ท่านอาจารย์ปรารภกับลูกศิษย์ว่า
ท่านรู้สึกใจคอไม่ค่อยดีเวลาได้ยินพ่อแม่ปู่ย่าตายายชมลูกสาวหลานสาวว่าสวย ท่านว่าการชมเด็กๆ ว่าสวยอยู่บ่อยๆ นั้น มีส่วนส่งเสริมความเสื่อมสติปัญญาของสตรี เด็กผู้หญิงสวยๆ ต้องได้ยินคำชมว่าสวยไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครั้งกว่าจะเติบโตขึ้นมา
แม้เด็กผู้หญิงที่ไม่สวยก็ยังต้องทนฟังคำชมคนอื่น
แล้วยังเด็กผู้ชายที่ได้ยินคำชมเหล่านั้นอีกเล่า มันเป็นการล้างสมองเด็กๆ ให้เข้าใจผิดว่า
คุณค่าชีวิตของผู้หญิงอยู่ที่หน้าตาและร่างกาย ทำให้เกิดความหลงใหลในความสวยงาม
ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์เล่าเรื่องพระนางเขมาแสนสวยผู้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารแห่งกรุงราชคฤห์ในสมัยพุทธกาลในแนวสนุกๆ
ว่า พระนางหลงใหลในความสวยงามของตัวเองมาก
ต้องการจะเป็นคนที่สวยที่สุดเหมือนราชินีในเทพนิยายฝรั่งที่ส่องกระจกแล้วถามว่า “Mirror! Mirror on the wall, who is the fairest of
them all?...กระจกวิเศษบอกข้าเถิดใครสวยเลิศในปฐพี” แต่ถ้ากระจกวิเศษกลับบอกว่า
“สโนไวท์สวยเลิศในปฐพี”
พระนางจะทนไม่ได้ที่มีใครสวยกว่า
แม้พระนางจะสวยที่สุดในอินเดีย
ซึ่งอาจจะมีประชากรหลายล้านคนในยุคนั้น
แต่หากมีคนสวยกว่าพระนางเพียงคนเดียวในโลกนี้ พระนางก็รับไม่ได้
พระเจ้าพิมพิสารพระสวามีเป็นพระโสดาบัน
และเป็นอัครอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า
ท่านไม่ค่อยปลื้มนักที่มเหสีของท่านเอาแต่หลงใหลในความสวยงามของตน ไม่ยอมเข้าวัดเข้าวา ชักชวนให้ไปด้วยทุกครั้งแต่พระนางก็ไม่ยอมไป เพราะพระนางได้ยินข่าวว่า
พระพุทธเจ้าชอบสอนเรื่องอสุภะความไม่สวยไม่งาม ซึ่งไม่ถูกจริตนิสัยของพระนาง
พระเจ้าพิมพิสารพยายามคิดหาอุบายพามเหสีเข้าวัด
ในที่สุดท่านคิดได้ว่าต้องใช้เรื่องความสวยความงามเป็นเครื่องล่อ
ท่านให้กวีเอกแต่งกลอนพรรณนาความสวยงามของเวฬุวนารามที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่
แล้วให้นักดนตรีแต่งเป็นเพลงไพเราะไปดีดพิณร้องให้พระนางเขมาฟัง เมื่อได้ฟังเพลงนั้น
พระนางเกิดความรู้สึกอยากจะไปดูความสวยงามของเวฬุวนารามทันที พระนางบอกพระสวามี ซึ่งท่านก็รีบอนุญาต
แล้วท่านก็กระซิบกำชับมหาดเล็กให้หาทางพาพระมเหสีไปเฝ้าพระพุทธเจ้าให้จงได้
ที่เวฬุวนาราม
พระนางเขมาเดินชมความงามของราชอุทยานโดยพยายามเลี่ยงไปให้ไกลจากเขตสงฆ์มากที่สุด แต่มหาดเล็กก็พยายามหลอกล่อจนสุดความสามารถ กึ่งเชิญชวนกึ่งบังคับให้พระนางเข้าไปกราบพระพุทธเจ้าจนสำเร็จ แม้พระนางไม่เต็มใจเลยก็ตาม
เมื่อพระพุทธเจ้าเห็นพระนางเขมาเดินเข้ามา
พระองค์ทรงเนรมิตหญิงงามขึ้นมาคนหนึ่ง
ซึ่งสวยงามชนิดหาที่เปรียบมิได้
พอพระนางเขมาเดินเข้ามา
สายตาพลันปะทะเข้าที่หญิงงาม
ท่านอาจารย์เล่าว่า สมองของพระนางทำงานราวกับเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์สแกนข้อมูลทั้งหมด ทั้งหน้าตา ผมเผ้า การแต่งกาย กิริยามารยาท ตึ๊ด!ตึ๊ด!ตึ๊ด! ภายในเศษส่วนวินาที พระนางก็ต้องทำใจยอมรับความจริงว่า
หญิงงามที่กำลังนั่งพับเพียบเรียบร้อยถวายงานพัดแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสวยงามกว่าพระนางมาก
โดยไม่ทราบว่านางงามคนนั้นเป็นเพียงสิ่งที่พระพุทธองค์เนรมิตขึ้นมาเพื่อให้บทเรียนแก่พระนางเท่านั้น
ดังนั้นพระนางจึงเกิดความอิจฉาขึ้นมาอย่างรุนแรง ผู้หญิงคนนี้ทั้งสวยงามเลอเลิศ ทั้งเข้าวัดก่อน แล้วยังได้อุปัฏฐากใกล้ชิดถวายงานพัดแด่พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของพระเจ้าพิมพิสารและชาวกรุงราชคฤห์ทั้งหลาย
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบด้วยญานว่าพระนางเขมากำลังรู้สึกอิจฉาริษยาอย่างรุนแรง ก็ทรงเนรมิตให้หญิงงามคนนั้นค่อยๆ
เปลี่ยนโฉมจากความงดงามอย่างสาวรุ่นที่เรียกว่าปฐมวัย แก่ขึ้นๆ เข้าสู่วัยกลางคน หรือมัชฌิมวัย
แล้วในที่สุดก็แก่ลงๆ เข้าสู่บั้นปลายชีวิตหรือปัจฉิมวัย ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น ฟันฟางหักหมด หลังค่อม
เดินไปด้วยความงกๆ เงิ่นๆ แล้วในที่สุดก็หมดลมตายอยู่ตรงนั้น
ด้วยบุญบารมีที่เคยสั่งสมมาหลายภพหลายชาติ พระนางเขมาเห็นแล้วเกิดความสลดสังเวช
เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร
จะสวยเลอเลิศขนาดไหนก็ต้องแก่ต้องตาย
นึกน้อมเข้ามาถึงตัวพระนางเองว่า
วันหนึ่งข้างหน้าก็จะหนีความแก่ความตายไม่พ้นเช่นกัน
ปัญญาจึงเกิดขึ้นและพระนางก็บรรลุโสดาบันในบัดนั้นเอง ในที่สุดพระนางได้ออกบวชเป็นภิกษุณีและได้เป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา คู่กับพระสารีบุตร ซึ่งเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวาผู้เลิศในทางปัญญา
พระพุทธองค์ตรัสว่า
คนที่หลงความสวยความงามเหมือนแมงมุมที่ติดอยู่ในข่ายใหญ่ของตัวเอง สร้างขึ้นมาเอง หลงเอง และทุกข์เอง
(จาก หนังสือเรื่องท่านเล่า โดย ศรีอรา อิสสระ)