไป  เหมือนกับนักมวยจะต่อยกัน  พอระฆังดังเป๋งก็ซัดกันเลย

          อันนี้พอลงใจว่า  เอาล่ะนะ  คำบริกรรมกับสติติดแนบอยู่กับใจนี้เท่านั้นล่ะ  เป๋งล่ะที่นี่  ไม่ให้เผลอเลย  ตั้งแต่ตื่นนอนไม่ให้เผลอแม้ขณะเดียวไม่มี  เอ้า ! อกมันจะแตกให้แต่ให้เห็น  สติจะเผลอไปไม่ได้กับคำบริกรรมนี้  ซัดกันเลย  นี่เห็นชัดเจน  พี่น้องทั้งหลายฟังเอานะ  ในวันนั้นเหมือนอกจะแตก  เราจึงได้รู้ว่าสังขารตัวนี้มันปรุงออกไป  ทำให้จิตเราเสื่อม  มันคิดออกไป  ไปกว้านเอากิเลสมาเผาเราๆ  จิตเราจึงเสื่อมได้  ทีนี้เมื่อไม่ให้มันคิด  ให้คิดแต่กับคำว่าพุทโธ  พุทโธเป็นทางเดินของธรรม  เป็นงานของธรรม  สั่งสมธรรมขึ้นมาก็เป็นน้ำดับไฟล่ะซิ

          พุทโธๆ ติดไม่ยอมให้เผลอเลย  ตั้งแต่ตื่นนอนจนค่ำ  ขณะไหนไม่ให้มีเลย  ฟังซิ  นี่ล่ะทุกข์มากที่สุด  ทีนี้ความคิดนี้มันก็ดันขึ้นๆ  วันแรกเหมือนอกจะแตก  มันดัน  มันจะคิดจะปรุง  ไม่ให้คิด  เป็นยังไงก็ไม่ยอมให้คิด  จะมีแต่พุทโธๆ ติดตลอดเวลา  วันนั้นทั้งวันเหมือนอกจะแตก  จึงได้เห็นโทษของความคิดปรุงนี้มันดันถึงขนาดอกจะแตก  มันออกไม่ได้  เพราะพุทโธปิดมันไว้  พอวันแรกผ่านไป  วันที่สองต่อไปอีกแบบไม่ให้เผลอเหมือนกัน  ติดตลอดตั้งแต่ตื่นนอนปั๊บจนกระทั่งถึงหลับไม่ให้มีเวลาไหนเผลอเลย  เพราะอยู่คนเดียว  พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นไปเผาศพหลวงปู่เสาร์  ท่านสั่งไว้ว่า  "ให้ท่านมหาอยู่องค์เดียวนะ  เผาศพแล้วจะกลับมาหา"  ท่านว่าอย่างนั้น

          เราก็พอดีได้จังหวะอยู่คนเดียว  อยู่บ้านนาสีนวล  ไม่ใช่วัดดอยธรรมเจดีย์นะ  วัดบ้านเขา  วัดร้าง  เราอยู่ที่นั่น  เอาอยู่นั่นเลยหลายวัน  แต่ไม่ให้เผลอทั้งนั้น  ที่มันหนักมากอกจะแตกลำดับหนึ่งแล้วลดลงมาๆ ค่อยเบาลงๆ ความคิดปรุงของสังขารที่ดันขึ้นๆ จนอกจะแตกนี้เบาลงๆ  จิตนี้ก็ค่อยสงบเข้าไป  เย็นเข้าไปๆ พุทโธถี่ยิบไม่ให้เผลอ  สติติดแนบเลย  จากนั้นมาจิตของเราก็ค่อยละเอียดๆ นี่ล่ะที่นี่เข้ามาถึงจุดนี้แล้วนะ  พอมันไปเต็มที่แล้ว  มันออกไม่ได้แล้วสังขารความคิด  เพราะสติกับคำบริกรรมปิดแน่นเลยไม่ให้ออก  ทีนี้ก็สร้างความร่มเย็น  สร้างความสงบเข้ามาภายในใจ  เย็นขึ้นๆ สังขารความคิดปรุงเบาไปๆ  ทางนี้ค่อยเย็นขึ้นๆ คำบริกรรมไม่หยุด

          พอถึงขั้นมันละเอียด  พุทโธๆ ไปถึงจุดนี้แล้ว  พุทโธหายเงียบเลย  เหลือแต่ความรู้ที่ละเอียดสุดอยู่ในนั้น  แล้วเกิดความงง  งงก็ไม่ให้เผลอ  นั่นน่ะฟังซิ  เอ๊ะ ! ทำไมคำบริกรรม  เราบริกรรมมาตลอด  แล้วทำไมถึงบริกรรมไม่ได้  มันหายไปไหน  ตั้งขึ้นมาก็ไม่ได้  เงียบเลย  แต่ความรู้เด่นอยู่นะ  ละเอียด  เอ้า ! ถ้าบริกรรมไม่ได้  ให้อยู่กับความรู้อันนี้ด้วยสติอีกเหมือนกัน  เผลอไม่ได้อีก  ต่อกันไปเลย  ทีนี้พอมันได้จังหวะแล้ว  มันก็ค่อยคลี่คลายออกมา  พอคลี่คลายออกมา  บริกรรมได้ พุทโธได้ก็พุทโธๆ ติดเข้าไปอีก  ทีแรกเวลาจิตละเอียดจริงๆ แล้วบริกรรมไม่ได้นะ  หมด  ให้อยู่กับความรู้อันนั้น  พอจากนั้นมาคลี่คลายออกมาแล้ว  บริกรรมเข้าไปอีก  พอเข้าไปได้จังหวะมันละเอียดเข้าไปเต็มที่แล้ว  มันก็หยุดอีก  เราก็รู้วิธีต่อไป

          ต่อไปจิตของเรานี้มันก็ค่อยเย็นขึ้นๆ เย็นขึ้นจนกระทั่งถึงที่ว่ามันเจริญแล้วเสื่่อม  ได้คืนสองคืนเสื่อม  เอ้า ! เจริญก็เจริญ  เสื่อมก็เสื่อม  คราวนี้จะเอาให้เห็ฯพริกเห็นขิงกันคราวนี้  พุทโธนี้จะไม่ปล่อย  เจริญก็เจริญ  มันจะเสื่อมพาลงนรก  เราก็จะลงด้วยพุทโธของเรานี่ล่ะ  ลงเลย  ถึงนั่นแล้วแทนที่จะเสื่อมไม่เสื่อมนะที่นี่  อยู่นั่นล่ะ  เอา ! เสื่อมก็เสื่อม  ปล่อยเลยไม่เป็นอารมณ์  พุทโธกับสติติดแนบๆ  แล้วก็ค่อยแน่นหนามั่นคงขึ้นๆ เรื่อยๆ ทีนี้ไม่เสื่อม  นั่นเห็นไหม  จังได้แล้วที่นี่  มันเคยไปอยู่ได้สองคืนเสื่อมลง  ทีนี้ไม่เสื่อม  ไม่เสื่อมก็ติดกันเรื่อยๆ แล้วละเอียดเข้าๆ  จนกระทั่งฟาดนั่งหามรุ่งหามค่ำล่ะที่นี่

          นี่ล่ะเราสรุปความให้ท่านทั้งหลายฟังว่า  เรื่องความคิดความปรุงนี้  เวลามันดันออกมามากๆ  นี้เหมือนนอกจะแตกนะ  คือมันอยากคิดอยากปรุง  นี่เรื่องของกิเลสออกทำงานเอาไฟมาเผาเรา  อกจะแตกก็ตาม  พุทโธไม่ถอย  ต่อไปพุทโธก็สร้างธรรมขึ้นมาภายในใจ  ใจก็สงบเย็นขึ้นไปๆ ความคิดความปรุงที่หนาแน่นแต่ก่อนเบาลงๆ  สุดท้ายเบาไปเลย  มีแต่ความสว่างไสวในจิตใจขึ้นเรื่อยๆ จำเอานะ

______________________________________




หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๑๕ ไปภาวนาไปองค์เดียว และ องค์หลวงปู่มั่นแก้จิตเสื่อม


เทศน์เมื่อ  ๑๕  มิถุนายน  ๒๕๔๙



          มันลงใจทุกอย่างนะ  ถ้าได้ลงแล้ว  ลงหมดเลย  คอขาด  ขาดไปเลย  นิสัยไม่เหมือนใครเชียว  เพราะฉะนั้นเวลาลาท่านไป  "จะไปกี่องค์"   "ว่าองค์เดียว"   "เอ้อ ! ท่านมหาไปองค์เดียว"   ขึ้นทันทีเลย  "ใครอย่าไปยุ่งท่านนะ"  มีเราเท่านั้นที่ท่านเสริมตลอดเลย  ถ้าว่าไปองค์เดียวล่ะ  ชึ้นิ้วไปเลย   "ใครอย่าไปยุ่งท่านนะ  ท่านมหาไปองค์เดียว"   ไปจริงๆ เอาจริงๆ ด้วยน่ะ  กลับมาหาท่านนี้มีแต่หนังห่อกระดูกมาทุกครั้ง  ท่านดูอยู่ตลอด  ลงมาจากภูเขา  บางทีท่านร้องโก้กก็ยังมี  เรายังไม่ลืม

          ตอนนั้นมันคงจะเป็นดีซ่านหรืออะไรอยู่บนภูเขา  ลงมาจากถ้ำอะไรทางนากับแก้กับเก้อทางทิศใต้ของสกลนคร  ลงมาจากภูเขาไปหนองผือ  ตัวเหลืองเหมือนทาขมิ้นหมดเลย  หนังห่อกระดูก  พอไปกราบท่าน  ท่านร้องโก้กเลย  "เฮย ! ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ"  ท่านว่างั้น คือ มันเหลืองหมดเหมือนทาขมิ้น  เราก็มีแต่หนังห่อกระดูก  มาหาท่านทีไร  มีแต่หนังห่อกระดูก  ท่านดูหมดแล้วนี่ว่าจริงจังขนาดไหน

          พอท่านว่า  "เฮ้ย ! ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ"  เราก็ค่อยนิ่งฟังท่านจะออกช่องไหน  สักเดี๋ยวท่านกลัวเราจะอ่อนเปียก  ท่านพลิกใหม่ตอบปั๊บมาทีหลัง   "มันต้องอย่างนี้  จึงเรียกว่า  นักรบ"  นั่นท่านเสริมกำลังให้เลย  เราก็ก้าวเดินตามเรื่องของเรา  แสดงว่าการดำเนินมานี้ไม่ขัดข้อง  ท่านให้ความสะดวกแล้ว  มันก็ยิ่งพุ่งของมันใหญ่เลย

_______________________________________

องค์หลวงปู่มันแก้จิตเสื่อม
จากประวัติท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ 

          พระอาจารย์มั่นให้กำลังใจว่า  "น่าเสียดาย  มันเสื่อมไปที่ไหนกันนา  เอาเถอะท่านอย่าเสียใจ  จงพยายามทำความเพียรเข้ามากๆ  เดี๋ยวมันจะกลับมาอีกแน่ๆ มันไปเที่ยวเฉยๆ  พอเราเร่งความเพียร  มันก็กลับมาเอง  หนีจากเราไปไม่พ้น  เพราะจิตเป็นเหมือนสุนัขนั่นแลเจ้าของไปไหน  มันต้องติดตามเจ้าของไปจนได้  นี่ถ้าเราเร่งความเพียรเข้าให้มาก  จิตก็ต้องกลับมาเอง  ไม่ต้องติดตามมันให้เสียเวลา  มันหนีไปไหนไม่พ้านเราแน่ๆ

          จงพยายามทำความเพียรเข้าให้มากเชียว  มันจะกลับมาในเร็วๆ นี้แล  ไม่ต้องเสียใจให้มันได้ใจ  เดี๋ยวมันว่าเราคิดถึงมันมาก  มันจะไม่กลับมา  จงปล่อยความคิดถึงมันเสีย  แล้วให้คิดถึงพุทโธติดๆ กัน  อย่าลดละ  พอบริกรรมพุทโธถี่ยิบติดๆ กันเข้า  มันวิ่งกลับมาเอง  คราวนี้แม้มันกลับมา  ก็อย่าปล่อยพุทโธ  มันไม่มีอาหารกิน  เดี๋ยวมันก็วิ่งกลับมาหาเรา

          จงนึกพุทโธเพื่อเป็นอาหารของมันไว้มากๆ  เมื่อมันกินอิ่มแล้วต้องพักผ่อน  เราจะสบายขณะที่มันพักสงบตัวไม่วิ่งวุ่นขุ่นเคืองเที่ยวหาไฟมาเผาเรา  ทำจนไล่มันไม่ยอมหนีไปจากเรา  นั่นแลพอดีกับใจตัวหิวโหยอาหารไม่มีวันอิ่มพอ  ถ้าอาหารพอกับมันแล้ว  แม้ไล่หนีไปไหน  มันก็ไม่ยอมไป  ทำอย่างนั้นแล  จิตเราจะไม่ยอมเสื่อมต่อไป  คือ ไม่เสื่อม  เมื่ออาหาร คือ พุทโธ  พอกับมัน  จงทำตามแบบที่สอนนี้  ท่านจะได้ไม่เสียใจ  เพราะจิตเสื่อมแล้วเสื่อมเล่าอีกต่อไป"

_______________________________________

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน : ประวัติ ตอนที่ ๑๔ องค์หลวงปู่มั่นสอนอุบายวิธีภาวนา

เทศน์เมื่อ  ๓  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๑



          นี่ล่ะครูบาอาจารย์เฉลียวฉลาดอย่างนั้นนะ  ไม่อย่างนั้นสอนลูกศิษย์ให้เป็นอรรถเป็นธรรมไม่ได้  เราก็ไม่ค่อยคิดเวลาฝึกหัดทีแรก  ถ้าว่าฉันก็เต็มเหนี่ยว  ถ้าว่านอนก็หมอนแตก  เสื่อขาด  แต่ว่าจะสู้กับกิเลส  ก็ไม่ทราบเอาอะไรไปสู้  มันหากเป็นอยู่ในใจ  จนท่านหาอุบายสอน  "เออ ! ที่สติตั้งไม่อยู่นี้  มันมีสิ่งผลักดันอยู่ภายใน"  นั่นท่านว่านะ  "การอยู่กินหลับนอน"  ท่านขึ้นต้นนี่ล่ะพ่อแม่ครูอาจารย์มั่นเรา  "ถ้าอยู่แบบสบาย  กิเลสเอาให้แหลกตลอด"  ท่านว่าอย่างนั้น  "อยู่กินสบาย  นอนสบาย  เรียกว่า  ขึ้นเชียงให้กิเลสสับยำตลอดเวลา"

          นี่ได้ฟังไหมอุบายครูบาอาจารย์สอนเรา  ต้องมีฟัดมีเหวี่ยง  การต่อสู้กัน  นักมวยเขาต่อสู้กัน  เขาต่างคนต่างฟัดต่างเหวี่ยงกันเต็มสติกำลังความสามารถของทั้งสองฝ่ายที่เขาต่อสู้กัน  นั่นท่านว่า  "เราที่ต่อสู้กับกิเลสด้วยธรรม  เราก็ต้องเป็นอย่างนั้น  ต้องหาอุบายวิธีการหลายอย่างมาใช้  เราจะมีแต่ความตั้งใจเฉยๆ  ล้มเหลว"  ท่านว่า  นี่ล่ะครูบาอาจารย์สอนเรา  เราจำได้  มันมีกำลังอะไรมากมายนัก  มันถึงตั้งสติไม่อยู่  ทำให้ล้มเหลวๆ นี่แสดงว่ากำลังวังชาทางด้านร่างกายมากเป็นเครื่องหนุนของกิเลสได้ดี

          นั่นฟังซิน่ะ  คือ  กินมาก  นอนมาก  เป็นเครื่่องส่งเสริมของกิเลส  ทำให้ความเพียรของเราล้มเหลวๆ เอา   ให้ตัดทอนลง  ฟังซิท่านพูด  "กินมากให้กินแต่น้อย  นอนมากให้นอนแต่น้อย  ให้ตัดมันลง  แล้วความเพียร คือ สติให้ตั้งไม่ถอย"  ท่านว่าอย่างนั้น  "เอา ! สังเกตตู  ให้ลดการกิน  ลดการนอน"  นี่ล่ะครูบาอาจารย์สอนลูกศิษย์ลูกหา  "การกิน  ถ้ากินมากมันเหมือนหมูขึ้นเขียง  ไม่มีลวดลายอะไรเลย  เอาๆ กินน้อย  พักไม่กิน"  นั่นท่านพูดเป็นหลายขั้นหลายตอน  "กิเลสมันอาศัยอันนี้ล่ะเป็นเครื่องมือ  เป็นกำลังของมันทำลายเรา  ให้เราทำความเพียรไม่สะดวก  ดีไม่ดีล้มเหลว"

          จับอันนั้นปุ๊บๆ เพราะฟัง  ฟังจริงๆ ไม่ใช่ธรรมดา  ฟังอย่างเอาจริงเอาจัง  เราที่ไม่เข้าใจอุบายใด  พอท่านว่าปั๊บ  จับปุ๊บๆๆ นำมาปฏิบัติทันทีที่มันก็เห็นผลอย่างท่านว่า  เอา ! ลดอาหารลง  มันเป็นอย่างไร  ลดการนอนลง  เอาทีนี้ความเพียร  สติตั้งให้ดีจะเป็นผลประโยชน์อย่างไรบ้าง  ดูกันตรงนี้  ซัดไปซัดมามันก็ได้เงื่อน  อ๋อ! การกินนี่ก็ตัดทอนความเพียร  การกินมากตัดทอนความเพียร  สติไม่ดี  นอนมากสติไม่ดี  เป็นเครื่องส่งเสริม  ทีนี้ตัดลง  อาหารกินแต่น้อย นอน นอนแต่น้อย  ต่อจากนั้นตัดบ้างอาหารไม่กิน

          เอา ! สังเกตดู  สติเป็นอย่างไร  ตั้งสติ  สติค่อยดีขึ้นๆ พอดีขึ้นจับได้  ดีเพราะเหตุไร  เช่น  ดีเพราะผ่อนอาหาร  เอา ! ผ่อน  ดีเพราะการอดนอน  เอา ! อด  ผ่อนนอนมากเข้าๆ สุดท้ายการกินตัดบ้างไม่กินบ้างอะไรบ้าง  สติค่อยดีขึ้นๆ จังได้เอามาทบทวนกัน  ความเพียรค่อยก้าวขึ้นๆ  พอจับเงื่อนได้แล้วทีนี้มันก็เอาล่ะ  แต่นิสัยเรามันมักจะผาดโผนตลอดนะ  แม้แต่ครูบาอาจารย์ท่านไสเราขึ้นนี้  ท่านยังต้องได้รั้งเราไว้  เพราะมันผาดโผนมากแต่ไหนแต่ไรมา  ถ้าลงใจในจุดไหนแล้วขาดสะบั้นไปเลย  นี่ก็ลงใจซัดกิเลส  มันก็เอาอย่างเดียวกัน

          สติตั้งได้เพราะเหตุนี้ๆ  ทีนี้ลดลงๆ  อาหารลดลง  ไม่กิน  ไม่กินเท่าไรภาวนายิ่งดีๆ  แล้วตัดอาหาร  การฉันอาหารฉันเมื่อไรก็ได้  มีกำลังวังชาเหมือนม้าแข่งหลังจากฉันเสร็จแล้ว  เวลาเรามาจากภูเขาเดินไปถึงหมู่บ้านเขาไม่ถึง  ไปหยุดแค่กลางทาง  มันเดินไม่ไหว  อ่อนปวกเปียกไม่มีกำลัง  พอฉันเสร็จแล้วกลับมานี่เหมือนม้าแข่ง  กำลังมันขึ้นรวดเร็วทางร่างกาย  แต่กำลังทางด้านจิตใจขึ้นช้าขึ้นยาก  จึงต้องได้ตัดเพื่อจิตใจให้มาก เช่น อดอาหาร

          สุดท้ายก็อดอาหาร  อดมากเข้าๆ  เห็นว่าภาวนาดีก็ซัดทางด้านอดอาหาร  นี่มันผาดโผน  สุดท้ายไม่ค่อยกินล่ะทีนี่  ภาวนาไม่ดี  อดอาหารไปเท่าไร  จิตมันจิ่งดีด  คือ  ร่างกายของเรานี้อ่อนเปียก   แต่จิตนี้เหมือนจะเหาะเหินเดินฟ้า  สง่างามอยู่ภายใน  ทีนี้มันก็เอาจิต  เพราะเรามุ่งแต่จิต  ร่างกายกินเมื่อไรก็ได้กำลังวังชายากอะไร  ซัดกันเอาเสียจนท้องเสีย  อย่างนั้นล่ะคือเรามันผาดโผน  มันไม่ค่อยกิน  กี่วันๆ จึงฉันหนหนึ่งๆ


__________________________________________